-
จงปีติยินดีในความหวังเรื่องราชอาณาจักร!หอสังเกตการณ์ 1991 | 15 ธันวาคม
-
-
จงปีติยินดีในความหวังเรื่องราชอาณาจักร!
“จงปีติยินดีในความหวัง. จงอดทนเมื่อมีความยากลำบาก”—โรม 12:12, ล.ม.
1. ทำไมเราจะประสบความยินดีเมื่อเราผูกพันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา และอัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ทำอะไร?
“พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) ข้อความตอนนี้พรรณนาถึงพระยะโฮวาได้ดีจริง ๆ! ทำไม? เพราะการงานทั้งมวลที่พระองค์ได้กระทำก่อความสุขอย่างใหญ่หลวงแก่พระองค์. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่ดีและสิ่งซึ่งบันดาลความสุขทุกอย่าง สรรพสัตว์ที่มีเชาวน์ปัญญาซึ่งพระองค์สร้างขึ้นมาย่อมประสบความสุขเมื่อเขาติดต่อผูกพันกับพระองค์อย่างใกล้ชิด. นับว่าเหมาะสมจริง ๆ ที่อัครสาวกเปาโลกล่าวตักเตือนคริสเตียนให้สำนึกถึงคุณค่าของสิทธิพิเศษที่น่ายินดีเมื่อเขาได้มารู้จักพระเจ้ายะโฮวา ให้เป็นคนกตัญญูรู้คุณของประทานอันดีวิเศษทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างไว้ และปีติยินดีในความกรุณารักใคร่ซึ่งพระองค์ทรงสำแดงต่อพวกเขา. เปาโลเขียนอย่างนี้: “จงปีติยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า จงปีติยินดีเถิด!”—ฟิลิปปอย 4:4, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 104:31.
2. ความหวังอะไรก่อความปีติยินดีอย่างใหญ่หลวง และคริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ทำอะไรในเรื่องความหวังนี้?
2 คริสเตียนเอาใจใส่ต่อคำแนะนำซึ่งเปาโลกล่าวไว้หรือเปล่า? แน่นอน! บรรดาน้อง ๆ ฝ่ายวิญญาณของพระเยซูต่างก็ปลาบปลื้มในความหวังอันรุ่งโรจน์ซึ่งพระเจ้าโปรดแก่พวกเขา. (โรม 8:19-21; ฟิลิปปอย 3:20, 21) ถูกแล้ว พวกเขาทราบดีว่าเขาจะมีส่วนทำให้ความหวังอันเยี่ยมยอดสำหรับอนาคตของมนุษยชาติสำเร็จ ทั้งฝ่ายคนเป็นและคนตาย โดยการรับใช้ร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์. นึกภาพดูเถอะว่าเขาจะปลาบปลื้มยินดีเพียงใดในฐานะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์รับใช้ฐานะกษัตริย์และปุโรหิต! (วิวรณ์ 20:6) บุคคลดังกล่าวจะมีความสุขสักเพียงใดขณะที่เขาช่วยเหลือมนุษย์ผู้ซื่อสัตย์บรรลุความสมบูรณ์และช่วยชี้นำการบูรณะสภาพแผ่นดินโลกกระทั่งกลายเป็นอุทยานดังเดิม! จริง ๆ แล้ว ทุกคนที่รับใช้พระเจ้ามี “ความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์ซึ่งพระเจ้า ผู้ตรัสมุสาไม่ได้ ได้ตรัสสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนดึกดำบรรพ์.” (ติโต 1:2) ด้วยการคำนึงถึงความหวังอันเลิศประเสริฐนี้ อัครสาวกเปาโลได้กล่าวหนุนใจคริสเตียนทั้งหลายว่า “จงปีติยินดีในความหวัง.”—โรม 12:12, ล.ม.a
ความโสมนัสยินดีแท้เกิดแต่หัวใจ
3, 4. (ก) คำว่า “ปีติยินดี” หมายถึงอะไร และคริสเตียนควรจะปีติยินดีบ่อยครั้งเพียงไร? (ข) ความยินดีแท้ ๆ คืออะไร และขึ้นอยู่กับสิ่งใด?
3 ที่จะ “ปีติยินดี” หมายความว่ารู้สึกและแสดงออกซึ่งความยินดี แต่ไม่หมายถึงความปลาบปลื้มหรือลิงโลดตลอดเวลาจนเกินไป. คำกริยาตรงกับคำภาษาฮีบรูและกรีกซึ่งนำมาใช้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า “ความยินดี,” “ปลาบปลื้ม,” และ “ปีติยินดี” หมายถึงทั้งความรู้สึกที่อยู่ภายในและการแสดงออกซึ่งความยินดี. คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ ‘โสมนัสยินดีต่อ ๆ ไป’ “ร่าเริงยินดีเสมอ.”—2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:16.
4 แต่คนเราจะชื่นชมยินดีเสมอได้อย่างไร? เรื่องนี้เป็นไปได้เนื่องจากความโสมนัสยินดีแท้ ๆ นั้นเกิดแต่หัวใจ เป็นความรู้สึกอันลึกซึ้งภายในใจ ฝ่ายวิญญาณ. (พระบัญญัติ 28:47; สุภาษิต 15:13; 17:22) ความยินดีเป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งเปาโลจัดลำดับไว้ถัดจากความรัก. (ฆะลาเตีย 5:22) เพราะเป็นความรู้สึกภายใน จึงไม่ได้อาศัยสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ไม่อาศัยแม้กระทั่งพี่น้องของเราด้วยซ้ำ. แต่ทว่าพึ่งอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. และความปีติยินดีเกิดแต่ความอิ่มใจพอใจจากส่วนลึกของหัวใจ เนื่องจากรู้อยู่ว่าตัวเรามีความจริง มีความหวังเรื่องราชอาณาจักร และเรากำลังกระทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. ฉะนั้น ความยินดีจึงหาใช่เป็นเพียงลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดไม่ ความยินดีเป็นส่วนหนึ่งของ “บุคลิกลักษณะใหม่” คือกลุ่มคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์.—เอเฟโซ 4:24; โกโลซาย 3:10.
5. ความยินดีภายในอาจจะปรากฏออกมาให้เห็นเมื่อไรและอย่างไร?
5 แม้ว่าความยินดีเป็นคุณลักษณะแห่งหัวใจ กระนั้น ก็ยังปรากฏออกมาภายนอกจนสังเกตเห็นได้เป็นครั้งคราว. การแสดงออกความยินดีให้ปรากฏภายนอกเช่นนี้เป็นครั้งคราวคืออย่างไร? อาจเป็นสิ่งใด ๆ ก็ได้จากสีหน้าที่สงบราบเรียบกระทั่งอาการโลดเต้นด้วยความยินดี. (1 กษัตริย์ 1:40; ลูกา 1:44; กิจการ 3:8; 6:15) ทีนี้จะหมายความว่าคนไม่ช่างพูดหรือคนไม่ยิ้มแย้มเสมอไม่มีความยินดีกระนั้นหรือ? ไม่ใช่อย่างนั้น! ความยินดีแท้ไม่ใช่ว่าแสดงออกด้วยการพูด หรือหัวเราะหรือกระหยิ่มยิ้มย่องตลอดเวลา. สภาพการณ์ต่าง ๆ เป็นสาเหตุให้ความยินดีปรากฏออกมาได้หลาย ๆ ทาง. ไม่ใช่ความยินดีแต่อย่างเดียวทำให้เราเป็นที่พออกพอใจเมื่ออยู่ที่หอประชุมราชอาณาจักร แต่ความรักและความชอบพอระหว่างพี่น้องต่างหาก.
6. เหตุใดคริสเตียนจะมีความปีติยินดีอยู่เสมอแม้แต่ในยามที่เผชิญกับสภาพการณ์อันไม่น่ายินดี?
