บท 18
‘เสาะหาและพบพระองค์’
เปาโลหาจุดที่ผู้ฟังเห็นด้วยแล้วปรับวิธีประกาศให้เข้ากับผู้ฟัง
จากกิจการ 17:16-34
1-3. (ก) ทำไมอัครสาวกเปาโลถึงรู้สึกไม่สบายใจมากเมื่ออยู่ที่กรุงเอเธนส์? (ข) เราจะเรียนอะไรได้บ้างจากการทบทวนตัวอย่างของเปาโล?
เปาโลรู้สึกไม่สบายใจมากตอนที่อยู่ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่โสกราตีส เพลโต และอริสโตเติลเคยสอน กรุงเอเธนส์เป็นเมืองที่ผู้คนเคร่งศาสนามาก ไม่ว่าจะมองไปที่วิหาร จัตุรัสสาธารณะ และตามถนนต่าง ๆ เปาโลเห็นรูปเคารพจำนวนมาก เพราะชาวเอเธนส์นมัสการเทพเจ้ามากมาย เปาโลรู้ว่าพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้คิดยังไงกับการไหว้รูปเคารพ (อพย. 20:4, 5) อัครสาวกผู้ซื่อสัตย์มีมุมมองเหมือนพระยะโฮวา เขารังเกียจรูปเคารพ!
2 สิ่งที่เห็นตอนเข้าไปในอากอราหรือตลาดทำให้เปาโลตกใจมาก มีรูปปั้นลึงค์ของเทพเจ้าเฮอร์เมสตั้งเรียงอยู่เป็นจำนวนมากตรงมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือใกล้ทางเข้าใหญ่ ในตลาดมีศาลของเทพเจ้าอยู่เต็มไปหมด อัครสาวกผู้มีใจแรงกล้าจะประกาศยังไงกับคนที่ไหว้รูปเคารพมากมายขนาดนั้น? เขาจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและหาจุดที่ผู้ฟังเห็นด้วยได้ไหม? เขาจะประสบผลสำเร็จไหมในการช่วยใครก็ตามที่เสาะหาพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ให้พบพระองค์จริง ๆ?
3 ในกิจการ 17:22-31 เราได้อ่านตัวอย่างที่ดีของเปาโลตอนที่เขาพูดกับพวกที่มีการศึกษาสูงในกรุงเอเธนส์ เขาพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา เข้าใจผู้ฟัง และโน้มน้าวใจพวกเขาได้ ถ้าเราทบทวนตัวอย่างของเปาโล เราก็จะได้เรียนหลายอย่างจากคำพูดของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีหาจุดที่ผู้ฟังเห็นด้วยและวิธีหาเหตุผลกับพวกเขา
สอน “ที่ตลาด” (กิจการ 17:16-21)
4, 5. เปาโลประกาศที่ไหนในกรุงเอเธนส์ และต้องเจอกับผู้ฟังแบบไหน?
4 เปาโลไปที่กรุงเอเธนส์ระหว่างการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่สองประมาณ ค.ศ. 50a ตอนที่คอยสิลาสกับทิโมธีที่เดินทางมาจากเมืองเบโรอา เปาโล “ไปที่ประชุมของชาวยิวแล้วยกเหตุผลคุยกับชาวยิว” เหมือนที่ทำเป็นประจำ เขายังไปบริเวณที่จะเข้าถึงผู้คนที่ไม่ใช่ชาวยิวซึ่งอยู่ในกรุงเอเธนส์ด้วย คือ “ที่ตลาด” หรืออากอรา (กจ. 17:17) อากอราของกรุงเอเธนส์ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ตลาดไม่ใช่แค่สถานที่ซื้อขาย แต่เป็นจัตุรัสสาธารณะประจำเมือง หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า สถานที่นี้เป็น “ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของเมืองนี้” ชาวเอเธนส์ชอบมาชุมนุมกันที่นั่นเพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับความรู้หรือปรัชญาต่าง ๆ
5 ที่ตลาด เปาโลเจอกับคนที่คุยด้วยยาก มีพวกเอปิคิวเรียนกับพวกสโตอิกซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักปรัชญาที่เป็นคู่แข่งกันb พวกเอปิคิวเรียนเชื่อว่าชีวิตเกิดขึ้นโดยบังเอิญ พวกเขามีมุมมองเรื่องชีวิตว่า “ไม่จำเป็นต้องกลัวพระเจ้า ไม่มีความรู้สึกอะไรเมื่อตาย คนเราทำความดีได้ อดทนกับความชั่วได้” พวกสโตอิกเน้นที่เหตุและผล แต่ไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นบุคคล ทั้งพวกเอปิคิวเรียนกับพวกสโตอิกต่างก็ไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายที่เหล่าสาวกของพระคริสต์สอน เห็นได้ชัดว่าหลักปรัชญาของทั้งสองกลุ่มนี้ขัดแย้งกับความจริงอันสูงส่งของศาสนาคริสเตียนแท้ซึ่งเปาโลประกาศ
6, 7.นักปรัชญาชาวกรีกบางคนมีท่าทียังไงกับเรื่องที่เปาโลสอน และเราอาจเจอแบบเดียวกันในทุกวันนี้ยังไง?
