จงยอมรับคัมภีร์ไบเบิลตามความเป็นจริง
“เราจึงขอบพระคุณพระเจ้าไม่หยุดหย่อน เพราะว่า, เมื่อท่านทั้งหลายได้รับคำของพระเจ้าซึ่งท่านได้ยินจากเรา, ท่านไม่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของมนุษย์, แต่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของพระเจ้า, แล้วก็เป็นคำอย่างนั้นจริง ๆ ด้วย, ซึ่งกำลังกระทำกิจอยู่ภายในท่านทั้งหลายที่เชื่อ.”—1 เธซะโลนิเก 2:13.
1. ความรู้ประเภทใดในคัมภีร์ไบเบิลทำให้หนังสือนี้โดดเด่นอย่างแท้จริง?
คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลอย่างกว้างขวางมากที่สุด และจำหน่ายแพร่หลายทั่วโลก. เป็นที่ยอมรับโดยไม่ลังเลว่า พระคัมภีร์เป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอก. แต่ที่สำคัญกว่านี้ พระคัมภีร์เสนอการชี้นำที่จำเป็นอันเร่งด่วนสำหรับผู้คนทุกเผ่าพันธุ์และทุกเชื้อชาติโดยไม่คำนึงถึงอาชีพหรือสถานะของเขา. (วิวรณ์ 14:6, 7) คัมภีร์ไบเบิลตอบปัญหาต่าง ๆ อย่างที่สนองความพอใจทางด้านจิตใจและหัวใจ เป็นต้นว่า ความมุ่งหมายในชีวิตของมนุษย์คืออะไร? (เยเนซิศ 1:28; วิวรณ์ 4:11) ทำไมการปกครองระบอบต่าง ๆ ของมนุษย์ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพและความปลอดภัยถาวร? (ยิระมะยา 10:23; วิวรณ์ 13:1, 2) ทำไมคนเราตาย? (เยเนซิศ 2:15-17; 3:1-6; โรม 5:12) ท่ามกลางโลกที่เดือดร้อนวุ่นวายนี้ เราจะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้สำเร็จโดยวิธีใด? (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; สุภาษิต 3:5, 6) อนาคตมีอะไรไว้ให้เรา?—ดานิเอล 2:44; วิวรณ์ 21:3-5.
2. เหตุใดคัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามของเราได้อย่างน่าเชื่อถือจริง ๆ?
2 เพราะเหตุใดคัมภีร์ไบเบิลตอบปัญหาดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือ? เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้า. พระเจ้าทรงใช้มนุษย์เขียน แต่ดังกล่าวไว้ชัดเจนที่ 2 ติโมเธียว 3:16 (ล.ม.) “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” ไม่ใช่ผลผลิตโดยการตีความเป็นส่วนตัวเกี่ยวด้วยเหตุการณ์ ๆ ต่างของมนุษย์. “เพราะไม่มีคราวใดที่มีการนำคำพยากรณ์ออกมาตามน้ำใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวมาจากพระเจ้า ตามที่เขาได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:21, ล.ม.
3. (ก) ยกตัวอย่างที่แสดงว่าผู้คนในหลายดินแดนได้ให้ความสำคัญต่อคัมภีร์ไบเบิลมากเพียงใด. (ข) เหตุใดผู้คนเต็มใจเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อจะได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล?
