คุณยอมให้พระวิญญาณของพระเจ้านำคุณไหม?
“พระวิญญาณของพระองค์ก็ดีเลิศล้น; ขอทรงนำข้าพเจ้าไปยังเมือง อันประกอบด้วยความสัตย์ธรรม.”—เพลง. 143:10
1, 2. (ก) จงกล่าวถึงบางโอกาสที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของผู้รับใช้พระองค์. (ข) พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้นไหม? จงอธิบาย.
คุณคิดถึงอะไรเมื่อใคร่ครวญในเรื่องการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์? คุณเคยนึกภาพถึงปฏิบัติการอันทรงพลังของฆิดโอนและซิมโซนไหม? (วินิจ. 6:33, 34; 15:14, 15) คุณอาจนึกถึงความกล้าหาญของคริสเตียนในยุคแรกหรือความสงบเยือกเย็นของสเตฟาโนตอนที่ท่านยืนอยู่ต่อหน้าสภาซันเฮดริน. (กิจ. 4:31; 6:15) จะว่าอย่างไรสำหรับความยินดีที่มีอยู่มากมายในสมัยปัจจุบัน ณ การประชุมนานาชาติ, ความซื่อสัตย์จงรักภักดีของพี่น้องที่ถูกจำคุกเพราะการรักษาความเป็นกลาง, และงานประกาศที่มีการเพิ่มทวีอย่างน่าทึ่ง? ตัวอย่างเหล่านี้ทั้งหมดเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์.
2 พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจเฉพาะในโอกาสพิเศษหรือในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดาเท่านั้นไหม? ไม่เลย. พระคำของพระเจ้ากล่าวถึงการที่คริสเตียน “ดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณ” และ “ได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณ.” (กลา. 5:16, 18, 25) ถ้อยคำดังกล่าวบ่งบอกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถโน้มนำชีวิตเราอยู่เสมอ. ในแต่ละวัน เราควรวิงวอนขอให้พระยะโฮวาชี้นำความคิด, คำพูด, และการกระทำของเราโดยทางพระวิญญาณของพระองค์. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 143:10) เมื่อเราให้พระวิญญาณดำเนินกิจอย่างเต็มที่ในชีวิตเรา พระวิญญาณก็จะช่วยเราให้พัฒนาผลพระวิญญาณที่ทำให้คนอื่นสดชื่นและทำให้พระเจ้าได้รับคำสรรเสริญ.
3. (ก) เหตุใดเราจำเป็นต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเรา? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 เหตุใดเราจำเป็นต้องได้รับการนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์? เนื่องจากมีพลังอีกอย่างหนึ่งที่พยายามมีอำนาจเหนือเรา ซึ่งเป็นพลังที่ขัดขวางการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์. พลังนั้นได้แก่สิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า “ความปรารถนาทางกาย” ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่ผิดบาปของมนุษย์เรา ความไม่สมบูรณ์ที่เราได้รับตกทอดมาในฐานะลูกหลานของอาดาม. (อ่านกาลาเทีย 5:17) ถ้าอย่างนั้น การให้พระวิญญาณของพระเจ้านำเราเกี่ยวข้องกับอะไร? มีอะไรที่เราอาจทำได้เพื่อไม่ให้ความปรารถนาที่ผิดบาปชักนำเรา? ให้เรามาพิจารณาคำถามดังกล่าวขณะที่เราวิเคราะห์คุณลักษณะหกอย่างที่เหลือของ “ผลของพระวิญญาณ” ซึ่งก็คือ “ความอดกลั้นไว้นาน ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนโยน การควบคุมตนเอง.”—กลา. 5:22, 23
ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานส่งเสริมสันติสุขในประชาคม
4. ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานส่งเสริมสันติสุขในประชาคมอย่างไร?
4 อ่านโกโลซาย 3:12, 13. ในประชาคม ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานมีบทบาทเสริมกันในการส่งเสริมสันติสุข. คุณลักษณะทั้งสองอย่างนี้ของผลพระวิญญาณช่วยให้เราปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างสุภาพ, สงบเยือกเย็นเมื่อถูกยั่วยุ, และไม่โต้ตอบเมื่อคนอื่นพูดหรือทำอะไรที่ไม่กรุณา. ถ้าเรามีเรื่องขัดแย้งกับเพื่อนคริสเตียน ความอดกลั้นไว้นานหรือความอดทนจะช่วยให้เราไม่เลิกคบหากับพี่น้องที่มีปัญหากับเรา แต่จะทำสิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ไขข้อบาดหมาง. ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับประชาคมไหม? ใช่แล้ว เพราะเราทุกคนล้วนไม่สมบูรณ์.
