พระธรรมเล่มที่ 48—ฆะลาเตีย
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โกรินโธหรืออันติโอเกียในซีเรีย
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 50-52
1. ในพระธรรมฆะลาเตียมีกล่าวถึงประชาคมใดบ้าง และประชาคมเหล่านั้นถูกจัดตั้งขึ้นอย่างไรและเมื่อไร?
ประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตียที่เปาโลกล่าวถึงในฆะลาเตีย 1:2 นั้นดูเหมือนหมายรวมถึงอันทิโอก (อันติโอเกีย) ในปีซิเดีย, อิโกนิอัน, ลุศตรา, และเดระเบ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลต่าง ๆ กันแต่ทุกเมืองล้วนอยู่ในแคว้นฆะลาเตียของโรม. กิจการบท 13 และ 14 บอกเรื่องการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบแรกของเปาโลและบาระนาบาผ่านบริเวณนี้ ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งประชาคมต่าง ๆ ขึ้นในฆะลาเตีย. ประชาคมเหล่านี้ประกอบด้วยชาวยิวกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่ารวมถึงชาวเคลต์หรือกอลด้วย. การเดินทางรอบนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากที่เปาโลเยี่ยมที่กรุงยะรูซาเลมประมาณปี ส.ศ. 46.—กิจการ 12:25.
2. (ก) การเดินทางรอบที่สองของเปาโลในฆะลาเตียก่อผลอะไร แต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? (ข) ระหว่างนั้น เปาโลเดินทางต่อไปอย่างไร?
2 ในปี ส.ศ. 49 เปาโลและซีลาเริ่มออกเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สองเข้าไปในเขตฆะลาเตีย ซึ่งยังผลให้ “ประชาคมทั้งหลาย . . . ได้รับการเสริม . . . ให้มั่นคงอยู่ในความเชื่อ และทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน.” (กิจการ 16:5, ล.ม.; 15:40, 41; 16:1, 2) แต่ที่ตามมาติด ๆ คือผู้สอนเท็จ พวกส่งเสริมลัทธิยูดาย ซึ่งหว่านล้อมบางคนในประชาคมฆะลาเตียให้เชื่อว่าการรับสุหนัตและการปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซนั้นเป็นส่วนสำคัญของศาสนาคริสเตียนแท้. ระหว่างเวลานั้นเปาโลเดินทางผ่านมุเซียเข้าไปในมาซิโดเนียและกรีซ ในที่สุดจึงมาถึงโกรินโธ ซึ่งเป็นที่ที่ท่านใช้เวลาอยู่กับพี่น้องนานกว่า 18 เดือน. ต่อมาในปี ส.ศ. 52 ท่านออกเดินทางไปทางเอเฟโซเพื่อไปยังอันทิโอกในซีเรียซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของท่าน. ท่านมาถึงที่นั่นในปีเดียวกัน.—กิจ. 16:8, 11, 12; 17:15; 18:1, 11, 18-22.
3. พระธรรมฆะลาเตียอาจเขียนจากที่ใดและเมื่อไร?
3 เปาโลเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฆะลาเตียที่ไหนและเมื่อไร? ไม่ต้องสงสัยว่าท่านเขียนจดหมายทันทีที่ได้ข่าวเกี่ยวกับการกระทำของพวกส่งเสริมลัทธิยูดาย. สถานที่เขียนอาจเป็นในโกรินโธ, เอเฟโซ, หรืออันทิโอกในซีเรีย. อาจเป็นช่วงที่ท่านพักอยู่ในเมืองโกรินโธ 18 เดือน คือในปี ส.ศ. 50-52 เนื่องจากมีเวลาที่ข่าวจากฆะลาเตียจะไปถึงท่าน. ไม่น่าจะเป็นเอเฟโซ เพราะท่านพักที่นั่นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้นตอนเดินทางกลับ. อย่างไรก็ตาม ท่าน “อยู่ที่นั่นหน่อยหนึ่ง” คือที่ฐานปฏิบัติการของท่านที่อันติโอเกียในซีเรีย ดูเหมือนเป็นในฤดูร้อนของปี ส.ศ. 52 และเนื่องจากมีการสื่อสารที่สะดวกระหว่างเมืองนี้กับเอเชียไมเนอร์ จึงเป็นไปได้ที่ท่านได้รับรายงานเกี่ยวกับพวกส่งเสริมลัทธิยูดายแล้วเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฆะลาเตียจากอันติโอเกียในซีเรียในช่วงนี้.—กิจ. 18:23.
4. พระธรรมฆะลาเตียเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับฐานะอัครสาวกของเปาโล?
4 จดหมายนี้พรรณนาถึงเปาโลว่าเป็น “อัครสาวก มิใช่มาจากมนุษย์หรือโดยทางมนุษย์ แต่โดยทางพระเยซูคริสต์และพระเจ้าพระบิดา.” อนึ่ง จดหมายนี้ยังเปิดเผยข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับชีวิตและฐานะอัครสาวกของเปาโลซึ่งพิสูจน์ว่า ในฐานะอัครสาวก ท่านทำงานประสานกับอัครสาวกคนอื่น ๆ ในยะรูซาเลม และท่านกระทั่งใช้อำนาจของท่านในการว่ากล่าวแก้ไขเปโตรซึ่งเป็นอัครสาวกอีกคนหนึ่งอีกด้วย.—ฆลา. 1:1, ล.ม., 13-24; 2:1-14.
5. ข้อเท็จจริงอะไรบ้างพิสูจน์ว่าพระธรรมฆะลาเตียเชื่อถือได้และเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์?
5 มีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่พิสูจน์ว่าพระธรรมฆะลาเตียเชื่อถือได้และเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์? มีการกล่าวถึงชื่อพระธรรมนี้ในหนังสือของอิเรแนอุส, เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย, เทอร์ทูลเลียน, และออริเกน. นอกจากนั้น มีพระธรรมนี้รวมอยู่ด้วยในสำเนาต้นฉบับชิ้นสำคัญ ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลดังต่อไปนี้คือ ไซนายติก, อะเล็กซานดริน, วาติกัน หมายเลย 1209, โคเดกซ์ เอแฟรมิ ซีรี เรสคริปทุส, โคเดกซ์ คลาโรมอนทานุส และเชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส หมายเลข 2 (P46). นอกจากนั้น พระธรรมนี้ยังสอดคล้องเต็มที่กับพระธรรมเล่มอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกรวมทั้งพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งพระธรรมนี้อ้างถึงบ่อยครั้ง.
6. (ก) จดหมายถึงคริสเตียนชาวฆะลาเตียยืนยันจุดสำคัญสองจุดอะไร? (ข) มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับการเขียนจดหมายนี้ และจดหมายนี้เน้นอะไร?
6 ในจดหมายที่มีพลังอีกทั้งตรงและแรงซึ่งเปาโลมีไป “ถึงประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตีย” นั้น ท่านพิสูจน์ว่า (1) ท่านเป็นอัครสาวกแท้ (ข้อเท็จจริงที่พวกส่งเสริมลัทธิยูดายพยายามทำให้ไม่น่าเชื่อถือ) และ (2) การประกาศว่าชอบธรรมจะมีขึ้นโดยความเชื่อในพระคริสต์เยซู ไม่ใช่โดยการทำตามพระบัญญัติ และดังนั้น คริสเตียนจึงไม่จำเป็นต้องรับสุหนัต. แม้ว่าตามปกติแล้วเปาโลจะให้เลขานุการเขียนจดหมายของท่าน แต่ท่านเขียนพระธรรมฆะลาเตียเองด้วย ‘อักษรตัวใหญ่ด้วยมือของท่านเอง.’ (6:11, ล.ม.) เนื้อเรื่องในพระธรรมนี้มีความสำคัญยิ่งทั้งต่อเปาโลและคริสเตียนชาวฆะลาเตีย. พระธรรมนี้เน้นความหยั่งรู้ค่าต่อเสรีภาพที่คริสเตียนแท้มีโดยทางพระเยซูคริสต์.
เนื้อเรื่องในฆะลาเตีย
7, 8. (ก) เปาโลชักเหตุผลอะไรเกี่ยวกับข่าวดี? (ข) มีการยืนยันอย่างไรว่าเปาโลเป็นอัครสาวกที่ไปหาพวกที่ไม่ได้รับสุหนัต และท่านแสดงให้เห็นอำนาจของท่านอย่างไรเกี่ยวเนื่องกับเกฟา?
