เมื่อพระเยซูเสด็จมาด้วยรัศมีภาพแห่งราชอาณาจักร
“ในพวกท่านที่ยืนอยู่ที่นี่ มีบางคนซึ่งยังจะไม่ชิมความตายกว่าจะได้เห็นบุตรมนุษย์มาในแผ่นดินของท่าน.”—มัดธาย 16:28.
1, 2. เกิดอะไรขึ้นไม่นานหลังวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 32 และวัตถุประสงค์ของเหตุการณ์นั้นคืออะไร?
ไม่นานหลังวันเพนเตคอสเตปี 32 สากลศักราช อัครสาวกสามคนของพระเยซูคริสต์ได้เห็นนิมิตซึ่งติดตรึงอยู่ในความทรงจำ. ตามบันทึกที่จารึกโดยการดลใจ “พระเยซูทรงพาเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันน้องของยาโกโบ ขึ้นภูเขาสูงแต่ลำพัง. แล้วรูปกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขาเหล่านั้น.”—มัดธาย 17:1, 2.
2 นิมิตที่แสดงโดยการจำแลงพระกายนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่สำคัญ. พระเยซูได้เริ่มบอกสาวกว่าพระองค์จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์ในกรุงยะรูซาเลม แต่พวกเขารู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจคำตรัสของพระองค์. (มัดธาย 16:21-23) นิมิตนี้เสริมความเชื่อให้อัครสาวกสามคนของพระเยซูเพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับการวายพระชนม์ของพระองค์ที่ใกล้เข้ามา รวมทั้งงานและการทดสอบอย่างหนักซึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาคมคริสเตียนหลายปีหลังจากนั้น. พวกเราในปัจจุบันสามารถเรียนรู้อะไรได้ไหมจากนิมิตนี้? ได้ เพราะนิมิตนี้เป็นการให้ภาพล่วงหน้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในสมัยของเรา.
3, 4. (ก) พระเยซูได้ตรัสอะไรก่อนการจำแลงพระกายหกวัน? (ข) จงพรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการจำแลงพระกาย.
3 หกวันก่อนการจำแลงพระกาย พระเยซูทรงบอกสาวกว่า “บุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยรัศมีแห่งพระบิดาพร้อมกับพวกทูต, เวลานั้นจะพระราชทานบำเหน็จให้ทุกคนตามการประพฤติของตน.” ถ้อยคำเหล่านี้จะสำเร็จเป็นจริง ณ “ช่วงอวสานของระบบ.” พระเยซูทรงแจ้งต่อไปอีกว่า “เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ในพวกท่านที่ยืนอยู่ที่นี่. มีบางคนซึ่งยังจะไม่ชิมความตายกว่าจะได้เห็นบุตรมนุษย์มาในแผ่นดินของท่าน.” (มัดธาย 16:27, 28; 24:3, ล.ม.; 25:31-34, 41; ดานิเอล 12:4) การจำแลงพระกายที่เกิดขึ้นทำให้ถ้อยคำที่ตรัสในตอนท้ายนี้สำเร็จเป็นจริง.
4 จริง ๆ แล้วอัครสาวกทั้งสามเห็นอะไร? ต่อไปนี้คือคำที่ลูกาพรรณนาเหตุการณ์: “เมื่อ [พระเยซู] กำลังอธิษฐานอยู่วรรณพระพักตร์ของพระองค์ก็เปลี่ยนไป. และฉลองพระองค์ก็ขาวเป็นมันระยับ. นี่แน่ะมีสองคนสนทนาอยู่กับพระองค์, คือโมเซและเอลียา, ผู้มาปรากฏด้วยรัศมี, และกล่าวถึงความมรณาของพระองค์ซึ่งจะสำเร็จในกรุงยะรูซาเลม.” จากนั้น “มีเมฆมาปกคลุม [อัครสาวกทั้งสาม] ไว้, และเมื่ออยู่ในเมฆนั้นเขาก็กลัว. มีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า, ‘ผู้นี้เป็นบุตรของเรา, เป็นผู้ถูกเลือกสรรไว้ จงฟังท่านเถิด.’”—ลูกา 9:29-31, 34, 35.
ได้รับการเสริมความเชื่อ
5. การจำแลงพระกายมีผลเช่นไรต่ออัครสาวกเปโตร?
