การได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้านำไปสู่ชีวิตนิรันดร์
“พระองค์จะทรงอวยพระพรแก่ผู้ชอบธรรม; ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์จะทรงคุ้มครองรักษาเขาไว้ด้วยพระกรุณาเหมือนดังโล่ใหญ่.”—เพลง. 5:12
1, 2. เอลียาห์ขอหญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตาให้ทำอะไร และท่านรับรองกับนางว่าอย่างไร?
หญิงคนหนึ่งกับบุตรและผู้พยากรณ์ของพระเจ้ารู้สึกหิวโหย. ขณะที่หญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตาผู้นี้กำลังจะก่อไฟเพื่อทำอาหาร ผู้พยากรณ์เอลียาห์ขอน้ำและขนมปังจากนาง. นางยินดีให้น้ำท่านดื่ม แต่นางมีอาหารเหลืออยู่เพียง “แป้งสักกำมือหนึ่งในหม้อและน้ำมันเล็กน้อยที่ในไห.” นางคิดว่านางไม่มีอาหารพอที่จะแบ่งให้ผู้พยากรณ์ และนางก็บอกท่านอย่างนั้น.—1 กษัต. 17:8-12, ฉบับ R73
2 เอลียาห์ยืนกรานว่า “จงทำขนมอันเล็ก ๆ มาให้ฉันก่อน, แล้วจึงทำสำหรับเจ้าและบุตร. ด้วยพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลได้ทรงตรัสดังนี้ว่า, ‘แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด, และน้ำมันในขวดนั้นจะไม่ขาด.’ ”—1 กษัต. 17:13, 14
3. มีประเด็นสำคัญอะไรที่เราต้องตัดสินใจ?
3 มีประเด็นสำคัญที่หญิงม่ายจะต้องตัดสินใจซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการตัดสินใจว่าจะแบ่งอาหารที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดให้เอลียาห์หรือไม่. นางจะไว้วางใจพระยะโฮวาว่าพระองค์จะช่วยนางและบุตร หรือนางจะถือว่าสิ่งจำเป็นด้านร่างกายสำคัญกว่ามิตรภาพกับพระเจ้าและการได้รับความพอพระทัยจากพระองค์? เราทุกคนต้องตัดสินใจในประเด็นที่คล้าย ๆ กันนั้น. เราจะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นห่วงเรื่องการได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวายิ่งกว่าการแสวงหาความมั่นคงด้านวัตถุไหม? เรามีเหตุผลมากมายที่จะไว้วางใจและรับใช้พระเจ้า. และมีหลายสิ่งที่เราทำได้เพื่อแสวงหาและได้รับความพอพระทัยจากพระองค์.
‘พระองค์ทรงคู่ควรจะได้รับการนมัสการ’
4. เหตุใดเราควรนมัสการพระยะโฮวา?
4 พระยะโฮวาทรงมีสิทธิ์จะคาดหมายให้มนุษย์รับใช้พระองค์อย่างที่พระองค์ทรงยอมรับ. ผู้รับใช้ของพระองค์กลุ่มหนึ่งในสวรรค์ยืนยันข้อเท็จจริงนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยกล่าวว่า “พระยะโฮวา พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์ทรงคู่ควรจะได้รับเกียรติยศ ความนับถือ และอำนาจ เพราะพระองค์ทรงสร้างทุกสิ่ง สิ่งเหล่านั้นดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้นตามที่พระองค์ทรงประสงค์.” (วิ. 4:11) ด้วยเหตุที่พระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้สร้าง เราจึงควรนมัสการพระองค์.
5. เหตุใดความรักของพระเจ้าน่าจะกระตุ้นเราให้รับใช้พระองค์?
5 อีกเหตุผลหนึ่งที่เราควรรับใช้พระยะโฮวาคือความรักที่ไม่มีอะไรเทียบได้ที่พระองค์ทรงแสดงต่อเรา. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบฉายาของพระองค์, และตามแบบฉายาของพระองค์นั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น, และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง.” (เย. 1:27) มนุษย์มีเจตจำนงเสรีพร้อมกับความสามารถที่จะคิดและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ. เนื่องจากพระยะโฮวาประทานชีวิตแก่เรา พระองค์จึงทรงเป็นพระบิดาของมนุษยชาติ. (ลูกา 3:38) เช่นเดียวกับพ่อที่ดีทั้งหลาย พระองค์ทรงทำทุกสิ่งเพื่อให้บุตรชายหญิงของพระองค์มีสิ่งจำเป็นเพื่อจะชื่นชมชีวิต. “พระองค์ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้น” และ “ทรงบันดาลให้ฝนตก” เพื่อให้แผ่นดินโลกผลิตอาหารอุดมบริบูรณ์สำหรับเราพร้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่สวยงาม.—มัด. 5:45
6, 7. (ก) อาดามทำให้ลูกหลานทั้งสิ้นของเขาได้รับผลเสียหายเช่นไร? (ข) เครื่องบูชาของพระคริสต์จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อคนที่แสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้า?
