การเป็นผู้เผยแพร่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและคิดหาวิธีที่เหมาะกับสภาพการณ์
“ข้าพเจ้าทำตัวเป็นคนทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด เพื่อข้าพเจ้าจะช่วยบางคนให้รอดให้ได้.” —1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.
1, 2. (ก) อัครสาวกเปาโลเป็นผู้เผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพในทางใดบ้าง? (ข) เปาโลพรรณนาเช่นไรถึงเจตคติของท่านต่องานมอบหมาย?
เขารู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่กับผู้ทรงความรู้หรืออยู่กับช่างเย็บกระโจมผู้ต่ำต้อย. เขามีความสามารถในการโน้มน้าวใจทั้งบุคคลชั้นสูงชาวโรมันและคนด้อยการศึกษาชาวฟรูเกีย. ข้อเขียนของเขาก่อแรงบันดาลใจแก่ชาวกรีกที่เปิดกว้างทางความคิดและชาวยิวหัวอนุรักษ์. การชักเหตุผลของเขาไม่อาจโต้แย้งได้ เช่นเดียวกับที่คำพูดของเขาดึงดูดความสนใจอย่างมีพลัง. เขาพยายามหาจุดเห็นพ้องกับทุกคนเพื่อว่าจะสามารถช่วยบางคนให้มีความเชื่อในพระคริสต์.—กิจการ 20:21.
2 ชายผู้นี้คืออัครสาวกเปาโล ซึ่งไม่มีข้อสงสัยว่าท่านเป็นผู้เผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพและพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์. (1 ติโมเธียว 1:12) ท่านได้รับมอบหมายจากพระเยซูให้ “นำนาม [ของพระคริสต์] ไปยังคนต่างชาติ, กษัตริย์และพวกยิศราเอล.” (กิจการ 9:15) ท่านมีเจตคติเช่นไรต่องานมอบหมายนี้? ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทำตัวเป็นคนทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด เพื่อข้าพเจ้าจะช่วยบางคนให้รอดให้ได้. แต่ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งเพื่อเห็นแก่ข่าวดี เพื่อข้าพเจ้าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในข่าวดีกับคนอื่น ๆ.” (1 โกรินโธ 9:19-23, ล.ม.) เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโลซึ่งจะช่วยเราให้มีประสิทธิภาพในการประกาศและการสอนมากยิ่งขึ้น?
ชายที่เปลี่ยนไปเผชิญงานที่ท้าทายได้สำเร็จ
3. ก่อนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ เปาโลมีความรู้สึกเช่นไรต่อพวกคริสเตียน?
3 เปาโลเป็นคนมีความอดกลั้นไว้นานและคำนึงถึงผู้อื่นเสมอมา เหมาะกับงานที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้วอย่างนั้นไหม? ไม่เลย! ความคลั่งศาสนาทำให้เซาโล (ชื่อเก่าของเปาโล) กลายเป็นผู้ข่มเหงสาวกของพระคริสต์อย่างรุนแรง. ตอนที่ยังเป็นหนุ่ม ท่านเห็นชอบกับการสังหารซะเตฟาโน. ต่อจากนั้น ก็ตามจับตัวคริสเตียนอย่างไร้ความปรานี. (กิจการ 7:58; 8:1, 3; 1 ติโมเธียว 1:13) ท่าน “ขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซู” ต่อไป. ท่านไม่จุใจกับการจับตัวเหล่าสาวกเฉพาะในกรุงเยรูซาเลมเท่านั้น ท่านเริ่มขยายการตามล่าด้วยความรู้สึกชิงชังไปทางเหนือไกลถึงเมืองดาเมเซ็ก.—กิจการ 9:1, 2.
4. เปาโลต้องทำการปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อที่จะทำงานมอบหมายที่ได้รับให้สำเร็จ?
