คุณต้องเชื่อไหม?
เด็กนักเรียนวัย 12 ขวบกำลังพยายามทำความเข้าใจหลักการขั้นพื้นฐานของวิชาพีชคณิต. คุณครูแสดงให้เด็กในชั้นเห็นว่าการคำนวณทางพีชคณิตดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ.
คุณครูตั้งโจทย์ว่า “ให้ x=y และให้ทั้งสองมีค่าเป็น 1.”
‘อือ สมมุติฐานนี้ก็ดูเหมือนมีเหตุมีผลดี’ เด็กนักเรียนคนนั้นคิด.
อย่างไรก็ตาม หลังจากการคำนวณซึ่งดูเหมือนมีเหตุมีผลได้สี่บรรทัด คุณครูก็บอกผลลัพธ์ที่น่าตกใจ: “เพราะฉะนั้น 2=1!”
“จงพิสูจน์ว่าผลลัพธ์นี้เป็นเท็จ” คุณครูท้าเด็กนักเรียนที่กำลังสับสนงงงวย.
เนื่องจากเด็กนักเรียนรุ่นเยาว์มีความรู้ทางพีชคณิตน้อยมาก พวกเขาจึงไม่รู้วิธีพิสูจน์เพื่อหักล้างการคำนวณนั้น. ทุกขั้นตอนในการคำนวณดูเหมือนถูกต้องครบถ้วน. กระนั้น เขาควรจะเชื่อผลลัพธ์ที่น่าตกใจนี้ไหม? ถึงอย่างไร คุณครูมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์มากกว่าเขา. แน่นอน เขาไม่ควรเชื่อผลลัพธ์นั้น! เขาคิดอยู่ในใจว่า ‘ฉันไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เพื่อแย้งผลลัพธ์นี้. สามัญสำนึกบอกฉันว่าผลลัพธ์นี้ไม่สมเหตุสมผล.’ (สุภาษิต 14:15, 18) เขารู้ว่าทั้งคุณครูและเพื่อน ๆ ของเขาคงไม่มีใครยอมเอาสองบาทไปแลกหนึ่งบาทแน่!
ต่อมา เด็กนักเรียนก็พบข้อผิดพลาดในการคำนวณพีชคณิตข้อนั้น. ขณะเดียวกัน ประสบการณ์เรื่องนี้สอนบทเรียนที่มีค่าให้กับเขา. แม้เมื่อคนที่มีความรู้สูงกว่ามากเสนอการหาเหตุผลอย่างเชี่ยวชาญและถี่ถ้วนทั้งดูเหมือนไม่มีจุดใดจะโต้แย้งได้ ผู้ฟังก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อข้อสรุปที่โง่เขลานั้นเพียงเพราะเขาไม่สามารถหาข้อพิสูจน์หักล้างเรื่องนั้นได้ในตอนนั้น. อันที่จริง เด็กนักเรียนคนนั้นติดตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้ได้ผลดียิ่งซึ่งพบที่ 1 โยฮัน 4:1 (ล.ม.) ที่ว่า อย่ารีบเชื่อทุกอย่างที่คุณได้ยินแม้ดูเหมือนว่าเรื่องนั้นมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก็ตาม.
ในเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณควรยึดติดอย่างดื้อรั้นต่อความคิดที่คุณมีอยู่ก่อนแล้ว. นับว่าเป็นความผิดพลาดถ้าคุณจะไม่สนใจข้อมูลซึ่งอาจช่วยปรับทัศนะที่ผิด ๆ. แต่คุณก็ไม่ควร ‘ด่วนหวั่นไหวจากเหตุผลของคุณ’ เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากคนที่อ้างว่ามีความรู้สูงและมีอำนาจมาก. (2 เธซะโลนิเก 2:2, ล.ม.) แน่ละ ครูเพียงแค่เล่นสนุกกับเด็กนักเรียน. แต่บางครั้งเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแบบนั้น. ผู้คนอาจ “ฉลาดแกมโกงในการคิดหาเรื่องเท็จ” เป็นอย่างยิ่ง.—เอเฟโซ 4:14, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:14, 23, 24.