7 เปาโลพิสูจน์ยืนยันฐานะอัครสาวกของท่าน (1:1–2:14). หลังจากทักทายประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตีย เปาโลประหลาดใจที่พวกเขาหันไปหาแหล่งข่าวดีแหล่งอื่นเร็วเหลือเกิน และท่านแถลงอย่างหนักแน่นว่า “แต่ถ้าแม้เราหรือทูตที่ออกมาจากสวรรค์จะประกาศเรื่องหนึ่งเรื่องใดแก่ท่านทั้งหลายว่าเป็นข่าวดีนอกเหนือไปจากที่เราได้ประกาศแก่ท่านแล้วว่าเป็นข่าวดี ให้เขาถูกสาปแช่ง.” ข่าวดีที่ท่านได้ประกาศนั้นไม่ใช่เป็นของมนุษย์ และท่านไม่ได้รับการสอนข่าวดี “เว้นแต่โดยการเปิดเผยจากพระเยซูคริสต์.” ก่อนนั้น ตอนที่เปาโลเป็นผู้สนับสนุนที่มีใจแรงกล้าของลัทธิยูดาย ท่านกดขี่ข่มเหงประชาคมของพระเจ้า แต่แล้วพระเจ้าทรงเรียกท่านโดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับให้มาประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระบุตรของพระองค์แก่นานาชาติ. จนหลังจากที่ท่านเปลี่ยนศาสนาแล้วสามปีท่านจึงขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลม และตอนนั้น ในพวกอัครสาวก ท่านพบเพียงเปโตรเท่านั้น และพบยาโกโบน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย. ประชาคมต่าง ๆ ในยูเดียไม่รู้จักท่านแม้ว่าเคยได้ยินเกี่ยวกับท่านและ “ตั้งต้นถวายเกียรติพระเจ้า” เนื่องด้วยท่านก็ตาม.—1:8, 12, 24, ล.ม.
8 หลังจาก 14 ปีผ่านไป เปาโลขึ้นไปยังยะรูซาเลมอีก และชี้แจงเป็นส่วนตัวในเรื่องข่าวดีที่ท่านประกาศอยู่. ติโตเพื่อนร่วมงานของท่านไม่ถูกเรียกร้องให้รับสุหนัตแม้ว่าเป็นชาวกรีก. เมื่อยาโกโบกับเกฟาและโยฮันเห็นว่าเปาโลได้รับฝากข่าวดีสำหรับคนที่ไม่รับสุหนัต เหมือนที่เปโตรได้รับฝากข่าวดีสำหรับคนที่รับสุหนัต ท่านทั้งสามจึงได้ยื่นมือขวาให้เปาโลและบาระนาบาแสดงถึงการร่วมกันไปหานานาชาติ ในขณะที่พวกท่านเองไปหาคนที่รับสุหนัต. เมื่อเกฟามาที่เมืองอันทิโอกและไม่ได้ประพฤติตรง “ตามความจริงแห่งข่าวดี” ด้วยเกรงพวกที่รับสุหนัต เปาโลจึงว่ากล่าวเกฟาต่อหน้าคนทั้งปวง.—2:14, ล.ม.
9. คริสเตียนได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยอาศัยอะไร?
9 ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยความเชื่อ ไม่ใช่โดยพระบัญญัติ (2:15–3:29). เปาโลอ้างเหตุผลว่า พวกเราซึ่งเป็นชาวยิวทราบว่า “มนุษย์ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมไม่ใช่เนื่องด้วยการทำตามพระบัญญัติ แต่โดยความเชื่อในพระคริสต์เยซูเท่านั้น.” เดี๋ยวนี้ ท่านดำเนินชีวิตร่วมสามัคคีกับพระคริสต์และมีชีวิตอยู่โดยความเชื่อเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. “ถ้าความชอบธรรมเป็นมาโดยพระบัญญัติ พระคริสต์ก็สิ้นพระชนม์โดยไร้ประโยชน์อย่างแท้จริง.”—2:16, 21, ล.ม.
10. อะไรเป็นสิ่งสำคัญเพื่อได้รับพระพรจากพระเจ้า และดังนั้น วัตถุประสงค์ของพระบัญญัติคืออะไร?
