การให้ของของซีซาร์แก่ซีซาร์
“จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรจะได้รับ.”—โรม 13:7.
1, 2. (ก) ตามที่พระเยซูตรัส คริสเตียนควรทำให้พันธะที่เขามีต่อพระเจ้าสมดุลกับที่มีต่อซีซาร์อย่างไร? (ข) อะไรคือสิ่งที่พยานพระยะโฮวาห่วงใยเป็นอันดับแรก?
ตามที่พระเยซูตรัสไว้ มีสิ่งที่เราพึงต้องถวายแด่พระเจ้าและสิ่งที่เราพึงต้องให้แก่ซีซาร์ หรือรัฐ. พระเยซูตรัสว่า “ของของซีซาร์จงใช้คืนแก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.” ด้วยคำตรัสไม่กี่คำนี้ พระองค์ทรงทำให้เหล่าศัตรูของพระองค์ตะลึงและทรงสรุปเจตคติที่สมดุลซึ่งเราต้องมีในเรื่องสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าและในการปฏิบัติของเรากับรัฐ. ไม่แปลกที่เหล่าผู้ฟังพระองค์ “ประหลาดใจในพระองค์.”!—มาระโก 12:17, ล.ม.
2 แน่นอน สิ่งที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเป็นห่วงอันดับแรกคือการที่พวกเขาถวายของของพระเจ้าแด่พระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 116:12-14) แต่ในการทำเช่นนั้น พวกเขาไม่ลืมที่พระเยซูตรัสว่า พวกเขาต้องให้บางสิ่งแก่ซีซาร์. สติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกอบรมตามคัมภีร์ไบเบิลเรียกร้องพวกเขาให้พิจารณาอย่างจริงจังว่า เขาสามารถให้สิ่งที่ซีซาร์เรียกร้องเอานั้นได้ถึงขีดไหน. (โรม 13:7) ในสมัยปัจจุบัน ผู้รอบรู้กฎหมายหลายคนยอมรับว่าอำนาจรัฐบาลมีจำกัด และยอมรับว่าผู้คนกับรัฐบาลทุกหนทุกแห่งถูกผูกมัดด้วยกฎหมายธรรมชาติ.
3, 4. มีการให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจอะไรเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ, พระบัญญัติที่เปิดเผยด้วยการดลใจ, และกฎหมายของมนุษย์?
3 อัครสาวกเปาโลพาดพิงถึงกฎหมายธรรมชาตินี้เมื่อท่านเขียนเกี่ยวกับผู้คนในโลกนี้ว่า “สิ่งที่รู้ได้เกี่ยวกับพระเจ้าก็ปรากฏแจ้งท่ามกลางพวกเขา เพราะพระเจ้าทรงสำแดงให้ปรากฏแจ้งแก่เขา. เพราะ คุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะว่าคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น กระทั่งฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น เหตุฉะนั้นเขาจึงไม่มีข้อที่จะแก้ตัวได้.” หากพวกเขาจะตอบรับกฎหมายนี้ กฎหมายธรรมชาติจะกระตุ้นแม้กระทั่งสติรู้สึกผิดชอบของผู้ไม่มีความเชื่อเหล่านี้ด้วยซ้ำ. ด้วยเหตุนั้น เปาโลจึงกล่าวต่อไปอีกว่า “เมื่อพวกต่างประเทศซึ่งไม่มีพระบัญญัติก็ได้ประพฤติตามพระบัญญัติโดยธรรมชาติ คนเหล่านั้นแม้ไม่มีพระบัญญัติก็เป็นบัญญัติแก่ตัวเอง. เขาเหล่านั้นเป็นผู้ซึ่งสำแดงการที่กฎหมายเขียนไว้ในหัวใจของเขา ขณะที่สติรู้สึกผิดชอบของเขาเป็นพยานด้วยกันกับเขา.”—โรม 1:19, 20; 2:14, 15, ล.ม.
