บท 16
“มา . . . ที่แคว้นมาซิโดเนียด้วยเถอะ”
หลายคนได้รับพรเพราะเปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางของเขาตอบรับงานมอบหมายและอดทนการข่มเหงด้วยความยินดี
จากกิจการ 16:6-40
1-3. (ก) พลังบริสุทธิ์ชี้นำเปาโลกับเพื่อน ๆ ยังไง? (ข) เราจะทบทวนเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น?
ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งออกไปจากเมืองฟีลิปปีในแคว้นมาซิโดเนีย และไม่นานพวกเธอก็เดินทางมาถึงแม่น้ำกานกีทีสซึ่งเป็นแม่น้ำสายแคบ ๆ พวกเธอนั่งลงริมแม่น้ำเพื่ออธิษฐานถึงพระเจ้าของชาติอิสราเอลอย่างที่ทำกันเป็นประจำ พระยะโฮวาสังเกตเห็นสิ่งที่พวกเธอทำ—2 พศ. 16:9; สด. 65:2
2 ในเวลาเดียวกันนั้น มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งออกเดินทางจากเมืองลิสตรา เมืองนี้อยู่ทางใต้ของแคว้นกาลาเทีย และอยู่ทางตะวันออกของเมืองฟีลิปปีห่างออกไปกว่า 800 กิโลเมตร ไม่กี่วันต่อมา พวกเขามาถึงทางหลวงที่ปูด้วยหินของโรมัน ทางหลวงนี้มุ่งไปทางตะวันตกถึงเขตแดนที่มีประชากรมากที่สุดของแคว้นเอเชีย ผู้ชายกลุ่มนี้มีเปาโล สิลาส และทิโมธี ทั้งสามกระตือรือร้นที่จะเดินทางไปตามถนนนั้นเพื่อจะไปเยี่ยมเมืองเอเฟซัสและเมืองอื่น ๆ ที่ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องได้ยินเรื่องพระคริสต์ แต่ถึงอย่างนั้น ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มการเดินทาง พลังบริสุทธิ์ได้ห้ามพวกเขาไว้ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เปิดเผยว่าพระเจ้าใช้พลังบริสุทธิ์ห้ามพวกเขายังไงในเหตุการณ์นั้น แต่เรารู้ว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ให้ประกาศในแคว้นเอเชีย เพราะอะไร? โดยทางพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระเยซูชี้นำเปาโลกับเพื่อน ๆ ให้เดินทางผ่านเอเชียไมเนอร์ ข้ามทะเลอีเจียน และมุ่งหน้าไปถึงฝั่งแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่ชื่อกานกีทีส
3 วิธีที่พระเยซูชี้นำเปาโลกับเพื่อน ๆ ให้เดินทางไปแคว้นมาซิโดเนียนั้นมีบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับพวกเราในทุกวันนี้ ดังนั้น ให้เรามาทบทวนบางเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่ 2 ของเปาโล ซึ่งเริ่มต้นประมาณปี ค.ศ. 49
“พระเจ้าเรียกพวกเราให้ไป” (กิจการ 16:6-15)
4, 5. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเปาโลและเพื่อน ๆ ตอนอยู่ใกล้แคว้นบิธีเนีย? (ข) เปาโลและเพื่อน ๆ ตัดสินใจทำอะไร และผลเป็นยังไง?
