บท 15
“ช่วยประชาคมต่าง ๆ ให้เข้มแข็งขึ้น”
ผู้ดูแลเดินทางช่วยประชาคมต่าง ๆ ให้มีความเชื่อที่มั่นคง
1-3. (ก) ใครคือเพื่อนร่วมเดินทางคนใหม่ของเปาโล และเขาเป็นคนยังไง? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทนี้?
ตอนเดินทางผ่านเมืองต่าง ๆ อัครสาวกเปาโลมองพี่น้องชายหนุ่มที่เดินอยู่ข้าง ๆ เขา พี่น้องชายคนนี้คือทิโมธี ทิโมธีเป็นคนหนุ่มที่กระฉับกระเฉง เขาน่าจะอายุเกือบ 20 ปีหรือไม่ก็ 20 ต้น ๆ แต่ละก้าวของการเดินทางครั้งใหม่นี้ ทั้งสองคนก็ยิ่งห่างจากเมืองลิสตรากับเมืองอิโคนียูมออกไปเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าทิโมธีก็ยิ่งห่างไกลจากบ้านของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย มีอะไรรออยู่ข้างหน้าพวกเขา? เปาโลพอจะรู้อยู่บ้าง เพราะนี่เป็นการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่ 2 เปาโลรู้ว่าพวกเขาคงจะต้องเจออันตรายและเจอปัญหามากมาย ทิโมธีที่เดินทางมากับเขาจะรับมือได้ไหม?
2 เปาโลมั่นใจในทิโมธี บางทีความมั่นใจนี้อาจจะมีมากกว่าที่ทิโมธีมั่นใจในตัวเองด้วยซ้ำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ทำให้เปาโลรู้ว่าเขาต้องมีเพื่อนร่วมเดินทางที่เหมาะสม เปาโลรู้ว่าเขาต้องไปเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ดังนั้น คนที่เดินทางมากับเขาก็ต้องมีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน ทำไมเปาโลถึงอาจสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ? เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะเขากับบาร์นาบัสเพิ่งขัดแย้งกันก่อนหน้านี้ จนทำให้พวกเขาต้องแยกกันเดินทาง
3 ในบทนี้ เราจะได้เรียนหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้เพื่อจัดการกับความขัดแย้ง นอกจากนั้น เราจะได้รู้ว่าทำไมเปาโลถึงเลือกทิโมธีเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง และเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าผู้ดูแลหมวดในทุกวันนี้กำลังทำงานที่สำคัญอะไร
“ไปกันเถอะ ไปเยี่ยมพี่น้อง” (กิจการ 15:36)
4. เปาโลมีเป้าหมายอะไรตอนที่เขาเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่ 2?
4 ในบทก่อน เราได้เรียนเกี่ยวกับวิธีที่เปาโล บาร์นาบัส ยูดาส และสิลาสได้ให้กำลังใจพี่น้องในประชาคมที่เมืองอันทิโอก พวกเขาทำอย่างนั้นโดยบอกคำตัดสินของคณะกรรมการปกครองเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต หลังจากนั้น เปาโลทำอะไร? เปาโลไปบอกบาร์นาบัสเรื่องแผนการเดินทางครั้งใหม่ว่า “ไปกันเถอะ ไปเยี่ยมพี่น้องในทุกเมืองที่พวกเราเคยประกาศคำสอนของพระยะโฮวาไว้ ไปดูสิว่าพวกเขาเป็นยังไงกันบ้าง” (กจ. 15:36) เปาโลไม่ได้พูดถึงแค่การไปเยี่ยมเพื่อไปเจอกับพวกพี่น้องใหม่เท่านั้น หนังสือกิจการช่วยเราให้รู้เป้าหมายของการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่ 2 ของเปาโล อย่างแรก เขาอยากถ่ายทอดคำตัดสินของคณะกรรมการปกครองตามเมืองต่าง ๆ ที่เขาเดินทางไป (กจ. 16:4) อย่างที่สอง เนื่องจากเปาโลเป็นผู้ดูแลเดินทาง เขาจึงตั้งใจไปช่วยประชาคมต่าง ๆ ให้เข้มแข็งขึ้น และช่วยให้พี่น้องมีความเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้น (รม. 1:11, 12) องค์การของพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ทำตามแบบอย่างที่พวกอัครสาวกในอดีตทำยังไง?
