พระยะโฮวาและพระคริสต์ผู้สื่อความองค์เยี่ยมยอด
“ พระยะโฮวาองค์บรมมหิศรจะไม่ทรงทำสิ่งใด เว้นแต่พระองค์ได้ทรงเปิดเผยเรื่องซึ่งพระองค์ถือเป็นความลับแก่ผู้รับใช้ของพระองค์คือพวกผู้พยากรณ์.”—อาโมศ 3:7, ล.ม.
1. ปัจจุบันนี้มีการใช้วิธีอะไรสำหรับการสื่อสาร?
ทุกวันนี้การติดต่อสื่อสารเป็นธุรกิจใหญ่ทำรายได้หลายหมื่นล้านบาท. หนังสือทุกประเภทที่พิมพ์จำหน่าย, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร และวารสารทุกชนิดที่ออกเป็นประจำ, รายการวิทยุและโทรทัศน์ที่นำออกอากาศ, รวมทั้งภาพยนตร์ทุกเรื่องและการแสดงบนเวที, ล้วนเป็นความพยายามที่จะถ่ายทอดข่าวสาร. เป็นเช่นเดียวกันกับจดหมายที่เขียนส่งทางไปรษณีย์ทุกฉบับรวมถึงการพูดโทรศัพท์ทุกครั้ง. ทุกอย่างเป็นความพยายามเพื่อจะสื่อความหมาย.
2. มีตัวอย่างอะไรบ้างแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าด้านเทคนิคการสื่อสาร?
2 ความก้าวหน้าหลายอย่างที่มนุษย์ได้คิดประดิษฐ์ใช้เทคนิคติดต่อสื่อสารนั้นมีมากมหาศาล. ยกตัวอย่าง สายเคเบิลเส้นใยแก้ว ซึ่งนับว่าเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ซึ่งดีกว่าสายเคเบิลทองแดงมาก สามารถถ่ายทอดการสนทนาทางโทรศัพท์หลายหมื่นรายพร้อม ๆ กัน. นอกจากนั้น ยังมีดาวเทียมสื่อสารซึ่งโคจรในอวกาศรอบลูกโลก พร้อมด้วยอุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์, โทรเลข, วิทยุ, และโทรทัศน์. ดาวเทียมสื่อสารดังกล่าวเพียงอันเดียวสามารถถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์ได้พร้อมกันถึง 30,000 ราย!
3. เกิดอะไรขึ้นเมื่อขาดการติดต่อสื่อสาร?
3 แต่ทั้งที่มีวิธีการสื่อสารเหล่านี้ทุกอย่าง ยังมีความทุกข์ยากมากมายในโลกเนื่องจากขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล. ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้รับรู้ว่า “มีช่องว่างที่ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ—‘ความห่างเหินไม่มีการติดต่อกัน’—ระหว่างผู้ครอบครองและผู้ถูกครอบครอง.” และสิ่งที่เรียกกันว่าช่องว่างระหว่างวัยนั้นหมายถึงความล้มเหลวระหว่างบิดามารดากับบุตรที่จะพูดจาติดต่อกันได้อย่างเป็นที่พอใจมิใช่หรือ? ผู้ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสรายงานว่าปัญหาใหญ่ของคู่สมรสคือ ขาดการติดต่อสนทนากันระหว่างสามีภรรยา. การขาดการติดต่อสื่อสารอย่างที่สมควรอาจเป็นสาเหตุของการตายด้วยซ้ำ. ต้นปี 1990 73 คนได้เสียชีวิตเพราะเครื่องบินตก ปรากฏชัดว่าสาเหตุหนึ่งคือการขาดการสื่อสารระหว่างนักบินกับห้องบังคับการภาคพื้นดิน. พาดพัวข่าวหนังสือพิมพ์แถลงว่า “อุปสรรคด้านการสื่อสารทำให้เกิดความหายนะ.”
4. (ก) “การสื่อสาร” หมายถึงอะไร? (ข) อะไรเป็นเป้าหมายของการสื่อสารของคริสเตียน?
