พระคำของพระยะโฮวามีชัย!
“พระวจนะของพระยะโฮวาแผ่ขยายอย่างมีอานุภาพสืบไปและมีชัย.”—กิจการ 19:20, ล.ม.
1. การศึกษาพระธรรมกิจการของอัครสาวกครั้งนี้จะเป็นเรื่องอะไร?
พระยะโฮวาทรงเปิดทางเข้าสู่กิจกรรม. โดยเฉพาะ เปาโลผู้ “เป็นอัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ” จะเป็นผู้บุกเบิกการงานนั้น. (โรม 11:13) อันที่จริง ในการศึกษาพระธรรมกิจการของอัครสาวกต่อ ๆ ไป เราก็พบว่าเปาโลเดินทางทำการเผยแพร่อย่างน่าตื่นเต้น.—กิจการ 16:6–19:41.
2. (ก) โดยวิธีใดที่อัครสาวกเปาโลทำหน้าที่เป็นผู้เขียนซึ่งพระเจ้าได้ดลบันดาลระหว่างปีสากลศักราช 50 ถึง ปี 56? (ข) เกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงอวยพรให้การงานของเปาโลและของคนอื่นเจริญขึ้น?
2 อนึ่ง เปาโลเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการดลใจให้เขียนพระคัมภีร์. ระหว่างปีสากลศักราช 50 ถึง 56 โดยประมาณ ท่านได้เขียนพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับหนึ่งและสองจากเมืองโกรินโธ และเขียนพระธรรมฆะลาเตียจากเมืองนั้นหรือจากเมืองอันติโอเกียในซุเรีย ส่วนพระธรรมหนึ่งโกรินโธ ท่านได้เขียนจากเมืองเอเฟโซ พระธรรมสองโกรินโธจากเมืองมากะโดเนีย และพระธรรมโรมจากเมืองโกรินโธ. และขณะที่พระเจ้าทรงอวยพรให้งานรับใช้ซึ่งเปาโลและคนอื่น ๆ ได้กระทำ จึงเป็นเหตุให้ “พระวจนะของพระยะโฮวาแผ่ขยายอย่างมีอานุภาพสืบไปและมีชัย.”—กิจการ 19:20, ล.ม.
จากเอเชียไปยุโรป
3. เปาโลและเพื่อนร่วมทางของท่านได้วางตัวอย่างที่ดีไว้อย่างไรเกี่ยวข้องกับการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์?
3 เปาโลพร้อมกับเพื่อนร่วมงานได้วางตัวอย่างที่ดีในการยอมรับการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (16:6-10) อาจเป็นได้โดยการแจ้งทางเสียง ทางความฝัน หรือนิมิต พระวิญญาณได้ป้องกันพวกเขามิให้ประกาศสั่งสอนในมณฑลเอเชียและมณฑลบิตุเนีย ต่อมาข่าวดีได้กระจายไปถึงที่นั่น. (กิจการ 18:18-21; 1 เปโตร 1:1, 2) ทำไมพระวิญญาณขวางกั้นการเข้าไปประกาศตอนแรก ๆ? เพราะคนทำงานมีน้อย และพระวิญญาณได้นำพวกเขาไปถึงเขตทำงานในยุโรปซึ่งเกิดผลอุดมกว่า. ทุกวันนี้เช่นเดียวกัน ถ้าไม่สามารถเข้าไปทำงานในเขตหนึ่ง พยานพระยะโฮวาก็จะประกาศในที่อื่น ๆ โดยมั่นใจว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจะนำเขาไปพบคนเยี่ยงแกะ.
4. คำวิงวอนของชายชาวมากะโดเนียตามที่เปาโลเห็นในนิมิตนั้นได้รับการตอบสนองอย่างไร?
4 หลังจากนั้น เปาโลกับเพื่อนร่วมงาน ‘ได้เดินทางผ่าน’ เมืองมุเซีย ดินแดนแถบหนึ่งทางเอเชียไมเนอร์ โดยไม่ได้ประกาศที่นั่น. อย่างไรก็ดี เปาโลได้นิมิตเห็นชาวมากะโดเนียคนหนึ่งวิงวอนขอให้ช่วย. ดังนั้น ผู้เผยแพร่เหล่านั้นจึงไปมากะโดเนียทันที ดินแดนที่อยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน. ทำนองคล้ายคลึงกัน พยานพระยะโฮวาจำนวนไม่น้อยได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้รับใช้ในเวลานี้ในดินแดนที่ยังต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรอีกมาก.
