ใครจะ “รอด”?
“ทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] จะรอด.”—กิจการ 2:21.
1. เหตุใดวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์โลก?
วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 นับเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์โลก. เพราะเหตุใด? เพราะในวันนั้นเองชาติใหม่ชาติหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น. ทีแรก ชาตินี้ไม่ใหญ่มาก—มีเพียงเหล่าสาวก 120 คนของพระเยซูซึ่งชุมนุมกันที่ห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงยะรูซาเลม. แต่ในปัจจุบัน ขณะที่ชาติส่วนใหญ่ที่มีในตอนนั้นถูกลืมไปหมดแล้ว แต่ชาติที่เกิดขึ้นในห้องชั้นบนนั้นยังคงอยู่กับเรา. ข้อเท็จจริงนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เนื่องจากนี่เป็นชาติที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นพยานของพระองค์ต่อมนุษยชาติ.
2. เหตุการณ์อันน่าพิศวงอะไรซึ่งแสดงถึงการกำเนิดชาติใหม่?
2 เมื่อชาติใหม่นั้นเริ่มมีขึ้น เหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้เกิดขึ้นซึ่งทำให้คำพยากรณ์ของโยเอลสำเร็จ. เราอ่านเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่กิจการ 2:2-4 ดังนี้: “ในทันใดนั้นมีเสียงดังมาจากฟ้าเหมือนเสียงพายุกล้าสนั่นก้องทั่วตึกที่เขานั่งกันอยู่นั้น. มีเปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้นปรากฏแก่เขา, แล้วกระจายออกไปอยู่บนเขาสิ้นทุกคน. เขาเหล่านั้นก็ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์, จึงตั้งต้นพูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณได้ทรงโปรดให้พูด.” ด้วยวิธีนี้เอง ชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ 120 คนจึงได้กลายเป็นชาติฝ่ายวิญญาณ สมาชิกกลุ่มแรกของชาติซึ่งในเวลาต่อมาอัครสาวกเปาโลเรียกว่า “พวกยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16.
3. คำพยากรณ์ของโยเอลข้อใดที่สำเร็จเป็นจริงในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33?
3 ฝูงชนมาชุมนุมกันเพื่อพิจารณา “พายุกล้า” และอัครสาวกเปโตรอธิบายแก่พวกเขาว่า คำพยากรณ์ข้อหนึ่งของโยเอลกำลังสำเร็จเป็นจริง. คำพยากรณ์ข้อไหน? เอาละ ให้เรามาฟังคำที่ท่านพูด: “พระเจ้าได้ตรัสว่า, ‘ในเวลาที่สุดเราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราโปรดประทานแก่มนุษย์ทั้งปวง บุตราบุตรีของท่านทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์, คนหนุ่มของท่านจะเห็นนิมิต, และคนแก่จะฝันเห็น ในคราวนั้นเราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราบนทาสาทาสีของเรา, และคนเหล่านั้นจะกล่าวคำพยากรณ์. เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในอากาศเบื้องบน, และนิมิตที่แผ่นดินเบื้องล่าง, เป็นเลือด, ไฟและไอควัน ดวงอาทิตย์จะกลายมืดไป, และดวงจันทร์จะกลับเป็นเลือด, ก่อนถึงวันใหญ่นั้น, คือวันใหญ่ยิ่งของพระเจ้า และจะเป็นเช่นนี้คือทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] จะรอด.’” (กิจการ 2:17-21) ถ้อยคำที่เปโตรยกขึ้นมากล่าวอยู่ในโยเอล 2:28-32 และความสำเร็จเป็นจริงของคำเหล่านี้ย่อมหมายความว่าเวลาสำหรับชาติยิวกำลังจะหมดไป. “วันใหญ่ยิ่งของ [“พระยะโฮวา,” ล.ม.]” เวลาแห่งการสนองโทษต่อชาติยิศราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ใกล้เข้ามา. แต่ใครจะได้รับการช่วยให้รอดหรือเอาตัวรอดได้? และเรื่องนี้เป็นภาพเล็งถึงอะไร?