5. เกิดอะไรขึ้นระหว่างเปาโลกับบาร์นาบัส และเหตุการณ์นี้เน้นให้เห็นอะไร?
5 ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปาโลและบาร์นาบัส. ทั้งสองทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาหลายปีในการทำให้ข่าวดีแพร่ออกไป. แต่ละคนต่างก็มีคุณลักษณะที่ดี. กระนั้น ครั้งหนึ่งทั้งสอง “ขัดแย้งกันอย่างหนักจนต้องแยกทางกัน.” (กิจ. 15:36-39) เหตุการณ์นี้เน้นว่าแม้แต่ในหมู่ผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระเจ้าก็จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในบางครั้ง. ถ้าคริสเตียนมีเรื่องเข้าใจผิดกับเพื่อนร่วมความเชื่อ เขาอาจทำอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นการปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกอย่างถาวร?
6, 7. (ก) เราอาจทำตามคำแนะนำอะไรในพระคัมภีร์ก่อนที่การพูดคุยกับเพื่อนร่วมความเชื่อจะกลายเป็นการทะเลาะกัน? (ข) การเป็นคน “ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” มีประโยชน์อย่างไร?
6 ดังที่เห็นได้จากวลี “ขัดแย้งกันอย่างหนัก” ความขัดแย้งระหว่างเปาโลกับบาร์นาบัสนั้นเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง. ถ้าคริสเตียนรู้สึกว่าเขาโกรธเมื่อคุยเรื่องหนึ่งกับเพื่อนร่วมความเชื่อ เขาควรเอาใจใส่คำแนะนำในยาโกโบ 1:19, 20 ที่ว่า “ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ เพราะความโกรธของมนุษย์ไม่ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมตามที่พระเจ้าประสงค์.” เขาอาจพยายามเปลี่ยนเรื่องคุย, เลื่อนการพูดคุยเรื่องนั้นออกไป, หรือขอตัวก่อนที่การสนทนาจะกลายเป็นการทะเลาะกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์.—สุภา. 12:16; 17:14; 29:11
7 การทำตามคำแนะนำนี้เป็นประโยชน์อย่างไร? เมื่อคริสเตียนพยายามสงบใจ, อธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น, และใคร่ครวญว่าควรตอบอย่างไรจึงจะดีที่สุด เขากำลังยอมให้พระวิญญาณของพระเจ้านำ. (สุภา. 15:1, 28) ด้วยการโน้มนำจากพระวิญญาณ เขาก็จะสามารถแสดงความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นาน. เมื่อเป็นอย่างนั้น เขาจึงพร้อมที่จะทำตามคำแนะนำในเอเฟโซส์ 4:26, 29 ที่ว่า “ถ้าจะโกรธก็โกรธเถิด แต่อย่าทำบาป . . . อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย แต่ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง.” เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเราสวมตัวด้วยความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานเรามีส่วนทำให้เกิดสันติสุขและเอกภาพในประชาคม.
จงทำให้ครอบครัวสดชื่นด้วยความกรุณาและความดี
8, 9. ความกรุณาและความดีคืออะไร และคุณลักษณะทั้งสองนี้ส่งผลต่อบรรยากาศในครอบครัวอย่างไร?
8 อ่านเอเฟโซส์ 4:31, 32; 5:8, 9. เช่นเดียวกับสายลมอ่อน ๆ และเครื่องดื่มเย็น ๆ ในวันที่อากาศร้อน ความกรุณาและความดีทำให้รู้สึกสดชื่น. ในครอบครัว คุณลักษณะทั้งสองนี้ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี. ความกรุณาเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นรักซึ่งเกิดมาจากความสนใจอย่างแท้จริงในตัวผู้อื่น. ความสนใจดังกล่าวแสดงออกโดยการช่วยเหลือและใช้คำพูดที่คำนึงถึงผู้อื่น. เช่นเดียวกับความกรุณา ความดีเป็นคุณลักษณะที่ดีซึ่งแสดงออกด้วยการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของความดี. (กิจ. 9:36, 39; 16:14, 15) แต่ความดียังเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นด้วย.
9 ความดีเป็นความล้ำเลิศด้านศีลธรรม. ความดีไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะสิ่งที่เราทำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเกี่ยวข้องกับตัวตนที่แท้จริงของเรา. ความดีเป็นเหมือนกับผลไม้ที่หวานฉ่ำทั้งลูกและไม่มีส่วนที่เน่าเสียทั้งข้างนอกและข้างใน. คล้ายกัน ความดีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตทั้งสิ้นของคริสเตียน.
10. อะไรอาจช่วยสมาชิกในครอบครัวให้พัฒนาผลของพระวิญญาณ?
10 ในครอบครัวคริสเตียน อะไรอาจช่วยสมาชิกในครอบครัวให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความกรุณา และความดี? ความรู้ถ่องแท้ในพระคำของพระเจ้ามีบทบาทสำคัญ. (โกโล. 3:9, 10) หัวหน้าครอบครัวบางคนศึกษาผลของพระวิญญาณด้วยกันกับครอบครัวในการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็นบางสัปดาห์. การพิจารณาเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก. คุณอาจใช้เครื่องมือสำหรับค้นคว้าที่มีอยู่ในภาษาของคุณ แล้วเลือกบทความที่เกี่ยวกับคุณลักษณะแต่ละอย่างของผลพระวิญญาณ. คุณอาจพิจารณาบทความนั้นเพียงไม่กี่ย่อหน้าในแต่ละสัปดาห์ และใช้เวลาสักสองสามสัปดาห์เพื่อพิจารณาคุณลักษณะแต่ละอย่าง. เมื่อคุณศึกษาบทความเหล่านี้ จงอ่านและวิเคราะห์ข้อคัมภีร์ที่มีการอ้างถึง. จงมองหาวิธีที่จะใช้สิ่งที่คุณเรียนรู้และอธิษฐานขอพระยะโฮวาอวยพรความพยายามของคุณ. (1 ติโม. 4:15; 1 โย. 5:14, 15) การศึกษาเช่นนี้จะช่วยให้แต่ละคนในครอบครัวปฏิบัติต่อกันดีขึ้นได้จริง ๆ ไหม?
11, 12. คู่สมรสคริสเตียนสองคู่ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการศึกษาเกี่ยวกับความกรุณา?
11 คู่สมรสหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งอยากประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส ตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับผลของพระวิญญาณแบบเจาะลึก. ทั้งสองได้รับประโยชน์อย่างไร? ผู้เป็นภรรยาให้ความเห็นว่า “เมื่อรู้ว่าการเป็นคนกรุณาเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์และความภักดีด้วย นั่นมีผลอย่างมากต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อกันจนถึงทุกวันนี้. ความกรุณาสอนเราให้พร้อมจะยินยอมและให้อภัย. และคุณลักษณะนี้ช่วยเราให้เรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ เมื่อเหมาะสม.”
12 สามีภรรยาคริสเตียนอีกคู่หนึ่ง ซึ่งเคยมีปัญหาครอบครัว ตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติต่อกันด้วยความกรุณา. ทั้งสองตัดสินใจที่จะศึกษาเรื่องความกรุณาด้วยกัน. ผลเป็นอย่างไร? ผู้เป็นสามีเล่าว่า “การศึกษาเกี่ยวกับความกรุณาช่วยให้เราเห็นความจำเป็นที่จะเชื่อใจกันและกันแทนที่จะกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีเจตนาที่ไม่ดี และมองหาข้อดีของกันและกัน. เราเริ่มสนใจความจำเป็นของกันและกันมากขึ้น. การเป็นคนกรุณายังรวมถึงการที่ผมพยายามให้ภรรยาแสดงความคิดของเธอออกมาอย่างเต็มที่โดยไม่ขุ่นเคืองในสิ่งที่เธอพูด. นั่นหมายความว่าผมจำเป็นต้องตัดทิฐิออกไป. เมื่อเราเริ่มปฏิบัติต่อกันอย่างกรุณาในชีวิตสมรส เราก็หาข้อแก้ตัวน้อยลงเรื่อย ๆ. นั่นทำให้ครอบครัวเราดีขึ้น.” ครอบครัวคุณจะได้ประโยชน์จากการศึกษาผลของพระวิญญาณไหม?
แสดงความเชื่ออย่างแท้จริงเมื่ออยู่ตามลำพัง
13. เราต้องป้องกันไม่ให้สายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาได้รับความเสียหายจากอะไร?
13 คริสเตียนจำเป็นต้องให้พระวิญญาณของพระเจ้านำพวกเขาทั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะและในที่ส่วนตัว. ทุกวันนี้ ภาพและความบันเทิงที่เสื่อมทรามมีให้เห็นอยู่มากมายในโลกของซาตาน. เรื่องนี้อาจทำให้สายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาเสียหายได้. คริสเตียนควรทำอะไร? พระคำของพระเจ้าแนะนำเราว่า “จงละทิ้งการโสโครกทุกอย่างและการชั่วที่ไม่พึงปรารถนา แล้วน้อมรับพระคำที่พระเจ้าทรงปลูกฝังไว้ในตัวท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคำนั้นจะช่วยชีวิตพวกท่านไว้.” (ยโก. 1:21) ให้เราพิจารณาว่าความเชื่อ ซึ่งเป็นคุณลักษณะอีกประการหนึ่งของผลพระวิญญาณ จะช่วยเราให้รักษาความสะอาดจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวาได้อย่างไร.
14. การขาดความเชื่ออาจนำไปสู่การทำผิดได้อย่างไร?
14 โดยพื้นฐานแล้ว การมีความเชื่อหมายถึงการที่พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงในความคิดของเรา. ถ้าพระเจ้าไม่ทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงในความคิดของเรา เราอาจพลาดพลั้งทำผิดได้โดยง่าย. ขอให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณ. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยแก่ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลว่ากำลังมีการทำสิ่งน่าสะอิดสะเอียนกันอยู่ในที่ส่วนตัว โดยตรัสว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย, ท่านได้เห็นหรือซึ่งผู้เฒ่าของเรือนยิศราเอลทั้งปวงกระทำอยู่ในห้องรูปเคารพที่มืดนั้น, ด้วยเขาทั้งหลายมักว่า, พระยะโฮวามิได้เห็นเรา, พระยะโฮวาละทิ้งแผ่นดินนี้เสียแล้ว.” (ยเอศ. 8:12) คุณสังเกตไหมว่าอะไรคือเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างนั้น? พวกเขาคิดว่าพระยะโฮวาไม่รู้ไม่เห็นว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่. พระยะโฮวาไม่ได้ทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงในความคิดของพวกเขา.
15. ความเชื่อที่มั่นคงในพระยะโฮวาช่วยปกป้องเราไว้อย่างไร?
15 ตรงกันข้าม ขอให้พิจารณาตัวอย่างของโยเซฟ. แม้ว่าอยู่ห่างจากครอบครัวและเพื่อนพ้อง โยเซฟปฏิเสธที่จะทำผิดประเวณีกับภรรยาของโพติฟา. เพราะเหตุใด? ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.” (เย. 39:7-10) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงในความคิดของท่าน. ถ้าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงในความคิดของเรา เราจะไม่ชมความบันเทิงที่ไม่สะอาดหรือทำสิ่งใดก็ตามที่เรารู้ว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยเมื่ออยู่ตามลำพัง. เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นเหมือนกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้าจะประพฤติด้วยใจสุจริตภายในเคหาของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าจะไม่ตั้งสิ่งเลวทรามไว้ต่อตาข้าพเจ้า.”—เพลง. 101:2, 3
จงปกป้องหัวใจคุณด้วยการควบคุมตนเอง
16, 17. (ก) ดังที่พรรณนาไว้ในหนังสือสุภาษิต “ชายหนุ่มคนหนึ่งผู้ไร้ความเข้าใจ” พลาดพลั้งทำผิดได้อย่างไร? (ข) ดังที่เห็นในภาพหน้า 26 อาจเกิดข้อผิดพลาดคล้าย ๆ กันนี้ได้อย่างไรในทุกวันนี้ ไม่ว่าคนเราจะอยู่ในวัยใด?
16 การควบคุมตนเองเป็นคุณลักษณะสุดท้ายของผลพระวิญญาณ ซึ่งทำให้เราสามารถปฏิเสธสิ่งที่พระเจ้าทรงตำหนิ. คุณลักษณะนี้ช่วยเราในการปกป้องรักษาหัวใจ. (สุภา. 4:23) ขอให้พิจารณาฉากเหตุการณ์ที่กล่าวไว้ในสุภาษิต 7:6-23 ซึ่งพรรณนาว่า “ชายหนุ่มคนหนึ่งผู้ไร้ความเข้าใจ” พ่ายแพ้แก่อุบายชั่วของหญิงโสเภณีอย่างไร. เขาติดกับหลังจากที่ “กำลังเดินไปตามถนนใกล้มุมบ้านของหญิงนั้น.” เขาอาจกล้าเดินไปละแวกบ้านของหญิงนั้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น. เขามองไม่ออกว่าเขากำลังถูกชักนำไปในแนวทางที่โง่เขลาซึ่งจะทำให้เขาเสียชีวิต.
