จงตื่นตัวที่จะให้คำชมเชย
คุณเคยได้ยินใครบ่นไหมว่านายจ้างของเขาไม่ค่อยชมเชยเขาเลย? บางทีคุณเองเคยบ่นอย่างนั้นด้วยไหม? หรือถ้าคุณยังเป็นหนุ่มสาว คุณเคยบ่นอย่างนี้เกี่ยวกับพ่อแม่หรือครูอาจารย์ไหม?
บางครั้งการบ่นในทำนองนี้อาจมีเหตุผล. แต่ตามความเห็นของชาวเยอรมันคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้การอบรมด้านการสร้างแรงจูงใจ เมื่อพนักงานคนหนึ่งบ่น สิ่งที่ทำให้เขาไม่พอใจไม่ใช่เพราะเขาไม่ได้รับคำชมเชย แต่เป็นเพราะเขาไม่ได้รับความสนใจเป็นส่วนตัวจากนายจ้าง. ไม่ว่าจะอย่างไรก็เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างขาดหายไป. ทั้งการชมเชยและความรู้สึกว่าได้รับความสนใจเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการมีสัมพันธภาพที่น่าพอใจกับคนอื่น ๆ.
ในเรื่องการนมัสการก็เช่นกัน. ประชาคมคริสเตียนจำต้องโดดเด่นในเรื่องการให้คำชมเชย, ความอบอุ่น, และความสนใจเป็นส่วนตัวต่อกันและกัน. สมาชิกในประชาคมจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีเช่นนั้นและรักษาไว้ได้โดยทำตามคำชี้แนะในคัมภีร์ไบเบิล. อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประชาคมของเราจะรักกันมากเพียงไร ก็ยังมีสิ่งที่จะปรับปรุงได้เสมอ. โดยคำนึงถึงเรื่องนี้ ให้เราพิจารณาตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสามตัวอย่างในเรื่องการชมเชย คืออะลีฮู ผู้รับใช้พระเจ้าก่อนยุคคริสเตียน, อัครสาวกเปาโล, และพระเยซูคริสต์เอง.
คำแนะนำที่สุภาพและให้ความนับถือ
อะลีฮู ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นญาติห่าง ๆ ของอับราฮาม มีส่วนสำคัญมากทีเดียวในการช่วยโยบให้มีทัศนะที่สมดุลในเรื่องสัมพันธภาพของท่านกับพระเจ้า. อะลีฮูเป็นคนที่สุภาพและให้ความนับถือผู้อื่น. เขาอดทนคอยจนถึงคราวที่ตนจะพูด. และขณะที่เพื่อน ๆ จอมปลอมของโยบพูดถึงแต่ข้อผิดพลาดของท่าน อะลีฮูกลับให้คำแนะนำและไม่รอช้าที่จะให้คำชมเชยแก่โยบเพราะแนวทางชีวิตที่ซื่อตรงของท่าน. เขาทำเช่นนั้นอย่างอบอุ่นและด้วยความรู้สึกสนใจเป็นส่วนตัวอย่างเห็นได้ชัดเสมือนเป็นเพื่อน โดยเรียกชื่อท่านระหว่างการสนทนาซึ่งต่างจากคนอื่น ๆ. เขาขอร้องอย่างสุภาพว่า “ท่านโยบเจ้าข้า, ข้าฯ ขอวิงวอนให้ท่านฟังคำกล่าวของข้าฯ, และสดับฟังคำพูดของข้าฯ ให้ตลอด.” เขาแสดงความเห็นอกเห็นใจโยบด้วยความนับถือ และยอมรับว่า “นี่แหละ, เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า, ข้าฯ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับท่าน; ข้าฯ ก็ถูกทรงสร้างมาด้วยดินดุจกัน.” แล้วเขาก็กล่าวชมท่านโยบว่า “ถ้าท่านมีอะไรจะโต้ตอบข้าพเจ้าก็พูดมาเถิด เพราะข้าพเจ้าชื่นชอบที่ท่านเป็นคนชอบธรรม.”—โยบ 33:1, 6, 32, ล.ม.
การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างสุภาพและอย่างที่แสดงความนับถือ ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการชมเชยพวกเขา. แท้จริงแล้ว เรากำลังบอกเขาว่า ‘ฉันถือว่าคุณคู่ควรที่จะได้รับความสนใจจากฉันและคู่ควรที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยความนับถือ.’ โดยวิธีนี้ เราจะถ่ายทอดความรู้สึกอบอุ่นและแสดงให้เห็นว่าเราสนใจเขาเป็นส่วนตัว.
การเป็นคนสุภาพไม่ได้หมายถึงการทำตามหลักจรรยามารยาทที่ดีเท่านั้น. เพื่อจะเข้าถึงหัวใจผู้อื่น ความสุภาพของเราต้องเป็นแบบที่จริงใจและมาจากหัวใจ. จะต้องเป็นความสุภาพที่แสดงออกถึงความสนใจอย่างแท้จริงและความรัก.
วิธีให้คำชมเชยอย่างมีศิลปะ
อัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นว่าการมีศิลปะมีผลดีอย่างไรเมื่อให้คำชมเชยผู้อื่น. ตัวอย่างเช่น ขณะกำลังประกาศอยู่ในเอเธนส์ระหว่างการเดินทางฐานะมิชชันนารีรอบที่สอง ท่านได้กล่าวปกป้องศาสนาคริสเตียนต่อหน้านักปรัชญาชาวกรีกบางคน. ขอให้สังเกตว่าท่านทำงานมอบหมายที่ยากนี้อย่างมีศิลปะอย่างไร. “นักปราชญ์บางคนในพวกเอปีกูเรียวและในพวกซะโตอิกได้มาพบกับท่าน. บางคนกล่าวว่า, ‘คนเก็บเดนความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้จะใคร่มาพูดอะไรให้เราฟังอีกเล่า.’ บางคนกล่าวว่า, ‘ดูเหมือนเขาเป็นคนนำพระต่างประเทศเข้ามา.’ ” (กิจการ 17:18) แม้จะมีคนพูดเช่นนั้น แต่เปาโลก็ยังรักษาท่าทีที่สงบ และตอบว่า “พวกท่านชาวเอเธนส์ทั้งหลาย จากสิ่งทั้งปวง ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกท่านดูเหมือนเกรงกลัวเหล่าเทพเจ้ายิ่งกว่าคนอื่น.” แทนที่เปาโลจะตำหนิที่พวกเขาไหว้รูปเคารพ ท่านกลับชมเชยที่พวกเขาเป็นคนเลื่อมใสศาสนา.—กิจการ 17:22, ล.ม.
เปาโลเป็นคนเสแสร้งไหม? เปล่าเลย. ท่านทราบว่าไม่ใช่หน้าที่ของท่านที่จะตัดสินผู้ฟังของท่าน ท่านทราบดีว่าตัวท่านเองก็เคยไม่รู้จักความจริงมาก่อน. งานที่ท่านได้รับมอบหมายคือการเสนอข่าวสารจากพระเจ้า ไม่ใช่ตัดสินผู้อื่น. จากประสบการณ์ของท่าน ท่านทราบสิ่งเดียวกับที่พยานพระยะโฮวาหลายคนในทุกวันนี้ได้ทราบ นั่นคือ ในที่สุดบางคนซึ่งเคยปกป้องศาสนาเท็จอย่างจริงใจก็กลายมาเป็นผู้ปกป้องศาสนาแท้ที่แข็งขันที่สุด.
วิธีของเปาโลใช้ได้ผล และก่อผลที่ดีเยี่ยม. “มีลางคนติดตามเปาโลไปและได้เชื่อถือ ในคนเหล่านั้นมีดิโอนุเซียวผู้เป็นคนหนึ่งในกรรมการของศาลากลางบนเขาอาเรียวกับหญิงคนหนึ่งชื่อดะมารี และคนอื่น ๆ ด้วย.” (กิจการ 17:34) ช่างฉลาดสุขุมเพียงไรที่เปาโลชมเชยชาวเอเธนส์สำหรับความเชื่อที่จริงใจของพวกเขา แม้จะเป็นความเชื่อแบบผิด ๆ แทนที่จะตำหนิที่พวกเขาขาดความรู้ถ่องแท้! บ่อยครั้งคนที่ถูกนำไปผิดทางเพราะข้อมูลผิด ๆ เป็นคนที่มีหัวใจดี.
เมื่อเปาโลถูกเรียกไปให้การต่อหน้าเฮโรดอะฆะริปาที่ 2 ท่านก็ใช้วิธีที่มีศิลปะเช่นกัน. เป็นที่รู้กันดีว่าเฮโรดมีสัมพันธ์สวาทกับเบระนิเกพระขนิษฐาของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระคำของพระเจ้าตำหนิอย่างชัดเจน. อย่างไรก็ตาม เปาโลไม่ได้พูดติเตียนเขาแม้แต่คำเดียว. แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านหาทางชมเชยเฮโรดในเรื่องที่เห็นว่ามีเหตุผลที่จะชม. “ท่านกษัตริย์อะฆะริปาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าถือว่าเป็นลาภใหญ่ที่ได้โอกาสแก้คดีต่อพักตร์ท่านวันนี้ ในเรื่องข้อคดีทั้งปวงซึ่งพวกยูดายฟ้องหาข้าพเจ้านั้น เพราะท่านมีความรู้ชำนาญในบรรดาขนบธรรมเนียมและปัญหาต่าง ๆ ของพวกยูดายโดยถ้วนถี่แล้ว.”—กิจการ 26:1-3.
นับว่าฉลาดสุขุมเพียงไรที่เราจะใช้วิธีที่มีศิลปะคล้าย ๆ กันเมื่อเราติดต่อเกี่ยวข้องกับคนอื่น! การชมเชยเพื่อนบ้าน, เพื่อนนักเรียน, หรือเพื่อนร่วมงานสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ที่สงบสุขและเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดี. โดยเข้าถึงหัวใจด้วยการให้คำชมเชยอย่างที่เขาสมควรได้รับ บางครั้งเราอาจกระตุ้นคนที่จริงใจซึ่งเคยหาเหตุผลอย่างผิด ๆ และทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้หันมาทำสิ่งที่ประสานกับความรู้ที่ถูกต้องได้.
ตัวอย่างอันสมบูรณ์ของพระเยซูในการให้คำชมเชย
พระเยซูทรงให้คำชมเชย. ตัวอย่างเช่น หลังจากพระองค์ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์และเสด็จสู่สวรรค์แล้ว พระองค์ได้รับการชี้นำจากพระเจ้าให้ตรัสกับประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อยผ่านทางอัครสาวกโยฮัน. พระองค์ให้คำชมเชยแก่ผู้ที่สมควรได้รับเสมอ. เมื่อตรัสกับประชาคมเอเฟโซส์, เปอร์กาโมส์, และทิอาทิรา พระองค์ทรงใช้คำพูดอย่างนี้: “เรารู้จักกิจการของเจ้ากับทั้งการเหน็ดเหนื่อยและความเพียรของเจ้า, และซึ่งเจ้าทนต่อทุรชนเหล่านั้นไม่ได้,” “เรารู้ว่าเจ้าถือนามของเราไว้มั่น. หาได้ปฏิเสธความเชื่อในเราไม่,” และ “เรารู้จักกิจการของเจ้ากับความรักและความเชื่อและการปรนนิบัติกับความเพียร, และรู้ว่าการเบื้องปลายของเจ้าก็มากกว่าการเบื้องต้น.” แม้แต่ประชาคมซาร์ดิสซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำอย่างหนักแน่น พระเยซูก็ทรงสังเกตดูเป็นรายบุคคลว่ามีใครคู่ควรกับคำชมเชยบ้าง ดังที่ตรัสว่า “แต่มีพวกเจ้าบางคนในเมืองซาร์ดิสที่ไม่ได้ทำเสื้อคลุมของตนให้มีมลทิน และพวกเขาจะเดินไปกับเราโดยสวมเสื้อคลุมสีขาว เพราะพวกเขาคู่ควรจะทำเช่นนั้น.” (วิวรณ์ 2:2, 13, 19; 3:4, ล.ม.) พระเยซูทรงวางแบบอย่างที่ดีเยี่ยมจริง ๆ!
เพื่อจะเลียนแบบพระเยซู เราไม่ควรกล่าวโทษคนทั้งกลุ่มเนื่องจากความผิดพลาดของบางคน หรือให้แต่คำแนะนำตามที่จำเป็นโดยไม่ให้คำชมเชยอย่างเหมาะสม. อย่างไรก็ตาม นับว่าดีที่จะจำไว้เสมอว่า หากเราให้คำชมเฉพาะเมื่อเราต้องการจะให้คำแนะนำเท่านั้น บางครั้งคำชมของเราอาจไม่ได้รับการใส่ใจ. จงให้คำชมเชยอย่างไม่อั้นเมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้! แล้วเมื่อมีความจำเป็นต้องให้คำแนะนำในโอกาสอื่น คำแนะนำนั้นก็จะได้รับการตอบรับด้วยความเต็มใจยิ่งขึ้น.
ผู้ปกครองที่ให้คำชมเชยอย่างเหมาะสม
คอร์เนเลีย สตรีคริสเตียนซึ่งปัจจุบันรับใช้อยู่ที่สำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวาในยุโรป จำได้ว่าเมื่อต้นทศวรรษ 1970 ผู้ดูแลเดินทางที่มาเยี่ยมถามเธอว่าการศึกษาส่วนตัวและการอ่านวารสารของเธอเป็นอย่างไรบ้าง. เธอบอกว่า “ดิฉันรู้สึกอายอยู่เหมือนกัน.” แต่เธอก็ยอมรับกับเขาว่าเธอไม่สามารถจะอ่านเรื่องที่ลงในวารสารได้ทุกบทความ. เธอเล่าว่า “แทนที่จะตำหนิดิฉัน เขากลับชมเชยที่ดิฉันอ่านได้มากเท่าที่ทำอยู่. คำชมของเขาทำให้ดิฉันรู้สึกมีกำลังใจมาก และนับแต่นั้นดิฉันก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะอ่านให้ครบทุกบทความ.”
เรย์ ซึ่งรับใช้อยู่ที่สำนักงานสาขาแห่งหนึ่งในยุโรปนึกถึงตอนที่เขาเป็นไพโอเนียร์วันแรก. ผู้ดูแลผู้เป็นประธานของประชาคมซึ่งทำงานเต็มเวลาและต้องดูแลครอบครัว อีกทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในประชาคม เข้ามาหอประชุมในเย็นวันนั้นและตรงเข้ามาหาเรย์แล้วถามว่า “การเป็นไพโอเนียร์วันแรกเป็นอย่างไรบ้าง?” ตอนนี้ เวลาผ่านมาเกือบ 60 ปีแล้ว แต่เรย์ก็ยังไม่ลืมความใส่ใจที่ผู้ปกครองคนนี้มีต่อเขา.
สองตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งซึ่งก่อผลที่น่าทึ่ง คือคำพูดที่แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่คนอื่นทำ ซึ่งเป็นคำพูดที่จริงใจและเปี่ยมด้วยความรัก ไม่ใช่คำพูดแบบอัตโนมัติ หรือคำยกยอปอปั้นที่ไร้ความหมาย. ในประชาคมคริสเตียน เรามีเหตุผลมากมายที่จะชมเชยเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา. เราอาจชมเชยที่พวกเขามีความปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวา, ให้ความคิดเห็นที่เตรียมอย่างดี, ก้าวหน้าในการเอาชนะความตื่นกลัวเมื่อต้องขึ้นบรรยายหรือทำส่วนบนเวที, มีใจแรงกล้าในงานประกาศและสั่งสอน, และพยายามให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของราชอาณาจักรและเป้าหมายฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก. เมื่อเราให้คำชมเชยแก่ผู้อื่น เราได้รับผลตอบแทนมากมาย. การทำเช่นนั้นทำให้เรามีความสุขและช่วยให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดี.—กิจการ 20:35.
ผู้ปกครองของประชาคมควรชมเชยประชาคมสำหรับการงานที่ได้ทำอย่างขยันขันแข็ง. และเมื่อจำเป็นต้องให้คำแนะนำ พวกเขาจะให้ด้วยความรัก. ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาหลีกเลี่ยงการเป็นห่วงมากเกินไปว่าจะต้องทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์พร้อมจนมองว่าสิ่งใดก็ตามที่ไม่สมบูรณ์พร้อมเป็นความบกพร่องร้ายแรง.
ผู้ปกครองคริสเตียนที่เลียนแบบความกรุณาอย่างที่แสดงความนับถือและความรักของอะลีฮู, วิธีที่มีศิลปะซึ่งเปาโลใช้, และความห่วงใยด้วยความรักของพระเยซูจะเป็นแหล่งแห่งการหนุนใจแท้แก่พวกพี่น้อง. การชมเชยจะหนุนใจคนอื่นให้แสดงคุณลักษณะที่ดีออกมามากขึ้น และจะทำให้มีความสัมพันธ์ที่มีความสุขและราบรื่นระหว่างกัน. เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมา พระองค์คงต้องมีความยินดีมากเพียงไรเมื่อได้ยินพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ตรัสชมเชยพระองค์ว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา, เราชอบใจท่านมาก”! (มาระโก 1:11) ขอให้เราทำให้ใจของพี่น้องมีความยินดีด้วยคำพูดชมเชยที่จริงใจและมีความหมายของเรา.
[ภาพหน้า 15]
วิธีที่มีศิลปะทำให้เปาโลได้รับผลดี วิธีนี้จึงอาจให้ผลดีแก่เราเช่นกัน
[ภาพหน้า 16]
คำชมเชยที่อบอุ่นและจริงใจอาจก่อผลที่น่าทึ่ง