5. (ก) เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่าคำของพระยะโฮวามีชัยในเมืองฟิลิปปอย? (ข) มีพยานพระยะโฮวาจำนวนมากสมัยปัจจุบันเป็นเหมือนนางลุเดียในทางใด?
5 คำของพระยะโฮวามีชัยทั่วมากะโดเนีย. (16:11-15) เมืองฟิลิปปอยเป็นอาณานิคมซึ่งคนที่นั่นส่วนใหญ่เป็นราษฎรชาวโรมัน คงจะไม่มีคนยิวมากและไม่มีธรรมศาลา. ด้วยเหตุนี้ผู้เผยแพร่เหล่านั้นไปยัง “ที่สำหรับอธิษฐาน” บนฝั่งแม่น้ำข้างนอกประตูเมือง. ในบรรดาคนที่อยู่ที่นั่นมีนางลุเดีย อาจเป็นคนต่างชาติที่ถือศาสนายิวมาจากธุอาไตระ ในเอเชียไมเนอร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมย้อมผ้า. นางขายสีย้อมผ้าสีม่วงหรือไม่ก็ขายผ้า หรือเสื้อผ้าย้อมสีดังกล่าว. หลังจากนางลุเดียพร้อมด้วยครอบครัวได้รับบัพติสมาแล้ว นางได้เชิญชวนผู้เผยแพร่พักที่บ้านด้วยความจริงใจมาก ลูกาจึงได้จารึกไว้ว่า “จนเราขัดไม่ได้.” ทุกวันนี้เรารู้สึกขอบคุณที่มีพี่น้องสตรีคริสเตียนซึ่งเป็นแบบนั้นด้วย.
ผู้คุมเข้ามาเชื่อถือ
6. เป็นไปอย่างไรที่การกระทำของผีปิศาจได้ทำให้เปาโลและซีลาต้องถูกจำคุกในเมืองฟิลิปปอย?
6 ซาตานคงต้องโกรธแค้นเมื่อมีความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณในเมืองฟิลิปปอย เพราะการกระทำของพวกปีศาจในเมืองนั้นเป็นเหตุให้เปาโลกับซีลาถูกจำคุก. (16:16-24) หญิงสาวคนหนึ่งซึ่ง “ผีสิงเป็นแม่มด” (ตามตัวอักษรหมายถึง “วิญญาณงูเหลือม”) ได้เดินตามอัครสาวกและเพื่อนของท่านอยู่หลายวัน. ผีตนนั้นอาจแสดงตัวเป็นเทพยเจ้าอปอลโล พือเธียน สมมติเทพที่สังหารงูชื่อพือʹธอน. หญิงสาวคนนั้นได้ทำนายและทำเงินให้นายของเขาได้มากมาย. เขาอาจจะบอกชาวไร่ชาวนาว่าเมื่อไรควรลงมือหว่านปลูก ทำนายให้ผู้หญิงสาว ๆ ว่าเมื่อไรจะแต่งงาน บอกเจ้าของเหมืองให้ขุดหาทองตรงนั้นตรงนี้! เขาติดตามพวกพี่น้องพร้อมกับร้องว่า “คนเหล่านี้เป็นคนรับใช้ของพระเจ้าผู้สูงสุด มากล่าวประกาศทางรอดแก่ท่านทั้งหลาย.” ผีอาจให้ผู้หญิงพูดอย่างนี้ให้ดูเหมือนว่าคำทำนายของเขาเป็นไปโดยฤทธิ์เดชของพระเจ้าได้ดลใจ ทว่าพวกผีไม่มีสิทธิ์จะประกาศเรื่องพระยะโฮวาและการจัดเตรียมของพระองค์เพื่อความรอด. ครั้นเปาโลเบื่อที่ถูกรบกวนเช่นนั้น ท่านจึงขับผีในนามของพระเยซู. ธุรกิจทำเงินของคนเหล่านั้นพังไม่เป็นท่า. นายของหญิงสาวจึงลากตัวเปาโลและซีลามาถึงกลางตลาด แล้วโบยด้วยไม้เรียว. (2 โกรินโธ 11:25) ต่อจากนั้น ท่านถูกจับใส่คุกและเอาขื่อใส่เท้าไว้. เครื่องจองจำชนิดนี้สามารถปรับช่องสอดขาให้ห่างออกทำให้เจ็บปวดอย่างสาหัส.
7. การที่เปาโลและซีลาติดคุกที่เมืองฟิลิปปอยกลับกลายเป็นพระพรสำหรับใครและโดยวิธีใด?