ความสำเร็จเป็นจริงสองครั้งของคำพยากรณ์
4, 5. โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ที่จะมีมา เปโตรแนะนำอะไร และทำไมคำแนะนำนั้นจึงใช้ได้ไม่เฉพาะในสมัยท่านเท่านั้น?
4 ในปีต่อ ๆ มาหลังปี ส.ศ. 33 ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าเจริญรุ่งเรือง แต่ชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังกลับตกต่ำ. ในปี ส.ศ. 66 ชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังทำสงครามกับโรม. ในปี ส.ศ. 70 ยิศราเอลก็เกือบสิ้นชาติไปจริง ๆ และกรุงยะรูซาเลมพร้อมด้วยพระวิหารของกรุงนั้นถูกเผากลายเป็นเถ้าธุลี. ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 เปโตรได้ให้คำแนะนำที่ดีเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมที่กำลังจะมาถึง. โดยยกคำพูดจากโยเอลขึ้นมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง ท่านกล่าวดังนี้: “ทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] จะรอด.” ชาวยิวแต่ละคนต้องตัดสินใจเป็นส่วนตัวในการร้องออกพระนามของพระยะโฮวา. เรื่องนี้รวมถึงการเอาใจใส่คำแนะเตือนที่เปโตรกล่าวต่ออีก ที่ว่า “จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน, เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย.” (กิจการ 2:38) ผู้ฟังของเปโตรต้องยอมรับพระเยซูในฐานะพระมาซีฮา ผู้ซึ่งชาติยิศราเอลโดยรวมปฏิเสธ.
5 คำพยากรณ์ของโยเอลมีผลกระทบอย่างมากต่อคนที่อ่อนน้อมในศตวรรษแรก. อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้มีผลกระทบมากยิ่งกว่านั้นอีกในปัจจุบัน เพราะดังที่เหตุการณ์ในศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็น ได้มีความสำเร็จเป็นจริงครั้งที่สองตามคำพยากรณ์ของโยเอล. ให้เรามาดูว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.
6. เอกลักษณ์แห่งยิศราเอลของพระเจ้าเริ่มชัดเจนขณะที่ใกล้ถึงปี 1914 อย่างไร?
6 หลังจากที่เหล่าอัครสาวกเสียชีวิต ยิศราเอลของพระเจ้าถูกปกคลุมโดยข้าวละมานแห่งศาสนาคริสเตียนปลอม. แต่ในช่วงอวสานซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1914 เอกลักษณ์ของชาติฝ่ายวิญญาณนี้กลับปรากฏชัดขึ้นมาอีกครั้ง. ทั้งหมดนี้สำเร็จเป็นจริงตามอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องข้าวดีและข้าวละมาน. (มัดธาย 13:24-30, 36-43) ขณะที่ปี 1914 ใกล้เข้ามา คริสเตียนผู้ถูกเจิมเริ่มแยกตัวจากคริสต์ศาสนจักรที่ไม่ซื่อสัตย์ ปฏิเสธหลักคำสอนเท็จอย่างกล้าหาญและประกาศเรื่อง “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลง. (ลูกา 21:24) แต่สงครามโลกครั้งแรกซึ่งระเบิดขึ้นในปี 1914 ทำให้เกิดประเด็นต่าง ๆ ขึ้นซึ่งพวกเขาไม่พร้อมจะรับมือ. เมื่อตกอยู่ใต้ความกดดันอย่างรุนแรง หลายคนเฉื่อยช้าลงและบางคนยอมอะลุ่มอล่วย. พอถึงปี 1918 กิจกรรมการประกาศของพวกเขาก็ยุติลงเกือบสิ้นเชิง.
7. (ก) เหตุการณ์อะไรที่เกิดในปี 1919 ซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33? (ข) เริ่มตั้งแต่ปี 1919 การเทพระวิญญาณของพระเจ้ามีผลอะไรต่อผู้รับใช้ของพระยะโฮวา?