4 การสื่อสารในแวดวงของคริสเตียนหมายถึงอะไร? พจนานุกรมฉบับหนึ่งให้คำนิยามว่า “การติดต่อสื่อสารหมายถึงการถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือความรู้สึกอย่างที่ฝ่ายรับจะได้ข่าวสารครบถ้วนและอย่างที่เข้าใจ.” พจนานุกรมอีกฉบับหนึ่งนิยามการสื่อสารดังนี้: “วิธีการแสดงความคิดอย่างมีประสิทธิภาพ.” โปรดสังเกตคำที่ว่า “การแสดงความคิดอย่างมีประสิทธิภาพ.” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อความหมายของคริสเตียนจะต้องมีประสิทธิภาพ เพราะเป้าหมายการสื่อความหมายก็เพื่อถ่ายทอดความจริงจากพระวจนะของพระเจ้าให้เข้าถึงหัวใจของประชาชนด้วยความหวังว่า เขาจะลงมือปฏิบัติตามที่ได้เรียนรู้. ที่เด่นเป็นพิเศษ การสื่อความหมายนั้นได้รับแรงกระตุ้นด้วยความไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ด้วยความรัก.
พระยะโฮวาในฐานะผู้ติดต่อสื่อสาร
5. หนึ่งในหลาย ๆ ทางที่พระเจ้ายะโฮวาได้ติดต่อกับมนุษย์ในตอนแรกนั้นคือทางไหน?
5 ไม่มีข้อสงสัย พระเจ้ายะโฮวาทรงเป็นผู้ติดต่อสื่อสารองค์ใหญ่ยิ่ง. เพราะพระองค์ได้สร้างตัวเราตามแบบพระฉายของพระองค์และพระองค์จึงสามารถสื่อสารกับเราได้ และเป็นไปได้ที่เราเองติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระองค์. นับตั้งแต่พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมา พระยะโฮวาติดต่อสื่อสารให้มนุษย์บนแผ่นดินโลกทราบเรื่องเกี่ยวกับพระองค์. วิธีหนึ่งที่พระองค์ทรงกระทำโดยใช้สรรพสิ่งที่เห็นประจักษ์ซึ่งพระองค์สร้างขึ้นมา. โดยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญบอกแก่เราว่า “ฟ้าสวรรค์แสดงพระรัศมีของพระเจ้า และท้องฟ้าประกาศพระหัตถกิจ. วันต่อวันกล่าววาจาและคืนต่อคืนสำแดงความรู้.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:1, 2) พระธรรมโรม 1:20 แจ้งแก่เราว่า “คุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์ [พระเจ้า] อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา.” “เห็นได้ชัด” บ่งชี้ถึงการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง!
6. พระยะโฮวาทรงสื่อสารเรื่องอะไรแก่มนุษย์ที่พระองค์ได้สร้างขึ้นขณะที่เขาอยู่ในสวนเอเดน?
6 พวกที่ไม่มีความเชื่อในพระเจ้าและการเปิดเผยของพระองค์อยากให้เราเชื่อว่ามนุษย์ต้องอาศัยแหล่งความรู้ของตนเองเพื่อจะสืบสวนให้รู้แน่ชัดถึงสาเหตุที่เขาดำรงชีวิตอยู่. แต่พระวจนะของพระเจ้าระบุชัดว่าพระเจ้าติดต่อกับมนุษย์ตั้งแต่แรกทีเดียว. ดังนั้น พระเจ้าทรงบัญชามนุษย์ชายหญิงคู่แรกให้กำเนิดบุตรดังนี้: “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน จงมีอำนาจครอบครอง . . . สัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้.” นอกจากนั้น พระเจ้าทรงอนุญาตให้เขารับประทานผลไม้ทุกชนิดจากสวนนั้นได้เต็มที่จนอิ่มหนำ ยกเว้นต้นหนึ่งเท่านั้น. ครั้นอาดามกับฮาวาได้ละเมิดคำสั่ง พระยะโฮวาได้สื่อสารคำสัญญาเรื่องมาซีฮาให้รู้เป็นครั้งแรกเพื่อมนุษยชาติจะมีแววแห่งความหวัง ดังนี้: “เราจะบันดาลให้เจ้า [งู] กับหญิงนี้ ทั้งเผ่าพันธุ์ของเจ้ากับเผ่าพันธุ์ของหญิงเป็นศัตรูกัน. เผ่าพันธุ์ของหญิงจะทำให้หัวของเจ้าฟกช้ำ และเจ้าจะทำให้ส้นเท้าของเขาฟกช้ำ.”—เยเนซิศ 1:28; 2:16, 17; 3:15.