7 การถูกจำคุกครั้งนี้กลับกลายเป็นพระพรสำหรับผู้คุมรวมทั้งครอบครัวของเขาด้วย. (16:25-40) ประมาณเที่ยงคืน เปาโลกับซีลาได้อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ท่านแน่ใจว่าพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 42:8) ทันใดนั้นเองก็เกิดแผ่นดินไหว ประตูคุกเปิดอ้าทุกบาน เครื่องจำจองทุกอย่าง เช่นโซ่ที่ล่ามติดคานบนหรือติดกำแพงก็ขาดออกจากกัน. ผู้คุมกลัวจะต้องโทษประหารเพราะนักโทษได้หนีไปหมดแล้ว. เขาเกือบจะฆ่าตัวตายขณะเปาโลได้ร้องด้วยเสียงดังว่า “อย่าทำร้ายตัวเองเลย เราทั้งหลายอยู่พร้อมทุกคน!” ครั้นพาเปาโลและซีลามาอยู่ข้างนอกแล้ว ผู้คุมจึงได้ถามว่าตนจะทำอย่างไรจึงจะรอด? คำตอบคือ “จงเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์เจ้า.” เมื่อได้ฟังคำของพระยะโฮวาแล้ว ‘ผู้คุมและคนในครัวเรือนของเขาก็ได้รับบัพติสมาโดยไม่ชักช้า.’ เหตุการณ์ครั้งนั้นก่อความยินดีสักเพียงใด!
8. เจ้าเมืองฟิลิปปอยได้ดำเนินการอย่างไร และถ้าพวกเขายอมรับผิดอย่างเปิดเผยอาจมีผลอย่างไร?
8 วันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองได้สั่งการให้ปล่อยเปาโลกับซีลาเสีย. แต่เปาโลกล่าวว่า ‘เขาได้โบยเราซึ่งมีสัญชาติโรมันทั้งที่เราไม่ได้ทำผิด แถมจำเราไว้ในคุก. แล้วจะปล่อยเราไปเป็นการลับหรือ? ให้เขาเองมาพาเราออกไปเถอะ.’ ถ้าเจ้าเมืองยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนผิดพลาดจริง เขาอาจจะไม่กล้าโบยและจำคุกคริสเตียนคนอื่น ๆ ก็ได้. เมื่อไม่อาจขับไล่ราษฎรสัญชาติโรมัน เจ้าเมืองจึงมาเองและขอร้องอัครสาวกให้ออกไปจากเมืองนั้น แต่อัครสาวกยินยอมทำก็ต่อเมื่อได้กล่าวหนุนใจเพื่อนร่วมความเชื่อเสียก่อน. ความสนใจในพวกพี่น้องดังกล่าวกระตุ้นสมาชิกคณะกรรมการปกครองและตัวแทนคนอื่น ๆ เดินทางให้เยี่ยมเพื่อหนุนใจไพร่พลของพระเจ้าตลอดทั่วโลก.
คำของพระยะโฮวามีชัยที่เมืองเธซะโลนิเกและเมืองเบรอยะ
9. เปาโลได้ใช้วิธีใด ซึ่งพยานพระยะโฮวายังคงใช้อยู่เพื่อ ‘ไขข้อความชี้แจง’ ว่า พระมาซีฮาต้องได้ทนทุกข์ทรมานแล้วทรงคืนพระชนม์?
9 จากนั้นคำของพระเจ้ามีชัยที่เมืองเธซะโลนิเก เมืองหลวงของมากะโดเนียและเป็นท่าเรือสำคัญ. (17:1-9) ที่เมืองนี้เปาโลได้หาเหตุผลโต้ตอบกับพวกยิว “ไขข้อความชี้แจง” ให้เห็นว่าพระมาซีฮาต้องได้ทนทุกข์ทรมานแล้วทรงคืนพระชนม์. (เปาโลได้ชี้แจงโดยใช้คำพยากรณ์เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่สมจริง ดังที่พยานพระยะโฮวาก็ทำ.) ด้วยเหตุนี้ ชาวยิวบางคน คนต่างชาติที่ได้เปลี่ยนศาสนามาถือศาสนายิว พร้อมกับคนอื่น ๆ จึงได้เข้ามาเชื่อถือ. ฝ่ายพวกยิวที่อิจฉาได้รวบรวมตั้งกลุ่มชนที่บ้าคลั่งขึ้นเพื่อตามล่าเปาโลกับซีลา แต่ไม่พบ เขาจึงจับยาโซนและพี่น้องบางคนส่งเจ้าเมืองและตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ คำกล่าวหาอันเป็นเท็จซึ่งยังคงมุ่งมาที่พยานพระยะโฮวา. อย่างไรก็ดี พวกพี่น้องถูกปล่อยตัวหลังจากได้ “เรียกประกันตัว” แล้ว.
10. ที่ว่าชาวยิวในเมืองเบรอยะ ‘ได้ค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบ’ นั้นในแง่ไหน?
10 ต่อจากนั้น เปาโลกับซีลาได้ไปยังเมืองเบรอยะ. (17:10-15) ชาวยิวที่เมืองนั้น ‘ได้ค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบ’ ดังที่พยานพระยะโฮวาสมัยนี้สนับสนุนประชาชนให้ทำเช่นนั้น. ชาวเบรอยะเหล่านั้นไม่ระแวงสงสัยเปาโลเลย แต่เขาได้ค้นคว้าด้วยหวังจะได้ข้อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นมาซีฮา. ผลเป็นอย่างไร? คนยิวจำนวนมากและชาวกรีกบางคน (อาจเป็นพวกที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว) ได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. เมื่อพวกยิวที่มาจากเมืองเธซะโลนิเกยุยงประชาชนให้ลุกฮือขึ้น พี่น้องจึงได้เดินทางเป็นเพื่อนส่งเปาโลไปจนถึงชายฝั่ง จากที่นั้นบางคนในกลุ่มผู้เผยแพร่คงได้ลงเรือต่อไปยังไพรีอัส (ปัจจุบันนี้คือพีไรออย) เมืองท่าเรือของกรุงเอเธนส์.
คำของพระยะโฮวามีชัยที่เอเธนส์
11. (ก) เปาโลให้คำพยานอย่างกล้าหาญเช่นไรในกรุงเอเธนส์ แต่ใครได้พูดโต้แย้งกับท่าน? (ข) บางคนคงจะหมายถึงอะไรเมื่อเขาพูดว่าเปาโลเป็น “คนเก็บเดน”?
11 ได้มีการให้คำพยานที่กรุงเอเธนส์อย่างกล้าหาญ. (17:16-21) เนื่องจากเปาโลประกาศเรื่องพระเยซูและการเป็นขึ้นจากตาย นักปรัชญาทั้งหลายจึงได้พูดโต้แย้งกับท่าน. บางคนเป็นพวกเอปิกูเรียว ซึ่งสนใจความสนุกเพลิดเพลิน. บางคนเป็นพวกซะโตอิกซึ่งเน้นการถือหลักธรรมกำจัดราคะตัณหา. บางคนได้ถามว่า ‘คนเก็บเดนความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ อยากใคร่จะพูดอะไรให้เราฟังอีกเล่า?’ “คนเก็บเดน” (ตามตัวอักษรก็คือ “คนเก็บเมล็ดพืช”) หมายความว่าเปาโลเป็นเหมือนนกจิกเมล็ดพืชและแสดงความรู้นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่มีปัญญา. บางคนกล่าวว่า “ดูเหมือนเขานำพระต่างประเทศเข้ามา.” เรื่องนี้อันตราย เพราะโซคราตีสได้เสียชีวิตด้วยข้อกล่าวหานี้. จากนั้นไม่นาน เขาได้นำเปาโลมาถึงเขาอาเรียว ซึ่งที่นี่อาจเป็นที่ประชุมกลางแจ้งของศาลสูง อยู่ใกล้ ๆ กับป้อมปราการของเอเธนส์.
12. (ก) ลักษณะไหนของการบรรยายที่ดีต่อสาธารณชนปรากฏชัดในคำบรรยายของเปาโล ณ เขาอาเรียว? (ข) เปาโลได้ชี้จุดอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเจ้า และมีผลประการใด?
12 การบรรยายของเปาโลที่เขาอาเรียวเป็นแบบฉบับอันดีเยี่ยมของการกล่าวคำนำที่เร้าความสนใจ. การขยายเรื่องตามหลักตรรกวิทยา และการชักเหตุผลที่ทำให้เชื่อ—ลักษณะการพูดที่จัดสอนโดยพยานพระยะโฮวาในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบการของพระเจ้า. (17:22-34) เปาโลกล่าวว่าชาวเมืองเอเธนส์เป็นคนศรัทธาในศาสนามากกว่าคนทั่วไป. เขามีแท่นบูชาจารึกว่า “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” อาจตั้งขึ้นไว้เพื่อเลี่ยงการดูถูกเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง! เปาโลได้กล่าวถึงพระเจ้าผู้สร้างที่ “ได้ทรงสร้างมนุษย์ทุกประเทศสืบสายโลหิตอันเดียวกัน” และ “ได้ทรงกำหนดเวลาและเขตแดนที่อยู่ให้เขา” ดังที่เคยกำหนดเวลาไว้สำหรับกำจัดชาติคะนาอันให้หมดสิ้น. (เยเนซิศ 15:13-21; ดานิเอล 2:21; 7:12) คนเราสามารถจะหาพระเจ้าองค์นี้พบได้เพราะ “เราทั้งหลายเป็นเชื้อสายของพระองค์” เปาโลกล่าวอย่างนี้โดยเท้าความถึงเรื่องพระยะโฮวาได้ทรงสร้างมนุษย์และได้อ้างบทกวีแต่งโดยอะราทุสและเคลียนเทส. เนื่องด้วยเป็นเชื้อสายของพระเจ้า เราไม่ควรถือว่าพระผู้สร้างองค์ยอดเยี่ยมนี้เป็นเหมือนรูปปั้นซึ่งมนุษย์ไม่สมบูรณ์ได้สร้างขึ้น. สมัยหนึ่งพระเจ้าได้ทรงมองข้ามความโง่เขลาอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้พระองค์ได้ตรัสสั่งมนุษย์ทั่วโลกให้กลับใจ เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้เพื่อพิพากษาผู้คนโดยท่านองค์นั้นซึ่งได้รับการแต่งตั้ง. เพราะเหตุที่เปาโล “ได้ประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซู” บรรดาผู้ฟังจึงรู้ว่าท่านตั้งใจบอกว่าพระคริสต์นั่นเองคือผู้พิพากษา. (กิจการ 17:18; โยฮัน 5:22, 30) การพูดเรื่องการกลับใจทำให้พวกเอปิกูเรียวเบื่อไม่อยากฟัง ส่วนนักปรัชญาชาวกรีกอาจยอมรับเหตุผลเกี่ยวด้วยความเป็นอมตะ แต่ไม่ใช่เรื่องความตายและการกลับเป็นขึ้นจากตาย. พอจะมองเห็นได้แล้วว่า เหมือนหลายคนที่ไม่ได้รับรองข่าวดีในทุกวันนี้ บางคนบอกว่า ‘เราจะคอยฟังท่านกล่าวเรื่องนี้คราวต่อไป.’ แต่ผู้พิพากษาดิโอนุเซียและคนอื่นได้เข้ามาเชื่อ.
คำของพระเจ้ามีชัยที่เมืองโกรินโธ
13. เปาโลจัดหาปัจจัยเลี้ยงชีพอย่างไรเพื่องานรับใช้พระเจ้า และในปัจจุบันเราพบเห็นอะไรที่เหมือนกัน?
13 เปาโลเดินทางต่อไปยังเมืองโกรินโธ นครหลวงของมณฑลอะฆายะ. (18:1-11) ที่นั่นท่านพบอะกุลาและปริศกิลา ซึ่งได้มาอยู่ที่เมืองนี้เมื่อกษัตริย์เกลาดิโอมีรับสั่งให้ชาวยิวที่ไม่ถือสัญชาติโรมันออกไปจากกรุงโรม. เพื่อจะเลี้ยงตัวในการรับใช้ได้ต่อไป เปาโลได้ร่วมงานทำเต็นท์กับสามีภรรยาคริสเตียนคู่นี้. (1 โกรินโธ 16:19; 2 โกรินโธ 11:9) การตัดและเย็บผ้าเนื้อแข็งซึ่งทอด้วยขนแพะเป็นงานหนัก. ทำนองเดียวกัน พยานทั้งหลายของพระยะโฮวาก็ได้จัดหาสิ่งจำเป็นทางด้านวัตถุด้วยการทำงานอาชีพ แต่งานประจำชีพของเขาคือการรับใช้พระเจ้า.
14. (ก) เปาโลทำประการใดเมื่อเผชิญการต่อต้านอย่างไม่ละลดจากพวกยิวในเมืองโกรินโธ? (ข) เปาโลได้รับคำรับรองโดยวิธีใดว่าท่านควรอยู่ต่อไปในเมืองโกรินโธ แต่ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับการชี้นำอย่างไรทุกวันนี้?