10 ชาวฆะลาเตียเป็นคนเขลาถึงขนาดจะเชื่อทีเดียวหรือว่า เมื่อเริ่มต้นด้วยการได้รับพระวิญญาณเนื่องจากความเชื่อแล้ว พวกเขาจะทำให้การรับใช้พระเจ้าถึงที่สำเร็จได้โดยการทำตามพระบัญญัติ? ที่นับว่าสำคัญคือการฟังด้วยความเชื่อ เช่นเดียวกับอับราฮามซึ่ง “ได้เชื่อพระเจ้า, และความเชื่อนั้นทรงถือว่าเป็นความชอบธรรมของท่าน.” บัดนี้ ตามคำสัญญาของพระเจ้า “คนทั้งหลายที่เชื่อจึงได้ความสุขด้วยกันกับอับราฮามผู้ที่ได้เชื่อนั้น.” โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์บนหลัก พวกเขาจึงได้รับการปลดเปลื้องจากความแช่งสาปแห่งพระบัญญัติ. พระคริสต์เป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม และพระบัญญัติซึ่งมีขึ้นเมื่อ 430 ปีให้หลังไม่ได้เพิกถอนคำสัญญาเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์นั้น. ถ้าเช่นนั้น อะไรคือวัตถุประสงค์ของพระบัญญัติ? พระบัญญัติเป็น “ครูสอนซึ่งนำเราให้มาถึงพระคริสต์, เพื่อเราจะได้ความชอบธรรมโดยความเชื่อ.” บัดนี้ เราไม่อยู่ใต้ครูสอนนั้นอีกแล้ว และไม่มีความแตกต่างอะไรระหว่างชาวยิวและชาวกรีก เนื่องจากทุกคนร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซู และ “เป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม, และผู้รับมฤดกตามคำสัญญานั้น.”—3:6, 9, 24, 29.
11. (ก) การปลดปล่อยอะไรที่คริสเตียนชาวฆะลาเตียมองข้าม? (ข) เปาโลยกตัวอย่างเปรียบเทียบเสรีภาพของคริสเตียนอย่างไร?
11 ยืนมั่นในเสรีภาพของคริสเตียน (4:1–6:18). พระเจ้าทรงใช้พระบุตรของพระองค์มาเพื่อปลดปล่อยคนที่อยู่ใต้พระบัญญัติ เพื่อพวกเขา “จะถูกรับเป็นบุตร.” (4:5, ล.ม.) ดังนั้น ไฉนจึงจะกลับไปเป็นทาสของสิ่งพื้นฐานที่อ่อนแอและอนาถาอีก? เนื่องจากคริสเตียนชาวฆะลาเตียมาถือวันและเดือนและฤดูและปี เปาโลจึงเกรงว่างานที่ท่านทำเพื่อพวกเขาจะเสียเปล่า. ตอนที่ท่านมาเยี่ยมพวกเขาครั้งแรก พวกเขาต้อนรับเปาโลเหมือนเป็นทูตสวรรค์ของพระเจ้า. แต่ตอนนี้ท่านกลายเป็นศัตรูของพวกเขาเนื่องจากท่านบอกความจริงกับพวกเขาหรือ? ขอให้คนเหล่านั้นที่อยากอยู่ใต้พระบัญญัติฟังสิ่งที่พระบัญญัติบอกไว้ที่ว่า อับราฮามได้บุตรสองคนจากหญิงสองคน. คนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงรับใช้ชื่อฮาฆารนั้นเล็งถึงยิศราเอลโดยสายเลือด ผูกพันกับพระยะโฮวาโดยสัญญาไมตรีโดยทางพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งสัญญาไมตรีนี้ทำให้มีบุตรสำหรับการเป็นทาส. แต่หญิงที่เป็นไทย คือซารา เล็งถึงยะรูซาเลมเบื้องบน ซึ่งเปาโลบอกว่า “เป็นไทย, คือเป็นมารดาของเราทั้งหลาย.” เปาโลถามว่า “พระคัมภีร์ว่าอย่างไร?” ก็ว่า “บุตรของหญิงทาสีนั้นจะแบ่งมฤดกกับบุตรของหญิงที่เป็นไทยไม่ได้.” และเราไม่ได้เป็นบุตรของหญิงทาสี “แต่เป็นบุตรของหญิงที่เป็นไทย.”—4:30, 31.
12. (ก) บัดนี้คริสเตียนชาวฆะลาเตียต้องดำเนินตามอะไร? (ข) เปาโลให้การเปรียบเทียบที่สำคัญอะไร?