4 สาเหตุหลักที่เปาโลมีความจงเกลียดจงชังศาสนาคริสเตียนก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านเชื่อว่าลัทธิใหม่นี้จะทำให้ศาสนายิวเสื่อมเสียด้วยการนำเอาแนวความคิดของคนต่างชาติเข้ามาผสมผเส. ที่จริง เปาโลเคยเป็น “คนฟาริซาย” ซึ่งชื่อนี้มีความหมายว่า “ผู้แยกตัวอยู่ต่างหาก.” (กิจการ 23:6) ลองวาดมโนภาพดูสิว่า เปาโลคงต้องตกใจสักเพียงไรเมื่อได้รู้ว่าพระเจ้าเลือกท่านให้เป็นผู้ประกาศเรื่องพระคริสต์แก่คนต่างชาตินั่นเอง! (กิจการ 22:14, 15; 26:16-18) พวกฟาริซายถึงกับไม่ยอมกินอาหารร่วมกับคนที่เขาถือว่าเป็นคนบาปด้วยซ้ำ! (ลูกา 7:36-39) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระเจ้าซึ่งประสงค์ให้คนทุกชนิดได้รับความรอด.—ฆะลาเตีย 1:13-17.
5. เราจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไรในงานเผยแพร่ของเรา?
5 เราอาจต้องปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน. เมื่อเราพบคนหลากหลายชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเขตงานของเราที่มีหลายชาติหลายภาษา เราต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะตรวจสอบเจตคติของเราเองและขจัดอคติใด ๆ ที่มีในตัวเราออกไป. (เอเฟโซ 4:22-24) ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ความคิดของเราถูกหล่อหลอมด้วยการศึกษาที่เราได้รับและสังคมที่เราเติบใหญ่ขึ้นมา. นี่อาจบ่มเพาะท่าทีที่มีอคติ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง. เราต้องเอาชนะเจตคติเหล่านี้หากเราอยากจะประสบความสำเร็จในการเสาะหาและช่วยเหลือคนเยี่ยงแกะ. (โรม 15:7) นี่เป็นสิ่งที่เปาโลได้ทำ. ท่านยอมรับเอาข้อท้าทายในการขยายงานรับใช้. ด้วยแรงกระตุ้นจากความรัก ท่านพัฒนาทักษะการสอนที่ควรค่าแก่การเลียนแบบ. ที่จริง การศึกษางานรับใช้ของ “อัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ” เผยให้เห็นว่าท่านคำนึงถึงผู้ฟัง, พร้อมจะปรับเปลี่ยน, และรู้จักปรับวิธีการเสนอให้เข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในการประกาศและการสอน.a—โรม 11:13.
ผู้เผยแพร่ที่ปรับใช้วิธีใหม่ ๆ ในภาคปฏิบัติ
6. เปาโลคำนึงถึงภูมิหลังของผู้ฟังอย่างไร และผลเป็นประการใด?
6 เปาโลคำนึงถึงความเชื่อและภูมิหลังของผู้ฟัง. เมื่อพูดกับกษัตริย์อะกริปปาที่ 2 เปาโลยอมรับว่าพระองค์ “ทรงเชี่ยวชาญในธรรมเนียมทั้งสิ้นอีกทั้งข้อขัดแย้งท่ามกลางพวกยิว.” จากนั้น เปาโลก็ใช้ความรู้ที่ท่านมีเกี่ยวกับความเชื่อของอะกริปปาอย่างมีประสิทธิภาพและพิจารณากับกษัตริย์ในเรื่องที่พระองค์เข้าใจดี. การชักเหตุผลของเปาโลชัดเจนและมีพลังมากจนอะกริปปาถึงกับเอ่ยว่า “ไม่ช้า เจ้าจะโน้มน้าวใจเราให้เป็นคริสเตียน.”—กิจการ 26:2, 3, 27, 28, ล.ม.
7. เปาโลแสดงอย่างไรว่าพร้อมจะปรับเปลี่ยนในคราวที่ท่านประกาศแก่ฝูงชนในเมืองลุศตรา?
7 เปาโลพร้อมจะปรับเปลี่ยนวิธีด้วย. ขอสังเกตว่าท่านใช้วิธีต่างออกไปอย่างไรเมื่อพยายามห้ามปรามฝูงชนในเมืองลุศตราไม่ให้บูชาท่านกับบาระนาบาเป็นพระเจ้า. กล่าวกันว่าคนเหล่านี้ ซึ่งพูดภาษาลุกาโอเนีย มีการศึกษาน้อยกว่าและเชื่อถือโชคลางมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ. ตามที่กล่าวในกิจการ 14:14-18 เปาโลชี้ว่าสิ่งทรงสร้างและสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีอย่างบริบูรณ์ในธรรมชาติเป็นหลักฐานถึงความยิ่งใหญ่กว่าของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. การหาเหตุผลดังกล่าวไม่ยากที่จะเข้าใจ และดูเหมือนว่าจะ “ห้ามประชาชนมิให้เขากระทำสักการบูชาถวาย” แก่เปาโลและบาระนาบา.
8. เปาโลแสดงอย่างไรว่าท่านพร้อมจะปรับเปลี่ยนถึงแม้จะรู้สึกขุ่นเคืองในบางครั้ง?
8 แน่ละ เปาโลไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์ และบางครั้งก็รู้สึกขุ่นเคืองบ้างในบางเรื่อง. ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อถูกปฏิบัติอย่างเหยียดหยามและไม่ยุติธรรม ท่านกล่าวประณามชาวยิวชื่ออะนาเนียอย่างแรง. แต่พอมีคนบอกเปาโลว่าคนที่ท่านพูดจาดูหมิ่นโดยไม่ทันรู้ตัวนั้นคือมหาปุโรหิต ท่านก็รีบขอโทษในทันที. (กิจการ 23:1-5) เมื่ออยู่ในกรุงเอเธนส์ ทีแรกท่าน “มีความเดือดร้อนวุ่นวายใจ [“รู้สึกขุ่นเคือง,” ล.ม.] เพราะได้เห็นรูปเคารพเต็มไปทั้งเมือง.” กระนั้น เมื่อกล่าวปราศรัยบนเนินเขามารส์ เปาโลไม่ได้แสดงความขุ่นเคืองดังกล่าว. แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านกล่าวต่อชาวเอเธนส์ ณ ที่ชุมนุมของพวกเขา หาเหตุผลอาศัยจุดที่เห็นพ้องกันโดยอ้างถึงแท่นบูชาของพวกเขาที่มีคำจารึกว่า “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” และยกคำพูดของกวีคนหนึ่งของพวกเขาขึ้นมากล่าว.—กิจการ 17:16-28.
9. เปาโลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าท่านสามารถหาวิธีที่เหมาะกับสภาพการณ์เมื่อพูดกับผู้ฟังที่ต่างกัน?
9 เมื่อพูดกับผู้ฟังที่ต่างกัน เปาโลแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการหาวิธีที่เหมาะกับสภาพการณ์ได้อย่างน่าทึ่ง. ท่านคำนึงถึงวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ฟัง. เมื่อเขียนจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม ท่านตระหนักว่าพวกเขาอยู่ในเมืองหลวงของรัฐบาลที่มีอำนาจครอบงำมากที่สุดในยุคนั้น. ประเด็นสำคัญในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมคืออำนาจครอบงำที่ทำให้เสื่อมเสียเนื่องจากบาปของอาดามพ่ายต่ออำนาจในการไถ่ของพระคริสต์. ท่านพูดกับคริสเตียนในกรุงโรมและผู้คนในที่อื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบด้วยภาษาที่จะดึงดูดใจพวกเขา.—โรม 1:4; 5:14, 15.
10, 11. เปาโลปรับใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบให้เหมาะกับผู้ฟังอย่างไร? (ดูเชิงอรรถด้วย.)
10 เปาโลทำอย่างไรเมื่อท่านต้องการจะอธิบายความจริงที่ลึกซึ้งจากคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้ฟัง? ท่านอัครสาวกชำนิชำนาญในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ผู้คนทั่วไปรู้จักดีที่เข้าใจได้ง่ายเพื่ออธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนจากพระคำของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น เปาโลรู้ว่าผู้คนในกรุงโรมคุ้นเคยกับระบบทาสในจักรวรรดิโรมัน. ที่จริง หลายคนที่เปาโลเขียนจดหมายไปถึงนั้นคงอยู่ในฐานะทาสด้วย. ดังนั้น เปาโลจึงยกเอาเรื่องทาสมาใช้เป็นตัวอย่างเสริมการหาเหตุผลที่หนักแน่นของท่านในเรื่องการเลือกของคนเราว่าจะยอมตัวอยู่ใต้อำนาจความบาปหรือว่าความชอบธรรม.—โรม 6:16-20.
11 แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “ท่ามกลางชาวโรมัน เจ้าของทาสสามารถปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือทาสก็สามารถซื้ออิสรภาพให้ตัวเองได้โดยชำระค่าไถ่แก่ผู้เป็นเจ้าของของตน. การหลุดพ้นจากการเป็นทาสยังเป็นไปได้ด้วยหากกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของถูกโอนไปให้เทพเจ้า.” ทาสที่เป็นอิสระแล้วจะทำงานให้นายเก่าของตนต่อไปได้เพื่อจะได้ค่าจ้าง. เป็นไปได้ว่าเปาโลพาดพิงถึงการปฏิบัติดังกล่าวเมื่อท่านเขียนเกี่ยวกับการเลือกของแต่ละคนว่าเขาจะเชื่อฟังนายไหน—ความบาปหรือความชอบธรรม. คริสเตียนในกรุงโรมหลุดพ้นจากบาปแล้ว และบัดนี้มีพระเจ้าเป็นเจ้าของพวกเขา. พวกเขามีอิสระที่จะรับใช้พระเจ้า กระนั้นก็ยังจะเลือกเป็นทาสบาปคือนายเก่าต่อไปได้ หากว่าเขาต้องการอย่างนั้น. ตัวอย่างเปรียบเทียบง่าย ๆ แต่เป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วดังกล่าวคงกระตุ้นให้คริสเตียนในกรุงโรมถามตัวเองว่า ‘ฉันกำลังรับใช้นายไหนอยู่?’b
เรียนรู้จากตัวอย่างของเปาโล
12, 13. (ก) ความพยายามแบบไหนนับว่าจำเป็นในทุกวันนี้เพื่อจะเข้าถึงหัวใจของผู้ฟังของเราที่มีภูมิหลังต่างกัน? (ข) คุณพบว่าอะไรทำให้การประกาศแก่ผู้คนที่มีภูมิหลังต่างกันบังเกิดผล?
12 เช่นเดียวกับเปาโล เราต้องคำนึงถึงผู้ฟัง, พร้อมจะปรับเปลี่ยน, และรู้จักปรับวิธีการเสนอให้เหมาะกับสภาพการณ์เพื่อจะเข้าถึงหัวใจผู้ฟังของเราที่มีภูมิหลังต่างกัน. เพื่อช่วยผู้ฟังให้เข้าใจความหมายของข่าวดี เราต้องการทำมากกว่าพบปะกันชั่วเวลาสั้น ๆ, เสนอข่าวสารที่เตรียมไว้, หรือฝากสิ่งพิมพ์อธิบายคัมภีร์ไบเบิลไว้ให้อ่าน. เราพยายามสังเกตเข้าใจถึงความจำเป็นและสิ่งที่เขาเป็นห่วง, เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร, เขากลัวหรือมีอคติต่อสิ่งใด. แม้การทำเช่นนี้ต้องใช้ความคิดและความพยายามอย่างมาก แต่ผู้ประกาศราชอาณาจักรตลอดทั่วโลกก็กำลังทำอย่างนั้นอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง. ตัวอย่างเช่น สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในฮังการีรายงานว่า “พวกพี่น้องแสดงความนับถือต่อขนบธรรมเนียมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนต่างชาติ และไม่คาดหมายให้คนเหล่านั้นปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับธรรมเนียมท้องถิ่น.” พยานฯ ในที่อื่น ๆ ก็พยายามทำอย่างเดียวกัน.
13 ในประเทศหนึ่งทางเอเชียตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ, การอบรมบุตร, และการศึกษา. ผู้ประกาศราชอาณาจักรที่นั่นพยายามเน้นหัวเรื่องเหล่านี้แทนที่จะพิจารณาเรื่องสภาพการณ์ของโลกที่กำลังเสื่อมลงหรือปัญหาสังคมที่ซับซ้อน. คล้ายกัน ผู้ประกาศราชอาณาจักรในเมืองใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐสังเกตว่า ผู้คนย่านหนึ่งในเขตประกาศของพวกเขาเป็นห่วงเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง, ปัญหาจราจร, และอาชญากรรม. พยานฯ ประสบความสำเร็จในการใช้เรื่องเหล่านี้เพื่อเริ่มการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิล. ไม่ว่าจะเลือกใช้หัวข้อใด ครูสอนพระคัมภีร์ที่บังเกิดผลทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะพยายามเสมอที่จะรักษาทัศนะในแง่บวกและให้การชูใจ โดยเน้นคุณค่าที่ใช้การได้จริงจากการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในขณะนี้และเน้นความหวังอันสดใสที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้ให้สำหรับอนาคต.—ยะซายา 48:17, 18; 52:7.
14. จงพรรณนาวิธีต่าง ๆ ที่เราสามารถปรับให้เข้ากับความจำเป็นและสภาพการณ์ที่ต่างกันของผู้คน?
14 เป็นประโยชน์ด้วยที่จะปรับวิธีเสนอในการประกาศให้หลากหลาย เนื่องจากว่าผู้คนมีภูมิหลังต่างกันมากในด้านวัฒนธรรม, การศึกษา, และศาสนา. วิธีที่เราใช้กับผู้คนที่เชื่อว่ามีพระผู้สร้างแต่ไม่เชื่อถือคัมภีร์ไบเบิลย่อมจะต่างกับวิธีที่เราใช้พูดกับคนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า. กับบางคนที่รู้สึกว่าสิ่งพิมพ์ทางศาสนาทุกรูปแบบเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ วิธีเสนอที่เราใช้กับเขาก็จะต่างจากวิธีที่เราใช้กับคนที่ยอมรับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน. เราต้องพร้อมจะปรับเปลี่ยนเช่นกันเมื่อพูดคุยกับผู้คนที่มีระดับการศึกษาต่างกันไป. ผู้สอนที่มีความชำนิชำนาญจะใช้การหาเหตุผลและตัวอย่างเปรียบเทียบให้เหมาะกับสภาพการณ์.—1 โยฮัน 5:20.
ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกาศใหม่
15, 16. ทำไมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมผู้ประกาศใหม่?
15 เปาโลไม่ได้สนใจแค่การปรับปรุงวิธีการสอนของตัวเองเท่านั้น. ท่านเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมและเตรียมคนรุ่นหลัง เช่น ติโมเธียวและติโต ให้เป็นผู้เผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ. (2 ติโมเธียว 2:2; 3:10, 14; ติโต 1:4) ทุกวันนี้ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดให้มีการอบรมเช่นกัน.
16 ในปี 1914 มีผู้ประกาศราชอาณาจักรทั่วโลกประมาณ 5,000 คน แต่ในทุกวันนี้ มีคนใหม่ ๆ ประมาณ 5,000 คนรับบัพติสมาในแต่ละสัปดาห์! (ยะซายา 54:2, 3; กิจการ 11:21) เมื่อคนใหม่ ๆ เริ่มสมทบกับประชาคมคริสเตียนและต้องการจะเข้าร่วมในงานเผยแพร่ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมและการชี้แนะ. (ฆะลาเตีย 6:6) นับว่าสำคัญที่เราต้องใช้วิธีที่พระเยซูนายของเราใช้ในการสอนและฝึกอบรมเหล่าสาวก.c
17, 18. เราจะช่วยคนใหม่ ๆ ได้อย่างไรให้มีความมั่นใจในการประกาศ?
17 พระเยซูไม่ได้ทำแค่พอเห็นฝูงชนแล้วก็บอกให้เหล่าอัครสาวกเริ่มเข้าไปคุยเลย. แรกสุด พระองค์เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่และสนับสนุนสาวกให้หมั่นอธิษฐานเพื่องานนี้. จากนั้น พระองค์ทรงเตรียมสามสิ่งพื้นฐานให้พวกเขาคือ เพื่อนร่วมงาน, เขตทำงาน, และข่าวสาร. (มัดธาย 9:35-38; 10:5-7; มาระโก 6:7; ลูกา 9:2, 6) เราสามารถทำอย่างเดียวกันนั้น. ไม่ว่าเรากำลังช่วยลูกของเรา, ช่วยผู้ประกาศใหม่, หรือช่วยคนที่ไม่ได้ร่วมงานประกาศมาสักช่วงหนึ่ง ก็ถือว่าเหมาะที่จะพยายามจัดให้มีการฝึกอบรมในวิธีดังกล่าว.
18 คนใหม่ ๆ ต้องการความช่วยเหลือมากเพื่อจะมีความมั่นใจในการเสนอข่าวสารราชอาณาจักร. คุณจะช่วยพวกเขาได้ไหมในการเตรียมตัวและฝึกซ้อมการเสนอแบบง่าย ๆ ที่ดึงดูดใจ? เมื่อไปในเขตประกาศ ให้เขาเรียนจากตัวอย่างของคุณเมื่อคุณประกาศสองสามหลังแรก. คุณสามารถทำตามแบบอย่างของฆิดโอน ซึ่งบอกสหายร่วมรบของท่านว่า “จงคอยดูเรา, ให้ทำเหมือนกัน.” (วินิจฉัย 7:17) จากนั้น ให้คนใหม่มีโอกาสมีส่วน. จงชมเชยคนใหม่ ๆ จากใจจริงสำหรับความพยายามของพวกเขา และเมื่อเห็นว่าเหมาะ ก็ให้คำแนะนำสั้น ๆ เพื่อปรับปรุง.
19. อะไรคือความตั้งใจของคุณขณะที่พยายามจะทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วน?
19 เพื่อจะ ‘ทำงานรับใช้ของเราให้สำเร็จครบถ้วน’ เราตั้งใจจะเป็นคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนมากขึ้นในการเข้าพบผู้คน และเราต้องการฝึกผู้ประกาศใหม่ให้ทำอย่างเดียวกัน. เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของเป้าหมายของเรา ซึ่งก็คือ เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าที่จะนำไปสู่ความรอด เราจึงมั่นใจว่า เป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับความบากบั่นพยายามที่จะ “ทำตัวเป็นคนทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด เพื่อ [เรา] จะช่วยบางคนให้รอดให้ได้.”—2 ติโมเธียว 4:5, ล.ม.; 1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับตัวอย่างจากงานรับใช้ของเปาโลที่แสดงถึงคุณลักษณะเหล่านั้น ให้ดูที่กิจการ 13:9, 16-42; 17:2-4; 18:1-4; 19:11-20; 20:34; โรม 10:11-15; 2 โกรินโธ 6:11-13.
b คล้ายกัน เมื่ออธิบายความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างพระเจ้ากับ “บุตร” ที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ เปาโลใช้แนวคิดทางกฎหมายที่ผู้อ่านของท่านในจักรวรรดิโรมันคุ้นเคยกันดี. (โรม 8:14-17) หนังสือนักบุญเปาโลในกรุงโรม (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “การรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นธรรมเนียมพื้นฐานของชาวโรมัน และเกี่ยวข้องอย่างมากกับแนวความคิดของชาวโรมันเรื่องครอบครัว.”
c ปัจจุบัน โครงการไพโอเนียร์ช่วยเหลือคนอื่น ๆ มีไว้พร้อมในทุกประชาคมของพยานพระยะโฮวา. โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้เผยแพร่เต็มเวลาและการอบรมที่พวกเขาได้รับเพื่อช่วยผู้ประกาศที่มีประสบการณ์น้อยกว่า.
คุณจำได้ไหม?
• เราจะเลียนแบบเปาโลในทางใดได้บ้างในงานเผยแพร่ของเรา?
• เป็นไปได้ว่าเราอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนะของเราในเรื่องใดบ้าง?
• เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ข่าวสารที่เราเสนอเป็นไปในแง่บวกเสมอ?
• ผู้ประกาศใหม่ ๆ จำเป็นต้องได้รับอะไรเพื่อจะมีความมั่นใจมากขึ้น?
[คำโปรยหน้า 29]
อัครสาวกเปาโลคำนึงถึงผู้ฟัง, พร้อมจะปรับเปลี่ยน, และรู้จักปรับวิธีการเสนอให้เข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในการประกาศและการสอน
[คำโปรยหน้า 31]
พระเยซูทรงเตรียมสามสิ่งพื้นฐานให้เหล่าสาวกคือ เพื่อนร่วมงาน, เขตทำงาน, และข่าวสาร
[ภาพหน้า 28]
เปาโลประสบความสำเร็จในการพูดกับผู้ฟังที่ต่างกันโดยการเป็นคนที่ปรับเปลี่ยนได้
[ภาพหน้า 30]
ผู้เผยแพร่ที่บังเกิดผลคำนึงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมของผู้ฟัง
[ภาพหน้า 31]
ผู้เผยแพร่ที่รู้จักปรับวิธีการเสนอให้เข้ากับสภาพการณ์ช่วยเหลือคนใหม่ ๆ ในการเตรียมตัวเพื่อการประกาศ