ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าทำให้คุณได้รับการปลดปล่อย
“อย่าให้บาปมีอำนาจเหนือคุณ เพราะ . . . พระเจ้าแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่กับคุณ”—รม. 6:14
1, 2. โรม 5:12 เป็นประโยชน์กับเราอย่างไร?
โรม 5:12 บอกว่า “บาปเข้ามาในโลกเพราะคนคนเดียว และความตายเกิดขึ้นเพราะบาปนั้น ความตายจึงลามไปถึงทุกคนเพราะทุกคนเป็นคนบาป” นี่เป็นข้อคัมภีร์หนึ่งที่พวกเรารู้จักกันดีและชอบใช้ตอนที่สอนคัมภีร์ไบเบิล
2 นอกจากนั้น มีการใช้ข้อคัมภีร์นี้หลายครั้งในหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? และเรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร? ตอนที่เราศึกษาบท 3, 5 และ 6 กับลูก ๆ และคนอื่น ๆ เราก็มักจะอ่านโรม 5:12 เพื่อช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าทำไมตอนนี้โลกไม่ได้เป็นสวนอุทยาน ทำไมเราต้องมีค่าไถ่ และทำไมเราต้องตาย แต่คุณเคยคิดไหมว่าโรม 5:12 ยังมีประโยชน์อย่างอื่นด้วย? ข้อนี้ช่วยเราทุกคนให้เห็นคุณค่าความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวามากขึ้น ช่วยเราให้ตั้งใจมากขึ้นที่จะทำให้พระองค์พอใจ และช่วยเราให้จดจ่ออยู่กับคำสัญญาของพระเจ้า
3. เราควรจำอะไรเกี่ยวกับบาปของเรา?
3 น่าเศร้าที่พวกเราทุกคนเป็นคนบาป เราทำผิดพลาดกันทุกวัน แต่พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เมตตา พระองค์รู้ว่าเราไม่สมบูรณ์และเต็มใจให้อภัยเรา (สด. 103:13, 14) พระเยซูเคยบอกไว้ว่า เราต้องขอให้พระเจ้า “ยกโทษให้พวกเราที่ทำบาป” (ลก. 11:2-4) ถ้าพระยะโฮวาให้อภัยความผิดที่เราเคยทำในอดีตแล้ว เราก็ไม่ต้องคิดเรื่องนั้นอีก ขอเรามาดูว่าพระยะโฮวาให้อภัยเราอย่างไร
พระยะโฮวาให้อภัยเราอย่างไร?
4, 5. (ก) อะไรช่วยเราให้เข้าใจโรม 5:12? (ข) “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” หมายถึงอะไร?
4 ในบทอื่น ๆ ของหนังสือโรมโดยเฉพาะในบท 6 มีข้อมูลสำคัญที่ช่วยเราให้เข้าใจคำพูดของอัครสาวกเปาโลในโรม 5:12 ข้อมูลเหล่านี้ช่วยเราให้เข้าใจว่าพระยะโฮวาให้อภัยเราอย่างไร ในโรมบท 3 เราได้รู้ว่า “ทุกคนเป็นคนบาป” และเปาโลก็อธิบายว่า “พระเจ้าถือว่าพวกเขาเป็นที่ยอมรับของพระองค์เพราะมีค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูได้จ่ายให้ สิ่งนี้เป็นของขวัญจากพระเจ้าผู้แสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” (รม. 3:23, 24) คำในภาษากรีกที่แปลว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” ทำให้คิดถึงการทำบางอย่างที่กรุณามาก ๆ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน และไม่ใช่การให้เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือตอบแทนความดี
5 นักวิชาการคนหนึ่งอธิบายว่า คำภาษากรีกคำนี้มักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเจ้าและพระคริสต์ทำเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดจากบาปและความตาย ตอนนี้ให้เรามาดูกันว่าพระเจ้าได้ทำอะไรเพื่อพวกเรา และความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้ประโยชน์อะไรกับพวกเราในทุกวันนี้และให้ความหวังอะไรในอนาคต
6. ใครได้รับประโยชน์จากความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า? และโดยวิธีไหน?
