พระธรรมเล่มที่ 52—1 เธซะโลนิเก
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โกรินโธ
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 50
1. (ก) เป็นไปอย่างไรจึงมีการเขียนพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้นขึ้นมา? (ข) จดหมายนี้เขียนเมื่อไร และจดหมายนี้มีข้อเด่นอะไร?
ประมาณในปี ส.ศ. 50 ขณะอยู่ระหว่างเดินทางประกาศรอบที่สอง อัครสาวกเปาโลเยี่ยมที่เมืองเธซะโลนิเกในแคว้นมาซิโดเนีย (มากะโดเนีย) และท่านได้ตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นที่นั่น. ภายในหนึ่งปี ขณะทำงานร่วมกับซีละวาโน (ซีลาในพระธรรมกิจการ) และติโมเธียวในเมืองโกรินโธ เปาโลรู้สึกอยากจะเขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกเพื่อชูใจและเสริมสร้างพวกเขาในความเชื่อ. ดูเหมือนตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี ส.ศ. 50. ปรากฏว่าจดหมายนี้โดดเด่นที่เป็นจดหมายของเปาโลฉบับแรกซึ่งได้มาเป็นส่วนของสารบบคัมภีร์ไบเบิล และหากไม่นับกิตติคุณของมัดธาย ก็นับว่าเป็นพระธรรมเล่มแรกในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่มีการเขียนขึ้น.
2. มีหลักฐานอะไรในเรื่องผู้เขียนและความเชื่อถือได้ของพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้น?
2 หลักฐานสนับสนุนความเชื่อถือได้และความซื่อตรงของจดหมายนี้มีมากมาย. เปาโลระบุชื่อท่านเองว่าเป็นผู้เขียน และพระธรรมนี้สอดคล้องภายในกับส่วนอื่น ๆ ของพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (1 เธ. 1:1; 2:18) มีการกล่าวถึงชื่อจดหมายนี้ในสารบัญชุดแรกของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนของมูราโทรีด้วย.a มีการยกข้อความจากพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้นไปกล่าวหรืออ้างถึงพระธรรมนี้โดยนักเขียนของคริสตจักรยุคแรก ๆ หลายคนรวมทั้งอิเรแนอุส (ศตวรรษที่สอง ส.ศ.) ซึ่งกล่าวถึงชื่อพระธรรมนี้. เชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส หมายเลข 2 (P46) ของราว ๆ ปี ส.ศ. 200 มีพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้นอยู่ และพาไพรัสอีกฉบับหนึ่งของศตวรรษที่สาม (P30) ซึ่งขณะนี้อยู่ในเมืองเกนต์ประเทศเบลเยียม ก็มีชิ้นส่วนของพระธรรมเธซะโลนิเกทั้งฉบับต้นและฉบับสอง.b
3, 4. ความสำเร็จช่วงต้น ๆ ในงานเผยแพร่ของเปาโลที่เธซะโลนิเกก่อผลเช่นไร?
3 การพิจารณาอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับประวัติโดยสังเขปของประชาคมที่เธซะโลนิเกก่อนมีการเขียนจดหมายนี้ทำให้รู้แน่ถึงภูมิหลังที่ทำให้เปาโลห่วงใยพี่น้องในเมืองนั้นอย่างลึกซึ้ง. ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว ประชาคมนี้ประสบการข่มเหงและการต่อต้านที่รุนแรง. ที่กิจการบท 17 ลูการายงานการมาถึงเธซะโลนิเกของเปาโลและซีลา “ที่นั่นมีธรรมศาลาของพวกยิว.” เปาโลประกาศกับพวกยิวเป็นเวลาสามวันซะบาโต หาเหตุผลกับพวกเขาจากพระคัมภีร์ และมีข้อบ่งชี้ว่าท่านอยู่ที่นั่นนานกว่านั้นอีก เพราะท่านมีเวลาทำงานอาชีพ และยิ่งกว่าอื่นใด เพื่อตั้งและจัดระเบียบประชาคม.—กิจ. 17:1, ฉบับแปลใหม่; 1 เธ. 2:9; 1:6, 7.
