บท 14
“พวกเราจึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์”
คณะกรรมการปกครองตัดสินใจเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเข้าสุหนัตยังไง และนั่นทำให้ประชาคมเป็นหนึ่งเดียวกันยังไง
จากกิจการ 15:13-35
1, 2. (ก) คณะกรรมการปกครองของประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกต้องตอบคำถามสำคัญอะไรบ้าง? (ข) พี่น้องชายเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลืออะไรเพื่อจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง?
ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้ พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลซึ่งอยู่ในห้องที่กรุงเยรูซาเล็มต่างมองดูกันและกัน พวกเขารู้ว่านี่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก เพราะประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตจะทำให้เกิดคำถามสำคัญอื่น ๆ ตามมา เช่น คริสเตียนยังต้องอยู่ใต้กฎหมายของโมเสสไหม? พระยะโฮวามองคริสเตียนที่เป็นชาวยิวกับคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติแตกต่างกันไหม?
2 พวกผู้ชายที่นำหน้าได้พิจารณาหลักฐานมากมาย พวกเขาคุยกันเกี่ยวกับคำพยากรณ์ต่าง ๆ จากพระเจ้า และพยานหลักฐานที่แต่ละคนได้เจอมาซึ่งพิสูจน์ว่าพระยะโฮวายอมรับคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติแล้ว พวกเขาทุกคนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ในที่สุดพวกเขาก็มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ในการตัดสินใจ พวกเขาเห็นอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาอยากให้มีการตัดสินใจยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ชายกลุ่มนี้จะทำตามการชี้นำที่มาจากพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาไหม?
3. เราอาจได้รับประโยชน์อะไรเมื่อทบทวนเรื่องราวในกิจการบท 15?
3 ต้องมีความเชื่อและความกล้าหาญจริง ๆ เพื่อจะยอมรับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ผู้นำศาสนาชาวยิวอาจเกลียดพวกเขามากขึ้น นอกจากนั้น บางคนในประชาคมที่อยากให้ประชาชนของพระเจ้าทำตามกฎหมายของโมเสสก็อาจไม่ยอมรับการตัดสินใจของพวกเขา คณะกรรมการปกครองจะทำยังไง? ตอนที่เราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะเห็นวิธีที่คณะกรรมการปกครองในอดีตทำ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ และนี่ก็ยังเป็นแบบอย่างที่เราทุกคนสามารถเลียนแบบได้เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ หรือเมื่อเจอกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
“ตรงกับที่เขียนไว้ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” (กิจการ 15:13-21)
4, 5. ยากอบได้พูดถึงคำพยากรณ์ที่มาจากพระเจ้าข้อไหน?
4 ยากอบสาวกของพระเยซูซึ่งเป็นน้องชายของท่านได้เริ่มพูดบางอย่างa ดูเหมือนว่า ตอนนั้นยากอบทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุม เขาสรุปว่าพวกพี่น้องตัดสินใจเรื่องนี้ยังไง เขาบอกว่า “ซีเมโอนได้เล่าอย่างละเอียดแล้วว่าตอนนี้พระเจ้าหันมาสนใจคนต่างชาติ และแยกคนออกมาให้เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อของพระองค์ เรื่องนี้ตรงกับที่เขียนไว้ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์”—กจ. 15:14, 15
5 คำพูดของซีเมโอนหรือซีโมนเปโตร และหลักฐานที่บาร์นาบัสกับเปาโลได้เสนอ คงทำให้ยากอบคิดถึงข้อคัมภีร์บางข้อที่ช่วยให้พี่น้องเข้าใจว่าพระยะโฮวาคิดยังไงกับเรื่องนี้ (ยน. 14:26) หลังจากบอกว่า “เรื่องนี้ตรงกับที่เขียนไว้ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” แล้ว ยากอบได้พูดถึงถ้อยคำจากหนังสืออาโมส 9:11, 12 หนังสือนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งโดยทั่วไปเรียกกันว่า “สิ่งที่พวกผู้พยากรณ์สอน” หรือหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ (มธ. 22:40; กจ. 15:16-18) คุณอาจสังเกตว่า คำพูดที่ยากอบยกขึ้นมาอาจไม่เหมือนกับข้อความในหนังสืออาโมสในปัจจุบัน เป็นไปได้ว่า ยากอบได้ยกมาจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษากรีก
6. พระคัมภีร์ช่วยพี่น้องให้รู้ได้ยังไงว่าพระเจ้าต้องการอะไร?