6 เนื่องจากอาดัมทำบาป มนุษย์ทุกคนจึงไม่สมบูรณ์ มีบาปและต้องตาย นี่ทำให้คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความตายมีอำนาจเหมือนกษัตริย์เพราะการทำผิดของคนคนเดียว” แต่พระยะโฮวาแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ พระองค์เตรียมวิธีช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดโดยใช้ “คนคนเดียว คือพระเยซูคริสต์” (รม. 5:12, 15, 17) ‘การเชื่อฟังของคนคนเดียวทำให้คนมากมายเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า’ ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่จากพระเจ้าสามารถทำให้มนุษย์ “ได้ชีวิตตลอดไปโดยทางพระเยซูคริสต์”—รม. 5:19, 21
7. ทำไมเราถึงบอกได้ว่าค่าไถ่ที่พระเจ้าให้เราเป็นของขวัญที่กรุณาและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราควรจะได้รับ?
7 ลองคิดดูสิ พระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องให้พระเยซูลูกชายของพระองค์เป็นค่าไถ่ก็ได้ แต่พระองค์แสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่โดยเตรียมวิธีช่วยพวกเราจากบาปและความตาย ในพวกเราไม่มีใครสักคนคู่ควรจะได้รับสิ่งที่พระเจ้าและพระเยซูทำ เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่พระองค์ทั้งสองช่วยให้เราได้รับการอภัยและมีชีวิตตลอดไปได้ ขอให้เราแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเราขอบคุณมากขนาดไหนโดยวิธีที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวัน
ขอบคุณความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า
8. เราต้องระวังความคิดแบบไหน?
8 เรารู้ว่าพระเจ้าเต็มใจให้อภัยบาปของเราถึงแม้ว่าบาปนั้นเป็นบาปร้ายแรง แต่เราไม่ควรใช้ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเป็นข้ออ้างเพื่อจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราไม่ควรคิดว่า ‘ยังไงพระยะโฮวาก็ให้อภัยฉัน’ คริสเตียนในศตวรรษแรกบางคนคิดแบบนั้นทั้ง ๆ ที่พวกอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ (อ่านยูดา 4) ทุกวันนี้ก็มีบางคนคิดแบบนั้นด้วย และเราต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองได้รับอิทธิพลจากพวกเขาแล้วค่อย ๆ เริ่มคิดเหมือนกับพวกเขา
9, 10. บาปและความตายไม่มีอำนาจเหนือเปาโลและคริสเตียนผู้ถูกเจิมอย่างไร?
9 เปาโลบอกพี่น้องคริสเตียนว่าเป็นเรื่องผิดที่จะยังทำบาปอยู่เรื่อย ๆ แล้วคิดว่า ‘ไม่เป็นไร ยังไงพระเจ้าก็ให้อภัย’ เปาโลบอกว่าพวกเขาไม่ควรคิดอย่างนั้น เพราะพวกเขาได้ “ตายจากบาปไปแล้ว” (อ่านโรม 6:1, 2, เชิงอรรถ) ทำไมเปาโลพูดแบบนั้นทั้ง ๆ ที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่?
10 โดยทางค่าไถ่ พระยะโฮวาได้ให้อภัยบาปของเปาโลและพี่น้องคริสเตียนในศตวรรษแรกแล้ว พระองค์ใช้พลังบริสุทธิ์เจิมพวกเขาให้เป็นลูกของพระองค์ และถ้าพวกเขารักษาความซื่อสัตย์ พวกเขาก็จะมีชีวิตบนสวรรค์และร่วมปกครองกับพระคริสต์ แต่ตอนที่เปาโลพูดข้อความในโรม 6:2 พวกเขายังมีชีวิตอยู่บนโลก แล้วพวกเขาจะ “ตายจากบาปไปแล้ว” ได้อย่างไร? เปาโลเปรียบเทียบการตายของพระเยซูกับการที่พวกเขาเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสิ้นเชิง เปาโลบอกว่าหลังจากที่พระเยซูตาย ท่านถูกปลุกให้มีร่างกายสำหรับสวรรค์ที่ไม่มีวันตาย นี่ทำให้ความตาย “ไม่มีอำนาจเหนือท่านอีกเลย” คล้ายกัน ถึงแม้คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะยังมีชีวิตอยู่บนโลก แต่เมื่อพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงวิธีใช้ชีวิตของพวกเขาทั้งหมดและพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พระเจ้าพอใจ ก็เหมือนกับว่าพวกเขาได้ตายจากชีวิตเดิม ๆ พวกเขาไม่ยอมให้ความต้องการที่จะทำบาปมีอำนาจควบคุมพวกเขาอีกต่อไป พวกเขา “หลุดพ้นจากอำนาจของบาปแล้ว และมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าในฐานะสาวกของพระคริสต์เยซู”—รม. 6:9, 11
11. คริสเตียนในทุกวันนี้ได้ “ตายจากบาปไปแล้ว” อย่างไร?