5 อัครสาวกเปโตรเคยได้ระบุตัวพระเยซูฐานะ “พระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (มัดธาย 16:16) คำตรัสของพระยะโฮวาจากสวรรค์ยืนยันการระบุตัวดังกล่าว และนิมิตที่พระเยซูจำแลงพระกายเป็นการบ่งบอกล่วงหน้าถึงการประทับของพระคริสต์ด้วยขัตติยอำนาจแห่งราชอาณาจักรและรัศมีภาพ เพื่อพิพากษามนุษยชาติในที่สุด. มากกว่า 30 ปีหลังการจำแลงพระกาย เปโตรเขียนดังนี้: “มิใช่โดยการติดตามนิยายที่เขาแต่งขึ้นด้วยความฉลาดแกมโกงนั้นหรอกที่เราทำให้ท่านทั้งหลายรู้จักอำนาจและการประทับของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา แต่โดยการที่เราได้เป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับความเลอเลิศของพระองค์. เพราะพระองค์ทรงได้รับเกียรติยศและสง่าราศีจากพระเจ้า พระบิดา คราวเมื่อคำตรัสเช่นคำเหล่านี้มาถึงพระองค์โดยสง่าราศีอันเลอเลิศว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรผู้เป็นที่รักของเรา ผู้ซึ่งเราเองได้รับรองไว้.’ ถูกแล้ว เราได้ยินคำตรัสเหล่านี้จากสวรรค์ขณะที่เราได้อยู่กับพระองค์ในภูเขาบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:16-18, ล.ม.; 1 เปโตร 4:17.
6. เหตุการณ์ดำเนินต่อไปอย่างไรหลังการจำแลงพระกาย?
6 ทุกวันนี้ ความเชื่อของเราด้วยเช่นกันที่ได้รับการเสริมจากสิ่งที่อัครสาวกทั้งสามเห็น. แน่นอน เหตุการณ์ต่าง ๆ ทยอยเกิดขึ้นเป็นลำดับนับแต่ปี ส.ศ. 32 ปีถัดมา พระเยซูทรงวายพระชนม์และถูกปลุกให้คืนพระชนม์ เสด็จขึ้นประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดาพระองค์. (กิจการ 2:29-36) ในวันเพนเตคอสเตปีนั้น “ยิศราเอลของพระเจ้า” กลุ่มใหม่ถูกนำออกมา และการรณรงค์ประกาศก็เริ่มขึ้น โดยเริ่มในกรุงยะรูซาเลมก่อนและต่อมาจึงได้ขยายออกไปจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก. (ฆะลาเตีย 6:16; กิจการ 1:8) เกือบจะในทันที สาวกของพระเยซูถูกทดสอบความเชื่อ. พวกอัครสาวกถูกจับกุมและเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงเพราะพวกเขาปฏิเสธที่จะเลิกประกาศ. ไม่นานหลังจากนั้น ซะเตฟาโนถูกฆ่า. ถัดมา ยาโกโบซึ่งเป็นประจักษ์พยานคนหนึ่งที่เห็นการจำแลงพระกายก็ถูกฆ่า. (กิจการ 5:17-40; 6:8–7:60; 12:1, 2) อย่างไรก็ดี เปโตรและโยฮันรอดชีวิตและรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อมาอีกหลายปี. ที่จริง เมื่อเข้าสู่ช่วงสิ้นสุดศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช โยฮันได้บันทึกภาพนิมิตเพิ่มเติมของพระเยซูซึ่งได้รับเกียรติยศในสวรรค์.—วิวรณ์ 1:12-20; 14:14; 19:11-16.
7. (ก) นิมิตการจำแลงพระกายเริ่มสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? (ข) เมื่อไรที่พระเยซูได้มอบบำเหน็จให้บางคนตามการประพฤติของพวกเขา?