14 ชาวยิวในเมืองโกรินโธพูดหยาบช้าขณะเปาโลประกาศว่าพระเยซูเป็นมาซีฮา. ดังนั้นท่านจึงสะบัดเสื้อผ้าปลดความรับผิดชอบที่มีต่อเขาและเริ่มจัดประชุมในบ้านติติโอ ยุซะโต คงจะเป็นชาวโรมัน. หลายคน ‘รวมทั้งกริศโปซึ่งเคยดูแลธรรมศาลามาก่อนพร้อมกับครอบครัวของเขา’ ได้เข้ามาเชื่อถือและรับบัพติสมา. ถ้าชาวยิวที่เป็นปรปักษ์ทำให้เปาโลคิดสงสัยว่าควรอยู่ในเมืองโกรินโธต่อไปหรือไม่ ท่านหมดสงสัยเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่ท่านทางนิมิตว่า ‘อย่ากลัว จงกล่าวต่อไป เพราะว่าเราอยู่กับเจ้า และจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายเจ้า. ด้วยว่าคนของเราในเมืองนี้มีมาก.’ ฉะนั้น เปาโลจึงได้สั่งสอนคำของพระเจ้ามิได้ขาดที่เมืองนั้นรวมทั้งสิ้นหนึ่งปีกับหกเดือน. แม้นเวลานี้พลไพร่ของพระยะโฮวาไม่ได้รับนิมิต แต่การอธิษฐานและการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ช่วยให้พวกเขาทำการตัดสินใจอย่างฉลาดเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร.
15. เกิดอะไรขึ้นเมื่อเปาโลถูกนำตัวไปต่อหน้าผู้สำเร็จราชการฆาล์ลิโอ?
15 พวกยิวได้ฟ้องเปาโลต่อผู้สำเร็จราชการจูนีอุส ฆาล์ลิโอ. (18:12-17) เขาอ้างว่าเปาโลชักชวนผู้คนให้เปลี่ยนศาสนาอย่างไม่ถูกกฎหมาย—เป็นคำกล่าวหาผิด ๆ ซึ่งสมัยนี้นักศาสนาในประเทศกรีซฟ้องพยานพระยะโฮวาเช่นเดียวกัน. ฆาล์ลิโอรู้ดีว่าเปาโลไม่ได้ทำการชั่วร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหา และรู้ด้วยว่าคนยิวก็แทบจะไม่สนใจสวัสดิภาพและกฎหมายของโรม ฉะนั้น ท่านจึงได้ไล่พวกนั้นไป. ครั้นฝูงชนที่ดูเหตุการณ์อยู่นั้นจับโซษะเธเน เจ้าหน้าที่ดูแลธรรมศาลาคนใหม่มาเฆี่ยน ฆาล์ลิโอไม่ขัดขวางแต่อย่างใด บางทีท่านอาจจะคิดว่า สมควรแล้วสำหรับผู้นำกลุ่มอันธพาลที่ลงมือต่อสู้เปาโลน่าจะถูกเฆี่ยนเช่นนั้น.
16. ทำไมจึงเป็นการยอมรับได้ในกรณีที่เปาโลตัดผมเกรียนเกี่ยวข้องกับคำปฏิญาณ?
16 เปาโลลงเรือจากเมืองเก็งเครอายอันเป็นท่าเรือในอ่าวอีเจียนไปยังเมืองเอเฟโซที่เอเชียไมเนอร์. (18:18-22) ก่อนเดินทางเที่ยวนั้น ‘ท่านได้ตัดผมเกรียนเพราะท่านได้ปฏิญาณตัวไว้.’ ไม่ได้บอกไว้ว่า เปาโลได้ปฏิญาณตนก่อนจะมาเป็นสาวกของพระเยซู หรือว่าตอนนี้เป็นการเริ่มหรือหมดวาระการปฏิญาณตน. คริสเตียนไม่ได้อยู่ใต้พระบัญญัติ แต่พระบัญญัติเป็นสิ่งพระเจ้าประทานจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการปฏิญาณตนไม่บาป. (โรม 6:14; 7:6, 12; ฆะลาเตีย 5:18) ที่เมืองเอเฟโซ เปาโลได้หาเหตุผลกับชาวยิว ทั้งให้คำมั่นสัญญาจะกลับมาหาเขาอีก หากเป็นไปตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (คำสัญญานั้นได้สำเร็จในเวลาต่อมา.) การเดินทางกลับของเปาโลไปยังอันติโอเกียแห่งซีเรียจึงเป็นการจบการเดินทางเผยแพร่รอบที่สองของท่าน.
คำของพระยะโฮวามีชัยที่เมืองเอเฟโซ
17. เกี่ยวข้องกับเรื่องบัพติสมา คำแนะนำอะไรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอะโปโลและคนอื่น ๆ?
17 ไม่นานหลังจากนั้นเปาโลได้เริ่มการเดินทางเผยแพร่รอบที่สาม. (ประมาณปีสากลศักราช 52-56). (18:23–19:7) ระหว่างนั้น อะโปโลสั่งสอนเรื่องพระเยซูที่เมืองเอเฟโซ แต่ท่านรู้เพียงเกี่ยวกับการให้บัพติสมาของโยฮันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการกลับใจเกี่ยวกับบาปที่ละเมิดกฎหมายแห่งคำสัญญาไมตรี. ปริศกิลาพร้อมด้วยอะกุลา จึง “รับอะโปโลมาสั่งสอนให้รู้ทางของพระเจ้าให้ละเอียดขึ้น” คงเป็นการชี้แจงว่าการรับบัพติสมาอย่างที่พระเยซูได้รับ บุคคลผู้นั้นต้องผ่านการจุ่มตัวมิดในน้ำแล้วจึงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่หลั่งเทลงมา. ภายหลังการให้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 ใครก็ตามที่เคยรับบัพติสมาจากโยฮันก็จะต้องรับบัพติสมาอีกในนามของพระเยซู. (มัดธาย 3:11, 16; กิจการ 2:38) ต่อมาในเมืองเอเฟโซ มีชายยิว 12 คนซึ่งเคยรับบัพติสมาของโยฮันมาแล้ว “จึงรับบัพติสมาในนามของพระเยซูเจ้า” เป็นการรับบัพติสมาใหม่ครั้งเดียวเท่าที่มีบันทึกในพระคัมภีร์. เมื่อเปาโลได้วางมือบนบุคคลเหล่านี้แล้ว เขาก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์และมีหลักฐานมหัศจรรย์สองอย่างบ่งชี้ถึงการยอมรับจากสวรรค์—การพูดภาษาต่าง ๆ และการกล่าวพยากรณ์.
18. เปาโลให้คำพยานที่ไหนขณะอยู่ในเมืองเอเฟโซ และมีผลอย่างไร?
18 ในเมืองเอเฟโซ มีพลเมืองกว่าสามแสนคน ฉะนั้น เปาโลจึงมีงานล้นมือแน่ ๆ. (19:8-10) วิหารเทพธิดาอาร์เตมิสเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดอย่างของโลกยุคโบราณ และโรงละครที่นั่นมีที่นั่งสำหรับ 25,000 คน. เปาโลได้เข้าไปในธรรมศาลา ‘ชักชวนให้เชื่อ’ โดยการเสนอข้อโต้แย้งที่น่าเชื่อ แต่ก็ได้ออกไปจากที่นั่นเมื่อบางคนพูดหยาบช้าต่อทางนั้น หรือวิถีชีวิตซึ่งอาศัยความเชื่อในพระคริสต์. เปาโลได้พูดโต้ตอบทุกวันนานถึงสองปีในห้องประชุมของตุระโน และ “คำของพระเจ้า” ก็แพร่ไปตลอดมณฑลอาเชีย.
19. มีเหตุการณ์อะไรในเมืองเอเฟโซซึ่งเป็นเหตุให้ ‘คำของพระยะโฮวาแผ่ขยายและมีชัย’ ณ ที่นั่น?
19 พระเจ้าแสดงความชอบพระทัยต่อการทำงานอย่างขันแข็งของเปาโลโดยโปรดให้ท่านมีอำนาจในการรักษาโรคและขับผี. (19:11-20) แต่บุตรชายเจ็ดคนของซะเกวาปุโรหิตใหญ่ไม่สามารถขับผีออกได้ในนามของพระเยซู เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของพระเจ้าและพระคริสต์. คนที่มีผีสิงได้ต่อสู้จนพวกเขาได้รับบาดเจ็บ! เรื่องนี้ได้ทำให้ประชาชนมีความกลัว และ “พระนามของพระเยซูเจ้าก็เป็นที่ยกย่องนับถือ.” คนเหล่านั้นที่กลายมาเป็นผู้เชื่อถือได้ละทิ้งการใช้เวทมนตร์ แล้วได้เอาตำราของเขาซึ่งคงเป็นเรื่องการเสกเป่า และการทำเล่ห์กลมาเผาต่อหน้าคนทั้งปวง. ลูกาได้เขียนดังนี้ “คำของพระยะโฮวาแผ่ขยายอย่างมีอานุภาพสืบไปและมีชัย.” ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ผู้รับใช้ของพระเจ้าช่วยเหลือประชาชนหลุดพ้นการตกอยู่ในอำนาจผีปีศาจ.—พระบัญญัติ 18:10-12.