6 โดยทางผู้พยากรณ์อาโมส พระยะโฮวาบอกล่วงหน้าไว้ว่า จะมีเวลาหนึ่งที่พระองค์จะตั้ง “เพิงของดาวิด” ขึ้น ซึ่งก็คือเชื้อสายที่จะนำไปถึงรัฐบาลเมสสิยาห์ (อสค. 21:26, 27) นี่หมายความว่าจะมีเวลาหนึ่งที่พระยะโฮวาจะกลับมาพอใจชาติอิสราเอลแค่ชาติเดียวอย่างนั้นไหม? ไม่ คำพยากรณ์บอกต่อไปว่า จะมีการนำ “ประชาชนจากทุกชาติ” มารวมกันเป็น “ประชาชนที่ถูกเรียกตามชื่อของ [พระเจ้า]” เรายังจำได้ว่าจากเรื่องราวในหนังสือกิจการ เปโตรเพิ่งยืนยันว่าพระเจ้า “ไม่ได้ถือว่าพวกเขา [คนต่างชาติที่เป็นคริสเตียน] ต่างจากพวกเรา [คริสเตียนชาวยิว] เลย พระองค์ได้ชำระล้างใจพวกเขาให้สะอาดเพราะพวกเขามีความเชื่อ” (กจ. 15:9) หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ พระเจ้าอยากให้ทั้งคนยิวและคนต่างชาติเป็นผู้รับมรดกในรัฐบาลของพระองค์ (รม. 8:17; อฟ. 2:17-19) ไม่เคยมีคำพยากรณ์ไหนที่พระเจ้าดลใจว่า คนต่างชาติที่เข้ามาเป็นคริสเตียนต้องเข้าสุหนัตก่อน พวกเขาถึงจะเข้ามาเป็นผู้รับมรดกของรัฐบาลพระเจ้าได้
7, 8. (ก) ยากอบได้เสนอความเห็นอะไร? (ข) เราควรเข้าใจคำพูดของยากอบยังไง?
7 โดยอาศัยหลักฐานที่เห็นชัดเจนจากคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเปโตร บาร์นาบัส และเปาโล ตอนนี้ ยากอบเสนอว่า “ดังนั้น ผมเห็นว่า ไม่ควรให้คนต่างชาติที่หันมาหาพระเจ้าต้องยุ่งยากลำบากใจ แต่ให้เขียนบอกพวกเขาว่าให้งดเว้นจากของที่เซ่นไหว้รูปเคารพ จากการผิดศีลธรรมทางเพศ จากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากเลือด คำสั่งเหล่านี้มีอยู่ในหนังสือของโมเสสมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มีการสอนเรื่องนี้ตามเมืองต่าง ๆ และมีการอ่านให้ฟังในที่ประชุมของชาวยิวทุกวันสะบาโต”—กจ. 15:19-21
8 ตอนที่ยากอบซึ่งอาจเป็นประธานของการประชุมบอกว่า “ดังนั้น ผมเห็นว่า” ยากอบกำลังมองว่าตัวเองมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดไหมว่าควรจัดการกับเรื่องนี้ยังไง? ไม่เลย! คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่ายากอบไม่ได้มองว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ยากอบแค่เสนอว่าข้อสรุปของเรื่องนี้น่าจะเป็นยังไง ความเห็นของเขาอาศัยหลักฐานที่ได้ยิน และสิ่งที่พระคัมภีร์บอกเกี่ยวกับเรื่องนั้น
9. ข้อเสนอของยากอบเกิดผลดีอะไรบ้าง?