7 นับตั้งแต่การเริ่มต้นแห่ง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในปี 1914 มีหลายนิมิตที่โยฮันเห็นได้สำเร็จเป็นจริงไปแล้ว. (วิวรณ์ 1:10, ล.ม.) จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับ ‘การเสด็จมาด้วยรัศมีแห่งพระบิดา’ ของพระเยซู ดังที่การจำแลงพระกายแสดงให้เห็นล่วงหน้า? นิมิตนี้เริ่มสำเร็จเป็นจริงในคราวการกำเนิดแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าในปี 1914. เมื่อพระเยซู ดุจดาวประจำรุ่ง ทรงโดดเด่นขึ้นมาในฉากเอกภพฐานะกษัตริย์ซึ่งเพิ่งขึ้นครองบัลลังก์ จึงอาจกล่าวโดยนัยได้ว่า นั่นเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งวันใหม่. (2 เปโตร 1:19; วิวรณ์ 11:15; 22:16) ในเวลานั้น พระเยซูได้มอบบำเหน็จให้บางคนตามการประพฤติของพวกเขาไหม? ใช่แล้ว. มีหลักฐานที่หนักแน่นว่า ไม่นานหลังจากนั้น การกลับเป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ของเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมก็ได้เริ่มต้น.—2 ติโมเธียว 4:8; วิวรณ์ 14:13.
8. เหตุการณ์อะไรที่เป็นจุดสุดยอดแห่งการสำเร็จเป็นจริงของนิมิตการจำแลงพระกาย?
8 อย่างไรก็ดี ไม่ช้าพระเยซูจะทรงเสด็จมา “ด้วยสง่าราศีของพระองค์ พร้อมด้วยหมู่ทูตสวรรค์ทั้งสิ้น” เพื่อพิพากษามนุษยชาติทั้งมวล. (มัดธาย 25:31, ล.ม.) ในเวลานั้น พระองค์จะทรงเปิดเผยสง่าราศีอันยอดเยี่ยมทั้งสิ้นของพระองค์และพระราชทานบำเหน็จให้ “ทุกคน” อย่างเที่ยงธรรมตามการประพฤติของแต่ละคน. คนเยี่ยงแกะจะได้ชีวิตนิรันดร์ในราชอาณาจักรที่จัดไว้สำหรับพวกเขา และคนที่เป็นเหมือนแพะจะไปสู่ “การตัดขาดเป็นนิตย์.” นั่นจะเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตเกี่ยวกับการจำแลงพระกาย!—มัดธาย 25:34, 41, 46, ล.ม.; มาระโก 8:38; 2 เธซะโลนิเก 1:6-10.
เพื่อนร่วมรับสง่าราศีกับพระเยซู
9. เราควรคาดหมายไหมว่า เพื่อจะสำเร็จตามนิมิตการจำแลงพระกาย โมเซและเอลียาจะอยู่กับพระเยซู? จงอธิบาย.
9 ในการจำแลงพระกาย พระเยซูไม่ได้ทรงอยู่เพียงลำพังพระองค์. มีผู้ที่เห็นโมเซและเอลียาอยู่กับพระองค์ด้วย. (มัดธาย 17:2, 3) พวกเขาอยู่ที่นั่นจริง ๆ ไหม? ไม่ เพราะทั้งสองเสียชีวิตไปนานแล้วและนอนหลับอยู่ในสภาพผงคลีดินคอยการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; เฮ็บราย 11:35) พวกเขาจะปรากฏตัวอยู่กับพระเยซูไหมเมื่อพระองค์เสด็จมาในรัศมีภาพฝ่ายสวรรค์? ไม่ เพราะโมเซและเอลียามีชีวิตก่อนที่ความหวังฝ่ายสวรรค์เปิดออกสำหรับมนุษย์. พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของ “การกลับเป็นขึ้นจากตาย . . . ของคนชอบธรรม” บนแผ่นดินโลกนี้. (กิจการ 24:15, ล.ม.) ดังนั้น การปรากฏตัวของพวกเขาในนิมิตการจำแลงพระกายจึงเป็นเหตุการณ์ที่มีความหมายเป็นนัย. ความหมายเป็นนัยถึงอะไร?
10, 11. เอลียาและโมเซเป็นภาพเล็งถึงใครบ้างตามท้องเรื่องอื่น ๆ?
10 ตามท้องเรื่องอื่น ๆ โมเซและเอลียาเป็นภาพพยากรณ์. ฐานะผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีตามพระบัญญัติ โมเซเป็นภาพเล็งถึงพระเยซูผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่. (พระบัญญัติ 18:18; ฆะลาเตีย 3:19; เฮ็บราย 8:6) เอลียาเป็นภาพเล็งถึงโยฮันผู้ให้บัพติสมา ซึ่งเป็นผู้เบิกทางของมาซีฮา. (มัดธาย 17:11-13) นอกจากนั้น ตามท้องเรื่องในวิวรณ์บท 11 โมเซและเอลียาเป็นภาพเล็งถึงชนที่เหลือผู้ถูกเจิมในสมัยอวสาน. เราทราบได้อย่างไรว่าเป็นเช่นนั้น?