3 ด้วยการหยั่งรู้คุณค่าของพระคัมภีร์ มีผู้คนไม่น้อยได้เสี่ยงต่อการติดคุกหรือเสี่ยงตายด้วยซ้ำ เพื่อจะได้มีคัมภีร์ไบเบิลไว้อ่าน. ข้อนี้เป็นความจริงในอดีตกับสเปน ประเทศที่ถูกควบคุมโดยคริสตจักรคาทอลิก ที่นั่นนักบวชกลัวอิทธิพลของตนจะเสื่อมไป ถ้าประชาชนอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาของตัวเอง เป็นจริงเช่นกันในแอลเบเนียภายใต้การปกครองระบอบอเทวนิยม ได้มีการวางมาตรการรุนแรงเพื่อกำจัดอิทธิพลของทุกศาสนาให้หมด. ทว่า ผู้คนที่เกรงกลัวพระเจ้าถือว่าคัมภีร์ไบเบิลมีค่ายิ่ง เขาอ่าน และแบ่งให้คนอื่นอ่านด้วย. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน คัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งถูกส่งผ่านจากห้องขังหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งด้วยความระแวดระวัง (ถึงแม้มีคำสั่งห้ามการทำเช่นนี้). และเมื่อพระคัมภีร์ตกไปถึงมือคนเหล่านั้น เขาก็ท่องจำข้อความต่าง ๆ ไว้เพื่อบอกคนอื่นต่อไป. ช่วงทศวรรษปี 1950 ในประเทศซึ่งเวลานั้นคือเยอรมนีตะวันออกที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ พยานพระยะโฮวาซึ่งถูกคุมขังด้วยความเชื่อศรัทธาของเขา เขายอมเสี่ยงต่อการถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานาน เมื่อพวกเขาส่งข้อความสั้น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลจากนักโทษคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งเพื่อจะได้อ่านกันตอนกลางคืน. ทำไมเขาทำเช่นนั้น? เนื่องจากเขาตระหนักว่า คัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้า และเขารู้ว่า “มนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่จะมีชีวิตอยู่เพราะบรรดาวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.” (พระบัญญัติ 8:3) วจนะเหล่านี้ ซึ่งมีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล ได้เสริมความแข็งแกร่งแก่พยานพระยะโฮวาให้ดำรงชีวิตฝ่ายวิญญาณ แม้ตกอยู่ใต้อำนาจอันโหดเหี้ยมอย่างไม่น่าเชื่อ.
4. คัมภีร์ไบเบิลควรมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเรา?
4 คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่หนังสือที่จะวางบนชั้นเฉย ๆ เพื่อการอ้างอิงเป็นครั้งคราว หรือมีไว้ใช้เฉพาะเมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อมาร่วมประชุมนมัสการ. ควรใช้พระคัมภีร์ทุกวันเพื่อจะให้ความกระจ่างแก่สภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่ และชี้ทางที่ถูกต้องให้เราเดิน.—บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5.
มีไว้ให้อ่านเพื่อจะเข้าใจ
5. (ก) หากเป็นไปได้ พวกเราแต่ละคนน่าจะมีอะไรอยู่ในครอบครอง? (ข) ในประเทศยิศราเอลโบราณ ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลโดยวิธีใด? (ค) บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11 ส่งผลกระทบท่าทีของคุณต่อการอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
5 สมัยนี้ แทบทุกประเทศจะหาคัมภีร์ไบเบิลอ่านได้ง่าย และเราขอสนับสนุนทุกคนที่อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ ให้หาเล่มหนึ่งเป็นส่วนตัว. สมัยที่มีการจารึกคัมภีร์ไบเบิลนั้นยังไม่มีเครื่องพิมพ์. ผู้คนโดยทั่วไปไม่มีพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว. แต่พระยะโฮวาได้ทรงเตรียมการเพื่อว่าผู้รับใช้ของพระองค์จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่จารึกไว้. ดังนั้น เอ็กโซโด 24:7 แจ้งว่า หลังจากโมเซได้เขียนตามที่พระยะโฮวาตรัสสั่ง ท่าน “ได้ถือหนังสือสัญญาไมตรีอ่าน ให้พลไพร่ฟัง.” ครั้นพวกยิศราเอลรู้เห็นการสำแดงฤทธิ์เดชเหนือธรรมชาติที่ภูเขาซีนาย เขาได้ยอมรับสิ่งที่โมเซอ่านให้เขาฟังว่าเป็นมาแต่พระเจ้าและเขาจำเป็นต้องรู้ข่าวสารนี้. (เอ็กโซโด 19:9, 16-19; 20:22) พวกเราก็เช่นกัน จำต้องรู้สิ่งซึ่งบันทึกไว้ในพระคำของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
6. (ก) โมเซได้ทำอะไรก่อนชาติยิศราเอลเข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญา? (ข) พวกเราอาจเลียนแบบโมเซโดยวิธีใด?
