ซีลา—แหล่งแห่งการหนุนกำลังใจ
ตั้งแต่สมัยแรก ๆ ในประวัติศาสตร์คริสเตียน กิจกรรมของเหล่าผู้ดูแลเดินทางที่ซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งทั้งในด้านการหนุนกำลังใจประชาคมแห่งไพร่พลของพระเจ้าและในการแพร่กระจายข่าวดีไปยังที่สุดปลายของแผ่นดินโลก. หนึ่งในบรรดาผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลเดินทางรุ่นแรกสุดได้แก่ซีลา ท่านเป็นผู้พยากรณ์และสมาชิกชั้นแนวหน้าของประชาคมยะรูซาเลม. ท่านมีบทบาทสำคัญในการขยายงานเผยแพร่ และเป็นหนึ่งในคณะมิชชันนารีพวกแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ข่าวดีในเขตยุโรป. อะไรทำให้ซีลามีคุณวุฒิเหมาะสมอย่างยิ่งจะทำงานนี้? และบุคลิกภาพของท่านมีลักษณะเฉพาะอะไรที่เราน่าจะเลียนแบบ?
ประเด็นการรับสุหนัต
เมื่อปัญหาเรื่องการรับสุหนัตอันอาจทำให้เกิดการแตกแยกได้อุบัติขึ้นประมาณปี ส.ศ. 49 คณะกรรมการปกครองในยะรูซาเลมจำเป็นต้องส่งคำชี้นำที่ชัดเจนไปยังกลุ่มคริสเตียนในที่ต่าง ๆ เพื่อยุติประเด็นนั้น. ในสภาพการณ์ดังกล่าว ซีลาซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซีละวาโนปรากฏขึ้นมาในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล. ท่านอาจเป็นคนหนึ่งในคณะผู้ทำการตัดสินซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นตัวแทนของ “อัครสาวกและผู้ปกครอง” เพื่อถ่ายทอดคำตัดสินของพวกเขาแก่ “พี่น้อง . . . ซึ่งอยู่ในเมืองอันติโอเกีย, มณฑลซุเรีย, และมณฑลกิลิเกีย.” ในอันติโอเกีย ซีลาและยูดา (บาระซาบา) ร่วมกับบาระนาบาและเปาโล ส่งข่าวที่พวกเขาได้นำไป ดูเหมือนเป็นการบอกเล่าด้วยวาจาเกี่ยวกับเหตุการณ์ ณ การประชุมที่ยะรูซาเลม, ข้อสรุปของที่ประชุม, และเนื้อความในจดหมาย. พวกเขายัง “หนุนใจพวกพี่น้องเป็นหลายประการให้มีน้ำใจขึ้น.” ผลดีที่เกิดขึ้นคือคริสเตียนในอันติโอเกีย “มีความยินดี.”—กิจการ 15:1-32.
ดังนั้น ซีลามีบทบาทสำคัญในการยุติประเด็นมูลฐานนี้. แต่งานที่มอบหมายให้ท่านทำไม่ใช่เรื่องง่าย. ไม่มีทางรู้ได้ว่าประชาคมอันติโอเกียจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการตัดสินในประเด็นนั้น. ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้อรรถาธิบายคนหนึ่งจึงตั้งข้อสังเกตว่า “จำเป็นต้องใช้ใครสักคนผู้มากด้วยสติปัญญาและรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาไปชี้แจงสิ่งที่พวกอัครสาวกได้เขียนในจดหมายนั้น.” การเลือกซีลาสำหรับงานมอบหมายที่ละเอียดอ่อนนี้ทำให้เราได้รู้ว่าท่านคงเป็นคนชนิดใด. ท่านได้รับความไว้วางใจให้ชี้แจงคำสั่งของคณะกรรมการปกครองด้วยความซื่อสัตย์. อนึ่ง ท่านคงต้องเป็นผู้ดูแลที่สุขุมสามารถจะดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เมื่อมีทีท่าว่าจะเกิดการโต้แย้งขึ้นในประชาคม.
เดินทางกับเปาโล
ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าหลังเสร็จงานมอบหมายแล้วซีลาได้กลับไปยะรูซาเลมหรือไม่. อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดขัดแย้งระหว่างบาระนาบากับเปาโลด้วยเรื่องโยฮันมาระโก เปาโลได้เลือกซีลา ซึ่งเวลานั้นอยู่ในเมืองอันติโอเกีย เพื่อเดินทางรอบใหม่ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะกลับเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ซึ่งเปาโลได้ประกาศเผยแพร่ระหว่างการเดินทางรอบแรก.—กิจการ 15:36-41.
การคัดเลือกซีลาอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากทัศนะของท่านในเชิงบวกต่องานเผยแพร่ไปถึงคนต่างชาติ และเนื่องด้วยอำนาจหน้าที่ฐานะผู้พยากรณ์และโฆษกของคณะกรรมการปกครอง ท่านจึงช่วยได้ในการแจ้งการตัดสินของพวกเขาแก่ผู้เชื่อถือในแคว้นซีเรียและกิลิเกีย. ปรากฏว่าได้ผลดีเยี่ยม. มีกล่าวในพระธรรมกิจการว่า “บัดนี้ ขณะที่พวกเขาได้เดินทางไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ พวกเขาได้มอบคำสั่งแก่คนเหล่านั้นตามการตัดสินของพวกอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งอยู่ในกรุงยะรูซาเลม. เหตุฉะนั้น ประชาคมทั้งหลายจึงรับการเสริมต่อ ๆ ไปให้มั่นคงอยู่ในความเชื่อ และทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน.”—กิจการ 16:4, 5, ล.ม.
ขณะที่ผู้เผยแพร่เดินทางไป พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ชี้นำเขาให้เปลี่ยนเส้นทางที่กะไว้ถึงสองครั้ง. (กิจการ 16:6, 7) ณ เมืองลุศตรา มีติโมเธียวได้เพิ่มเข้าไปด้วยในกลุ่มที่เดินทาง หลังจากมี “คำพยากรณ์” ซึ่งไม่ได้ระบุเป็นพิเศษจำเพาะเกี่ยวกับท่าน. (1 ติโมเธียว 1:18; 4:14) โดยนิมิตที่สำแดงแก่เปาโล ซึ่งท่านเองก็เช่นกันมีของประทานสามารถพยากรณ์ได้ เหล่าสหายร่วมทางได้รับการชี้นำให้แล่นเรือไปยังมากะโดเนียในยุโรป.”—กิจการ 16:9, 10.
ถูกโบยและถูกจำคุก
ที่เมืองฟิลิปปอย “เมืองเอกในเขตเมืองมากะโดเนีย” ซีลาได้ผจญเหตุร้ายซึ่งไม่อาจลืมเสียได้. หลังจากเปาโลได้ขับผีร้ายออกจากหญิงทาสแล้ว นายของเขาเห็นว่าหมดหวังจะทำรายได้ จึงได้ลากตัวซีลากับเปาโลมายังที่ว่าการเมือง. ยังผลให้ท่านทั้งสองถูกสบประมาทและถูกประจานกลางตลาดเยี่ยงคนประพฤติชั่วร้าย เจ้าเมืองได้ฉีกกระชากเสื้อผ้าชั้นนอกของท่านออก และสั่งให้โบยด้วยไม้เรียว.—กิจการ 16:12, 16-22.
การลงโทษด้วยการโบยตีอย่างรุนแรงเช่นนั้นไม่เพียงแต่ทำให้คนเราถึงขีดหมดความอดทน แต่ในกรณีของเปาโลกับซีลา การลงโทษเช่นนั้นผิดกฎหมายด้วย. ทำไม? กฎหมายชาวโรมันบัญญัติว่าจะโบยตีพลเมืองชาวโรมันไม่ได้. เปาโลมีสัญชาติโรมัน และซีลาก็คงเช่นกัน. ภายหลังถูก “โบยหลายที” แล้ว มีคำสั่งให้เอาเปาโลกับซีลาไปขังไว้ในคุก อีกทั้งเอาขื่อใส่เท้าไว้แน่นหนา. กุสตาฟ สแตลินอรรถาธิบายลักษณะการใส่ขื่อคาแบบนี้ว่า “เลวร้ายมาก เขาใส่ขื่อคาให้ขาสองข้างของนักโทษถ่างออกจากกันมากที่สุดเท่าที่เขาต้องการให้เป็นไป การใช้วิธีนี้เพื่อกันไม่ให้นักโทษหลับ.” กระนั้น ประมาณเที่ยงคืน เมื่อท่านคงเจ็บปวดอย่างไม่ต้องสงสัยเนื่องจากแผลที่หลังอันเกิดจากรอยเฆี่ยน “เปาโลกับซีลาก็อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า.”—กิจการ 16:23-25.