ผู้เชี่ยวชาญถูกต้องเสมอไปไหม?
แม้อาจจะมีความรู้เฉลียวฉลาดเพียงใดก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าในสาขาใด ๆ ก็อาจมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันและมีทัศนะที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำลังโต้เถียงกันอยู่เกี่ยวกับเรื่องพื้น ๆ อย่างเช่น สาเหตุต่าง ๆ ของความเจ็บป่วย. ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเขียนว่า “ประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญที่ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมหรือว่าเกิดจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในหมู่นักวิทยาศาสตร์.” ผู้อยู่ในกลุ่มที่เรียกกันว่านักนิยัตินิยมเชื่อมั่นว่ายีนหรือสารพันธุกรรมของเรามีบทบาทอย่างไม่ต้องสงสัยต่อความอ่อนแอซึ่งนำไปสู่โรคภัยนานาประการ. อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ โต้แย้งว่าสภาพแวดล้อมและรูปแบบการดำเนินชีวิตต่างหากที่เป็นสาเหตุสำคัญในความเจ็บป่วยของมนุษย์. ทั้งสองฝ่ายต่างไม่รอช้าที่จะยกการศึกษาและสถิติต่าง ๆ ขึ้นมาอ้างเพื่อสนับสนุนเรื่องของตน. กระนั้น การโต้เถียงก็ยังคงดำเนินอยู่.
มีการพิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่านักคิดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเคยผิดพลาด แม้สิ่งที่เขาสอนอาจดูเหมือนไม่มีช่องโหว่ที่จะโต้แย้งได้ในตอนนั้น. นักปรัชญา เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ พรรณนาถึงอาริสโตเติลว่าเป็นผู้หนึ่ง “ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดานักปรัชญา.” กระนั้น รัสเซลล์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าคำสอนหลายอย่างของอาริสโตเติลเป็น “เรื่องไม่จริงโดยสิ้นเชิง.” เขาเขียนว่า “ตลอดยุคปัจจุบัน โดยแท้แล้ว สาวกของอาริสโตเติลต่อต้านความก้าวหน้าเกือบจะทุกอย่างด้านวิทยาศาสตร์, ตรรกศาสตร์, หรือด้านปรัชญา.”—ประวัติปรัชญาตะวันตก (ภาษาอังกฤษ).
“สิ่งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้’ ”
คริสเตียนสมัยแรกคงพบกับหลายคนที่เป็นศิษย์ของนักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียง เช่น โสกราตีส, เพลโต, และอาริสโตเติล. ผู้คนที่มีการศึกษาในสมัยนั้นถือว่าพวกเขาเองเป็นผู้มีสติปัญญาเหนือกว่าคริสเตียนส่วนใหญ่. สาวกของพระเยซูมีน้อยคนที่ “โลกนิยมว่ามีปัญญา.” (1 โกรินโธ 1:26) ที่จริงแล้ว ผู้สอนหลักปรัชญาในสมัยนั้นถือว่าสิ่งที่พวกคริสเตียนเชื่อเป็นเรื่อง “โฉดเขลา” หรือ “เหลวไหลโดยสิ้นเชิง.”—1 โกรินโธ 1:23, ฉบับแปลฟิลลิปส์.
หากคุณอยู่ท่ามกลางเหล่าคริสเตียนสมัยแรก คุณจะประทับใจการหาเหตุผลที่จูงใจของชนชั้นปัญญาชนในสมัยนั้นหรือตกใจกลัวเนื่องจากการสำแดงสติปัญญาของพวกเขาไหม? (โกโลซาย 2:4) ไม่มีเหตุผลที่จะเป็นเช่นนั้น ตามที่อัครสาวกเปาโลได้กล่าว. ท่านเตือนพวกคริสเตียนว่าพระยะโฮวาทรงมองดู “ปัญญาของคนมีปัญญา” และ “ความฉลาดของคนฉลาด” ในสมัยนั้นเป็นความโง่เขลา. (1 โกรินโธ 1:19) ท่านถามว่า “นักปรัชญา นักเขียนและนักวิจารณ์ของโลกนี้เป็นเช่นไรในการแสดงสติปัญญาของตน?” (1 โกรินโธ 1:20, ฉบับแปลฟิลลิปส์) ถึงแม้พวกเขาทุกคนมีสติปัญญาหลักแหลม กระนั้น นักปรัชญา, นักเขียน, และนักวิจารณ์ในสมัยของท่านเปาโลก็ไม่อาจมีคำตอบอันแท้จริงเกี่ยวกับปัญหาของมนุษยชาติ.
ดังนั้น คริสเตียนเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่อัครสาวกเปาโลบอกว่าเป็น “ข้อขัดแย้งของสิ่งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้.’ ” (1 ติโมเธียว 6:20, ล.ม.) เหตุผลที่ท่านเปาโลเรียกความรู้เช่นนั้นว่า “ผิด” ก็เนื่องจากความรู้นั้นขาดปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ—แหล่งหรือข้อมูลอ้างอิงจากพระเจ้าซึ่งอาจใช้ทดสอบทฤษฎีต่าง ๆ ของพวกเขา. (โยบ 28:12; สุภาษิต 1:7) การขาดแหล่งที่มานั้น และขณะเดียวกันถูกทำให้ตาบอดจากซาตาน ผู้หลอกลวงตัวเอ้ ทำให้ผู้ที่ยึดติดกับความรู้เช่นนั้นไม่มีหวังจะพบกับความจริง.—1 โกรินโธ 2:6-8, 14; 3:18-20; 2 โกรินโธ 4:4; 11:14; วิวรณ์ 12:9.
คัมภีร์ไบเบิล—คำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจ
คริสเตียนสมัยแรกไม่เคยสงสัยในเรื่องที่ว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยพระทัยประสงค์, จุดมุ่งหมาย, และหลักการของพระองค์ในพระคัมภีร์. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) พระคำนี้ป้องกันพวกเขาจากการ ‘ตกเป็นเหยื่อของปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลตามประเพณีของมนุษย์.’ (โกโลซาย 2:8, ล.ม.) ทุกวันนี้ สถานการณ์ไม่ต่างกัน. ตรงกันข้ามกับแนวความคิดของมนุษย์ที่สับสนและขัดแย้งกัน พระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจให้พื้นฐานอันมั่นคงสำหรับความเชื่อของเรา. (โยฮัน 17:17; 1 เธซะโลนิเก 2:13; 2 เปโตร 1:21) หากปราศจากคัมภีร์ไบเบิล เราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพยายามปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างที่มั่นคงแข็งแรงบนเนินทรายที่ถูกลมพัดเคลื่อนที่ไปแห่งทฤษฎีและปรัชญาของมนุษย์.—มัดธาย 7:24-27.
บางคนอาจกล่าวว่า ‘แต่เดี๋ยวก่อน. เป็นความจริงมิใช่หรือที่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลมีข้อผิดพลาด และดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลจึงไม่น่าเชื่อถือมากไปกว่าปรัชญาของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ?’ ตัวอย่างเช่น เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ อ้างว่า “โคเพอร์นิคุส, เคปเลอร์, และกาลิเลโอ ต่อสู้กับอาริสโตเติล รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิล ในเรื่องการมีทัศนะที่ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเอกภพ.” (เราเปลี่ยนเป็นตัวเอน.) และอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความจริงมิใช่หรือที่ทุกวันนี้ นักคตินิยมการทรงสร้างยืนกรานว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนว่าโลกถูกสร้างในหกวันที่มี 24 ชั่วโมง ทั้งที่ข้อเท็จจริงทุกอย่างแสดงว่าโลกมีอายุมาหลายพันล้านปีแล้ว?