6 ขณะที่ชาวยิศราเอลเตรียมจะข้ามแม่น้ำยาระเดนไปสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา จึงเท่ากับว่าเขาละชีวิตพเนจรกลางป่าไว้เบื้องหลัง เป็นการสมควรที่พวกเขาจะทบทวนข้อบัญญัติของพระยะโฮวาและวิธีการต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงกระทำต่อพวกเขา. ด้วยพลังกระตุ้นจากพระวิญญาณของพระเจ้า โมเซได้ทบทวนข้อบัญญัติกับพวกเขา. ท่านได้เตือนเขาให้ระลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ แห่งพระบัญญัติ และมุ่งเน้นหลักการพื้นฐานและท่าทีต่าง ๆ ด้วยซึ่งควรจะส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพของเขากับพระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 4:9, 35; 7:7, 8; 8:10-14; 10:12, 13) พวกเราเวลานี้ เมื่อรับงานมอบหมายใหม่หรือเผชิญสภาพการณ์ใหม่ในชีวิต คงจะเป็นประโยชน์เช่นกันหากเราจะพิจารณาว่าคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งที่เราทำ.
7. ไม่นานหลังจากชาวยิศราเอลข้ามแม่น้ำยาระเดนไปแล้ว การดำเนินงานเป็นไปอย่างไรเพื่อว่า กฎหมายของพระยะโฮวาจะประทับติดตรึงในจิตใจและหัวใจของเขา?
7 ไม่นานหลังจากชาวยิศราเอลข้ามแม่น้ำยาระเดนแล้ว ประชาชนได้ชุมนุมกันอีกเพื่อทบทวนสิ่งซึ่งพระยะโฮวาตรัสสั่งพวกเขาโดยทางโมเซอีก. ชาตินี้ได้ร่วมชุมนุมกันทางเหนือกรุงยะรูซาเลมขึ้นไปประมาณ 50 กม. พวกยิศราเอลครึ่งหนึ่งอยู่ตรงภูเขาเอบาล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ตรงภูเขาฆะรีซิม. ณ ที่นั่น ยะโฮซูอะได้ “ประกาศถ้อยคำพระบัญญัติทั้งสิ้น, ทั้งคำอวยพรและคำสาป.” ด้วยเหตุนั้น ชายหญิงและเด็กเล็กทั้งปวง พร้อมด้วยแขกเมือง ก็ได้ยินการแถลงข้อบัญญัติซ้ำอีกทันกาล ซึ่งควบคุมการประพฤติที่อาจยังผลไม่เป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวา และที่ยังผลพระพรนานาประการซึ่งพวกเขาจะได้รับหากเขาเชื่อฟังพระยะโฮวา. (ยะโฮซูอะ 8:34, 35) พวกเขาจำต้องรู้ชัดเจนว่าอะไรดีอะไรชั่วตามทัศนะของพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น เขาจำต้องตราตรึงความรักต่อสิ่งที่ดีและการเกลียดสิ่งชั่วไว้ในหัวใจของตน ดังพวกเราแต่ละคนทำอยู่เวลานี้.—บทเพลงสรรเสริญ 97:10; 119:103, 104; อาโมศ 5:15.
8. อะไรคือประโยชน์ที่ได้จากการอ่านพระคำของพระเจ้าตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ณ การชุมนุมของทั้งชาติในแผ่นดินยิศราเอล?
8 นอกจากอ่านพระบัญญัติในวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว การจัดเตรียมสำหรับการอ่านพระคำของพระเจ้าเป็นประจำก็ได้วางเค้าโครงไว้ที่พระบัญญัติ 31:10-12. ทุกปีที่เจ็ด ชนทั้งชาติจะร่วมชุมนุมกันเพื่อฟังการอ่านพระคำของพระเจ้า. ทั้งนี้ ทำให้เขาได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณ การอ่านพระคำของพระเจ้าทำให้คำสัญญาเกี่ยวด้วยพงศ์พันธุ์จะอยู่ในความคิดจิตใจและหัวใจของเขาตลอดเวลา และจึงเป็นประโยชน์ในการชี้นำบรรดาผู้ซื่อสัตย์ให้มาถึงพระมาซีฮา. การเตรียมการต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งได้กำหนดไว้คราวที่พวกยิศราเอลอยู่ในป่ากันดารนั้นก็ไม่ได้ยกเลิกไปเมื่อเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา. (1 โกรินโธ 10:3, 4) แทนที่จะยกเลิก พระคำของพระเจ้ากลับบริบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อเหล่าผู้พยากรณ์ทำการเปิดเผยต่อไป.
9. (ก) พวกยิศราเอลอ่านคัมภีร์ไบเบิลเฉพาะเวลาที่พวกเขาชุมนุมกันเป็นกลุ่มใหญ่เท่านั้นหรือ? จงชี้แจง. (ข) มีการให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์แก่คนในครอบครัวอย่างไร พร้อมด้วยความมุ่งหมายเช่นไร?
