“จงเอาใจใส่ . . . ในการสอน”
“พวกเจ้าเรียกเราว่า ‘อาจารย์’ และ ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ พวกเจ้าเรียกถูกแล้ว เพราะเราเป็นอาจารย์และเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โย. 13:13) โดยตรัสอย่างนั้นกับเหล่าสาวก พระเยซูทรงเน้นบทบาทของพระองค์ในฐานะผู้สอน. ต่อมา ไม่นานก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ทรงมีรับสั่งแก่เหล่าสาวกว่า “ฉะนั้น จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก . . . สอน พวกเขาให้ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เราสั่งพวกเจ้าไว้.” (มัด. 28:19, 20) ในภายหลัง อัครสาวกเปาโลก็เน้นความสำคัญของการเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าด้วย. ท่านเตือนติโมเธียวซึ่งเป็นคริสเตียนผู้ปกครองว่า “จงเอาใจใส่ในการอ่านให้คนอื่นฟัง ในการกระตุ้นเตือน ในการสอน. . . . จงไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ จงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะปรากฏแก่ทุกคน.”—1 ติโม. 4:13-15
ในปัจจุบัน การสอนก็เป็นลักษณะเด่นทั้งในงานรับใช้และในการประชุมคริสเตียนของเราเช่นเดียวกับสมัยศตวรรษแรก. เราจะเอาใจใส่การสอนต่อ ๆ ไปได้อย่างไร และการทำอย่างนั้นจะช่วยเราให้ทำความก้าวหน้าในฐานะผู้สอนพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร?
จงเลียนแบบผู้สอนองค์ยิ่งใหญ่
วิธีสอนของพระเยซูดึงดูดผู้คนมากมายให้ฟังพระองค์. โปรดสังเกตว่าคำตรัสของพระองค์มีผลกระทบอย่างไรต่อผู้ฟังในธรรมศาลาเมืองนาซาเรท. ลูกาผู้เขียนหนังสือกิตติคุณบันทึกไว้ว่า “คนทั้งปวงก็กล่าวชมพระองค์และอัศจรรย์ใจในถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระองค์.” (ลูกา 4:22) เหล่าสาวกของพระเยซูประกาศโดยเลียนแบบอย่างผู้เป็นนายของตน. ที่จริง อัครสาวกเปาโลสนับสนุนเพื่อนคริสเตียนว่า “จงเป็นผู้เลียนแบบข้าพเจ้าเหมือนที่ข้าพเจ้าเป็นผู้เลียนแบบพระคริสต์.” (1 โค. 11:1) ด้วยการเลียนแบบวิธีที่พระเยซูทรงใช้ เปาโลจึงมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งใน ‘การสอนทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.’—กิจ. 20:20
สอน “ที่ตลาด”
ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นในเรื่องความสามารถของเปาโลซึ่งสอนในที่สาธารณะจะพบได้ในกิจการบท 17. ที่นั่น เราอ่านเกี่ยวกับการเยี่ยมเมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ. ไม่ว่าเปาโลจะมองไปที่ใดในเมืองนั้น—ตามถนนและในที่สาธารณะ—มีรูปเคารพเต็มไปหมด. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเปาโลรู้สึกหงุดหงิดอย่างยิ่ง! ถึงกระนั้น ท่านไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ. ท่าน ‘ไปที่ธรรมศาลาและถกกับ . . . คนที่ท่านพบที่ตลาดทุกวัน.’ (กิจ. 17:16, 17) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราจริง ๆ! โดยเข้าหาผู้คนที่มาจากภูมิหลังทุกชนิดด้วยท่าทีที่ไม่ตัดสินผู้อื่น แต่แสดงความนับถือ เราสามารถปูทางไว้เพื่อบางคนจะฟังในภายหลังและหลุดพ้นจากพันธนาการของศาสนาเท็จได้ในที่สุด.—กิจ. 10:34, 35; วิ. 18:4
เปาโลเผชิญหน้ากับหลายคนที่ตลาดซึ่งไม่ตอบรับข่าวสารที่ท่านประกาศ. ในหมู่ผู้ฟังมีพวกนักปรัชญารวมอยู่ด้วย ซึ่งมีทัศนะที่ขัดแย้งกับความจริงที่ท่านกำลังประกาศ. เมื่อมีคนโต้แย้ง เปาโลรับฟังความเห็นของพวกเขา. บางคนเรียกท่านว่า “คนที่จำขี้ปากคนอื่นมาพูด” (ความหมายตรงตัวคือ “คนเก็บเมล็ดพืช”). และบางคนพูดว่า “ดูเหมือนเขาเป็นผู้เผยแพร่พระต่างประเทศ.”—กิจ. 17:18
อย่างไรก็ตาม คำพูดดูหมิ่นของผู้ฟังไม่ได้ทำให้เปาโลท้อใจ. ตรงกันข้าม เมื่อมีคนขอให้อธิบายคำสอนของท่าน เปาโลใช้โอกาสนั้นบรรยายเรื่องที่ลึกซึ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าท่านมีความสามารถในการสอน. (กิจ. 17:19-22; 1 เป. 3:15) ให้เรามาทบทวนคำบรรยายของท่านอย่างละเอียดและดูว่าจะปรับปรุงความสามารถในการสอนของเราได้อย่างไร.
จงหาจุดที่เห็นพ้องกัน
เปาโลกล่าวว่า “ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกท่านดูจะเป็นผู้ที่ยำเกรงพระต่าง ๆ ยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในทุกด้าน. ตัวอย่างเช่น ขณะที่ . . . พวกท่านยกย่องบูชา ข้าพเจ้าเห็นแท่นบูชาแท่นหนึ่งมีคำจารึกว่า ‘แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก.’ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบอกให้พวกท่านรู้จักพระเจ้าองค์นั้นที่พวกท่านยกย่องบูชาทั้งที่ไม่รู้จัก.”—กิจ. 17:22, 23
เปาโลสังเกตทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวท่านอย่างละเอียด ท่านจึงรู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับคนที่ท่านกำลังคุยด้วย. เราเองก็สามารถเรียนรู้บางสิ่งเกี่ยวกับเจ้าของบ้านได้ถ้าเราช่างสังเกต. ตัวอย่างเช่น ของเล่นที่ลานบ้านหรือสัญลักษณ์ที่ประตูบ้านอาจบอกอะไรเราได้หลายอย่าง. ถ้าเราพอจะนึกออกว่าเจ้าของบ้านอาจสนใจในเรื่องใด เราก็สามารถเลือกอย่างรอบคอบไม่เพียงแค่ว่าเราจะพูดอะไร แต่ยังเลือกได้ว่าจะพูดอย่างไรด้วย.—โกโล. 4:6
เปาโลประกาศข่าวสารในแง่บวก. อย่างไรก็ตาม ท่านพบว่า “ความเลื่อมใสในพระเจ้า” ของชาวเอเธนส์ถูกใช้ไปในทางที่ผิด. เปาโลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ได้อย่างไร. (1 โค. 14:8) นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะพูดอย่างชัดเจนและพูดในแง่บวกเมื่อเราประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร!
จงผ่อนหนักผ่อนเบาและไม่ลำเอียง
เปาโลกล่าวต่อไปว่า “พระเจ้าที่ได้สร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก จึงไม่สถิตในวิหารที่สร้างโดยมนุษย์ และพระองค์ไม่จำเป็นต้องรับการปรนนิบัติจากมนุษย์เสมือนว่าพระองค์ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะพระองค์เองเป็นผู้ทรงประทานชีวิต ลมหายใจ และสารพัดสิ่งแก่คนทั้งปวง.”—กิจ. 17:24, 25
ในที่นี้ เปาโลพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อนำความสนใจของผู้ฟังไปยังพระยะโฮวาผู้ประทานชีวิตโดยกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “เจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” นับเป็นสิทธิพิเศษที่จะช่วยคนที่มีหัวใจสุจริตซึ่งมีภูมิหลังทางศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้ตระหนักว่าชีวิตทั้งสิ้นมาจากพระยะโฮวาพระเจ้า!—เพลง. 36:9
จากนั้น เปาโลกล่าวว่า “พระองค์ทรงสร้างคนทุกชาติจากคนคนเดียว . . . พระองค์ทรงกำหนดเวลาและขอบเขตที่อยู่ของมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาแสวงหาพระเจ้า ให้พวกเขาพากเพียรเสาะหาและพบพระองค์ ที่จริง พระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย.”—กิจ. 17:26, 27
วิธีที่เราสอนสามารถบอกให้คนอื่นรู้ว่าพระเจ้าที่เรานมัสการนั้นเป็นพระเจ้าแบบใด. พระยะโฮวาไม่ทรงลำเอียง พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้คนจากทุกชาติ “หาและพบพระองค์.” คล้ายกัน เราพูดกับทุกคนที่เราพบอย่างไม่ลำเอียง. เราพยายามช่วยคนเหล่านั้นที่เชื่อในพระผู้สร้างให้พัฒนาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาได้รับพระพรถาวร. (ยโก. 4:8) แต่เราจะช่วยคนที่สงสัยในเรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้าได้อย่างไร? เราเลียนแบบตัวอย่างของเปาโล. ขอให้สังเกตว่าท่านพูดต่อไปอย่างไร.
“เรามีชีวิตดำรงอยู่ และเคลื่อนไหวได้ก็โดยพระองค์ อย่างที่กวีบางคนในพวกท่านก็กล่าวไว้เช่นกันว่า ‘เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเราทั้งหลายด้วย.’ ฉะนั้น ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเราทั้งหลาย เราทั้งหลายจึงไม่ควรคิดว่าพระเจ้าเป็นเหมือนทอง เงิน หรือก้อนหิน.”—กิจ. 17:28, 29
เพื่อผู้ฟังของท่านจะสนใจและยอมรับสิ่งที่ท่านพูด เปาโลยกบทกวีที่ชาวเอเธนส์รู้จักและยอมรับ. คล้ายกัน เราพยายามหาจุดที่เห็นพ้องกันโดยชักเหตุผลจากสิ่งที่เรารู้ว่าผู้ฟังจะยอมรับ. ตัวอย่างเช่น ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เปาโลใช้ในจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูนั้นน่าเชื่อถือทั้งในสมัยโน้นและในสมัยนี้ ที่ว่า “บ้านทุกหลังย่อมมีผู้สร้าง แต่ผู้ที่สร้างสรรพสิ่งคือพระเจ้า.” (ฮีบรู 3:4) การช่วยให้เจ้าของบ้านเห็นเหตุผลในตัวอย่างเปรียบเทียบง่าย ๆ นี้อาจช่วยพวกเขาให้ยอมรับว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง. ขอให้สังเกตจากคำบรรยายของเปาโลเกี่ยวกับองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของการสอนที่มีประสิทธิภาพ คือการกระตุ้นใจ.
จงเน้นถึงความเร่งด่วน
เปาโลกล่าวว่า “จริงอยู่ พระเจ้าไม่ทรงถือสามนุษย์ในยามที่พวกเขายังเขลาอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ พระองค์ทรงบอกมนุษย์ทุกหนแห่งว่าพวกเขาควรกลับใจทุกคน. เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้เพื่อจะพิพากษาโลกด้วยความชอบธรรมโดยใช้บุรุษผู้หนึ่งซึ่งพระองค์ทรงแต่งตั้ง.”—กิจ. 17:30, 31
การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้ความชั่วมีอยู่ชั่วคราวทำให้เราทุกคนมีโอกาสแสดงให้พระองค์เห็นว่ามีอะไรอยู่ในหัวใจเราอย่างแท้จริง. เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเน้นถึงความเร่งด่วนของยุคสมัยของเราและพูดอย่างมั่นใจเกี่ยวกับพระพรในเรื่องการปกครองของราชอาณาจักร ซึ่งเราจวนจะได้รับอยู่แล้ว.—2 ติโม. 3:1-5
ปฏิกิริยาแตกต่างกัน
“เมื่อคนเหล่านั้นได้ยินเรื่องการปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมา บางคนเยาะเย้ย แต่บางคนบอกว่า ‘พวกเราจะฟังท่านพูดเรื่องนี้อีกคราวหน้า.’ เปาโลจึงไปจากพวกเขา แต่มีบางคนตามเปาโลไปและได้มาเป็นผู้เชื่อถือ.”—กิจ. 17:32-34
บางคนตอบรับเรื่องที่เราสอนทันที ส่วนคนอื่น ๆ อาจขอเวลาก่อนที่จะมั่นใจในการชักเหตุผลของเรา. แต่เมื่อเราอธิบายความจริงอย่างชัดเจนเข้าใจง่ายและช่วยสักคนหนึ่งให้รับความรู้ถ่องแท้ของพระยะโฮวา เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระเจ้าใช้เราให้ชักนำผู้คนให้มาหาพระบุตรของพระองค์!—โย. 6:44
บทเรียนที่เราได้รับ
เมื่อเราใคร่ครวญคำบรรยายของเปาโล เราสามารถเรียนรู้ได้มากเกี่ยวกับวิธีอธิบายความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่น ๆ. ถ้าเรามีสิทธิพิเศษที่จะบรรยายในประชาคม เราอาจพยายามที่จะเลียนแบบเปาโลโดยใช้คำพูดที่ผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งจะช่วยผู้ที่ไม่มีความเชื่อให้เข้าใจและยอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. เราอยากสอนความจริงอย่างชัดเจน แต่เราต้องระวังที่จะไม่ดูถูกความเชื่อของผู้ที่ยังไม่มีความเชื่อซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย. ขณะเดียวกัน ในงานประกาศเราพยายามโน้มน้าวใจผู้ฟังและผ่อนหนักผ่อนเบา. เมื่อทำอย่างนั้น เราทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ให้ ‘เอาใจใส่ในการสอน’ อย่างแท้จริง.
[ภาพหน้า 30]
คำสอนของเปาโลชัดเจน, เข้าใจง่าย, และผ่อนหนักผ่อนเบา
[ภาพหน้า 31]
เราเลียนแบบเปาโลโดยคำนึงถึงความรู้สึกของเจ้าของบ้าน