6 พระยะโฮวายังทรงช่วยเราให้หลุดพ้นจากผลอันเลวร้ายของบาปด้วย. โดยการทำบาป อาดามกลายเป็นเหมือนนักพนันที่ขโมยเงินจากครอบครัวไปเล่นการพนัน. ด้วยการแข็งขืนต่ออำนาจของพระยะโฮวา อาดามปล้นความหวังที่จะมีความสุขชั่วนิรันดร์ไปจากลูกหลานของเขา. ความเห็นแก่ตัวของเขาทำให้มนุษยชาติกลายเป็นทาสของความไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นนายที่โหดร้าย. มนุษยชาติทั้งสิ้นจึงต้องเจ็บป่วย, เป็นทุกข์, และตายในที่สุด. เพื่อจะปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสจำเป็นต้องมีการจ่ายชดใช้ และพระยะโฮวาได้ทรงจ่ายชดใช้เช่นนั้นแล้วซึ่งช่วยเราให้หลุดพ้นจากผลเสียหายอันเลวร้ายเหล่านั้นได้. (อ่านโรม 5:21) โดยกระทำสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบิดา พระเยซูคริสต์ทรง “สละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” (มัด. 20:28) ในไม่ช้า คนที่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเปี่ยมจากการชำระค่าไถ่นั้น.
7 พระยะโฮวาพระผู้สร้างของเราทรงทำมากยิ่งกว่าใคร ๆ เพื่อช่วยให้เรามีความสุขและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. โดยได้รับความพอพระทัยจากพระองค์ เราจะสามารถเห็นวิธีที่พระองค์แก้ไขผลเสียหายทุกอย่างที่เกิดกับมนุษยชาติมาตลอด. พระยะโฮวาจะทรงแสดงให้เราแต่ละคนเห็นวิธีที่พระองค์ “ทรงประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.”—ฮีบรู 11:6
“ไพร่พลของท่านเต็มใจสมัคร”
8. ประสบการณ์ของยะซายาห์สอนเราอย่างไรเกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้า?
8 การได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการใช้เจตจำนงเสรีของเราอย่างถูกต้อง. ทั้งนี้เพราะพระยะโฮวาไม่ทรงบังคับใครให้รับใช้พระองค์. ในสมัยยะซายาห์ พระองค์ทรงถามว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป, และผู้ใดจะไปแทนเรา?” พระยะโฮวาทรงให้เกียรติผู้พยากรณ์โดยที่พระองค์ทรงยอมรับว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเอง. ขอให้นึกถึงความพอใจยินดีของยะซายาห์เมื่อท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.”—ยซา. 6:8
9, 10. (ก) เราควรมีทัศนะอย่างไรในการรับใช้พระเจ้า? (ข) เหตุใดจึงนับว่าเหมาะสมที่เราจะรับใช้พระยะโฮวาอย่างสุดชีวิต?
9 มนุษย์มีอิสระที่จะรับใช้หรือไม่รับใช้พระเจ้า. พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรารับใช้พระองค์ด้วยความเต็มใจ. (อ่านยะโฮซูอะ 24:15) ใครก็ตามที่ไม่เต็มใจนมัสการพระองค์จะเป็นที่พอพระทัยพระองค์ไม่ได้; อีกทั้งพระองค์จะไม่ยอมรับการอุทิศตัวของคนที่มีเจตนาแค่จะทำให้มนุษย์พอใจ. (โกโล. 3:22) ถ้าเรา “ชักช้า” ในการทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระเจ้าโดยปล่อยให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางโลกมาขัดขวางการนมัสการของเรา เราจะไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. (เอ็ก. 22:29, ฉบับ R73) พระยะโฮวาทรงรู้ว่าการรับใช้พระองค์อย่างสุดชีวิตเป็นผลดีสำหรับเรา. โมเซกระตุ้นชาวอิสราเอลให้เลือกชีวิตโดย ‘รักพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และผูกพันกับพระองค์.’—บัญ. 30:19, 20, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน
10 กษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาว่า “ไพร่พลของท่านเต็มใจสมัครจัดขบวนแห่อันประดับด้วยเครื่องบริสุทธิ์ในวันที่แสดงฤทธิ์เดชของท่าน. แล้วท่านจะได้พรรคพวกชายหนุ่มดุจน้ำค้าง, ออกมาจากครรภ์แห่งแสงอรุณ.” (เพลง. 110:3) ผู้คนมากมายในทุกวันนี้ดำเนินชีวิตโดยมุ่งแสวงหาความเพลิดเพลินและความมั่นคงทางการเงิน. แต่สำหรับคนที่รักพระยะโฮวา การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าทุกสิ่ง. การที่พวกเขามีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการประกาศข่าวดีเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาถือว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า. พวกเขามีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในความสามารถของพระยะโฮวาที่จะจัดหาสิ่งจำเป็นให้พวกเขาในแต่ละวัน.—มัด. 6:33, 34
เครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับ
11. ชาวอิสราเอลหวังจะได้รับประโยชน์อะไรจากการถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา?
