“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย”
“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. จงหาทางทำสิ่งที่คนทั้งปวงเห็นว่าดี.”—โรม 12:17, ล.ม.
1. พฤติกรรมแบบใดมีให้เห็นโดยทั่วไป?
เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกพี่หรือน้องผลัก ตามปกติปฏิกิริยาแรกของเด็กนั้นก็คือผลักตอบกลับไป. น่าเสียดาย พฤติกรรมแก้เผ็ดเช่นนั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเด็กเท่านั้น. ผู้ใหญ่หลายคนก็ทำคล้าย ๆ กัน. เมื่อมีใครมาทำให้เขาไม่พอใจ เขาก็ต้องการจะเอาคืน. จริงอยู่ ผู้ใหญ่ส่วนมากจะไม่ใช้มือผลัก แต่หลายคนจะตอบโต้ในวิธีที่แยบยล. เขาอาจแพร่คำซุบซิบที่ก่อความเสียหายแก่ผู้ที่ทำให้เขาขุ่นเคืองหรือหาทางกีดกันไม่ให้คนนั้นประสบความสำเร็จ. ไม่ว่าใช้วิธีใด จุดมุ่งหมายก็เหมือนกัน คือมาอย่างไรก็ตอบกลับไปอย่างนั้นหรือแก้แค้น.
2. (ก) เหตุใดคริสเตียนแท้ต้านทานแรงกระตุ้นที่จะแก้แค้น? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรและคัมภีร์ไบเบิลบทไหน?
2 แม้ว่าแรงกระตุ้นที่จะแก้แค้นเป็นความรู้สึกที่ฝังลึก แต่คริสเตียนแท้พยายามจะไม่ยอมตามแรงกระตุ้นนั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาพยายามทำตามคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” (โรม 12:17) อะไรจะกระตุ้นเราให้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานอันสูงส่งนั้น? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราไม่ควรทำชั่วตอบแทนชั่วต่อใคร? เราจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อะไรหากเราหลีกเลี่ยงการแก้แค้น? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ให้เราพิจารณาบริบทของคำกล่าวของเปาโลและดูว่าพระธรรมโรมบท 12 แสดงอย่างไรว่าการไม่แก้แค้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง, เปี่ยมด้วยความรัก, และแสดงถึงความเจียมตัว. เราจะพิจารณาแง่มุมทั้งสามนี้ทีละแง่.
“เหตุฉะนั้น . . . ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลาย”
3, 4. (ก) เริ่มตั้งแต่พระธรรมโรมบท 12 เปาโลพิจารณาอะไร และคำ “เหตุฉะนั้น” ที่ท่านใช้มีความหมายเช่นไร? (ข) ความเมตตาสงสารของพระเจ้าน่าจะมีผลเช่นไรต่อคริสเตียนในกรุงโรม?
3 เริ่มตั้งแต่บท 12 เปาโลพิจารณาสี่เรื่องที่เกี่ยวข้องกันซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตคริสเตียน. ท่านพรรณนาความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา, กับเพื่อนร่วมความเชื่อ, กับคนที่ไม่มีความเชื่อ, และกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. เปาโลชี้ว่า มีเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ควรต่อต้านแนวโน้มที่ผิด ๆ รวมทั้งแรงกระตุ้นที่จะแก้แค้นด้วย เมื่อท่านกล่าวว่า “เหตุฉะนั้น พี่น้องทั้งหลาย อาศัยความเมตตาสงสารของพระเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลาย.” (โรม 12:1, ล.ม.) โปรดสังเกตคำ “เหตุฉะนั้น” ซึ่งมีความหมายว่า “เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่กล่าวไปแล้ว.” โดยเนื้อหาแล้วจึงเหมือนกับเปาโลกล่าวว่า ‘เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าเพิ่งอธิบายแก่ท่าน ข้าพเจ้าวิงวอนให้ท่านทั้งหลายทำสิ่งที่ข้าพเจ้าจะบอกท่านต่อจากนี้.’ เปาโลได้อธิบายอะไรไปแล้วแก่คริสเตียนในกรุงโรม?
4 ใน 11 บทแรกของจดหมายฉบับนี้ เปาโลพิจารณาโอกาสอันน่าพิศวงที่เปิดแก่ทั้งคนยิวและคนต่างชาติให้มาเป็นผู้ปกครองร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งเป็นความหวังที่ชาติอิสราเอลโดยสายเลือดไม่ตอบรับเอา. (โรม 11:13-36) สิทธิพิเศษอันล้ำค่านั้นเป็นไปได้เฉพาะแต่โดย “ความเมตตาสงสารของพระเจ้า.” คริสเตียนควรตอบสนองอย่างไรต่อพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า? หัวใจของเขาควรเต็มเปี่ยมด้วยความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งจนถูกกระตุ้นให้ทำสิ่งที่เปาโลกล่าวต่อจากนั้น ที่ว่า จง “ถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้, เป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถของท่านในการหาเหตุผล.” (โรม 12:1, ล.ม.) แต่คริสเตียนเหล่านั้นจะสามารถถวายตัวเองเป็น “เครื่องบูชา” แด่พระเจ้าได้อย่างไร?
5. (ก) คนเราจะถวายตัวเองเป็น “เครื่องบูชา” แด่พระเจ้าได้อย่างไร? (ข) หลักการอะไรที่น่าจะมีผลต่อความประพฤติของคริสเตียน?
5 เปาโลอธิบายต่อไปว่า “จงเลิกถูกนวดปั้นตามระบบนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของท่านเสียใหม่ เพื่อท่านทั้งหลายจะพิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.” (โรม 12:2, ล.ม.) แทนที่จะปล่อยให้วิญญาณของโลกนวดปั้นความคิดของตน พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดจิตใจเสียใหม่เพื่อจะคิดแบบพระคริสต์. (1 โกรินโธ 2:16; ฟิลิปปอย 2:5) หลักการนั้นควรมีผลต่อความประพฤติในแต่ละวันของคริสเตียนแท้ทุกคน รวมทั้งพวกเราในทุกวันนี้ด้วย.
6. โดยอาศัยการหาเหตุผลของเปาโลที่พบในโรม 12:1, 2 อะไรกระตุ้นเราไม่ให้แก้แค้น?
6 การหาเหตุผลของเปาโลในโรม 12:1, 2 ช่วยเราอย่างไร? เช่นเดียวกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณในกรุงโรม เราหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อถ้อยคำที่มีมาเรื่อย ๆ และหลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับความเมตตาสงสารซึ่งพระเจ้าได้ประทานแก่เราและยังคงประทานแก่เราทุก ๆ วันในชีวิต. เหตุฉะนั้น หัวใจที่เปี่ยมด้วยความหยั่งรู้ค่ากระตุ้นเราให้รับใช้พระเจ้าด้วยสิ้นสุดกำลังกาย, กำลังทรัพย์, และกำลังความสามารถ. ความปรารถนาด้วยความรู้สึกจากหัวใจเช่นนั้นยังกระตุ้นเราด้วยให้พยายามเต็มที่เพื่อจะคิดแบบเดียวกับพระคริสต์ ไม่ใช่คิดอย่างโลก. และการมีพระทัยของพระคริสต์ส่งผลต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ—ทั้งเพื่อนร่วมความเชื่อและคนที่ไม่มีความเชื่อ. (ฆะลาเตีย 5:25) ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงอย่างนั้นก็คือ ถ้าเราคิดแบบเดียวกับพระคริสต์ เราก็จะรู้สึกว่าต้องต้านทานแรงกระตุ้นที่จะแก้แค้น.—1 เปโตร 2:21-23.
“จงให้ความรักปราศจากมารยา”
7. มีการพิจารณาความรักแบบใดในโรมบท 12?
7 เราไม่ตอบแทนการชั่วด้วยการชั่วไม่เพียงเพราะนั่นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่เพราะเป็นแนวทางอันเปี่ยมด้วยความรักด้วย. โปรดสังเกตวิธีที่อัครสาวกเปาโลพิจารณาต่อจากนั้นเกี่ยวกับแรงกระตุ้นของความรัก. ในพระธรรมโรม เปาโลใช้คำ “ความรัก” (ภาษากรีก อะกาเป) หลายครั้งเมื่อกล่าวถึงความรักของพระเจ้าและพระคริสต์. (โรม 5:5, 8; 8:35, 39) อย่างไรก็ตาม ในบท 12 เปาโลใช้คำอะกาเปในแบบที่ต่างออกไป คือกล่าวถึงความรักที่แสดงต่อเพื่อนมนุษย์. หลังจากกล่าวว่าของประทานฝ่ายวิญญาณมีหลายอย่างและมีอยู่ในหมู่ผู้มีความเชื่อบางคน เปาโลกล่าวถึงคุณลักษณะที่คริสเตียนทุกคนควรปลูกฝัง. ท่านกล่าวว่า “จงให้ความรักปราศจากมารยา.” (โรม 12:4-9) การแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็นเครื่องหมายพื้นฐานที่ระบุตัวคริสเตียนแท้. (มาระโก 12:28-31) เปาโลกระตุ้นเตือนเราให้ตรวจดูให้แน่ใจว่าความรักที่เราแสดงออกในฐานะคริสเตียนออกมาจากใจจริง.
8. เราจะแสดงความรักอันปราศจากมารยาได้อย่างไร?
8 นอกจากนั้น เปาโลกล่าวถึงวิธีแสดงความรักอันปราศจากมารยา โดยบอกว่า “จงเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว จงยึดถือสิ่งที่ดีไว้.” (โรม 12:9) “เกลียดชัง” และ “ยึดถือ” เป็นคำที่หนักแน่น. “เกลียดชัง” อาจแปลได้ว่า “เกลียดอย่างยิ่ง.” เราต้องเกลียดไม่เพียงแค่ผลของความชั่ว แต่เกลียดตัวความชั่วเองด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) คำ “ยึดถือ” แปลจากคำกริยาภาษากรีกซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “ติดกาว.” คริสเตียนที่มีความรักแท้ยึดติดหรือผูกพันกับคุณลักษณะแห่งความดีนี้อย่างมั่นคงถึงขนาดที่คุณลักษณะนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแยกอยู่ต่างหากจากบุคลิกภาพของเขา.
9. เปาโลให้คำแนะเตือนอะไรหลายต่อหลายครั้ง?
9 เปาโลกล่าวหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับการแสดงความรักในวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ. ท่านกล่าวว่า “จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน จงให้พรอย่าแช่งด่าเลย.” “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” “ท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า, อย่าทำการแก้แค้น.” “อย่าให้ความชั่วชนะเราได้แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี.” (โรม 12:14, 17-19, 21) ถ้อยคำของเปาโลไม่ทิ้งอะไรไว้ให้ต้องสงสัยเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อคนที่ไม่มีความเชื่อ และแม้แต่คนที่ต่อต้านเรา.
“จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน”
10. เราสามารถอวยพรผู้ที่ข่มเหงเราได้โดยวิธีใด?
10 เราจะทำอย่างที่เปาโลกระตุ้นเตือนเราที่ว่า “จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน” โดยวิธีใด? (โรม 12:14) พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “จงรักศัตรูของท่านต่อ ๆ ไป และอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มัดธาย 5:44, ล.ม.; ลูกา 6:27, 28) ด้วยเหตุนั้น วิธีหนึ่งที่เราอวยพรผู้ข่มเหงก็คืออธิษฐานเพื่อพวกเขา อ้อนวอนขอพระเจ้าว่าหากใครต่อต้านเราเพราะความไม่รู้ ขอพระองค์ทรงเปิดตาให้เขามองเห็นความจริง. (2 โกรินโธ 4:4) จริงอยู่ อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องแปลกที่จะขอพระเจ้าให้อวยพรผู้ที่ข่มเหงเรา. อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราคิดคล้ายกันกับพระคริสต์มากเท่าใด เราก็จะยิ่งสามารถแสดงความรักแก่คนที่เป็นศัตรูมากเท่านั้น. (ลูกา 23:34) การแสดงความรักเช่นนั้นอาจก่อผลเช่นไร?
11. (ก) เราสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของซะเตฟาโน? (ข) ดังเห็นตัวอย่างจากชีวิตของเปาโล อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับผู้ข่มเหงบางคน?
11 ซะเตฟาโนเป็นคนหนึ่งที่อธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน และคำอธิษฐานของท่านไม่ไร้ประโยชน์. ไม่นานหลังจากวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 ซะเตฟาโนถูกผู้ต่อต้านประชาคมคริสเตียนจับตัว ลากออกไปนอกกรุงเยรูซาเลม และเอาหินขว้าง. ก่อนท่านจะตาย ท่านร้องออกมาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอโปรดอย่าทรงถือโทษเขาเพราะบาปนี้.” (กิจการ 7:58–8:1, ฉบับแปลใหม่) คนหนึ่งที่ซะเตฟาโนอธิษฐานเพื่อเขาในวันนั้นคือเซาโล ซึ่งเป็นพยานรู้เห็นและเห็นชอบกับการฆ่าซะเตฟาโน. ต่อมา พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ปรากฏแก่เซาโล. อดีตผู้ข่มเหงคนนี้กลายมาเป็นสาวกของพระคริสต์และในที่สุดกลายเป็นอัครสาวกเปาโล ผู้เขียนจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม. (กิจการ 26:12-18) สอดคล้องกับคำอธิษฐานของซะเตฟาโน ปรากฏชัดว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัยเปาโลสำหรับบาปที่ท่านเคยข่มเหงคริสเตียน. (1 ติโมเธียว 1:12-16) ไม่แปลกเลยที่เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนว่า “จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน”! ท่านทราบจากประสบการณ์ของตัวเองว่า อาจเป็นได้ว่าในที่สุดผู้ข่มเหงบางคนจะกลายมาเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า. ในสมัยของเราก็เช่นกัน ผู้ข่มเหงบางคนกลายมาเป็นผู้มีความเชื่อเพราะความประพฤติที่รักสันติของผู้รับใช้พระยะโฮวา.
“จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง”
12. คำแนะนำที่พบในโรม 12:9, 17 เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
12 คำแนะนำต่อจากนั้นของเปาโลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อคนที่มีความเชื่อและคนที่ไม่มีความเชื่อคือ “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” คำกล่าวนี้เป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่ท่านกล่าวก่อนหน้านั้น ที่ว่า “จงเกลียดสิ่งชั่ว.” ที่จริง ใครคนหนึ่งจะกล่าวได้อย่างไรว่าเขาเกลียดชังสิ่งที่ชั่วอย่างแท้จริงถ้าเขาใช้ความชั่วร้ายเป็นวิธีตอบแทนผู้อื่น? การทำอย่างนั้นย่อมตรงกันข้ามกับการมีความรักที่ “ปราศจากมารยา.” จากนั้น เปาโลกล่าวว่า “จงหาทางทำสิ่งที่คนทั้งปวงเห็นว่าดี.” (โรม 12:9, 17, ล.ม.) เราจะนำคำแนะนำนี้ไปใช้อย่างไร?
13. เราประพฤติตัวให้ “คนทั้งปวงเห็น” ในทางใด?
13 ก่อนหน้านั้น ในจดหมายถึงชาวโครินท์ เปาโลเขียนเกี่ยวกับการข่มเหงที่เหล่าอัครสาวกเผชิญ. ท่านกล่าวว่า “เรากลายเป็นการแสดงที่ให้จักรวาล ทูตสวรรค์และมนุษย์ทั้งหลายมองดู. . . . เมื่อถูกด่าเราก็อวยพร เมื่อถูกข่มเหงก็ทนเอา เมื่อถูกกล่าวร้ายก็พยายามวิงวอน.” (1 โกรินโธ 4:9-13, ฉบับแปล 2002) คล้ายกัน คริสเตียนแท้ในปัจจุบันกำลังถูกเฝ้ามองจากผู้คนในโลกนี้. เมื่อคนที่อยู่รอบตัวเราสังเกตสิ่งดี ๆ ที่เราทำแม้แต่เมื่อเราถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม พวกเขาอาจมีแนวโน้มที่จะมีทัศนะที่ดีขึ้นต่อข่าวสารคริสเตียนที่เราประกาศ.—1 เปโตร 2:12.
14. เราควรพยายามสร้างสันติถึงขนาดไหน?
14 แต่เราควรส่งเสริมสันติสุขถึงขนาดไหน? เราควรทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้. เปาโลบอกพี่น้องคริสเตียนว่า “หากเป็นได้ เท่าที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง.” (โรม 12:18, ล.ม.) “หากเป็นได้” และ “เท่าที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย” เป็นวลีขยายความที่แสดงว่าการสร้างสันติกับผู้อื่นนั้นอาจไม่สามารถทำได้เสมอไป. ตัวอย่างเช่น เราจะไม่ฝ่าฝืนพระบัญชาของพระเจ้าเพียงเพื่อจะรักษาสันติสุขกับมนุษย์. (มัดธาย 10:34-36; เฮ็บราย 12:14) ถึงกระนั้น เราทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุผล—โดยไม่ประนีประนอมหลักการอันชอบธรรม—เพื่อสร้างสันติ “กับคนทั้งปวง.”
“อย่าแก้แค้นเสียเอง”
15. มีเหตุผลอะไรตามที่พบในโรม 12:19 ที่จะตัดใจไม่แก้แค้น?
15 เปาโลให้เหตุผลที่มีน้ำหนักอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรแก้แค้น กล่าวคือ เพราะนั่นเป็นแนวทางที่เจียมตัว. ท่านกล่าวว่า “อย่าแก้แค้นเสียเอง พี่น้องที่รัก แต่จงหลีกทางให้พระพิโรธของพระเจ้า; เพราะมีเขียนไว้ว่า ‘การแก้แค้นเป็นของเรา; เราจะตอบแทน พระยะโฮวาตรัส.’ ” (โรม 12:19, ล.ม.) คริสเตียนที่พยายามแก้แค้นเป็นคนทำเกินสิทธิ์. เขาถือวิสาสะทำบทบาทที่เป็นของพระเจ้า. (มัดธาย 7:1) นอกจากนั้น ด้วยการจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เขาแสดงถึงการขาดความเชื่อในคำรับรองของพระยะโฮวาที่ว่า “เราจะตอบแทน.” ตรงกันข้าม คริสเตียนแท้ไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะ “ประทานความยุติธรรมแก่คนที่พระองค์ทรงเลือกไว้.” (ลูกา 18:7, 8, ฉบับแปล 2002; 2 เธซะโลนิเก 1:6-8) ด้วยความเจียมตัว พวกเขามอบการแก้แค้นไว้ให้พระเจ้าทรงจัดการ.—ยิระมะยา 30:23, 24; โรม 1:18.
16, 17. (ก) การ “กองถ่านเพลิง” ไว้ที่ศีรษะของใครคนหนึ่งหมายความเช่นไร? (ข) คุณเองเคยสังเกตเห็นวิธีที่ความกรุณาทำให้หัวใจของคนที่ไม่มีความเชื่ออ่อนลงไหม? ถ้าอย่างนั้น จงยกตัวอย่าง.
16 การแก้แค้นศัตรูคงจะทำให้ศัตรูมีใจแข็งกระด้างยิ่งขึ้น แต่การปฏิบัติต่อเขาอย่างกรุณาอาจทำให้หัวใจเขาอ่อนลง. เพราะเหตุใด? ขอให้สังเกตถ้อยคำของเปาโลที่มีไปถึงคริสเตียนในกรุงโรม. ท่านกล่าวว่า “ถ้าศัตรูของท่านอยากอาหาร จงให้เขากิน ถ้ากระหายน้ำจงให้เขาดื่ม ด้วยว่าถ้าทำอย่างนั้นจะกองถ่านเพลิงไว้ที่ศีรษะของเขา.” (โรม 12:20; สุภาษิต 25:21, 22) นั่นหมายความเช่นไร?
17 การ “กองถ่านเพลิงไว้ที่ศีรษะของเขา” เป็นภาพพจน์ที่มาจากวิธีการหลอมโลหะในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. แร่จะถูกใส่ในเตาหลอม และใส่ชั้นถ่านไม่เฉพาะด้านล่างของแร่ แต่จะวางไว้ด้านบนด้วย. ถ่านที่ลุกร้อนแรงที่กองไว้ด้านบนช่วยเพิ่มทวีความร้อนจนโลหะแข็งหลอมละลายและแยกออกจากขี้แร่. คล้ายกัน ด้วยการกระทำที่กรุณาต่อผู้ต่อต้าน เราอาจ “หลอม” ความแข็งกระด้างของเขาและดึงดูดลักษณะที่ดีของเขาออกมา. (2 กษัตริย์ 6:14-23) ที่จริง หลายคนที่เป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียนถูกดึงดูดมาสู่การนมัสการแท้ในครั้งแรกโดยการกระทำอันกรุณาที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาทำเพื่อพวกเขา.
เหตุที่เราไม่แก้แค้น
18. เหตุใดการไม่แก้แค้นจึงเป็นเรื่องถูกต้อง, แสดงความรัก, และเจียมตัว?
18 ในการพิจารณาพระธรรมโรมบท 12 กันสั้น ๆ เราได้เห็นเหตุผลสำคัญหลายประการที่เราไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใด.” เหตุผลแรก การไม่แก้แค้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง. เมื่อคำนึงถึงความเมตตาที่พระเจ้าแสดงต่อเรา เป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผลที่เราถวายตัวเราเองแด่พระยะโฮวาและเต็มใจเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์—รวมถึงพระบัญชาที่ให้รักศัตรู. เหตุผลที่สอง การไม่ทำชั่วตอบแทนชั่วเป็นแนวทางที่เปี่ยมด้วยความรัก. ด้วยการตัดใจไม่แก้แค้นและส่งเสริมสันติสุข เราแสดงความรักโดยหวังว่าจะช่วยแม้แต่ผู้ต่อต้านที่โหดเหี้ยมบางคนให้มาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. เหตุผลที่สาม การไม่ทำชั่วตอบแทนชั่วเป็นแนวทางที่เจียมตัว. การแก้แค้นด้วยตัวเราเองย่อมเป็นการทำเกินสิทธิ์ เพราะพระยะโฮวาตรัสว่า “การแก้แค้นเป็นของเรา.” พระคำของพระเจ้ายังเตือนด้วยว่า “มีการทำเกินสิทธิ์หรือ? ถ้าเช่นนั้น ก็จะมีความอัปยศ; แต่สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว.” (สุภาษิต 11:2, ล.ม.) การมอบการแก้แค้นไว้ให้พระเจ้าทรงจัดการซึ่งนับเป็นความฉลาดสุขุมแสดงว่าเราเจียมตัว.
19. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 เปาโลสรุปเรื่องที่ท่านพิจารณาเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่น. ท่านกระตุ้นเตือนคริสเตียนว่า “อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21, ล.ม.) เราเผชิญกับอิทธิพลอันชั่วร้ายอะไรในทุกวันนี้? เราจะเอาชนะอิทธิพลเหล่านั้นได้อย่างไร? จะมีการพิจารณาคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวและคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในบทความถัดไป.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ในโรมบท 12 เราพบคำแนะนำอะไรหลายครั้งหลายคราว?
• อะไรจะกระตุ้นเราไม่ให้แก้แค้น?
• เราและคนอื่น ๆ จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อะไรหากเราไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่ว”?
[กรอบหน้า 22]
โรมบท 12 พรรณนาเรื่องความสัมพันธ์ของคริสเตียนกับ
• พระยะโฮวา
• เพื่อนร่วมความเชื่อ
• คนที่ไม่มีความเชื่อ
[ภาพหน้า 23]
จดหมายของเปาโลถึงคริสเตียนในกรุงโรมให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริง
[ภาพหน้า 25]
เราสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของสาวกซะเตฟาโน?