จงใช้เสรีภาพของคริสเตียนที่คุณมีอยู่อย่างฉลาดสุขุม
“จงเป็นเหมือนเสรีชน และกระนั้น จงรักษาเสรีภาพของท่านทั้งหลายไว้ . . . ในฐานะเป็นทาสของพระเจ้า.”—1 เปโตร 2:16, ล.ม.
1. อาดามเสียเสรีภาพอะไรไป และพระยะโฮวาจะทรงคืนเสรีภาพในทางใดให้แก่มนุษยชาติอีก?
เมื่อบิดามารดาดั้งเดิมของพวกเราทำบาปในสวนเอเดน เขาได้ทำให้มรดกอันมีค่ายิ่งสำหรับบุตรหลานของเขาสูญเสียไป—เสรีภาพพ้นจากบาปและความเสื่อมเสีย. ผลที่ตามมา พวกเราทุกคนเกิดมาเป็นทาสแห่งความเสื่อมเสียและความตาย. แต่น่ายินดี พระยะโฮวาทรงมุ่งพระทัยจะคืนเสรีภาพอันน่าพิศวงให้แก่มวลมนุษย์ผู้ซื่อสัตย์ดังเดิม. เวลานี้ ผู้มีหัวใจรักความชอบธรรมต่างก็คอย “ให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ” ซึ่งยังผลให้เขา “รอดพ้นจากอำนาจแห่งความเสื่อมเสียและจะเข้าในสง่าราศีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 8:19-21.
‘ได้รับการเจิมให้เทศนาประกาศ’
2, 3. (ก) ใครคือ “บุตรทั้งหลายของพระเจ้า”? (ข) พวกเขามีสถานะอันน่าทึ่งอะไร อันนำมาซึ่งหน้าที่รับผิดชอบอะไร?
2 ใครคือ “บุตรทั้งหลายของพระเจ้า”? พวกเขาเป็นพี่น้องของพระเยซูซึ่งได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณซึ่งจะปกครองร่วมกับพระองค์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. กลุ่มแรกในจำนวนนี้ปรากฏตัวขึ้นในช่วงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. พวกเขารับรองความจริงซึ่งได้ปลดปล่อยเขาเป็นอิสระตามที่พระเยซูทรงสั่งสอน และนับแต่วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 พวกเขาได้มีส่วนในสิทธิพิเศษอันรุ่งโรจน์ดังที่เปโตรกล่าวไว้เมื่อท่านเขียนถึงเขาว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นพลไพร่ที่เป็นสมบัติพิเศษ’”—1 เปโตร 2:9ก; โยฮัน 8:32.
3 การเป็นสมบัติพิเศษของพระเจ้า—ช่างเป็นพระพรล้ำค่าอะไรเช่นนั้น! และทุกวันนี้ ชนที่เหลือในจำพวกผู้ถูกเจิมแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้ามีสถานะเปี่ยมด้วยพระพรอย่างเดียวกันจำเพาะพระเจ้า. แต่พร้อมกับสิทธิพิเศษอันน่ายกย่องดังกล่าวก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ติดตามมา. เปโตรได้ชี้ให้เห็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างหนึ่ง เมื่อท่านพูดต่อไปว่า “‘เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.”—1 เปโตร 2:9ข, ล.ม.
4. คริสเตียนผู้ถูกเจิมปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบซึ่งมาพร้อมกับเสรีภาพของคริสเตียนนั้นได้อย่างสำเร็จผลโดยวิธีใด?
4 คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ทำหน้าที่รับผิดชอบเช่นนี้สำเร็จไหมที่ให้ประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณของพระเจ้า? แน่นอน. ยะซายาพูดถึงผู้ถูกเจิมในเชิงพยากรณ์ตั้งแต่ปี 1919 ดังนี้: “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาองค์บรมมหิศรสถิตบนข้าพเจ้า เพราะเหตุที่พระยะโฮวาได้เจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนถ่อม. พระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้าให้สมานหัวใจที่ชอกช้ำ ให้ประกาศเสรีภาพแก่คนตกเป็นเชลย และการเปิดตาออกกว้างแก่ผู้ถูกคุมขัง; ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระยะโฮวา และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา.” (ยะซายา 61:1, 2, ล.ม.) ทุกวันนี้ ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซูผู้ซึ่งข้อคัมภีร์ข้างต้นกล่าวถึงพระองค์เป็นสำคัญ โดยการประกาศกิตติคุณเกี่ยวกับเสรีภาพแก่ผู้อื่นด้วยความกระตือรือร้น.—มัดธาย 4:23-25; ลูกา 4:14-21.
5, 6. (ก) การประกาศด้วยความกระตือรือร้นของคริสเตียนผู้ถูกเจิมก่อผลเช่นไร? (ข) คนเหล่านั้นในจำพวกชนฝูงใหญ่ได้รับสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบอะไร?
5 ผลสืบเนื่องจากการประกาศอย่างกระตือรือร้นของเขา ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นจึงได้ปรากฏตัวบนเวทีโลกในสมัยหลัง ๆ นี้. พวกเขาออกมาจากทุกชาติทุกประเทศเพื่อสมทบผู้ถูกเจิมทำการรับใช้พระยะโฮวา และความจริงทำให้คนเหล่านี้มีเสรีภาพเช่นเดียวกัน. (ซะคาระยา 8:23; โยฮัน 10:16) เยี่ยงอับราฮาม พวกเขาได้รับการประกาศเป็นคนชอบธรรมอาศัยความเชื่อและเข้ามาสู่สัมพันธภาพอันแนบแน่นกับพระเจ้ายะโฮวา. และเช่นเดียวกันกับราฮาบ การที่พวกเขาได้รับการประกาศเป็นคนชอบธรรมเช่นนั้น พวกเขาจึงอยู่ในแนวทางจะมีชีวิตรอด—ในกรณีของเขารอดผ่านสงครามอาร์มาเก็ดดอน. (ยาโกโบ 2:23-25; วิวรณ์ 16:14, 16) แต่สิทธิพิเศษสูงส่งเช่นนั้นย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบพ่วงมาด้วยที่จะประกาศให้คนอื่นรู้ถึงสง่าราศีของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ โยฮันจึงแลเห็นพวกเขาถวายคำสรรเสริญพระยะโฮวาอย่างเปิดเผย “ร้องเสียงดังไม่หยุดว่า ‘ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนพระที่นั่ง และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.’”—วิวรณ์ 7:9, 10, 14, ล.ม.
6 ปีที่แล้ว ชนฝูงใหญ่จำนวนกว่าสี่ล้านคนรวมเข้ากับชนที่เหลือจำนวนน้อยแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ใช้เวลาเกือบหนึ่งพันล้านชั่วโมงในงานประกาศถึงบารมีคุณของพระยะโฮวาไปตลอดทั่วโลก. นี้แหละคือการใช้เสรีภาพฝ่ายวิญญาณของเขาในทางที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้.
“จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์”
7, 8. เสรีภาพของคริสเตียนควบคู่ไปด้วยหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่ออำนาจในทางการปกครองฝ่ายโลก และเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราต้องหลีกเลี่ยงทัศนะอะไรที่ไม่ถูกต้อง?
7 เสรีภาพของคริสเตียนที่เรามีอยู่นั้นนำมาซึ่งหน้าที่รับผิดชอบอื่น ๆ หลายประการ. เปโตรได้ชี้ให้เห็นบางข้อเมื่อท่านเขียนว่า “จงให้เกียรติคนทุกชนิด มีความรักต่อสังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) ถ้อยคำที่ว่า “จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์” หมายรวมถึงอะไร?
8 “พระมหากษัตริย์” หมายถึงบรรดาผู้ปกครองฝ่ายโลก. สมัยนี้ น้ำใจที่ขาดความนับถือผู้มีอำนาจในทางการปกครองได้แผ่ขยายตัวในโลก และเรื่องนี้อาจกระทบกระเทือนคริสเตียนได้ง่าย ๆ. คริสเตียนก็อาจนึกฉงนว่าทำไมตนต้องให้เกียรติ “พระมหากษัตริย์” ในเมื่อ “โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) เมื่อคำนึงถึงถ้อยคำเหล่านี้ เขาอาจคิดเสียว่าจะไม่เชื่อฟังข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติไม่สะดวก และถ้าเลี่ยงหรือหลบได้ตนจะไม่เสียภาษี. แต่การทำเช่นนี้ย่อมขัดขืนคำสั่งซึ่งพระเยซูตรัสว่า “ของของกายะซา จงถวายแก่กายะซา.” ที่แท้แล้ว เขาจะ ‘ใช้เสรีภาพเป็นสิ่งปกปิดความชั่ว.’—มัดธาย 22:21; 1 เปโตร 2:16.
9. เหตุผลที่ดีสองประการอะไรบ้างสำหรับการเชื่อฟังผู้มีอำนาจในทางการปกครองฝ่ายโลก?
9 คริสเตียนมีพันธะหน้าที่ต้องให้เกียรติผู้มีอำนาจในทางการปกครองและพึงอยู่ใต้อำนาจนั้น—ถึงแม้จะเป็นในขอบเขตจำกัดก็ตาม. (กิจการ 5:29) เพราะเหตุใด? ใน 1 เปโตร 2:14, 15 เปโตรระบุเหตุผลไว้สามประการเมื่อท่านบอกว่าผู้สำเร็จราชการเป็น “ผู้ที่ [พระเจ้า] ทรงส่งมาเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำชั่ว แต่ยกย่องผู้ที่กระทำดี.” ความกลัวต่อการถูกลงโทษมีเหตุผลเพียงพออยู่แล้วสำหรับการเชื่อฟังผู้มีอำนาจปกครอง. จะเป็นสิ่งน่าอับอายเพียงไรหากพยานพระยะโฮวาถูกปรับหรือต้องโทษจำคุกเพราะการทำร้ายร่างกาย, ลักทรัพย์, หรือทำผิดทางอาญาอย่างอื่น! นึกภาพดูก็แล้วกันว่าบางคนจะยินดีแค่ไหนที่ได้ออกข่าวเรื่องพรรค์นั้นอย่างครึกโครม! ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราพัฒนาชื่อเสียงดีในฐานะพลเมืองดี เราย่อมได้รับการยกย่องจากผู้บริหารบ้านเมืองที่มีใจเป็นธรรม. เรายังอาจได้รับเสรีภาพมากขึ้นที่จะดำเนินงานประกาศเผยแพร่ข่าวดี. ยิ่งกว่านั้น ‘โดยการกระทำดี ท่านทั้งหลายอาจระงับคำพูดที่โง่เขลาของคนที่ไม่มีเหตุผล’. (1 เปโตร 2:15ข, ล.ม.) นี้คือเหตุผลประการที่สองสำหรับการเชื่อฟังผู้มีอำนาจทางการปกครอง.—โรม 13:3.
10. อะไรคือเหตุผลหนักแน่นที่สุดสำหรับการเชื่อฟังผู้มีอำนาจในทางการปกครองฝ่ายโลก?
10 แต่มีเหตุผลที่หนักแน่นกว่า. ผู้มีอำนาจทางการปกครองดำรงอยู่เพราะพระยะโฮวาทรงยอมให้เป็นไป. ดังเปโตรบอกว่า พระยะโฮวา “ทรงส่ง” ผู้ปกครองทางการเมือง และเป็น “พระทัยประสงค์ของพระเจ้า” ที่ว่าคริสเตียนพึงยอมอยู่ใต้อำนาจเขา. (1 เปโตร 2:15ก) ทำนองเดียวกัน อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “อำนาจต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” ฉะนั้น สติรู้สึกผิดชอบของเราที่รับการอบรมจากคัมภีร์ไบเบิลได้กระตุ้นเราให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจในทางการปกครอง. หากเราขัดขืนไม่ยอมตัวต่ออำนาจนั้น เราก็ “ต่อต้านการจัดเตรียมของพระเจ้า.” (โรม 13:1, 2, 5, ล.ม.) ท่ามกลางพวกเรามีใครหรือตั้งใจต่อต้านการจัดเตรียมของพระเจ้า? คงจะเป็นการใช้เสรีภาพของคริสเตียนในทางที่ผิดทีเดียว!
‘มีความรักต่อพวกพี่น้อง’
11, 12. (ก) ความรับผิดชอบอะไรต่อเพื่อนร่วมความเชื่อมาพร้อมกันกับเสรีภาพของคริสเตียน? (ข) ใครเป็นพิเศษควรได้รับการคำนึงถึงด้วยความรักจากพวกเรา และเพราะเหตุใด?
11 นอกจากนั้น เปโตรกล่าวอีกด้วยว่าคริสเตียนควรมีความรัก “ต่อสังคมแห่งพวกพี่น้องทั้งสิ้น.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) นี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบอีกประการหนึ่งที่มาพร้อมกับเสรีภาพของคริสเตียน. พวกเราส่วนมากขึ้นอยู่กับประชาคมหนึ่ง. ที่จริง เราทุกคนเป็นส่วนของสังคมหรือองค์การสากลแห่งพวกพี่น้อง. การแสดงความรักต่อพี่น้องเหล่านี้เป็นการใช้เสรีภาพอย่างสุขุม.—โยฮัน 15:12, 13.
12 อัครสาวกเปาโลได้หยิบยกกลุ่มคริสเตียนซึ่งสมควรรับความรักของเราเป็นพิเศษ. ท่านว่าดังนี้: “จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลาย และจงอยู่ใต้อำนาจ เพราะพวกเขาคอยเฝ้าระวังดูจิตวิญญาณของท่านในฐานะเป็นผู้ซึ่งจะชี้แจงรายงาน; เพื่อเขาจะทำเช่นนี้ด้วยความยินดี และไม่ใช่ด้วยการถอนใจ เพราะการเช่นนั้นคงจะเป็นความเสียหายแก่ท่าน.” (เฮ็บราย 13: 17, ล.ม.) ผู้ที่นำหน้าในประชาคมได้แก่พวกผู้ปกครอง. จริงอยู่ บุคคลเหล่านี้ไม่สมบูรณ์พร้อม. กระนั้นก็ดี พวกเขารับการแต่งตั้งภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการปกครอง. พวกเขาเป็นผู้นำด้วยการวางตัวอย่าง และด้วยการคำนึงถึงคนอื่น และเขารับมอบหน้าที่ให้เฝ้าดูแลจิตวิญญาณของพวกเรา. ช่างเป็นงานมอบหมายที่สำคัญจริง ๆ! (เฮ็บราย 13:7) เป็นที่น่ายินดี ประชาคมส่วนใหญ่มีน้ำใจ ร่วมมืออย่างดี และเป็นความชื่นชมยินดีสำหรับผู้ปกครองที่จะร่วมทำงานกับเขา. เป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าเมื่อบางคนไม่ยอมร่วมมือกัน. ผู้ปกครองก็ยังคงทำงานของเขา แต่เป็นอย่างที่เปาโลกล่าว เขาทำ “ด้วยการถอนใจ.” แน่ละ เราคงไม่ประสงค์จะทำให้พวกผู้ปกครองถอนใจ! พวกเราอยากให้เขาชื่นชมในงานของเขาเพื่อเขาจะเสริมสร้างพวกเรามากยิ่ง ๆ ขึ้น.
13. มีวิธีอะไรบ้างซึ่งเราสามารถจะร่วมมือกับผู้ปกครองได้?
13 มีทางใดบ้างที่เราจะร่วมมือกับผู้ปกครองได้? วิธีหนึ่งคือ ช่วยดูแลและทำความสะอาดหอประชุมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย. อีกวิธีหนึ่งก็โดยให้ความร่วมมือในด้านงานเยี่ยมคนเจ็บป่วย และคนทุพพลภาพ. นอกจากนั้น เราจะพยายามคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเพื่อจะไม่เป็นภาระแก่ผู้ปกครอง. ขอบข่ายสำคัญอย่างหนึ่งของการร่วมมือได้แก่การธำรงความสะอาดด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณของประชาคม ทั้งโดยการประพฤติส่วนตัวของเรา และการแจ้งความผิดร้ายแรงในกรณีที่เรารับทราบหรือรู้เห็น.
14. เราควรร่วมมือโดยวิธีใดกับผู้ปกครองเมื่อมีการว่ากล่าวตีสอน?
14 บางครั้ง เพื่อรักษาประชาคมให้สะอาด พวกผู้ปกครองต้องตัดสัมพันธ์คนทำผิดที่ไม่กลับใจ. (1 โกรินโธ 5:1-5) ทั้งนี้เป็นการป้องกันประชาคม. และอาจเป็นการช่วยคนทำผิดด้วย. มีบ่อยครั้งที่การตีสอนเช่นนี้ทำให้คนบาปสำนึกผิด. แต่ถ้าคนถูกตัดสัมพันธ์เป็นเพื่อนสนิทหรือเป็นญาติใกล้ชิดล่ะ? สมมุติคนประพฤติผิดเป็นบิดาหรือมารดาหรือเป็นลูกชายลูกสาวของเราล่ะ. กระนั้นก็ดี เราแสดงความเคารพไหมเมื่อผู้ปกครองลงมือปฏิบัติการเช่นนั้น? จริงอยู่ อาจเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก. แต่คงจะเป็นการใช้เสรีภาพของเราในทางผิดอย่างน่าเสียดาย หากเราสงสัยการตัดสินของพวกผู้ปกครอง และคบหากันฝ่ายวิญญาณต่อไปกับผู้ที่ได้พิสูจน์ตัวเป็นแรงชักจูงในทางเสื่อมเสียภายในประชาคม! (2 โยฮัน 10, 11) ไพร่พลของพระยะโฮวาโดยส่วนรวมสมควรได้รับคำชมเชย เพราะพวกเขาร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ดังกล่าว. ผลก็คือ องค์การของพระยะโฮวาสะอาดปราศจากมลทินเสมอมาท่ามกลางโลกที่ชั่วร้ายนี้.—ยาโกโบ 1:27.
15. ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดร้ายแรง เขาควรทำอะไรทันที?
15 แต่ถ้าเรา กระทำผิดร้ายแรงเสียเองล่ะ? กษัตริย์ดาวิดได้พรรณนาถึงบุคคลซึ่งพระยะโฮวาทรงรักใคร่ โดยตรัสไว้ว่า “ผู้ใดจะขึ้นไปยังภูเขาของพระยะโฮวา? ใครจะยืนในที่บริสุทธิ์ของพระองค์? คือผู้ที่มีมือสะอาดหมดจดและมีใจบริสุทธิ์ ผู้ซึ่งมิได้ปลงจิตใจในการมุสาวาท และไม่ได้สาบานตัวเป็นคำเท็จ.” (บทเพลงสรรเสริญ 24:3, 4) ถ้าด้วยเหตุผลบางประการ เราไม่ ‘มีมือสะอาดและใจบริสุทธิ์’ เราต้องรีบจัดการโดยเร็ว. ชีวิตนิรันดร์ของเราอยู่ในระหว่างอันตราย.
16, 17. เหตุใดคนที่ทำความผิดร้ายแรงจึงไม่ควรพยายามแก้ไขเรื่องนั้นโดยลำพัง?
16 บางคนเคยคิดจะปิดซ่อนการบาปอันร้ายแรง อาจชักเหตุผลทำนองที่ว่า ‘ฉันสารภาพผิดต่อพระยะโฮวาและสำนึกผิดแล้ว. ทำไมต้องเข้าพบผู้ปกครองด้วยเล่า?’ คนทำผิดอาจรู้สึกอับอายหรือกลัวพวกผู้ปกครองดำเนินการกับเขา. อย่างไรก็ดี เขาควรจดจำไว้ว่า แม้ว่าพระยะโฮวาองค์เดียวเท่านั้นสามารถชำระเราให้สะอาดพ้นจากบาปของเราได้ แต่พระองค์ได้ทรงให้ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องความบริสุทธิ์สะอาดของประชาคม. (บทเพลงสรรเสริญ 51:2) ผู้ปกครองอยู่พร้อมเพื่อบำบัดรักษา เพื่อ “จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่.” (เอเฟโซ 4:12, ล.ม.) การไม่ไปหาผู้ปกครองเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณก็เหมือนการไม่ไปหาหมอเมื่อเราป่วย.
17 บางคนซึ่งพยายามดำเนินการตามลำพังได้พบว่า หลายเดือนหรือหลายปีผ่านไป สติรู้สึกผิดชอบของตนยังคงรบกวนเขาอย่างหนัก. ซ้ำร้ายกว่านั้น คนอื่นที่ซ่อนเร้นความผิดมหันต์ตกเข้าสู่การบาปเป็นหนที่สอง และกระทั่งหนที่สามเสียด้วยซ้ำ. ครั้นเมื่อในที่สุดพวกผู้ปกครองทราบเรื่องราว ก็เป็นกรณีการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง. เป็นการดีกว่าสักเพียงไรหากเชื่อฟังคำแนะนำของยาโกโบ! ท่านเขียนไว้ว่า “มีผู้ใดในพวกท่านป่วยหรือ? จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน และให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขา เอาน้ำมันทาเขาในนามของพระยะโฮวา.” (ยาโกโบ 5:14, ล.ม.) จงไปหาผู้ปกครองขณะที่ยังเป็นเวลาให้การบำบัดรักษา. ถ้าเรารั้งรออยู่นานเกินไป เราอาจกลายเป็นคนที่เย็นชาต่อการกระทำบาป.—ท่านผู้ประกาศ 3:3; ยะซายา 32:1, 2.
การปรากฏตัวและนันทนาการ
18, 19. เหตุใดบาทหลวงคนหนึ่งจึงกล่าวชมเชยพยานพระยะโฮวา?
18 ห้าปีมาแล้ว ในวารสารประจำเขตทางศาสนาเล่มหนึ่งบาทหลวงคาทอลิกในประเทศอิตาลีกล่าวชมพยานพระยะโฮวาอย่างอบอุ่น.a เขาบอกไว้ว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าชอบพยานพระยะโฮวา ข้าพเจ้ายอมรับตรง ๆ ในเรื่องนี้. . . . พยานฯที่ข้าพเจ้ารู้จักเป็นคนพูดอ่อนโยน กิริยาท่าทีไม่มีที่ติ . . . [และ] พูดโน้มน้าวดีมาก. เมื่อไรพวกเราจะเข้าใจเสียทีว่าความจริงต้องมีการเสนอในรูปแบบรับรองเอาได้? ที่ว่าผู้ที่ประกาศความจริงใช่ว่าจะต้องทำอย่างเสียไม่ได้, กลิ่นเหม็นสาบ, ผมเผ้ายุ่งเหยิง, แต่งกายซอมซ่อ?”
19 ตามคำพูดข้างบนนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้บาทหลวงรู้สึกประทับใจได้แก่ลักษณะการแต่งกายของพยานพระยะโฮวาและการปรากฏตัว. เห็นได้ชัดว่า บุคคลที่บาทหลวงพบปะนั้นได้รับฟังคำแนะนำตลอดหลายปีจาก “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ.” (มัดธาย 24:45) คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่าการแต่งกายของสตรีควรเป็นอย่างที่ “ประดับตัวด้วยเสื้อผ้าที่จัดเรียบร้อย ด้วยความสงบเสงี่ยม.” (1 ติโมเธียว 2:9, ล.ม.) ในยุคสมัยที่กำลังเสื่อมเช่นนี้ คำแนะนำนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ชายเหมือนกัน. มีเหตุผลสมควรมิใช่หรือที่ตัวแทนราชอาณาจักรของพระเจ้าพึงปรากฏแก่สายตาคนภายนอกด้วยการแต่งกายสุภาพ?
20. เพราะเหตุใดคริสเตียนควรคำนึงถึงการแต่งกายของตนอยู่เสมอ?
20 บางคนอาจเห็นด้วยที่ว่า เมื่อเข้าร่วมประชุมหรือเมื่อไปประกาศตามบ้าน เขาควรระมัดระวังเรื่องการแต่งกาย แต่เขาอาจคิดว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไม่ครอบคลุมโอกาสอื่น. แต่ว่ามีเวลาใดไหมที่เราไม่เป็นตัวแทนราชอาณาจักรของพระเจ้า? จริงอยู่ สภาพแวดล้อมย่อมแตกต่างกัน. ถ้าเราช่วยงานก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร เราก็จะแต่งกายต่างไปจากเวลาที่เราเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมแห่งเดียวกัน. ยามที่เราอยู่ในระหว่างการพักผ่อนหย่อนใจ เราก็มักจะแต่งกายอย่างที่ผ่อนคลายสบายตัวมากกว่า. แต่เมื่อไรก็ตามที่คนอื่นมองเห็นเรา เสื้อผ้าการแต่งกายของเราควรจัดให้เรียบร้อยและเสี่ยมเจียมตัวอยู่เสมอ.
21, 22. เราได้รับการป้องกันไว้อย่างไรจากนันทนาการซึ่งยังความเสียหาย และเราควรคำนึงถึงคำแนะนำดังกล่าวในแง่ใด?
21 ขอบเขตอีกอันหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจมากคือนันทนาการ. มนุษย์—โดยเฉพาะหนุ่มสาว—ต้องมีนันทนาการ. ไม่เป็นบาปหรือเป็นการเสียเวลาที่จะกำหนดการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับครอบครัว. แม้แต่พระเยซูทรงชวนสาวกของพระองค์ให้ “หยุดพักให้หายเหนื่อยสักหน่อยหนึ่ง.” (มาระโก 6:31) แต่จงระมัดระวังเพื่อว่านันทนาการไม่เปิดทางไปสู่การปนเปื้อนฝ่ายวิญญาณ. เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่นันทนาเน้นการผิดศีลธรรมทางเพศ, ความรุนแรงอย่างร้ายกาจ, ความหวาดเสียวน่ากลัว, และการติดต่อวิญญาณชั่ว. (2 ติโมเธียว 3:3; วิวรณ์ 22:15) บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบระวังระไวต่ออันตรายต่าง ๆ ดังกล่าว และเตือนพวกเรามิได้ขาดให้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้. คุณคิดว่าข้อเตือนใจเหล่านี้เป็นการละเมิดเสรีภาพของคุณไหม? หรือคุณรู้สึกขอบคุณที่องค์การของพระยะโฮวาห่วงใยคุณมากพอถึงกับชี้ให้คุณมองเห็นอันตรายต่าง ๆ อยู่เสมอ?—บทเพลงสรรเสริญ 19:7; 119:95.
22 อย่าลืมว่า แม้เรามีเสรีภาพซึ่งได้รับจากพระยะโฮวา แต่เราต้องรับผิดชอบว่าจะใช้เสรีภาพอย่างไร. ถ้าเราเพิกเฉยต่อคำแนะนำอันดีและตัดสินใจอย่างผิด ๆ เราโทษคนอื่นไม่ได้นอกจากตัวเราเอง. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าด้วยตัวเอง.”—โรม 14:12, ล.ม.; เฮ็บราย 4:13.
คอยท่าเสรีภาพแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า
23. (ก) เราได้รับพระพรอะไรบ้างเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพที่เรามีอยู่? (ข) เราคอยหาพระพรอะไรด้วยใจจดจ่อ?
23 เราเป็นไพร่พลที่ได้รับพระพรจริง ๆ. เราเป็นอิสระพ้นจากศาสนาเท็จและการเชื่อถือโชคลาง. เพราะเครื่องบูชาไถ่บาป เราสามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาพร้อมด้วยสติรู้สึกผิดชอบอันสะอาด เป็นอิสระฝ่ายวิญญาณ พ้นจากการเป็นทาสแห่งบาปและความตาย. และอีกไม่นานจะถึงเวลาที่ “บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ.” ณ อาร์มาเก็ดดอน พี่น้องทั้งหลายของพระเยซูที่มีสง่าราศีในสวรรค์จะปรากฏแก่ชาวโลก ในฐานะผู้พิฆาตศัตรูของพระยะโฮวา. (โรม 8:19; 2 เธซะโลนิเก 1:6-8; วิวรณ์ 2:26, 27) หลังจากนั้น บุตรเหล่านี้ของพระเจ้าจะปรากฏเป็นร่องทางซึ่งพระพรนานาประการจากพระที่นั่งของพระเจ้าไหลมาสู่มนุษยชาติ. (วิวรณ์ 22:1-5) ในที่สุด การปรากฏแห่งเหล่าบุตรทั้งหลายของพระเจ้าย่อมนำมาซึ่งพระพรแก่มนุษย์ที่ซื่อสัตย์ด้วยเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า. คุณคอยเวลานั้นไหม? หากคุณตั้งใจคอยหา จงใช้เสรีภาพของคริสเตียนอย่างรอบคอบ. จงทำงานรับใช้พระเจ้าเสียแต่บัดนี้ แล้วคุณจะมีเสรีภาพล้ำเลิศเช่นนั้นตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
a ภายหลังบาทหลวงผู้นี้ได้ถอนคำพูดของตนเสีย ดูเหมือนเป็นเพราะว่าได้รับความกดดัน.
กรอบทบทวน
▫ พวกผู้ถูกเจิมและแกะอื่นถวายสง่าราศีแด่พระยะโฮวาด้วยวิธีใด?
▫ ทำไมคริสเตียนควรให้เกียรติแก่ผู้มีอำนาจในทางการปกครองฝ่ายโลก?
▫ คริสเตียนสามารถร่วมมือกับผู้ปกครองได้ในทางใดบ้าง?
▫ เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายแล้ว เหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงดูต่างไปจากหลายคนในโลก?
▫ เราควรหลีกเลี่ยงอะไรเมื่อมีนันทนาการ?
[รูปภาพหน้า 17]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ปกครองสมควรได้รับความรักและความร่วมมือจากพวกเรา
[รูปภาพหน้า 18]
เครื่องแต่งกายของคริสเตียนควรเรียบร้อย สุภาพ และเหมาะกับกาละเทศะ