4 ในศตวรรษที่ 18 วิลเลียม แบล็กสโตน นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษได้เขียนว่า “กฎหมายแห่งธรรมชาติ [กฎหมายธรรมชาติ] อยู่ร่วมสมัยกับ [มีอายุเท่ากับ] มนุษยชาติและบัญชาโดยพระเจ้าเอง จึงเป็นข้อผูกมัดที่เหนือกว่ากฎหมายอื่นใดแน่นอน. กฎหมายนี้วางข้อผูกมัดเหนือโลกทั้งสิ้น, ในทุกประเทศ, และทุกสมัย: ไม่มีกฎหมายใด ๆ ของมนุษย์จะมีผลบังคับ หากขัดกับกฎหมายธรรมชาติ.” แบล็กสโตนกล่าวต่อไปเกี่ยวกับ “พระบัญญัติที่ถูกเปิดเผยด้วยการดลใจ” ดังที่พบในคัมภีร์ไบเบิล และเขาได้ให้ความเห็นดังนี้: “กฎหมายทั้งปวงของมนุษย์อาศัยพื้นฐานสองประการนี้ คือกฎหมายแห่งธรรมชาติและกฎหมายแห่งการเปิดเผยด้วยการดลใจ นั่นหมายความว่า ไม่ควรยอมให้กฎหมายใดของมนุษย์ขัดแย้งกับกฎหมายทั้งสองนี้.” เรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับพระเจ้าและซีซาร์ ดังบันทึกไว้ที่มาระโก 12:17. ชัดแจ้งว่า มีด้านต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงจำกัดสิ่งที่ซีซาร์อาจเรียกร้องได้จากคริสเตียน. ศาลซันเฮดรินได้หลงทำเกินขีดที่พระเจ้าทรงจำกัดนั้นเมื่อพวกเขาสั่งให้พวกอัครสาวกเลิกประกาศเรื่องพระเยซู. ฉะนั้น พวกอัครสาวกจึงตอบโต้อย่างถูกต้องว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:28, 29, ล.ม.
“ของของพระเจ้า”
5, 6. (ก) เมื่อคำนึงถึงการกำเนิดของราชอาณาจักรในปี 1914 คริสเตียนควรจดจำเรื่องอะไรไว้ให้มั่นยิ่งขึ้น? (ข) คริสเตียนให้หลักฐานอย่างไรว่าเขาเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า?
5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 1914 เมื่อพระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์โดยทางราชอาณาจักรมาซีฮาของพระคริสต์ ที่เหล่าคริสเตียนต้องแน่ใจว่าจะไม่ให้ของของพระเจ้าแก่ซีซาร์. (วิวรณ์ 11:15, 17) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะนี้พระบัญญัติของพระเจ้าเรียกร้องให้คริสเตียน “ไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) เมื่อได้อุทิศตัวแล้วแด่พระเจ้าผู้ทรงประทานชีวิต พวกเขาต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ตัวเขาไม่เป็นของตนเองอีกต่อไป. (บทเพลงสรรเสริญ 100:2, 3) ดังเปาโลจารึกไว้ “เราก็เป็นคนของพระยะโฮวา” (โรม 14:8, ล.ม.) นอกจากนั้น ณ การรับบัพติสมาของคริสเตียน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เพื่อเขาจะพูดได้เหมือนกับเปาโลว่า “พระเจ้า . . . ได้ทรงโปรดให้เรามีคุณวุฒิเพียงพออย่างแท้จริงให้เป็นผู้รับใช้แห่งคำสัญญาไมตรีใหม่.”—2 โกรินโธ 3:5, 6, ล.ม..
6 อัครสาวกเปาโลจารึกไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้ายกย่องงานรับใช้ของข้าพเจ้า.” (โรม 11:13, ล.ม.) แน่นอน เราควรทำเช่นเดียวกัน. ไม่ว่าเรามีส่วนในงานเผยแพร่แบบเต็มเวลาหรือแบบไม่เต็มเวลา เราระลึกเสมอว่าพระยะโฮวาเองทรงมอบหมายเราให้ทำงานเผยแพร่. (2 โกรินโธ 2:17) เนื่องจากบางคนอาจสงสัยฐานะของเรา คริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วทุกจึงต้องพร้อมจะให้ข้อพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้รับใช้แห่งข่าวดีอย่างแท้จริง. (1 เปโตร 3:15) อนึ่ง ความประพฤติของเขาควรให้หลักฐานถึงงานรับใช้ของเขาด้วย. ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า คริสเตียนพึงสนับสนุนและปฏิบัติตามหลักศีลธรรมที่สะอาด, ส่งเสริมเอกภาพในครอบครัว, เป็นคนซื่อสัตย์, และแสดงความนับถือกฎหมายและระเบียบ. (โรม 12:17, 18; 1 เธซะโลนิเก 5:15) สัมพันธภาพของคริสเตียนกับพระเจ้าและงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา. เขาไม่อาจละทิ้งสิ่งเหล่านี้ตามคำสั่งของซีซาร์. เป็นที่ชัดแจ้งว่าสิ่งเหล่านี้ต้องนับอยู่ในบรรดา “ของของพระเจ้า.”
“ของของซีซาร์”
7. ชื่อเสียงอันดีของพยานพระยะโฮวาในเรื่องการเสียภาษีเป็นอย่างไร?
7 พยานพระยะโฮวาทราบว่าพวกเขาพึงต้อง “ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า” คือพวกผู้ปกครองในรัฐบาล. (โรม 13:1, ล.ม.) ดังนั้น เมื่อซีซาร์หรือรัฐมีคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย สติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการอบรมตามคัมภีร์ไบเบิลอนุญาตให้เขาทำตามคำสั่งเหล่านั้น. ยกตัวอย่าง คริสเตียนแท้อยู่ท่ามกลางผู้เสียภาษีที่เป็นแบบอย่างอันดีที่สุดบนแผ่นดินโลก. ในเยอรมนี หนังสือพิมพ์มืนชเนอร์ เมอร์คูร์ กล่าวถึงพยานพระยะโฮวาดังนี้: “พวกเขาเป็นผู้เสียภาษีที่ซื่อสัตย์ที่สุดและตรงเวลาที่สุดในสหพันธรัฐ.” ในอิตาลี หนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา ให้ข้อสังเกตว่า “พวกเขา [พยานพระยะโฮวา] เป็นพลเมืองที่ภักดีที่สุดที่ใคร ๆ ก็คงอยากให้มี พวกเขาไม่เลี่ยงภาษีหรือหาทางเลี่ยงกฎหมายที่ทำตามไม่สะดวกเพื่อประโยชน์ของเขาเอง.” ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทำเช่นนี้ ‘เนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบของเขา.’—โรม 13:5, 6.
8. สิ่งที่เราพึงต้องให้แก่ซีซาร์จำกัดแค่เงินภาษีที่ต้องจ่ายไหม?
8 “ของของซีซาร์” จำกัดแค่การเสียภาษีเท่านั้นหรือ? เปล่า. เปาโลให้รายการสิ่งอื่นไว้อีก เช่น ความเกรงกลัวและการให้เกียรติ. ในหนังสือของเขาชื่อคู่มือวิจารณ์และชี้แจงกิตติคุณมัดธาย ผู้คงแก่เรียนชาวเยอรมัน ไฮน์ริค ไมเออร์ เขียนว่า “เกี่ยวด้วย [ของของซีซาร์] . . . เราต้องไม่เข้าใจว่าจำกัดแค่ภาษี แต่หมายถึงทุกสิ่งที่ซีซาร์ได้รับสิทธิ์เนื่องจากกฎเกณฑ์อันชอบด้วยกฎหมายของเขา.” ในหนังสือของเขาชื่อการขึ้นมาของศาสนาคริสเตียน นักประวัติศาสตร์ อี. ดับเบิลยู. บานส์ ให้ข้อสังเกตว่า คริสเตียนจะเสียภาษีหากเขามีพันธะต้องชำระภาษีเหล่านั้นและ “ยอมรับพันธะหน้าที่อื่น ๆ ทั้งหมดที่มีต่อรัฐ ตราบใดที่ไม่เรียกร้องให้เขาถวายสิ่งที่เป็นของพระเจ้าแก่ซีซาร์.”
9, 10. คริสเตียนอาจมีความลังเลใจอะไรเกี่ยวกับการให้สิ่งที่ซีซาร์ควรได้รับ แต่ควรจดจำข้อเท็จจริงเรื่องอะไรไว้?
9 สิ่งใดที่รัฐอาจเรียกร้องโดยไม่ล่วงล้ำสิ่งที่เป็นของพระเจ้าโดยชอบธรรม? บางคนคิดว่าเขาอาจจ่ายเงินแก่ซีซาร์อย่างถูกทำนองคลองธรรมในรูปของภาษีแต่ไม่ใช่ในรูปสิ่งอื่น. พวกเขาคงรู้สึกไม่สบายใจแน่ที่ให้สิ่งใด ๆ แก่ซีซาร์ซึ่งอาจกินเวลาที่อาจใช้สำหรับกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป็นความจริงที่เราควร ‘รักพระยะโฮวาพระเจ้าของเราด้วยสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, สุดความคิด, และสุดกำลังของเรา’ แต่พระยะโฮวาก็ทรงคาดหมายให้เราใช้เวลาในเรื่องอื่น ๆ นอกจากงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา. (มาระโก 12:30; ฟิลิปปอย 3:3) ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่สมรสแล้วได้รับคำแนะนำให้สละเวลาเพื่อทำให้คู่สมรสของตนพอใจ. กิจกรรมเช่นนั้นไม่ผิด แต่อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า สิ่งเหล่านั้นเป็น “การของโลกนี้” ไม่ใช่ “การขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 7:32-34; เทียบกับ 1 ติโมเธียว 5:8.
10 นอกจากนั้น พระคริสต์ทรงอนุญาตเหล่าสาวกของพระองค์ให้ “ใช้คืน” ภาษี และแน่นอนว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการใช้เวลาซึ่งได้อุทิศแล้วแด่พระยะโฮวาด้วย เพราะเวลาทั้งสิ้นในชีวิตของเราอุทิศแล้วในแนวทางนี้. หากเฉลี่ยการเก็บภาษีในประเทศหนึ่งคือ 33 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ (ในบางประเทศสูงกว่านี้) นี่หมายความว่า ในแต่ละปีผู้ทำงานโดยทั่วไปต้องจ่ายแก่คลังของรัฐถึงหนึ่งในสามของรายได้ของตน. พูดอีกอย่างคือ จากเวลาทำงานทั้งสิ้นในชีวิตเขา ผู้ทำงานโดยทั่วไปจะจ่ายรายได้ของราว ๆ 15 ปีสำหรับเงินภาษีที่ “ซีซาร์” เรียกร้อง. เช่นกัน ขอพิจารณาในเรื่องการเล่าเรียน. ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ กฎหมายเรียกร้องให้บิดามารดาส่งลูก ๆ เข้าโรงเรียนตามจำนวนปีขั้นต่ำที่กำหนด. จำนวนปีที่ต้องเข้าโรงเรียนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ. ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ มีข้อเรียกร้องให้เข้าโรงเรียนนานทีเดียว. จริงอยู่ ตามปกติแล้วการเล่าเรียนมีประโยชน์ แต่ก็เป็นซีซาร์นั่นแหละที่ตัดสินว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใดในชีวิตเด็กในทางนี้ และบิดามารดาที่เป็นคริสเตียนจะทำตามการตัดสินของซีซาร์.
การเกณฑ์เข้าเป็นทหาร
11, 12. (ก) ซีซาร์เรียกร้องอะไรในหลายประเทศ? (ข) คริสเตียนรุ่นแรกมีทัศนะอย่างไรในเรื่องการเป็นทหาร?