11 แล้วพวกเราล่ะ? เราได้ “ตายจากบาปไปแล้ว” อย่างไร? ในอดีตเราอาจทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหลายอย่างโดยไม่รู้เลยว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เราทำ ตอนนั้นเราก็เป็นเหมือน “ทาสการกระทำที่ไม่สะอาดและความชั่ว” ซึ่งก็คือ “ทาสบาป” (รม. 6:19, 20) แต่พอเราได้มาเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลว่าพระยะโฮวาอยากให้เราใช้ชีวิตอย่างไร เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง อุทิศตัวให้กับพระองค์และรับบัพติศมา เราต้องการเชื่อฟังพระยะโฮวาและใช้ชีวิตในแบบที่พระองค์พอใจ ตอนนั้นแหละเรา “ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของบาปแล้ว” และ “มาเป็นทาสของพระเจ้าและทำสิ่งที่ถูกต้อง”—รม. 6:17, 18
12. เราสามารถเลือกอะไรได้?
12 เราทุกคนสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง เปาโลบอกว่า “อย่าให้บาปมีอำนาจเหมือนกษัตริย์เหนือร่างกายที่ตายได้ของคุณ เพื่อคุณจะได้ไม่ทำตามความต้องการของมัน” (รม. 6:12) เราเลือกได้ว่าเราจะยอมให้บาปควบคุมความคิดและความต้องการของเราหรือเราจะเป็นฝ่ายควบคุมมัน ลองถามตัวเองว่า ‘ฉันยอมให้ความต้องการผิด ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนลงมือทำสิ่งที่ไม่ดีไหม? หรือว่าถ้ามีความต้องการแบบนั้น ฉันจะหยุดมันทันที?’ ถ้าเราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจริง ๆ เราก็จะพยายามเต็มที่เพื่อให้พระองค์พอใจ
คุณสู้กับบาปได้
13. ทำไมเราถึงมั่นใจได้ว่าเราสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้?
13 ในศตวรรษแรก คริสเตียนบางคนในเมืองโครินธ์เคยเป็นขโมย เคยรักร่วมเพศ ทำผิดศีลธรรม ไหว้รูปเคารพ และเมาเหล้า แต่พอพวกเขาได้รู้จักความจริงและรักพระยะโฮวา พวกเขารู้สึกอายกับสิ่งที่ตัวเองเคยทำและเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง พวกเขาถูก ‘ชำระให้สะอาดแล้ว’ (รม. 6:21; 1 คร. 6:9-11) คริสเตียนในโรมก็ต้องเปลี่ยนแปลงคล้าย ๆ กัน เปาโลบอกพวกเขาว่า “เลิกปล่อยให้บาปใช้ร่างกายของคุณเป็นเครื่องมือทำชั่ว แต่ให้มอบตัวคุณไว้กับพระเจ้าเหมือนคนที่ตายแล้วและได้ชีวิตใหม่ ให้พระเจ้าใช้คุณเป็นเครื่องมือทำความดี” (รม. 6:13) เปาโลมั่นใจว่าพวกเขาสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้ และเมื่อพวกเขาทำอย่างนั้นพวกเขาจึงได้รับประโยชน์จากความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าต่อ ๆ ไป
14, 15. เราควรถามตัวเองว่าอะไร?
14 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พี่น้องบางคนอาจเคยใช้ชีวิตเหมือนกับคริสเตียนในเมืองโครินธ์ แต่หลังจากที่พวกเขาได้มารู้จักพระยะโฮวา พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองซึ่งเหมือนกับว่าพวกเขาถูกชำระให้สะอาดแล้ว ที่จริง พวกเราทุกคนได้เปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอใจ ถึงอย่างนั้นเราก็ยังอยากแสดงว่าเราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในตอนนี้ เราตั้งใจที่จะต่อสู้ความต้องการที่ผิด และ ‘มอบตัวเราไว้กับพระเจ้าเหมือนคนที่ตายแล้วและได้ชีวิตใหม่’ เพื่อรับใช้พระองค์
15 แน่นอน เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำบาปร้ายแรงเหมือนกับที่บางคนในเมืองโครินธ์เคยทำ เพราะถ้าเรายังทำบาปอย่างนั้นอยู่ เราก็ไม่สามารถคาดหมายว่าพระเจ้าจะแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่และให้อภัยเรา แล้วบาปที่บางคนถือว่าไม่ร้ายแรงมากเท่าไรล่ะ เราจะ “เต็มใจเชื่อฟัง” พระยะโฮวาทุกเรื่องแม้แต่ในเรื่องพวกนั้นด้วยไหม?—รม. 6:14, 17
16. เรารู้ได้อย่างไรว่ามีบาปอย่างอื่นที่เราต้องไม่ทำด้วยนอกเหนือจากบาปที่พูดถึงใน 1 โครินธ์ 6:9-11?
16 ลองคิดถึงตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล เขาบอกว่า “ผมเป็นคนบาปที่ถูกขายให้เป็นทาสบาป ผมไม่เข้าใจตัวเองเลยว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ เพราะสิ่งที่ผมอยากทำ ผมก็ไม่ทำ แต่ผมกลับไปทำสิ่งที่ผมเกลียด” (รม. 7:14, 15) ถึงแม้เปาโลไม่ได้ทำสิ่งที่พูดถึงใน 1 โครินธ์ 6:9-11 แต่เขาก็ยอมรับว่าเขายังทำบาปอยู่ นี่แสดงให้เห็นว่ามีความผิดอย่างอื่นนอกเหนือจากที่พูดถึงใน 1 โครินธ์ 6:9-11 ซึ่งเปาโลมองว่าเป็นการทำบาปด้วยเหมือนกัน เปาโลอยากทำให้พระยะโฮวาพอใจ เขาจึงต่อสู้กับความต้องการที่จะทำบาปพวกนั้นด้วย (อ่านโรม 7:21-23) ดังนั้น ขอเราเลียนแบบเปาโลและทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแสดงว่าเรา “เต็มใจเชื่อฟัง” พระยะโฮวา
17. ทำไมคุณถึงอยากเป็นคนซื่อสัตย์?
17 ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน เรารู้ว่าถ้าเราอยากรับใช้พระยะโฮวาเราต้องเป็นคนซื่อสัตย์ (อ่านสุภาษิต 14:5; เอเฟซัส 4:25) เรารู้ว่าซาตานเป็น “พ่อของการโกหก” และรู้ว่าอานาเนียกับภรรยาต้องตายเพราะพูดโกหก เราจึงไม่อยากเป็นเหมือนพวกเขา (ยน. 8:44; กจ. 5:1-11) แต่การเป็นคนซื่อสัตย์ไม่ได้หมายถึงแค่การไม่พูดโกหก ถ้าเราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจริง ๆ เราก็จะซื่อสัตย์ในทุกเรื่อง
18, 19. แบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคนซื่อสัตย์จริง ๆ?
18 ถึงเราจะไม่พูดโกหกเลย เราก็อาจเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ได้ ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาบอกชาวอิสราเอลว่า “อย่าขโมย อย่าหลอกลวงกัน และอย่าคดโกง” ทำไมชาวอิสราเอลต้องทำอย่างนั้น? พระยะโฮวาบอกว่า “พวกเจ้าต้องเป็นคนบริสุทธิ์ เพราะเรายะโฮวาพระเจ้าของพวกเจ้าเป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์” (ลนต. 19:2, 11) ถึงแม้เราไม่ได้พูดโกหก แต่ถ้าเราตั้งใจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดก็ถือว่าเราเป็นคนไม่ซื่อสัตย์
19 ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ ผู้ชายคนหนึ่งอยากออกจากที่ทำงานเร็ว ๆ เพื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด เขาไปบอกหัวหน้างานว่าขอเลิกงานก่อนเพราะต้องไปทำธุระ เขาอาจไปทำธุระที่ไปรษณีย์จริง ๆ เพื่อส่งจดหมายแต่ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็เสร็จ ผู้ชายคนนี้ตั้งใจทำให้คนอื่นเข้าใจผิด เราจะถือว่าเขาเป็นคนแบบไหน? คนซื่อสัตย์หรือคนหลอกลวง? คล้ายกันกับตัวอย่างนี้ บางครั้งผู้คนหลอกลวงคนอื่นเพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการหรือเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ ดังนั้น ถึงแม้เราไม่ได้พูดโกหกแต่เราต้องจำสิ่งที่พระยะโฮวาบอกเราว่า “อย่าหลอกลวงกัน” และให้คิดถึงสิ่งที่โรม 6:19 บอกว่า “ให้มอบร่างกายของคุณเป็นทาสที่เชื่อฟังพระเจ้าเพื่อจะเป็นคนบริสุทธิ์”
20, 21. ถ้าเราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เราจะไม่ทำอะไร?
20 เราไม่ทำผิดศีลธรรมทางเพศ ไม่เมาเหล้า และไม่ทำบาปร้ายแรงอย่างอื่นแน่ ๆ แต่เราอยากทำให้ดีมากกว่านั้นอีก เราจะไม่ทำอะไรที่อาจทำให้พระยะโฮวาไม่พอใจ เช่น ไม่ใช่แค่ไม่ทำผิดศีลธรรมทางเพศ แต่เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดศีลธรรม หรือไม่ใช่แค่ไม่เมาเหล้า แต่เราจะไม่ดื่มจนเกือบเมา เราอาจต้องต่อสู้เพื่อจะต้านทานการล่อใจต่าง ๆ เหล่านี้ ถึงมันไม่ง่าย แต่เราทำได้
21 ขอเราพยายามทำเหมือนกับที่เปาโลบอกไว้ว่า “อย่าให้บาปมีอำนาจเหมือนกษัตริย์เหนือร่างกายที่ตายได้ของคุณ เพื่อคุณจะได้ไม่ทำตามความต้องการของมัน” (รม. 6:12; 7:18-20) ถึงเรายังพลาดทำบาปอยู่บ้าง แต่ถ้าเราพยายามต่อสู้กับความต้องการที่จะทำบาป เราก็กำลังแสดงให้เห็นว่า เราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าและพระคริสต์มีต่อเรา
22. ถ้าเราเห็นคุณค่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา มีรางวัลอะไรรอเราอยู่?
22 พระยะโฮวาได้ให้อภัยบาปของเราไปแล้วหลายอย่างและพระองค์สามารถให้อภัยเราได้ต่อ ๆ ไป เรารู้สึกขอบคุณความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์จริง ๆ ดังนั้น เราต้องพยายามไม่ทำสิ่งที่พระเจ้าบอกว่าผิดถึงแม้คนอื่นอาจคิดว่ามันไม่ได้เป็นบาปร้ายแรงอะไร ถ้าเราทำอย่างนั้นมีรางวัลอะไรรอเราอยู่? เปาโลบอกว่า “ตอนนี้คุณหลุดพ้นจากอำนาจบาปและมาเป็นทาสของพระเจ้าแล้ว ผลก็คือคุณใช้ชีวิตอย่างบริสุทธิ์สะอาด และสุดท้ายคุณก็จะได้ชีวิตตลอดไป”—รม. 6:22