อันที่จริง คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ. พวกผู้นำคริสตจักรซึ่งไม่ได้ยึดมั่นกับพระคำของพระเจ้าต่างหากที่ได้สอนเรื่องนั้น. บันทึกในพระธรรมเยเนซิศเกี่ยวกับการทรงสร้างเปิดช่องว่าเป็นไปได้ที่โลกมีอายุหลายพันล้านปีและวันแห่งการทรงสร้างไม่ได้จำกัดแค่วันละ 24 ชั่วโมง. (เยเนซิศ 1:1, 5, 8, 13, 19, 23, 31; 2:3, 4) การประเมินค่าคัมภีร์ไบเบิลอย่างซื่อสัตย์ชี้ให้เห็นว่า แม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ตำราทางวิทยาศาสตร์ กระนั้นก็ไม่ใช่หนังสือที่ “เหลวไหลโดยสิ้นเชิง” อย่างแน่นอน. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลลงรอยทุกอย่างกับวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว.a
‘ความสามารถในการหาเหตุผล’
ถึงแม้สาวกของพระเยซูหลายคนเป็นชายหญิงที่ต่ำต้อย บางทีมีการศึกษาน้อย แต่พวกเขาก็ได้รับสิ่งมีค่าอย่างอื่นที่พระเจ้าทรงประทานให้. ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังอย่างไร พวกเขาทุกคนมีความสามารถในการหาเหดุผลและความสามารถในการคิด. อัครสาวกเปาโลสนับสนุนเพื่อนคริสเตียนให้ใช้ ‘ความสามารถในการหาเหตุผล’ ของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อ “พิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดีที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.”—โรม 12:1, 2, ล.ม.
เนื่องจากคริสเตียนสมัยแรกมี ‘ความสามารถในการหาเหตุผล’ ที่พระเจ้าทรงประทานให้ พวกเขาจึงทราบอย่างแน่ชัดว่าปรัชญาหรือคำสอนใด ๆ ที่ขัดกับพระคำของพระเจ้าซึ่งได้รับการเปิดเผยนั้นย่อมใช้การไม่ได้. ที่จริงแล้ว ในบางกรณี ผู้มีปัญญาในสมัยนั้น “ขัดขวางความจริง” และบอกปัดหลักฐานที่ว่ามีพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เขาถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์, เขาจึงเป็นคนโง่เขลาไป.” เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ พวกเขาจึง “คิดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ, และใจโง่ของเขาก็มืดไป.”—โรม 1:18-22; ยิระมะยา 8:8, 9.
บ่อยครั้ง ผู้ที่อ้างตัวว่าฉลาดเสนอข้อสรุปราวกับว่า “ไม่มีพระเจ้า” หรือ “คัมภีร์ไบเบิลเชื่อถือไม่ได้” หรือ “สมัยนี้ไม่ใช่ ‘สมัยสุดท้าย.’ ” ความคิดเช่นนั้นโง่เขลาในสายพระเนตรของพระเจ้าเหมือนกับที่สรุปว่า “2=1.” (1 โกรินโธ 3:19) ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะอ้างอย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องยอมรับข้อสรุปของพวกเขา หากข้อสรุปนั้นขัดแย้งกับพระเจ้า, เพิกเฉยต่อพระคำของพระองค์, และฝืนสามัญสำนึก. ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย แนวทางอันฉลาดสุขุมเสมอคือว่า “ให้ปรากฏว่าพระเจ้าทรงเป็นองค์สัตย์จริง แม้ปรากฏว่าทุกคนเป็นคนมุสา.”—โรม 3:4, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับรายละเอียด โปรดดูในหนังสือ ชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? และหนังสือ พระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยในตัวคุณมีไหม? จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
[ภาพหน้า 31]
ตรงกันข้ามกับความเห็นของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คัมภีร์ไบเบิลให้รากฐานอันมั่นคงสำหรับความเชื่อ
[ที่มาของภาพ]
Left, Epicurus: Photograph taken by courtesy of the British Museum; upper middle, Plato: National Archaeological Museum, Athens, Greece; right, Socrates: Roma, Musei Capitolini