11 ภายใต้สัญญาแห่งพระบัญญัติ ประชาชนของพระเจ้าถวายเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับเพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระองค์. เลวีติโก 19:5 กล่าวว่า “ถ้าผู้ใดจะถวายเครื่องบูชาสำหรับโมทนาพระคุณพระยะโฮวา, ให้ผู้นั้นถวายบูชาเป็นที่ให้มีความชอบ.” ในหนังสือเล่มเดียวกัน เราอ่านว่า “เมื่อเจ้าถวายเครื่องสัตวบูชาเป็นเครื่องบูชาโมทนาพระคุณแด่พระเจ้า เจ้าจงถวายเครื่องสัตวบูชานั้นเพื่อเจ้าจะเป็นที่โปรดปราน.” (เลวี. 22:29, ฉบับ R73) เมื่อชาวอิสราเอลถวายสัตว์ที่เหมาะจะเป็นเครื่องบูชาบนแท่นของพระยะโฮวา ควันที่ลอยขึ้นไปก็เป็นเหมือน “เครื่องโอชารสอันหอม” แก่พระเจ้าองค์เที่ยงแท้. (เลวี. 1:9, 13) พระองค์ทรงพอพระทัย และยอมรับการแสดงความรักดังกล่าวจากประชาชนของพระองค์. (เย. 8:21) เราพบหลักการที่นำมาใช้ได้ในทุกวันนี้จากลักษณะเด่นดังกล่าวของพระบัญญัติ. การถวายเครื่องบูชาเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงยอมรับทำให้พระองค์พอพระทัย. พระองค์ทรงยอมรับเครื่องบูชาแบบใด? ขอพิจารณาสองขอบเขตในชีวิต คือการกระทำและคำพูดของเรา.
12. การประพฤติแบบใดที่จะทำให้ ‘การถวายร่างกายของเราเป็นเครื่องบูชา’ เป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระเจ้า?
12 อัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องในกรุงโรมว่า “ให้ท่านทั้งหลายถวายร่างกายเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ที่บริสุทธิ์ ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้ ซึ่งเป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสามารถในการใช้เหตุผลของพวกท่าน.” (โรม 12:1) เพื่อจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าคนเราต้องดูแลตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พระเจ้าทรงยอมรับได้เสมอ. ถ้าเขาทำให้ตัวเองเป็นมลทินด้วยยาสูบ, หมาก, ยาเสพติด, หรือการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ เครื่องบูชาที่เขาถวายนั้นก็จะไร้ค่า. (2 โค. 7:1) นอกจากนั้น เนื่องจากคนที่ “ทำผิดประเวณีก็ทำบาปต่อกายตนเอง” การประพฤติผิดศีลธรรมไม่ว่าจะรูปแบบใดทำให้เครื่องบูชาของเขาเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระยะโฮวา. (1 โค. 6:18) เพื่อจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย คนเราต้อง “เป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งสิ้น.”—1 เป. 1:14-16
13. เหตุใดจึงสมควรที่เราจะสรรเสริญพระยะโฮวา?
13 เครื่องบูชาอีกอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวายินดีรับเกี่ยวข้องกับคำพูดของเรา. คนที่รักพระยะโฮวาจะพูดยกย่องพระองค์เสมอเมื่ออยู่ในที่สาธารณะและเมื่ออยู่เป็นส่วนตัวที่บ้าน. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 34:1-3) ขอให้อ่านเพลงสรรเสริญ บท 148-150 และสังเกตว่าในเพลงสรรเสริญสามบทนี้กระตุ้นเราบ่อยเพียงไรให้สรรเสริญพระยะโฮวา. จริงทีเดียว “เป็นการสมควรที่คนเที่ยงธรรมจะสรรเสริญพระองค์.” (เพลง. 33:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) และพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเราทรงเน้นความสำคัญของการสรรเสริญพระเจ้าด้วยการประกาศข่าวดี.—ลูกา 4:18, 43, 44
14, 15. โฮเซอากระตุ้นชาวอิสราเอลให้ถวายเครื่องบูชาอะไร และพระยะโฮวาทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการถวายนั้น?
