พระวิญญาณของพระยะโฮวา—ชี้นำไพร่พลของพระองค์
“พระวิญญาณของพระองค์ก็ดีเลิศล้น ขอทรงนำข้าพเจ้าไปยังเมืองอันประกอบด้วยความสัตย์ธรรม.”—บทเพลงสรรเสริญ 143:10.
1, 2. อะไรอาจเป็นเหตุนำความทุกข์ลำบากมาสู่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา?
‘ฉันรู้สึกท้อแท้เหลือเกิน! ฉันจะได้การปลอบโยนจากที่ไหน? พระเจ้าทรงทอดทิ้งฉันแล้วหรือ?’ คุณเคยมีความรู้สึกเช่นนี้ไหม? ถ้าคุณเคยก็คงไม่มีแต่คุณคนเดียว. ถึงแม้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาอยู่ในอุทยานอันเฟื่องฟูฝ่ายวิญญาณ บางครั้งพวกเขาประสบปัญหาต่าง ๆ, ความยากลำบาก, และการล่อใจซึ่งก็เกิดขึ้นกับมนุษยชาติทั่วไปที่ทำให้ท้อแท้.—1 โกรินโธ 10:13.
2 บางทีคุณอาจทนอยู่กับความยากลำบากหรือสิ่งที่ก่อความกดดันเป็นเวลานาน. คุณอาจเศร้าโศกเนื่องคนที่คุณรักได้เสียชีวิตไปและอาจรู้สึกว้าเหว่. หรือหัวใจคุณอาจปั่นป่วนเพราะเพื่อนสนิทเจ็บป่วย. สภาพการณ์ดังกล่าวอาจปล้นเอาความยินดีและความสงบสุขไปจากคุณและอาจคุกคามความเชื่อของคุณเสียด้วยซ้ำ. คุณควรทำอย่างไร?
ทูลพระเจ้าขอพระวิญญาณของพระองค์
3. หากอะไรบางอย่างแย่งชิงคุณลักษณะต่าง ๆ อาทิ ความสุขและความยินดีไปจากคุณ ทางที่สุขุมควรทำอย่างไร?
3 ถ้าอะไรบางอย่างกำลังจะแย่งชิงความสุข, ความยินดี, หรือคุณลักษณะอื่น ๆ ทางด้านความเลื่อมใสในพระเจ้าไปจากคุณ จะเป็นการฉลาดสุขุมที่จะอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า. ทำไม? เพราะพระวิญญาณของพระยะโฮวาผลิตผลที่ดีซึ่งช่วยคริสเตียนเผชิญปัญหา, ความยากลำบาก, และการล่อใจต่าง ๆ. หลังจากเตือนให้ระวัง “กิจการของเนื้อหนัง” เปาโลได้เขียนดังนี้: “อีกด้านหนึ่ง ผลแห่งพระวิญญาณคือ ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดกลั้นทนนาน ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนสุภาพ การรู้จักบังคับตน. สิ่งเหล่านี้ไม่มีกฎหมายห้ามเลย.”—ฆะลาเตีย 5:19-23, ล.ม.
4. เมื่อเผชิญกับความทุกข์ยากหรือการล่อใจบางอย่าง ทำไมการอธิษฐานเฉพาะเจาะจงในเรื่องนั้นจึงนับว่าเหมาะสม?
4 เนื่องจากรูปแบบการทดลองที่คุณเผชิญอยู่ คุณอาจตระหนักดีว่าตนอยู่ในอันตรายที่จะขาดเสียซึ่งความอ่อนสุภาพ หรือความอ่อนโยน. เช่นนั้นแล้ว เมื่ออธิษฐานต่อพระเจ้ายะโฮวาจึงควรเจาะจงทูลขอความอ่อนสุภาพอันเป็นผลของพระวิญญาณ. ถ้าคุณเผชิญการล่อใจบางอย่าง คุณย่อมต้องการผลแห่งพระวิญญาณอันได้แก่การรู้จักบังคับตนเป็นพิเศษ. แน่นอน เป็นสิ่งเหมาะสมเช่นเดียวกันที่จะอธิษฐานขอพระเจ้าโปรดช่วยเหลือในการต้านทานสิ่งล่อใจ เพื่อการช่วยให้รอดจากซาตาน, และเพื่อจะได้สติปัญญาที่จำเป็นเพื่อทนทานความยากลำบาก.—มัดธาย 6:13; ยาโกโบ 1:5, 6.
5. หากสภาพแวดล้อมทำให้คุณยุ่งยากใจอย่างหนักจนไม่รู้ว่าจะทูลขอผลแห่งพระวิญญาณอะไรดี คุณสมควรทำประการใด?
5 อย่างไรก็ดี บางครั้งสภาพการณ์อาจยุ่งยากหรือสับสนจนไม่รู้ว่าคุณต้องการผลพระวิญญาณอย่างไหน. ที่จริง ความยินดี, สันติสุข, ความอ่อนสุภาพ, และคุณลักษณะอื่น ๆ ในทางเลื่อมใสในพระเจ้านั้นอาจตกอยู่ในอันตรายได้ทั้งนั้น. แล้วทีนี้จะทำอย่างไร? จงทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระเจ้า และปล่อยให้พระวิญญาณนั้นแหละผลิตผลที่จำเป็นอย่างเต็มที่ในกรณีของคุณ ผลพระวิญญาณที่คุณต้องการอาจเป็นความรัก, ความยินดี, หรือผลอื่น ๆ แห่งพระวิญญาณรวมกันก็ได้. อนึ่ง อธิษฐานขอพระเจ้าช่วยคุณยอมทำตามการชี้นำแห่งพระวิญญาณของพระองค์ เพราะพระเจ้าทรงใช้พระวิญญาณนี้เองนำไพร่พลของพระองค์.
พระยะโฮวาเต็มพระทัยช่วย
6. พระเยซูยังความประทับใจอย่างไรแก่บรรดาสาวกของพระองค์เกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่ต้องอธิษฐานไม่ละลด?
6 เมื่อสาวกของพระเยซูคริสต์ขอคำแนะนำเรื่องการอธิษฐาน พระองค์ทรงสนับสนุนพวกเขาอธิษฐานขอพระวิญญาณจากพระเจ้า. ก่อนอื่น พระเยซูทรงใช้อุทาหรณ์ด้วยจุดประสงค์จะกระตุ้นเขาให้อธิษฐานอยู่เสมอ. พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดในพวกท่านมีมิตรสหายคนหนึ่ง และจะไปหามิตรสหายนั้นในเวลาเที่ยงคืนพูดกับเขาว่า ‘มิตรสหายเอ๋ย ขอให้ฉันยืมขนมปังสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันพึ่งเดินทางมาหาฉัน และฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน’? ฝ่ายมิตรสหายที่อยู่ข้างในจะตอบว่า ‘อย่ารบกวนฉันเลย. ประตูก็ปิดเสียแล้ว ทั้งพวกลูกก็นอนกันแล้ว ฉันจะลุกขึ้นหยิบให้ท่านไม่ได้.’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า แม้เขาจะไม่ลุกขึ้นหยิบให้คนนั้นเพราะเป็นมิตรสหายกัน แต่ว่าเพราะวิงวอนมากเข้า เขาจึงลุกขึ้นหยิบให้ตามที่เขาต้องการ.”—ลูกา 11:5-8.
7. อะไรคือสาระสำคัญที่พระเยซูตรัสไว้ในลูกา 11:11-13 และถ้อยคำตอนนี้ให้คำรับรองอะไรแก่เราในเรื่องพระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์?
7 พระยะโฮวาเต็มพระทัยช่วยทุกคนในหมู่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และอุทิศตัวแล้ว และพระองค์สดับคำขอร้องของเขา. แต่ถ้าคนนั้น ‘ขอต่อ ๆ ไป’ ตามที่พระเยซูทรงแนะนำ ทั้งนี้ย่อมแสดงถึงความปรารถนาอย่างจริงใจ และเป็นการแสดงถึงความเชื่อ. (ลูกา 11:9, 10) พระคริสต์ตรัสเสริมดังนี้: “มีผู้ใดในพวกท่านที่เป็นบิดา ถ้าบุตรขอปลาจะเอางูให้เขาแทนปลาหรือ? หรือถ้าขอไข่ จะเอาแมลงป่องให้เขาหรือ? เหตุฉะนั้น ถ้าท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์!” (ลูกา 11:11-13) ถ้าบิดาซึ่งเป็นมนุษย์ แม้เป็นคนชั่วถ้าไม่มากก็น้อยเนื่องจากได้สืบทอดบาปเป็นมรดกต่อกันมา กระนั้น ก็ยังให้ของดีแก่บุตรของตน แน่นอน พระบิดาของเราที่สถิตในสวรรค์ย่อมประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์แก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนไหนก็ได้ซึ่งทูลขอด้วยความถ่อมใจ.
8. บทเพลงสรรเสริญ 143:10 ใช้หมายถึงดาวิด, พระเยซู, และผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยปัจจุบันอย่างไร?
8 เพื่อจะรับประโยชน์จากพระวิญญาณของพระเจ้า เราต้องเต็มใจเชื่อฟังการนำแห่งพระวิญญาณเหมือนดาวิด. ท่านอธิษฐานว่า “ขอทรงโปรดฝึกสอนข้าพเจ้าให้ประพฤติตามพระทัยของพระองค์ เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า; พระวิญญาณของพระองค์ก็ดีเลิศล้น ขอทรงนำข้าพเจ้าไปยังเมืองอันประกอบด้วยความสัตย์ธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 143:10) ดาวิดผู้ซึ่งถูกซาอูลกษัตริย์ชาติยิศราเอลประณามว่าอยู่นอกความคุ้มครองของกฎหมายนั้นต้องการให้พระวิญญาณของพระเจ้านำเพื่อท่านจะแน่ใจได้ว่าการกระทำของท่านถูกต้องชอบธรรม. ต่อมา อะบีอาธารได้มาพร้อมกับเอโฟดประจำตัวปุโรหิต ซึ่งใช้สำหรับสืบให้รู้แน่เกี่ยวด้วยพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ในฐานะปุโรหิตตัวแทนของพระเจ้า อะบีอาธารได้แนะนำทางที่ดาวิดควรจะไปเพื่อเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา. (1 ซามูเอล 22:17–23:12; 30:6-8) ทำนองเดียวกันกับดาวิด พระเยซูได้รับการนำทางโดยพระวิญญาณของพระยะโฮวา และเป็นจริงเช่นนั้นด้วยกับจำพวกสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์. ในปี 1918-1919 พวกเขาอยู่ในฐานะเหมือนคนต่างด้าวในหมู่มนุษย์ และศัตรูทางศาสนาคิดว่าจะทำลายพวกเขาก็ย่อมได้. ผู้ถูกเจิมได้อธิษฐานขอเพื่อการหลุดพ้นจากสภาพอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร และในปี 1919 พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเขา ทรงช่วยเขาหลุดจากสภาพอยู่เฉย ๆ และให้เขากลับมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ในราชกิจของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 143:7-9) ในคราวนั้น พระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยเหลือและนำไพร่พลของพระองค์อย่างแท้จริง และเป็นอยู่เรื่อยมาจนถึงวันนี้.
วิธีที่พระวิญญาณช่วย
9. (ก) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำหน้าที่เยี่ยง “ผู้ช่วย” อย่างไร? (ข) เราทราบอย่างไรว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่บุคคล? (ดูหมายเหตุ.)
9 พระเยซูคริสต์เรียกพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็น “ผู้ช่วย.” ยกตัวอย่าง พระองค์ตรัสแก่สาวกของพระองค์ว่า “เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์ก็จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่เจ้าทั้งหลาย เพื่อจะอยู่กับพวกเจ้าตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไม่ได้ เพราะโลกไม่เห็นและไม่รู้จักพระวิญญาณนั้น. เจ้าทั้งหลายรู้จัก เพราะว่าพระวิญญาณนั้นสถิตอยู่กับเจ้า และประทับอยู่ภายในเจ้า.” สิ่งหนึ่งก็คือ “ผู้ช่วย” นี้จะเป็นครู เพราะพระคริสต์ทรงสัญญาว่า “แต่ผู้ช่วยนั้นคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรา พระวิญญาณนั้นจะสอนเจ้าทั้งหลายทุกสิ่ง และจะให้เจ้าระลึกถึงทุกสิ่งที่เราได้บอกเจ้าไว้แล้ว.” นอกจากนั้น พระวิญญาณจะเป็นพยานถึงพระคริสต์ และพระองค์ทรงรับรองกับสาวกของพระองค์ดังนี้: “การที่เราจะไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ของเจ้า. เพราะถ้าเราไม่ไป ผู้ช่วยนั้นจะไม่มาหาเจ้าเลย; แต่ถ้าเราไป เราจะใช้ผู้ช่วยนั้นมาหาเจ้า.”—โยฮัน 14:16, 17, 26; 15:26; 16:7.a
10. พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แสดงให้ปรากฏในทางใดว่าเป็นผู้ช่วย?
10 จากสวรรค์ พระเยซูทรงหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่สัญญาไว้ลงสู่สาวกของพระองค์ในวันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33. (กิจการ 1:4, 5; 2:1-11) ในฐานะเป็นผู้ช่วย พระวิญญาณได้บันดาลให้เขาเข้าใจมากขึ้นในเรื่องพระทัยประสงค์และจุดมุ่งหมายของพระเจ้า และได้เผยพระวจนะเชิงพยากรณ์แก่พวกเขา. (1 โกรินโธ 2:10-16; โกโลซาย 1:9, 10; เฮ็บราย 9:8-10) ผู้ช่วยนั้นได้เพิ่มพลังอำนาจแก่สาวกของพระเยซูที่จะให้คำพยานตลอดทั่วแผ่นดินโลก. (ลูกา 24:49; กิจการ 1:8; เอเฟโซ 3:5, 6) ทุกวันนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วให้เติบโตด้วยความรู้ได้เหมือนกัน ถ้าเขาเองยอมรับเอาการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณที่มาจากพระเจ้าผ่านทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด.” (มัดธาย 24:45-47) พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยได้โดยประทานความกล้าหาญและกำลังวังชาที่จำเป็นเพื่อจะให้คำพยานในฐานะเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพระยะโฮวา. (มัดธาย 10:19, 20; กิจการ 4:29-31) อย่างไรก็ดี พระวิญญาณบริสุทธิ์สนับสนุนไพร่พลของพระเจ้าในแนวอื่น ๆ เช่นกัน.
“ด้วยความคร่ำครวญซึ่งเหลือที่จะอธิบายได้”
11. ถ้าความยากลำบากมีท่าว่าหนักหนาจริง ๆ คริสเตียนควรทำประการใด?
11 ถ้าคริสเตียนถูกความทุกข์ยากรุมล้อมซึ่งดูเหมือนหนักหนาจริง ๆ เขาน่าจะทำอะไร? ก็อธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ และให้พระวิญญาณดำเนินงาน! เปาโลพูดว่า “พระวิญญาณนั้นก็ได้ทรงช่วยเราในส่วนที่เราอ่อนกำลังด้วย เพราะว่าเราทั้งหลายไม่รู้ว่าเราควรจะอธิษฐานขอสิ่งใดอย่างไร แต่พระวิญญาณทรงช่วยขอแทนเราด้วยความคร่ำครวญซึ่งเหลือที่จะอธิบายได้. และพระองค์ผู้ทรงชันสูตรใจมนุษย์ก็ทรงทราบความหมายของพระวิญญาณ เพราะว่า [พระวิญญาณ, ล.ม.] ทรงอธิษฐานขอเพื่อสิทธชนตามที่ชอบพระทัยพระเจ้า.”—โรม 8:26, 27.
12, 13. (ก) พระธรรมโรม 8:26, 27 มีความหมายอย่างไรกับคำอธิษฐานที่กล่าวเมื่อตกอยู่ในสภาพที่ลำบากเดือดร้อนเป็นพิเศษ? (ข) เปาโลและเพื่อนร่วมงานกับท่านได้ทำอย่างไรเมื่อตกอยู่ภายใต้ความกดดันอันหนักหน่วงในมณฑลอาเซีย?
12 บรรดาสิทธชนเหล่านั้นที่พระวิญญาณทรงช่วยขอแทนเป็นสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซู มีความหวังฝ่ายสวรรค์. แต่ไม่ว่าคุณถูกเรียกไว้สำหรับสวรรค์หรือมีความหวังอยู่ทางแผ่นดินโลก ในฐานะที่เป็นคริสเตียน คุณจะรับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าได้. บางครั้งพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานเฉพาะเรื่องโดยตรง. แต่บางครั้งคุณอาจเป็นทุกข์ถึงขนาดที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ และอาจเพียงแต่วิงวอนพระยะโฮวาด้วยการคร่ำครวญไม่มีคำพูด. ที่จริง คุณอาจไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับคุณ และอาจขออะไรอื่นที่ผิดด้วยซ้ำไป เว้นแต่คุณอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระเจ้าทรงทราบว่าคุณต้องการให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ และพระองค์ทราบว่าอะไรจำเป็นจริง ๆ สำหรับคุณ. นอกจากนั้น โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงดำเนินงานเพื่อให้คำอธิษฐานหลายเรื่องได้บันทึกลงไว้ในพระวจนะของพระองค์และคำอธิษฐานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสภาพการณ์อันยากลำบาก. (2 ติโมเธียว 3:16, 17; 2 เปโตร 1:21) ฉะนั้น พระยะโฮวาทรงถือว่าอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะเรื่องที่ระบายออกมาเป็นคำอธิษฐานด้วยการดลบันดาลเช่นนั้นเป็นคำพูดซึ่งคุณอยากแสดงออกในฐานะผู้รับใช้คนหนึ่งของพระองค์ และพระองค์สามารถตอบคำอธิษฐานเหล่านั้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณ.
13 เปาโลกับเพื่อนร่วมงานอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะอธิษฐานขออะไรเมื่อประสบความทุกข์ลำบากในมณฑลอาเซีย. เมื่อตกอยู่ใน ‘ความยากลำบากที่หนักใจเหลือประมาณ ท่านเหล่านั้นคาดว่าถึงที่ตายด้วยซ้ำ.’ ถึงกระนั้น พวกเขาได้ขอร้องคนอื่นช่วยอธิษฐานและไว้ใจในพระเจ้า ผู้ทรงสามารถให้คนตายเป็นขึ้นมาอีก และพระองค์ได้โปรดช่วยเขา. (2 โกรินโธ 1:8-11) ช่างเป็นการประโลมใจสักเพียงใดที่พระเจ้ายะโฮวาสดับและดำเนินการสมดังผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ได้ทูลขอ!
14. ผลดีเช่นไรอาจตามมาหากพระยะโฮวาปล่อยให้ความยากลำบากมีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง?
14 บ่อยครั้งไพร่พลของพระเจ้าถูกความทุกข์ลำบากรุมล้อมในฐานะเป็นองค์การ. ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พวกเขาถูกข่มเหงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. แม้ตอนนั้นพวกเขาไม่เข้าใจชัดแจ้งถึงสถานะของตน ฉะนั้น จึงไม่รู้แน่ชัดว่าจะทูลขออะไร พระวจนะของพระยะโฮวามีคำอธิษฐานเชิงพยากรณ์บรรจุไว้แล้วซึ่งพระองค์ทรงตอบเพื่อประโยชน์ของเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 69, 102, 126; ยะซายา บท 12) แต่ถ้าพระยะโฮวาทรงยอมให้มีความยากลำบากต่อไปสักระยะหนึ่งล่ะ? ทั้งนี้อาจยังผลเป็นการให้คำพยาน อาจกระตุ้นบางคนรับเอาความจริงก็ได้ อีกทั้งเปิดโอกาสให้คริสเตียนแสดงความรักฉันพี่น้องโดยอธิษฐานเผื่อกันและกัน หรือมิฉะนั้นก็ให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อที่รับความทุกข์ยาก. (โยฮัน 13:34, 35; 2 โกรินโธ 1:11) จำไว้ว่า พระยะโฮวาทรงนำไพร่พลของพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงกระทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา และจัดการเรื่องต่าง ๆ ในแนวทางที่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์จะได้รับเกียรติยศและเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—เอ็กโซโด 9:16; มัดธาย 6:9.
อย่าทำให้พระวิญญาณเสียพระทัย
15. คริสเตียนสามารถวางใจได้ว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาจะทำสิ่งใดเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเขา?
15 ดังนั้น หากคุณเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ยามประสบความยากลำบากและในวาระอื่น ๆ. ครั้นแล้ว ทำให้แน่ใจว่าจะเชื่อฟังการนำทางของพระวิญญาณ เพราะเปาโลเขียนดังนี้: “อย่ากระทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย พระวิญญาณนั้นได้ทรงประทับตราหมายท่านทั้งหลายไว้จนถึงวันที่ทรงไถ่ให้รอด.” (เอเฟโซ 4:30) พระวิญญาณของพระเจ้าได้เป็นตราประทับและเป็นอยู่ขณะนี้ หรือ ‘เป็นมัดจำของสิ่งที่จะมา’ สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์—กล่าวคือชีวิตอมตะทางภาคสวรรค์. (2 โกรินโธ 1:22; โรม 8:15; 1 โกรินโธ 15:50-57; วิวรณ์ 2:10) ทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและบรรดาชนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกสามารถหมายพึ่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาให้กระทำแทนพวกเขาได้มาก. พระวิญญาณสามารถนำวิถีชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ และช่วยเขาละเว้นการงานที่ผิดบาปอันเป็นเหตุทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย สูญเสียซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ และพลาดโอกาสได้ชีวิตนิรันดร.—ฆะลาเตีย 5:19-21.
16, 17. คริสเตียนอาจทำให้พระวิญญาณเสียพระทัยโดยวิธีใด?
16 ไม่ว่าโดยที่รู้หรือไม่รู้ก็ตาม คริสเตียนอาจกระทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัยได้อย่างไร? พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์ส่งเสริมเอกภาพ และแต่งตั้งพวกผู้ชายในประชาคมที่รู้จักความรับผิดชอบ. เหตุฉะนั้น ถ้าสมาชิกประชาคมจะบ่นว่าผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้ง, แพร่คำนินทาใส่ร้าย, และอะไรอื่น ๆ บุคคลคนนั้นก็ไม่ได้เชื่อฟังการทรงนำแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าไปสู่สันติสุขและเอกภาพ. กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป เขาเป็นผู้ที่ทำให้พระวิญญาณเสียพระทัย.—1 โกรินโธ 1:10; 3:1-4, 16, 17; 1 เธซะโลนิเก 5:12, 13; ยูดา 16.
17 เมื่อได้เขียนถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซ เปาโลเตือนให้ระมัดระวังแนวโน้มต่าง ๆ ไปสู่การมุสา, การถือโกรธ, การลักทรัพย์, การพูดหยาบช้า, มักมากในกามด้วยการทำผิดศีลธรรมทางเพศ, การประพฤติอันน่าละอาย, และล้อเล่นอย่างหยาบโลน. ถ้าคริสเตียนปล่อยตัวลอยไปตามกระแสดังกล่าว เขาก็คงฝ่าฝืนคำแนะนำแห่งคัมภีร์ไบเบิลที่รับการดลบันดาลโดยพระวิญญาณ. (เอเฟโซ 4:17-29; 5:1-5) ใช่แล้ว และจนถึงระดับหนึ่ง เขาย่อมกระทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัย.
18. อะไรอาจเกิดขึ้นกับคริสเตียนคนใดก็ได้ซึ่งเริ่มละเลยคำแนะนำจากพระวจนะที่ได้รับโดยการดลบันดาลจากพระวิญญาณของพระเจ้า?
18 ตามจริงแล้ว คริสเตียนคนใดซึ่งเริ่มละเลยคำแนะนำแห่งพระวจนะที่รับการดลบันดาลโดยพระวิญญาณของพระยะโฮวาอาจเริ่มพัฒนาท่าที หรือเพาะนิสัยอันยังผลเป็นการทำบาปโดยเจตนา แล้วขาดเสียซึ่งความโปรดปรานของพระเจ้า. แม้ในขณะนี้เขาอาจไม่ทำบาปเป็นอาจิณ ทว่าเขาอาจบ่ายหน้าไปทิศทางนั้นก็ได้. คริสเตียนที่ขัดขืนการทรงนำของพระวิญญาณก็ทำให้พระวิญญาณเสียพระทัย. เขาจะขัดขืนและทำให้พระยะโฮวา ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัยเช่นกัน. ผู้ที่รักพระเจ้าคงไม่ประสงค์จะกระทำเช่นนั้นเป็นแน่!
จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เรื่อยไป
19. เหตุใดไพร่พลของพระยะโฮวาทุกวันนี้จึงต้องการพระวิญญาณของพระองค์เป็นพิเศษ?
19 หากคุณเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน “สมัยสุดท้าย” นี้อันเป็นวิกฤตกาลที่ยากจะจัดการได้ คริสเตียนจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 3:1-5) พญามารและเหล่าผีปีศาจถูกขับออกจากสวรรค์แล้ว บัดนี้ได้มาอยู่ใกล้บริเวณแผ่นดินโลก จึงแสดงความโกรธแค้นต่อองค์การของพระยะโฮวา. ฉะนั้น เวลานี้ไพร่พลของพระเจ้ายิ่งต้องการพระวิญญาณบริสุทธิ์มากกว่าคราวใด ๆ ทั้งสิ้นให้นำทางหรือชี้แนะเขา และเสริมกำลังพวกเขาเพื่อที่จะสามารถทนความยากลำบากและการข่มเหง.—วิวรณ์ 12:7-12.
20, 21. เพราะเหตุใดจึงติดตามการชี้นำแห่งพระวจนะ, พระวิญญาณ, และองค์การของพระยะโฮวา?
20 จงหยั่งรู้ค่าอยู่เสมอสำหรับการช่วยเหลือที่พระเจ้ายะโฮวาทรงจัดเตรียมโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. จงปฏิบัติตามคำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล พระวจนะที่รับการดลบันดาลโดยพระวิญญาณของพระองค์. ร่วมมือเต็มที่กับองค์การทางแผ่นดินโลกซึ่งนำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า. อย่าปล่อยตัวหันเหไปในทางที่ไม่เป็นไปตามหลักการแห่งคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเท่ากับว่าได้ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัย เพราะนี้ในที่สุดอาจนำไปสู่การถอนพระวิญญาณบริสุทธิ์ และจึงนำไปสู่ความหายนะฝ่ายวิญญาณ.—บทเพลงสรรเสริญ 51:11.
21 การยอมให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาชักนำตนเป็นวิธีเดียวที่ทำให้พระองค์พอพระทัยและมีชีวิตสงบสุขและชื่นชมยินดี. อนึ่ง พึงระลึกว่าพระเยซูเรียกพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า “ผู้ช่วย” หรือ “ผู้ปลอบโยน.” (โยฮัน 14:16, ดูเชิงอรรถ, ฉบับแปลโลกใหม่.) โดยพระวิญญาณนี้เอง พระเจ้าทรงประโลมใจและเสริมกำลังคริสเตียนให้เข้มแข็งในการที่จะเผชิญความทุกข์ยาก. (2 โกรินโธ 1:3, 4) พระวิญญาณให้อำนาจไพร่พลของพระยะโฮวาทำการประกาศข่าวดีและสนับสนุนเขาให้ระลึกจุดสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับข้อคัมภีร์เพื่อให้คำพยานอย่างน่าพอใจ. (ลูกา 12:11, 12; โยฮัน 14:25, 26; กิจการ 1:4-8; 5:32) โดยการอธิษฐานและการชี้นำแห่งพระวิญญาณ คริสเตียนสามารถเผชิญการทดลองความเชื่อได้พร้อมด้วยสติปัญญาฝ่ายเบื้องบน. เหตุฉะนั้น ในทุกสภาพการณ์ของชีวิต พวกเขาอธิษฐานขอพระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่เรื่อยไป. ผลก็คือ พระวิญญาณของพระยะโฮวานำไพร่พลของพระองค์.
[เชิงอรรถ]
a แม้พระเยซูตรัสเรื่อง “ผู้ช่วย” เสมือนเป็นบุคคล กระนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่บุคคล เพราะคำภาษากรีกใช้สรรพนามไม่มีเพศว่า “มัน” กับคำวิญญาณ. สรรพนามเพศหญิงในภาษาฮีบรูก็ถูกนำไปใช้กับสติปัญญาเช่นกัน. (สุภาษิต 1:20-33; 8:1-36) นอกจากนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ “ได้หลั่งลง” ซึ่งคงทำไม่ได้กับบุคคล.—กิจการ 2:33.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมจึงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา?
▫ พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ช่วยอย่างไร?
▫ การทำให้พระวิญญาณเสียพระทัยนั้นหมายถึงอะไร และเราจะหลีกเลี่ยงไม่ทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
▫ เหตุใดจึงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ และติดตามการทรงนำแห่งพระวิญญาณอยู่เรื่อยไป?
[รูปภาพหน้า 15]
บิดาที่เปี่ยมด้วยความรักให้ของดีแก่บุตรฉันใด พระยะโฮวาให้พระวิญญาณของพระองค์แก่ผู้รับใช้ที่ทูลขอจากพระองค์ฉันนั้น
[รูปภาพหน้า 17]
คุณทราบไหมว่าโดยวิธีใดพระวิญญาณของพระเจ้าวิงวอนขอเผื่อคริสเตียนที่อธิษฐานเสมอ?