12 เปาโลชี้แจงว่าการรับหรือไม่รับสุหนัตนั้นไม่มีความหมายอะไร แต่ที่นับว่าสำคัญคือความเชื่อซึ่งปฏิบัติงานด้วยความรัก. พระบัญญัติทั้งสิ้นสำเร็จครบถ้วนในถ้อยคำว่า “เจ้าต้องรักเพื่อนบ้านของเจ้าเหมือนตัวเจ้าเอง.” จงดำเนินตามพระวิญญาณต่อ ๆ ไป เพราะ “หากท่านทั้งหลายได้รับการนำโดยพระวิญญาณ ท่านก็ไม่อยู่ใต้พระบัญญัติ.” ในเรื่องการของเนื้อหนัง เปาโลเตือนล่วงหน้าว่า “ผู้ที่ทำการเหล่านี้จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก.” ด้วยการเปรียบเทียบอย่างแจ่มชัด ท่านพรรณนาผลของพระวิญญาณซึ่งไม่มีพระบัญญัติห้ามเลย และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าเรามีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณ ให้เราดำเนินอย่างมีระเบียบต่อไปโดยพระวิญญาณด้วย” และละทิ้งการถือตัวและการอิจฉากัน.—5:14, 18, 21, 25, ล.ม.
13. พระบัญญัติของพระคริสต์สำเร็จอย่างไร และอะไรที่พึงเป็นห่วงอย่างยิ่ง?
13 หากคนใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนเขารู้ตัว ผู้ที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณต้องพยายามช่วยคนนั้นให้คืนสภาพเดิม “ด้วยน้ำใจอ่อนโยน.” คริสเตียนทำให้พระบัญญัติของพระคริสต์สำเร็จด้วยการแบกภาระหนักของกันและกัน แต่ให้ต่างคนต่างแบกภาระของตนด้วยการพิสูจน์ว่าการของตนเป็นเช่นไร. คนเราจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาหว่าน ถ้าไม่ใช่ความเสื่อมเสียจากเนื้อหนังก็เป็นชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณ. ผู้ที่ต้องการให้คริสเตียนชาวฆะลาเตียรับสุหนัตนั้นเพียงแต่อยากทำให้มนุษย์พอใจและหลีกเลี่ยงการถูกข่มเหง. สิ่งที่พึงเป็นห่วงอย่างยิ่งไม่ใช่การรับหรือไม่รับสุหนัต แต่เป็นสิ่งทรงสร้างใหม่ต่างหาก. สันติสุขและความเมตตาจะมีแก่ผู้ที่ดำเนินอย่างเป็นระเบียบตามกฎความประพฤตินี้ คือแก่ “ชาติยิศราเอลของพระเจ้า.”—6:1, 16, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
14. เปาโลวางตัวอย่างอะไรไว้สำหรับผู้ดูแล?
14 จดหมายถึงคริสเตียนชาวฆะลาเตียเผยให้เห็นว่าเปาโลเป็นผู้กดขี่ข่มเหงที่ดุร้ายซึ่งกลายมาเป็นอัครสาวกผู้แข็งขันซึ่งไปยังชาติต่าง ๆ พร้อมจะต่อสู้เสมอเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของพี่น้องของท่าน. (1:13-16, 23; 5:7-12) เปาโลแสดงให้เห็นด้วยตัวอย่างที่ว่า ผู้ดูแลควรดำเนินการโดยเร็วเพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ขจัดการหาเหตุผลผิด ๆ โดยใช้หลักเหตุผลและพระคัมภีร์.—1:6-9; 3:1-6.
15. จดหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาคมฆะลาเตียอย่างไร และจดหมายนี้ให้แนวชี้แนะอะไรแก่คริสเตียนในทุกวันนี้?
15 จดหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตีย โดยพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนถึงเสรีภาพของพวกเขาในพระคริสต์และทำให้ผู้บิดเบือนข่าวดีขายหน้า. จดหมายฉบับนี้ทำให้เห็นชัดว่า คนเราได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยความเชื่อ และที่คนเราจะได้รับความรอดนั้นไม่จำเป็นต้องรับสุหนัตอีกต่อไป. (2:16; 3:8; 5:6) โดยการยกเลิกลักษณะแตกต่างทางเนื้อหนังเช่นนั้น จึงช่วยทำให้ชาวยิวและชนต่างชาติเป็นเอกภาพในประชาคมซึ่งเป็นหนึ่งเดียว. เสรีภาพพ้นจากพระบัญญัติมิใช่เพื่อปลุกเร้าความปรารถนาของเนื้อหนัง เนื่องจากยังคงยึดถือหลักการที่ว่า “เจ้าต้องรักเพื่อนบ้านของเจ้าเหมือนตัวเจ้าเอง.” หลักการข้อนี้ยังคงถือเป็นแนวชี้แนะสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้.—5:14, ล.ม.