7. พระธรรมเยเนซิศเปิดเผยเรื่องอะไรเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของพระยะโฮวากับผู้รับใช้ของพระองค์?
7 เมื่อคายินบุตรชายอาดามกรุ่นด้วยอารมณ์อิจฉาจะฆ่าคน พระเจ้ายะโฮวาได้ติดต่อสื่อสาร ตรัสใจความดังนี้: ‘ระวังให้ดี! เจ้ากำลังก้าวไปสู่ความยุ่งยาก!’ ทว่าคายินไม่ยอมเชื่อฟังคำเตือนสติแล้วได้ฆ่าน้องชายของตน. (เยเนซิศ 4:6-8) ต่อมา เมื่อแผ่นดินโลกเต็มไปด้วยความรุนแรงและความชั่วร้าย พระยะโฮวาได้ทรงสื่อสารกับโนฮาผู้ชอบธรรมเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์ที่จะกวาดล้างแผ่นดินให้สะอาดปราศจากสิ่งที่ทำให้โลกเป็นมลทิน. (เยเนซิศ 6:13-7:5) ภายหลังน้ำท่วมโลกครั้งนั้น เมื่อโนฮากับครอบครัวของท่านได้ออกมาจากเรือใหญ่ พระยะโฮวาทรงสื่อสารให้คนเหล่านั้นทราบถึงพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและเลือด และโดยการใช้รุ้ง พระองค์ทรงให้คำรับรองแก่เขาว่าพระองค์จะไม่ให้น้ำท่วมโลกทำลายสรรพสิ่งที่มีชีวิตไหวกายอีก. หลายศตวรรษต่อมาพระยะโฮวาทรงแจ้งแก่อับราฮามถึงพระประสงค์ของพระองค์ที่ว่าครอบครัวมนุษยชาติจะได้พระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. (เยเนซิศ 9:1-17; 12:1-3; 22:11, 12, 16–18) และเมื่อพระเจ้ามีพระราชโองการจะทำลายคนต่ำทรามแห่งเมืองซะโดมกับกะโมรานั้น พระองค์ก็ได้ทรงแจ้งข้อเท็จจริงกับอับราฮามด้วยพระทัยเปี่ยมด้วยความรัก โดยตรัสว่า “เราจะปิดเหตุการณ์ที่เรากระทำมิให้อับราฮามรู้หรือ?”—เยเนซิศ 18:17.
8. พระยะโฮวาทรงสื่อสารกับผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกในสี่วิธีอะไร?