9 ข้อเสนอของยากอบเป็นข้อเสนอที่ดีไหม? แน่นอน เพราะในภายหลัง พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลได้ยอมรับข้อเสนอนั้น เกิดผลดีอะไรบ้าง? ในด้านหนึ่ง ข้อเสนอนั้นช่วยให้คริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติไม่ “ยุ่งยากลำบากใจ” และไม่ได้เป็นการ “วางเครื่องขัดขวางกีดกัน” พวกเขา เพราะข้อเสนอนั้นไม่ได้บีบบังคับพวกเขาให้ทำตามข้อเรียกร้องในกฎหมายของโมเสส (กจ. 15:19, ฉบับ R73) อีกด้านหนึ่ง การตัดสินนี้ก็เป็นการแสดงความนับถือความรู้สึกผิดชอบของคริสเตียนที่เป็นชาวยิว ซึ่งได้ยินการอ่าน “หนังสือของโมเสส . . . ในที่ประชุมของชาวยิวทุกวันสะบาโต”b มาตลอดหลายปี (กจ. 15:21) ข้อเสนอนี้คงจะช่วยให้คริสเตียนที่เป็นชาวยิวกับที่เป็นคนต่างชาติมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด พระยะโฮวาพระเจ้าพอใจการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะนี่สอดคล้องกับความต้องการของพระองค์ เราได้เห็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการจัดการกับปัญหาที่อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกขึ้น เรื่องนี้เป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับประชาคมคริสเตียนในทุกวันนี้ด้วย!
10. คณะกรรมการปกครองในทุกวันนี้ทำตามแบบอย่างของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกยังไง?
10 เหมือนที่เราได้คุยกันแล้วในบทก่อน เหมือนกับคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรก คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้พึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในเอกภพ และพระเยซูคริสต์ผู้นำของประชาคมเพื่อได้รับการชี้นำในทุกเรื่องc (1 คร. 11:3) พวกเขาทำแบบนั้นยังไง? อัลเบิร์ต ดี ชโรเดอร์ ซึ่งได้รับใช้ในคณะกรรมการปกครองตั้งแต่ปี 1974 จนกระทั่งจบชีวิตบนโลกในเดือนมีนาคม 2006 ได้อธิบายว่า “คณะกรรมการปกครองประชุมกันในวันพุธ เราจะเริ่มการประชุมด้วยคำอธิษฐานเพื่อขอการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา พวกเราพยายามอย่างมากที่จะทำให้ทุกเรื่องที่เราตัดสินใจและจัดการสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิลถ้อยคำของพระเจ้า” คล้ายกัน มิลตัน จี เฮนเชล ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองมานานและได้จบชีวิตบนโลกในเดือนมีนาคม 2003 ได้ยกคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาถามนักเรียนที่สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 101 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด พี่น้องมิลตันตั้งคำถามว่า “มีองค์การไหนอีกไหมบนโลกนี้ที่ทุกคนที่นำหน้าจะทบทวนดูหลักการในคัมภีร์ไบเบิลถ้อยคำของพระเจ้าก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญ?” เราเห็นได้ชัดว่าไม่มีองค์การไหนอีกแล้ว
“ส่งบางคนในพวกเขาไป” (กิจการ 15:22-29)
11. มีการส่งคำตัดสินของคณะกรรมการปกครองไปยังประชาคมต่าง ๆ ยังไง?