11 ข้อเรียกร้องอีกประการหนึ่งโดยซีซาร์ในบางประเทศคือการเกณฑ์เข้าเป็นทหาร. ในศตวรรษที่ 20 ประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ดำเนินการนี้ในยามสงครามและบางประเทศก็ดำเนินการในยามสงบด้วย. ในฝรั่งเศสมีการเรียกข้อบังคับนี้ว่าภาษีเลือดเป็นเวลาหลายปี ซึ่งหมายความว่าคนหนุ่มทุกคนต้องเต็มใจจะสละชีวิตของเขาเพื่อรัฐ. นี่เป็นสิ่งที่ผู้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาจะให้ได้ไหมโดยมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี? คริสเตียนในศตวรรษแรกมีทัศนะอย่างไรในเรื่องนี้?
12 ขณะที่คริสเตียนรุ่นแรกเพียรพยายามจะเป็นพลเมืองดี ความเชื่อของพวกเขากันเขาไว้จากการเอาชีวิตผู้อื่น หรือไม่ก็จากการสละชีวิตตนเองเพื่อรัฐ. สารานุกรมศาสนา กล่าวว่า “พวกนักเขียนคริสเตียนรุ่นแรกซึ่งรวมทั้งเทอร์ทูลเลียนและออริเกนต่างยืนยันว่า คริสเตียนถูกห้ามเอาชีวิตมนุษย์ หลักการที่กันพวกเขาไว้จากการเข้าร่วมในกองทัพโรมัน.” ในหนังสือของเขาชื่อคริสตจักรรุ่นแรกและโลก ศาสตราจารย์ ซี. เจ. คาดูซ์ เขียนว่า “จนกระทั่งรัชกาลมาร์คุส เอารีลิอุส อย่างน้อย [161-181 ส.ศ.] ไม่มีคริสเตียนคนใดจะเป็นทหารหลังจากเขารับบัพติสมา.”
13. เหตุใดคนส่วนใหญ่ในคริสต์ศาสนจักรไม่มองดูการเป็นทหารเหมือนที่คริสเตียนรุ่นแรกมอง?
13 ทำไมในปัจจุบันสมาชิกโบสถ์ในคริสต์ศาสนจักรไม่มองเรื่องต่าง ๆ อย่างนี้? ก็เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในศตวรรษที่สี่. หนังสือของคาทอลิกชื่อประวัติศาสตร์ของสภาคริสเตียน อธิบายดังนี้: “คริสเตียนจำนวนมาก . . . ภายใต้จักรพรรดินอกรีต มีหลักจรรยาทางศาสนาที่ขัดกับการเป็นทหาร และปฏิเสธอย่างแน่ชัดจะไม่เป็นทหารหรือไม่ก็เลิกเป็นเอง. สภาศาสนา [แห่งอาร์เลส์ เปิดในปีสากลศักราช 314] เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่นำเข้ามาโดยคอนสแตนติน ได้ประกาศข้อบังคับว่าคริสเตียนต้องรับใช้ในสงคราม . . . เพราะคริสตจักรมีสันติ (ก้าวไปพร้อมกัน) กับรัฐภายใต้จักรพรรดิซึ่งเป็นมิตรกับพวกคริสเตียน.” ผลสืบเนื่องจากการละทิ้งคำสอนของพระเยซูก็คือ นับแต่เวลานั้นจนบัดนี้ นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้สนับสนุนฝูงแกะของตนให้รับใช้ในกองทัพของชาติต่าง ๆ แม้ว่าบางคนได้ยึดเอาจุดยืนในฐานะผู้ไม่ยอมเป็นทหารเนื่องด้วยเหตุผลทางสติรู้สึกผิดชอบก็ตาม.
14, 15. (ก) คริสเตียนบางแห่งขอรับการยกเว้นจากการเป็นทหารโดยอาศัยเหตุผลอะไร? (ข) ในที่ที่ไม่มีการยกเว้น หลักการอะไรในพระคัมภีร์จะช่วยคริสเตียนให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องการเป็นทหาร?
14 คริสเตียนสมัยปัจจุบันมีพันธะต้องทำตามคนส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ไหม? ไม่. หากคริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการอนุญาตให้ศาสนาจารย์ได้รับยกเว้นจากการเป็นทหาร เขาก็อาจใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้ เพราะเขาเป็นศาสนาจารย์จริง ๆ. (2 ติโมเธียว 4:5) หลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐและออสเตรเลีย ได้อนุญาตให้มีการยกเว้นเช่นนั้นแม้แต่ในยามสงคราม. และในยามสงบ ในหลายประเทศที่ยังมีการเกณฑ์ทหาร พยานพระยะโฮวาในฐานะศาสนาจารย์ก็ได้รับการยกเว้น. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงสามารถช่วยเหลือผู้คนต่อไปได้ด้วยการบริการเพื่อสาธารณประโยชน์.
15 แต่จะว่าอย่างไรถ้าคริสเตียนอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่อนุญาตให้มีการยกเว้นการเกณฑ์ทหารแก่ศาสนาจารย์? ถ้าเช่นนั้น เขาก็จะต้องตัดสินใจเองตามสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการอบรมตามคัมภีร์ไบเบิล. (ฆะลาเตีย 6:5) ขณะที่คำนึงถึงอำนาจของซีซาร์ เขาจะใคร่ครวญอย่างรอบคอบถึงสิ่งที่เขาพึงต้องถวายแด่พระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9; 116:12-14; กิจการ 17:28) คริสเตียนจะจดจำว่าเครื่องหมายของคริสเตียนแท้คือความรักต่อเพื่อนร่วมความเชื่อของเขา แม้แต่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นหรือเป็นคนเผ่าอื่น. (โยฮัน 13:34, 35; 1 เปโตร 2:17) นอกจากนี้ เขาจะไม่ลืมหลักการของพระคัมภีร์ที่มีอยู่ในข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น ยะซายา 2:2-4; มัดธาย 26:52; โรม 12:18; 14:19; 2 โกรินโธ 10:4; และเฮ็บราย 12:14.
การรับราชการพลเรือน
16. ในบางประเทศ งานบริการอะไรที่ไม่เกี่ยวกับทางทหารที่ซีซาร์เรียกร้องจากผู้ที่ไม่ยอมเป็นทหาร?
16 อย่างไรก็ตาม มีประเทศที่ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่อนุญาตให้มีการยกเว้นการเกณฑ์ทหารแก่ศาสนาจารย์ แต่ก็ยอมรับว่าบางคนอาจไม่ยอมเป็นทหาร. ประเทศเหล่านั้นหลายประเทศตั้งบทบัญญัติให้บุคคลที่ต้องทำตามสติรู้สึกผิดชอบไม่ต้องถูกบังคับให้เป็นทหาร. ในบางแห่ง ข้อเรียกร้องให้ทำงานบริการด้านพลเรือน เช่น งานที่เป็นประโยชน์ในชุมชน ถือกันว่าเป็นราชการที่ไม่เกี่ยวกับทางทหาร. คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วอาจรับราชการเช่นนั้นได้ไหม? ในเรื่องนี้เช่นกัน คริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วจะต้องตัดสินใจเองโดยอาศัยสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการอบรมตามคัมภีร์ไบเบิล.
17. มีตัวอย่างงานบริการด้านพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับทางทหารไหมในคัมภีร์ไบเบิล?
17 ดูเหมือนว่าการเกณฑ์ให้ทำงานก็เคยทำกันในสมัยพระคัมภีร์. หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งกล่าวว่า “นอกจากภาษีอากรและค่าบำรุงต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากผู้อาศัยอยู่ในแคว้นยูเดียแล้ว ก็ยังมีงานไม่มีค่าแรง [งานไม่มีค่าแรงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกให้ทำ]. นี่เป็นการจัดเตรียมเก่าแก่ในตะวันออกกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรีกและโรมันยังคงรักษาไว้. . . . เช่นเดียวกัน คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่อ้างถึงตัวอย่างงานไม่มีค่าแรงในยูเดีย ซึ่งแสดงว่างานแบบนี้มีแพร่หลายแค่ไหน. ประสานกับธรรมเนียมนี้ พวกทหารบังคับซีโมนชาวกุเรเนให้แบกกางเขน [เสาทรมาน] ของพระเยซู (มัดธาย 5:41; 27:32; มาระโก 15:21; ลูกา 23:26).”
18. บ่อยครั้ง พยานพระยะโฮวาร่วมมือในงานบริการชุมชนแบบใดบ้างที่ไม่เกี่ยวกับทางทหารหรือทางศาสนา?
18 ทำนองคล้ายกัน พลเมืองบางประเทศในทุกวันนี้ถูกรัฐหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรียกร้องให้เข้าส่วนร่วมในงานบริการชุมชนหลายหลากรูปแบบ. บางครั้งเป็นงานเฉพาะอย่าง เช่น การขุดบ่อน้ำหรือสร้างถนน บางครั้งเป็นงานประจำ เช่น การเข้าส่วนร่วมในการทำความสะอาดถนน, โรงเรียน, หรือโรงพยาบาลทุกสัปดาห์. ในประการที่งานบริการด้านพลเรือนนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชนและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จหรือไม่ขัดกับสติรู้สึกผิดชอบของพยานพระยะโฮวาในทางใดทางหนึ่ง พวกเขามักจะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น. (1 เปโตร 2:13-15) ตามปกติแล้วการทำเช่นนี้ยังผลเป็นการให้คำพยานอย่างดีเยี่ยม และบางครั้งทำให้ผู้ที่กล่าวหาเท็จว่าพยานต่อต้านรัฐบาลนั้นเงียบเสียงลง.—เทียบกับมัดธาย 10:18.
19. คริสเตียนควรจัดการเรื่องราวอย่างไรหากซีซาร์เรียกร้องให้เขาทำงานราชการซึ่งไม่เกี่ยวกับทางทหารสักระยะหนึ่ง?
19 แต่จะว่าอย่างไรถ้ารัฐเรียกร้องคริสเตียนให้รับราชการพลเรือนระยะหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของการรับราชการภายใต้การบริหารโดยฝ่ายพลเรือน? เรื่องนี้ก็เช่นกัน คริสเตียนต้องตัดสินใจเองโดยใช้สติรู้สึกผิดชอบที่อาศัยความรู้. “เราทุกคนจะยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์แห่งการพิพากษาของพระเจ้า.” (โรม 14:10, ล.ม.) คริสเตียนที่ถูกรัฐเรียกร้องควรพิเคราะห์เรื่องนั้นพร้อมด้วยการอธิษฐานและไตร่ตรองให้ดี.a คงเป็นการสุขุมเช่นกันที่จะปรึกษาเรื่องนั้นกับคริสเตียนอาวุโสในประชาคม. หลังจากทำเช่นนี้แล้วก็ต้องตัดสินใจเอง.—สุภาษิต 2:1-5; ฟิลิปปอย 4:5.
20. คำถามและหลักการอะไรในพระคัมภีร์ช่วยคริสเตียนให้หาเหตุผลในเรื่องงานราชการพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับทางทหาร?
20 ขณะที่ทำการค้นคว้านั้น คริสเตียนพึงพิจารณาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลหลาย ๆ ข้อ. เปาโลกล่าวว่าเราต้อง “เชื่อฟังรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่เป็นผู้ปกครอง, ให้พร้อมสำหรับการงานที่ดีทุกอย่าง, . . . มีเหตุผล, สำแดงแต่ความอ่อนโยนต่อคนทั้งปวง.” (ติโต 3:1, 2, ล.ม.) ขณะเดียวกัน คริสเตียนควรตรวจดูงานพลเรือนที่มีการเสนอให้ทำ. ถ้าเขายอมรับทำ เขาจะสามารถรักษาความเป็นกลางของคริสเตียนไว้ได้ไหม? (มีคา 4:3; โยฮัน 17:16) งานนั้นจะทำให้เขาพัวพันกับศาสนาเท็จไหม? (วิวรณ์ 18:4, 20, 21) การทำงานนั้นกีดกันหรือจำกัดเขาไว้อย่างไม่สมเหตุสมผลไหมจากการทำหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายคริสเตียนของเขาให้สำเร็จ? (มัดธาย 24:14; เฮ็บราย 10:24, 25) อีกด้านหนึ่ง เขาจะสามารถก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต่อไปได้ไหม บางทีอาจเข้าร่วมงานเผยแพร่เต็มเวลาในขณะที่ทำงานบริการที่ถูกเรียกร้องนั้นด้วยซ้ำ?—เฮ็บราย 6:11, 12.
21. ไม่ว่าเขาตัดสินใจเช่นไร ประชาคมควรมองดูพี่น้องที่จัดการเรื่องราวเกี่ยวกับงานราชการพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับทางทหารอย่างไร?
21 จะว่าอย่างไรถ้าคำตอบที่ซื่อตรงของคริสเตียนต่อคำถามเหล่านั้นทำให้เขาลงความเห็นว่า การรับราชการพลเรือนของประเทศเป็น “การงานที่ดี” ซึ่งเขาจะทำได้ด้วยความเชื่อฟังผู้มีอำนาจ? นั่นเป็นการตัดสินใจของเขาเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งและคนอื่น ๆ ควรนับถือสติรู้สึกผิดชอบของพี่น้องอย่างเต็มที่และยังคงถือว่าเขาเป็นคริสเตียนที่มีฐานะอันดี. แต่ถ้าคริสเตียนคิดว่าเขาไม่อาจทำงานราชการพลเรือนได้ ฐานะของเขาก็ควรได้รับความนับถือเช่นกัน. เขายังคงมีฐานะอันดีและควรได้รับการสนับสนุนด้วยความรักเหมือนกัน.—1 โกรินโธ 10:29; 2 โกรินโธ 1:24; 1 เปโตร 3:16.
22. ไม่ว่าเราเผชิญสภาพการณ์อะไร เราจะทำอะไรต่อ ๆ ไป?
22 ในฐานะคริสเตียน เราจะไม่เลิกให้ ‘เกียรติยศแก่ผู้ที่เรียกร้องเอาเกียรติยศ.’ (โรม 13:7) เราจะนับถือระเบียบอันดีและพยายามเป็นพลเมืองที่รักความสงบและเชื่อฟังกฎหมาย. (บทเพลงสรรเสริญ 34:14) เราอาจจะอธิษฐาน “เพื่อกษัตริย์ทั้งหลายและเพื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูง” เมื่อคนเหล่านี้ถูกเรียกร้องให้ทำการตัดสินที่ส่งผลกระทบชีวิตและงานแบคริสเตียนของเรา. เนื่องจากการที่เราให้ของของซีซาร์แก่ซีซาร์ เราคาดหวังว่า “เราจะได้ดำเนินชีวิตที่สงบเงียบด้วยความเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยมในพระเจ้าและอย่างจริงจัง.” (1 ติโมเธียว 2:1, 2, ล.ม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรต่อ ๆ ไปในฐานะเป็นความหวังอย่างเดียวเท่านั้นของมนุษยชาติ อันเป็นการถวายของของพระเจ้าแด่พระเจ้าอย่างมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 พฤษภาคม 1964 หน้า 308 วรรค 21.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ ในการทำให้ความสัมพันธ์กับซีซาร์สมดุลกับความสัมพันธ์กับพระยะโฮวา คริสเตียนเป็นห่วงอะไรเป็นอันดับแรก?
▫ เราพึงต้องถวายสิ่งใดแด่พระยะโฮวาซึ่งเราไม่อาจให้แก่ซีซาร์ได้เลย?
▫ สิ่งที่เราจะให้แก่ซีซาร์อย่างถูกต้องคืออะไรบ้าง?
▫ ข้อพระคัมภีร์อะไรบ้างช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องการเกณฑ์ทหาร?
▫ เราต้องจดจำเรื่องอะไรไว้ถ้าเราถูกเรียกร้องให้ทำงานด้านพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับทางทหาร?
▫ เกี่ยวกับพระยะโฮวาและซีซาร์ เราจะทำอะไรต่อ ๆ ไป?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
พวกอัครสาวกบอกศาลซันเฮดรินว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์”