8 เริ่มต้นกับโมเซ พระยะโฮวาได้ทรงใช้บรรดาผู้พยากรณ์เป็นลำดับยาวเหยียดให้ติดต่อสื่อสารกับชาติยิศราเอล. (เฮ็บราย 1:1) บางครั้งพระองค์ทรงสั่งด้วยวาจา เช่นในคราวที่พระองค์รับสั่งแก่โมเซว่า “คำเหล่านี้จงจดไว้.” (เอ็กโซโด 34:27) มีบ่อยครั้งที่พระยะโฮวาได้สื่อสารกับตัวแทนของพระองค์โดยทางนิมิต ดังที่พระองค์เคยกระทำกับอับราฮาม.a อนึ่ง พระยะโฮวายังทรงติดต่อกับมนุษย์ทางความฝัน และไม่เฉพาะกับผู้รับใช้ของพระองค์ แต่กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้รับใช้ของพระองค์ด้วย. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงบันดาลให้นักโทษสองคนที่ถูกขังด้วยกันกับโยเซฟฝัน ซึ่งโยเซฟเป็นผู้แก้ฝันให้เขา. นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ฟาโรห์และนะบูคัดเนซัรฝันเช่นกัน ซึ่งผู้รับใช้ของพระองค์คือโยเซฟและดานิเอลได้เป็นผู้แก้ฝันให้เขา. (เยเนซิศ 40:8-41:32; ดานิเอลบท 2 และ 4) นอกเหนือจากนี้ ในหลาย ๆ โอกาสพระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวไปสื่อสารแก่ผู้รับใช้ของพระองค์.—เอ็กโซโด 3:2; ผู้วินิจฉัย 6:11; มัดธาย 1:20; ลูกา 1:26.
9. มีอะไรกระตุ้นพระยะโฮวาให้สื่อสารกับยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์ ดังเห็นได้จากคำตรัสอะไรของพระองค์?
9 การติดต่อสื่อสารเช่นนั้นของพระยะโฮวาทุกคราวผ่านพวกผู้พยากรณ์ของพระองค์สะท้อนความรักที่พระองค์ทรงมีต่อชาวยิศราเอลไพร่พลของพระองค์. ดังที่พระองค์ตรัสผ่านผู้พยากรณ์ยะเอศเคลว่า “เรามิได้ชอบพระทัยในความตายแห่งคนชั่ว . . . แต่จะให้คนชั่วกลับเสียจากทางของเขาและมีชีวิต. เจ้าทั้งหลาย จงกลับเสีย จงกลับเสียจากทางชั่วทั้งหลายของเจ้า เหตุไฉนเจ้าจึงจะตาย โอ้ เรือนยิศราเอล?” (ยะเอศเคล 33:11) พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ติดต่อสื่อสารที่มีพระทัยอดกลั้นทนนานกับไพร่พลที่ดื้อกระด้างสมัยโบราณ ดังเห็นได้จาก 2 โครนิกา 36:15, 16 ที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งเชื้อวงศ์ปู่ย่าตายายของเขาได้ใช้ทูตของพระองค์มายังพวกเขา ให้ทูตนั้นตื่นแต่เช้าแล้วรีบไป เพราะพระองค์ทรงพระเมตตากรุณาต่อพลไพร่ของพระองค์กับเป็นห่วงถึงโบสถ์วิหารที่สถิตของพระองค์. แต่เขา . . . ประมาทดูหมิ่นคำโอวาทของพระองค์ และนินทาผู้พยากรณ์ของพระองค์ . . . จนไม่มีช่องที่จะแก้ไขได้.”
10. พระยะโฮวาทรงสื่อสารโดยวิธีใดกับพลไพร่ของพระองค์ในปัจจุบัน และพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งการสื่อสารถึงขนาดไหน?
10 เวลานี้เรามีพระวจนะของพระเจ้าที่รับการดลบันดาล คือคัมภีร์ไบเบิลที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งโดยพระวจนะนี้เองพระยะโฮวาทรงสื่อสารให้พวกเรามีความรู้เกี่ยวกับพระองค์ ทั้งจุดมุ่งหมายและพระประสงค์ที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเรา. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) ที่จริง ในฐานะเป็นผู้ติดต่อสื่อสารที่โดดเด่นเหนือใครอื่น พระยะโฮวาทรงแถลงดังนี้: “พระยะโฮวาองค์บรมมหิศรจะไม่ทรงทำสิ่งใด เว้นแต่พระองค์ได้ทรงเปิดเผยเรื่องซึ่งพระองค์ถือเป็นความลับแก่ผู้รับใช้ของพระองค์คือพวกผู้พยากรณ์.” (อาโมศ 3:7, ล.ม.) พระองค์แจ้งให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทราบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์จะกระทำ.
พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นผู้ติดต่อสื่อสาร
11. ใครคือเครื่องมือของพระยะโฮวาที่ขึ้นหน้าที่สุดในด้านการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ และทำไมฉายาที่เรียกพระองค์เป็น “พระคำ” จึงเหมาะสม?
11 ในบรรดาตัวแทนซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ให้ถ่ายทอดพระประสงค์ของพระองค์ ที่เด่นที่สุดได้แก่พระคำหรือลอกอสซึ่งบังเกิดเป็นพระเยซูคริสต์. การที่พระองค์ได้รับฉายาว่าพระคำหรือลอกอสหมายถึงอะไร? พระองค์ทรงเป็นโฆษกเอกของพระยะโฮวา. โฆษกหมายถึงอะไร? โฆษกคือผู้แถลงข่าวแทนผู้อื่น. ฉะนั้น ลอกอสจึงเป็นผู้สื่อสารพระวจนะของพระเจ้ายะโฮวาแก่มนุษย์โลกที่มีเชาวน์ปัญญา. หน้าที่นี้มีความสำคัญมากจนพระองค์ได้ชื่อว่าพระคำ.—โยฮัน 1:1, 2, 14.
12. (ก) พระเยซูได้เสด็จมายังแผ่นดินโลกด้วยวัตถุประสงค์อะไร? (ข) อะไรแสดงหลักฐานว่าพระองค์ได้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นด้วยความซื่อสัตย์?
12 พระเยซูทรงแถลงต่อปอนเตียวปีลาตถึงวัตถุประสงค์สำคัญของพระองค์ในการเข้ามาในโลกก็เพื่อถ่ายทอดความจริงให้มนุษย์: “เพราะเหตุนี้ เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37, ล.ม.) และบันทึกในพระธรรมกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงกระทำตามหน้าที่มอบหมายจนลุล่วงไปด้วยดี. คำเทศน์บนภูเขานั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคำเทศน์ที่ใหญ่ยิ่งเท่าที่มนุษย์เคยเทศน์. ช่างเป็นการสื่อความที่ดีเพียงไรที่พระองค์ทรงกระทำโดยทางคำเทศน์ครั้งนั้น! “ประชาชนทั้งปวง [ที่ได้ยินคำเทศน์นั้น] ก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์.” (มัดธาย 7:28) เกี่ยวกับอีกโอกาสหนึ่ง เราอ่านดังนี้: “ฝ่ายประชาชนได้ฟังพระองค์ด้วยความยินดี.” (มาระโก 12:37) เมื่อเขาสั่งเจ้าหน้าที่ไปจับพระเยซู พวกเขากลับมามือเปล่า. เพราะเหตุใด? เขาให้คำตอบแก่พวกฟาริซายว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น.”—โยฮัน 7:46.
สาวกของพระคริสต์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อสื่อสาร
13. อะไรแสดงให้เห็นว่าพระคริสต์ไม่พอพระทัยจะเป็นผู้ติดต่อสื่อสารเพียงผู้เดียว?
13 พระเยซูไม่พอพระทัยเป็นผู้สื่อสารเพียงผู้เดียว พระองค์ได้ส่งอัครสาวก 12 คนก่อน แล้วต่อมาส่งผู้ประกาศเผยแพร่ 70 คนออกไปในฐานะผู้สื่อสารข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (ลูกา 9:1; 10:1) ครั้นแล้ว ไม่นานก่อนพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ พระองค์ทรงมอบหมายงานพิเศษแก่สาวกของพระองค์. งานอะไร? ตามที่เราอ่านที่มัดธาย 28:19, 20 พระองค์ทรงสั่งพวกเขาให้เป็นผู้ติดต่อสื่อสาร และเขาจะต้องสอนคนอื่นให้มาเป็นผู้ติดต่อสื่อสารเช่นกัน.
14. บรรดาคริสเตียนผู้สื่อสารสมัยต้น ๆ มีประสิทธิภาพเพียงใด?