5. คณะกรรมการปกครองในทุกวันนี้ชี้นำและคอยให้กำลังใจพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ยังไง?
5 ในทุกวันนี้ พระเยซูใช้คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาเพื่อชี้นำประชาคมของท่าน ชายผู้ซื่อสัตย์ที่ถูกเจิมเหล่านี้ถ่ายทอดการชี้นำและคอยให้กำลังใจพี่น้องทุกประชาคมตลอดทั่วโลก พวกเขาทำอย่างนั้นโดยทางจดหมาย ทางหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งแบบเป็นเล่มและแบบออนไลน์ ทางการประชุม และโดยวิธีอื่น ๆ นอกจากนั้น คณะกรรมการปกครองยังพยายามติดต่อกับแต่ละประชาคมโดยจัดให้มีผู้ดูแลเดินทางไปเยี่ยมพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ผู้ดูแลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้มีจำนวนหลายพันคนทั่วโลก พวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะกรรมการปกครองให้รับใช้เป็นผู้ดูแลหมวด
6, 7. ผู้ดูแลหมวดมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง?
6 ผู้ดูแลหมวดสนใจและคอยให้กำลังใจพี่น้องทุกคนในประชาคมให้มีความเชื่อเข้มแข็ง พวกเขาทำยังไง? ผู้ดูแลหมวดทำตามตัวอย่างของผู้ดูแลเดินทางในอดีต เช่น ตัวอย่างของเปาโล เปาโลได้บอกทิโมธีที่เป็นผู้ดูแลเดินทางว่า “ให้ประกาศถ้อยคำของพระเจ้าอย่างจริงจัง ทั้งในตอนที่สะดวกและตอนที่ลำบาก ให้ว่ากล่าวตักเตือน ตำหนิและโน้มน้าว แต่ให้ทำอย่างนั้นด้วยความอดกลั้นและด้วยศิลปะการสอน”—2 ทธ. 4:2, 5
7 จากคำพูดนี้ของเปาโล ผู้ดูแลหมวดและภรรยา ถ้าเขาแต่งงานแล้ว จะมีส่วนร่วมกับผู้ประกาศท้องถิ่นในงานประกาศหลายรูปแบบ และเนื่องจากผู้ดูแลหมวดเป็นครูสอนที่เก่งและรักงานรับใช้ ตัวอย่างของพวกเขาจึงกระตุ้นให้พี่น้องอยากทำตาม (รม. 12:11; 2 ทธ. 2:15) ผู้ดูแลหมวดจะแสดงความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว พวกเขาเต็มใจให้เวลาและกำลังเพื่อรับใช้คนอื่น และยินดีเดินทางทั้ง ๆ ที่มีสภาพอากาศไม่ดีหรืออยู่ในพื้นที่ที่อันตราย (ฟป. 2:3, 4) นอกจากนี้ ผู้ดูแลหมวดยังคอยให้กำลังใจ สอน และให้คำแนะนำแต่ละประชาคมโดยคำบรรยายที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก นอกจากนั้น พี่น้องทุกคนในประชาคมจะได้รับประโยชน์ถ้าพวกเขาดูตัวอย่างที่ดีของผู้ดูแลหมวดและเลียนแบบความเชื่อของพวกเขา—ฮบ. 13:7
“ทะเลาะกัน” (กิจการ 15:37-41)
8. บาร์นาบัสตอบรับยังไงตอนที่เปาโลชวนเขาให้เดินทางไปด้วยกัน?