14 โดยการประกาศด้วยใจแรงกล้า เราให้หลักฐานว่าเรารักพระยะโฮวาและปรารถนาจะให้พระองค์พอพระทัยเรา. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาวิธีที่ผู้พยากรณ์โฮเซอากระตุ้นชาวอิสราเอลที่หันไปนมัสการเท็จและสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้า. (โฮ. 13:1-3) โฮเซอาบอกพวกเขาให้วิงวอนว่า “ขอ [พระยะโฮวา] โปรดทรงยกความผิดของข้าพเจ้าทั้งหมด, และโปรดทรงรับพวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยพระกรุณา; ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนำผลแห่งริมฝีปากของข้าพเจ้ามาเป็นสักการบูชาต่างโค.”—โฮ. 14:1, 2
15 โคเป็นสัตว์ที่มีราคาแพงที่สุดที่ชาวอิสราเอลจะถวายแด่พระยะโฮวาได้. ดังนั้น ‘เครื่องสักการบูชาต่างโค’ หมายถึงคำพูดที่จริงใจและใคร่ครวญอย่างดีในการสรรเสริญพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. พระยะโฮวาทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคนที่ถวายเครื่องบูชาเช่นนั้น? พระองค์ตรัสว่า “เราจะรักเขาอย่างเต็มใจ.” (โฮ. 14:4) พระยะโฮวาทรงให้อภัย, ทรงพอพระทัย, และทรงเป็นมิตรกับคนที่ถวายเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญเช่นนั้น.
16, 17. เมื่อความเชื่อในพระเจ้ากระตุ้นใครคนหนึ่งให้ประกาศข่าวดี พระยะโฮวาทรงรับคำสรรเสริญจากเขาอย่างไร?
16 การสรรเสริญพระยะโฮวาในที่สาธารณะเป็นส่วนหนึ่งที่โดดเด่นในการนมัสการแท้มาโดยตลอด. การสรรเสริญพระเจ้าองค์เที่ยงแท้มีความหมายอย่างมากสำหรับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญถึงขนาดที่ท่านอ้อนวอนพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดรับเครื่องบูชาด้วยปากที่ข้าพเจ้าเต็มใจถวาย.” (เพลง. 119:108) ทุกวันนี้เป็นเช่นไร? ยะซายาห์พยากรณ์ถึงชนหมู่ใหญ่ในสมัยของเราว่า “เขาจะร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. . . . [ของถวาย] ทั้งหลายจะขึ้นไปบนแท่นบูชาของ [พระเจ้า] เป็นเครื่องสักการบูชาอย่างโปรดปราน.” (ยซา. 60:6, 7) หลายล้านคนกำลังทำให้คำพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงโดยการถวาย “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเสมอโดยทางพระเยซู คือผลของริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์.”—ฮีบรู 13:15
17 คุณล่ะ? คุณกำลังถวายเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับไหม? ถ้าคุณยังไม่ได้ทำ คุณจะปรับเปลี่ยนและเริ่มสรรเสริญพระยะโฮวาในที่สาธารณะไหม? เมื่อความเชื่อกระตุ้นคุณให้เริ่มประกาศข่าวดี เครื่องบูชาของคุณก็จะ “เป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวายิ่งกว่าการถวายวัวเป็นเครื่องบูชา.” (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 69:30, 31) ขอให้มั่นใจได้เลยว่า “เครื่องหอม” แห่งเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญของคุณจะไปถึงพระยะโฮวาและพระองค์จะทรงพอพระทัยในตัวคุณ. (ยเอศ. 20:41) แล้วคุณจะมีความยินดีอย่างที่ไม่มีอะไรจะเทียบได้.
‘พระยะโฮวาจะทรงอวยพรแก่ผู้ชอบธรรม’
18, 19. (ก) ผู้คนมากมายในทุกวันนี้มีทัศนะอย่างไรต่อการรับใช้พระเจ้า? (ข) การสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าก่อให้เกิดผลเช่นไร?
18 ปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากลงความเห็นอย่างเดียวกับหลายคนในสมัยมาลาคีว่า “รับใช้พระเจ้าไปก็ไร้ประโยชน์ เราได้รับอะไรบ้างจากการทำตามข้อกำหนดของพระองค์?” (มลคี. 3:14, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เนื่องจากถูกชักจูงด้วยความปรารถนาด้านวัตถุ พวกเขาจึงมองพระประสงค์ของพระเจ้าว่าไม่มีทางสำเร็จและมองกฎหมายของพระองค์ว่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป. สำหรับพวกเขาแล้ว การประกาศข่าวดีเป็นเรื่องเสียเวลาและทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ.
19 พลังผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความคิดเช่นนั้นย้อนไปไกลถึงสวนเอเดน. ซาตานนั่นเองคือผู้ที่ชักชวนฮาวาให้เพิกเฉยคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาได้ประทานแก่นางและไม่สนใจที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระองค์. ทุกวันนี้ ซาตานยุยงประชาชนให้เชื่อว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม ฮาวาและสามีของนางได้มารู้ว่าการสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าหมายถึงความตายสำหรับพวกเขา. ในไม่ช้าคนที่ทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีของทั้งสองก็จะประสบผลอันน่าขมขื่นอย่างเดียวกัน.—เย. 3:1-7, 17-19
20, 21. (ก) หญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตาทำอะไร และผลเป็นเช่นไร? (ข) เราจะเลียนแบบหญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตาได้อย่างไร และเพราะเหตุใด?
20 ขอให้เปรียบเทียบผลอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับอาดามและฮาวากับผลของเหตุการณ์ที่กล่าวถึงในตอนต้นบทความซึ่งเกี่ยวข้องกับเอลียาห์และหญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตา. หลังจากที่ได้ยินถ้อยคำที่ให้กำลังใจของเอลียาห์ หญิงผู้นี้เริ่มทำขนมปังให้ผู้พยากรณ์กินก่อน. แล้วพระยะโฮวาก็ทรงทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ทางเอลียาห์. บันทึกกล่าวว่า “เอลียากับนางนั้นและครอบครัวก็ได้กินต่อมาช้านาน. แป้งในหม้อนั้นมิได้หมดไป, และน้ำมันในขวดมิได้ขาดตามคำซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงตรัสแก่เอลียานั้น.”—1 กษัต. 17:15, 16
21 หญิงม่ายชาวเมืองซาเร็บตาได้ทำสิ่งที่น้อยคนจากหลายพันล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนนี้อยากจะทำ. นางไว้วางใจอย่างเต็มที่ในพระเจ้าผู้ช่วยให้รอด และพระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งนาง. เรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลยืนยันว่าพระยะโฮวาสมควรได้รับความไว้วางใจจากเรา. (อ่านยะโฮซูอะ 21:43-45; 23:14) ชีวิตของพยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันให้หลักฐานเพิ่มเติมว่าพระองค์จะไม่มีวันละทิ้งผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย.—เพลง. 34:6, 7, 17-19a
22. เหตุใดจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้าเสียแต่บัดนี้?
22 วันพิพากษาของพระเจ้าซึ่งจะเกิดแก่ “ทุกคนที่อยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโลก” ใกล้จะมาถึง. (ลูกา 21:34, 35) ไม่มีใครจะหนีพ้นได้. ความมั่งคั่งหรือความสะดวกสบายด้านวัตถุแทบไม่มีค่าเลยเมื่อเทียบกับการได้ยินผู้พิพากษาที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งตรัสว่า “มาเถิด เจ้าทั้งหลายซึ่งได้รับพรจากพระบิดาของเรา จงมารับราชอาณาจักรซึ่งเตรียมไว้ให้เจ้า.” (มัด. 25:34) ใช่แล้ว ‘พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่ผู้ชอบธรรม; พระองค์จะทรงคุ้มครองรักษาเขาไว้ด้วยพระกรุณาเหมือนดังโล่ใหญ่.’ (เพลง. 5:12) เราควรแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้ามิใช่หรือ?
[เชิงอรรถ]
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดพระยะโฮวาทรงสมควรได้รับการนมัสการอย่างสุดหัวใจจากเรา?
• พระยะโฮวาทรงยอมรับเครื่องบูชาอะไรในทุกวันนี้?
• วลีที่ว่า ‘เครื่องสักการบูชาต่างโค’ หมายถึงอะไร และเหตุใดเราควรถวายแด่พระยะโฮวา?
• เหตุใดเราควรแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้า?
[ภาพหน้า 13]
คำถามของผู้พยากรณ์ของพระเจ้าทำให้เกิดประเด็นสำคัญอะไรที่มารดาผู้ยากไร้ต้องตัดสินใจ?
[ภาพหน้า 15]
เราได้รับประโยชน์อะไรจากการถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา?
[ภาพหน้า 17]
การที่คุณไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างแท้จริงจะไม่ทำให้ผิดหวังเลย