จงฉายความสว่างของเราออกไปตลอดเวลา
1 ความสว่างคืออะไร? พจนานุกรมนิยามคำนี้ว่าเป็น “สิ่งที่ทำให้การมองเห็นเป็นไปได้.” แต่แท้จริงแล้ว ทั้งที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า มนุษย์ก็ยังคงไม่รู้ถ้วนถี่ถึงคำตอบสำหรับคำถามที่พระยะโฮวาทรงยกขึ้นมา ดังบันทึกไว้ที่โยบ 38:24. เราจะดำเนินการอะไรได้ไหมโดยไม่มีความสว่าง? เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีความสว่าง. ความสว่างสำคัญยิ่งสำหรับการมองเห็น และคัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ในความหมายฝ่ายวิญญาณ “พระเจ้าเป็นความสว่าง.” (1 โย. 1:5) เราต้องพึ่งพาอาศัยอย่างเต็มที่ในพระองค์ผู้ทรง “ประทานความสว่างแก่เรา.”—เพลง. 118:27, ฉบับแปลใหม่.
2 เรื่องนี้เป็นความจริงในความหมายทางกายภาพ แต่เป็นจริงยิ่งกว่าในฝ่ายวิญญาณ. ศาสนาเท็จได้นำผู้คนมากมายไปผิดทาง ละพวกเขาให้อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ “คลำตามกำแพงเหมือนคนตาบอด.” (ยซา. 59:9, 10) ด้วยถูกกระตุ้นพระทัยโดยความรักและความเมตตาสงสาร พระยะโฮวาทรง ‘ใช้ความสว่างและความจริงของพระองค์ออกไป.’ (เพลง. 43:3, ฉบับแปลใหม่) หลายล้านคนที่หยั่งรู้ค่าได้ตอบรับ โดยออกมา “จากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.”—1 เป. 2:9, ล.ม.
3 พระเยซูคริสต์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำแสงสว่างนี้มาสู่โลก. พระองค์ตรัสดังนี้: “เราเข้ามาในโลกในฐานะเป็นความสว่าง เพื่อทุกคนที่วางใจในเราจะมิได้อยู่ในความมืด.” (โย. 12:46, ล.ม.) เวลา, พลัง, และโภคทรัพย์ทั้งสิ้นของพระองค์ถูกมุ่งใช้ไปในการทำให้แสงแห่งความจริงเป็นที่รู้จัก. พระองค์ทรงเดินทางไปทั่วแผ่นดินเกิด ประกาศและสั่งสอนทั่วทุกเมืองและหมู่บ้าน. พระองค์ทรงทนการข่มเหงอย่างไม่ละลดจากทุกด้าน แต่พระองค์มั่นคงในหน้าที่มอบหมายของพระองค์ที่จะเผยแพร่ความสว่างแห่งความจริง.
4 พระเยซูทรงมุ่งเอาใจใส่การเลือก, การฝึก, และการจัดระเบียบเหล่าสาวกของพระองค์ด้วยคำนึงถึงเป้าหมายเฉพาะอย่าง. ที่มัดธาย 5:14-16 เราอ่านคำสั่งที่พระองค์ทรงให้แก่พวกเขาดังนี้: “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก. . . . ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงอย่างนั้น, เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน, แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.” เช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาต้องเป็น “ดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก” โดยกระจายแสงแห่งความจริงออกไปให้กว้างไกล. (ฟิลิป. 2:15) พวกเขารับเอาหน้าที่รับผิดชอบนั้นด้วยความยินดี ถือว่าหน้าที่นั้นเป็นจุดมุ่งหมายอันดับแรกในชีวิต. ไม่นานต่อมา เปาโลสามารถกล่าวได้ว่า ข่าวดี “ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโล. 1:23) ประชาคมคริสเตียนทั้งสิ้นเป็นเอกภาพในการทำให้งานใหญ่นั้นสัมฤทธิผล.
5 พวกเราในทุกวันนี้ควรรู้สึกขอบคุณที่เราได้มาอยู่ท่ามกลางผู้ที่ “เปลื้องการของความมืด” แล้ว. (โรม 13:12, 13) เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าของเราได้โดยการเลียนแบบอย่างที่พระเยซูและคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในอดีตได้วางไว้. ในขณะนี้ ความจำเป็นที่คนอื่น ๆ จะได้ยินได้ฟังความจริงเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์. ไม่มีกิจกรรมอื่นใดจะเทียบกับงานนี้ได้ในเรื่องความเร่งด่วนและผลประโยชน์อันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น.
6 เราจะส่องความสว่างออกไปได้อย่างไรในฐานะดวงสว่าง? วิธีแรกที่จะให้ความสว่างของเราส่องไปคือการร่วมทำงานประกาศราชอาณาจักร. ทุกประชาคมมีการจัดเตรียมที่มีระเบียบเป็นประจำสำหรับการประกาศในเขตที่ประชาคมได้รับมอบหมาย. สรรพหนังสือปริมาณมากมายในหลายหลากรูปแบบและหลายภาษามีไว้พร้อม. การสอนที่ละเอียดกว้างขวางมีจัดเตรียมให้ทางการประชุมต่าง ๆ และมีการให้ความช่วยเหลือในการฝึกคนอื่น ๆ เป็นส่วนตัวโดยผู้มีประสบการณ์. โอกาสจะมีส่วนในการประชุมเปิดให้แก่ชาย, หญิง, ผู้สูงอายุ, และแม้แต่เด็ก ๆ. ทุกคนในประชาคมได้รับเชิญให้มีส่วนไม่ว่าความสามารถและสภาพการณ์ของเขาจะอำนวยให้แค่ไหน. การดำเนินงานทุกอย่างของประชาคมมุ่งสนใจที่การประกาศ พร้อมกับการจัดเตรียมเพื่อช่วยสมาชิกทุกคนให้เข้าร่วมในทางใดทางหนึ่ง. การสมทบกับประชาคมเป็นประจำเป็นวิธีดีที่สุดเพื่อจะแน่ใจว่า ความสว่างของเราส่องออกไปอยู่เสมอ.
7 เราสามารถส่องสว่างได้ด้วยวิธีที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการให้คำพยานด้วยวาจา. เพียงแค่ความประพฤติของเรา เราสามารถดึงดูดความสนใจคนอื่น ๆ ได้. นั่นคือสิ่งที่เปโตรคำนึงถึงเมื่อท่านกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่า . . . เนื่องด้วยการงานที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้า.” (1 เป. 2:12, ล.ม.) หลายคนตัดสินการงานหรือองค์การโดยการประพฤติของผู้ที่สมทบกับองค์การนั้น. เมื่อผู้เฝ้าดูสังเกตผู้คนที่สะอาดทางศีลธรรม, ซื่อสัตย์, สร้างสันติ, และเชื่อฟังกฎหมาย พวกเขามองว่าผู้คนเช่นนั้นแตกต่างออกไปและลงความเห็นว่า พวกเขาดำเนินชีวิตตามมาตรฐานในระดับสูงกว่าที่คนส่วนใหญ่ทำตาม. ดังนั้น ผู้ที่เป็นสามีให้ความสว่างของตนส่องไปเมื่อเขาให้เกียรติและทะนุถนอมภรรยาด้วยท่าทีที่เปี่ยมความรัก ผู้เป็นภรรยาก็ทำเช่นเดียวกันด้วยการให้ความนับถือฐานะเป็นประมุขของสามี. ส่วนลูก ๆ ก็แตกต่างอย่างโดดเด่นเมื่อเขาเชื่อฟังบิดามารดาและหลีกเลี่ยงการผิดศีลธรรมและการใช้ยาเสพย์ติด. ลูกจ้างที่ซื่อตรงต่อการงาน, ซื่อสัตย์, และคำนึงถึงผู้อื่น เป็นผู้ที่ได้รับการเห็นคุณค่ามาก. ด้วยการสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้ของคริสเตียน เรากำลังส่องความสว่างของเราออกไป แนะวิถีชีวิตของเราแก่คนอื่น.
8 การประกาศคือการพูดกับคนอื่นถึงสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้า. งานนี้ทำด้วยการบรรยายจากเวทีหรือการพูดตามบ้าน แต่ก็ไม่จำกัดแค่โอกาสเหล่านั้น. กิจกรรมประจำวันทำให้เราได้พูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก. คุณพูดกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงของคุณกี่ครั้งต่อวัน? มีคนมาเคาะเรียกที่บ้านคุณบ่อยแค่ไหน? คุณติดต่อกับผู้คนต่าง ๆ กันไปมากแค่ไหนเมื่อคุณไปซื้อของ, นั่งรถประจำทาง, หรือทำงานอาชีพ? ถ้าคุณเป็นหนุ่มสาวที่เรียนอยู่ คุณนับจำนวนคนที่คุณพูดด้วยในแต่ละวันได้ไหม? โอกาสจะพูดกับคนอื่นแทบไม่มีขีดจำกัด. ที่คุณต้องทำก็แค่จำข้อคิดตามหลักพระคัมภีร์สักสองสามข้อ, มีคัมภีร์ไบเบิลกับแผ่นพับบางอย่างใกล้ ๆ มือ, และเป็นฝ่ายริเริ่มพูดเมื่อคุณมีโอกาส.
9 ถึงแม้การให้คำพยานเมื่อสบโอกาสเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่บางคนรู้สึกลังเลที่จะลองดู. เขาอาจเป็นคนพูดน้อย ยืนกรานว่าเขาขี้อายเกินไปหรือไม่ก็ประหม่าเกินไปที่จะเข้าพูดกับคนแปลกหน้า. เขาอาจรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะเป็นที่สนใจหรือได้รับการตอบสนองที่หยาบคาย. ผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้คำพยานเมื่อสบโอกาสจะบอกคุณได้ว่า แทบไม่มีกรณีใดที่น่าจะกังวล. โดยพื้นฐานแล้ว คนอื่นก็เหมือนกับเรา, พวกเขามีความจำเป็นเหมือนกัน, รู้สึกเป็นห่วงอย่างเดียวกัน, และต้องการสิ่งเดียวกันเพื่อตนเองและครอบครัว. คนส่วนใหญ่จะตอบรับด้วยท่าทีที่กรุณาต่อรอยยิ้มที่แจ่มใสหรือการทักทายฉันมิตร. เพื่อจะเริ่ม คุณอาจต้อง “มีใจกล้า.” (1 เธ. 2:2) แต่เมื่อคุณเริ่มเสียครั้งหนึ่งแล้ว คุณอาจรู้สึกทึ่งและปลื้มใจกับผลที่เกิด.
10 เราได้รับพระพรเมื่อเราให้ความสว่างของเราส่องออกไป: ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์บางอย่างที่น่าชื่นใจซึ่งเป็นผลเนื่องจากการให้คำพยานเมื่อสบโอกาส: สุภาพสตรีวัย 55 ปีคนหนึ่งกำลังพยายามข้ามถนน. ขณะที่รถยนต์เกือบจะชนเธอนั่นเอง พี่น้องหญิงคว้าแขนเธอไว้และดึงเธอให้พ้นอันตราย บอกเธอว่า “ระวังตัวด้วยนะคะ. เรากำลังอยู่ในยุคที่มีแต่อันตราย!” แล้วเธอก็อธิบายเหตุผลที่สมัยนี้อันตรายมาก. สตรีคนนั้นถามว่า “คุณเป็นพยานพระยะโฮวาใช่ไหม?” เนื่องจากได้รับหนังสือของเราเล่มหนึ่งจากพี่สาวของเธอ สุภาพสตรีคนนี้จึงอยากพบพยานพระยะโฮวา และการเจอกันคราวนี้ทำให้เธอได้พบ.
11 พี่น้องหญิงเริ่มการสนทนากับสตรีผู้หนึ่งในห้องรอตรวจในสำนักงานแพทย์. สตรีผู้นั้นฟังอย่างจดจ่อแล้วบอกว่า “ดิฉันได้เจอพวกพยานพระยะโฮวาหลายครั้งมาแล้วนะ แต่ถ้าสักวันหนึ่งข้างหน้าดิฉันได้เป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งจริง ๆ ละก็ นั่นคงเป็นเพราะสิ่งที่คุณเพิ่งบอกดิฉันนี่แหละ. การได้ฟังคุณเหมือนกับเพิ่งได้เห็นแสงในที่มืด.”
12 การกระทำด้วยความกรุณาอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยคนอื่นเรียนรู้ความจริง. ขณะที่เดินกลับบ้านหลังจากไปประกาศ พี่น้องหญิงสองคนสังเกตเห็นหญิงชราคนหนึ่งซึ่งดูเหมือนไม่สบายตอนที่ลงจากรถโดยสาร. พวกเธอหยุดถามหญิงคนนั้นว่าต้องการความช่วยเหลือไหม. หญิงชรานั้นประหลาดใจที่มีคนที่ไม่รู้จักเลยสองคนมาแสดงความสนใจเธอจนเธออยากรู้ให้ได้ว่า อะไรที่กระตุ้นให้มีท่าทีที่กรุณาอย่างนั้น. ทั้งนี้จึงเปิดโอกาสสำหรับการให้คำพยาน. หญิงชรานั้นเต็มใจให้ที่อยู่ของเธอและเชิญพี่น้องทั้งสองให้ไปเยี่ยมเธอ. การศึกษาได้เริ่มขึ้น. ไม่นานหญิงชราคนนี้เริ่มเข้าร่วมการประชุมและตอนนี้ก็กำลังบอกความจริงกับคนอื่น ๆ.
13 พี่น้องหญิงสูงอายุคนหนึ่งใช้ประโยชน์จากการให้คำพยานตอนเช้าตรู่ตามหาดทรายในท้องถิ่น. เธอพบพวกหญิงรับใช้, พี่เลี้ยงเด็ก, เสมียนธนาคาร, และคนอื่น ๆ ที่เดินเล่นตอนเช้าตามทางเดินริมหาด. เธอนำการศึกษาพระคัมภีร์โดยนั่งบนม้านั่งริมหาด. หลายคนเรียนรู้ความจริงจากเธอและเดี๋ยวนี้เป็นพยานพระยะโฮวา.
14 ณ ที่ทำงานของเธอ พี่น้องหญิงคนหนึ่งได้ยินเพื่อนร่วมงานคุยกันถึงพรรคการเมืองที่เธอเชื่อว่าคงจะแก้ปัญหาของโลกได้. พี่น้องหญิงจึงพูดบ้าง บอกเล่าคำสัญญาในเรื่องที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำ. การพูดคุยกันที่ทำงานนำไปสู่การศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำที่บ้าน และในที่สุด ผู้หญิงคนนั้นกับสามีก็มาเป็นพยานฯ.
15 อย่าลืมว่าคุณเป็นพยานฯ! เมื่อพระเยซูพรรณนาว่าเหล่าสาวกของพระองค์เป็น “ความสว่างของโลก” พระองค์ชี้แจงเหตุผลว่า พวกเขาควรช่วยคนอื่น ๆ ให้รับประโยชน์จากความกระจ่างฝ่ายวิญญาณจากพระคำของพระเจ้า. ถ้าเราทำตามคำแนะนำของพระเยซู เราจะมองงานรับใช้ของเราอย่างไร?
16 เมื่อหางานทำ บางคนเลือกงานทำไม่เต็มเวลา. พวกเขาจำกัดว่าจะใช้เวลาและความพยายามในงานนั้นมากน้อยเท่าใด เพราะพวกเขาอยากใช้เวลาส่วนใหญ่ของตนในการมุ่งทำกิจกรรมที่เขาเห็นว่ามีผลตอบแทนมากกว่า. เรามีทัศนะคล้ายกันนั้นไหมในเรื่องงานรับใช้ของเรา? ถึงแม้ว่าเราอาจรู้สึกว่ามีพันธะและกระทั่งจัดเวลาไว้ต่างหากสำหรับงานรับใช้ ความสนใจอันดับแรก ๆ ของเราควรอยู่ที่อื่นใดไหม?
17 ด้วยตระหนักว่า ไม่มีคริสเตียนบางเวลา เราจึงได้อุทิศตัวเรา ‘ปฏิเสธตัวเราเอง’ และตกลงใจจะติดตามพระเยซู “เรื่อยไป.” (มัด. 16:24, ล.ม.) ความปรารถนาของเราคือที่จะทำ “ด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณ” โดยใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสเพื่อให้ความสว่างของเราส่องออกไปเพื่อจะไปถึงผู้คนไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหน. (โกโล. 3:23, 24) เราต้องต้านทานเจตคติแบบโลก คงความตั้งใจแรงกล้าของเราไว้เหมือนในตอนเริ่มต้น และทำให้แน่ใจว่า ความสว่างของเราฉายออกไปอย่างเจิดจ้า. บางคนอาจปล่อยให้ความกระตือรือร้นแรงกล้าของตนเย็นลงและความสว่างของเขาก็เป็นเพียงแสงรุบรู่ แทบมองไม่เห็นจากระยะใกล้ ๆ. คนเช่นนั้นอาจต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อจะฟื้นความกระตือรือร้นอันแรงกล้าที่หายไปให้คืนมา.
18 บางคนอาจมีแนวโน้มจะรีรอเพราะข่าวสารของเราไม่เป็นที่นิยมชมชอบต่อหลายคน. เปาโลบอกว่า “คนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศ” เห็นข่าวสารเกี่ยวกับพระคริสต์ “เป็นเรื่องโง่.” (1 โก. 1:18) แต่ไม่ว่าคนอื่นจะพูดเช่นไร ท่านแถลงอย่างเข้มแข็งว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้สึกละอายในเรื่องข่าวดี.” (โรม 1:16) คนที่ละอายรู้สึก “ต่ำต้อยหรือไม่มีค่า.” เราจะรู้สึกละอายได้อย่างไรเมื่อเราพูดถึงองค์บรมมหิศรผู้ใหญ่ยิ่งแห่งเอกภพและการจัดเตรียมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงดำเนินการเพื่อความสุขถาวรของเรา? เป็นเรื่องเหลือคิดที่เราจะรู้สึกต่ำต้อยหรือไม่มีค่าเมื่อเราพูดความจริงเหล่านี้แก่คนอื่น. ตรงกันข้าม เราน่าจะรู้สึกได้รับแรงกระตุ้นใจให้ทำสุดกำลัง สำแดงความเชื่อมั่นของเราที่ว่า เรา “ไม่มีอะไรต้องอาย.”—2 ติโม. 2:15, ล.ม.
19 ด้วยความอบอุ่น แสงแห่งความจริงที่บัดนี้กำลังฉายออกไปในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกยื่นความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ที่เป็นอุทยาน. ให้เราสำแดงว่า เราเอาใจใส่ตลอดเวลาในคำแนะเตือนที่ให้ฉายความสว่างของเราออกไปตลอดเวลา! หากเราทำเช่นนั้น เราก็มีเหตุที่จะปีติยินดีเหมือนเหล่าสาวกซึ่ง “ทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์ในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.”—กิจ. 5:42, ล.ม.