พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม
ประมาณปีสากลศักราช 56 ขณะเดินทางรอบที่สามในงานมิชชันนารี อัครสาวกเปาโลมาถึงเมืองโครินท์. ท่านรู้มาว่ามีทัศนะแตกต่างกันระหว่างคริสเตียนชาวยิวกับคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติในกรุงโรม. ด้วยความปรารถนาที่จะทำให้พวกเขามีเอกภาพอย่างสมบูรณ์ในพระคริสต์ เปาโลจึงเริ่มเขียนจดหมายถึงพวกเขา.
ในจดหมายที่ส่งไปถึงคริสเตียนในกรุงโรมนั้น เปาโลอธิบายวิธีที่คนเราถูกถือว่าชอบธรรมและวิธีที่คนชอบธรรมควรดำเนินชีวิต. จดหมายนี้ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคำของพระองค์มากขึ้น, เน้นถึงพระกรุณาคุณอันใหญ่หลวงของพระเจ้า, และยกย่องบทบาทของพระคริสต์ในการทำให้เราได้รับความรอด.—ฮีบรู 4:12.
ถูกถือว่าชอบธรรม—โดยวิธีใด?
เปาโลเขียนดังนี้: “ทุกคนได้ทำบาปและไม่ได้แสดงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าอย่างที่ควรจะแสดง. และการที่พระเจ้าทรงถือว่าพวกเขาเป็นผู้ชอบธรรมด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงโดยอาศัยการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูทรงชำระแล้วนั้นเป็นของประทานจากพระองค์.” เปาโลยังกล่าวด้วยว่า “คนเราเป็นผู้ชอบธรรมเนื่องด้วยความเชื่อ ไม่ใช่เนื่องด้วยการประพฤติตามพระบัญญัติ.” (โรม 3:23, 24, 28) เนื่องจากความเชื่อใน “การพิสูจน์ความชอบธรรมหนเดียว” ทั้งสมาชิกคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” จึงถูก ‘ถือว่าเป็นผู้ชอบธรรม’—สำหรับกลุ่มแรก เพื่อจะมีชีวิตในสวรรค์ฐานะรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ และสำหรับกลุ่มหลัง ในฐานะที่เป็นมิตรกับพระเจ้า โดยมีความหวังจะรอดจาก “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.”—โรม 5:18; วิ. 7:9, 14; โย. 10:16; ยโก. 2:21-24; มัด. 25:46.
เปาโลถามว่า “เราจะทำบาปเพราะเราไม่อยู่ใต้พระบัญญัติแต่อยู่ใต้พระกรุณาอันใหญ่หลวงอย่างนั้นหรือ?” คำตอบของท่านคือ “อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย!” เปาโลอธิบายว่า “พวกท่านก็เป็นทาส . . . ไม่ว่าจะเป็นทาสของบาปซึ่งนำไปสู่ความตายหรือจะเป็นทาสของการเชื่อฟังซึ่งนำไปสู่ความชอบธรรม?” (โรม 6:15, 16) ท่านกล่าวว่า “ถ้าพวกท่านเลิกทำตามที่กายปรารถนาอย่างเด็ดขาดโดยอาศัยพระวิญญาณ พวกท่านจะมีชีวิต.”—โรม 8:13.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:24-32—ข้อเหล่านี้กล่าวถึงการกระทำอันเสื่อมทรามของชาวยิวหรือคนต่างชาติ? ถึงแม้ว่าคำพรรณนาดังกล่าวอาจตรงกับทั้งสองกลุ่ม แต่เปาโลกำลังกล่าวอย่างเจาะจงถึงชาวอิสราเอลที่ออกหากในอดีต. แม้ว่าพวกเขารู้ข้อกำหนดอันชอบธรรมของพระเจ้า “พวกเขาไม่เห็นดีกับการรู้จักและนับถือพระเจ้าด้วยความรู้ถ่องแท้.” ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสมควรถูกตำหนิ.
3:24, 25—“ค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูทรงชำระแล้ว” สามารถครอบคลุม “บาปซึ่งเกิดขึ้นในอดีต” ก่อนที่จะมีการชำระค่าไถ่ได้อย่างไร? คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮาข้อแรกซึ่งบันทึกไว้ที่เยเนซิศ 3:15 สำเร็จในสากลศักราช 33 เมื่อพระเยซูถูกประหารชีวิตบนเสาทรมาน. (กลา. 3:13, 16) อย่างไรก็ตาม ขณะที่พระยะโฮวาตรัสคำพยากรณ์นั้น ตามทัศนะของพระองค์ค่าไถ่ได้ถูกชำระแล้ว เพราะไม่มีสิ่งใดจะสามารถขัดขวางพระเจ้าในการทำตามพระประสงค์ของพระองค์. ดังนั้น โดยอาศัยเครื่องบูชาที่จะมาในวันข้างหน้าของพระเยซูคริสต์ พระยะโฮวาจึงสามารถอภัยบาปแก่ลูกหลานของอาดามที่แสดงความเชื่อในคำสัญญานั้น. นอกจากนั้น ค่าไถ่ยังทำให้เป็นไปได้สำหรับคนที่อยู่ในยุคก่อนคริสเตียนจะมีโอกาสเป็นขึ้นจากตาย.—กิจ. 24:15.
6:3-5—การรับบัพติสมาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์เยซูและการรับบัพติสมาเข้าสู่ความตายของพระองค์หมายความเช่นไร? เมื่อพระยะโฮวาทรงเจิมเหล่าสาวกของพระคริสต์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเยซูและเข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมที่เป็นพระกายของพระคริสต์ โดยที่พระองค์ทรงเป็นประมุข. (1 โค. 12:12, 13, 27; โกโล. 1:18) นี่คือความหมายของการรับบัพติสมาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์เยซู. คริสเตียนผู้ถูกเจิมยัง “รับบัพติสมาเข้าสู่ความตาย [ของพระคริสต์]” ด้วยในแง่ที่พวกเขาดำเนินชีวิตในแนวทางที่เสียสละและสละความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนั้น ความตายของพวกเขาเป็นการเสียสละเช่นเดียวกับความตายของพระเยซู แม้ว่าความตายของพวกเขาไม่ได้มีคุณค่าเป็นค่าไถ่. การรับบัพติสมาเข้าสู่ความตายของพระคริสต์นี้ครบถ้วนเมื่อพวกเขาเสียชีวิตและถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์.
7:8-11—“บาป . . . ปรากฏเนื่องด้วยข้อบัญญัติ” ได้อย่างไร? พระบัญญัติช่วยผู้คนให้เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าบาปคืออะไร ซึ่งทำให้พวกเขาสำนึกมากขึ้นว่าตนเป็นคนบาป. ด้วยเหตุนี้ พวกเขามองเห็นตัวเองว่าเป็นคนบาปในแง่ต่าง ๆ มากขึ้น และมีคนมากขึ้นที่สำนึกว่าเขาเป็นคนบาปมากกว่าแต่ก่อน. ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าบาปปรากฏเนื่องด้วยพระบัญญัติ.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:14, 15. เรามีเหตุผลมากมายที่จะประกาศข่าวดีด้วยความกระตือรือร้น. เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือเราเป็นหนี้ผู้คนที่พระโลหิตของพระเยซูได้ซื้อพวกเขาไว้และเรามีพันธะที่จะช่วยพวกเขาทางฝ่ายวิญญาณ.
1:18-20. ผู้คนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและเป็นคนอธรรม “ไม่มีข้อแก้ตัว” เพราะคุณลักษณะที่เห็นไม่ได้ของพระเจ้าเห็นได้ชัดในสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงสร้าง.
2:28; 3:1, 2; 7:6, 7. หลังจากพูดถึงสิ่งที่อาจทำให้ชาวยิวไม่พอใจ เปาโลใช้ถ้อยคำซึ่งทำให้สิ่งที่ท่านพูดฟังนุ่มนวลขึ้น. นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในการจัดการกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาและชำนิชำนาญ.
3:4. เมื่อถ้อยคำของมนุษย์ขัดแย้งกับสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้ในพระคำของพระองค์ เรา “ขอให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” โดยไว้วางใจข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลและปฏิบัติสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า. โดยมีส่วนอย่างกระตือรือร้นในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานสอนคนให้เป็นสาวก เราสามารถช่วยคนอื่น ๆ ให้พบว่าพระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง.
4:9-12. ความเชื่อของอับราฮามทำให้ท่านถูกนับว่าเป็นคนชอบธรรมเป็นเวลานานแล้วก่อนที่ท่านจะได้รับสุหนัตเมื่ออายุ 99 ปี. (เย. 12:4; 15:6; 16:3; 17:1, 9, 10) ด้วยวิธีนั้น พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอะไรทำให้คนเราสามารถมีฐานะอันชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระองค์ได้.
4:18. ความหวังเป็นส่วนสำคัญของความเชื่อ. ความเชื่อของเราอาศัยความหวัง.—ฮีบรู 11:1.
5:18, 19. โดยชี้ให้เห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าพระเยซูทรงเหมือนกับอาดามอย่างไร เปาโลอธิบายสั้น ๆ แต่ได้ใจความถึงวิธีที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถ “สละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” (มัด. 20:28) การชี้แจงอย่างเป็นเหตุเป็นผลและกระชับเป็นวิธีการสอนที่ดีเยี่ยมที่น่าเลียนแบบ.—1 โค. 4:17.
7:23. อวัยวะของร่างกายเรา เช่น มือ, ขา, และลิ้นสามารถ ‘ทำให้เราตกอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาป’ ดังนั้นเราควรระวังไม่ให้มีการใช้อวัยวะในร่างกายเราไปในทางผิด.
8:26, 27. เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้สับสนอย่างมากจนเราไม่รู้ว่าจะอธิษฐานอะไร “พระวิญญาณขอแทนเรา.” แล้วพระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ก็จะทรงตอบรับคำอธิษฐานที่เหมาะสมที่บันทึกในพระคำของพระองค์เสมือนว่าคำอธิษฐานนั้นมาจากเรา.—เพลง. 65:2.