4 เมื่อถูกห้ามไม่ให้ประกาศในแคว้นเอเชีย เปาโลกับเพื่อน ๆ เดินทางไปทางเหนือเพื่อจะประกาศในเมืองต่าง ๆ ของแคว้นบิธีเนีย เพื่อจะไปถึงที่นั่น พวกเขาอาจต้องเดินหลายวันบนถนนที่ไม่ได้ปูด้วยหินที่อยู่ระหว่างแคว้นฟรีเจียกับแคว้นกาลาเทีย เส้นทางนี้มีคนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่เมื่อพวกเขาอยู่ใกล้แคว้นบิธีเนีย พระเยซูได้ใช้พลังบริสุทธิ์ห้ามพวกเขาไว้อีก (กจ. 16:6, 7) ถึงตอนนั้น พวกเขาคงต้องรู้สึกสับสน พวกเขารู้ว่าจะประกาศเรื่องอะไรและจะประกาศยังไง แต่ไม่รู้ว่าจะประกาศที่ไหน มันเหมือนกับว่าพวกเขาได้เคาะประตูเพื่อจะเข้าสู่แคว้นเอเชีย แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป พวกเขาเลยเคาะประตูสู่แคว้นบิธีเนีย แต่ก็เข้าไปไม่ได้อีก แม้จะเป็นอย่างนั้น เปาโลก็ตั้งใจที่จะเคาะต่อ ๆ ไปจนกว่าจะพบประตูที่เปิดออก หลังจากนั้น พวกเขาก็ตัดสินใจบางอย่างที่อาจดูไม่สมเหตุผล พวกเขาเดินทางไปทางตะวันตกและเดินระยะทาง 550 กิโลเมตร ผ่านเมืองแล้วเมืองเล่าไปจนถึงเมืองท่าโตรอัส ซึ่งเป็นประตูสู่แคว้นมาซิโดเนีย (กจ. 16:8) ที่นั่น เปาโลเคาะประตูอีกเป็นครั้งที่สาม แล้วประตูก็เปิดกว้าง!
5 ลูกาผู้เขียนหนังสือข่าวดีได้มาสมทบกับเปาโลและเพื่อนที่เมืองโตรอัส เขารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “คืนนั้น เปาโลเห็นนิมิต ในนิมิตนั้นมีผู้ชายชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งยืนอ้อนวอนเปาโลว่า ‘ขอมาช่วยพวกเราที่แคว้นมาซิโดเนียด้วยเถอะ’ หลังจากที่เปาโลเห็นนิมิต พวกเราก็พยายามจะไปแคว้นมาซิโดเนียทันทีเพราะเห็นว่าพระเจ้าเรียกพวกเราให้ไปประกาศข่าวดีกับผู้คนที่นั่น”a (กจ. 16:9, 10) ในที่สุด เปาโลก็รู้ว่าจะประกาศที่ไหน เปาโลคงมีความสุขมากที่ไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจของเขา ผู้ชายทั้ง 4 คนลงเรือไปแคว้นมาซิโดเนียทันที
6, 7. (ก) เราได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางของเปาโล? (ข) ประสบการณ์ของเปาโลทำให้เรามั่นใจในเรื่องอะไร?
6 เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้? ขอสังเกตว่า พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าเข้ามาแทรกแซงหลังจากที่เปาโลเริ่มออกเดินทางไปแคว้นเอเชียแล้ว พระเยซูเข้ามาหยุดเปาโลหลังจากที่พวกเขาเดินทางไปใกล้แคว้นบิธีเนีย และพระเยซูชี้นำพวกเขาไปแคว้นมาซิโดเนียหลังจากที่พวกเขาไปถึงเมืองโตรอัส ในทุกวันนี้ พระเยซูผู้นำของประชาคมก็ใช้วิธีคล้าย ๆ กัน (คส. 1:18) ตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งเราอาจคิดถึงการรับใช้เป็นไพโอเนียร์ หรือคิดถึงการย้ายไปเขตที่จำเป็นต้องมีผู้ประกาศมากกว่า แต่เป็นไปได้ที่พระเยซูจะชี้นำเราโดยทางพลังบริสุทธิ์หลังจากที่เราลงมือทำอะไรบางอย่างตามเป้าหมายที่เราวางไว้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ดูสิ คนขับรถสามารถบังคับรถให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้ก็เฉพาะตอนที่รถกำลังเคลื่อนที่ไปเท่านั้น คล้ายกัน พระเยซูชี้นำเราให้รับใช้มากขึ้นได้ก็เฉพาะตอนที่เรากำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ซึ่งก็คือตอนที่เราออกความพยายามอย่างเต็มที่
7 แต่จะว่ายังไงถ้าเรายังไม่เห็นผลอะไรจากสิ่งที่เรากำลังพยายามทำ? เราควรล้มเลิกความตั้งใจไหม โดยคิดว่าพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าไม่ชี้นำเรา? เราไม่ควรทำอย่างนั้น ขอจำไว้ว่า เปาโลต้องเจอกับปัญหาด้วยเหมือนกัน แต่เขาก็พยายามเคาะต่อ ๆ ไปจนได้เจอกับประตูที่เปิดอยู่ เรามั่นใจได้ว่าถ้าเราพยายามต่อ ๆ ไป เราก็จะเจอ ‘โอกาสที่เปิดกว้างให้ได้ทำงาน’ และพระยะโฮวาจะอวยพรที่เราทำอย่างนั้น—1 คร. 16:9
8. (ก) เมืองฟีลิปปีเป็นเมืองแบบไหน? (ข) ตอนที่เปาโลประกาศใน “ที่สำหรับอธิษฐาน” มีเหตุการณ์ที่น่ายินดีอะไรเกิดขึ้น?
8 หลังจากมาถึงแคว้นมาซิโดเนียแล้ว เปาโลกับเพื่อน ๆ เดินทางไปเมืองฟีลิปปี ผู้คนในเมืองนี้ภาคภูมิใจที่ตัวเองเป็นพลเมืองโรมัน มีหลายอย่างในเมืองนี้ที่คล้ายกับกรุงโรม นี่ทำให้ทหารโรมันที่ปลดเกษียณแล้วมาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ ที่นอกประตูเมืองมีแม่น้ำสายแคบ ๆ พวกมิชชันนารีเข้าใจว่ามีบริเวณหนึ่งที่ริมแม่น้ำนั้นเป็น “ที่สำหรับอธิษฐาน”b ในวันสะบาโต พวกเขาไปที่บริเวณนั้นและพบผู้หญิงหลายคนมาชุมนุมกันอยู่ที่นั่นเพื่อนมัสการพระเจ้า พวกสาวกนั่งลงคุยกับพวกเธอ มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อลิเดียที่ “พระยะโฮวาเปิดใจเธอให้สนใจฟัง” หลังจากได้ฟัง ลิเดียกับคนในบ้านก็ถูกกระตุ้นใจให้รับบัพติศมา ลิเดียได้อ้อนวอนเปาโลกับเพื่อนร่วมเดินทางให้มาพักที่บ้านของเธอ เธออ้อนวอนจนพวกเขาขัดไม่ได้c—กจ. 16:13-15
9. หลายคนในทุกวันนี้ได้เลียนแบบเปาโลยังไง และพวกเขาได้รับพรอะไรบ้าง?
9 ลองคิดดูสิว่า เปาโลกับเพื่อน ๆ จะมีความสุขขนาดไหนตอนที่ลิเดียรับบัพติศมา! เปาโลคงต้องดีใจมากที่เขาตอบรับคำเชิญให้ “มา . . . ที่แคว้นมาซิโดเนีย” และพระยะโฮวาก็เห็นว่าเหมาะที่จะใช้เขากับเพื่อน ๆ ให้ตอบคำอธิษฐานของพวกผู้หญิงที่เกรงกลัวพระองค์! คล้ายกัน ในทุกวันนี้ก็มีพี่น้องชายหญิงมากมาย ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ คนโสดและคนที่แต่งงานแล้ว พวกเขาย้ายไปในเขตที่มีความต้องการผู้ประกาศมากกว่า จริงที่บางครั้งพวกเขาอาจเจอกับปัญหาบางอย่าง แต่เรื่องนี้เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่พวกเขาได้เจอกับผู้คนที่เป็นเหมือนลิเดียซึ่งยอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล คุณจะปรับเปลี่ยนบางอย่างในชีวิตได้ไหมเพื่อจะย้ายไปในเขตที่มีความต้องการผู้ประกาศมากกว่า? พระยะโฮวาจะอวยพรคุณแน่ ๆ ถ้าคุณทำอย่างนั้น ให้เรามาดูตัวอย่างของแอรอนด้วยกัน แอรอนเป็นพี่น้องชายอายุประมาณ 20 ต้น ๆ เขาย้ายไปอีกประเทศหนึ่งในแถบอเมริกากลาง แอรอนรู้สึกเหมือนกับพี่น้องหลายคนที่ย้ายไปรับใช้ในประเทศอื่น เขาบอกว่า “การรับใช้ในต่างประเทศได้ช่วยผมให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น ผมมีความสุขมากที่ได้ประกาศในเขตงานนี้ ตอนนี้ผมได้นำการศึกษาพระคัมภีร์ตั้ง 8 ราย!“
“ฝูงชนก็ลุกฮือ . . . ด่าเปาโลกับสิลาสด้วยความโกรธแค้น” (กิจการ 16:16-24)
10. ปีศาจทำยังไงเพื่อดึงความสนใจผู้คนไปจากการติดตามพระเยซู?
10 ซาตานต้องโกรธมากแน่ ๆ ที่ได้เห็นผู้คนเรียนความจริงและรับบัพติศมาในเขตงานที่ก่อนหน้านี้ผู้คนทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของมัน ดังนั้น ไม่น่าแปลกที่ปีศาจทำบางอย่างเพื่อให้ผู้คนต่อต้านเปาโลกับเพื่อน ๆ! ตอนที่พวกเขาไปเยี่ยมผู้คนในที่สำหรับอธิษฐาน มีสาวใช้คนหนึ่งที่มีปีศาจสิงอยู่ซึ่งหาเงินให้นายของตัวเองโดยการทำนาย สาวใช้คนนี้ได้เดินตามเปาโลกับเพื่อน ๆ และร้องว่า “คนพวกนี้เป็นทาสของพระเจ้าองค์สูงสุด พวกเขามาประกาศทางรอดให้กับพวกคุณ” ปีศาจอาจพยายามทำให้ดูเหมือนว่า การทำนายของสาวใช้คนนี้และคำสอนของเปาโลมาจากแหล่งเดียวกัน การทำอย่างนี้ดึงความสนใจผู้คนไปจากการติดตามพระเยซูคริสต์ เปาโลได้ทำให้สาวใช้คนนั้นเงียบโดยขับปีศาจออกจากเธอ—กจ. 16:16-18
11. หลังจากเปาโลขับปีศาจออกจากสาวใช้แล้ว มีอะไรเกิดขึ้นกับเปาโลและสิลาส?
11 หลังจากที่นายของสาวใช้คนนี้รู้ว่าสาวใช้คนนี้ไม่สามารถทำเงินให้พวกเขาได้อีก พวกเขาก็โกรธมาก พวกเขาลากตัวเปาโลกับสิลาสไปที่ตลาดซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เป็นตัวแทนของโรมพิจารณาคดีอยู่ นายของสาวใช้นั้นรู้ว่าผู้พิพากษาเกลียดชาวยิวและภูมิใจที่ตัวเองเป็นพลเมืองโรมัน เขาจึงบอกผู้พิพากษาว่า ‘คนยิวพวกนี้ก่อความวุ่นวายโดยเผยแพร่ธรรมเนียมที่พวกเราชาวโรมันห้ามทำตาม’ หลังจากได้ฟังคำพูดนั้น ผู้คนก็เป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมาทันที “ฝูงชน [ในตลาด] ก็ลุกฮือและตะโกนด่าเปาโลกับสิลาสด้วยความโกรธแค้น” และพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสั่งให้ ‘เฆี่ยนพวกเขาด้วยไม้’ หลังจากนั้น เปาโลกับสิลาสถูกลากตัวเข้าคุก ทั้ง ๆ ที่ยังบาดเจ็บ แต่ผู้คุมก็โยนพวกเขาเข้าไปในคุกชั้นในและใส่ขื่อไว้ที่เท้าด้วย (กจ. 16:19-24) เมื่อผู้คุมปิดประตู ห้องขังคงจะมืดจนเปาโลกับสิลาสแทบจะมองไม่เห็นกันเลย แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวากำลังเฝ้าดูเหตุการณ์นี้อยู่—สด. 139:12
12. (ก) เหล่าสาวกของพระคริสต์มองการข่มเหงยังไง และเพราะอะไร? (ข) การต่อต้านแบบไหนบ้างที่ซาตานกับคนที่อยู่ใต้อำนาจของมันยังคงใช้อยู่?
12 หลายปีก่อนหน้านั้น พระเยซูได้บอกกับเหล่าสาวกของท่านว่า “พวกเขาจะข่มเหงพวกคุณด้วย” (ยน. 15:20) ดังนั้น เมื่อเปาโลกับเพื่อน ๆ ก้าวเข้าไปในแคว้นมาซิโดเนีย พวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือกับการต่อต้านแล้ว เมื่อเจอการข่มเหง พวกเขาเข้าใจว่านี่เป็นเพราะซาตานโกรธพวกเขา และไม่ได้เป็นเพราะพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวพวกเขา ในทุกวันนี้ ผู้คนที่อยู่ใต้อำนาจของซาตานยังทำเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองฟีลิปปี พวกผู้ต่อต้านที่หลอกลวงพูดเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับพวกเราที่โรงเรียนและที่ทำงาน พวกเขากระตุ้นให้คนอื่นไม่ชอบเรา ในบางประเทศ พวกผู้ต่อต้านทางศาสนากล่าวหาว่าเราเป็นตัวปัญหา เพราะผู้คนไม่ชอบสิ่งที่เราสอน และในบางประเทศ พี่น้องของเราถูกทุบตีและถูกจำคุก แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวากำลังเฝ้าดูอยู่—1 ปต. 3:12
“รับบัพติศมาทันที” (กิจการ 16:25-34)
13. อะไรทำให้ผู้คุมคุกถามว่า “ผมต้องทำอะไรผมถึงจะรอดได้?”
13 เปาโลกับสิลาสคงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อจะฟื้นตัวจากการถูกทุบตี อย่างไรก็ตาม พอถึงประมาณเที่ยงคืน พวกเขาก็คงรู้สึกดีขึ้นจนสามารถ “อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า” แล้วจู่ ๆ ก็เกิดแผ่นดินไหวจนคุกสั่นสะเทือน! ผู้คุมตื่นขึ้นมาเห็นประตูคุกเปิดอยู่ก็กลัวว่านักโทษหนีไปแล้ว เนื่องจากรู้ว่าตัวเองจะถูกลงโทษหากปล่อยให้นักโทษหนีไปได้ เขาจึง “ชักดาบออกมาจะฆ่าตัวตาย” แต่เปาโลร้องว่า “อย่าทำร้ายตัวเองเลย พวกเรายังอยู่ที่นี่กันทุกคน” ผู้คุมที่กำลังเป็นทุกข์จึงถามว่า “ท่านครับ ผมต้องทำอะไรผมถึงจะรอดได้?” เปาโลกับสิลาสไม่สามารถช่วยเขาให้รอดได้ มีแต่พระเยซูเท่านั้นที่ช่วยได้ ดังนั้น ทั้งสองคนจึงตอบว่า “ให้เชื่อในพระเยซูผู้เป็นนาย แล้วคุณกับครอบครัวจะรอด”—กจ. 16:25-31
14. (ก) เปาโลกับสิลาสให้ความช่วยเหลืออะไรกับผู้คุม? (ข) เปาโลกับสิลาสได้รับพรอะไรหลังจากที่เขาอดทนการข่มเหงด้วยความยินดี?
14 ผู้คุมจริงใจไหมที่ตั้งคำถามแบบนั้น? เปาโลไม่สงสัยเรื่องนั้นเลย ผู้คุมเป็นคนต่างชาติซึ่งไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ ก่อนจะเข้ามาเป็นคริสเตียนเขาต้องเรียนรู้และยอมรับความจริงพื้นฐานในพระคัมภีร์ ดังนั้น เปาโลกับสิลาสใช้เวลาสอน “คำสอนของพระยะโฮวา” ให้เขาฟัง ตอนที่กำลังสอนพระคัมภีร์อย่างเพลิดเพลินจนลืมความเจ็บปวดจากการถูกทุบตี ผู้คุมได้สังเกตเห็นแผลลึกบนหลังพวกเขา ผู้คุมจึงล้างแผลให้ ต่อจากนั้น ผู้คุมกับคนในบ้าน “ก็รับบัพติศมาทันที” เปาโลกับสิลาสได้รับพรมากมายจริง ๆ หลังจากที่เขาอดทนกับการข่มเหงด้วยความยินดี—กจ. 16:32-34
15. (ก) พยานฯหลายคนในทุกวันนี้ทำตามตัวอย่างของเปาโลกับสิลาสยังไง? (ข) ทำไมเราควรไปหาคนที่อยู่ในเขตงานของเราต่อ ๆ ไป?
15 เหมือนกับเปาโลและสิลาส พยานฯหลายคนในทุกวันนี้ได้ประกาศข่าวดีทั้ง ๆ ที่ถูกจำคุกเพราะความเชื่อ และพระยะโฮวาก็อวยพรพวกเขาด้วย ตัวอย่างเช่น ในประเทศหนึ่งที่งานของเราเคยถูกสั่งห้าม มีอยู่ครั้งหนึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของพยานฯทั้งหมดที่อยู่ในประเทศนั้นได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวาระหว่างอยู่ในคุก! (อสย. 54:17) อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้คุมได้ขอความช่วยเหลือหลังจากเกิดแผ่นดินไหวแล้ว คล้ายกัน บางคนในทุกวันนี้ที่ไม่เคยตอบรับข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอาจเป็นเหมือนกับผู้คุมคนนี้ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลอย่างมากกับชีวิตของเขา พวกเขาก็อาจสนใจความจริง ดังนั้น การที่เราไปหาพวกเขาหลายครั้งหลายหนก็เป็นการแสดงว่าเราพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเขา
“ตอนนี้จะให้พวกเราไปเงียบ ๆ แบบนี้หรือ?” (กิจการ 16:35-40)
16. ตอนเช้าหลังจากเปาโลกับสิลาสถูกเฆี่ยน สถานการณ์ได้พลิกผันไปยังไง?
16 ตอนเช้าหลังจากถูกเฆี่ยน พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้สั่งให้ปล่อยตัวเปาโลกับสิลาส แต่เปาโลบอกว่า “พวกเขาเฆี่ยนพวกเราที่เป็นพลเมืองโรมันในที่สาธารณะ และขังพวกเราไว้ในคุกทั้งที่ยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด แล้วตอนนี้จะให้พวกเราไปเงียบ ๆ แบบนี้หรือ? ไม่ได้หรอก ให้พวกเขามาพาพวกเราออกไปเองสิ” เมื่อได้ยินว่าทั้งสองเป็นพลเมืองโรมัน พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง “ก็กลัว” เพราะพวกเขาได้ละเมิดสิทธิพลเมืองd ตอนนี้สถานการณ์พลิกผัน ก่อนหน้านี้พวกสาวกถูกทุบตีต่อหน้าผู้คน แต่ตอนนี้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องมาขอโทษพวกเขาต่อหน้าผู้คนด้วย พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้อ้อนวอนเปาโลกับสิลาสให้ออกไปจากเมืองฟีลิปปี สาวกทั้งสองยอมทำตาม แต่ก่อนจะไป พวกเขาได้ใช้เวลาให้กำลังใจกลุ่มสาวกใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็ออกเดินทาง
17. พวกสาวกใหม่ได้บทเรียนสำคัญอะไรเมื่อได้เห็นความอดทนของเปาโลกับสิลาส?
17 ถ้าเปาโลกับสิลาสบอกว่าพวกเขาเป็นพลเมืองโรมัน พวกเขาก็อาจไม่ถูกเฆี่ยน (กจ. 22:25, 26) แต่นั่นอาจทำให้พวกสาวกในเมืองฟีลิปปีรู้สึกว่าเปาโลกับสิลาสได้ใช้สิทธิพลเมืองของตัวเองเพื่อจะไม่ต้องทนทุกข์เพราะข่าวดี นั่นอาจส่งผลยังไงกับความเชื่อของสาวกที่ไม่ได้เป็นพลเมืองโรมัน? เนื่องจากกฎหมายนั้นจะไม่ปกป้องพวกเขาไว้จากการถูกเฆี่ยน ดังนั้น เปาโลกับเพื่อนเลือกที่จะถูกลงโทษเพื่อแสดงให้พี่น้องใหม่เห็นว่า สาวกของพระคริสต์สามารถรักษาความซื่อสัตย์ได้แม้จะถูกข่มเหง นอกจากนั้น เนื่องจากในภายหลังเปาโลกับสิลาสบอกว่าพวกเขาเป็นพลเมืองโรมัน นี่ทำให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องยอมประกาศต่อหน้าผู้คนว่าตัวพวกเขาเองที่เป็นฝ่ายทำผิดกฎหมาย การทำอย่างนั้นอาจช่วยให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องระมัดระวังมากขึ้น และนี่ก็เป็นการปกป้องคริสเตียนในตอนนั้นจากการถูกข่มเหงได้
18. (ก) ผู้ดูแลในทุกวันนี้เลียนแบบเปาโลยังไง? (ข) เรา “ปกป้องข่าวดีและพยายามทำให้การประกาศข่าวดีเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย” ยังไงในปัจจุบัน?
18 ในทุกวันนี้ ผู้ดูแลนำหน้าพี่น้องในประชาคมคริสเตียนโดยการวางตัวอย่าง ผู้ดูแลเต็มใจทำทุกอย่างที่พวกเขาอยากให้พี่น้องทำ เหมือนกับเปาโล เราคิดอย่างรอบคอบว่าจะใช้สิทธิทางกฎหมายของเรายังไงและเมื่อไรเพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ถ้าจำเป็น เราอาจยื่นคำร้องต่อศาลท้องถิ่น ศาลระดับชาติ รวมทั้งศาลระหว่างประเทศด้วยซ้ำเพื่อจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและสามารถรับใช้พระยะโฮวาต่อไปได้ เป้าหมายของเราไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่เพื่อ “ปกป้องข่าวดีและพยายามทำให้การประกาศข่าวดีเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย” เหมือนกับที่เปาโลได้เขียนถึงประชาคมในเมืองฟีลิปปีประมาณ 10 ปีหลังจากที่เขาถูกจำคุก (ฟป. 1:7) แต่ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมายังไง เราก็จะทำเหมือนกับเปาโลและเพื่อน ๆ คือ เราจะ “ประกาศข่าวดี” ต่อไปในทุกที่ที่พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาชี้นำเราไป—กจ. 16:10
a ดูกรอบ “ลูกา—ผู้เขียนหนังสือกิจการ”
b เป็นไปได้ว่าชาวยิวถูกห้ามไม่ให้มีที่ประชุมของชาวยิวในเมืองฟีลิปปี นี่อาจเป็นเพราะเมืองนี้มีความสำคัญด้านการทหาร หรืออาจเป็นเพราะเมืองนี้มีผู้ชายชาวยิวไม่ถึง 10 คน เพื่อจะตั้งที่ประชุมของชาวยิวได้ จะต้องมีผู้ชายชาวยิวอย่างน้อย 10 คน
c ดูกรอบ “ลิเดีย—แม่ค้าขายผ้าสีม่วง”
d กฎหมายโรมันบอกว่าพลเมืองสมควรได้รับการพิจารณาคดีอย่างถูกต้องเสมอ พวกเขาไม่ควรถูกลงโทษในที่สาธารณะโดยที่ยังไม่ได้พิจารณาคดีและพบว่ามีความผิดจริง