7 อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนั้นไม่ได้มีอยู่นาน. ตั้งแต่ปี 1919 พระยะโฮวาทรงเริ่มเทพระวิญญาณลงบนไพร่พลของพระองค์ในวิธีที่ทำให้นึกถึงวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. แน่นอน ในปี 1919 ไม่มีการพูดภาษาแปลก ๆ และพายุกล้า. เราเข้าใจจากคำพูดของเปาโลดังบันทึกไว้ที่ 1 โกรินโธ 13:8 ว่าเวลาแห่งการสำแดงการอัศจรรย์ผ่านไปนานแล้ว. แต่กระนั้น มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับพระวิญญาณของพระเจ้าในปี 1919 เมื่อคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ได้รับกำลังคืนมาในคราวการประชุมที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และเริ่มงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง. ในปี 1922 พวกเขากลับไปที่ซีดาร์พอยต์อีกและได้รับการกระตุ้นโดยคำวิงวอนที่ว่า “จงโฆษณา, โฆษณา, โฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.” ดังที่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษแรก โลกถูกบังคับให้สังเกตเห็นผลแห่งการเทพระวิญญาณของพระเจ้า. คริสเตียนทุกคนที่อุทิศตัวแล้วทั้งชายและหญิง แก่และหนุ่ม ต่างก็เริ่ม “กล่าวคำพยากรณ์” ซึ่งก็ได้แก่ การประกาศถึง “การอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า.” (กิจการ 2:11) เช่นเดียวกับเปโตร พวกเขากระตุ้นเตือนคนที่อ่อนน้อมดังนี้: “จงเอาตัวรอดจากคนชาติทุจจริตนี้เถิด.” (กิจการ 2:40) คนที่ตอบรับจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? โดยใส่ใจต่อถ้อยคำของโยเอลซึ่งพบที่โยเอล 2:32 ที่ว่า “ทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.”
8. ยิศราเอลของพระเจ้ารุดหน้าไปอย่างไรตั้งแต่ปี 1919?
8 นับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในตอนนั้น งานของยิศราเอลของพระเจ้าได้ก้าวรุดหน้าเรื่อยมา. การประทับตราผู้ถูกเจิมดูเหมือนดำเนินไปมากแล้ว และตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา ชนฝูงใหญ่ซึ่งเป็นคนอ่อนน้อมที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกนี้ได้ปรากฏออกมาให้เห็น. (วิวรณ์ 7:3, 9) ทุกคนรู้สำนึกถึงความเร่งด่วน เพราะความสำเร็จเป็นจริงครั้งที่สองของโยเอล 2:28, 29 แสดงว่าเราอยู่ใกล้วันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นระบบศาสนา, การเมือง, และการค้าของทั้งโลกจะถูกทำลาย. เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะ ‘ออกพระนามพระยะโฮวา’ ด้วยความเชื่อเต็มเปี่ยมว่าพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอด!
เราออกพระนามพระยะโฮวาอย่างไร?
9. มีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา?