8:38, 39. ภัยพิบัติ, กายวิญญาณชั่ว, และรัฐบาลมนุษย์ไม่สามารถทำให้พระยะโฮวาเลิกรักเรา; และเราก็ไม่ควรปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเลิกรักพระองค์.
9:22-28; 11:1, 5, 17-26. คำพยากรณ์มากมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูอิสราเอลสำเร็จเป็นจริงโดยทางประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งบรรดาสมาชิกถูก “เรียกไม่เพียงจากท่ามกลางชาวยิวเท่านั้น แต่จากชนต่างชาติด้วย.”
10:10, 13, 14. นอกจากความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว ความเชื่ออันเข้มแข็งในพระยะโฮวาและคำสัญญาของพระองค์สามารถกระตุ้นเราให้เข้าร่วมในงานรับใช้ของคริสเตียนอย่างกระตือรือร้น.
11:16-24, 33. “ความกรุณาและความเข้มงวดของพระเจ้า” ช่างมีความสมดุลอย่างงดงามจริง ๆ! เป็นจริงดังที่กล่าวไว้ว่า “พระองค์เป็นศิลา, กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ; เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม.”—บัญ. 32:4.
ดำเนินชีวิตประสานกับที่ถูกถือว่าชอบธรรม
เปาโลกล่าวว่า “ฉะนั้น พี่น้องทั้งหลาย โดยอาศัยความกรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนให้ท่านทั้งหลายถวายร่างกายเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ที่บริสุทธิ์ ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้.” (โรม 12:1) “ฉะนั้น” หรือเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าคริสเตียนถูกถือว่าชอบธรรมเนื่องด้วยความเชื่อของพวกเขา สิ่งที่เปาโลกล่าวต่อจากนั้นน่าจะมีผลกระทบต่อเจตคติของพวกเขาต่อตนเอง, คนอื่น ๆ, และเจ้าหน้าที่รัฐบาล.
เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าบอกพวกท่านทุกคนว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น.” ท่านแนะนำว่า “ให้ความรักของพวกท่านปราศจากมารยา.” (โรม 12:3, 9) “ให้ทุกคนยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจปกครอง.” (โรม 13:1) ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับสติรู้สึกผิดชอบ ท่านสนับสนุนคริสเตียนว่า ‘อย่าตัดสินกันเลย.’–โรม 14:13.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
12:20—เรา “กองถ่านเพลิง” ไว้บนศีรษะของศัตรูอย่างไร? ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ถ่านหินจะถูกใส่ไว้ข้างบนและข้างล่างของชั้นแร่ในเตาถลุง. ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากด้านบนจะช่วยหลอมละลายโลหะและทำให้โลหะแยกตัวออกจากสิ่งเจือปน. ในทำนองเดียวกัน เรากองถ่านเพลิงบนศีรษะของศัตรูด้วยการกระทำที่แสดงความกรุณาต่อเขาเพื่อว่าเจตคติที่แข็งกร้าวของเขาจะหลอมละลายและคุณลักษณะที่ดี ๆ จะปรากฏออกมา.
12:21—เรา “เอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป” อย่างไร? วิธีหนึ่งที่เราทำอย่างนี้คือโดยมุ่งมั่นที่จะทำการงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราทำอย่างกล้าหาญคือการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจนกระทั่งสำเร็จตามที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย.—มโก. 13:10.
13:1—ในวิธีใดที่ผู้มีอำนาจปกครอง “อยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า”? เจ้าหน้าที่บ้านเมือง “อยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า” ในแง่ที่พวกเขาได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้ปกครอง และในบางกรณีพระเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าพวกเขาจะปกครอง. สิ่งนี้ปรากฏหลักฐานชัดจากที่คัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าเกี่ยวกับผู้ปกครองหลายคน.
บทเรียนสำหรับเรา:
12:17, 19. การแก้แค้นการกระทำอันชั่วร้ายด้วยตนเองนั้นย่อมหมายถึงการที่เราลงมือทำในเรื่องที่เฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นมีสิทธิ์ทำ. นับเป็นการถือดีสักเพียงไรที่เราจะ “ทำชั่วตอบแทนชั่ว”!
14:14, 15. เราไม่ควรทำให้พี่น้องของเราเป็นทุกข์หรือทำให้เขาสะดุดด้วยอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราเสนอให้เขา.
14:17. การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนเรากินดื่มหรือสิ่งที่เราละเว้นไม่กินไม่ดื่ม. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สายสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความชอบธรรม, สันติสุข, และความยินดี.
15:7. เราควรต้อนรับทุกคนที่แสวงหาความจริงอย่างจริงใจเข้าสู่ประชาคมโดยไม่มีอคติและประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแก่ทุกคนที่เราพบ.
[ภาพหน้า 31]
ค่าไถ่จะไถ่ถอนบาปที่ทำก่อนจะมีการชำระค่าไถ่ได้ไหม?