11 ให้เราพลิกไปที่วิวรณ์ 11:1-6 (ล.ม.). ในข้อ 3 เราอ่านดังนี้: “เราจะให้พยานทั้งสองของเราพยากรณ์อยู่พันสองร้อยหกสิบวันระหว่างนั้นสวมผ้ากระสอบ.” คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงกับชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง.a ทำไมพูดถึงพยานสองคน? เนื่องจากชนที่เหลือผู้ถูกเจิมทำงานซึ่งในทางฝ่ายวิญญาณแล้วเหมือนกับงานที่โมเซและเอลียาได้ทำ. ข้อ 5 และ 6 กล่าวต่อไปว่า “ถ้าผู้ใดใคร่จะทำความเสียหายแก่ [พยานทั้งสอง] ไฟจะออกมาจากปากเขาและผลาญพวกศัตรูของเขาเสีย; และถ้าผู้ใดใคร่จะทำความเสียหายแก่พวกเขา ผู้นั้นก็จะต้องถูกฆ่าเสียอย่างนี้แหละ. พยานทั้งสองนี้มีอำนาจจะปิดฟ้าสวรรค์เพื่อไม่ให้มีฝนตกระหว่างวันเหล่านั้นที่เขาพยากรณ์อยู่ และเขามีอำนาจเหนือน้ำทั้งหลายเพื่อทำให้น้ำนั้นกลายเป็นเลือด และกระหน่ำแผ่นดินโลกด้วยภัยพิบัติทุกชนิดบ่อยเท่าที่เขาปรารถนา.” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราคิดถึงการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เอลียาและโมเซได้ทำ.—อาฤธโม 16:31-34; 1 กษัตริย์ 17:1; 2 กษัตริย์ 1:9-12.
12. ตามท้องเรื่องในเหตุการณ์การจำแลงพระกาย โมเซและเอลียาเป็นภาพเล็งถึงใคร?
12 ถ้าอย่างนั้น โมเซและเอลียาเป็นภาพเล็งถึงใครตามท้องเรื่องในเหตุการณ์การจำแลงพระกาย? ลูกากล่าวว่าพวกเขาปรากฏตัวด้วยกันกับพระเยซู “ด้วยรัศมี [“สง่าราศี,” ล.ม.].” (ลูกา 9:31) เห็นได้ชัด พวกเขาเป็นภาพเล็งถึงคริสเตียนผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็น “ทายาทร่วม” กับพระเยซู และด้วยเหตุนั้นได้รับความหวังวิเศษสุดในการ “ได้สง่าราศีด้วยกัน” กับพระองค์. (โรม 8:17, ล.ม.) ชนผู้ถูกเจิมที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะอยู่กับพระเยซูเมื่อพระองค์เสด็จมาด้วยรัศมีแห่งพระบิดาของพระองค์เพื่อ “พระราชทานบำเหน็จให้ทุกคนตามการประพฤติของตน.”—มัดธาย 16:27.
พยานเหมือนโมเซและเอลียา
13. ลักษณะอะไรบ้างที่ทำให้เห็นชัดว่าโมเซและเอลียาเหมาะเป็นภาพเชิงพยากรณ์ของบรรดาผู้ถูกเจิมที่เป็นทายาทร่วมรับสง่าราศีด้วยกันกับพระเยซู?
13 มีลักษณะเด่นหลายอย่างซึ่งทำให้เห็นชัดว่าโมเซและเอลียาเหมาะที่เป็นภาพเชิงพยากรณ์เล็งถึงทายาทร่วมผู้ถูกเจิมของพระเยซู. ทั้งโมเซและเอลียารับใช้ฐานะโฆษกของพระยะโฮวาเป็นเวลาหลายปี. ทั้งสองเผชิญความโกรธแค้นจากผู้ปกครองบ้านเมือง. ในยามลำบาก ทั้งสองต่างก็ได้รับการค้ำจุนจากครอบครัวต่างชาติ. ทั้งสองพยากรณ์อย่างกล้าหาญต่อกษัตริย์และยืนหยัดมั่นคงต่อต้านคำพยากรณ์เท็จ. ทั้งโมเซและเอลียาเห็นการแสดงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา ณ ภูเขาซีนาย (อีกชื่อหนึ่งคือโฮเร็บ). ทั้งคู่แต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยาระเดน. และในสมัยของทั้งโมเซ (กับยะโฮซูอะ) และเอลียา (กับอะลีซา) มีการแสดงการอัศจรรย์มากที่สุด หากไม่นับการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพระเยซู.b
14. เหล่าผู้ถูกเจิมรับใช้ฐานะโฆษกของพระยะโฮวาเหมือนโมเซและเอลียาอย่างไร?