6 นักปรัชญาชาวกรีกมีท่าทียังไงกับคำสอนของเปาโล บางคนต่อว่าเปาโลโดยใช้คำที่หมายความว่า “คนที่จำขี้ปากคนอื่นมาพูด” หรือ “พวกเก็บเมล็ดพืช” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กิจการ 17:18) ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งพูดถึงคำภาษากรีกนี้ว่า “เดิมทีคำนี้หมายถึงนกเล็ก ๆ ที่จิกเมล็ดพืช ต่อมาก็นำคำนี้มาใช้เพื่อหมายถึงคนที่เก็บเศษอาหารหรือของอื่น ๆ ที่ทิ้งในตลาด ภายหลังมีการใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยถึงใครก็ตามที่เก็บข้อมูลจากที่ต่าง ๆ ซึ่งตัวเขาเองไม่เข้าใจความรู้นั้นอย่างถูกต้อง” ที่แท้แล้ว นักปรัชญาเหล่านี้กำลังบอกว่าเปาโลเป็นคนโง่ที่เก็บเอาคำพูดฉลาด ๆ ที่คนอื่นพูดมาพูดต่อ แต่ถึงพวกเขาจะเรียกเปาโลอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้เขากลัว
7 ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน ผู้คนมักดูถูกพวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาและดูถูกที่เราเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล ตัวอย่างเช่น ครูบางคนสอนว่าวิวัฒนาการเป็นเรื่องจริงและบอกว่าถ้าคุณเป็นคนฉลาด คุณก็ต้องเชื่อเรื่องนี้ คำพูดแบบนี้แสดงว่าคนที่ไม่เชื่อเรื่องวิวัฒนาการเป็นคนโง่ คนที่มีการศึกษาเหล่านี้อยากให้คนอื่นคิดว่าพวกเราโง่ที่มาสอนคัมภีร์ไบเบิล และให้หลักฐานว่าทำไมต้องเชื่อเรื่องผู้สร้าง แต่เราไม่กลัว เราพูดปกป้องความเชื่อด้วยความมั่นใจว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ฉลาดมาก และพระองค์เป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหมด—วว. 4:11
8. (ก) บางคนที่ได้ยินการประกาศของเปาโลมีท่าทียังไง? (ข) การที่เปาโลถูกพาตัวไปบนเขาอาเรโอปากัสอาจหมายถึงที่ไหน? (ดูเชิงอรรถหน้า 142)
8 คนอื่น ๆ ที่ได้ยินการประกาศของเปาโลที่ตลาดมีท่าทีต่างออกไป พวกเขาพูดกันว่า “ดูเหมือนเขาเป็นคนเผยแพร่พระต่างชาตินะ” (กจ. 17:18) ถ้าเปาโลมาแนะนำพระใหม่ ๆ ให้ชาวเอเธนส์รู้จักจริง ๆ เขาอาจตกอยู่ในอันตราย หลายปีก่อนหน้านี้พวกนักปรัชญาโสกราตีสเคยถูกกล่าวหาคล้าย ๆ กันนี้ พวกเขาถูกพิจารณาคดีและถูกตัดสินประหารชีวิต เลยไม่น่าแปลกใจที่เปาโลถูกพาตัวไปบนเขาอาเรโอปากัสและถูกสั่งให้อธิบายคำสอนที่ฟังดูแปลกสำหรับชาวเอเธนส์c เปาโลจะประกาศยังไงกับคนที่ไม่รู้จักพระคัมภีร์?
“ชาวเอเธนส์ครับ ผมเห็นว่า” (กิจการ 17:22, 23)
9-11. (ก) เปาโลพยายามจะหาจุดที่เห็นพ้องกับผู้ฟังโดยวิธีใด? (ข) เราจะเลียนแบบเปาโลในงานประกาศได้ยังไง?
9 อย่าลืมว่าเปาโลรู้สึกไม่สบายใจมากที่ได้เห็นการไหว้รูปเคารพทั่วทั้งเมือง แต่เขาสงบนิ่ง ไม่ได้ต่อว่าคนที่นมัสการรูปเคารพแรง ๆ เปาโลพยายามโน้มน้าวใจผู้ฟังอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาโดยการหาจุดที่เห็นพ้องกัน เขาเริ่มโดยพูดว่า “ชาวเอเธนส์ครับ ผมเห็นว่าพวกคุณดูเป็นคนเคร่งศาสนาและนับถือพระต่าง ๆ มากกว่าใคร ๆ” (กจ. 17:22) คำพูดแบบนี้เหมือนเปาโลกำลังพูดว่า ‘ผมเห็นว่าพวกคุณเป็นคนเคร่งศาสนามาก’ เปาโลชมเชยพวกเขาอย่างฉลาดที่มีความศรัทธาในศาสนา เขารู้ว่าบางคนที่ถูกความเชื่อเท็จปิดหูปิดตาอาจมีหัวใจตอบรับก็ได้ ถ้าจะว่าไปแล้ว เปาโลรู้ดีว่าครั้งหนึ่งเขาเองก็ “ทำไปโดยไม่รู้และยังไม่มีความเชื่อ”—1 ทธ. 1:13
10 โดยอาศัยจุดที่เห็นพ้องกัน เปาโลพูดต่อไปว่าเขาได้สังเกตเห็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าชาวเอเธนส์เลื่อมใสศาสนาจริง ๆ เขาเห็นแท่นบูชาที่อุทิศ “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” แหล่งอ้างอิงหนึ่งบอกว่า “เป็นธรรมเนียมที่ชาวกรีกและคนอื่น ๆ จะอุทิศแท่นบูชาให้กับ ‘พระเจ้าที่ไม่รู้จัก’ เพราะกลัวว่าพวกเขาอาจลืมนมัสการพระบางองค์ไปซึ่งอาจทำให้พระเหล่านั้นโกรธเคืองได้” โดยดูจากแท่นบูชาเหล่านั้นชาวเอเธนส์เชื่อว่ามีพระเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จัก เปาโลเลยใช้แท่นบูชานี้แหละเพื่อนำเข้าสู่ข่าวดีที่เขากำลังประกาศอยู่ เขาอธิบายว่า “ผมกำลังพูดถึงพระเจ้าองค์นั้นแหละที่พวกคุณกราบไหว้ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จัก” (กจ. 17:23) เปาโลหาเหตุผลอย่างฉลาดและมีพลัง เขาไม่ได้ประกาศเรื่องพระใหม่ ๆ หรือพระแปลก ๆ เหมือนที่บางคนได้กล่าวหา เขาอธิบายเรื่องพระเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จักซึ่งก็คือพระเจ้าองค์เที่ยงแท้
11 เราจะเลียนแบบเปาโลในงานประกาศได้ยังไง? ถ้าเราเป็นคนชอบสังเกต เราอาจเห็นหลักฐานที่แสดงว่าคนที่เราคุยด้วยศรัทธาในศาสนา เราอาจสังเกตวัตถุสิ่งของทางศาสนาบางอย่างที่เขาใส่หรือที่ตั้งไว้ในบ้านหรือนอกบ้าน เราอาจพูดว่า ‘ผมเห็นว่าคุณเป็นคนเคร่งศาสนา ผมชอบคุยกับคนที่เคร่งศาสนา’ ถ้าเรารู้ว่าคนที่เราคุยด้วยเชื่ออะไรเราก็อาจหาจุดที่เห็นพ้องกันเพื่อคุยต่อไปได้ เราไม่อยากตัดสินคนอื่นล่วงหน้าโดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาของเขา อย่าลืมว่าในหมู่พี่น้องของเราก็มีหลายคนที่เคยเชื่ออย่างจริงใจในคำสอนของศาสนาเท็จ
พระเจ้า “ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย” (กิจการ 17:24-28)
12. เปาโลได้ปรับวิธีพูดยังไงเพื่อให้เข้ากับผู้ฟัง?
12 เปาโลเริ่มคุยเกี่ยวกับเรื่องที่คนฟังเห็นพ้องแล้ว แต่เขายังจะรักษาจุดที่เห็นพ้องนั้นต่อไปตอนที่ประกาศได้ไหม? เนื่องจากรู้ว่าผู้ฟังเคยศึกษาปรัชญากรีกและไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ เปาโลเลยปรับวิธีพูดของเขา อย่างแรก เขาพูดถึงคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิลโดยไม่ได้ยกข้อความจากพระคัมภีร์ขึ้นมาพูดโดยตรง อย่างที่สอง เขารวมตัวเองไว้ในกลุ่มผู้ฟัง โดยใช้คำว่า “เรา” หรือ “พวกเรา” อย่างที่สาม เปาโลได้ยกข้อความจากวรรณคดีกรีกเพื่อแสดงว่าบางเรื่องที่เขาสอนก็มีกล่าวไว้ในข้อเขียนของพวกเขาเอง ตอนนี้ให้เราพิจารณาคำบรรยายที่มีพลังของเปาโล เขาได้ถ่ายทอดความจริงที่สำคัญอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งชาวเอเธนส์ไม่รู้จัก?
13. เปาโลอธิบายยังไงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเอกภพ และคำพูดของเขาแสดงให้เห็นอะไร?
13 พระเจ้าได้สร้างเอกภพ เปาโลบอกว่า “พระองค์เป็นพระเจ้าที่สร้างโลกและทุกสิ่งในโลก พระองค์ไม่ได้อยู่ในวิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะพระองค์เป็นเจ้าของสวรรค์และโลก”d (กจ. 17:24) เอกภพไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ พระเจ้าองค์เที่ยงแท้เป็นผู้สร้างทุกสิ่ง (สด. 146:6) ไม่เหมือนอะทีนาหรือเทพเจ้าอื่น ๆ ที่ต้องอยู่ในวิหาร วิหารจำลอง หรือแท่นบูชา ผู้คนถึงจะมากราบไหว้บูชา พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดไม่ได้อยู่ในวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์ (1 พก. 8:27) สิ่งที่เปาโลพูดแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ยิ่งใหญ่กว่ารูปเคารพที่มีอยู่ตามวิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น—อสย. 40:18-26
14. เปาโลแสดงให้เห็นยังไงว่าพระเจ้าไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์ช่วย?
14 พระเจ้าไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์ช่วย พวกที่ไหว้รูปเคารพเคยชินกับการเอาเสื้อผ้าที่หรูหรามาใส่ให้รูปเคารพ เอาของราคาแพงมาถวาย เอาอาหารและเครื่องดื่มมาให้ พวกเขาคิดว่ารูปเคารพต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่นักปรัชญากรีกบางคนในหมู่ผู้ฟังเปาโลอาจเชื่อว่าเทพเจ้าคงจะไม่จำเป็นต้องได้รับอะไรจากมนุษย์ ถ้าอย่างนั้น พวกเขาคงจะเห็นด้วยกับคำพูดของเปาโลที่ว่า พระเจ้า “ไม่จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์ให้มาคอยรับใช้เหมือนกับว่าพระองค์ขาดอะไรบางอย่าง” ที่จริงไม่มีสิ่งของใด ๆ ที่พระเจ้าต้องการจากมนุษย์ พระองค์ต่างหากที่เป็นผู้ให้สิ่งจำเป็นกับมนุษย์ ซึ่งก็คือ “ชีวิต ลมหายใจ และทุกสิ่งทุกอย่าง” รวมทั้งแสงแดด ฝน และพื้นดินที่เกิดผลอุดมสมบูรณ์ (กจ. 17:25; ปฐก. 2:7) ดังนั้น พระเจ้าซึ่งเป็นผู้ให้จึงไม่ต้องให้มนุษย์ช่วย
15. เปาโลพูดยังไงกับชาวเอเธนส์ที่เชื่อว่าพวกเขาเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่ชาวกรีก และเราได้บทเรียนสำคัญอะไรจากตัวอย่างของเขา?
15 พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ ชาวเอเธนส์เชื่อว่าพวกเขาเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่ชาวกรีก แต่ความหยิ่งในเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ขัดกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล (ฉธบ. 10:17) เปาโลได้พูดเรื่องที่ละเอียดอ่อนนี้อย่างผ่อนหนักผ่อนเบาและมีศิลปะ เมื่อเขาบอกว่า “[พระเจ้า] สร้างคนทุกชาติจากคนคนเดียว” คำพูดของเปาโลคงทำให้ผู้ฟังหยุดคิด (กจ. 17:26) เขาพูดถึงเรื่องราวในปฐมกาลเกี่ยวกับอาดัม บรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (ปฐก. 1:26-28) เนื่องจากมนุษย์ทั้งหมดมีบรรพบุรุษร่วมกัน จึงไม่มีเผ่าพันธุ์หรือเชื้อชาติใดที่เหนือกว่ากัน ผู้ฟังเปาโลทุกคนคงเข้าใจเรื่องนี้แน่ ๆ เราได้บทเรียนสำคัญจากตัวอย่างของเปาโล เราอยากเป็นคนผ่อนหนักผ่อนเบาและมีเหตุผลในงานประกาศ แต่ก็ไม่ต้องการลดความหนักแน่นของความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะให้คนอื่นยอมรับข่าวสารของเรา
16. พระเจ้าผู้สร้างอยากให้มนุษย์ทำอะไร?
16 พระเจ้าต้องการให้มนุษย์ใกล้ชิดพระองค์ ถึงแม้นักปรัชญาในหมู่ผู้ฟังเปาโลได้ถกเถียงกันมานานว่ามนุษย์เกิดมาทำไม แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่มีเหตุผล เปาโลบอกชัดเจนถึงความต้องการของผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งก็คือ “ให้มนุษย์เสาะหาพระองค์ และถ้าเขาพยายามหาจริง ๆ เขาก็จะพบพระองค์ เพราะพระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากเราแต่ละคนเลย” (กจ. 17:27) เป็นไปได้ที่ชาวเอเธนส์จะมารู้จักพระเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จัก เพราะพระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากคนที่ต้องการจะพบพระองค์และเรียนรู้เรื่องพระองค์ (สด. 145:18) สังเกตว่าเปาโลใช้คำว่า “เรา” เพื่อรวมเอาตัวเขาเองอยู่ในหมู่คนที่ต้องการ “เสาะหา” และ “พยายามหาจริง ๆ” ที่จะรู้จักพระเจ้า
17, 18. ทำไมมนุษย์ควรรู้สึกอยากใกล้ชิดกับพระเจ้า และเราจะเรียนอะไรได้จากวิธีที่เปาโลดึงดูดใจผู้ฟัง?
17 มนุษย์ควรรู้สึกอยากใกล้ชิดกับพระเจ้า เปาโลบอกว่า “เรามีชีวิตอยู่และเคลื่อนไหวไปมาได้ก็เพราะพระองค์” ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเปาโลอ้างถึงคำพูดของเอพิเมนิดีส กวีชาวครีตแห่งศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ซึ่งถือเป็น “บุคคลสำคัญในประเพณีทางศาสนาของชาวเอเธนส์” เปาโลให้เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์ควรรู้สึกอยากใกล้ชิดพระเจ้าว่า “กวีบางคนของพวกคุณบอกไว้ว่า ‘พวกเราก็เป็นลูก ๆ ของพระองค์ด้วย’” (กจ. 17:28) มนุษย์ควรรู้สึกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า เนื่องจากพระองค์สร้างมนุษย์คนแรกที่ทุกคนได้สืบเชื้อสายมา ด้วยความสุขุม เปาโลได้ยกข้อความจากบทประพันธ์ภาษากรีกโดยตรงที่ผู้ฟังคงจะยอมรับนับถือเพื่อดึงดูดใจพวกเขาe โดยทำตามตัวอย่างของเปาโล บางครั้งเราอาจยกข้อความจากประวัติศาสตร์ทางโลก สารานุกรม หรือหนังสืออ้างอิงอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาใช้บ้าง ตัวอย่างเช่น ข้อความที่เหมาะสมซึ่งยกมาจากแหล่งที่ได้รับความนับถืออาจช่วยทำให้คนที่ไม่ใช่พยานฯรับรู้ว่ากิจปฏิบัติหรือการฉลองของศาสนาเท็จมีต้นตอมาจากที่ไหน
18 เมื่อบรรยายถึงจุดนี้ เปาโลได้ถ่ายทอดความจริงสำคัญเรื่องพระเจ้าโดยปรับคำพูดของเขาให้เข้ากับผู้ฟังอย่างชำนิชำนาญ อัครสาวกต้องการให้ผู้ฟังชาวเอเธนส์ทำอะไรกับความรู้ที่สำคัญนี้? เปาโลบอกพวกเขาโดยไม่ชักช้าตอนที่บรรยายต่อไป
“มนุษย์ทุกคน . . . ต้องกลับใจ” (กิจการ 17:29-31)
19, 20. (ก) เปาโลพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบายังไงเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลที่จะนมัสการรูปเคารพที่มนุษย์ทำขึ้น? (ข) ผู้ฟังเปาโลจำเป็นต้องลงมือทำอะไร?
19 เปาโลพร้อมจะกระตุ้นผู้ฟังให้ลงมือทำตาม เขาย้อนไปอ้างถึงข้อความจากบทประพันธ์ของชาวกรีกโดยบอกว่า “ในเมื่อพวกเราเป็นลูก ๆ ของพระเจ้า เราก็ไม่ควรคิดว่าพระเจ้าเป็นเหมือนทอง เงิน หรือก้อนหิน หรือเป็นเหมือนอะไรที่แกะสลักขึ้นมาด้วยฝีมือและความคิดของมนุษย์” (กจ. 17:29) ที่จริง ถ้าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์แล้วพระเจ้าจะเป็นเหมือนรูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้นมาได้ยังไง? เปาโลแสดงให้เห็นอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาว่าไม่มีเหตุผลเลยที่จะนมัสการรูปเคารพที่มนุษย์ทำขึ้นมา (สด. 115:4-8; อสย. 44:9-20) การที่เปาโลบอกว่า “เราก็ไม่ควร” คงจะทำให้ผู้ฟังยอมรับคำสอนของเขาได้ง่ายขึ้น
20 อัครสาวกแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ฟังของเขาต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เขาบอกว่า “พระเจ้าไม่ถือสามนุษย์เพราะพวกเขายังไม่รู้ [โดยคิดว่าพระเจ้าจะพอใจมนุษย์ที่นมัสการรูปเคารพ] แต่เดี๋ยวนี้ พระองค์ประกาศให้มนุษย์ทุกคนในทุกหนแห่งรู้ว่าพวกเขาต้องกลับใจ” (กจ. 17:30) ผู้ฟังเปาโลบางคนอาจตกใจมากที่ได้ยินเปาโลบอกให้กลับใจ แต่คำพูดที่มีพลังนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะพระเจ้าและต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาทำ พวกเขาต้องเสาะหาพระเจ้า เรียนรู้ความจริงเรื่องพระองค์ และใช้ชีวิตแบบที่พระเจ้าอยากให้พวกเขาทำ สำหรับชาวเอเธนส์แล้วนี่หมายถึงการยอมรับว่าการไหว้รูปเคารพนั้นเป็นบาปและต้องเลิกทำบาปนั้น
21, 22. เปาโลลงท้ายคำบรรยายของเขาอย่างมีพลังยังไง และคำพูดของเขามีความหมายอะไรสำหรับพวกเราในทุกวันนี้?
21 เปาโลจบคำบรรยายด้วยคำพูดที่มีพลังว่า “[พระเจ้า] กำหนดวันหนึ่งไว้แล้วที่จะให้คนหนึ่งที่พระองค์แต่งตั้งมาพิพากษาโลกด้วยความยุติธรรม สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพราะพระองค์ปลุกคนนั้นให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว” (กจ. 17:31) ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าวันพิพากษาของพระเจ้ากำลังจะมา พวกเขาจึงมีเหตุผลที่จะเสาะหาและพบพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ เปาโลไม่ได้บอกชื่อผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่เขาพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้คนฟังแปลกใจเกี่ยวกับผู้พิพากษาคนนี้ว่า เคยมีชีวิตอยู่และก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่พระเจ้าได้ปลุกท่านผู้นี้ให้ฟื้นขึ้นจากตาย
22 คำลงท้ายที่กระตุ้นใจนี้มีความหมายมากสำหรับพวกเราในทุกวันนี้ เรารู้ว่าผู้พิพากษาที่พระเจ้าแต่งตั้งคือพระเยซูคริสต์ที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว (ยน. 5:22) เรารู้ด้วยว่าวันพิพากษาจะนานหนึ่งพันปีและกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว (วว. 20:4, 6) เราไม่กลัววันพิพากษา เพราะเราเข้าใจว่าวันนั้นคนซื่อสัตย์จะได้รับพรมากมาย ความหวังเรื่องอนาคตที่ยอดเยี่ยมของเราเป็นเรื่องจริงแน่นอนเพราะพระเยซูได้ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว
“บางคน . . . เข้ามาเป็นสาวก” (กิจการ 17:32-34)
23. ผู้คนมีความคิดเห็นแตกต่างกันยังไงเมื่อได้ฟังคำบรรยายของเปาโล?
23 ผู้คนมีความคิดเห็นแตกต่างกันเมื่อได้ฟังคำบรรยายของเปาโล “บางคนเยาะเย้ย” เมื่อได้ยินเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย ส่วนคนอื่น ๆ ก็สุภาพแต่ไม่ได้คิดที่จะกลับใจและเข้ามาเป็นสาวก พวกเขาบอกว่า “พวกเราจะฟังคุณพูดเรื่องนี้อีกทีก็แล้วกัน” (กจ. 17:32) แต่ก็มีบางคนตอบรับ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีบางคนเข้าร่วมกับเปาโลและเข้ามาเป็นสาวก คนหนึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลบนเขาอาเรโอปากัสชื่อดิโอนิสิอัส อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงชื่อดามาริส และยังมีคนอื่น ๆ ด้วย” (กจ. 17:34) ในงานประกาศของเราในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน บางคนอาจเยาะเย้ยเรา บางคนอาจสุภาพแต่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องที่เราพูด แต่เราก็ตื่นเต้นเมื่อมีบางคนตอบรับข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าและเข้ามาเป็นสาวก
24. เราสามารถเรียนอะไรได้จากคำบรรยายของเปาโลตอนที่เขายืนอยู่กลางสภาอาเรโอปากัส?
24 เมื่อเราได้คิดทบทวนเกี่ยวกับคำบรรยายของเปาโล เราได้เรียนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีอธิบายในแบบที่น่าสนใจ และวิธีโน้มน้าวผู้ฟังให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราสอนเป็นความจริง นอกจากนั้น เรายังได้เรียนว่าเราต้องอดทนและหาวิธีที่ดีเพื่อพูดกับบางคนที่จริงใจแต่ยังหลงเชื่อคำสอนผิด ๆ อยู่ และเรายังได้บทเรียนที่สำคัญด้วยคือ เราต้องไม่เปลี่ยนแปลงคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยให้ผู้ฟังสนใจมากขึ้น ถ้าเราเลียนแบบตัวอย่างของเปาโล เราจะประกาศและสอนเก่งขึ้น นอกจากนั้น พี่น้องที่เป็นผู้ดูแลก็จะสอนในประชาคมได้ดีขึ้นด้วย เมื่อทำอย่างนั้น เราก็จะสามารถช่วยคนอื่นให้ ‘เสาะหาและพบพระองค์’—กจ. 17:27
a ดูกรอบ “เอเธนส์—ศูนย์กลางวัฒนธรรมของโลกโบราณ”
b ดูกรอบ “พวกเอปิคิวเรียนกับพวกสโตอิก”
c อาเรโอปากัสตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส เป็นสถานที่ประชุมเก่าแก่ของสภาสำคัญของชาวเอเธนส์ คำ “อาเรโอปากัส” อาจหมายถึงสภานั้น หรือไม่ก็หมายถึงเนินเขาที่นั่น ดังนั้น จึงมีความเห็นที่ต่างกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญว่า เปาโลถูกพาตัวไปที่เนินเขานี้หรือไปใกล้ ๆ หรือไม่ก็ไปยังที่ประชุมของสภาในที่อื่น บางทีอาจเป็นที่อากอราหรือตลาด
d คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “โลก” คือคอสม็อส ชาวกรีกนำมาใช้หมายถึงเอกภพ เป็นไปได้ว่าเปาโลใช้คำนี้เพื่อหาจุดที่เห็นพ้องกับผู้ฟังชาวกรีก
e เปาโลได้ยกมาจากบทกวีทางดาราศาสตร์ชื่อฟีโนมีนา ที่แต่งโดยอะราทุสกวีที่เป็นพวกสโตอิก คำพูดคล้ายกันนี้ยังพบได้ในข้อเขียนอื่น ๆ ที่เป็นภาษากรีก รวมทั้งบทเพลงสรรเสริญแด่ซูส ที่แต่งโดยเคลียนเทสนักเขียนที่เป็นพวกสโตอิกด้วย