8 บาร์นาบัสเห็นด้วยกับเปาโลที่จะ “ไปเยี่ยมพี่น้อง” (กจ. 15:36) ก่อนหน้านี้ พวกเขาทั้งสองทำงานด้วยกันเป็นอย่างดี และรู้จักพี่น้องในประชาคมต่าง ๆ อยู่แล้ว (กจ. 13:2-14:28) ดังนั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีที่พวกเขาได้ทำงานด้วยกันอีกครั้ง แต่กลับมีปัญหาเกิดขึ้น กิจการ 15:37 บอกว่า “บาร์นาบัสตั้งใจจะพายอห์นซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่ามาระโกไปด้วย” บาร์นาบัสไม่ได้แค่เสนอความเห็นว่าเขาจะทำอย่างนั้น แต่เขา “ตั้งใจ” ให้มาระโกลูกพี่ลูกน้องของเขาเดินทางประกาศในต่างประเทศครั้งนี้ด้วย
9. ทำไมเปาโลไม่เห็นด้วยกับบาร์นาบัส?
9 เปาโลไม่เห็นด้วย เพราะอะไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เปาโลไม่อยากพาไป เพราะมาระโกเคยทิ้งเปาโลกับบาร์นาบัสที่แคว้นปัมฟีเลีย” (กจ. 15:38) มาระโกเคยเดินทางไปกับเปาโลและบาร์นาบัสในการประกาศในต่างประเทศรอบแรก แต่เขาไม่ได้อยู่จนจบการเดินทาง (กจ. 12:25; 13:13) ในช่วงต้นของการเดินทาง ตอนอยู่ในแคว้นปัมฟีเลีย มาระโกได้ทิ้งงานมอบหมายแล้วกลับไปบ้านที่เยรูซาเล็ม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น แต่ดูเหมือนว่าอัครสาวกเปาโลมองว่าสิ่งที่มาระโกทำเป็นการขาดความรับผิดชอบ เปาโลอาจไม่แน่ใจว่าเขาจะพึ่งมาระโกได้หรือไม่
10. เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างเปาโลกับบาร์นาบัส?
10 ถึงอย่างนั้น บาร์นาบัสยังยืนยันว่าจะพามาระโกไปด้วย ส่วนเปาโลก็ยืนยันว่าจะไม่พาไป กิจการ 15:39 บอกว่า “เปาโลกับบาร์นาบัสทะเลาะกันจนต้องแยกกันไปคนละทาง” บาร์นาบัสพามาระโกลงเรือกลับไปบ้านของเขาที่เกาะไซปรัส เปาโลทำงานต่อไปตามแผนที่วางไว้ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เปาโลเลือกสิลาสให้ไปด้วยกัน เมื่อพวกพี่น้องอธิษฐานฝากพระยะโฮวาให้ช่วยดูแลเปาโลแล้ว เปาโลก็ออกเดินทาง” (กจ. 15:40) เขาทั้งสองเดินทาง “ไปทั่วแคว้นซีเรียกับแคว้นซิลีเซีย และช่วยประชาคมต่าง ๆ ให้เข้มแข็งขึ้น”—กจ. 15:41
11. ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง อะไรช่วยเราให้กลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม?
11 เรื่องนี้อาจเตือนเราให้นึกถึงความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง เปาโลกับบาร์นาบัสได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนพิเศษของคณะกรรมการปกครอง และเปาโลเองก็ดูเหมือนจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการปกครองนั้นในเวลาต่อมาด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนในเหตุการณ์นี้ ทั้งเปาโลและบาร์นาบัสทำตามแนวโน้มของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขาไม่กลับมาเป็นเพื่อนกันอีกไหม? ถึงแม้ไม่สมบูรณ์ แต่เปาโลกับบาร์นาบัสก็เป็นคนถ่อม มีจิตใจอย่างพระคริสต์ ไม่ต้องสงสัยว่า ในที่สุดพวกเขาทั้งสองให้อภัยกันและกลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม (อฟ. 4:1-3) ต่อมา เปาโลกับมาระโกก็ได้ทำงานด้วยกันอีกครั้งa—คส. 4:10
12. ผู้ดูแลทุกคนในทุกวันนี้ควรเลียนแบบเปาโลกับบาร์นาบัสยังไง?
