ลุเดีย—ผู้นมัสการพระเจ้าซึ่งแสดงน้ำใจต้อนรับแขก
ตั้งแต่โบราณกาลเรื่อยมา บรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้เด่นในด้านการแสดงน้ำใจต้อนรับแขก. (เยเนซิศ 18:1-8; 19:1-3) น้ำใจต้อนรับแขกได้รับการนิยามว่า “รัก, ชอบพอรักใคร่, หรือกรุณาต่อคนแปลกหน้า” น้ำใจต้อนรับแขกซึ่งออกมาจากใจจริงเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นคริสเตียนแท้แม้ในทุกวันนี้. ที่จริง เรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องสำหรับทุกคนซึ่งประสงค์จะนมัสการพระเจ้าอย่างที่ชอบพระทัยพระองค์.—เฮ็บราย 13:2; 1 เปโตร 4:9.
ผู้หนึ่งซึ่งแสดงน้ำใจต้อนรับแขกอันควรถือเป็นแบบอย่างได้คือนางลุเดีย. นาง “ได้วิงวอน” คริสเตียนผู้เผยแพร่คราวเยี่ยมเมืองฟิลิปปอยให้พักในบ้านของนางจนเขาขัดไม่ได้. (กิจการ 16:15) แม้ว่าได้มีการกล่าวถึงนางลุเดียแต่เพียงสั้น ๆ ในพระคัมภีร์ แต่สิ่งที่พูดไว้เล็กน้อยเกี่ยวกับเธอนั้นก็คงเป็นการหนุนใจสำหรับพวกเรา. ในทางใด? นางลุเดียเป็นใคร? เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับลุเดีย?
“เป็นคนขายผ้าสีม่วง”
ลุเดียอยู่ในเมืองฟิลิปปอยอันเป็นเมืองเอกของแคว้นมากะโดเนีย. อย่างไรก็ตาม นางมาจากเมืองธุอาไตระ เมืองหนึ่งในแคว้นลุเดีย ทางภาคตะวันตกของเอเชียน้อย. อาศัยเหตุผลข้อนี้ บางคนจึงคิดเอาว่า “ลุเดีย” เป็นชื่อเล่นของเธอในเมืองฟิลิปปอย. หรืออีกนัยหนึ่ง นางคือ “ชาวลุเดีย” อย่างหญิงคนนั้นที่พระเยซูคริสต์สนทนาให้คำพยานถูกเรียกว่า “หญิงชาวซะมาเรีย.” (โยฮัน 4:9, ล.ม.) นางลุเดียขาย “วัสดุย้อมสีม่วง” หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ย้อมด้วยวัสดุชนิดนี้. (กิจการ 16:12, 14, ล.ม.) การที่มีคนทำสีย้อมไม่ว่าในเมืองธุอาไตระ หรือในฟิลิปปอยต่างก็มีข้อยืนยันจากคำจารึกซึ่งขุดค้นพบโดยนักโบราณคดี. เป็นไปได้ที่ลุเดียได้ย้ายไปทำงานที่เมืองนั้นเพราะงานของเธอ อาจเป็นธุรกิจของตัวเอง หรืออาจเป็นตัวแทนพ่อค้าสีย้อมที่เมืองธุอาไตระก็ได้.
วัสดุย้อมสีม่วงอาจทำมาจากวัตถุดิบหลายชนิด. สีย้อมดีราคาแพงที่สุดสกัดจากหอยทะเลบางชนิด. ตามที่มาร์เชียลกวีชาวโรมันในศตวรรษแรกได้กล่าวไว้ เสื้อคลุมย้อมด้วยสีม่วงที่ดีที่สุดมาจากตุโร (ศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้านี้) อาจมีราคาสูงถึง 10,000 เซสเตอร์ซิส หรือ 2,500 เดนาริอน เทียบเท่ากับค่าแรงที่คนหนึ่งทำงาน 2,500 วัน. เห็นได้ชัดว่า เสื้อคลุมชนิดนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย ซึ่งน้อยคนสามารถซื้อได้. ดังนั้น นางลุเดียคงต้องเป็นคนร่ำรวยมีเงินทอง. ไม่ว่าสภาพจริงเป็นเช่นไร นางก็สามารถเชื้อเชิญให้การต้อนรับอัครสาวกเปาโลพร้อมด้วยเพื่อนร่วมทางของท่านได้ อาทิ ลูกา, ซีลา, ติโมเธียว, และอาจมีคนอื่น ๆ ด้วย.
งานประกาศเผยแพร่ของเปาโลในเมืองฟิลิปปอย
ราว ๆ ปีสากลศักราช 50 เปาโลได้เดินทางไปยุโรปเป็นครั้งแรก และเริ่มงานเผยแพร่ในฟิลิปปอย.a เมื่อเปาโลไปถึงเมืองที่ไม่เคยไปมาก่อน เป็นธรรมเนียมที่ท่านเข้าไปในธรรมศาลาก่อนเพื่อสั่งสอนคนยิวและผู้คนที่หันมาเข้าจารีตศาสนายูดายซึ่งชุมนุมกันที่นั่น. (เทียบกับกิจการ 13:4, 5, 13, 14; 14:1.) แต่บางแหล่งชี้แจงว่า กฎหมายโรมันห้ามชาวยิวปฏิบัติกิจทางศาสนาใน “บริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่จำกัดไว้เฉพาะ” แห่งเมืองฟิลิปปอย. ดังนั้น หลังจากได้พักที่นั่น “หลายวัน” เมื่อถึงวันซะบาโตผู้เผยแพร่เหล่านี้ได้พบที่หนึ่งบนฝั่งแม่น้ำนอกเมืองซึ่ง ‘เขาเข้าใจว่าเป็นที่สำหรับอธิษฐาน.’ (กิจการ 16:12, 13) ดูเหมือนว่าเป็นแม่น้ำกานกีทีส. ที่นั่น พวกผู้เผยแพร่พบเห็นแต่ผู้หญิงเท่านั้น หนึ่งในจำนวนนั้นคือนางลุเดีย.
“ผู้นมัสการพระเจ้า”
ลุเดียเป็น “ผู้นมัสการพระเจ้า” แต่นางอาจเป็นคนเปลี่ยนมาเข้าจารีตจารีตยูดายที่สืบเสาะความจริงทางศาสนาก็ได้. ถึงแม้นางทำงานมีรายได้ดี แต่ลุเดียไม่ใช่คนฝักใฝ่วัตถุ. แทนการมุ่งมั่นจะเอาทางด้านวัตถุ นางได้จัดเวลาไว้สำหรับสิ่งต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณ. “พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ได้ทรงเปิดใจของเขาให้สนใจในถ้อยคำซึ่งเปาโลได้กล่าวนั้น” และลุเดียยอมรับเอาความจริง. ตามจริงแล้ว “หญิงคนนั้นกับทั้งครอบครัวของเขาได้รับบัพติศมา.”—กิจการ 16:14, 15.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ระบุชัดว่าคนอื่นในครอบครัวของนางลุเดียนั้นเป็นใครบ้าง. เนื่องจากไม่มีการเอ่ยถึงสามี ลุเดียอาจเป็นโสดหรือเป็นม่ายก็ได้. บางที “ครอบครัวของเขา” ประกอบด้วยญาติพี่น้อง แต่สำนวนนี้อาจหมายรวมถึงทาสหรือคนรับใช้ได้เหมือนกัน. ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม สิ่งต่าง ๆ ที่นางลุเดียได้เรียนรู้แล้ว นางบอกกล่าวอย่างกระตือรือร้นให้คนเหล่านั้นในครัวเรือนรู้. และนางคงต้องเปี่ยมด้วยความปลาบปลื้มมากเมื่อคนเหล่านั้นแสดงความเลื่อมใสและยินดีรับเอาความเชื่อแท้!
“เขาได้วิงวอนจนเราขัดไม่ได้”
ก่อนพบนางลุเดีย พวกผู้เผยแพร่อาจต้องพอใจกับการได้ที่พักอาศัยโดยจ่ายค่าที่พักเอง. แต่นางมีความยินดีที่สามารถเสนอให้เปลี่ยนไปพักที่ใหม่. ข้อเท็จจริงที่นางต้องคะยั้นคะยอก็แสดงว่าเปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางนั้นคงได้ทัดทานอย่างแน่นอน. ทำไม? เปาโลต้องการจะ ‘ประกาศกิตติคุณโดยไม่คิดค่าเหนื่อย เพื่อจะไม่ใช้สิทธิของท่านอย่างผิด ๆ’ และจะได้ไม่เป็นภาระแก่คนใดคนหนึ่ง. (1 โกรินโธ 9:18; 2 โกรินโธ 12:14) แต่ลูกากล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อหญิงคนนั้นกับทั้งครอบครัวของเขาได้รับบัพติศมาแล้วจึงเชิญเราว่า, ‘ถ้าท่านเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า, เชิญเข้ามาพักอาศัยในตึกของข้าพเจ้าเถิด’ และเขาได้วิงวอนจนเราขัดไม่ได้.” (กิจการ 16:15) ลุเดียคำนึงอย่างยิ่งถึงการเป็นคนสัตย์ซื่อต่อพระยะโฮวา และการมีน้ำใจต้อนรับเช่นนั้นชี้ชัดถึงความเชื่อศรัทธาของนาง. (เทียบกับ1 เปโตร 4:9.) ช่างเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม! พวกเราเป็นเช่นเดียวกันไหมที่ใช้ทรัพย์สินของเราส่งเสริมผลประโยชน์แห่งข่าวดี?
พี่น้องในเมืองฟิลิปปอย
ครั้นเปาโลและซีลาออกจากคุกหลังจากกรณีเกี่ยวโยงกับเด็กทาสีซึ่งถูกผีสิง ท่านทั้งสองหวนกลับไปยังเรือนของลุเดียอีก ที่นั่นท่านได้พบกับพวกพี่น้องบางคน. (กิจการ 16:40) บรรดาผู้เชื่อถือที่ร่วมกับประชาคมฟิลิปปอยซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ ๆ อาจได้ใช้บ้านของลุเดียเป็นที่ประชุมประจำ. นับว่าสมเหตุสมผลที่จะคิดว่าบ้านของนางเป็นศูนย์กิจกรรมตามระบอบของพระเจ้าอย่างต่อเนื่องในเมืองนั้น.
การที่นางลุเดียแสดงน้ำใจต้อนรับอย่างอบอุ่นในเบื้องต้นเช่นนั้นปรากฏว่าเป็นลักษณะนิสัยของประชาคมโดยรวม. ทั้ง ๆ ที่พวกเขายากแค้นขัดสน แต่มีอยู่หลายครั้งที่ชาวฟิลิปปอยจัดส่งสิ่งจำเป็นไปให้เปาโล และอัครสาวกก็รู้สึกขอบคุณ.—2 โกรินโธ 8:1, 2; 11:9; ฟิลิปปอย 4:10, 15, 16.
ไม่มีการกล่าวถึงลุเดียในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงประชาคมฟิลิปปอยประมาณปีสากลศักราช 60-61. พระคัมภีร์ก็ไม่เปิดเผยว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับนางหลังจากได้พรรณนาเหตุการณ์ตามบันทึกในพระธรรมกิจการบท 16. กระนั้นก็ดี การยกเอาเรื่องผู้หญิงแข็งขันปราดเปรียวขึ้นมากล่าวโดยย่อเช่นนี้ทำให้เราอยากติดตามแนวทางการ “มีน้ำใจรับรองแขก.” (โรม 12:13) เราปลื้มใจมากเพียงใดที่เรามีคริสเตียนอย่างลุเดียท่ามกลางพวกเรา! ความมีน้ำใจของพวกเขาเป็นส่วนส่งเสริมมากจริง ๆ ต่อความอบอุ่นและไมตรีจิตมิตรภาพในประชาคม ซึ่งเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระยะโฮวาพระเจ้า.
[เชิงอรรถ]
a เมืองฟิลิปปอยจัดว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของแคว้นมากะโดเนียซึ่งค่อนข้างเจริญเฟื่องฟูสมัยนั้น เป็นอาณานิคมทหารปกครองโดย ยูส อิตาลีคุม (กฎหมายอิตาเลียน). กฎข้อบังคับนี้รับรองสิทธิชาวฟิลิปปอยเท่าเทียมกับพลเมืองชาวโรมัน.—กิจการ 16:9, 12, 21.
[กรอบหน้า 28]
ชีวิตชาวยิวในเมืองฟิลิปปอย
วิถีชีวิตในเมืองฟิลิปปอยคงไม่ง่ายเสียทีเดียวสำหรับคนยิวและคนที่หันมาเข้าลัทธิยูดาย. ณ เมืองนี้อาจมีท่าทีที่ต่อต้านชาวยิว เพราะไม่นานก่อนการเยี่ยมของเปาโล จักรพรรดิเกลาดิโอได้เนรเทศชาวยิวออกไปจากกรุงโรม.—เทียบกับกิจการ 18:2.
น่าสนใจ เปาโลกับซีลาถูกลากตัวไปต่อหน้าพวกขุนนางภายหลังการเยียวยารักษาเด็กทาสีซึ่งถูกผีใช้ให้ทำอาคม. เมื่อนายของเขาเห็นว่าหมดหวังจะได้เงิน จึงฉวยเอาประโยชน์จากการที่หมู่ชาวเมืองมีอคติอยู่แล้วโดยอ้างว่า “คนเหล่านี้เป็นพวกยูดาย, ก่อการวุ่นวายมากในเมืองของเรา, และสั่งสอนธรรมเนียมและลัทธิซึ่งเราชาติโรมันไม่ควรจะรับหรือถือเลย.” ผลก็คือ เขาได้โบยเปาโลกับซีลาด้วยไม้เรียวแล้วจับขังไว้ในคุก. (กิจการ 16:16-24) ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น การนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าของชาวยิวอย่างเปิดเผยจึงต้องอาศัยความกล้าหาญ. แต่ปรากฏชัดว่าลุเดียไม่สะทกสะท้านเมื่อตนเป็นคนที่ต่างไปจากคนอื่น ๆ.
[รูปภาพหน้า 27]
ซากปรักหักพังที่เมืองฟิลิปปอย