9 มีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการร้องออกพระนามพระยะโฮวา? บริบทของโยเอล 2:28, 29 ช่วยเราตอบคำถามนี้. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาไม่ทรงสดับทุกคนที่ร้องเรียกถึงพระองค์. พระยะโฮวาตรัสแก่ยิศราเอลผ่านทางยะซายา ผู้พยากรณ์อีกคนหนึ่งดังนี้: “เมื่อเจ้าทั้งหลายชูมือกางขึ้น, เราจะเมินหน้าเสียจากพวกเจ้า: เออ, เมื่อเจ้าอธิษฐานมากมายหลายหน, เราจะไม่ฟัง.” เหตุใดพระยะโฮวาปฏิเสธที่จะฟังประชาชาติของพระองค์เอง? พระองค์ทรงอธิบายเองดังนี้: “ด้วยมือของพวกเจ้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต.” (ยะซายา 1:15) พระยะโฮวาจะไม่ทรงฟังคนที่มีความผิดฐานทำให้เลือดตกหรือทำบาป. นั่นคือเหตุผลที่เปโตรบอกชาวยิวในวันเพนเตคอสเตให้กลับใจ. ในบริบทของโยเอล 2:28, 29 เราพบว่าโยเอลก็เน้นเรื่องการกลับใจด้วย. ตัวอย่างเช่น ที่โยเอล 2:12, 13 เราอ่านว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘ถึงกระนั้นก็ดี, ท่านทั้งหลายจงหันกลับมาหาเราเดี๋ยวนี้ด้วยความสมัครเต็มใจ, และด้วยการถือพิธีอดอาหารด้วยการคร่ำครวญ และด้วยการเศร้าโศก. จงฉีกใจมิใช่ฉีกเสื้อผ้า, แล้วจงหันกลับมาหาพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน; ด้วยว่าพระองค์ทรงพระกรุณาและเมตตา, ทรงอดกลั้นพระพิโรธไว้ได้ช้านาน, ทรงพระกรุณาธิคุณเหลือล้น.’” โดยเริ่มในปี 1919 คริสเตียนผู้ถูกเจิมลงมือทำตามถ้อยคำเหล่านี้. พวกเขากลับใจจากข้อพลาดผิดของตนและตั้งใจแน่วแน่จะไม่อะลุ่มอล่วยหรือเฉื่อยช้าอีก. การทำเช่นนี้เปิดทางให้พระวิญญาณของพระเจ้าเทลงมา. ทุกคนที่ต้องการร้องออกพระนามของพระยะโฮวาและต้องการให้พระองค์สดับต้องประพฤติในแนวทางเดียวกันนี้.
10. (ก) การกลับใจอย่างแท้จริงคืออย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทรงตอบสนองอย่างไรต่อการกลับใจอย่างแท้จริง?
10 จำไว้ว่า การกลับใจที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า “ผมหรือดิฉันเสียใจ.” ชาวยิศราเอลมักฉีกเสื้อผ้าชั้นนอกของตัวเองเพื่อแสดงความรู้สึกที่แรงกล้าของพวกเขา. แต่พระยะโฮวาตรัสว่า “จงฉีกใจมิใช่ฉีกเสื้อผ้า.” การกลับใจที่แท้จริงมาจากหัวใจ จากส่วนลึกแห่งตัวตนของเรา. การกลับใจหมายรวมถึงการหันหลังให้กับการกระทำผิด ดังเราอ่านที่ยะซายา 55:7 (ล.ม.) ที่ว่า “ให้คนชั่วละแนวทางของตน และให้คนมุ่งร้ายละความคิดของตน; และให้เขากลับมาหาพระยะโฮวา.” การกลับใจหมายรวมถึงการเกลียดบาป แบบเดียวกับที่พระเยซูได้ทรงเกลียด. (เฮ็บราย 1:9) จากนั้น เราไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเราโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ เพราะพระยะโฮวา “ทรงพระกรุณาและเมตตา, ทรงอดกลั้นพระพิโรธไว้ได้ช้านาน, ทรงพระกรุณาธิคุณเหลือล้น.” พระองค์จะทรงยอมรับการนมัสการของเรา เครื่องบูชาธัญญาหารและเครื่องบูชาดื่มฝ่ายวิญญาณของเรา. พระองค์จะสดับเมื่อเราร้องออกพระนามพระองค์.—โยเอล 2:14.
11. การนมัสการแท้ควรมีตำแหน่งเช่นไรในชีวิตของเรา?
11 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูทรงประทานข้อคิดบางอย่างที่เราพึงจำใส่ใจไว้เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) การนมัสการของเราไม่ใช่เรื่องเรื่อย ๆ สบาย ๆ หรือเป็นอะไรบางอย่างที่เราทำพอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้สติรู้สึกผิดชอบรบกวนเรา. การรับใช้พระเจ้าสมควรมาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา. ดังนั้น พระยะโฮวาตรัสต่อไปโดยทางโยเอลดังนี้: “จงเป่าแตรที่ภูเขาซีโอน . . . จงรวบรวมประชาชนและกำหนดเวลาให้เขาประชุมกันทั้งคนแก่เฒ่ากับเด็กและทารกที่ยังไม่ได้หย่านม, ให้เจ้าบ่าวออกมาจากที่อาศัยของตน, และให้เจ้าสาวออกมาจากที่พักพิเศษของเขา.” (โยเอล 2:15, 16) เป็นธรรมดาสำหรับคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่จะพะวักพะวน สนใจแต่คู่ของตัวเอง. ทว่า แม้แต่สำหรับพวกเขา การรับใช้พระยะโฮวาต้องมาเป็นอันดับแรก. ไม่มีสิ่งใดสำคัญกว่าการที่เราได้ถูกรวบรวมเข้ามาหาพระเจ้า และร้องออกพระนามของพระองค์.
12. มีศักยภาพเช่นไรสำหรับการเพิ่มทวีซึ่งเห็นได้จากรายงานการประชุมอนุสรณ์ปีที่แล้ว?
12 โดยคำนึงถึงจุดนี้ ขอให้เราพิจารณาสถิติซึ่งรายงานการรับใช้ของพยานพระยะโฮวาปี 1997 เผยให้เห็น. ปีที่แล้วเรามียอดผู้ประกาศ 5,599,931 คน—นับว่าเป็นชนฝูงใหญ่แห่งผู้สรรเสริญอย่างแท้จริง! ผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์มีทั้งหมด 14,322,226 คน—มากกว่าจำนวนผู้ประกาศประมาณแปดล้านห้าแสนคน. ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพอันน่าทึ่งสำหรับการเพิ่มทวี. หลายคนในแปดล้านห้าแสนคนนี้เป็นผู้สนใจที่กำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาอยู่หรือไม่ก็เป็นบุตรของคนที่รับบัพติสมาแล้ว. มีจำนวนมากที่เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งแรก. การเข้าร่วมของพวกเขาทำให้พยานพระยะโฮวามีโอกาสทำความรู้จักพวกเขาดีขึ้นและเสนอความช่วยเหลือให้เขาทำความก้าวหน้าต่อไป. ทีนี้ ก็ยังมีคนที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์แต่ละปีและบางทีก็เข้าร่วมการประชุมอื่นบ้าง แต่ยังไม่ได้ก้าวหน้ามากไปกว่านี้. แน่นอน เรายินดีต้อนรับคนเหล่านี้อย่างเต็มที่ให้ประชุมด้วยกันกับเรา. แต่เรากระตุ้นเตือนพวกเขาให้ใคร่ครวญอย่างรอบคอบในคำพยากรณ์ของโยเอลและพิจารณาขั้นตอนที่พวกเขาต้องก้าวต่อไปเพื่อจะมั่นใจว่า พระยะโฮวาจะทรงสดับเมื่อพวกเขาร้องออกพระนามของพระองค์.
13. ถ้าเราร้องเรียกพระนามพระยะโฮวาอยู่แล้ว เรามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อผู้อื่น?
13 อัครสาวกเปาโลเน้นอีกแง่มุมหนึ่งของการร้องออกพระนามของพระเจ้า. ในจดหมายของท่านที่เขียนไปถึงพี่น้องในกรุงโรม ท่านยกคำพยากรณ์ของโยเอลขึ้นมากล่าวที่ว่า “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.” จากนั้น ท่านหาเหตุผลดังนี้: “เขาจะร้องเรียกพระองค์ผู้ที่เขายังไม่เชื่ออย่างไรกัน? แล้วเขาจะเชื่อในพระองค์ผู้ที่เขาไม่เคยได้ยินถึงพระองค์อย่างไร? แล้วเขาจะได้ยินอย่างไรเมื่อไม่มีใครประกาศ?” (โรม 10:13, 14, ล.ม.) ใช่แล้ว มีคนอื่นอีกมากมายซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้เรียนรู้จักพระยะโฮวาจำต้องร้องเรียกพระนามของพระองค์. คนที่รู้จักพระยะโฮวาแล้วมีหน้าที่รับผิดชอบไม่เฉพาะแต่การประกาศเท่านั้น แต่รวมถึงการเอื้อมมือออกไปและให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาให้ทำอย่างนั้น.
อุทยานฝ่ายวิญญาณ
14, 15. ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับพระพรแห่งอุทยานเช่นไร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาร้องเรียกพระนามของพระองค์ในแบบที่พระองค์ทรงพอพระทัย?
14 นั่นคือวิธีที่ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นมองดูเรื่องนี้ และผลก็คือพระยะโฮวาทรงอวยพระพรพวกเขา. “พระยะโฮวาก็ได้ทรงฝักใฝ่ต่อแผ่นดินของพระองค์, และทรงเมตตาแก่พลไพร่ของพระองค์.” (โยเอล 2:18) ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงแสดงความกระตือรือร้นและความเมตตาสงสารต่อไพร่พลของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงกอบกู้พวกเขาและนำพวกเขาเข้าสู่ขอบเขตแห่งกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. นี่นับเป็นอุทยานฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง ซึ่งโยเอลพรรณนาเอาไว้อย่างเหมาะเจาะด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้: “โอประเทศ, อย่าวิตกเลย; จงมีความยินดีและชื่นบาน; เพราะพระยะโฮวาได้ทรงกระทำการใหญ่ยิ่งแล้ว. โอ สัตว์เดียรัจฉานในทุ่งนา, อย่ากลัวเลย; ด้วยว่าทุ่งหญ้าในป่าดงกลับเขียวชอุ่มขึ้นแล้ว, และต้นไม้ทั้งหลายต่างก็ออกผล, คือต้นมะเดื่อเทศ และเถาองุ่นต่างก็กำลังออกผล. โอชาวซีโอน, ฉะนั้นจงชื่นชมยินดีในพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า; เพราะว่าพระองค์ได้ประทานฝนต้นฤดูอย่างเต็มขนาด, พระองค์บันดาลให้ฝนตกลงมาสำหรับเจ้า, คือฝนต้นฤดูและปลายฤดูดุจกาลก่อน. ลานนวดข้าวจะเต็มไปด้วยข้าวสาลี, และถังทั้งหลายก็จะเต็มล้นไปด้วยน้ำองุ่นใหม่และน้ำมัน.”—โยเอล 2:21-24.
15 ช่างเป็นภาพที่น่าชื่นใจยินดีจริง ๆ! ผลิตผลหลักสามอย่างที่ผูกอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศยิศราเอลคือธัญพืช, น้ำมันมะกอก, และเหล้าองุ่น จะจัดไว้ให้อย่างอุดมบริบูรณ์ รวมทั้งฝูงปศุสัตว์ด้วย. ในสมัยของเรา คำพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงทางฝ่ายวิญญาณ. พระยะโฮวาทรงประทานอาหารฝ่ายวิญญาณทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องได้รับ. เรายินดีมิใช่หรือในความอุดมสมบูรณ์เช่นนั้นที่พระเจ้าทรงประทานให้? เป็นจริงดังที่มาลาคีบอกล่วงหน้า พระเจ้าของเราได้ทรง ‘เปิดบัญชรท้องฟ้าและเทพรแก่เราจนเกินความต้องการ.’—มาลาคี 3:10.
อวสานของระบบ
16. (ก) การเทพระวิญญาณของพระยะโฮวาบ่งบอกอะไรสำหรับสมัยของเรา? (ข) อนาคตมีอะไรรอท่าอยู่?
16 หลังจากบอกล่วงหน้าถึงสภาพอุทยานแห่งไพร่พลของพระเจ้าเสร็จแล้ว โยเอลได้พยากรณ์เกี่ยวกับการเทพระวิญญาณของพระยะโฮวา. เมื่อเปโตรยกคำพยากรณ์นี้ขึ้นมาในวันเพนเตคอสเต ท่านกล่าวว่าคำพยากรณ์นี้ต้องได้สำเร็จเป็นจริง “ในเวลาที่สุด.” (กิจการ 2:17) การเทพระวิญญาณของพระเจ้าในตอนนั้นหมายความว่า สมัยสุดท้ายได้เริ่มแล้วสำหรับระบบยิว. การเทพระวิญญาณของพระเจ้าลงเหนือยิศราเอลของพระเจ้าในศตวรรษที่ 20 ย่อมหมายความว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายแห่งระบบโลกทั้งสิ้น. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ อนาคตจะเป็นเช่นไร? คำพยากรณ์ของโยเอลบอกเราต่อไปดังนี้: “เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในท้องฟ้าและบนพื้นโลก, คือเป็นเลือด, ไฟ, และควันพลุ่งขึ้นเป็นลำ. ดวงอาทิตย์จะกลับมืดไป, และดวงจันทร์ก็จะกลับเป็นเลือดก่อนที่วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวาจะมาถึง.”—โยเอล 2:30, 31.
17, 18. (ก) วันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาเกิดขึ้นอย่างไรต่อกรุงยะรูซาเลม? (ข) ความแน่นอนแห่งวันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาในอนาคตกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
17 ในปี ส.ศ. 66 คำพยากรณ์เหล่านี้ก็เริ่มเป็นจริงในยูเดีย ขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งสู่จุดสุดยอดแห่งวันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวาในปี ส.ศ. 70. เวลานั้นช่างน่าพรั่นพรึงสักเพียงไรในหมู่คนที่ไม่ได้เชิดชูพระนามพระยะโฮวา! ทุกวันนี้ เหตุการณ์ที่น่ากลัวเช่นเดียวกันนี้รออยู่เบื้องหน้า เมื่อระบบโลกทั้งสิ้นนี้จะถูกทำลายโดยพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. กระนั้น มีทางที่จะรอดได้. คำพยากรณ์กล่าวต่อไปว่า “จะเป็นเช่นนี้, คือทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด; เหตุว่าในภูเขาซีโอนและในกรุงยะรูซาเลมจะมีผู้หนีพ้นภัยได้. ตามที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้แล้ว, และในพวกคนที่เหลืออยู่นั้นก็จะมีผู้เหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงเรียกไว้แล้ว.” (โยเอล 2:32) พยานพระยะโฮวาหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงที่ได้รู้จักพระนามของพระยะโฮวา และพวกเขาวางใจอย่างสุดใจว่า พระองค์จะทรงช่วยพวกเขาให้รอดเมื่อได้ร้องเรียกพระองค์.
18 อย่างไรก็ตาม จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันใหญ่ยิ่งและโดดเด่นของพระยะโฮวามาจู่โจมโลกนี้อย่างรุนแรงเต็มที่? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงเทพระวิญญาณลงบนไพร่พลของพระองค์ครั้งแรกเมื่อไร?
▫ มีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียกพระนามพระยะโฮวา?
▫ วันอันใหญ่ยิ่งและโดดเด่นของพระยะโฮวาเกิดขึ้นกับชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังเมื่อไร?
▫ พระยะโฮวาทรงอวยพระพรอย่างไรแก่คนที่ร้องเรียกพระนามของพระองค์ในทุกวันนี้?
[รูปภาพหน้า 15]
ชาติใหม่ถือกำเนิดในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33
[รูปภาพหน้า 16, 17]
ในตอนต้นศตวรรษนี้ พระยะโฮวาทรงเทพระวิญญาณลงบนไพร่พลของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง สมจริงตามโยเอล 2:28, 29
[รูปภาพหน้า 18]
ผู้คนต้องได้รับการช่วยให้ร้องเรียกพระนามพระยะโฮวา