16. ในพระธรรมฆะลาเตีย จะพบคำอธิบายอะไรบ้างเกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งเสริมสร้างความเชื่อ?
16 จดหมายของเปาโลช่วยคริสเตียนชาวฆะลาเตียให้เข้าใจจุดสำคัญหลายจุดในหลักคำสอน โดยใช้พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อเป็นตัวอย่างอันมีพลัง. โดยการดลใจ จดหมายนี้แปลความหมายของยะซายา 54:1-6 ซึ่งระบุตัวผู้หญิงของพระยะโฮวาว่าเป็น “ยะรูซาเลมซึ่งอยู่เบื้องบน.” จดหมายนี้อธิบาย “เหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์” ของนางฮาฆารและนางซารา ซึ่งแสดงว่าทายาทตามคำสัญญาของพระเจ้าคือคนที่พระคริสต์ทำให้เป็นอิสระ ไม่ใช่คนที่ยังเป็นทาสพระบัญญัติ. (ฆลา. 4:21-26; เย. 16:1-4, 15; 21:1-3, 8-13) จดหมายนี้อธิบายอย่างชัดเจนว่า สัญญาไมตรีโดยพระบัญญัติหาได้เพิกถอนสัญญาไมตรีที่ทำกับอับราฮามไม่ แต่ถูกเพิ่มเข้ากับสัญญาไมตรีนั้น. นอกจากนั้น จดหมายนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ระยะเวลาระหว่างการทำสัญญาไมตรีทั้งสองนั้นคือ 430 ปี ซึ่งมีความสำคัญในการลำดับเวลาในคัมภีร์ไบเบิล. (ฆลา. 3:17, 18, 23, 24) บันทึกเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อของคริสเตียนทุกวันนี้.
17. (ก) พระธรรมฆะลาเตียให้การระบุตัวที่สำคัญอะไร? (ข) มีคำเตือนสติที่ดีอะไรแก่ทายาทราชอาณาจักรและผู้ทำงานร่วมกับพวกเขา?
17 ที่สำคัญที่สุดคือ พระธรรมฆะลาเตียระบุอย่างไม่ผิดพลาดถึงตัวพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักรซึ่งผู้พยากรณ์ทั้งปวงคอยท่า. “คำสัญญานั้นได้ทรงกล่าวไว้แก่อับราฮามและแก่พงศ์พันธุ์ของท่าน . . . ซึ่งเป็นพระคริสต์.” มีการแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นที่กลายเป็นบุตรของพระเจ้าโดยความเชื่อในพระคริสต์เยซูจะถูกรับเข้ามาในพงศ์พันธุ์นี้. “ถ้าท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์แล้ว, ท่านจึงเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม, และผู้รับมฤดกตามคำสัญญานั้น.” (3:16, 29) ทายาทเหล่านี้แห่งราชอาณาจักรและผู้ที่ทำงานร่วมกับพวกเขาควรใส่ใจในคำเตือนสติอันดีซึ่งมีให้ไว้ในพระธรรมฆะลาเตียที่ว่า ‘จงตั้งมั่นคงในเสรีภาพซึ่งพระคริสต์ทรงทำให้เราเป็นอิสระ!’ ‘อย่าเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม เพราะเราจะเก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควรถ้าเราไม่เลื่อยล้า.’ ‘ให้ทำการดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.’—5:1; 6:9, 10, ล.ม.
18. คำเตือนและคำแนะนำอันทรงพลังอะไรที่ให้ไว้ตอนท้ายพระธรรมฆะลาเตีย?
18 ในตอนท้าย มีคำเตือนอันทรงพลังว่า ผู้ที่ทำการของเนื้อหนัง “จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก.” ฉะนั้น ให้ทุกคนหันหนีจากความโสโครกและการต่อสู้แบบโลกแล้วตั้งใจแน่วแน่จะเกิดผลของพระวิญญาณ คือ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.”—5:19-23, ล.ม.