14 ทั้งหมดนั้นทำให้เรานึกถึงยิศราเอลของพระเจ้ามิใช่หรือ? ถูกแล้ว เป็นเช่นนั้นจริง ๆ. พระเยซูทรงบอกสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ด้วยการเชื่อฟังถ้อยคำเหล่านี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับใช้ฐานะโฆษกของพระยะโฮวานับตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปีส.ศ. 33 จนถึงทุกวันนี้. เช่นเดียวกับโมเซและเอลียา พวกเขาได้เผชิญความโกรธแค้นของผู้ปกครองบ้านเมืองและได้ให้คำพยานแก่พวกเขา. พระเยซูทรงสั่งอัครสาวกทั้ง 12 คนดังนี้: “จะส่งท่านไปต่อหน้าเจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเรา. เพื่อท่านจะได้เป็นพยานต่อผู้เหล่านั้นและต่อพวกต่างประเทศ.” (มัดธาย 10:18) คำตรัสของพระองค์ได้สำเร็จเป็นจริงครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงประวัติศาสตร์แห่งประชาคมคริสเตียน.—กิจการ 25:6, 11, 12, 24-27; 26:3.
15, 16. มีอะไรบ้างที่เทียบเคียงกันได้ระหว่างผู้ถูกเจิมกับโมเซและเอลียาในเรื่องการที่พวกเขา (ก) ยืนหยัดอย่างไม่หวั่นกลัวเพื่อความจริง? (ข) รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอล?
15 นอกจากนั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมปราศจากความกลัวเช่นเดียวกับโมเซและเอลียาในการยืนหยัดเพื่อความจริงต่อต้านความเท็จทางศาสนา. นึกถึงวิธีที่เปาโลกล่าวตำหนิผู้พยากรณ์เท็จชาวยิวชื่อบาระเยซู และอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาแต่ก็หนักแน่น ท่านได้เปิดโปงความเท็จของพระต่าง ๆ ของชาวอะเธนาย. (กิจการ 13:6-12; 17:16, 22-31) ขอระลึกด้วยว่า ในสมัยปัจจุบันชนที่เหลือผู้ถูกเจิมก็ได้เปิดโปงคริสต์ศาสนจักรอย่างกล้าหาญ และการให้คำพยานเช่นนั้นได้ทรมานองค์การศาสนานี้.—วิวรณ์ 8:7-12.c
16 เมื่อโมเซหนีพ้นจากความกริ้วของฟาโรห์ ท่านได้ที่ลี้ภัยในบ้านของคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ชาวยิศราเอลชื่อรูเอล ซึ่งมีอีกชื่อว่ายิธโร. ภายหลัง โมเซได้รับคำแนะนำอันมีค่าเกี่ยวกับการจัดระเบียบจากรูเอล และโฮบาบบุตรของเขาได้นำยิศราเอลผ่านถิ่นทุรกันดาร.d (เอ็กโซโด 2:15-22; 18:5-27; อาฤธโม 10:29) สมาชิกแห่งยิศราเอลของพระเจ้าได้รับการช่วยคล้าย ๆ กันนี้ไหมจากเหล่าปัจเจกบุคคลที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกแห่งยิศราเอลของพระเจ้า? ใช่แล้ว พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ซึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นมาในฉากเหตุการณ์ช่วงสมัยสุดท้ายนี้. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16; ยะซายา 61:5) โดยบอกล่วงหน้าถึงการสนับสนุนอย่างอบอุ่นด้วยความรักที่ “แกะ” เหล่านี้จะให้แก่เหล่าน้องที่ได้รับการเจิมของพระองค์ พระเยซูตรัสถึงพวกเขาเป็นเชิงพยากรณ์ดังนี้: “เมื่อเราอยากอาหารท่านก็ได้จัดหาให้เรากิน, เรากระหายน้ำท่านก็ได้ให้เราดื่ม, เราเป็นแขกแปลกหน้าท่านก็ได้ต้อนรับเราไว้, เราเปลือยกายท่านก็ได้ให้เสื้อผ้าเรานุ่งห่ม, เมื่อเราเจ็บท่านก็ได้มาเยี่ยมเรา, เมื่อเราต้องจำอยู่ในพันธนาคารท่านก็ได้มาหาเรา . . . เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ซึ่งท่านได้กระทำแก่ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้, ก็เหมือนท่านได้กระทำแก่เราด้วย.”—มัดธาย 25:35-40.
17. ผู้ถูกเจิมมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันกับประสบการณ์ของเอลียาที่ภูเขาโฮเร็บอย่างไร?
17 นอกจากนั้น ยิศราเอลของพระเจ้ามีประสบการณ์เทียบได้กับประสบการณ์ของเอลียาบนภูเขาโฮเร็บ.e เช่นเดียวกับเอลียาคราวที่ท่านหนีจากราชินีอีซาเบ็ล ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมที่หวาดหวั่นก็คิดว่างานของตนเสร็จสิ้นลงแล้วตอนที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง. และแล้ว ก็เป็นเช่นเดียวกับเอลียาด้วย พวกเขาเผชิญหน้ากับพระยะโฮวาผู้ได้เสด็จมาเพื่อพิพากษาองค์การเหล่านั้นที่อ้างว่าเป็น “ราชนิเวศของพระเจ้า.” (1 เปโตร4:17, ล.ม.; มาลาคี 3:1-3) ขณะที่คริสต์ศาสนจักรขาดคุณสมบัติตามมาตรฐาน ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้รับการยอมรับฐานะ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และได้รับการมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระเยซูทางแผ่นดินโลกนี้. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ที่ภูเขาโฮเร็บ เอลียาได้ยิน “เสียงเบา ๆ” ซึ่งปรากฏว่าเป็นพระสุรเสียงของพระยะโฮวามอบหมายงานให้ท่านทำอีก. ในช่วงสงบหลายปีหลังสงคราม ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมและซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ทางพระธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาตระหนักด้วยเช่นกันว่า ตนมีหน้าที่มอบหมายหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ.—1 กษัตริย์ 19:4, 9-18; วิวรณ์ 11:7-13.
18. พระยะโฮวาทรงสำแดงฤทธานุภาพอย่างเด่นชัดผ่านทางยิศราเอลของพระเจ้าอย่างไร?
18 ประการสุดท้าย พระยะโฮวาได้ทรงแสดงอำนาจอย่างโดดเด่นผ่านทางยิศราเอลของพระเจ้าไหม? หลังการวายพระชนม์ของพระเยซู เหล่าอัครสาวกได้ทำการอัศจรรย์หลายอย่าง แต่เรื่องเหล่านี้ค่อย ๆ ยุติไปในที่สุด. (1 โกรินโธ 13:8-13) ปัจจุบัน เราไม่เห็นการอัศจรรย์ในแง่กายภาพ. ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ดังนี้: “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า ผู้ที่สำแดงความเชื่อในเรา ผู้นั้นก็จะกระทำการงานที่เรากระทำเช่นกัน; และเขาจะกระทำการงานที่ใหญ่กว่านั้นอีก.” (โยฮัน 14:12, ล.ม.) คำตรัสนี้สำเร็จเป็นจริงในขั้นเริ่มแรกเมื่อสาวกของพระเยซูประกาศข่าวดีไปทั่วจักรวรรดิโรมในศตวรรษแรก. (โรม 10:18) งานยิ่งใหญ่กว่านั้นอีกที่ได้มีการทำกันในทุกวันนี้ซึ่งชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้เป็นหัวหอกในการประกาศข่าวดี “ทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ผลเป็นเช่นไร? ในศตวรรษที่ 20 นี้ได้มีการรวบรวมผู้รับใช้ที่อุทิศตัวและซื่อสัตย์ของพระยะโฮวามากที่สุดเป็นประวัติการณ์. (วิวรณ์ 5:9, 10; 7:9, 10) นับเป็นหลักฐานที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ทำให้ประจักษ์ชัดถึงฤทธานุภาพของพระยะโฮวา!—ยะซายา 60:22.
เหล่าน้องของพระเยซูได้รับสง่าราศี
19. บรรดาน้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูจะได้รับสง่าราศีด้วยกันกับพระองค์เมื่อไร?
19 เมื่อชนที่เหลือแห่งบรรดาน้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูจบชีวิตทางแผ่นดินโลกนี้ พวกเขาได้รับสง่าราศีด้วยกันกับพระองค์. (โรม 2:6, 7; 1 โกรินโธ 15:53; 1 เธซะโลนิเก 4:14, 17) ฉะนั้น พวกเขาได้กลายเป็นกษัตริย์และปุโรหิตที่มีชีวิตอมตะอยู่ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. ร่วมกันกับพระเยซู ถึงตอนนั้นพวกเขาจะ “เลี้ยงประชาชนด้วยคทาเหล็กเพื่อพวกเขาจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ดุจภาชนะดินเหนียว.” (วิวรณ์ 2:27; 20:4-6, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 110:2, 5, 6) ร่วมกันกับพระเยซู พวกเขาจะนั่งบนบัลลังก์พิพากษา “พวกยิศราเอลสิบสองตระกูล.” (มัดธาย 19:28) สิ่งทรงสร้างที่ครวญครางได้คอยท่าเหตุการณ์เหล่านี้อย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่ง ‘การปรากฏของบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.’—โรม 8:19-21; 2 เธซะโลนิเก 1:6-8.
20. (ก) การจำแลงพระกายเสริมความเชื่อของเปโตรในความคาดหมายเรื่องอะไร? (ข) การจำแลงพระกายเสริมความเข้มแข็งแก่คริสเตียนในทุกวันนี้อย่างไร?
20 เปาโลกล่าวถึงการปรากฏของพระเยซูในช่วง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” เมื่อท่านเขียนดังนี้: “พระองค์จะเสด็จมารับเกียรติยศเพราะสิทธชนของพระองค์, และจะเป็นที่น่าประหลาดใจแก่คนทั้งปวงที่เชื่อ.” (มัดธาย 24:21; 2 เธซะโลนิเก 1:10) ช่างเป็นความหวังที่ยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้สำหรับเปโตร, ยาโกโบ, โยฮัน, และคริสเตียนทั้งสิ้นผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ! การจำแลงพระกายเสริมความเชื่อของเปโตร. แน่นอน การอ่านเรื่องนี้เสริมความเชื่อของเราด้วย และทำให้ความเชื่อมั่นของเราเข้มแข็งยิ่งขึ้นที่ว่า ไม่ช้าพระเยซูจะ “พระราชทานบำเหน็จให้ทุกคนตามการประพฤติของตน.” คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ผู้มีชีวิตจนถึงทุกวันนี้ได้รับความมั่นใจเต็มที่ว่า พวกเขาจะได้รับสง่าราศีด้วยกันกับพระเยซู. แกะอื่นมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นเมื่อได้ทราบว่า พระองค์จะช่วยพวกเขาให้รอดผ่านอวสานแห่งระบบชั่วช้านี้เข้าไปสู่โลกใหม่อันรุ่งโรจน์. (วิวรณ์ 7:14) ช่างเป็นการหนุนใจจริง ๆ ให้ยืนหยัดจนถึงที่สุด! และนิมิตนี้ยังจะสอนเราได้อีกมาก ดังเราจะได้เห็นในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูหนังสือ “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” (ภาษาอังกฤษ) หน้า 313, 314 และ พระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 164, 165 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก
b เอ็กโซโด 2:15-22; 3:1-6; 5:2; 7:8-13; 8:18; 19:16-19; พระบัญญัติ 31:23; 1 กษัตริย์ 17:8-16; 18:21-40; 19:1, 2, 8-18; 2 กษัตริย์ 2:1-14.
d โปรดดูหนังสือคุณอาจรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอนเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก หน้า 281-283.
e ดู“ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” (ภาษาอังกฤษ) หน้า 317-320.
คุณจำได้ไหม?
▫ ใครอยู่ด้วยกับพระเยซูในการจำแลงพระกาย?
▫ การจำแลงพระกายเสริมความเชื่อของเหล่าอัครสาวกอย่างไร?
▫ เมื่อโมเซและเอลียาปรากฏ “ด้วยสง่าราศี” กับพระเยซูในการจำแลงพระกาย พวกเขาเป็นภาพเล็งถึงใคร?
▫ มีอะไรบ้างที่เทียบเคียงกันได้ระหว่างโมเซและเอลียากับยิศราเอลของพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 10]
นิมิตการจำแลงพระกายเสริมความเชื่อของคริสเตียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน