คุณเปลี่ยนแปลงแล้วไหม?
“จงรับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของพวกท่านเสียใหม่.”—โรม 12:2
1, 2. วิธีที่เราได้รับการเลี้ยงดูและสังคมรอบตัวเรามีผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร?
เราทุกคนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวิธีที่เราได้รับการเลี้ยงดูและจากสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งก็คือเพื่อน ๆ วัฒนธรรม และชุมชนที่เราอยู่. นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราชอบอาหารบางอย่าง แต่งกายและประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง.
2 แต่มีบางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าวิธีที่เราแต่งกายหรืออาหารที่เราเลือกรับประทาน. ตัวอย่างเช่น ขณะที่เราเติบโตขึ้นมาเราได้รับการสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด. อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้. สติรู้สึกผิดชอบของเราอาจมีผลกระทบต่อการเลือกของเราด้วย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ชนต่างชาติซึ่งไม่มีบัญญัติได้ทำตามบัญญัติโดยสัญชาตญาณ.” (โรม 2:14) แต่นี่หมายความว่าหากไม่มีกฎหมายจากพระเจ้าระบุไว้อย่างชัดเจน เราก็สามารถทำตามมาตรฐานของครอบครัวหรือของผู้คนทั่วไปในสังคมไหม?
3. มีเหตุผลสองประการอะไรที่คริสเตียนไม่ทำตามมาตรฐานของโลก?
3 มีเหตุผลอย่างน้อยสองประการที่คริสเตียนไม่ทำอย่างนั้น. ประการแรก คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.” (สุภา. 16:25) เนื่องจากเราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราไม่สามารถกำหนดก้าวเดินในชีวิตของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ. (สุภา. 28:26; ยิระ. 10:23) ประการที่สอง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าซาตานเป็น “พระเจ้าของยุคนี้.” มันควบคุมมาตรฐานต่าง ๆ ของโลกนี้ ซึ่งก็คือสิ่งที่ผู้คนในโลกคิดว่าถูกหรือผิดและสิ่งที่ผู้คนนิยมชมชอบ. (2 โค. 4:4; 1 โย. 5:19) ด้วยเหตุนั้น ถ้าเราต้องการให้พระเจ้าพอพระทัยและอวยพรเรา เราต้องทำอย่างที่กล่าวไว้ในโรม 12:2.—อ่าน
4. เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้?
4 บทความนี้จะพิจารณาจุดสำคัญสามจุดในโรม 12:2. (1) ทำไมเราต้องรับ “การเปลี่ยนแปลง”? (2) เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไร? และ (3) เราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลง?
5. เปาโลเขียนคำแนะนำที่โรม 12:2 ไปถึงใคร?
5 เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงผู้ที่อยู่ในกรุงโรมในสากลศักราช 56 ท่านไม่ได้เขียนถึงผู้คนทั่วไปในกรุงโรม. ท่านเขียนถึงคริสเตียนซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมที่อาศัยอยู่ที่นั่น. (โรม 1:7) ท่านกระตุ้นพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงและ “เลิกเลียนแบบคนในยุค [“ระบบ,” เชิงอรรถ] นี้.” “ระบบนี้” รวมถึงมาตรฐาน ธรรมเนียม กิริยามารยาท และวิธีการแต่งกาย. เปาโลบอกให้ “เลิกเลียนแบบ” เพราะมีพี่น้องบางคนยังคิดและทำเหมือนกับชาวโรมัน. พวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างไร?
6, 7. ในสมัยของเปาโล ทำไมการดำเนินชีวิตในฐานะคริสเตียนจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่อยู่ในกรุงโรม?
6 เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนกรุงโรมในทุกวันนี้ พวกเขาเห็นซากปรักหักพังของวิหาร หลุมศพ อนุสาวรีย์ สนามกีฬา โรงละคร และสิ่งอื่น ๆ ซึ่งสร้างมานานนับพันปี. เราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเกมการต่อสู้อันโหดร้าย การแข่งรถศึก ละคร และละครเพลงซึ่งบางครั้งมีเนื้อหาที่ผิดศีลธรรม. โรมเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่มั่งคั่งซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนหาเงินได้มากมาย.—โรม 6:21; 1 เป. 4:3, 4
7 กรุงโรมมีวิหารมากมายและมีการบูชาเทพเจ้ามากมายหลายองค์ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้พยายามสร้างสายสัมพันธ์ใกล้ชิดจริง ๆ กับเทพเจ้าของพวกเขา. ศาสนาของชาวโรมันส่วนใหญ่เรียกร้องให้พวกเขาเข้าร่วมจารีตประเพณีต่าง ๆ เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน หรืองานศพ. จารีตประเพณีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเขา และนั่นคงต้องทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่อยู่ในกรุงโรมที่จะดำเนินชีวิตในฐานะคริสเตียน. หลายคนถูกปลูกฝังเลี้ยงดูให้นมัสการพระเท็จ พวกเขาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อจะเป็นคริสเตียนได้. แม้แต่หลังจากรับบัพติสมาแล้ว พวกเขาก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรบางอย่างในชีวิตต่อไป.
8. ทำไมโลกในทุกวันนี้จึงเป็นสถานที่อันตรายสำหรับคริสเตียน?
8 คล้ายกัน โลกในทุกวันนี้เป็นสถานที่อันตรายสำหรับคริสเตียน. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะน้ำใจของโลกมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง. (อ่านเอเฟโซส์ 2:2, 3; 1 โยฮัน 2:16 ) ผู้คนในโลกพยายามโน้มน้าวเราให้มีความปรารถนา ความคิด ค่านิยม และศีลธรรมแบบเดียวกัน และมีอันตรายอยู่เสมอที่เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก. ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเชื่อฟังคำแนะนำที่ให้ “เลิกเลียนแบบคนในยุคนี้” และ “รับการเปลี่ยนแปลง.” เราต้องทำอะไร?
เราต้องทำอะไรเพื่อจะเปลี่ยนแปลง?
9. หลายคนเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในชีวิตของพวกเขาเพื่อจะมีคุณสมบัติที่จะรับบัพติสมา?
9 เมื่อคนที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิต เขาก็เริ่มมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น. เขาละทิ้งศาสนาเท็จและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา. เขาพยายามพัฒนาบุคลิกภาพใหม่และเลียนแบบพระเยซู. (เอเฟ. 4:22-24) เรายินดีที่ในแต่ละปีมีหลายแสนคนก้าวหน้าเช่นนี้ อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า และรับบัพติสมา. เรื่องนี้ทำให้พระยะโฮวายินดีอย่างแน่นอน. (สุภา. 27:11) แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงแค่นี้ไหม?
10. ทำไมการเปลี่ยนแปลงชีวิตเราต้องทำมากกว่าเพียงแค่ปรับปรุงตัวเราเองให้ดีขึ้น?
10 ที่จริง การเปลี่ยนแปลงมีความหมายมากกว่าการทำความก้าวหน้าหรือปรับปรุงตัวเราเองให้ดีขึ้น. ไม่เหมือนกับสินค้าที่อาจติดฉลากหรือโฆษณาว่า “ปรับปรุงใหม่” เพื่อจะบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สินค้านั้นดียิ่งขึ้น. แต่ส่วนใหญ่แล้วมีเพียงส่วนประกอบอย่างเดียวเท่านั้นที่ใหม่ หรือไม่ก็แค่เปลี่ยนการบรรจุหีบห่อใหม่. ตัวสินค้าแทบจะเหมือนเดิมทุกอย่าง. พจนานุกรมอธิบายศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับหนึ่งกล่าวว่า คำ “รับการเปลี่ยนแปลง” ที่โรม 12:2 หมายถึงการเปลี่ยนความคิดของเราใหม่โดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์. ดังนั้น คริสเตียนไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาเพียงแค่เลิกนิสัยที่ทำให้เกิดผลเสียหาย คำพูดที่ไม่ดี หรือการประพฤติที่ผิดศีลธรรม. บางคนที่ไม่มีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลก็พยายามดำเนินชีวิตโดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้. ถ้าอย่างนั้น พวกเราที่เป็นคริสเตียนต้องทำอะไรเพื่อจะ “รับการเปลี่ยนแปลง”?
11. เปาโลกล่าวว่าคนเราต้องทำอะไรเพื่อจะเปลี่ยนแปลง?
11 เปาโลเขียนว่า “จงรับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของพวกท่านเสียใหม่.” “ความคิดจิตใจ” เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิด. แต่ในคัมภีร์ไบเบิล คำนี้ยังหมายถึงน้ำใจ ทัศนคติ และความสามารถในการหาเหตุผลของเราด้วย. ตอนต้นของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม ท่านพรรณนาถึงผู้คนที่มี “จิตใจเสื่อมทราม” เนื่องจากพวกเขา ‘ทำการอธรรม ความชั่วช้า ความโลภ และความเลวสารพัด.’ พวกเขา “เอาแต่อิจฉา ฆ่าคน วิวาท ล่อลวง” และทำสิ่งชั่วอื่น ๆ. (โรม 1:28-31) เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมเปาโลกระตุ้นคริสเตียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นให้ ‘รับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของพวกเขาเสียใหม่.’
‘ให้ท่านทั้งหลายขจัดความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมด.’—เอเฟ. 4:31
12. หลายคนในทุกวันนี้คิดอย่างไร และทำไมจึงเป็นอันตรายที่คริสเตียนจะคิดแบบนั้น?
12 น่าเสียดาย หลายคนในโลกที่อยู่รอบตัวเรามีความคิดแบบที่เปาโลพรรณนา. พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องล้าสมัยที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานและหลักการและไม่ควรมีใครบังคับคนอื่นให้ทำอย่างนั้น. ครูและพ่อแม่หลายคนปล่อยให้เด็ก ๆ ทำตามอำเภอใจ. พวกเขาถึงกับสอนเด็ก ๆ ว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. คนเหล่านี้เชื่อว่าไม่มีทางที่เราจะรู้ได้จริง ๆ ว่าอะไรถูกอะไรผิด. แม้แต่คนที่บอกว่าพวกเขาเชื่อพระเจ้าก็คิดว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่พระเจ้าบอกว่าถูกต้อง. (เพลง. 14:1) ทัศนคติแบบนี้เป็นอันตรายสำหรับคริสเตียน. ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจเลิกทำตามคำแนะนำที่เราได้รับจากองค์การของพระเจ้าและอาจเริ่มบ่นในเรื่องที่เราไม่ชอบด้วยซ้ำ. หรือเราอาจไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่กับคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวกับความบันเทิง การใช้อินเทอร์เน็ต และการเรียนสูง.
13. ทำไมเราควรวิเคราะห์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นคนอย่างไรจริง ๆ?
13 ถ้าเราต้องการเลิก “เลียนแบบคนในยุคนี้”คือไม่ปล่อยให้โลกหล่อหลอมวิธีที่เราคิดและรู้สึก เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนอย่างไร. เราจำเป็นต้องตรวจสอบทัศนคติและความรู้สึกในส่วนลึกที่สุด เป้าหมาย และค่านิยมของเรา. คนอื่นอาจไม่รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไรจริง ๆ และอาจบอกว่าเราทำดีอยู่แล้ว. แต่เราเองเท่านั้นที่รู้ว่าเราได้ให้สิ่งที่เราเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนแปลงตัวเราจริง ๆ ไหมและเรายังทำอย่างนั้นอยู่หรือไม่.—อ่านยาโกโบ 1:23-25
เราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
14. อะไรจะช่วยเราให้รู้ว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง?
14 เพื่อจะเปลี่ยนแปลง เราต้องเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา ซึ่งก็คือตัวตนที่แท้จริงของเรา. อะไรจะช่วยเราให้เปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในส่วนลึกเช่นนั้นได้? เมื่อเราเรียนคัมภีร์ไบเบิล เราเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราเป็นคนแบบใด. วิธีที่เราตอบสนองต่อสิ่งที่เรียนในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราให้ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วมีอะไรอยู่ในหัวใจเรา. นั่นจะช่วยให้เรารู้ว่าเราต้องเปลี่ยนอะไรเพื่อจะปฏิบัติสอดคล้องกับ “พระประสงค์อันดีของพระเจ้า.”—โรม 12:2; ฮีบรู 4:12
15. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเมื่อพระยะโฮวาปั้นเรา?
15 อ่านยะซายา 64:8. ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ผู้พยากรณ์ยะซายาห์ใช้สอนบทเรียนสำคัญแก่เรา. เราเป็นเหมือนดินเหนียว และพระยะโฮวาทรงเป็นเหมือนช่างปั้น. เมื่อพระองค์ปั้นเราเหมือนช่างปั้นปั้นดินเหนียว พระองค์ไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของเรา. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์เปลี่ยนตัวตนของเราที่อยู่ภายใน. เมื่อเรายอมให้พระองค์ปั้นเรา พระองค์จะช่วยเราให้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในส่วนลึกของเรา ซึ่งก็คือช่วยเราให้เปลี่ยนวิธีที่เรารู้สึกและวิธีที่เราคิด. นั่นแหละคือความช่วยเหลือที่เราจำเป็นต้องได้รับเพื่อจะสามารถสู้กับอิทธิพลต่าง ๆ ของโลก. พระยะโฮวาทรงปั้นเราอย่างไร?
16, 17. (ก) จงพรรณนาสิ่งที่ช่างปั้นทำกับดินเหนียวที่เขาใช้ปั้นภาชนะที่มีค่า. (ข) พระคำของพระเจ้าช่วยเปลี่ยนแปลงเราจนเป็นภาชนะที่มีค่าที่พระยะโฮวาสามารถใช้ได้อย่างไร?
16 เพื่อจะทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดี ช่างปั้นจะใช้ดินเหนียวที่มีคุณภาพสูง. แต่มีสองสิ่งที่ช่างปั้นต้องทำกับดินเหนียวก่อนจะปั้น. ก่อนอื่น ต้องชะล้างดินเหนียวเอาสิ่งแปลกปลอมหรือแร่ที่ปนเปื้อนออกไป. จากนั้น ต้องผสมดินเหนียวด้วยน้ำปริมาณพอเหมาะและนวดให้เข้ากันเพื่อให้ดินเหนียวนั้นคงรูปเมื่อถูกปั้น.
17 สังเกตว่าช่างปั้นใช้น้ำไม่เพียงเพื่อทำความสะอาดดินเหนียว แต่เพื่อทำให้ดินเหนียวนั้นปั้นได้ง่ายด้วย. หลังจากนั้น เขาก็จะสามารถปั้นดินเหนียวนั้นเป็นภาชนะแบบใดก็ได้ตามต้องการ แม้แต่ภาชนะที่บอบบาง. เช่นเดียวกับน้ำที่เปลี่ยนดินเหนียว พระคำของพระเจ้าก็เปลี่ยนเรา. เมื่อเราเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้เลิกคิดแบบผู้คนทั่วไปในโลกและเริ่มคิดแบบที่พระเจ้าทรงคิด. แล้วพระองค์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นภาชนะที่มีค่าที่พระองค์จะใช้ได้. (เอเฟ. 5:26) เราได้รับการกระตุ้นอยู่บ่อยครั้งให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ. ทำไมจึงมีการสนับสนุนให้เราทำสิ่งเหล่านี้? เพราะเมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้ เรากำลังยอมให้พระยะโฮวาปั้นเรา.—เพลง. 1:2; กิจ. 17:11; ฮีบรู 10:24, 25
18. (ก) ทำไมเราจำเป็นต้องใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าถ้าเราต้องการให้พระคำนั้นเปลี่ยนแปลงเรา? (ข) การใคร่ครวญคำถามอะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้นได้?
18 หากเราต้องการให้พระคำของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงเรา เราต้องทำไม่เพียงแค่อ่านและเรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. หลายคนอ่านคัมภีร์ไบเบิลและรู้ว่าพระคัมภีร์พูดเรื่องอะไรบ้าง. คุณอาจเคยพบคนแบบนี้ในเขตประกาศ. บางคนท่องจำข้อความหลายตอนในคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วยซ้ำ.a แต่การทำอย่างนี้ได้มักจะไม่ช่วยเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตของพวกเขา. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะพระคำของพระเจ้าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนก็ต่อเมื่อพวกเขายอมให้พระคำนั้นฝังลึกลงในหัวใจพวกเขา. เราต้องใคร่ครวญสิ่งที่เราเรียนจากคัมภีร์ไบเบิล. เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมั่นใจไหมว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงคำสอนทางศาสนา? ฉันเห็นหลักฐานจากชีวิตของฉันว่านี่เป็นความจริงไหม? ฉันเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใช้กับชีวิตของฉันเองและไม่เพียงแค่เอาไปสอนคนอื่นไหม? ฉันเชื่อว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากพระยะโฮวาและรู้สึกเหมือนกับว่าพระองค์กำลังพูดกับฉันเป็นส่วนตัวไหม?’ ถ้าเราใคร่ครวญคำถามแบบนี้ เราก็จะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น. เมื่อสิ่งที่เราเรียนรู้เข้าถึงหัวใจเรา เราจะถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนชีวิตของเราอย่างที่ทำให้พระเจ้ายินดี.—สุภา. 4:23; ลูกา 6:45
19, 20. เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรถ้าเรานำคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้?
19 ถ้าเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลและใคร่ครวญเป็นประจำ นั่นจะช่วยเราให้ทำอย่างที่เปาโลกล่าวไว้ ที่ว่า “จงเปลื้องบุคลิกภาพเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันทิ้งเสีย แล้วสวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งกำลังถูกสร้างขึ้นใหม่.” (โกโล. 3:9, 10) ถ้าเราเข้าใจคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ และนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิต พระคำนั้นจะกระตุ้นเราให้สวมบุคลิกภาพใหม่แบบคริสเตียนซึ่งสามารถปกป้องเราไว้จากกับดักของซาตานได้.
20 อัครสาวกเปโตรเตือนสติเราว่า “ในฐานะบุตรที่เชื่อฟัง อย่ายอมให้ความปรารถนาที่ท่านทั้งหลายเคยมีในตอนที่ยังเขลาอยู่นั้นครอบงำพวกท่าน แต่ท่านทั้งหลายจงเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งสิ้น.” (1 เป. 1:14, 15) บทความถัดไปจะอธิบายวิธีที่พระยะโฮวาจะอวยพรเราถ้าเราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติของเรา.
a โปรดดูตัวอย่างในหอสังเกตการณ์ 1 กุมภาพันธ์ 1994 หน้า 9 ข้อ 7.