6 รูปการณ์ประจำของความยินดีได้แก่ ความคงถาวรภายในฐานะส่วนหนึ่งแห่งบุคลิกลักษณะใหม่ของคริสเตียนที่มาจากหัวใจ. นี้แหละเป็นเหตุที่เป็นไปได้ที่จะมีความปีติยินดีเสมอ. จริงอยู่ บางครั้งบางคราวเราอาจรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง หรือเราอาจประสบสภาพการณ์ที่ไม่น่าพอใจ. กระนั้น เราก็ยังคงมีใจชื่นชมอยู่ได้. คริสเตียนสมัยแรกบางคนเป็นทาส มีนายซึ่งเอาอกเอาใจยาก. คริสเตียนในสภาพดังกล่าวจะปีติยินดีอยู่เสมอได้ไหม? ได้แน่นอน เพราะภายในหัวใจของเขานั้นเปี่ยมด้วยความหวังเรื่องราชอาณาจักรและความยินดี.—โยฮัน 15:11; 16:24; 17:13.
7. (ก) พระเยซูตรัสอย่างไรเกี่ยวกับความยินดีภายใต้สภาพที่ยากลำบาก? (ข) อะไรจะช่วยเราอดทนภายใต้สภาพที่ยากลำบาก และใครได้วางตัวอย่างอันดียิ่งในเรื่องนี้?
7 ทันทีหลังจากอัครสาวกเปาโลพูดว่า “จงปีติยินดีในความหวัง” ท่านกล่าวเพิ่มดังนี้ “จงอดทนเมื่อมีการยากลำบาก.” (โรม 12:12, ล.ม.) อนึ่ง พระเยซูได้ตรัสถึงความยินดีขณะอยู่ในความทุกข์ลำบาก เมื่อพระองค์ตรัสที่มัดธาย 5:11, 12, (ล.ม.): “ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อเขาได้ติเตียนเจ้าและข่มเหงเจ้า . . . จงชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม เพราะบำเหน็จของพวกเจ้าล้ำเลิศในสวรรค์.” ความปลาบปลื้มยินดีและการโลดเต้นด้วยความยินดีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องปรากฏออกมาให้เห็นจริง ๆ การชื่นชมยินดีและการโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้มนั้น ประการแรกคือความพอใจอิ่มใจอยู่ลึก ๆ ซึ่งคนเรามีเมื่อเขาเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ขณะธำรงตนซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้การทดลอง. (กิจการ 5:41) แท้จริง ความยินดีนี้แหละที่ช่วยเราให้อดทนภายใต้สภาพทุกข์ยากลำบาก. (1 เธซะโลนิเก 1:6) สำหรับเรื่องนี้พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีเลิศ. คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างนี้: “เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน.”—เฮ็บราย 12:2, ล.ม.
ปีติยินดีในความหวังทั้ง ๆ ที่มีปัญหา
8. คริสเตียนอาจประสบปัญหาอะไรบ้าง แต่ทำไมปัญหาต่าง ๆ ไม่อาจพรากความยินดีไปจากคริสเตียนได้?
8 การเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก็ใช่ว่าผู้นั้นปลอดปัญหาเสียทีเดียว. อาจมีปัญหาทางครอบครัว, การเงินฝืดเคือง, สุขภาพทรุดโทรม, หรือการตายของบุคคลที่เรารัก. ในขณะที่สิ่งดังกล่าวอาจยังความเศร้าสลด แต่ก็ไม่อาจทำลายพื้นฐานความยินดีของเราในความหวังเรื่องราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความยินดีล้ำลึกอยู่ภายในหัวใจของเราเสียได้.—1 เธซะโลนิเก 4:13.
9. อับราฮามเคยมีปัญหาอะไร และพวกเราทราบอย่างไรว่าท่านมีใจเบิกบานยินดี?
9 เพื่อให้ตัวอย่าง จงพิจารณาอับราฮาม. ชีวิตของท่านก็ใช่จะอภิรมย์ยินดีอยู่เสมอไม่. ท่านมีปัญหาในครอบครัว. ฮาฆารอนุภรรยาไม่ลงรอยกับซาราภรรยาของท่าน. เกิดทะเลาะวิวาทกัน. (เยเนซิศ 16:4, 5) ยิศมาเอลทำตลกล้อเลียนยิศฮาคทั้งรังแกด้วย. (เยเนซิศ 21:8, 9; ฆะลาเตีย 4:29) ในที่สุด ซาราภรรยาที่รักของอับราฮามก็สิ้นชีวิต. (เยเนซิศ 23:2) ถึงแม้นมีปัญหายุ่งยากเหล่านี้ ท่านก็ยังชื่นชมยินดีในความหวังเรื่องพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักรได้แก่พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม ซึ่งโดยพงศ์พันธุ์นั้นทุกครอบรัวบนแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพร. (เยเนซิศ 22:15-18) ด้วยหัวใจที่เบิกบานยินดี อับราฮามอดทนรับใช้พระยะโฮวานานถึงหนึ่งร้อยปีหลังจากได้ละจากเมืองอูระบ้านเกิดของท่าน. เหตุฉะนั้น จึงมีคำเขียนกล่าวถึงท่านว่า “ท่านได้คอยอยู่เพื่อจะได้เมืองที่มีราก ซึ่งพระเจ้าเป็นนายช่างและเป็นผู้สร้างขึ้น.” เพราะอับราฮามเชื่อว่าจะมีราชอาณาจักรมาซีฮา ครั้นได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยพระเจ้าให้เป็นกษัตริย์แล้วพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าสามารถตรัสได้ว่า: “อับราฮาม . . . ชื่นชมยินดีเป็นอันมากที่จะได้เห็นวันของเราและท่านก็ได้เห็นและชื่นชมยินดี.”—เฮ็บราย 11:10; โยฮัน 8:56, ล.ม.
10, 11. (ก) พวกเราที่เป็นคริสเตียนมีการต่อสู้ชนิดใด และเราได้รับการช่วยโดยวิธีใด? (ข) อะไรจะชดเชยการขาดสมรรถนะของเราในการต่อสู้ความอ่อนแอฝ่ายเนื้อหนังที่ผิดบาปได้อย่างครบถ้วน?
10 พวกเราซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราต้องต่อสู้กับเนื้อหนังของเราที่ทำผิดเช่นกันและความพยายามจะทำสิ่งที่ถูกต้องอาจเป็นความทุกข์อย่างแท้จริง. แต่การที่เราต่อสู้ความอ่อนแอนั้นมิใช่ว่าเราไม่มีความหวัง. เปาโลรู้สึกปวดร้าวกับข้อขัดแย้งนี้ และท่านได้กล่าวว่า “ใครหนอจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากกายแห่งความตายนี้? ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา!” (โรม 7:24, 25) โดยพระเยซูคริสต์และค่าไถ่ซึ่งพระองค์จัดเตรียมให้ เราได้รับการช่วยชีวิตให้รอด.—โรม 5:19-21.
11 เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ชดเชยการขาดซึ่งสมรรถนะของเราในการต่อสู้อย่างสมบูรณ์แบบ. เราสามารถชื่นชมได้ในเรื่องค่าไถ่นี้เพราะค่าไถ่ทำให้เป็นไปได้ที่เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและได้รับการอภัยบาปของเรา. ที่พระธรรมเฮ็บราย 9:14 เปาโลพูดถึง “พระโลหิตของพระคริสต์” ซึ่งมีฤทธิ์ “ชำระสติรู้สึกผิดชอบของเราให้พ้นจากการประพฤติที่ตายแล้ว.” ดังนั้น สติรู้สึกผิดชอบของคริสเตียนจึงไม่ต้องเป็นทุกข์หนักใจเนื่องจากสำนึกว่าตนได้ทำผิด. เรื่องนี้พร้อมด้วยความหวังที่เรามีอยู่ประกอบกันเป็นพลังเข้มแข็งสำหรับความสุขซึ่งยังความเบิกบานยินดี. (บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14; โรม 8:1, 2, 32) ครั้นไตร่ตรองถึงความหวังของเรา พวกเราทุกคนจะมีกำลังใจสู้ต่อ ๆ ไปได้กระทั่งประสบผลสำเร็จ.
คำนึงถึงความหวังของเราเสมอ
12. คริสเตียนผู้ถูกเจิมพึงไตร่ตรองความหวังอะไร?
12 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งชนที่เหลือซึ่งถูกเจิมด้วยพระวิญญาณกับชนในจำพวกแกะอื่นจะพึงคำนึงถึง “ความหวังที่จะได้ความรอด” เสมอ สวมความหวังประหนึ่งหมวกเกราะไว้ตลอดเวลา. (1 เธซะโลนิเก 5:8) คริสเตียนจำพวกผู้ถูกเจิมสามารถคำนึงถึงสิทธิพิเศษอันล้ำเลิศที่จะได้รับอมตชีพในสวรรค์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพระยะโฮวาได้โดยตรง ทั้งคบหาสมาคมเป็นส่วนตัวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีและบรรดาอัครสาวกกับบุคคลอื่น ๆ ในจำนวน 144,000 คนซึ่งได้รักษาความซื่อสัตย์ภักดีตลอดศตวรรษต่าง ๆ ที่ผ่านมา. ช่างเป็นการคบหาสมาคมที่ยิ่งใหญ่เกินคำพรรณนาใด ๆ!
13. พวกผู้ถูกเจิมที่ยังอยู่ในแผ่นดินโลกมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความหวังของเขา?
13 ผู้ถูกเจิมจำนวนน้อยที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกมีความรู้สึกอย่างไรต่อความหวังเรื่องราชอาณาจักร? ทั้งนี้อาจสรุปได้จากถ้อยคำของ เอฟ. ดับเบิลยู. ฟรานซ์ นายกสมาคมวอชเทาเวอร์ ผู้ซึ่งรับบัพติสมาปี 1913 ว่า “ความหวังของเราเป็นสิ่งแน่นอน และทุกคนที่เป็นสมาชิกแห่งแกะฝูงน้อยจำนวน 144,000 จะสมหวังอย่างบริบูรณ์จนเรามิอาจจะนึกภาพได้. พวกเราจำพวกชนที่เหลือซึ่งอยู่ทันเห็นปี 1914 ซึ่งปีนั้นพวกเราทุกคนคาดว่าจะได้ไปสวรรค์ เราก็ยังไม่เลิกคิดในเรื่องค่านิยมแห่งความหวังนั้น. แต่เรายังเข้มแข็งในความหวังเหมือนเดิม และยิ่งเราต้องคอยนาน เราก็ยิ่งหยั่งรู้ค่าในความหวังนั้น. มันเป็นสิ่งมีค่าควรแก่การรอคอย ถึงแม้ต้องคอยนานหนึ่งล้านปี. ผมประเมินค่าความหวังของเราไว้สูงกว่าแต่ก่อน และผมไม่อยากปล่อยความหยั่งรู้ค่าสำหรับความหวังนี้หลุดลอยไป. อนึ่ง ความหวังที่ตั้งไว้สำหรับแกะฝูงน้อยเป็นคำรับรองว่า ความคาดหวังของชนฝูงใหญ่จำพวกแกะอื่นจะต้องสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอน เกินกว่าที่เราจินตนาการไว้อย่างเลิศลอยโดยไม่มีทางที่ความหวังนั้นจะไม่สำเร็จ. ด้วยเหตุนี้ เราจึงยึดมั่นกระทั่งเวลานี้ และเราจะยังคงยึดมั่นต่อ ๆ ไปจนกว่าพระเจ้าได้สำแดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงสัตย์ซื่อต่อ ‘คำสัญญาอันใหญ่ยิ่งเลิศประเสริฐ’ นั้น.”—2 เปโตร 1:4; อาฤธโม 23:19; โรม 5:5.
ปีติยินดีขณะนี้ในความหวังเรื่องอุทยาน
14. ความหวังอะไรซึ่งชนฝูงใหญ่ต้องรำลึกถึงอยู่เสมอ?
14 การแสดงออกซึ่งความเชื่อซึ่งยังความปลาบปลื้มเช่นนี้เป็นเหตุให้คนเหล่านั้นซึ่งเป็นชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นก่อให้มีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง. (วิวรณ์ 7:15, 16) บุคคลดังกล่าวต้องคำนึงถึงความหวังที่จะรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอน. ใช่แล้ว จงเฝ้ารอคอยเวลานั้นเมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้าเชิดชูสากลบรมเดชานุภาพของพระเจ้ายะโฮวาและทำให้พระนามอันมีเกียรติของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะโดยการนำความทุกข์ลำบากใหญ่มาสู่โลก ซึ่งจะชำระแผ่นดินโลกพ้นจากคนชั่วทั้งหลายซึ่งมีพญามารเป็นพระเจ้า. ความปลาบปลื้มยินดีจะมีมากมายเพียงไรที่จะรอดชีวิตผ่านพ้นความทุกข์ลำบากใหญ่ครั้งนั้น!—ดานิเอล 2:44; วิวรณ์ 7:14.
15. (ก) พระเยซูได้กระทำการรักษาแบบไหนเมื่อพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก และทำไม? (ข) ความต้องการด้านสุขภาพของผู้ที่รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนจะเป็นเช่นไร และทำไมความจำเป็นของเขาจึงต่างไปจากคนที่รับการปลุกขึ้นจากตาย?
15 เกี่ยวข้องกับชนฝูงใหญ่ วิวรณ์ 7:17, (ล.ม.) พูดอย่างนี้: “พระเมษโปดก . . . จะบำรุงเลี้ยงพวกเขา และจะทรงนำเขาไปถึงน้ำพุทั้งหลายแห่งชีวิต. และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา.” ถึงแม้คำพยากรณ์นี้สำเร็จสมจริงแล้วทางฝ่ายวิญญาณขณะนี้ แต่ผู้รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนจะประสบความสำเร็จสมจริงตามตัวอักษร. เป็นไปอย่างไร? พระเยซูทรงกระทำอะไรบ้างเมื่อพระองค์อยู่ในแผ่นดินโลก? พระองค์ทรงรักษาคนพิการ ทำให้คนง่อยเดินได้ รักษาคนหูหนวกให้ได้ยิน และคนตาบอดก็เห็นได้ และพระองค์ทรงรักษาคนโรคเรื้อน คนป่วยเป็นอัมพาตและ “ทรงรักษาโรคและความป่วยไข้ [ทุกชนิด, ล.ม.] ของพลเมืองให้หาย.” (มัดธาย 9:35; 15:30, 31) พวกเราที่เป็นคริสเตียนจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบนี้มิใช่หรือ? ชนฝูงใหญ่จะพาเอาความพิกลพิการและความป่วยไข้จากโลกเก่าเข้าไปถึงโลกใหม่. พวกเราจะคาดหมายให้พระเมษโปดกดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้? ความต้องการของผู้คนที่ผ่านอาร์มาเก็ดดอนย่อมจะแตกต่างกันมากกับความต้องการของคนเหล่านั้นที่ถูกปลุกขึ้นจากความตาย. พวกที่ถูกปลุกจากความตายคงจะได้รับร่างกายใหม่ซึ่งมีอวัยวะครบและมีสุขภาพดี แม้นยังไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เต็มที่. เนื่องด้วยการปลุกขึ้นจากตายอย่างอัศจรรย์ ดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นจะไม่จำเป็นต้องรับการซ่อมหรือแก้ไขความพิกลพิการใด ๆ ที่เคยมีมาก่อนโดยการบำบัดรักษาอย่างอัศจรรย์. ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากประสบการณ์อันโดดเด่นที่ได้ผ่านอาร์มาเก็ดดอน หลายคนในจำพวกชนฝูงใหญ่ย่อมต้องการรับการซ่อมสุขภาพหรือแก้ไขความพิกลพิการโดยการอัศจรรย์และเขาจะได้รับ. ปรากฏชัดว่าจุดมุ่งหมายสำคัญที่พระเยซูทรงรักษาความป่วยไข้ก็เพื่อแสดงภาพเป็นการหนุนใจชนฝูงใหญ่ให้เห็นการภายหน้าอันน่าชื่นชมยินดีว่า พวกเขาไม่เพียงแต่รอดชีวิตอย่างเดียว แต่หลังจากนั้นเขาจะได้รับการรักษาให้หายจากโรคภัยต่าง ๆ ด้วย.
16. (ก) การรักษาโรคอย่างอัศจรรย์สำหรับผู้รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนนั้นอาจมีขึ้นเมื่อไรและจะมีผลเช่นไร? (ข) เราจะยังปีติยินดีอยู่เรื่อยไปตลอดช่วงหนึ่งพันปีด้วยความหวังอะไร?
16 การรักษาโรคอย่างอัศจรรย์เช่นนั้น ว่ากันโดยเหตุผลแล้ว คงจะเกิดขึ้นท่ามกลางพวกที่รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอน ไม่นานนักหลังจากอาร์มาเก็ดดอนนั้น และคงจะนานพอควรก่อนเริ่มการปลุกคนตายให้เป็นขึ้น. (ยะซายา 33:24; 35:5, 6; วิวรณ์ 21:4; เทียบกับมาระโก 5:25-29.) สมัยนั้นผู้คนจะทิ้งแว่นตา, ไม้เท้า, ไม้ยันรักแร้, เก้าอี้มีล้อ, ชุดฟันปลอม, เครื่องช่วยฟัง, และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น. ช่างเป็นสาเหตุที่ยังความปลาบปลื้มยินดีเสียจริง ๆ! การดำเนินงานฟื้นฟูโดยพระเยซูเช่นนั้นช่างเหมาะสมเสียนี่กระไรกับบทบาทของผู้ที่รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนในฐานะเป็นรากแผ่นดินโลกใหม่. โรคภัยอันเป็นเหตุให้คนพิการจะถูกขจัดออกไป เพื่อว่าคนเหล่านั้นที่รอดมาได้จะมีชีวิตที่กระปรี้กระเปร่า ตั้งหน้าคอยดูกิจกรรมที่น่าพิศวงตลอดช่วงหนึ่งพันปีเบื้องหน้า. เขาจะไม่ถูกถ่วงความก้าวหน้าโดยความทุกข์เดือดร้อนซึ่งโลกเก่าก่อให้เกิดแก่พวกเขา. และตลอดรัชสมัยพันปีพวกเขาจะปีติยินดีในความหวังที่จะบรรลุชีวิตเต็มบริบูรณ์ฐานะมนุษย์สมบูรณ์เมื่อสิ้นพันปีนั้น.
17. จะมีความชื่นชมยินดีในสิ่งใดขณะที่งานบูรณะฟื้นฟูอุทยานยังดำเนินอยู่?
17 ถ้าเรื่องนี้เป็นความหวังของคุณ ก็จงใคร่ครวญด้วยถึงความยินดีที่คุณจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพอุทยานบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 23:42, 43) โดยไม่สงสัย ผู้ที่รอดผ่านอาร์มาเก็ดดอนจะช่วยกันทำแผ่นดินโลกให้สะอาด และด้วยเหตุนั้น ย่อมจะมีอาณาบริเวณที่ดูรื่นรมย์สำหรับคนตายที่จะถูกปลุกขึ้นมา. แทนการจัดงานศพอาจจะมีการต้อนรับผู้คนที่ถูกปลุกขึ้นมาจากความตาย รวมทั้งคนที่เรารักใคร่ซึ่งล่วงลับไป. และขอให้นึกถึงความสัมพันธ์อันจะยังความปีติยินดีแก่เราเมื่อเราพบชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อนโน้น. คุณอยากสนทนากับใครเป็นพิเศษ? เป็นไปได้ไหมที่คุณอยากจะสนทนากับเฮเบล, ฮะโนค, โนฮา, โยบ, อับราฮาม, ซารา, ยิศฮาค, ยาโคบ, โยเซฟ, โมเซ, ยะโฮซูอะ, ราฮาบ, ดะโบรา, ซิมโซน, ดาวิด, เอลียา, อะลีซา, ยิระมะยา, ยะเอศเคล, ดานิเอล, หรือโยฮันผู้ให้รับบัพติสมา? ความคาดหมายซึ่งก่อความยินดีเช่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความหวังของคุณเช่นกัน. คุณจะสามารถสนทนากับคนเหล่านี้ เรียนจากพวกเขาและทำงานร่วมกันเพื่อตกแต่งทั่วทั้งโลกให้เป็นอุทยาน.
18, เราจะพิจารณาไตร่ตรองความชื่นชมยินดีอะไรในขั้นต่อไป?
18 นอกจากนั้น ลองนึกภาพอาหารโอชะ น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์พร้อมกับแผ่นดินโลกของเรานี้ได้ฟื้นฟูคืนสู่สภาพที่ดีมีความสมดุลในระบบนิเวศวิทยาอย่างที่พระยะโฮวาได้ทรงสร้างให้เป็นเช่นนั้น. มนุษย์ไม่เพียงแต่มีชีวิตชื่นชมความสมบูรณ์เท่านั้น แต่เขาจะดำรงชีวิตอย่างกระปรี้กระเปร่าและเข้าร่วมอย่างมีความหมายในกิจกรรมที่น่าชื่นใจ. จงใคร่ครวญดูสังคมหนึ่งประกอบด้วยผู้คนจากทั่วโลกซึ่งปลอดอาชญากรรม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่มีการอิจฉา หรือวิวาทบาดหมางกัน—สังคมที่มีภราดรภาพและทุกคนในสังคมนี้ได้พัฒนาผลแห่งพระวิญญาณและบังเกิดผลนั้น. น่าตื่นเต้นจริง ๆ!—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
ความหวังซึ่งทำให้ชีวิตมีคุณค่า
19. (ก) เราจะประสบความปีติยินดีตามที่กล่าวไว้ที่ โรม 12:12 นั้นเมื่อไร? (ข) ทำไมเราควรตั้งใจแน่วแน่ไม่ยอมให้ปัญหาหนัก ๆ ในชีวิตผลักความหวังของเราไปไว้ข้างหลัง?
19 ความคาดหวังครั้นเป็นจริงแล้วจึงไม่ใช่ความหวังอีกต่อไป ดังนั้น ความปีติยินดีซึ่งเปาโลสนับสนุนที่พระธรรมโรม 12:12 นั้นก็เป็นสิ่งที่เราควรประสบอยู่ขณะนี้. (โรม 8:24) เพียงการคิดถึงพระพรมากมายที่จะได้รับในวันข้างหน้าโดยทางราชอาณาจักรของพระเจ้าก็เป็นสาเหตุให้เราปีติยินดีในความหวังแม้ในขณะนี้ด้วยซ้ำ. ฉะนั้น จงตั้งใจแน่วแน่จะไม่ยอมให้ปัญหาต่าง ๆ ของชีวิตในโลกที่เสื่อมทรุดนี้ผลักความหวังอันรุ่งโรจน์ของเราไปข้างหลัง. จงอย่าท้อถอยและยอมแพ้ อย่าปล่อยให้ความหวังที่อยู่เบื้องหน้าหลุดลอยไป. (เฮ็บราย 12:3) การละทิ้งแนวทางคริสเตียนจะไม่แก้ปัญหาของคุณ. จำไว้ว่า ถ้าคนเราเลิกรับใช้พระเจ้าเนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเขาอยู่เวลานี้ ก็ใช่ว่าปัญหาภาระเหล่านั้นจะหมดไปจากเขา แต่เขาจะเสียทั้งความหวังและโอกาสจะได้รับความปีติยินดีในความหวังอันดีเลิศที่มีอยู่ข้างหน้าด้วย.
20. ความหวังเรื่องราชอาณาจักรมีผลกระทบเช่นไรต่อผู้ที่ยึดอยู่กับความหวังนี้ และทำไม?
20 ไพร่พลของพระยะโฮวามีเหตุผลทุกประการที่จะอยู่อย่างมีความสุข. ความหวังอันสดใสและเป็นแรงบันดาลใจเช่นนี้ทำให้ชีวิตมีค่า. พวกเขาไม่เก็บความยินดีไว้เฉพาะตัวเอง. เปล่า พวกเขาต่างก็ร้อนรนเพื่อให้คนอื่นมีความยินดีเหมือนกัน. (2 โกรินโธ 3:12) ดังนั้น จึงเป็นอันว่าคนเหล่านั้นที่ยึดความหวังแห่งราชอาณาจักรเป็นคนมีความมั่นใจ และพวกเขายังได้สนับสนุนคนอื่นด้วยการประกาศกิตติคุณที่ได้รับจากพระเจ้าแก่คนเหล่านั้น. ทั้งนี้ทำให้ชีวิตของคนที่รับรองข่าวสารเปี่ยมล้นด้วยความหวังอันวิเศษสุดเท่าที่มนุษยชาติโดยทั่วไปเคยได้รับ คือความหวังที่ว่าราชอาณาจักรจะฟื้นฟูอุทยานทั่วแผ่นดินโลก. ถึงแม้ประชาชนไม่รับรองความหวังนี้ เราก็ยังคงปีติยินดีต่อ ๆ ไปเพราะเรามีความหวัง. พวกที่ไม่ยอมฟังข่าวดีนี้เป็นฝ่ายเสียโอกาส ไม่ใช่พวกเรา.—2 โกรินโธ 4:3, 4.
21. อะไรคืบใกล้เข้ามามากแล้ว และเราควรประเมินค่าความหวังของเราอย่างไร?
21 คำสัญญาของพระเจ้าเป็นดังนี้: “จงดูเถิด! เรากำลังสร้างสิ่งสารพัดขึ้นใหม่.” (วิวรณ์ 21:5) โลกใหม่พร้อมด้วยพระพรที่ก่อความปีติยินดีและไม่สิ้นสุดนั้นอยู่ใกล้มาก. ความหวังของเรา—ไม่ว่าจะมีชีวิตในสวรรค์หรือในอุทยานบนแผ่นดินโลก—เป็นสิ่งมีค่า จงยึดความหวังเช่นนี้ให้มั่น. ในสมัยสุดท้ายนี้อันเป็นวิกฤติ ยิ่งกว่ายุคใดสมัยใด จงถือว่า “ความหวังที่เรายึดไว้นั้นเป็นเสมือนสมอที่แน่และมั่นคงของจิตใจ.” เมื่อความหวังของเราทอดสมอไว้ที่พระยะโฮวาผู้ทรงเป็น “ศิลานิรันดร์” เรามีเหตุผลหนักแน่นและน่าตื่นเต้นดีใจในขณะนี้ที่จะ “ปีติยินดีในความหวัง” ซึ่งจัดไว้ต่อหน้าเรา.—เฮ็บราย 6:19; ยะซายา 26:4, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
-
-
จงใกล้ชิดกับพระยะโฮวาหอสังเกตการณ์ 1991 | 15 ธันวาคม
-
-
จงใกล้ชิดกับพระยะโฮวา
“จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.”—โรม 12:12, ล.ม.
1. พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาในเรื่องการอธิษฐานนั้นเป็นเช่นไร และอัครสาวกเปาโลได้ให้การหนุนใจอะไรเกี่ยวด้วยการอธิษฐาน?
พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงประทานความหวัง” แก่ไพร่พลทุกคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์. เนื่องจากทรงเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน” พระองค์จึงโปรดฟังคำวิงวอนขอการช่วยเหลือของเขาเพื่อประสบความหวังอันน่ายินดีซึ่งพระองค์ตั้งไว้ต่อหน้าพวกเขา. (โรม 15:13; บทเพลงสรรเสริญ 65:2) และโดยทางคัมภีร์ไบเบิลพระวจนะของพระองค์ พระองค์ทรงหนุนใจบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์ให้มาหาพระองค์ทุกเวลาตามที่เขาต้องการ. พระองค์ทรงพร้อมเสมอด้วยพระทัยปรารถนาจะสดับเรื่องราวต่าง ๆ ภายในหัวใจของเขา. ที่จริง พระองค์ทรงสนับสนุนพวกเขาให้ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” และ “อธิษฐานเสมออย่าเว้น.”a (โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 5:17) พระยะโฮวาทรงประสงค์จะให้คริสเตียนทุกคนอธิษฐานต่อพระองค์มิได้ขาด ด้วยการเปิดหัวใจพรั่งพรูความรู้สึกในใจให้พระองค์รับทราบ และกระทำเช่นนั้นในนามพระเยซูคริสต์พระบุตรสุดที่รักของพระองค์.—โยฮัน 14:6, 13, 14.
2, 3. (ก) เพราะเหตุใดเปาโลได้เตือนเราให้ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ”? (ข) เรามีคำรับรองอะไรว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราอธิษฐาน?
2 เพราะเหตุใดพระเจ้าทรงให้คำแนะนำดังกล่าวแก่พวกเรา? ก็เพราะว่าความกดดันและความรับผิดชอบต่าง ๆ ในชีวิตอาจทำให้เราท้อแท้จนอาจลืมอธิษฐาน. หรือปัญหาต่าง ๆ ทับถมเรากระทั่งไม่รู้สึกเบิกบานยินดีในความหวังแล้วเลิกอธิษฐาน. เมื่อคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เราต้องมีสิ่งกระตุ้นเตือนใจเราให้อธิษฐานและหันเข้าหาพระเจ้ายะโฮวาผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งการช่วยเหลือและการปลอบโยน.
3 สาวกยาโกโบเขียนอย่างนี้: “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) แน่นอน พระเจ้าหาได้ประทับ ณ ที่สูงหรือห่างไกลเกินไปจนไม่อาจได้ยินคำพูดที่เราทูลต่อพระองค์ ทั้งที่เราเองอยู่ในสภาพมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (กิจการ 17:27) ยิ่งกว่านั้น มิใช่ว่าพระองค์ทรงเพิกเฉยหรือไม่ใฝ่พระทัย. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับคำทูลร้องทุกข์ของเขา.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:15; 1 เปโตร 3:12.
4. ความสนพระทัยอย่างแท้จริงของพระยะโฮวาต่อการอธิษฐานนั้นอาจยกเป็นอุทาหรณ์เปรียบเทียบได้อย่างไร?
4 พระยะโฮวาทรงเชิญชวนคนเราอธิษฐาน. เราอาจเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการพูดคุยของผู้คนมากมายขณะร่วมชุมนุมกัน. คุณอยู่ที่นั่น ฟังคนอื่นสนทนากัน. บทบาทของคุณเป็นผู้สังเกตการณ์. แต่แล้วมีคนหนึ่งหันมาทางคุณ เอ่ยชื่อคุณแล้วพูดกับคุณโดยตรง. อากัปกิริยาเช่นนี้จับความสนใจของคุณในแนวพิเศษ. ทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงเฝ้าดูไพร่พลของพระองค์ด้วยความใฝ่พระทัยเสมอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน. (2 โครนิกา 16:9; สุภาษิต 15:3) ดังนั้น พระองค์ยินคำพูดของเรา เฝ้าดูในลักษณะให้การคุ้มครองด้วยความใฝ่พระทัย. แต่ว่า ยามใดเราอธิษฐานและออกพระนามของพระเจ้า พระองค์สนพระทัยและสดับฟังทันที แล้วพระองค์จะทรงเพ่งมายังเราเป็นพิเศษ. โดยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ พระยะโฮวาสามารถเข้าใจคำวิงวอนของมนุษย์แม้พูดไม่เป็นสำเนียงที่ฟังได้เร้าลึกอยู่ในหัวใจและความคิดของเขา. พระเจ้าทรงให้คำรับรองแก่เราว่าพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้ทุกคนที่ร้องออกพระนามด้วยความจริงใจและตั้งใจอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 145:18.
การตอบสนองตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า
5. (ก) คำแนะนำให้ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับการอธิษฐานของเรา? (ข) พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานโดยวิธีใด?
5 คำแนะนำให้หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอเป็นเครื่องแสดงว่าบางเวลาพระยะโฮวาอาจปล่อยให้เราอธิษฐานขอสิ่งนั้น ๆ ต่อ ๆ ไปสักระยะหนึ่งก่อนการตอบรับของพระองค์จะปรากฏชัด. เราอาจรู้สึกอ่อนใจเสียด้วยซ้ำในการวิงวอนขอความเห็นชอบหรือความกรุณารักใคร่ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ถูกประวิงไว้นาน. ฉะนั้น พระเจ้ายะโฮวาทรงวอนขอไม่ให้เรายอมแพ้ต่อแนวโน้มเช่นนั้น แต่ให้หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ. เราควรทูลขอพระองค์อยู่ร่ำไปเกี่ยวกับปัญหาของเรา มั่นใจว่าพระองค์จะทรงฟังคำอธิษฐานของเรา และจะทรงโปรดให้ได้ประสบสิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็น. ไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาพระเจ้าทรงชั่งคำขอร้องของเราตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ยกตัวอย่าง คำทูลขอของเราอาจส่งผลกระทบถึงคนอื่น ๆ ได้. เราอาจเปรียบเทียบเรื่องนี้กับบุตรคนหนึ่งที่ได้ขอบิดาซื้อจักรยาน. บิดารู้ว่าถ้าซื้อจักรยานให้ลูกคนนี้ ลูกอีกคนหนึ่งคงอยากได้เหมือนกัน. เนื่องจากลูกคนหนึ่งอาจยังเล็กเกินไปที่จะขี่จักรยาน บิดาอาจตัดสินใจไม่ซื้อเสียเลยระยะนั้น. ในลักษณะเดียวกัน โดยอาศัยความสว่างแห่งจุดมุ่งหมายของพระองค์และการกำหนดเวลาสำหรับสิ่งต่าง ๆ พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ย่อมตัดสินได้ว่าจริง ๆ แล้วอะไรเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับเราและสำหรับคนอื่นด้วย.—บทเพลงสรรเสริญ 84:8, 11; เทียบฮะบาฆูค 2:3.
6. พระเยซูทรงใช้อุทาหรณ์เรื่องใดเกี่ยวกับการอธิษฐาน และการหมั่นอธิษฐานไม่ลดละแสดงถึงอะไร?
6 ที่น่าทึ่งคืออุทาหรณ์ซึ่งพระเยซูตรัสถึงความจำเป็นสำหรับสาวกของพระองค์พึง “อธิษฐานอยู่เสมอและไม่อ่อนระอาใจ.” หญิงม่ายผู้ซึ่งไม่ได้รับความยุติธรรม นางเพียรวิงวอนผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จนกระทั่งนางได้รับความยุติธรรม. พระเยซูตรัสเพิ่มเติมว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงประทานความยุติธรรมแก่คนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้ . . . หรือ?” (ลูกา 18:1-7, ฉบับแปลใหม่) การหมั่นอธิษฐานแสดงว่าเรามีความเชื่อ เราหมายพึ่งพระยะโฮวา เราเต็มใจยินดีจะอยู่ใกล้ชิดพระองค์และวิงวอนขอจากพระองค์ ปล่อยให้พระองค์ทรงดำเนินงาน.—เฮ็บราย 11:6.
ตัวอย่างของการอยู่ใกล้ชิดพระยะโฮวา
7. เราสามารถเอาอย่างเฮเบลโดยวิธีใดในเรื่องการอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา?
7 พระคัมภีร์อุดมด้วยเรื่องการทูลอธิษฐานโดยผู้รับใช้ของพระเจ้า. เรื่องเหล่านี้ “ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.” (โรม 15:4) ความหวังของเราได้รับการเสริมให้มั่นคงโดยการพิจารณาตัวอย่างบางคนซึ่งได้อยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ. เฮเบลได้ถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่รับไว้ได้แด่พระเจ้าและแม้ไม่มีบันทึกเรื่องการอธิษฐาน เฮเบลคงต้องได้วิงวอนต่อพระยะโฮวาอย่างแน่นอนเพื่อพระองค์จะโปรดรับการถวายบูชาของท่าน. เฮ็บราย 11:4 อ่านดังนี้: “โดยความเชื่อ เฮเบลจึงได้นำเครื่องบูชาอันประเสริฐกว่าเครื่องบูชาของคายินมาถวายแก่พระเจ้า เพราะเหตุเครื่องบูชานั้นจึงมีพยานว่าเขาเป็นคนชอบธรรม.” เฮเบลรู้เรื่องคำสัญญาของพระเจ้าที่เยเนซิศ 3:15 แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรารู้ขณะนี้ เฮเบลก็รู้เพียงเล็กน้อย. แต่เฮเบลปฏิบัติตามความรู้เท่าที่มีอยู่. ฉะนั้น ทุกวันนี้ บางคนซึ่งเพิ่งสนใจความจริงของพระเจ้ายังไม่มีความรู้มาก แต่เขาอธิษฐานและใช้ความรู้เท่าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เหมือนเฮเบลได้กระทำ. ใช่แล้ว เขาปฏิบัติตามความเชื่อ.
8. ทำไมเราแน่ใจได้ว่าอับราฮามได้อยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา และเราน่าจะถามตัวเองอย่างไร?
8 ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าอีกคนหนึ่งคืออับราฮาม “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ.” (โรม 4:11) สมัยนี้ ยิ่งกว่าสมัยใด ๆ เราจำเป็นต้องมีความเชื่อที่มั่นคง และเราจำต้องอธิษฐานด้วยความเชื่อเหมือนอับราฮาม. เยเนซิศ 12:8 แจ้งว่าอับราฮามได้ก่อแท่น “ถวายบูชาพระยะโฮวาและนมัสการอ้อนวอนออกพระนามพระองค์ที่นั่น.” อับราฮามรู้จักพระนามของพระเจ้าและได้ใช้พระนามนั้นในการอธิษฐาน. ท่านหมั่นเพียรอธิษฐานครั้งแล้วครั้งเล่า โดย “ออกพระนามพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์เป็นนิตย์.” (เยเนซิศ 13:4; 21:33) อับราฮามออกพระนามของพระเจ้าด้วยความเชื่อเนื่องด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับชื่อเสียงดี. (เฮ็บราย 11:17-19) การอธิษฐานได้ช่วยอับราฮามมีความชื่นชมยินดีเป็นอันมากอยู่เสมอในความหวังเรื่องราชอาณาจักร. พวกเราปฏิบัติตามตัวอย่างของอับราฮามด้วยการหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอไหม?
9. (ก) เพราะเหตุใดการอธิษฐานของดาวิดมีประโยชน์มากมายแก่พลไพร่ของพระเจ้าสมัยนี้? (ข) อาจมีผลอะไรจากการที่เราอธิษฐานเหมือนดาวิดได้ทำเพื่อจะอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา?
9 ดาวิดเป็นตัวอย่างเด่นในการหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ และบทเพลงสรรเสริญของท่านแสดงให้เห็นว่าการอธิษฐานควรเป็นแบบไหน. ยกตัวอย่าง ผู้รับใช้ของพระเจ้าอาจอธิษฐานได้อย่างเหมาะสมขอสิ่งต่าง ๆ เช่นความรอดหรือการช่วยให้รอดพ้น (3:7, 8; 60:5), การนำทาง (25:4, 5), การปกป้องคุ้มครอง (17:8), การโปรดยกบาป (25:7, 11, 18) และหัวใจที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว (51:10). เมื่อดาวิดเศร้าโศกตรมใจ ท่านอธิษฐานดังนี้: “ขอทรงโปรดกระทำจิตใจผู้ทาสของพระองค์ให้ชื่นชมยินดี.” (86:4) พวกเราก็จะอธิษฐานทำนองเดียวกันได้เพื่อจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส โดยรู้อยู่ว่าพระยะโฮวาทรงปรารถนาจะให้เราปีติยินดีในความหวัง. ดาวิดอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอและได้อธิษฐานดังนี้: “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าได้ตามพระองค์ไปติด ๆ พระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์ทรงพยุงข้าพเจ้าไว้.” (63:8) เราจะอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาไหมเหมือนที่ดาวิดได้กระทำ? ถ้าเราทำอย่างนั้น พระองค์จะประคับประคองเราเช่นเดียวกัน.
10. ครั้งหนึ่งอาซาฟผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญมีแนวคิดผิด ๆ อย่างไร แต่ท่านได้ตระหนักถึงอะไร?
10 หากเราอยากอยู่ใกล้พระยะโฮวา เราจะต้องไม่อิจฉาคนชั่ว เพราะเหตุที่เขามีชีวิตอยู่อย่างสบาย ๆ และนิยมวัตถุ. อาซาฟนักประพันธ์บทเพลงสรรเสริญก็รู้สึกเช่นนั้นอยู่ระยะหนึ่งที่ว่าการรับใช้พระยะโฮวาหาประโยชน์มิได้ เพราะคนชั่ว “อยู่อย่างสบายเสมอ” (ฉบับแปลใหม่). กระนั้น อาซาฟเองก็เข้าใจว่าการชักเหตุผลเช่นนั้นผิด และว่าคนชั่ว “อยู่ในที่ลื่น.” ท่านตระหนักว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้ามาใกล้พระยะโฮวา และท่านได้ทูลพระเจ้าดังนี้: “ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังอยู่กับพระองค์เสมอ พระองค์ได้ทรงยึดมือขวาของข้าพเจ้าไว้. เพราะคนทั้งหลายที่อยู่ห่างไกลจากพระองค์จะต้องพินาศ. . . . แต่เป็นการดีที่ข้าพเจ้าเข้ามาใกล้พระองค์. ข้าพเจ้ารับเอาพระยะโฮวาเจ้ามาเป็นผู้อารักขาของข้าพเจ้าแล้ว เพื่อข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงกิจการทั้งปวงของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:12, 13, 18, 23, 27, 28) แทนที่จะอิจฉาชีวิตแบบสบาย ๆ ของคนชั่ว คนปราศจากความหวัง ขอให้เราเลียนแบบอาซาฟด้วยการอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ.
11. ทำไมดานิเอลจึงเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวด้วยการอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา และเราจะเลียนแบบดานิเอลได้โดยวิธีใด?
11 ดานิเอลตั้งใจหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ แม้ยามมีภัยตกอยู่ในวงล้อมสิงโต เนื่องจากไม่นำพาต่อหมายประกาศห้ามการอธิษฐาน. แต่พระยะโฮวา “ได้ทรงใช้ทูตของพระองค์มาปิดปากสิงโตนั้นไว้” ทรงช่วยดานิเอลรอดชีวิต. (ดานิเอล 6:7-10, 22, 27) ดานิเอลได้รับพระพรอย่างอุดมโดยการเพียรอธิษฐานนั้นเอง. พวกเราล่ะหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอไหมโดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญการต่อต้านขัดขวางงานประกาศ?
พระเยซู ผู้เป็นแบบอย่างของเรา
12. (ก) เมื่อแรกเริ่มทำงานประกาศสั่งสอน พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรในการอธิษฐาน และทั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างไรต่อคริสเตียน? (ข) แบบอย่างการอธิษฐานของพระเยซูเปิดเผยถึงสิ่งใดเกี่ยวกับการอธิษฐาน?
12 นับแต่เริ่มแรกที่พระองค์ทำการประกาศสั่งสอนบนแผ่นดินโลก ปรากฏว่าพระเยซูได้อธิษฐาน. ทัศนะของพระองค์ที่พระองค์อธิษฐานเมื่อทรงรับบัพติสมานั้นเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนเหล่านั้นที่จะขอรับบัพติสมาในปัจจุบัน. (ลูกา 3:21, 22) คนเราอาจจะอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อดำเนินกิจให้ลุล่วงตามที่การรับบัพติสมาหมายถึง. อนึ่ง พระเยซูทรงช่วยอีกหลายคนเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน. ณ โอกาสหนึ่ง ขณะพระเยซูทรงอธิษฐาน ณ ที่แห่งหนึ่ง สาวกของพระองค์ได้ทูลพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.” ครั้นแล้วพระเยซูจึงตรัสสิ่งที่พวกเรารู้จักว่าเป็นบทอธิษฐานตัวอย่าง ซึ่งในคำอธิษฐานนั้นกล่าวลำดับเรื่องแสดงว่าพระนามและพระทัยประสงค์ของพระเจ้าต้องมาเป็นอันดับแรก. (ลูกา 11:1-4) ฉะนั้น ในการอธิษฐาน เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญและความสมดุลไว้เสมอ ไม่มองข้าม “สิ่งไหนสำคัญกว่า.” (ฟิลิปปอย 1:9, 10, ล.ม.) จริงอยู่ บางครั้งมีความจำเป็นเฉพาะเรื่องหรือปัญหาบางอย่างที่ต้องนำขึ้นมากล่าวในคำอธิษฐาน. เช่นเดียวกับพระเยซู คริสเตียนอาจทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อขอกำลังทำงานบางอย่างที่ได้รับมอบหมาย หรือที่จะต้องประสบความยากลำบากหรืออันตรายโดยเฉพาะ. (มัดธาย 26:36-44) ที่จริง การอธิษฐานเป็นส่วนตัวอาจรวมไปถึงทุกแง่มุมของชีวิตเลยทีเดียว.
13. โดยวิธีใดพระเยซูแสดงถึงความสำคัญของการอธิษฐานเผื่อผู้อื่น?
13 โดยการวางแบบอย่างที่ดี พระเยซูทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของการอธิษฐานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น. พระองค์ทราบว่าบรรดาสาวกของพระองค์จะถูกเกลียดชัง ถูกข่มเหง ดังที่พระองค์เองทรงประสบ. (โยฮัน 15:18-20; 1 เปโตร 5:9) เหตุฉะนั้น พระองค์จึงทูลวิงวอนพระเจ้าให้ “ป้องกันรักษาเขาไว้ให้พ้นความชั่ว.” (โยฮัน 17:9, 11, 15, 20) และเพราะทรงทราบอยู่ว่ามีการทดลองพิเศษรออยู่เบื้องหน้า พระองค์จึงตรัสแก่เปโตรดังนี้: “เราได้อธิษฐานเผื่อตัวท่าน เพื่อความเชื่อของท่านจะไม่ได้ขาด.” (ลูกา 22:32) จะเป็นคุณประโยชน์เพียงไรถ้าเรามุ่งมั่นในการอธิษฐานเผื่อพี่น้องของเราด้วย คิดถึงคนอื่นและไม่ใช่นึกถึงแต่ปัญหาและผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น!”—ฟิลิปปอย 2:4; โกโลซาย 1:9, 10.
14. เราทราบอย่างไรว่าตลอดเวลาที่พระเยซูทรงประกาศสั่งสอนอยู่ในโลก พระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามาก และเราจะเอาอย่างพระองค์ได้โดยวิธีใด?
14 ตลอดช่วงการประกาศสั่งสอนของพระองค์ พระเยซูหมั่นเพียรอธิษฐานอยู่เสมอ ทรงใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากจริง ๆ. (เฮ็บราย 5:7-10) ที่พระธรรมกิจการ 2:25–28 อัครสาวกเปโตรยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 16:8 และใช้ข้อนี้หมายถึงองค์พระเยซูคริสต์เจ้าดังนี้: “กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ตรงหน้าข้าพเจ้าเป็นนิตย์ เพราะว่าพระองค์ทรงสถิตอยู่ข้างมือขวาของข้าพเจ้าเพื่อข้าพเจ้าจะมิได้สะเทือนสะท้านไป.” เราก็จะทำได้เช่นเดียวกัน. เราสามารถทูลอธิษฐานขอพระเจ้าสถิตใกล้เรา และเราสามารถแสดงความมั่นใจในพระยะโฮวาโดยตั้งจิตระลึกถึงพระองค์เสมอ. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 110:5; ยะซายา 41:10, 13.) แล้วเราจะหลีกเว้นความยุ่งยากได้ทุกอย่าง เพราะพระยะโฮวาทรงเกื้อหนุนพวกเราและเราจะไม่คลอนแคลนเลย.
15. (ก) ด้วยการคำนึงถึงอะไรซึ่งเราไม่ควรพลาดที่จะหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ? (ข) เราได้รับคำเตือนให้พึงระมัดระวังอย่างไรเกี่ยวกับการแสดงความขอบคุณ?
15 ขอเราอย่าลืมแสดงความขอบคุณต่อพระยะโฮวาสำหรับสิ่งดีทุกอย่างที่พระองค์ทรงประทานให้เรา ใช่แล้ว ‘ความกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าสิ่งใด ๆ’ รวมทั้งของประทานอันได้แก่พระบุตรของพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของเรา. (2 โกรินโธ 9:14, 15; มาระโก 10:45; โยฮัน 3:16 โรม 8:32; 1 โยฮัน 4:9, 10) แท้จริง ในพระนามของพระเยซู จง “ขอบคุณพระเจ้าคือพระบิดาสำหรับสิ่งสารพัดเสมอ.” (เอเฟโซ 5:19, 20; โกโลซาย 4:2; 1 เธซะโลนิเก 5:18) เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ปล่อยให้ความรู้สึกขอบคุณในสิ่งต่าง ๆ ที่เรามีอยู่นั้นเสื่อมคลายไป เพราะเรามัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงสิ่งที่เราไม่มีหรือนึกแต่ปัญหาของตัวเอง.
การทอดภาระของเราไว้กับพระยะโฮวา
16. เมื่อเรายุ่งยากใจเนื่องจากภาระหนักบางอย่าง เราควรทำอะไร?
16 การหมั่นเพียรอธิษฐานแสดงว่าความเลื่อมใสของเรานั้นล้ำลึก. เมื่อเราทูลขอพระเจ้า ผลดีตกอยู่กับเราก่อนพระองค์ตอบคำอธิษฐานของเราเสียด้วยซ้ำ. ถ้าภาระหนักบางอย่างทำให้เราไม่สบายใจ เราสามารถอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) โดยการทอดภาระทุกอย่างของเรา—เช่น ความกระวนกระวาย ความวิตกกังวล ความไม่สมหวัง ความกลัว และอีกหลายอย่าง—ไว้กับพระเจ้า ด้วยความเชื่อมั่นในพระองค์ ครั้นแล้วเราจะมีจิตใจสงบคือมี “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง.”—ฟิลิปปอย 4:4, 7; บทเพลงสรรเสริญ 68:19; มาระโก 11:24; 1 เปโตร 5:7.
17. เราอาจได้ซึ่งสันติสุขแห่งพระเจ้าโดยวิธีใด?
17 สันติสุขแห่งพระเจ้าที่ว่านี้เกิดขึ้นทันทีไหม? แม้นเราในขณะนั้นอาจรู้สึกผ่อนคลายไปบ้าง แต่สิ่งที่พระเยซูทรงกล่าวเกี่ยวกับการอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ยังเป็นความจริงกับเรื่องนี้เช่นกันคือ “จงขอต่อ ๆ ไป และสิ่งนั้นจะประทานให้ท่าน จงแสวงหาต่อ ๆ ไปและท่านจะพบ จงเคาะต่อ ๆ ไป และจะเปิดให้แก่ท่าน.” (ลูกา 11:9-13, ล.ม.) เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นร่องทางที่จะสลัดความกระวนกระวายออกไป เราจำต้องเพียรพยายามทูลขอสันติสุขแห่งพระเจ้าและความช่วยเหลือจากพระองค์ในเรื่องภาระต่าง ๆ ของเรา. เราย่อมแน่ใจได้ว่าโดยการพากเพียรอธิษฐานอย่างไม่ละลด เราจะได้รับการบรรเทาที่เราต้องการและความสงบใจ.
18. พระยะโฮวาทรงจัดอะไรไว้สำหรับเรา ถ้าเราไม่รู้ถ่องแท้ว่าจะอธิษฐานอย่างไรเมื่อตกอยู่ในสภาพการณ์บางอย่าง?
18 แต่ถ้าเราไม่รู้แน่นอนว่าจะอธิษฐานขออะไร? การคร่ำครวญที่อัดอยู่ภายในมักจะไม่ได้ระบายออกเป็นคำพูด เพราะเราไม่เข้าใจสถานการณ์ของตัวเองแจ่มชัดหรือนึกไม่ออกว่าจะนำเรื่องอะไรขึ้นทูลเสนอพระยะโฮวา. ตอนนี้แหละพระวิญญาณบริสุทธิ์แทรกเข้ามาช่วยเรา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เราทั้งหลายไม่รู้ว่าเราควรจะอธิษฐานขอสิ่งใดอย่างไร แต่พระวิญญาณทรงช่วยขอแทนเราด้วยความคร่ำครวญซึ่งเหลือที่จะอธิบายได้.” (โรม 8:26) เป็นไปอย่างไร? ในพระวจนะของพระเจ้านั้นบรรจุคำพยากรณ์โดยการดลบันดาลและคำอธิษฐานมากมายที่เกี่ยวโยงกับสภาพการณ์ของเรา. ดูราวกับว่าพระองค์ทรงใช้สิ่งเหล่านี้ทูลขอแทนเรา. พระองค์ทรงรับเอาข้อความเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่เราพึงอธิษฐานขอหากเพียงแต่เรารู้ความหมายเหล่านั้นในกรณีของเรา และพระองค์ก็จะทรงบันดาลให้สมจริงตามนั้น.
การอธิษฐาน—และความหวังจะมีสืบไป
19. เหตุใดการอธิษฐานและความหวังจะมีอยู่ตลอดไป?
19 การอธิษฐานต่อพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะดำเนินต่อไปชั่วนิรันดร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความรู้สึกขอบคุณสำหรับโลกใหม่พร้อมด้วยพระพรนานาประการที่โลกใหม่จะนำมา. (ยะซายา 65:24; วิวรณ์ 21:5) นอกจากนั้น เราจะยังคงปีติยินดีในความหวังอยู่เรื่อยไป เพราะความหวังอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีอยู่ตลอดไป. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 13:13.) สิ่งใหม่ ๆ อะไรบ้างซึ่งพระยะโฮวาจะเนรมิตขึ้นมาเมื่อพระองค์ไม่ต้องจำกัดพระองค์เองกับซะบาโตแห่งการหยุดพักทางแผ่นดินโลกนั้น เราไม่สามารถแม้แต่จะสร้างมโนภาพ. (เยเนซิศ 2:2, 3) ตลอดนิรันดรกาลพระองค์จะทรงจัดสิ่งแปลกใหม่แสดงออกซึ่งความรักสำหรับพลเมืองของพระองค์ และอนาคตยังมีสิ่งมโหฬารรอพวกเขาอยู่เมื่อมีการกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.
20. ความมุ่งหมายอันแน่วแน่ของเราน่าจะเป็นเช่นไร และทำไม?
20 เมื่อเรามีความหวังที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้อยู่เบื้องหน้า ขอให้พวกเราทุกคนอยู่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาโดยหมั่นเพียรอธิษฐานอยู่เสมอ. ขอให้เราอย่าได้ละเลยการขอบคุณพระบิดาทรงภาคสวรรค์สำหรับพระพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระองค์. เมื่อถึงเวลาอันควรความคาดหมายของเราก็จะเป็นจริงอย่างน่าชื่นใจ มากมายยิ่งเสียกว่าที่เราจะนึกภาพได้ หรือเกินความคาดหมายด้วยซ้ำ เพราะพระยะโฮวา “สามารถกระทำเกินยิ่งกว่าที่เราทูลขอหรือคิดถึง.” (เอเฟโซ 3:20, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ขอให้เราถวายความสรรเสริญและสง่าราศีและความขอบคุณทุกประการ—ตลอดไปแด่พระยะโฮวาพระเจ้าของเรา “ผู้สดับคำอธิษฐาน”!
[เชิงอรรถ]
a ตามคำชี้แจงในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน “หมั่น” เป็นคำกริยาหมายถึง “ทำหรือประพฤติเป็นปกติสม่ำเสมอ.”
-