4 บันทึกที่กิจการ 17:4-7 เล่าอย่างที่ทำเห็นภาพชัดถึงผลกระทบจากการประกาศของท่านอัครสาวกในเธซะโลนิเก. ด้วยเหตุที่ริษยาความสำเร็จแห่งงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนของเปาโล พวกยิวจึงปลุกปั่นฝูงชนและก่อจลาจลทั้งเมือง. พวกเขาบุกบ้านของยาโซนและลากตัวเขาพร้อมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ไปหาเจ้าหน้าที่ปกครองเมือง ร้องว่า “คนพวกนี้ซึ่งได้คว่ำแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยก็มาอยู่ที่นี่ด้วย และยาโซนได้ต้อนรับสองคนนั้นไว้ด้วยใจเอื้อเฟื้อ. และคนทั้งปวงนี้ทำการต่อต้านราชกฤษฎีกาของซีซาร์ โดยกล่าวว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือเยซู.” ยาโซนและคนอื่น ๆ ถูกบังคับให้จ่ายค่าประกันตัวก่อนได้รับการปล่อยตัว. เพื่อเห็นแก่พี่น้องในประชาคม และเพื่อความปลอดภัยของตนเอง เปาโลกับซีลาจึงออกจากเมืองในเวลากลางคืนไปยังเมืองเบรอยะ. แต่ประชาคมที่เธซะโลนิเกถูกตั้งขึ้นแล้วในตอนนั้น.
5. เปาโลแสดงความห่วงใยและความสนใจด้วยความรักต่อประชาคมเธซะโลนิเกอย่างไร?
5 การต่อต้านที่รุนแรงจากพวกยิวติดตามเปาโลไปถึงเมืองเบรอยะและมีแนวโน้มจะยับยั้งการประกาศของท่านที่นั่น. ท่านจึงเดินทางไปยังเอเธนส์ ในประเทศกรีซ. แต่ท่านปรารถนาจะทราบว่าพี่น้องในเธซะโลนิเกเป็นอย่างไรภายใต้ความยากลำบาก. ท่านพยายามจะกลับไปหาพวกเขาสองครั้ง ทว่าในแต่ละครั้ง ‘ซาตานขวางทางท่านไว้.’ (1 เธ. 2:17, 18, ล.ม.) ด้วยความห่วงใยประชาคมที่เพิ่งตั้งแห่งนี้อีกทั้งปวดร้าวใจที่รู้เรื่องความยากลำบากที่พวกเขาประสบอยู่ เปาโลจึงส่งติโมเธียวกลับไปยังเธซะโลนิเกเพื่อชูใจพวกพี่น้องและช่วยพวกเขาให้มั่นคงในความเชื่อยิ่งขึ้น. เมื่อติโมเธียวกลับมาพร้อมกับรายงานที่น่ายินดี เปาโลยินดีมากกับข่าวความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างเด็ดเดี่ยวของพวกเขาท่ามกลางการกดขี่ข่มเหงที่รุนแรง. ถึงตอนนี้เรื่องราวของพวกเขาได้เป็นตัวอย่างแก่ผู้เชื่อถือทั่วมาซิโดเนียและอะฆายะ. (1:6-8; 3:1-7) เปาโลขอบพระคุณพระยะโฮวาพระเจ้าสำหรับความเพียรอดทนด้วยความซื่อสัตย์ของพวกเขา แต่ท่านก็ตระหนักด้วยว่าขณะที่พวกเขาเติบโตต่อ ๆ ไปสู่ความอาวุโส พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการชี้แนะและคำแนะนำต่อไปอีก. ดังนั้น ขณะที่อยู่กับติโมเธียวและซีละวาโนในโกรินโธ เปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับแรกถึงชาวเธซะโลนิเก.
เนื้อเรื่องในเธซะโลนิเกฉบับต้น
6. เปาโลชมเชยคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกในข้อใด?
6 ชาวเธซะโลนิเกเป็นแบบอย่างแก่ผู้เชื่อถือคนอื่น ๆ (1:1-10). เปาโลเริ่มจดหมายถึงชาวเธซะโลนิเกด้วยคำชมเชยอันอบอุ่นในเรื่องการงานอันสัตย์ซื่อ, การบากบั่นด้วยความรัก, และความเพียรอดทนในความหวังของพวกเขา. ข่าวดีที่มีการประกาศท่ามกลางพวกเขาหาได้ประกาศด้วยวาจาเท่านั้นไม่ แต่ ‘โดยฤทธิ์และความมั่นใจเต็มที่ด้วย.’ โดยเลียนแบบอย่างที่วางไว้แก่พวกเขา ชาวเธซะโลนิเกได้ยอมรับพระคำ “ด้วยความยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์” และได้ทำให้ตนเองเป็นแบบอย่างแก่ผู้เชื่อถือทั้งปวงในมาซิโดเนีย, อะฆายะ, และไกลกว่านั้นอีก. พวกเขาได้ละทิ้งรูปเคารพอย่างสิ้นเชิง “เพื่อเป็นทาสรับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และเที่ยงแท้ และเพื่อคอยท่าพระบุตรของพระองค์จากสวรรค์.”—1:5, 6, 9, 10, ล.ม.
7. เปาโลกับเพื่อนร่วมงานแสดงให้เห็นเจตคติเช่นไรเมื่ออยู่ท่ามกลางคริสเตียนชาวเธซะโลนิเก และพวกท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ทำอะไร?
7 ความห่วงใยด้วยความรักของเปาโลต่อชาวเธซะโลนิเก (2:1–3:13). หลังจากได้รับการปฏิบัติอย่างสบประมาทที่ฟิลิปปอย เปาโลและเพื่อน ๆ รวบรวมความกล้าเพื่อประกาศแก่ชาวเธซะโลนิเก. พวกท่านทำเช่นนั้นไม่ใช่อย่างผู้ที่เอาใจมนุษย์หรืออย่างคนสอพลอหรืออย่างที่แสวงหาเกียรติยศจากมนุษย์. ตรงกันข้าม เปาโลกล่าวว่า “เราได้ปฏิบัติอย่างนุ่มนวลท่ามกลางท่านทั้งหลาย เหมือนแม่ลูกอ่อนทะนุถนอมลูกของตน. ดังนั้น เนื่องจากมีความรักใคร่อันอ่อนละมุนต่อท่าน เราจึงยินดีจะให้ท่านทั้งหลายไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้จิตวิญญาณของเราแก่ท่านด้วย เพราะว่าท่านเป็นที่รักของเรา.” (2:7, 8, ล.ม.) เหมือนบิดาทำกับบุตร พวกท่านเฝ้ากระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกให้ดำเนินต่อไปอย่างที่คู่ควรกับพระเจ้าผู้ทรงเรียกพวกเขาเข้าสู่ราชอาณาจักรและสง่าราศีของพระองค์.
8. คริสเตียนชาวเธซะโลนิเกกลายเป็นความปลาบปลื้มแก่เปาโลอย่างไร และท่านอธิษฐานเช่นไรเพื่อพวกเขา?
8 เปาโลชมเชยพวกเขาที่ตอบรับข่าวดีทันทีเพราะเป็น “พระคำของพระเจ้า.” พวกเขาไม่ใช่พวกเดียวที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากคนร่วมชาติ เพราะผู้เชื่อถือกลุ่มแรก ๆ ในยูเดียก็ประสบการกดขี่ข่มเหงคล้ายกันด้วยน้ำมือพวกยิว. ด้วยความกังวลเรื่องสวัสดิภาพของพวกเขา มีสองครั้งที่เปาโลอยากมาหาพวกเขาเองแต่ถูกซาตานขัดขวางไว้. สำหรับเปาโลกับเพื่อนร่วมงาน พี่น้องชาวเธซะโลนิเกเป็นเสมือนมงกุฎแห่งความปลาบปลื้ม เป็น “สง่าราศีและความยินดี” ของพวกท่าน. (2:13, 20, ล.ม.) เมื่อท่านไม่อาจทนได้อีกต่อไปกับการไม่รู้ข่าวคราวเกี่ยวกับพวกเขา เปาโลจึงส่งติโมเธียวมายังเธซะโลนิเกเพื่อทำให้ความเชื่อของพวกเขามั่นคงและเพื่อชูใจพวกเขา. บัดนี้ ติโมเธียวเพิ่งกลับมาพร้อมกับข่าวดีเรื่องความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณและความรักของพวกเขา และข่าวนี้นำความสุขและความยินดีมาให้ท่านอัครสาวก. เปาโลขอบคุณพระเจ้าและอธิษฐานขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขาทวีขึ้น, ขอให้พวกเขาบริบูรณ์ด้วยความรักต่อกันและกัน, และให้หัวใจของพวกเขา “ไร้ตำหนิในความบริสุทธิ์” เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดาในคราวการประทับของพระเยซูเจ้า.—3:13, ล.ม.
9. เปาโลกระตุ้นเตือนเช่นไรเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ และความรักต่อกัน?
9 การรับใช้อย่างบริสุทธิ์และมีเกียรติ (4:1-12). เปาโลชมเชยคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกที่ดำเนินอย่างที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย และท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ทำเช่นนั้นต่อ ๆ ไปอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น. แต่ละคนควร “รู้วิธีควบคุมภาชนะของตนเองในทางที่บริสุทธิ์และมีเกียรติ ไม่ใช่ด้วยราคะตัณหาอย่างละโมบ.” ในเรื่องนี้ ไม่ควรมีใครละเมิดสิทธิของพี่น้อง. เพราะพระเจ้าทรงเรียกพวกเขา “ไม่ใช่โดยยอมให้มีความไม่สะอาด แต่เพื่อทำให้บริสุทธิ์. ฉะนั้น คนที่แสดงการละเลย ไม่ได้ละเลยมนุษย์ แต่ละเลยพระเจ้าผู้ทรงใส่พระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ในท่านทั้งหลาย.” (4:4, 5, 7, 8, ล.ม.) เปาโลชมเชยคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกเพราะพวกเขาสำแดงความรักต่อกัน และท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ทำเช่นนั้นต่อ ๆ ไปให้เต็มที่ยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะดำเนินชีวิตอย่างสงบอีกทั้งเอาใจใส่ธุระของตนเองและทำงานด้วยมือตน. เพราะพวกเขาจะต้องประพฤติอย่างที่ควร “เมื่อเกี่ยวข้องกับคนภายนอก.”—4:12, ล.ม.
10. พี่น้องเหล่านั้นควรมีเจตคติเช่นไรเกี่ยวกับคนที่หลับไปในความตาย?
10 ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย (4:13-18). เกี่ยวกับผู้ที่หลับอยู่ในความตาย พวกพี่น้องต้องไม่โศกเศร้าเหมือนคนที่ไม่มีความหวัง. ถ้าพวกเขามีความเชื่อว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ ดังนั้น โดยทางพระเยซู พระเจ้าจะทรงปลุกคนอื่น ๆ ที่หลับไปในความตายให้เป็นขึ้นมาเช่นกัน. ในคราวการเสด็จประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะเสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมด้วยเสียงตรัสสั่ง “และคนเหล่านั้นที่ตายร่วมสามัคคีกับพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน.” หลังจากนั้น คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะ “ถูกรับขึ้นไปในเมฆร่วมกับคนเหล่านั้น เพื่อจะพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในท้องฟ้า” เพื่ออยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าตลอดไป.—4:16, 17, ล.ม.
11. เหตุใดคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกควรตื่นตัวอยู่เสมอ และพวกเขาควรทำอะไรต่อ ๆ ไป?
11 การตื่นตัวอยู่เสมอขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา (5:1-28). “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยทีเดียวที่มาในเวลากลางคืน.” เมื่อประชาชนกล่าวว่า “สันติภาพและความปลอดภัย”! ความพินาศอย่างฉับพลันจะเกิดแก่พวกเขาในทันที. ดังนั้น ให้คริสเตียนชาวเธซะโลนิเกตื่นตัวอยู่เสมอในฐานะ “บุตรแห่งความสว่างและบุตรแห่งกลางวัน” โดยรักษาสติของตนและ “สวมเกราะหน้าอกแห่งความเชื่อและความรัก และเอาความหวังเกี่ยวกับความรอดมาสวมเป็นหมวกเหล็ก.” (5:2, 3, 5, 8, ล.ม.) นี่เป็นเวลาที่พวกเขาจะปลอบโยนและเสริมสร้างกัน. ให้ทุกคน “คำนึงถึง” ผู้ที่ทำงานหนักและดูแลท่ามกลางพวกเขา “มากเป็นพิเศษด้วยความรัก.” อีกด้านหนึ่ง คนเกะกะต้องได้รับการตักเตือน, คนอ่อนแอต้องได้รับการเสริมสร้าง, และต้องสำแดงความอดกลั้นทนนานต่อทุกคน. ถูกแล้ว เปาโลเขียนว่า “จงมุ่งทำสิ่งดีต่อกันและต่อคนอื่นทุกคนเสมอ”—5:13, 15, ล.ม.
12. ในตอนท้ายเปาโลให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องสำคัญยิ่งอะไรบ้าง และท่านจบจดหมายของท่านถึงคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกอย่างไร?
12 ในตอนท้าย เปาโลแนะนำเกี่ยวกับเรื่องสำคัญยิ่งหลายเรื่อง เช่น ‘จงยินดีอยู่เสมอ. จงอธิษฐานอย่างไม่ละลด, จงขอบพระคุณในทุกสิ่ง. จงรักษาไฟแห่งพระวิญญาณไว้. จงนับถือการกล่าวพยากรณ์. จงทำให้แน่ใจในทุกสิ่งและสิ่งที่ดีนั้นจงยึดไว้ให้มั่น. จงละเว้นจากการชั่วทุกอย่าง.’ (5:16-22, ล.ม.) แล้วท่านจึงอธิษฐานขอให้พระเจ้าแห่งสันติสุขทำให้พวกเขาบริสุทธิ์หมดจดและให้พวกเขาธำรงสภาพไร้ตำหนิในด้านน้ำใจ, จิตวิญญาณ, และร่างกาย ในคราวการเสด็จประทับของพระเยซูคริสต์เจ้า. ท่านจบจดหมายด้วยถ้อยคำอบอุ่นที่ให้กำลังใจและด้วยคำสั่งหนักแน่นให้อ่านจดหมายแก่พี่น้องทุกคน.
เหตุที่เป็นประโยชน์
13. เปาโลกับเพื่อนร่วมงานเป็นแบบอย่างอันดีงามในด้านใด และการสำแดงความรักอย่างเต็มใจภายในประชาคมส่งผลเช่นไร?
13 ในจดหมายนี้เปาโลสำแดงน้ำใจห่วงใยด้วยความรักต่อพี่น้องของท่าน. ท่านกับเพื่อนผู้รับใช้ได้วางตัวอย่างอันดีงามในด้านความรักใคร่อันอ่อนละมุน โดยที่ให้ไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้แม้กระทั่งจิตวิญญาณของตนเพื่อพวกพี่น้องที่รักในเธซะโลนิเก. ให้ผู้ดูแลทั้งหลายบากบั่นสร้างสายสัมพันธ์แห่งความรักเช่นนั้นกับประชาคมของตน! การแสดงออกซึ่งความรักเช่นนั้นจะกระตุ้นทุกคนให้สำแดงความรักต่อกัน ดังที่เปาโลกล่าวไว้ว่า “นอกจากนั้น ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ท่านทั้งหลายเพิ่มพูน ใช่ ทรงทำให้ท่านทั้งหลายบริบูรณ์ด้วยความรักต่อกันและต่อคนทั้งปวง เหมือนที่เรารักท่านทั้งหลายเช่นกัน.” ความรักนี้ซึ่งมีการแสดงออกอย่างเต็มใจท่ามกลางไพร่พลทั้งปวงของพระเจ้าเป็นสิ่งที่เสริมสร้างที่สุด. ความรักนี้ทำให้หัวใจ “มั่นคง ไร้ตำหนิในความบริสุทธิ์เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและพระบิดาของเราในคราวการประทับของพระเยซูเจ้าของเราพร้อมกับบรรดาผู้บริสุทธิ์ของพระองค์.” ความรักแยกคริสเตียนออกจากโลกที่เสื่อมทรามและผิดศีลธรรมเพื่อพวกเขาจะประพฤติด้วยความบริสุทธิ์และจึงทำให้พระเจ้าพอพระทัย.—3:12, 13, ล.ม.; 2:8; 4:1-8, ล.ม.
14. พระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้นเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมของคำแนะนำที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวด้วยความรักอย่างไร?
14 จดหมายนี้ให้แบบฉบับอันยอดเยี่ยมของคำแนะนำที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวด้วยความรักในประชาคมคริสเตียน. แม้พี่น้องชาวเธซะโลนิเกมีใจแรงกล้าและซื่อสัตย์ แต่ก็มีจุดที่ต้องแก้ไข. อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกรณี เปาโลชมเชยพี่น้องในเรื่องคุณลักษณะที่ดีของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น เมื่อเตือนให้ระวังความไม่สะอาดทางศีลธรรม ท่านชมพวกเขาก่อนในเรื่องความประพฤติที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยแล้วจึงกระตุ้นพวกเขาให้ทำเช่นนั้น “อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น” ให้แต่ละคนรักษาภาชนะของตนด้วยความบริสุทธิ์และมีเกียรติ. จากนั้น หลังจากชมพวกเขาเรื่องความรักฉันพี่น้องของพวกเขา ท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ดำเนินเช่นนั้นต่อไป “ให้มากยิ่งขึ้น” เอาใจใส่ในธุระของตนเอง และดำเนินชีวิตอย่างที่ควรต่อหน้าคนภายนอก. เปาโลสั่งพี่น้องอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวให้ “มุ่งทำสิ่งดีต่อกันและต่อคนอื่นทุกคนเสมอ.”—4:1-7, 9-12, ล.ม.; 5:15, ล.ม.
15. อะไรแสดงว่าเปาโลประกาศความหวังเรื่องราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้าเมื่ออยู่ที่เธซะโลนิเก และท่านให้คำแนะนำที่ดีอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
15 เปาโลกล่าวถึง “การประทับ” ของพระเยซูคริสต์สี่ครั้ง. ปรากฏชัดว่า คริสเตียนที่เพิ่งเข้ามาเชื่อถือที่เธซะโลนิเกสนใจคำสอนนี้มาก. ขณะอยู่ในเมืองของพวกเขา ไม่ต้องสงสัยว่าเปาโลได้ประกาศอย่างกล้าหาญเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าในพระหัตถ์ของพระคริสต์ ดังที่มีระบุในคำกล่าวหาท่านกับเพื่อนร่วมงานว่า “คนทั้งปวงนี้ทำการต่อต้านราชกฤษฎีกาของซีซาร์ โดยกล่าวว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือเยซู.” (กิจ. 17:7, ล.ม.; 1 เธ. 2:19; 3:13; 4:15; 5:23) พี่น้องชาวเธซะโลนิเกฝากความหวังไว้ที่ราชอาณาจักร และโดยมีความเชื่อต่อพระเจ้า จึงคอยท่า “พระบุตรของพระองค์จากสวรรค์ ผู้ซึ่งพระองค์ทรงปลุกให้เป็นขึ้นจากบรรดาคนตาย คือพระเยซู” เพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากพระพิโรธที่จะมีมา. เช่นเดียวกัน ทุกคนที่หวังในราชอาณาจักรของพระเจ้าในทุกวันนี้จำเป็นต้องเอาใจใส่คำแนะนำที่ดีในพระธรรมเธซะโลนิเกฉบับต้นเพื่อจะบริบูรณ์ด้วยความรัก มีหัวใจที่มั่นคงและไร้ตำหนิ เพื่อพวกเขาจะ “ดำเนินคู่ควรกับพระเจ้าต่อไปผู้ทรงเรียกท่านเข้าสู่ราชอาณาจักรและสง่าราศีของพระองค์.”—1 เธ. 1:8, 10, ล.ม.; 3:12, 13; 2:12, ล.ม..
[เชิงอรรถ]
a ดูแผนภูมิ “บัญชีรายชื่อชุดแรก ๆ ที่เด่น ๆ ของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก” หน้า 383.
b ข้อความในพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ) โดยเคิร์ตและบาร์บารา อะลันด์ แปลโดย อี. เอฟ. โรดส์ 1987 หน้า 97, 99.