ข้อนี้บอกอีกบางอย่างแก่เราเกี่ยวกับบุคลิกภาพของซีลา. ท่านมีใจยินดีเนื่องจากท่านทั้งสองทนทุกข์เพราะเห็นแก่พระนามพระคริสต์. (มัดธาย 5:11, 12; 24:9) ปรากฏชัดว่านั่นเป็นน้ำใจอย่างเดียวกันที่แสดงออกในช่วงปฏิบัติงานมอบหมายครั้งก่อนที่เมืองอันติโอเกีย ซึ่งซีลาพร้อมกับเพื่อนร่วมทางของท่านสามารถให้การหนุนใจและเสริมความเข้มแข็งแก่ประชาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้เพื่อนคริสเตียนปีติยินดี. ความชื่นชมยินดีของเปาโลและซีลาคงต้องเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวโดยการอัศจรรย์ ซึ่งทำให้ท่านเป็นอิสระพ้นจากการคุมขัง แถมได้ช่วยเหลือผู้คุมที่กำลังจะฆ่าตัวตายและครอบครัวของเขาให้หันมาสำแดงความเชื่อในพระเจ้า.—กิจการ 16:26-34.
ไม่ว่าการเฆี่ยนตีหรือการจำคุกก็ไม่สามารถขู่ขวัญเปาโลหรือซีลาได้. เมื่อมีคำสั่งให้ปล่อยตัวคนทั้งสอง ท่านปฏิเสธการออกจากเมืองฟิลิปปอยอย่างคนที่รู้สึกอับอายขายหน้า อย่างที่เจ้าเมืองคาดหมาย. ท่านทั้งสองยึดมั่นกับจุดยืนของตัวเองและได้พลิกสถานการณ์โต้กลับเจ้าเมืองเหล่านั้นที่ยโสกระทำการตามอำเภอใจ. เปาโลท้วงติงว่า “เขาได้เฆี่ยนเราผู้เป็นชาติโรมันต่อหน้าคนทั้งหลายก่อนได้ตัดสินความ, และได้จำเราไว้ในคุก บัดนี้เขาจะเสือกไสให้เราออกไปเป็นการลับหรือ ทำอย่างนั้นไม่ได้. ให้เขาเองมาพาเราออกไปเถอะ.” ด้วยความหวั่นกลัวผลที่จะตามมา เจ้าเมืองจำต้องวิงวอนขอให้ท่านทั้งสองออกไปเสียจากเมือง.—กิจการ 16:35-39.
หลังการได้ทำให้พวกเจ้าเมืองเห็นความสำคัญของสิทธิของท่านทั้งสองฐานะเป็นชาวโรมัน เปาโลกับซีลาจึงยอมออกจากเมืองตามคำขอร้องของพวกเขาเหล่านั้น—แต่หลังการร่ำลามิตรสหายของท่านเสียก่อน. สอดคล้องกับสิ่งที่ตอนนี้เป็นลักษณะเด่นของการเดินทางไปเผยแพร่ทุกแห่ง ซีลากับเพื่อนร่วมงาน “พูดหนุนใจ” พี่น้องแล้วจึงลาจากไป.—กิจการ 16:40.
จากเมืองมากะโดเนียต่อไปถึงบาบูโลน
โดยที่ไม่ท้อใจจากสิ่งซึ่งมิฉะนั้นแล้วอาจเป็นประสบการณ์เชิงลบ เปาโล, ซีลา, และเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าต่อไปยังเขตงานมิชชันนารีแห่งใหม่. ที่เมืองเธซะโลนิเกพวกเขาเผชิญความยุ่งยากอีกครั้งหนึ่ง. เนื่องจากงานรับใช้ที่เปาโลได้กระทำในช่วงสามวันซะบาโตนั้นประสบความสำเร็จ ผู้ต่อต้านจึงอิจฉาและได้ยุยงฝูงชนก่อจลาจล ด้วยความสุขุม พวกมิชชันนารีจึงออกจากเมืองไปในตอนกลางคืน. พวกเขาออกเดินทางไปยังเมืองเบรอยะ. ครั้นทราบเรื่องความสำเร็จผลของเปาโลและเพื่อนร่วมทางในเมืองนั้น ผู้ต่อต้านจึงได้พากันเดินทางไกลจากเธซะโลนิเกทีเดียว. เปาโลเดินทางต่อไปแต่ลำพัง ขณะที่ซีลากับติโมเธียวยังอยู่ที่เมืองเบรอยะเพื่อเอาใจใส่กลุ่มคนสนใจใหม่ ๆ. (กิจการ 17:1-15) ซีลากับติโมเธียวได้สมทบกับเปาโลในเมืองโกรินโธ พร้อมกับนำข่าวดีและอาจจะมีสิ่งของจากมิตรสหายที่ซื่อสัตย์ในเมืองมากะโดเนียไปฝากท่านด้วย. สิ่งของเหล่านี้คงทำให้อัครสาวกผู้ขัดสนไม่ต้องทำงานอาชีพซึ่งท่านได้ทำในระหว่างนั้น และสามารถทำการเผยแพร่เต็มเวลาด้วยความกระตือรือร้นได้อีก. (กิจการ 18:1-5; 2 โกรินโธ 11:9) ที่เมืองโกรินโธ มีการอ้างถึงซีลาและติโมเธียวด้วยเช่นกันว่าเป็นผู้เผยแพร่และเพื่อนร่วมทางของเปาโล. ดังนั้น ปรากฏชัดว่ากิจกรรมของพวกเขาในเมืองนั้นไม่ได้ย่อหย่อนแต่อย่างใด.—2 โกรินโธ 1:19.
การใช้สรรพนาม “เรา” โดยตลอดในจดหมายที่มีไปถึงประชาคมเธซะโลนิเก—ทั้งสองฉบับเขียนจากเมืองโกรินโธในช่วงนั้น—เป็นข้อสันนิษฐานว่าซีลากับติโมเธียวมีบทบาทร่วมในการเขียน. แต่ข้อคิดเห็นที่ว่าซีลามีส่วนในการเขียนนั้น ถือเอาจากสิ่งที่เปโตรพูดครั้งหนึ่งในจดหมายของท่านเอง. เปโตรบอกว่าท่านเขียนจดหมายฉบับแรก “โดยทางซีละวาโน พี่น้องที่ข้าพเจ้าถือว่าซื่อสัตย์.” (1 เปโตร 5:12, ล.ม.) แม้ว่าข้อนี้อาจหมายความแต่เพียงว่าซีละวาโนเป็นผู้ถือจดหมาย ความแตกต่างกันในรูปแบบจดหมายสองฉบับของเปโตรอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าท่านได้ใช้ซีลาเขียนจดหมายฉบับแรก แต่ไม่ได้ให้เขียนฉบับที่สอง. ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในความสามารถอันหลากหลายของซีลาอีกทั้งสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามระบอบของพระเจ้า อาจได้แก่การเป็นเลขานุการ.
ตัวอย่างที่พึงเลียนแบบ
เมื่อเราไตร่ตรองอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้ว่าซีลากระทำ ประวัติการทำงานของท่านน่าประทับใจ. ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับมิชชันนารีและผู้ดูแลเดินทางสมัยปัจจุบัน. ท่านเดินทางไกลไปในที่ต่าง ๆ อย่างไม่เห็นแก่ตัวและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่น้อย ไม่ใช่เพื่อผลกำไรทางด้านวัตถุหรือหวังมีชื่อเสียง แต่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น. ท่านมีเป้าประสงค์จะให้การหนุนใจคนเหล่านั้นด้วยคำแนะนำที่สุขุมและผ่อนหนักผ่อนเบา, รวมถึงคำบรรยายซึ่งเตรียมเป็นอย่างดีและอย่างที่ให้ความอบอุ่น, อีกทั้งความกระตือรือร้นอันแรงกล้าของท่านในงานเผยแพร่. ไม่ว่าคุณมีบทบาทอะไรก็ตามท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวาซึ่งถูกจัดให้เป็นระเบียบ ถ้าคุณพยายามมองในแง่ดีในทำนองเดียวกัน—แม้เผชิญสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย คุณก็เช่นกันจะเป็นแหล่งแห่งการหนุนกำลังใจแก่เพื่อนร่วมความเชื่อ.
[แผนที่หน้า 29]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การเดินทางเผยแพร่รอบที่สองของเปาโล
ทะเลใหญ่
อันติโอเกีย
เดระเบ
ลุศตรา
อิโกนิอัน
โตรอา
ฟิลิปปอย
อัมฟีโปลี
เธซะโลนิเก
เบรอยะ
อะเธนาย
โกรินโธ
เอเฟโซ
ยะรูซาเลม
กายซาไรอา
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.