การไม่ยอมให้เสรีภาพทางศาสนาไม่ได้ผล
20. ทำไมพวกช่างเงินที่เอเฟโซรวมหัวก่อการจลาจล และเหตุการณ์ได้ลงเอยอย่างไร?
20 พยานพระยะโฮวามักจะเผชิญกับกลุ่มคนที่โกรธแค้นบ่อย ๆ และคริสเตียนที่เมืองเอเฟโซก็เจอแบบนี้เหมือนกัน. (19:21-41) ขณะที่มีคนเชื่อถือเพิ่มจำนวนมากขึ้น เดเมเตรียวกับพวกช่างเงินเหล่านั้นกลับขาดทุน เพราะไม่มีคนมากเหมือนแต่ก่อนซื้อรูปจำลองเทพธิดาอาร์เตมิสที่ทำด้วยเงินซึ่งมีเต้านมหลายเต้าแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์แห่งการกำเนิดพันธุ์. โดยแรงยุจากเดเมเตรียว กลุ่มคนที่โกรธแค้นได้จับฆาโยกับอะริศตาโคที่สมทบกับเปาโลแล้วลากเข้าไปในโรงละคร แต่สาวกคนอื่นไม่ยอมให้เปาโลเข้าไป. แม้แต่บางคนในพวกข้าหลวงที่จัดงานเทศกาลและการแข่งขันก็ยังได้วิงวอนเปาโลมิให้เข้าไปเกรงจะเกิดอันตราย. กลุ่มคนที่โกรธแค้นร้องตะโกนอยู่นานเกือบสองชั่วโมงว่า “พระอาร์เตมิสของชาวเอเฟโซเป็นใหญ่!” ในที่สุด ข้าหลวง (ซึ่งเป็นประธานสภาท้องถิ่น) ได้กล่าวแก่ช่างเงินเหล่านั้นว่า เขาจะนำเรื่องของเขาขึ้นฟ้องเจ้าเมืองซึ่งอยู่ในตำแหน่งจะตัดสินได้ หรืออาจนำคดีขึ้นไปชำระความกัน “ในที่ประชุม” ของพลเมือง. มิฉะนั้นทางกรุงโรมอาจตั้งข้อหาฟ้องพวกเขาเป็นฝ่ายก่อการจลาจลก็ได้. ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าหลวงจึงให้เลิกการชุมนุม.
21. พระเจ้าทรงอวยพรการงานของเปาโลอย่างไร และพระองค์ทรงอวยพรงานของพยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันอย่างไร?
21 พระเจ้าทรงสนับสนุนเปาโลที่จะเผชิญความทุกข์ยากต่าง ๆ หลายอย่างและได้ทรงอวยพรความพยายามของท่านในอันที่จะช่วยประชาชนละทิ้งข้อผิดพลาดทางศาสนาและหันมารับเอาสัจธรรม. (เทียบกับยิระมะยา 1:9, 10.) พวกเรารู้สึกขอบพระคุณมากเพียงใดที่พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงอวยพรการงานของพวกเราให้เจริญเช่นเดียวกัน! ดังนั้น เวลานี้ก็เหมือนกับศตวรรษแรกคือ ‘คำของพระยะโฮวาได้แผ่ขยายและมีชัย.’
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เปาโลได้วางตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับการรับเอาการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์?
▫ เปาโลได้ ‘ไขข้อความ’ เรื่องต่าง ๆ โดยวิธีใด ซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวายังคงใช้วิธีนี้อยู่?
▫ มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรระหว่างการตอบรับต่อการบรรยายของเปาโล ณ เขาอาเรียวกับต่อการประกาศสั่งสอนของพยานพระยะโฮวา?
▫ เปาโลได้หาปัจจัยเลี้ยงชีพอย่างไรขณะทำงานรับใช้พระเจ้า และสิ่งนี้เทียบได้กับอะไรในสมัยปัจจุบัน?
▫ ดังที่พระเจ้าได้ทรงอวยพรงานของเปาโล พระองค์ทรงอวยพรการงานของพยานพระยะโฮวาในปัจจุบันอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
พระคำของพระยะโฮวามีชัยใน
1. ฟิลิปปอย
2. และ 3. เอเธนส์
4. และ 6. เอเฟโซ
5. โรม
[ที่มาของภาพ]
Photo No 4: Manley Studios