17 ถ้าย้อนเวลาได้ ชายหนุ่มคนนี้จะหลีกเลี่ยงการทำผิดที่จะทำให้เขาพินาศได้อย่างไร? โดยใส่ใจฟังคำเตือนที่ว่า “อย่าหลงไปในทางของหล่อน.” (สุภา. 7:25) เรื่องนี้สอนเราว่า ถ้าเราต้องการให้พระวิญญาณของพระเจ้านำเรา เราต้องไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่อาจถูกล่อใจ. การกระทำอย่างหนึ่งที่อาจทำให้คนเราเดินหลงไปในแนวทางที่โง่เขลาแบบเดียวกับ ‘ชายหนุ่มผู้ไร้ความเข้าใจ’ ก็คือการกดเปลี่ยนช่องโทรทัศน์หรือท่องอินเทอร์เน็ตไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย. ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การทำเช่นนี้อาจทำให้เขาบังเอิญไปพบเห็นฉากที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ. เขาอาจค่อย ๆ สร้างนิสัยที่ไม่สะอาดด้วยการดูสื่อลามก ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อสติรู้สึกผิดชอบและสายสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า. เรื่องนี้อาจหมายถึงชีวิตของเขาเลยทีเดียว.—อ่านโรม 8:5-8
18. คริสเตียนอาจใช้มาตรการอะไรเพื่อปกป้องหัวใจของเขา และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองอย่างไร?
18 แน่นอน เราสามารถควบคุมตนเอง และเราควรลงมือทำทันทีเมื่อเราเห็นภาพที่ยั่วยวนกามารมณ์. แต่จะดียิ่งกว่านั้นมากถ้าเราหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนั้นตั้งแต่แรก! (สุภา. 22:3) การวางมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมและการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเอง. ตัวอย่างเช่น การตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ในที่ที่คนอื่นจะเห็นได้อาจเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง. บางคนเห็นว่าดีที่สุดที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือดูโทรทัศน์เฉพาะเมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย. ส่วนบางคนก็ตัดสินใจว่าจะไม่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเลย. (อ่านมัดธาย 5:27-30) ให้เราใช้มาตรการใด ๆ ก็ตามที่จำเป็นเพื่อป้องกันตัวเราเองและครอบครัวไว้ เพื่อเราจะสามารถนมัสการพระยะโฮวา “อย่างบริสุทธิ์ใจ จากสติรู้สึกผิดชอบที่ดี และจากความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด.”—1 ติโม. 1:5
19. การให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราเป็นประโยชน์อย่างไร?
19 ผลที่เกิดจากการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย. ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานช่วยส่งเสริมให้ประชาคมมีสันติสุข. ความกรุณาและความดีส่งเสริมให้ครอบครัวมีความสุข. ความเชื่อและการควบคุมตนเองช่วยให้เราใกล้ชิดพระยะโฮวาและรักษาตัวให้สะอาดเฉพาะพระพักตร์พระองค์อยู่เสมอ. นอกจากนั้น กาลาเทีย 6:8 รับรองกับเราว่า “คนที่หว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณจะเก็บเกี่ยวชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณ.” ใช่แล้ว โดยอาศัยค่าไถ่ของพระคริสต์ พระยะโฮวาจะทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อประทานชีวิตไม่รู้สิ้นสุดแก่คนที่ให้พระวิญญาณของพระองค์นำชีวิตเขา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความอ่อนโยนและความอดกลั้นไว้นานส่งเสริมสันติสุขในประชาคมอย่างไร?
• อะไรอาจช่วยคริสเตียนให้แสดงความกรุณาและความดีที่บ้าน?
• ความเชื่อและการควบคุมตนเองช่วยให้คริสเตียนป้องกันหัวใจของตนได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 24]
คุณจะป้องกันไม่ให้การพูดคุยกันกลายเป็นการทะเลาะวิวาทได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 25]
การศึกษาเรื่องผลของพระวิญญาณอาจเป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวของคุณ
[ภาพหน้า 26]
เมื่อเราแสดงความเชื่อและมีการควบคุมตนเอง นั่นจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอันตรายอะไร?