บท 19
“ประกาศต่อไปอย่าหยุด”
เปาโลทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่เขาก็ให้งานรับใช้สำคัญที่สุดในชีวิต
จากกิจการ 18:1-22
1-3. ทำไมอัครสาวกเปาโลมาที่เมืองโครินธ์ และมีอะไรบ้างที่เขาอาจกังวล?
ในช่วงท้าย ๆ ของปี ค.ศ. 50 ตอนนั้นอัครสาวกเปาโลอยู่ในเมืองโครินธ์ซึ่งเป็นเมืองที่ร่ำรวยและเป็นศูนย์กลางทางการค้า เมืองนี้มีชาวกรีก ชาวโรมัน และชาวยิวจำนวนมากอาศัยอยู่a เปาโลไม่ได้มาที่เมืองนี้เพื่อซื้อขายสินค้าหรือเพื่อทำงานอาชีพ แต่เหตุผลสำคัญที่เปาโลมาที่โครินธ์ก็เพื่อประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ถึงอย่างนั้น เปาโลก็ต้องมีที่พัก และเขาได้ตั้งใจว่าจะไม่ขอให้พี่น้องคนอื่นมาช่วยเขาทางด้านการเงิน เปาโลไม่อยากให้ใครเข้าใจว่า เพราะเขารับใช้พระเจ้า คนอื่นเลยต้องมาเลี้ยงดูเขา แล้วเปาโลทำยังไง?
2 เปาโลรู้วิธีทำเต็นท์ การทำเต็นท์ไม่ใช่งานง่าย ๆ แต่เขาก็เต็มใจทำงานนี้เพื่อเลี้ยงตัวเอง เปาโลจะหางานทำในเมืองที่ผู้คนพลุกพล่านนี้ได้ไหม? เขาจะหาที่พักที่เหมาะสมได้ไหม? ถึงแม้เปาโลคงจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่เขาก็ไม่ลืมว่างานหลักของเขาคืองานประกาศ
3 ในที่สุด เปาโลได้อยู่ที่เมืองโครินธ์ช่วงหนึ่ง และงานประกาศของเขาที่นั่นก็เกิดผลดีมาก เราเรียนอะไรได้จากสิ่งที่เปาโลทำในเมืองโครินธ์ซึ่งจะช่วยเราให้ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนในเขตงานของเรา?
“พวกเขามีอาชีพเป็นช่างทำเต็นท์เหมือนกัน” (กิจการ 18:1-4)
4, 5. (ก) เปาโลพักที่ไหนตอนที่อยู่ในเมืองโครินธ์ และเขาทำงานอาชีพอะไร? (ข) เปาโลอาจมาเป็นช่างทำเต็นท์ได้ยังไง?
4 หลังจากมาถึงเมืองโครินธ์ระยะหนึ่ง เปาโลได้เจอกับคู่สมรสที่มีน้ำใจชื่ออะควิลลาซึ่งเป็นชาวยิวโดยกำเนิดและปริสสิลลาหรือปริสกาภรรยาของเขา สามีภรรยาคู่นี้ย้ายมาที่โครินธ์เพราะจักรพรรดิคลาวดิอัสสั่ง “ชาวยิวทั้งหมดให้ออกไปจากกรุงโรม” (กจ. 18:1, 2) อะควิลลากับปริสสิลลาไม่ได้แค่ชวนเปาโลให้พักอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังชวนให้มาทำงานด้วยกันด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “แล้ว [เปาโล] พักอยู่ที่บ้านพวกเขาและทำงานด้วยกัน เพราะพวกเขามีอาชีพเป็นช่างทำเต็นท์เหมือนกัน” (กจ. 18:3) เปาโลพักอยู่ที่บ้านของคู่สมรสที่มีน้ำใจนี้ตลอดช่วงที่เขาทำงานประกาศในเมืองโครินธ์ ตอนที่เปาโลพักอยู่กับอะควิลลาและปริสสิลลา เขาอาจได้เขียนจดหมายบางฉบับซึ่งภายหลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลb
5 ถึงแม้เปาโลเคย “เรียนกับกามาลิเอล” แต่เป็นไปได้ยังไงที่เขามีอาชีพเป็นช่างทำเต็นท์ด้วย? (กจ. 22:3) ดูเหมือนว่าชาวยิวในศตวรรษแรกไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่จะสอนวิธีทำงานอาชีพให้กับลูก ๆ ถึงแม้เด็ก ๆ อาจได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว เปาโลมาจากเมืองทาร์ซัสในแคว้นซิลีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องผ้าคีลีเคอุมซึ่งนำไปใช้ทำเต็นท์ เปาโลคงจะฝึกทำงานนี้ช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น คนที่ทำงานนี้ต้องทอผ้าเต็นท์หรือไม่ก็ตัดและเย็บผ้าที่เนื้อหยาบและแข็งซึ่งไม่ใช่งานง่าย ๆ
6, 7. (ก) เปาโลมองงานทำเต็นท์ยังไง และอะไรทำให้เห็นว่าอะควิลลากับปริสสิลลาก็มีความคิดต่องานอาชีพเหมือนกับเปาโล? (ข) คริสเตียนในปัจจุบันทำตามตัวอย่างของเปาโล อะควิลลากับปริสสิลลายังไง?
6 เปาโลไม่ได้มองว่าการทำเต็นท์เป็นงานหลักของเขา เปาโลทำงานนี้เพียงเพื่อจะเลี้ยงตัวเองได้ตอนที่เขาทำงานประกาศข่าวดี “โดยไม่คิดค่าตอบแทน” (2 คร. 11:7) แล้วอะควิลลากับปริสสิลลามองงานอาชีพของพวกเขายังไง? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาก็มีความคิดต่องานอาชีพเหมือนกับเปาโล ที่จริง เมื่อเปาโลออกจากเมืองโครินธ์ในปี ค.ศ. 52 อะควิลลากับปริสสิลลาก็ได้เก็บข้าวของย้ายตามเปาโลไปที่เมืองเอเฟซัสด้วย และมีการใช้บ้านของพวกเขาเป็นสถานที่ประชุมสำหรับประชาคมท้องถิ่น (1 คร. 16:19) ต่อมา พวกเขากลับไปที่กรุงโรม และหลังจากนั้นก็กลับมาที่เมืองเอเฟซัสอีก สามีภรรยาที่กระตือรือร้นคู่นี้ได้ให้รัฐบาลของพระเจ้าอยู่ในอันดับแรกและทุ่มเทตัวในการรับใช้คนอื่น เพราะอย่างนี้ “ทุกประชาคมที่เป็นคนต่างชาติ” จึงรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่ทั้งสองทำ—รม. 16:3-5; 2 ทธ. 4:19
7 คริสเตียนในปัจจุบันก็ทำตามตัวอย่างของเปาโล อะควิลลากับปริสสิลลา ผู้รับใช้ที่มีใจกระตือรือร้นในทุกวันนี้ทำงานหนัก “เพื่อจะไม่เป็นภาระของใคร” (1 ธส. 2:9) น่าชมเชยที่ไพโอเนียร์หลายคนทำงานบางวันต่อสัปดาห์หรือทำงานไม่กี่เดือนต่อปีเพื่อจะหาเลี้ยงตัวเอง พวกเขาให้งานรับใช้เป็นงานที่สำคัญที่สุด และเหมือนกับอะควิลลากับปริสสิลลา ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนที่มีน้ำใจได้เชิญผู้ดูแลหมวดให้มาพักที่บ้าน คนที่ “มีน้ำใจต้อนรับแขก” รู้ดีว่าการทำแบบนี้จะช่วยให้พวกเขาสดชื่นและได้รับกำลังใจ—รม. 12:13
“ชาวเมืองโครินธ์หลายคนได้ . . . เชื่อ” (กิจการ 18:5-8)
8, 9. เปาโลทำยังไงเมื่อเขาประกาศอย่างกระตือรือร้นกับชาวยิวแต่กลับเจอการต่อต้าน และหลังจากนั้นเปาโลไปประกาศที่ไหน?
8 เปาโลทำงานอาชีพแค่เพื่อที่จะหาเลี้ยงตัวเองและทำงานรับใช้ต่อไปได้ เราเห็นว่าเปาโลคิดอย่างนั้นจริง ๆ ตอนที่สิลาสกับทิโมธีเดินทางจากแคว้นมาซิโดเนียมาหาเขาพร้อมกับสิ่งของมากมายที่พี่น้องฝากมาให้ (2 คร. 11:9) เปาโลก็ “ทุ่มเทเวลาในการประกาศคำสอนของพระเจ้า” ทันที (กจ. 18:5) ถึงแม้ว่าเปาโลจะประกาศอย่างกระตือรือร้นกับพวกยิว แต่พวกเขาก็ไม่ฟังและต่อต้านเปาโล พวกเขาไม่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์คือผู้ที่มาช่วยพวกเขาให้รอด เปาโลจึงแสดงให้พวกยิวเห็นว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเกี่ยวกับการตัดสินใจของพวกเขา เปาโลสะบัดเสื้อแล้วพูดกับคนที่ต่อต้านเขาว่า “พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน ผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว ตั้งแต่นี้ไป ผมจะไปหาคนต่างชาติ”—กจ. 18:6; อสค. 3:18, 19
9 แล้วตอนนี้เปาโลจะไปประกาศที่ไหน? ผู้ชายคนหนึ่งชื่อทิทิอัสยุสทัสซึ่งคงจะเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว ยุสทัสมีบ้านอยู่ติดกับที่ประชุมของชาวยิว เขาได้เปิดบ้านให้เปาโลใช้ เปาโลจึงไม่ได้ประกาศในที่ประชุมของชาวยิวอีกต่อไป แต่ไปประกาศที่บ้านของยุสทัส (กจ. 18:7) เปาโลยังคงพักที่บ้านของอะควิลลากับปริสสิลลาตลอดช่วงที่เขาอยู่ในโครินธ์ แต่เปาโลได้ใช้บ้านของยุสทัสเป็นศูนย์กลางในการประกาศ
10. อะไรแสดงให้เห็นว่าเปาโลไม่ได้ตั้งใจจะประกาศกับคนต่างชาติเท่านั้น?
10 การที่เปาโลพูดว่าเขาจะไปหาคนต่างชาติ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลิกประกาศกับคนยิวหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่เต็มใจอยากจะฟัง ตัวอย่างเช่น “คริสปัสซึ่งเป็นหัวหน้าที่ประชุมของชาวยิวกับทุกคนในบ้านของเขาได้มาเป็นสาวกของพระเยซูผู้เป็นนาย” เห็นได้ชัดว่ามีคนยิวหลายคนจากที่ประชุมของชาวยิวได้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีชาวเมืองโครินธ์หลายคนได้ฟังแล้วก็เชื่อและรับบัพติศมา” (กจ. 18:8) ดังนั้น บ้านของทิทิอัสยุสทัสจึงได้กลายมาเป็นที่ประชุมของประชาคมคริสเตียนที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ในโครินธ์ ถ้าลูกาบันทึกเหตุการณ์นี้ตามลำดับเวลาเหมือนกับที่เขาทำมาตลอด การที่คนยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวเหล่านี้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนก็จะต้องเกิดขึ้นหลังจากที่เปาโลสะบัดเสื้อ เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นว่า เปาโลเป็นคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและพร้อมที่จะประกาศกับทุกคนที่สนใจฟัง
11. พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้เลียนแบบเปาโลยังไงตอนที่พยายามประกาศกับผู้คนในคริสต์ศาสนจักร?
11 ในทุกวันนี้ผู้คนหลายที่ทั่วโลกเป็นสมาชิกของโบสถ์ต่าง ๆ ที่อ้างว่าติดตามพระเยซู โบสถ์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของพวกเขามานานหลายปี ทั่วโลก พวกมิชชันนารีของคริสต์ศาสนจักรได้พยายามมากเพื่อทำให้ผู้คนเข้ามาเป็นสมาชิก คล้ายกับชาวยิวในเมืองโครินธ์ในศตวรรษแรก คนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนเหล่านี้สนใจทำตามธรรมเนียมทางศาสนามากกว่าสนใจที่จะใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่ถึงอย่างนั้น พวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาอยากทำเหมือนกับเปาโล โดยพยายามช่วยผู้คนให้เข้าใจสิ่งที่พวกเขาได้อ่านจากคัมภีร์ไบเบิล แม้แต่เมื่อพวกเขาต่อต้านเราหรือผู้นำศาสนาข่มเหงเรา เราก็ไม่หมดหวัง ในกลุ่มคนที่ “มีใจกระตือรือร้นเพื่อพระเจ้า แต่ขาดความรู้ที่ถูกต้อง” ก็อาจมีคนอ่อนน้อมหลายคนที่เราต้องหาให้เจอ—รม. 10:2
“ในเมืองนี้ยังมีคนมากมายที่จะเข้ามาเชื่อ” (กิจการ 18:9-17)
12. เปาโลได้รับคำรับรองอะไรในนิมิต?
12 ถ้าเปาโลสงสัยว่าเขาจะทำงานประกาศต่อไปในเมืองโครินธ์หรือไม่ ในคืนนั้นเขาคงได้รับคำตอบที่ชัดเจน พระเยซูได้มาปรากฏกับเปาโลในนิมิตและบอกว่า “ไม่ต้องกลัวนะ ประกาศต่อไปอย่าหยุด เพราะในเมืองนี้ยังมีคนมากมายที่จะเข้ามาเชื่อ และจะไม่มีใครมาทำร้ายคุณได้ เพราะผมอยู่กับคุณ” (กจ. 18:9, 10) นิมิตนี้ให้กำลังใจมากจริง ๆ! ผู้เป็นนายได้รับรองกับเปาโลว่าจะปกป้องเขาไม่ให้ถูกทำร้าย และยังมีคนอีกมากที่พระเยซูอยากให้เขาประกาศให้ฟัง เปาโลตอบรับยังไง? เราอ่านว่า “เปาโลจึงอยู่ที่นั่น 1 ปี 6 เดือนและสอนคำสอนของพระเจ้าให้คนในเมืองนั้น”—กจ. 18:11
13. เปาโลอาจคิดถึงเหตุการณ์อะไรตอนที่เข้าไปใกล้บัลลังก์พิพากษา แต่มีเหตุผลอะไรที่เปาโลคาดหมายได้ว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดกับเขา?
13 หลังจากใช้เวลาประมาณ 1 ปีในเมืองโครินธ์ มีบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้เปาโลมั่นใจว่าพระเยซูอยู่กับเขาจริง ๆ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ชาวยิวรวมตัวกันต่อต้านเปาโลและเอาตัวเขาไปที่บัลลังก์พิพากษา” ที่เรียกว่า บีมา (กจ. 18:12) บางคนเข้าใจว่าเป็นเวทีที่ยกพื้นสูงทำด้วยหินอ่อนสีฟ้าและสีขาวซึ่งเต็มไปด้วยการแกะสลักตกแต่งอย่างงดงาม บีมาอาจตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของตลาดเมืองโครินธ์ บริเวณที่โล่งซึ่งอยู่ข้างหน้าบีมากว้างใหญ่พอที่ฝูงชนจำนวนมากจะมาชุมนุมกัน การค้นพบทางโบราณคดีช่วยให้รู้ว่าบัลลังก์พิพากษานี้อาจอยู่ห่างเพียงไม่กี่ก้าวจากที่ประชุมของชาวยิว ดังนั้นจึงอยู่ห่างไม่กี่ก้าวจากบ้านของยุสทัสด้วย ตอนที่เปาโลเข้าไปใกล้บีมา เขาอาจคิดถึงสเทเฟนที่ถูกหินขว้างตาย สเทเฟนเป็นคริสเตียนคนแรกที่ถูกฆ่าเพราะความเชื่อ เปาโลซึ่งในตอนนั้นเป็นที่รู้จักกันว่าเซาโลได้เห็นชอบกับ “การฆ่าสเทเฟน” (กจ. 8:1) ตอนนี้เหตุการณ์คล้ายกันจะเกิดขึ้นกับเปาโลไหม? ไม่ เพราะเปาโลได้รับคำสัญญาว่า “จะไม่มีใครมาทำร้ายคุณได้”—กจ. 18:10
14, 15. (ก) พวกยิวได้กล่าวหาเปาโลว่าอะไร และทำไมกัลลิโอจึงยกเลิกการพิจารณาคดี? (ข) เกิดอะไรขึ้นกับโสสเธเนส และต่อมาเขาอาจเปลี่ยนไปยังไง?
14 เกิดอะไรขึ้นเมื่อเปาโลมาถึงบัลลังก์พิพากษา? เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งอยู่ที่นั่นคือข้าหลวงใหญ่แห่งแคว้นอาคายา ข้าหลวงคนนี้ชื่อกัลลิโอ เขาเป็นพี่ชายของเซเนกานักปรัชญาชาวโรมัน พวกยิวได้กล่าวหาเปาโลว่า “คนนี้ชักจูงผู้คนให้นมัสการพระเจ้าในแบบที่ผิดกฎหมาย” (กจ. 18:13) สิ่งที่ชาวยิวพูดทำให้ผู้คนคิดว่า การที่เปาโลได้ทำให้ผู้คนเปลี่ยนศาสนานั้นเป็นการทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กัลลิโอไม่เห็นว่าเปาโลได้ “ทำผิด” และเขาไม่ควรรับโทษเพราะไม่ได้ไปก่อ “คดีร้ายแรง” อะไร (กจ. 18:14) กัลลิโอไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการโต้แย้งกันของพวกยิว เปาโลยังไม่ทันได้พูดแม้แต่คำเดียวเพื่อปกป้องตัวเอง กัลลิโอก็ยกเลิกการพิจารณาคดี พวกผู้กล่าวหาเป็นเดือดเป็นแค้น พวกเขาระบายความโกรธใส่โสสเธเนสซึ่งอาจมาทำหน้าที่แทนคริสปัสซึ่งเป็นหัวหน้าที่ประชุมชาวยิว พวกเขาจับโสสเธเนสมา “เฆี่ยนที่หน้าบัลลังก์พิพากษา”—กจ. 18:17
15 ทำไมกัลลิโอถึงไม่ห้ามฝูงชนไม่ให้เฆี่ยนโสสเธเนส? กัลลิโออาจคิดว่าโสสเธเนสเป็นคนนำฝูงชนให้ลุกขึ้นต่อต้านเปาโล และสมควรถูกลงโทษ บางทีเหตุการณ์นั้นอาจส่งผลดีก็ได้ ในจดหมายฉบับแรกถึงประชาคมโครินธ์ซึ่งเขียนในหลายปีต่อมา เปาโลได้กล่าวถึงคนชื่อโสสเธเนสว่าเป็นพี่น้อง (1 คร. 1:1, 2) นี่เป็นคนเดียวกันกับโสสเธเนสที่ถูกเฆี่ยนในเมืองโครินธ์ไหม? ถ้าใช่ ประสบการณ์อันเจ็บปวดอาจช่วยโสสเธเนสให้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน
16. คำพูดของพระเยซูผู้เป็นนายที่ว่า “ประกาศต่อไปอย่าหยุด . . . เพราะผมอยู่กับคุณ” มีผลยังไงต่องานประกาศของเรา?
16 ขอให้จำไว้ว่า หลังจากที่ชาวยิวไม่ยอมรับข่าวสารที่เปาโลประกาศ พระเยซูได้รับรองกับเปาโลว่า “ไม่ต้องกลัวนะ ประกาศต่อไปอย่าหยุด . . . เพราะผมอยู่กับคุณ” (กจ. 18:9, 10) เราก็ควรจำคำพูดนี้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบางคนปฏิเสธข่าวสารที่เราประกาศ ขออย่าลืมว่าพระยะโฮวาอ่านหัวใจคนได้ และพระองค์เป็นผู้ชักนำคนที่จริงใจให้มาหาพระองค์ (1 ซม. 16:7; ยน. 6:44) เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เราก็ได้กำลังใจที่จะประกาศต่อ ๆ ไป แต่ละปีมีหลายแสนคนรับบัพติศมา นี่หมายความว่ามีหลายร้อยคนทุกวัน สำหรับทุกคนที่ทำตามคำสั่งของของพระเยซูที่ว่า “ให้พวกคุณไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก” พระเยซูสัญญากับพวกเขาว่า “ผมจะอยู่กับพวกคุณเสมอจนถึงสมัยสุดท้ายของโลกนี้”—มธ. 28:19, 20
“ถ้าพระยะโฮวาต้องการ” (กิจการ 18:18-22)
17, 18. เปาโลอาจนึกถึงอะไรตอนที่ลงเรือไปเมืองเอเฟซัส?
17 เราไม่รู้ว่าสิ่งที่กัลลิโอทำช่วยให้ประชาคมคริสเตียนในเมืองโครินธ์มีช่วงเวลาที่สงบสุขหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เปาโลพักอยู่ “อีกหลายวัน” ก่อนลาพี่น้องชาวโครินธ์ และในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 52 เปาโลวางแผนจะลงเรือจากท่าเรือเคนเครียไปแคว้นซีเรีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองโครินธ์ประมาณ 11 กิโลเมตร แต่ก่อนออกจากเคนเครีย เปาโล “ตัดผมสั้นเพราะเคยสาบานไว้กับพระเจ้า”c (กจ. 18:18) หลังจากนั้น เปาโลพาอะควิลลากับปริสสิลลาไปด้วย พวกเขาลงเรือข้ามทะเลอีเจียนไปเมืองเอเฟซัสในเอเชียไมเนอร์
18 ตอนที่เปาโลลงเรือไปจากเคนเครีย เขาคงนึกถึงช่วงเวลาตอนที่อยู่ในเมืองโครินธ์ เปาโลมีความทรงจำที่ดีหลายเรื่องและมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้เขามีความสุข งานประกาศที่นั่นตลอด 18 เดือนเกิดผลดี มีการตั้งประชาคมแรกในเมืองโครินธ์โดยใช้บ้านของยุสทัสเป็นสถานที่ประชุม ในกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือก็มียุสทัส คริสปัสกับครอบครัว และอีกหลายคน พวกพี่น้องใหม่เหล่านี้เป็นที่รักของเปาโล เพราะเปาโลได้ช่วยพวกเขาให้เข้ามาเป็นคริสเตียน เปาโลเขียนถึงพวกเขาในภายหลังโดยบอกว่า พวกเขาเป็นหนังสือแนะนำตัวซึ่งเขียนไว้ในหัวใจของเขา เราก็รักคนเหล่านั้นที่เราได้ช่วยให้เข้ามารับใช้พระเจ้าด้วยกันกับเรา เรามีความสุขจริง ๆ ที่ได้เห็น “หนังสือแนะนำตัว” ที่มีชีวิตอย่างนั้น!—2 คร. 3:1-3
19, 20. เปาโลทำอะไรเมื่อมาถึงเมืองเอเฟซัส และเราเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
19 เมื่อมาถึงเมืองเอเฟซัส เปาโลได้ทำงานต่อไปทันที “เขาเองเข้าไปในที่ประชุมของชาวยิวและยกเหตุผลคุยกับพวกยิว” (กจ. 18:19) ในตอนนั้นเปาโลพักอยู่ในเมืองเอเฟซัสแค่ช่วงสั้น ๆ ถึงแม้ถูกขอร้องให้พักอยู่ต่อไปอีก แต่ “เปาโลก็ไม่ยอม” เมื่อลาชาวเมืองเอเฟซัส เขาบอกว่า “ถ้าพระยะโฮวาต้องการ ผมจะกลับมาหาพวกคุณอีก” (กจ. 18:20, 21) เปาโลรู้ดีว่ามีงานประกาศมากมายที่ต้องทำในเมืองเอเฟซัส เขาวางแผนที่จะกลับไปอีก แต่เปาโลเลือกที่จะฝากเรื่องต่าง ๆ ไว้ในมือของพระยะโฮวา นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเราด้วย เราอยากวางแผนชีวิตในแบบที่เราสามารถรับใช้พระยะโฮวาได้อย่างเต็มที่ แต่เราก็ต้องพึ่งการชี้นำจากพระยะโฮวา และทำสิ่งที่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์—ยก. 4:15
20 หลังจากให้อะควิลลากับปริสสิลลาอยู่ที่เมืองเอเฟซัสต่อ เปาโลได้ลงเรือไปเมืองซีซารียา และ “จากนั้นก็ไป” กรุงเยรูซาเล็มและทักทายประชาคมที่นั่น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ. 18:22) ต่อจากนั้น เปาโลก็ไปเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียซึ่งเป็นฐานตอนที่เขาเดินทางประกาศ การเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบที่สองสิ้นสุดลงอย่างดี มีอะไรรอเปาโลอยู่ในการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบสุดท้าย?
c ดูกรอบ “คำสาบานของเปาโล”