14 สาวกเหล่านั้นเป็นผู้ติดต่อสื่อสารที่บังเกิดผลไหม? แน่นอน! ผลจากการสั่งสอนของเขาในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 นั้น มี 3,000 คนเพิ่มเข้ามาในประชาคมคริสเตียนซึ่งเพิ่งตั้งขึ้น. ไม่นานต่อมาจำนวนเพิ่มเป็น 5,000 คน. (กิจการ 2:41; 4:4) ไม่แปลกที่ชาวยิวผู้เป็นอริกับสาวกคริสเตียนได้กล่าวหาพวกเขาว่าได้ทำให้ยะรูซาเลมเต็มไปด้วยคำสอนและต่อมาได้ร้องเรียนว่าการประกาศสั่งสอนของพวกคริสเตียนเป็นการคว่ำแผ่นดินที่มีผู้คนอยู่อาศัย!—กิจการ 5:28; 17:6.
15. ในสมัยปัจจุบันพระยะโฮวาทรงใช้เครื่องมืออะไรสื่อสารกับมนุษย์?
15 และในปัจจุบันนี้ล่ะ? ดังบอกล่วงหน้าที่มัดธาย 24:3, 45–47 นาย คือพระเยซูคริสต์ ได้แต่งตั้ง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม ให้ดูแลบรรดาทรัพย์สิ่งของของพระองค์บนแผ่นดินระหว่างสมัยแห่งการเสด็จประทับของพระองค์. ในปัจจุบันบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดมีคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาเป็นตัวแทนซึ่งมีสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กท์ เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร. ที่นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งคือบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดก็เคยได้ชื่อเช่นกันว่าเป็นร่องทางการสื่อสารของพระเจ้าเช่นกัน. แล้วบ่าวนี้ที่สนับสนุนพวกเราเป็นผู้สื่อสารที่ดี. ตามจริงแล้ว วารสารไซออนส์ วอชเทาเวอร์ แอนด์ เฮอรัลด์ อ็อฟ ไครสท์ เพรเซนส์ [ภาษาอังกฤษ] ฉบับแรกทีเดียวได้แนะนำผู้อ่านดังนี้: “ถ้าท่านมีเพื่อนบ้านหรือมิตรสหายซึ่งท่านคิดว่าเขาจะสนใจคำแนะนำหรือได้รับประโยชน์จากวารสารนี้ ท่านก็อาจนำเรื่องนั้นขึ้นมาสู่สายตาของเขา การทำดังกล่าวเป็นการประกาศพระคำและทำดีต่อคนทุกชนิดขณะที่ท่านสบโอกาส.”
16. อะไรแสดงว่าจำเป็นต้องมีไม่เพียงแต่พระคัมภีร์เท่านั้นที่พระเจ้าจะสื่อสารกับผู้รับใช้ของพระองค์ได้อย่างบังเกิดผล?
16 อย่างไรก็ดี เพียงแต่การได้มาคุ้นเคยกับพระวจนะของพระเจ้า หรือโดยส่วนตัวแล้วได้อ่านพระวจนะยังไม่พอที่จะได้ความรู้อันถูกต้องจนคนเราสามารถจะดำเนินอยู่ในเส้นทางไปสู่ชีวิต. จงระลึกถึงขันทีชาวเอธิโอเปียที่กำลังอ่านคำพยากรณ์ของยะซายา แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่ตนอ่าน. ฟิลิปผู้เผยแพร่ได้อธิบายคำพยากรณ์ให้เขาเข้าใจ แล้วหลังจากนั้นเขาก็พร้อมรับบัพติสมาเป็นสาวกของพระคริสต์. (กิจการ 8:27-38) ยังมีอีกหลายอย่างที่จำเป็นนอกจากการอ่านคัมภีร์ด้วยตัวเอง ดังจะอ่านพบได้จากเอเฟโซ 4:11-13, (ล.ม.) ที่นั่นเปาโลได้ชี้ให้เห็นว่า พระคริสต์ไม่เพียงแต่ประทานให้บางคนเป็นอัครสาวกและเป็นผู้พยากรณ์ที่ดีเลิศ แต่นอกจากนั้น ให้ “บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์ จนกว่าเราทุกคนบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่.”
17. โดยอาศัยอะไรเป็นหลัก เราจะสามารถชี้ตัวแทนในปัจจุบันซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ให้ถ่ายทอดพระประสงค์ของพระองค์แก่มนุษยชาติ?
17 เราจะชี้ตัวคนเหล่านั้นได้อย่างไรว่าพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ทรงใช้พวกเขาให้ช่วยเหลือผู้คนซึ่งจะเข้ามาเป็นคริสเตียนให้บรรลุความเป็นผู้ใหญ่เต็มที่? ตามที่พระเยซูตรัสไว้ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการระบุตัวบุคคล คือคนเหล่านี้มีความรักซึ่งกันและกันเหมือนพระเยซูทรงรักสาวกของพระองค์. (โยฮัน 13:34, 35) สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งระบุว่าเขาจะไม่เป็นส่วนของโลกนี้เหมือนพระเยซูไม่เป็นส่วนของโลกนี้. (โยฮัน 15:19; 17:16) สัญลักษณ์อีกประการหนึ่ง คนเหล่านี้ยอมรับพระคำของพระเจ้าเป็นความจริง ดังพระเยซูเองทรงยอมรับด้วยการอ้างพระคำเป็นหลักฐานเสมอ. (มัดธาย 22:29; โยฮัน 17:17) การเทิดพระนามพระเจ้าไว้เหนือนามใด ๆ อย่างพระเยซูได้กระทำก็เป็นสัญลักษณ์อีกประการหนึ่ง. (มัดธาย 6:9; โยฮัน 17:6) และสัญลักษณ์อีกประการหนึ่งคงต้องเป็นการติดตามตัวอย่างที่พระเยซูวางไว้ในการประกาศสั่งสอนเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 4:17; 24:14) มีชนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ กล่าวคือผู้สื่อสารนานาชาติที่รู้จักกันด้วยชื่อคริสเตียนพยานพระยะโฮวา.
18. สามขอบเขตอะไรบ้างในการสื่อสารซึ่งเราจะพิจารณากันในบทความต่อไป?
18 อย่างไรก็ดี การติดต่อสื่อสารแสดงนัยชี้ถึงหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้อื่น. คริสเตียนรับผิดชอบจะติดต่อสื่อสารกับใคร? โดยพื้นฐานแล้ว มีสามขอบข่ายทีเดียวที่คริสเตียนต้องเอาใจใส่ด้วยการเปิดเส้นทางการติดต่อไว้เป็นประจำ ได้แก่: วงครอบครัว, ประชาคมคริสเตียน, และงานสั่งสอนของคริสเตียน. บทความต่อไปจะมีการพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้ของเรื่องของเรา.
[เชิงอรรถ]
a ดูเยเนซิศ 15:1; 46:2; อาฤธโม 8:4; 2 ซามูเอล 7:17; 2 โครนิกา 9:29; ยะซายา 1:1; ยะเอศเคล 11:24; ดานิเอล 2:19; โอบัดยา 1; นาฮูม 1:1; กิจการ 16:9; วิวรณ์ 9:17.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อาจเกิดผลเสียหายได้อย่างหากขาดการติดต่อสื่อสาร?
▫ บุคคลทั้งสองที่โดดเด่นในด้านการติดต่อสื่อสารคือผู้ใด?
▫ พระเจ้าทรงใช้วิธีต่าง ๆ กันอะไรบ้างในการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์
▫ โดยวิธีใดพระเยซูทรงเป็นเยี่ยมในฐานะผู้ติดต่อสื่อสาร?
▫ คริสเตียนสมัยแรก ๆ บรรลุความสำเร็จถึงขนาดไหนในการติดต่อสื่อสาร?
[รูปภาพหน้า 18]
เหมือนพระบิดาทางภาคสวรรค์ พระเยซูทรงเป็นผู้ติดต่อสื่อสารที่มีพระทัยรักใคร่เอ็นดู