11 คณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเล็มได้ข้อตัดสินที่เป็นเอกฉันท์ในประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต อย่างไรก็ดี เพื่อพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ จะทำตามได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงมีการส่งคำตัดสินนั้นไปถึงพี่น้องในแบบที่ชัดเจน และให้กำลังใจ มีการจัดการกับเรื่องนี้ยังไง? คัมภีร์ไบเบิลบอกต่อไปว่า “พวกอัครสาวกและผู้ดูแลพร้อมกับทุกคนในประชาคมก็ตัดสินใจว่าจะส่งบางคนในพวกเขาไปเมืองอันทิโอกพร้อมกับเปาโลและบาร์นาบัส คนที่ถูกเลือกคือยูดาสที่มีอีกชื่อหนึ่งว่าบาร์ซับบาสกับสิลาส สองคนนี้เป็นคนที่นำหน้าในพวกพี่น้อง” นอกจากนั้น มีการเตรียมจดหมายและส่งไปพร้อมกับพี่น้องเหล่านี้เพื่ออ่านให้พี่น้องในทุกประชาคมฟัง ทั้งในเมืองอันทิโอก ในแคว้นซีเรีย และในแคว้นซิลีเซีย—กจ. 15:22-26
12, 13. เกิดผลดีอะไรบ้างเมื่อคณะกรรมการปกครอง (ก) ส่งยูดาสกับสิลาสไป? (ข) ส่งจดหมายถึงประชาคมต่าง ๆ?
12 เนื่องจากยูดาสกับสิลาสเป็น “คนที่นำหน้าในพวกพี่น้อง” พวกเขาจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการปกครอง ตัวแทนทั้ง 4 คนคงทำให้พี่น้องเข้าใจชัดเจนว่าข่าวสารที่พวกเขานำมานั้น ไม่ได้เป็นแค่คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการเข้าสุหนัตเท่านั้น แต่ยังเป็นการชี้นำใหม่ที่มาจากคณะกรรมการปกครอง การที่ ‘คนที่ถูกเลือก’ เหล่านี้มาเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ต้องทำให้คริสเตียนชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มและคริสเตียนซึ่งเป็นคนต่างชาติเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น นี่เป็นการตัดสินใจที่ฉลาดและสะท้อนถึงความรักจริง ๆ เรามั่นใจได้ว่า การทำอย่างนี้จะช่วยให้ประชาชนของพระเจ้ามีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน
13 จดหมายนั้นมีคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสุหนัตและเรื่องอื่น ๆ เช่น พวกเขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อพระยะโฮวาจะพอใจและได้รับการอวยพรจากพระองค์ ส่วนสำคัญของจดหมายนั้นบอกว่า “พลังบริสุทธิ์และพวกเราเห็นตรงกันว่าจะไม่เพิ่มภาระให้กับพวกคุณนอกจากสิ่งจำเป็นต่อไปนี้ คือ ให้งดเว้นจากของที่เซ่นไหว้รูปเคารพ จากเลือด จากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดศีลธรรมทางเพศ ถ้าพวกคุณหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ พวกคุณจะมีความสุขความเจริญ ด้วยความปรารถนาดี”—กจ. 15:28, 29
14. เป็นไปได้ยังไงที่ประชาชนของพระยะโฮวาทำงานอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันทั้ง ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกแตกแยกกัน?
14 ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่มีพยานพระยะโฮวามากกว่า 8,000,000 คนที่อยู่ในประชาคมต่าง ๆ มากกว่า 100,000 ประชาคมทั่วโลก แต่พวกเขามีความเชื่อเหมือนกัน และทำงานอย่างเดียวกัน เป็นไปได้ยังไงที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกแตกแยกกัน? เรารู้ว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นได้เพราะพวกเราทุกคนได้รับการชี้นำที่ชัดเจนจากพระเยซูผู้นำของประชาคม พระเยซูให้คำแนะนำต่าง ๆ ผ่านทาง “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” ซึ่งก็คือคณะกรรมการปกครอง (มธ. 24:45-47) นอกจากนั้น เรายังเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะพี่น้องทั่วโลกยินดีทำตามการชี้นำที่มาจากคณะกรรมการปกครอง
“พี่น้อง . . . ก็มีกำลังใจและดีใจมาก” (กิจการ 15:30-35)
15, 16. พี่น้องรู้สึกยังไงเมื่อได้รับการชี้นำจากคณะกรรมการปกครอง และทำไม?
15 เรื่องราวในกิจการบอกเราต่อไปว่า เมื่อพี่น้องชายที่เป็นตัวแทนจากกรุงเยรูซาเล็มมาถึงเมืองอันทิโอก “พวกเขาเรียกพี่น้องมาประชุมกันแล้วเอาจดหมายให้” พวกพี่น้องที่นั่นตอบรับยังไงต่อการชี้นำจากคณะกรรมการปกครอง? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อพี่น้องอ่านจดหมายแล้วก็มีกำลังใจและดีใจมาก” (กจ. 15:30, 31) นอกจากนั้น ยูดาสกับสิลาส “บรรยายให้พี่น้องฟังหลายเรื่อง ช่วยให้พี่น้องได้กำลังใจและมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น” เนื่องจากยูดาสกับสิลาสบอกให้พี่น้องรู้เกี่ยวกับความต้องการของพระเจ้า พวกเขาทั้งสองคนจึงถูกเรียกว่า “ผู้พยากรณ์” เหมือนกับบาร์นาบัส เปาโล และคนอื่น ๆ—กจ. 13:1; 15:32; อพย. 7:1, 2
16 เห็นได้ชัดเจนว่าพระยะโฮวาอวยพรการตัดสินใจของคณะกรรมการปกครอง ผลคือ พี่น้องทุกคนได้กำลังใจ อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น? แน่นอน นี่เป็นเพราะคณะกรรมการปกครองให้คำแนะนำที่ชัดเจนตามเวลาที่เหมาะสม และคำแนะนำของพวกเขาอาศัยถ้อยคำของพระเจ้า นี่ทำให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ นอกจากนั้น คณะกรรมการปกครองยังส่งพี่น้องไปประชาคมต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดคำตัดสินด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ
17. ผู้ดูแลหมวดในสมัยของเราเป็นเหมือนเปาโล บาร์นาบัส ยูดาส และสิลาสยังไง?
17 คล้ายกัน คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาในปัจจุบันก็ให้การชี้นำที่เหมาะกับเวลากับพี่น้องทั่วโลก เมื่อมีการตัดสินในเรื่องต่าง ๆ พวกเขาส่งคำแนะนำถึงแต่ละประชาคมในแบบที่ชัดเจน วิธีหนึ่งก็คือ โดยการเยี่ยมของผู้ดูแลหมวด พี่น้องชายที่เสียสละเหล่านี้เดินทางจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่ง พวกเขาให้การชี้นำที่ชัดเจนและให้กำลังใจอย่างอบอุ่น เช่นเดียวกับเปาโลและบาร์นาบัส พวกเขาใช้เวลามากในการ “ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับคำสอนของพระยะโฮวาด้วยกันกับคนอื่นอีกหลายคนที่นั่น” (กจ. 15:35) เหมือนยูดาสกับสิลาส พวกเขา “บรรยายให้พี่น้องฟังหลายเรื่อง ช่วยให้พี่น้องได้กำลังใจและมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น”
18. ประชาชนของพระเจ้าต้องทำอะไรเพื่อพระยะโฮวาจะอวยพรพวกเขาต่อ ๆ ไป?
18 จะว่ายังไงกับประชาคมต่าง ๆ? อะไรจะช่วยให้ประชาคมต่าง ๆ ตลอดทั่วโลกมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกที่แตกแยกกันนี้? ที่จริง ในภายหลังยากอบเขียนว่า “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น อย่างแรกคือบริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติสุข มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง . . . นอกจากนั้น คนที่สร้างสันติสุขในสภาพที่สงบสุข ก็ทำให้เกิดผลเป็นความถูกต้องชอบธรรม” (ยก. 3:17, 18) ตอนเขียนข้อความนี้ยากอบนึกถึงการประชุมในกรุงเยรูซาเล็มตอนที่มีการตัดสินเรื่องการเข้าสุหนัตหรือไม่นั้นเราไม่รู้ แต่จากการทบทวนดูเหตุการณ์ที่บันทึกในกิจการบท 15 เรารู้แน่นอนว่า พระยะโฮวาจะอวยพรเราก็ต่อเมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อฟังคำแนะนำของคนที่นำหน้า
19, 20. (ก) อะไรแสดงให้เห็นว่าประชาคมอันทิโอกมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกันหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการปกครอง? (ข) ตอนนี้เปาโลกับบาร์นาบัสสามารถทำอะไรได้?
19 หลังจากที่พี่น้องในอันทิโอกได้รู้ว่าคณะกรรมการปกครองตัดสินใจยังไง ประชาคมที่นั่นก็สงบสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน แทนที่จะโต้เถียงกับพวกพี่น้องที่มาจากกรุงเยรูซาเล็ม พี่น้องในอันทิโอกรู้สึกขอบคุณและเห็นค่าที่ยูดาสกับสิลาสมาเยี่ยมพวกเขา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่ออยู่ที่นั่นช่วงหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่ยูดาสกับสิลาสจะกลับไปหาพี่น้องที่ส่งพวกเขามา” นั่นคือ กลับไปกรุงเยรูซาเล็มd (กจ. 15:33) เราแน่ใจว่าพวกพี่น้องในกรุงเยรูซาเล็มก็รู้สึกดีใจด้วยเมื่อได้ฟังสิ่งที่พี่น้องชายทั้งสองเล่าเกี่ยวกับการเดินทางของพวกเขา เป็นเพราะความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา พวกเขาจึงสามารถทำงานมอบหมายได้สำเร็จ
20 หลังจากประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตได้รับการจัดการอย่างเรียบร้อย เปาโลกับบาร์นาบัสยังอยู่ในเมืองอันทิโอกต่อไป พวกเขาเลยสามารถทุ่มเทตัวเองเพื่อนำหน้าในงานประกาศ ผู้ดูแลหมวดในทุกวันนี้ก็ทำแบบเดียวกันตอนที่พวกเขาไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ (กจ. 13:2, 3) พวกเขาเป็นพรที่มาจากพระยะโฮวาจริง ๆ! แต่พระยะโฮวาจะใช้ผู้ประกาศ 2 คนนี้ต่อไปยังไง? และพระองค์จะอวยพรพวกเขายังไง? เราจะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทถัดไป
a ดูกรอบ “ยากอบ—‘น้องชายของผู้เป็นนาย’”
b ยากอบอ้างถึงข้อเขียนของโมเสส ซึ่งรวมถึงข้อกฎหมาย และเรื่องราวต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้ามีความประสงค์ยังไงกับมนุษย์ก่อนที่จะมีกฎหมายของโมเสสด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ฉลาด ตัวอย่างเช่น เขาพูดถึงมุมมองของพระเจ้าที่เกี่ยวกับเลือด การเล่นชู้ และการไหว้รูปเคารพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในหนังสือปฐมกาล (ปฐก. 9:3, 4; 20:2-9; 35:2, 4) การที่ยากอบพูดแบบนี้ทำให้เห็นว่า พระยะโฮวาช่วยให้มนุษย์ทุกคนรู้เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพระองค์ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวยิวหรือคนต่างชาติ
d ในข้อ 34 คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลบางฉบับใส่ถ้อยคำที่บอกว่าสิลาสเลือกจะอยู่ต่อไปในอันทิโอก (ฉบับแปลคิงเจมส์) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามีการเพิ่มถ้อยคำนั้นเข้ามาทีหลัง