12 ที่จริง ปกติแล้วเปาโลกับบาร์นาบัสไม่ได้เป็นคนอารมณ์ร้อนแบบนั้น บาร์นาบัสเป็นคนที่มีความรักและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนพวกพี่น้องไม่ได้เรียกเขาว่าโยเซฟซึ่งเป็นชื่อจริงของเขา แต่เรียกเขาว่าบาร์นาบัส ซึ่งหมายถึง “ผู้ให้กำลังใจ” (กจ. 4:36) เปาโลก็เหมือนกัน เขาเป็นคนอ่อนโยนและเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น (1 ธส. 2:7, 8) ทั้งผู้ดูแลและผู้ดูแลหมวดในทุกวันนี้ก็น่าจะเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลกับบาร์นาบัส พวกเขาควรถ่อมตัว และแสดงความรักความกรุณาตอนที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับพี่น้องในประชาคม—1 ปต. 5:2, 3
“พูดถึงทิโมธีในแง่ดี” (กิจการ 16:1-3)
13, 14. (ก) ทิโมธีเป็นใคร และเปาโลอาจได้พบเขาตอนไหน? (ข) อะไรทำให้เปาโลสังเกตดูทิโมธีเป็นพิเศษ? (ค) ทิโมธีได้รับงานมอบหมายอะไร?
13 ในการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่สอง เปาโลไปเยี่ยมที่แคว้นกาลาเทียของโรม ที่นั่น มีการตั้งบางประชาคมขึ้นแล้ว ในที่สุด “เปาโลเดินทางถึงเมืองเดอร์บีแล้วก็เมืองลิสตรา” คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ที่นั่นมีสาวกคนหนึ่งชื่อทิโมธี แม่เขาเป็นคนยิวที่มีความเชื่อ แต่พ่อเป็นคนกรีก”—กจ. 16:1b
14 ดูเหมือนว่า เปาโลได้เจอครอบครัวของทิโมธีตอนที่เดินทางไปเขตนั้นเป็นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 47 ตอนนี้ระหว่างการเยี่ยมครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นใน 2-3 ปีต่อมา เปาโลได้สังเกตดูทิโมธีเป็นพิเศษ เพราะอะไร? เพราะ “พี่น้อง . . . พูดถึงทิโมธีในแง่ดี” ทิโมธีมีชื่อเสียงที่ดีในประชาคมของเขาและในประชาคมอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ ด้วย ในหนังสือกิจการบอกว่าพวกพี่น้องทั้งในเมืองลิสตราและเมืองอิโคนียูม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตรได้พูดถึงเขาในทางที่ดี (กจ. 16:2) โดยการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ พวกผู้ดูแลได้มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญให้กับทิโมธี นั่นคือเป็นผู้ดูแลเดินทาง และร่วมเดินทางไปกับเปาโลและสิลาส—กจ. 16:3
15, 16. อะไรทำให้ทิโมธีมีชื่อเสียงที่ดี?
15 ทำไมทิโมธีถึงมีชื่อเสียงดีแบบนั้นทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย? เป็นเพราะเขาฉลาด หน้าตาดี หรือมีความสามารถพิเศษบางอย่างไหม? บ่อยครั้งคุณลักษณะเหล่านี้อาจทำให้คนอื่นประทับใจ ครั้งหนึ่ง แม้แต่ผู้พยากรณ์ซามูเอลก็เคยคิดผิด เขาดูแค่รูปร่างหน้าตาภายนอก แต่พระยะโฮวาเตือนซามูเอลว่า “พระเจ้าไม่ได้มองเหมือนที่มนุษย์มอง มนุษย์มองที่รูปร่างหน้าตาภายนอก แต่พระยะโฮวามองที่หัวใจ” (1 ซม. 16:7) ดังนั้น การที่พี่น้องพูดถึงทิโมธีในแง่ดีไม่ได้เป็นเพราะสิ่งที่เห็นภายนอก แต่เป็นคุณลักษณะภายในที่ดีของเขา
16 หลายปีต่อมา อัครสาวกเปาโลได้พูดถึงคุณลักษณะที่ดีของทิโมธี เปาโลบอกว่าทิโมธีมีน้ำใจที่ดี มีความรักแบบเสียสละ และขยันทำงานเพื่อพี่น้องในประชาคม (ฟป. 2:20-22) นอกจากนั้น ทิโมธียังเป็นที่รู้จักว่ามี “ความเชื่อที่มาจากใจจริง” ด้วย—2 ทธ. 1:5
17. วัยรุ่นในทุกวันนี้จะเลียนแบบทิโมธีได้ยังไง?
17 ทุกวันนี้ พี่น้องวัยรุ่นหลายคนเลียนแบบทิโมธี พวกเขาพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระเจ้าพอใจ เมื่อทำอย่างนี้ ถึงแม้อายุยังน้อย แต่พวกเขาก็กำลังสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระยะโฮวาและกับคนของพระองค์ (สภษ. 22:1; 1 ทธ. 4:15) พวกเขาแสดงความเชื่อที่มาจากใจจริง ไม่ใช้ชีวิตแบบหนึ่งตอนที่อยู่กับพี่น้อง และอีกแบบหนึ่งตอนอยู่กับคนอื่น (สด. 26:4) ผลก็คือ พี่น้องวัยรุ่นหลายคนเลยเป็นเหมือนกับทิโมธี พวกเขามีค่ามากสำหรับพี่น้องในประชาคม พี่น้องหลายคนได้กำลังใจมากเมื่อได้เห็นพี่น้องวัยรุ่นเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกาศ และจากนั้นก็อุทิศตัวและรับบัพติศมา
“มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น” (กิจการ 16:4, 5)
18. (ก) เปาโลกับทิโมธีได้รับสิทธิพิเศษอะไรตอนที่ทำงานเป็นผู้ดูแลเดินทาง? (ข) ประชาคมต่าง ๆ ได้รับประโยชน์อะไร?
18 เปาโลกับทิโมธีทำงานร่วมกันเป็นเวลาหลายปี ทั้งสองคนเป็นผู้ดูแลเดินทาง และทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการปกครองมอบหมาย บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อเปาโลกับเพื่อน ๆ เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ พวกเขาจะแจ้งคำตัดสินของพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มให้พี่น้องที่นั่นรู้เพื่อพวกเขาจะทำตาม” (กจ. 16:4) เห็นได้ชัดว่าประชาคมต่าง ๆ ได้ทำตามการชี้นำจากพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็ม การเชื่อฟังแบบนั้นส่งผลยังไง? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ประชาคมต่าง ๆ จึงมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นและมีคนเข้ามาเชื่อเพิ่มขึ้นทุกวัน”—กจ. 16:5
19, 20. ทำไมคริสเตียนควรเชื่อฟัง “คนที่นำหน้า”?
19 คล้ายกัน ถ้าเราเต็มใจเชื่อฟังการชี้นำที่ได้รับจาก “คนที่นำหน้า” ในทุกวันนี้ พระยะโฮวาก็จะอวยพรประชาคม (ฮบ. 13:17) เนื่องจากฉากของโลกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะให้ความสนใจ และทำตามการชี้นำที่มาจาก “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” (มธ. 24:45; 1 คร. 7:29-31) การทำอย่างนี้จะช่วยให้เรามีความเชื่อที่เข้มแข็งอยู่เสมอ และช่วยเราให้รักษาตัวไม่ให้มีด่างพร้อยจากโลกนี้—ยก. 1:27
20 จริงที่ผู้ดูแลทุกคนในทุกวันนี้ และสมาชิกของคณะกรรมการปกครองเป็นคนไม่สมบูรณ์ เหมือนกับที่เปาโล บาร์นาบัส มาระโก และผู้ดูแลที่ถูกเจิมคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกก็เป็นคนไม่สมบูรณ์ (รม. 5:12; ยก. 3:2) แต่เนื่องจากคณะกรรมการปกครองทำตามคำแนะนำที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างใกล้ชิด และทำตามตัวอย่างของอัครสาวกในศตวรรษแรก เราจึงวางใจพวกเขาได้อย่างแน่นอน (2 ทธ. 1:13, 14) การที่พวกเขาทำอย่างนั้น ทำให้ประชาคมต่าง ๆ เข้มแข็งขึ้นและมีความเชื่อที่มั่นคง
a ดูกรอบ “มาระโกมีสิทธิพิเศษหลายอย่าง”
b ดูกรอบ “ทิโมธีทำงานหนัก ‘ในการประกาศข่าวดี’”