9 การทบทวนคำแนะนำแห่งพระคำของพระเจ้าหาได้จำกัดเฉพาะเวลาเมื่อผู้คนมาชุมนุมกันเป็นหมู่ใหญ่เท่านั้นไม่. บางส่วนแห่งพระคำของพระเจ้าและหลักการต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาทุกวัน. (พระบัญญัติ 6:4-9) ในดินแดนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ เป็นไปได้ที่คนหนุ่มสาวจะมีคัมภีร์ไบเบิลเล่มส่วนตัว และเป็นประโยชน์มากหากเขาจะมีคัมภีร์ไบเบิลเล่มส่วนตัว. แต่ท่ามกลางชาวยิศราเอลโบราณ ไม่เป็นอย่างนั้น. ย้อนไปในสมัยโน้น เมื่อบิดามารดาให้คำแนะนำจากพระคำของพระเจ้า พวกเขาต้องอาศัยข้อความที่ตนจดจำได้ และอาศัยความจริงซึ่งตนเองยึดมั่นไว้ในหัวใจ พร้อมกับข้อความสั้น ๆ ที่เขาเองอาจได้จดบันทึกไว้. โดยการกล่าวข้อความซ้ำบ่อย ๆ เขาก็ได้พยายามเสริมสร้างบุตรให้มีความรักต่อพระยะโฮวาและต่อแนวทางทั้งปวงของพระองค์. เป้าประสงค์ที่ทำเช่นนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้มีความรู้ท่วมหัว แต่เพื่อช่วยสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ดำรงชีวิตอย่างที่แสดงออกซึ่งความรักต่อพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์—พระบัญญัติ 11:18, 19, 22, 23.
การอ่านพระคัมภีร์ในธรรมศาลา
10, 11. กำหนดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลในธรรมศาลาดำเนินไปอย่างไร และพระเยซูทรงมองวาระโอกาสเหล่านี้อย่างไร?
10 ต่อมา ภายหลังชาวยิวถูกกวาดเป็นเชลยในบาบูโลน ได้มีการสร้างธรรมศาลาเป็นสถานนมัสการ. เพื่อจะอ่านและอธิบายพระคำของพระเจ้า ณ สถานประชุมเหล่านี้ จึงมีการคัดลอกทำสำเนาของพระคัมภีร์มากขึ้น. นี้คือเหตุหนึ่งที่ทำให้สำเนาเก่าแก่ที่เขียนด้วยมือซึ่งบรรจุบางตอนของคัมภีร์ภาษาฮีบรูยังมีเหลืออยู่ประมาณ 6,000 ฉบับ.
11 ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวด้วยการนมัสการ ณ ธรรมศาลา คือการอ่านคัมภีร์โทราห์ เทียบเท่ากับพระธรรมห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลในปัจจุบัน. กิจการ 15:21 รายงานว่า สมัยศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช การอ่านคัมภีร์จะทำกันในทุกวันซะบาโต และหนังสือมิสนาห์ระบุไว้ว่า ประมาณศตวรรษที่สองก็มีการอ่านคัมภีร์โทราห์ในวันที่สองและวันที่ห้าแห่งสัปดาห์ด้วย. มีคนจำนวนหนึ่งถูกกำหนดให้แบ่งกันอ่านส่วนต่าง ๆ ต่อเนื่องกันไป. ธรรมเนียมของชาวยิวซึ่งอาศัยในบาบูโลนคืออ่านคัมภีร์โทราห์ทั้งหมดทุกปี ส่วนธรรมเนียมในประเทศปาเลสไตน์ยืดเวลานานกว่า คือกำหนดให้อ่านจบภายในเวลาสามปี. ได้มีการอ่านและอธิบายส่วนต่าง ๆ ซึ่งผู้พยากรณ์จารึกไว้เช่นเดียวกัน. พระเยซูทรงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะอยู่ด้วยเมื่อมีการอ่านพระคัมภีร์ในวันซะบาโต ณ ธรรมศาลาในเมืองที่พระองค์อยู่.—ลูกา 4:16-21.
การตอบรับและการประยุกต์ใช้เป็นส่วนตัว
12. (ก) เมื่อโมเซอ่านพระบัญญัติให้ประชาชนฟัง ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร? (ข) ประชาชนตอบรับอย่างไร?
12 การอ่านพระคัมภีร์ที่เขียนโดยการดลบันดาลไม่ได้หมายถึงการทำให้เป็นไปตามแบบแผนเท่านั้น. ไม่ใช่อ่านเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของประชาชน. เมื่อโมเซอ่าน “หนังสือสัญญาไมตรี” แก่ไพร่พลยิศราเอล ณ ที่ราบตรงหน้าภูเขาซีนาย ท่านได้ทำเช่นนั้นก็เพื่อคนเหล่านั้นจะรู้จักหน้าที่รับผิดชอบของตนจำเพาะพระเจ้าและจะกระทำตามนั้น. พวกเขาทำไหม? มีข้อเรียกร้องให้ตอบรับการอ่านนั้น. ฝูงชนเข้าใจอย่างนั้น และพวกเขาจึงพูดขึ้นว่า “สิ่งสารพัดที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้นั้น, พวกข้าพเจ้าจะเชื่อฟังและทำตาม.”—เอ็กโซโด 24:7; เทียบกับเอ็กโซโด 19:8; 24:3.
13. เมื่อยะโฮซูอะอ่านคำสาปแช่งสำหรับการไม่เชื่อฟัง ประชาชนต้องทำอะไร และเรื่องนี้มีเป้าหมายอะไร?
13 ต่อมา เมื่อยะโฮซูอะอ่านให้ชนชาตินี้ฟังเรื่องพระพรตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้และคำสาปแช่ง ต้องมีการตอบรับ. หลังจากอ่านคำสาปแช่งแต่ละข้อ มีคำสั่งดังนี้ “และให้คนทั้งปวงตอบว่า, อาเมน.” (พระบัญญัติ 27:4-26) ฉะนั้น เมื่อได้มีการพิจารณาแต่ละข้อ พวกเขาตอบตกลงเห็นด้วยกับการที่พระยะโฮวาสาปแช่งต่อการกระทำผิดซึ่งได้ยกขึ้นมา. คงเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจเพียงใดเมื่อคนทั้งชาติตกลงเห็นชอบด้วยเสียงดังกึกก้อง.
14. ในสมัยนะเฮมยา เหตุใดการอ่านพระบัญญัติต่อหน้าฝูงชนจึงปรากฏว่าอำนวยคุณประโยชน์เป็นพิเศษ?
14 ในสมัยนะเฮมยา เมื่อคนทั้งปวงไปร่วมชุมนุมกันที่กรุงยะรูซาเลมเพื่อฟังการอ่านพระบัญญัติ เขาเห็นว่า ตัวเองหาได้กระทำตามคำสั่งที่เขียนไว้ในพระบัญญัติไม่. ณ โอกาสนั้น เขาจึงปฏิบัติตามความรู้ที่ได้เรียนมาโดยฉับพลัน. ผลเป็นประการใด? “มีความยินดีเป็นอันมาก.” (นะเฮมยา 8:13-17) หลังจากหนึ่งสัปดาห์ที่มีการอ่านพระคัมภีร์ทุกวันในช่วงเทศกาลนั้น พวกเขาตระหนักว่า ยังมีข้อเรียกร้องมากกว่านั้น. ด้วยความเลื่อมใส พวกเขาจึงทบทวนประวัติความเป็นมาที่พระยะโฮวาทรงกระทำต่อไพร่พลของพระองค์ตั้งแต่สมัยอับราฮามเรื่อยมา. ทั้งหมดนี้ได้กระตุ้นเขาให้ทำสัตย์สาบานกระทำตามข้อเรียกร้องแห่งพระบัญญัติ, จะหักห้ามใจไม่แต่งงานกับคนต่างชาติ, และจะยอมรับพันธกรณีต่าง ๆ เพื่อรักษาพระวิหารและการนมัสการให้คงอยู่สืบไป.—นะเฮมยาบท 8–10.
15. คำแนะนำที่พระบัญญัติ 6:6-9 แสดงให้เห็นอย่างไรว่า การสอนพระคำของพระเจ้าภายในวงครอบครัวไม่ควรเป็นเพียงการทำตามแบบแผนเท่านั้น?
15 ทำนองคล้ายกัน การสอนคัมภีร์ไบเบิลภายในครอบครัวใช่ว่าจะทำให้เป็นตามแบบแผนเท่านั้น. ดังที่ทราบแล้ว ตามคำพูดเชิงเปรียบเทียบที่พระบัญญัติ 6:6-9 ไพร่พลได้รับคำสั่งให้ ‘เอาถ้อยคำของพระเจ้าพันไว้ที่มือของตนเป็นหมายสำคัญ’—การทำเช่นนั้น จึงเป็นการแสดงความรักของพวกเขาที่มีต่อแนวทางของพระยะโฮวาโดยตัวอย่างและการกระทำ. และพวกเขาพึงติดถ้อยคำของพระเจ้า เป็น ‘รอยสำคัญที่หว่างตาของตน’—ซึ่งเป็นการจดจำรำลึกอยู่เสมอถึงหลักการต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในพระคัมภีร์ และใช้หลักการเหล่านั้นเป็นพื้นฐานเมื่อเขาต้องตัดสินใจ. (เทียบสำนวนที่ใช้ที่เอ็กโซโด 13:9, 14-16.) พวกเขาต้อง ‘เขียนถ้อยคำเหล่านั้นไว้ที่เสาประตูเรือนและที่ประตูบ้านของตน’—ด้วยวิธีนี้จึงระบุว่าบ้านเรือนและชุมชนของเขาเป็นสถานที่ที่ให้ความนับถือต่อพระคำของพระเจ้าและใช้พระคำในทางปฏิบัติ. พูดอีกนัยหนึ่ง ชีวิตของเขาต้องให้หลักฐานชัดแจ้งว่า เขารักและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ชอบธรรมของพระยะโฮวา. ช่างจะเป็นคุณประโยชน์สำหรับพวกเขาเสียจริง ๆ! พระคำของพระเจ้ามีบทบาทเด่นเช่นนั้นไหมในชีวิตประจำวันของครอบครัวของเรา? น่าเสียดาย ชาวยิวได้เปลี่ยนวิธีการนมัสการทั้งสิ้นให้กลายเป็นเพียงพิธีรีตอง เขาได้แขวนกลักบรรจุข้อคัมภีร์ไว้กับตัวประหนึ่งว่าสิ่งนั้นเป็นของขลัง. การนมัสการของเขาจึงไม่ได้เกิดจากหัวใจอีกต่อไป และจึงถูกพระยะโฮวาปฏิเสธ.—ยะซายา 29:13, 14; มัดธาย 15:7-9.
ความรับผิดชอบของคนเหล่านั้นในตำแหน่งผู้เอาใจใส่ดูแล
16. เหตุใดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับยะโฮซูอะ?
16 เกี่ยวการอ่านพระคัมภีร์ ความสนใจเป็นพิเศษได้มุ่งไปยังคนเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้ดูแลคนในชาติ. พระยะโฮวาได้ตรัสแก่ยะโฮซูอะว่า จง “เอาใจใส่ทำตามกฎหมายทั้งสิ้น.” เพื่อจะทำหน้าที่รับผิดชอบของตนให้สำเร็จ ท่านได้รับคำสั่งดังนี้: “เจ้าต้องอ่านออกเสียงเบา ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน . . . เพราะถ้าเจ้าทำอย่างนั้นเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จและเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุมรอบคอบ.” (ยะโฮซูอะ 1:7, 8, ล.ม.) ดังที่เป็นจริงกับคริสเตียนผู้ดูแลสมัยนี้ การที่ยะโฮซูอะอ่านพระคัมภีร์สม่ำเสมอคงจะช่วยท่านจดจำใส่ใจชัดเจนถึงพระบัญชาพิเศษจำเพาะต่าง ๆ ซึ่งพระยะโฮวาประทานแก่ไพร่พลของพระองค์. อนึ่ง ยะโฮซูอะจำต้องเข้าใจวิธีดำเนินการของพระยะโฮวากับผู้รับใช้ของพระองค์ภายใต้สภาพการณ์ที่ต่างกัน. ขณะท่านอ่านข้อความเกี่ยวด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับท่านจะพึงคิดถึงความรับผิดชอบของตัวเองเกี่ยวข้องกับพระประสงค์นั้น.
17. (ก) เพื่อกษัตริย์ทั้งหลายจะได้รับประโยชน์จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลตามแนวที่พระยะโฮวาทรงแถลงนั้น อะไรเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กับการอ่าน? (ข) เหตุใดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและคิดตริตรองจึงสำคัญสำหรับคริสเตียนผู้ปกครอง?
17 พระยะโฮวาทรงสั่งว่าผู้ใดก็ตามซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกษัตริย์ปกครองไพร่พลของพระองค์ เมื่อเริ่มขึ้นครองราชย์ ต้องทำสำเนาคัดลอกกฎหมายของพระเจ้าจากฉบับเดิมซึ่งพวกปุโรหิตเก็บรักษาไว้. แล้วกษัตริย์ต้อง “อ่านพระบัญญัตินั้นมิได้ขาดจนสิ้นชีวิต.” จุดมุ่งหมายมิใช่เพียงแต่ท่องจำข้อความแห่งพระบัญญัติ แต่เพื่อว่า “จะได้เรียนการที่จะเกรงกลัวพระยะโฮวาพระเจ้าของตน” และ “เพื่อมิให้ใจสูงกว่าพี่น้อง.” (พระบัญญัติ 17:18-20) ทั้งนี้จำเป็นที่กษัตริย์ต้องคิดรำพึงสิ่งซึ่งตนได้อ่านอย่างลึกซึ้ง. ดูเหมือนกษัตริย์บางองค์คิดไปว่าตนมีภารกิจการบริหารมากมายกระทั่งไม่มีเวลาอ่านข้อกฎหมายเหล่านั้น และทั้งชาติจึงเดือดร้อนเนื่องจากการละเลยของกษัตริย์เหล่านั้น. บทบาทของผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนคงไม่ใช่บทบาทของกษัตริย์อย่างแน่นอน. กระนั้นก็ดี ดังที่เป็นจริงกับกรณีกษัตริย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองพึงอ่านและคิดตรึกตรองเรื่องพระคำของพระเจ้า. การทำดังกล่าวจะช่วยพวกเขาให้คงไว้ซึ่งทัศนะอันเหมาะสมต่อบรรดาคนที่ถูกมอบไว้ในความดูแลของเขา. อนึ่ง การทำเช่นนั้นจะช่วยพวกเขาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบได้สำเร็จในฐานะเป็นผู้สอน อย่างที่เป็นการถวายเกียรติพระเจ้าและเสริมกำลังเพื่อนคริสเตียนให้แข็งแกร่งฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง.—ติโต 1:9; เทียบกับโยฮัน 7:16-18; ชี้ความแตกต่างที่ 1 ติโมเธียว 1:6, 7.
18. การอ่านและศึกษาพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเราให้เลียนแบบอย่างอะไรซึ่งอัครสาวกเปาโลได้วางไว้?
18 อัครสาวกเปาโล คริสเตียนผู้ดูแลสมัยศตวรรษแรก เป็นผู้หนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจ. เมื่อท่านให้คำพยานแก่ประชาชนในเมืองเธซะโลนิเกโบราณ ท่านสามารถหาเหตุผลจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเขาเข้าใจความหมาย. (กิจการ 17:1-4) ท่านเข้าถึงหัวใจผู้ฟังที่จริงใจ. ฉะนั้น หลายคนที่ได้ฟังท่านจึงกลายเป็นผู้เชื่อถือ. (1 เธซะโลนิเก 2:13) ผลสืบเนื่องจากกำหนดการอ่านพระคัมภีร์และการศึกษาของคุณ คุณสามารถหาเหตุผลจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพได้ไหม? ลำดับความสำคัญของการอ่านคัมภีร์ไบเบิลในชีวิตของคุณและวิธีที่คุณอ่านให้หลักฐานไหมว่าคุณหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อสิ่งซึ่งการมีพระคำของพระเจ้าไว้ในครอบครองหมายถึง? ในบทความถัดไปเราจะพิจารณาว่าจะตอบคำถามดังกล่าวเพื่อเป็นการยืนยันได้อย่างไร กระทั่งโดยคนเหล่านั้นซึ่งตารางเวลาของเขาเต็มแน่นมาก.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดผู้คนเต็มใจเสี่ยงชีวิตและอิสรภาพเพื่อจะอ่านคัมภีร์ไบเบิล?
▫ พวกเราได้รับประโยชน์อย่างไรเมื่อทบทวนวิธีการจัดเตรียมต่าง ๆ เพื่อชาวยิศราเอลโบราณจะได้ยินได้ฟังพระคำของพระเจ้า?
▫ เราควรทำประการใดกับสิ่งที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิล?
▫ เหตุใดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงจึงสำคัญเป็นพิเศษสำหรับคริสเตียนผู้ปกครอง?
[รูปภาพหน้า 9]
พระยะโฮวาทรงบัญชายะโฮซูอะดังนี้: “เจ้าต้องอ่านออกเสียงเบา ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน”