ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การป้องกันตัวคริสเตียนอาจทำได้แค่ไหน?
“ทำไมจึงมัวแต่กลัวอยู่ล่ะ? เรียนวิธีป้องกันตัวเองซิจะได้พ้นมือคนที่มาจู่โจม. วิธีป้องกันตัวที่ง่ายและได้ผลมีแสดงไว้อย่างละเอียด. วีดิโอให้ความรู้ม้วนนี้อาจทำให้คุณเป็นผู้รอดพ้นแทนที่จะตกเป็นเหยื่อ.”—คำโฆษณาขายวีดิโอป้องกันตัว.
ไม่มีใครจะต้องสาธยายถึงพลังแห่งการขายของวีดิโอเช่นนั้นในทุกวันนี้. ในตัวเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มวัยรุ่นร้องว่า “ลุย ลุย ลุย” ขณะที่ท่องไปตามถนนเสาะหาเหยื่อเพื่อทำร้าย. นิตยสารไทม์รายงานว่า “ความหวาดกลัวอาชญากรรมเปลี่ยนโฉมเมืองทั้งเมือง” ของริโอ เดอ จาเนโร. ในฮ่องกง มีการจี้ปล้นโดยใช้อาวุธและการยิงกันตายเกิดขึ้นในบริเวณที่อาชญากรรมรุนแรงแทบไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนเลย—จนบัดนี้.
รายงานข่าวลักษณะเช่นนี้ได้ยินกันทั่วโลก. พร้อมด้วยผลลัพธ์ประการใด? นิตยสาร นิวส์วีค กล่าวว่า “ประชาชนคิดถึงการเสี่ยงที่จะตอบโต้.” คริสเตียนไม่ได้ถูกกันไว้จาก “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” เหล่านี้ แต่การตอบโต้จะทำให้ “เป็นผู้รอดพ้นแทนที่จะตกเป็นเหยื่อ” จริง ๆ ไหม?—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงหรือ?
บางคนเชื่อว่า ‘ถ้าฉันพกปืน ฉันก็จะปลอดภัย. ฉันจะจัดการเขาก่อนที่เขาจะเล่นงานฉัน. อย่างน้อยฉันจะทำให้เขาตกใจกลัวหนีไป!’ แต่ มันไม่ใช่แค่นั้น.
จอร์จ แนปเปอร์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาธารณะแห่งแอตแลนตา จอร์เจีย สหรัฐ กล่าวว่า “การเป็นเจ้าของปืนพกหมายถึงการเตรียมพร้อมจะรับผลพวงจากการสังหารชีวิตมนุษย์อีกคนหนึ่ง.” คริสเตียนเตรียมพร้อมจะรับผลพวงเช่นนั้นไหม ซึ่งอาจรวมถึงความผิดฐานทำให้โลหิตตกด้วย.—เทียบอาฤธโม 35:11, 12.
เช่นกัน พระคำของพระเจ้าบัญชาให้ ‘ตีดาบเป็นผาลไถนา’ และ “แสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น.” (มีคา 4:3; 1 เปโตร 3:11, ล.ม.) คริสเตียนจะแสวงหาการคุ้มครองจากปืน และเวลาเดียวกันดำเนินชีวิตให้ประสานกับข้อเรียกร้องในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? ไม่ว่าในกรณีใด ผู้จู่โจมคงจะชักปืนได้เร็วกว่าเหยื่อ.
พระเยซูทรงปฏิเสธการต่อสู้ด้วยอาวุธ. จริงอยู่ พระองค์ทรงแนะให้พวกอัครสาวกของพระองค์นำดาบสองเล่มไปด้วยที่สวนเฆ็ธเซมาเน สถานที่ซึ่งพระองค์จะถูกจับกุม. แต่เพราะเหตุใดพระองค์จึงทำเช่นนั้น? การมีอาวุธ กระนั้นไม่ใช้อาวุธ แสดงให้เห็นหนักแน่นว่าสาวกของพระเยซูจะไม่พึ่งพาอาวุธฝ่ายโลก. น่าสังเกตว่าเนื่องจากมีอาวุธในมือ เปโตรได้ใช้อาวุธนั้นอย่างหุนหันพลันแล่น. พระเยซูทรงตำหนิเปโตรอย่างแรงเนื่องจากการกระทำที่ไม่ยั้งคิดนั้นด้วยถ้อยคำดังนี้: “บรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ.”—มัดธาย 26:36, 47–56; ลูกา 22:36–38, 49–51.
บางคนอาจบอกว่า ‘นั่นใช้ได้กับอาวุธปืน. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการเรียนศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว อย่างเช่น ยูโด, คาราเต้, และเคนโด?’ จงถามตัวเองว่า จุดมุ่งหมายของการสอนนี้ไม่ใช่เพื่อต่อสู้หรือทำร้ายคนอื่นหรือ? และจริง ๆ แล้ว การฝึกหัดเช่นนั้นก็เท่ากับทำให้ตัวเองมีอาวุธอันตรายมิใช่หรือ? (1 ติโมเธียว 3:3) แม้กระทั่งในช่วงเวลาการฝึกซ้อมก็ยังเกิดการบาดเจ็บร้ายแรงและถึงตาย.
พระธรรมโรม 12:17–19 ให้คำแนะนำที่ฉลาดสุขุมในเรื่องนี้: “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. . . . หากท่านจัดได้จงกระทำตนให้เป็นที่สงบสุขแก่คนทั้งปวง. ดูก่อนท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า อย่าทำการแก้แค้น แต่จงมอบการนั้นไว้ แล้วแต่พระเจ้าจะลงพระอาชญา ด้วยมีคำเขียนไว้แล้วว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘การแก้แค้นนั้นเป็นพนักงานของเรา เราเองจะตอบแทน.’” คำภาษากรีกสำหรับคำ “การชั่ว” (คาโคส) อาจหมายถึง “การทำลาย, การทำให้เสียหาย.” ดังนั้น คริสเตียนจะต้องพ้นจากการคิดในเรื่องการทำร้ายหรือทำให้คนอื่นเสียหายเพื่อเป็นการแก้แค้นเขา.
แทนที่จะแสดงความโกรธโดยไม่มีการยั้งคิด คริสเตียนวางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ ผู้ซึ่งตรัสแก่พลไพร่ของพระองค์ว่า “ผู้ที่แตะต้องท่านก็แตะต้องดวงตาของเรา.” สอดคล้องกับเรื่องนี้ พระเจ้าทรงสัญญาจะ ‘ทำลายคนชั่วให้สิ้น’ ในเวลาอันควร.—ซะคาระยา 2:8; บทเพลงสรรเสริญ 145:20.
ถึงคราวต้องต่อสู้หรือ?
บางคนอุทานออกมาอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ‘ฉันจะไม่ยอมปล่อยเงินของฉันไปโดยไม่ได้ต่อสู้!’ ดิค เมลลาร์ด ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันอาชญากรรมแห่งชาติเตือนว่า “เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เราที่จะต่อต้าน แต่สัญชาตญาณนั่นแหละอาจทำให้ [คุณ] ถูกฆ่าในสถานการณ์ที่ล่อแหลม.” พวกนักจี้ปล้นจำนวนมากมีอาวุธอันตรายและอยู่ในสภาพตึงเครียด, ตระหนก. เงินที่เสียไปอาจหามาได้อีก แต่ถ้าเสียชีวิตล่ะ? คุ้มค่าต่อการเสี่ยงไหม?
จอร์จ แนปเปอร์ เตือนดังนี้: “บางทีวิธีดีที่สุดในการป้องกันตัวคุณเองก็คือโดยการยอมเสียทรัพย์สินแทนการเสียชีวิตของคุณ. พวกโจรและหัวขโมยส่วนใหญ่อยู่ที่นั่นเพื่อขโมยไม่ใช่เพื่อฆ่า.” ในสถานการณ์ที่คนใดคนหนึ่งเพียงแต่ถูกกรรโชกหรือถูกขู่เอาเงินทอง หลักการที่ดีคือ: “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องต่อสู้.”—2 ติโมเธียว 2:24, ล.ม.a
นี่ไม่ใช่ลัทธิการวางเฉย คือมีนโยบายแห่งการไม่ต่อต้านไม่ว่าตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด ๆ. ที่เอ็กโซโด 22:2, 3 มีการพรรณนาถึงสภาพการณ์ซึ่งขโมยถูกตีถึงตายขณะที่เข้าไปในบ้านของใครคนหนึ่งในช่วงกลางวัน. มาตรการป้องกันเช่นนั้นมีการพิจารณาว่าเท่ากับเป็นการฆาตกรรม เนื่องจากอาจระบุรูปพรรณขโมยผู้นั้นได้และนำตัวไปพิจารณาคดี. แต่ในช่วงเวลากลางคืน คงเป็นการยากแก่เจ้าของบ้านที่จะมองเห็นผู้บุกรุกและรู้แน่ถึงเจตนาของเขา. ฉะนั้น คนที่ฆ่าผู้บุกรุกในตอนกลางคืนจึงถือว่าไม่มีความผิด.
ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนความพยายามต่าง ๆ ในการป้องกันตัวโดยไม่ยั้งคิด. อย่างไรก็ตาม ในการที่ไม่สนับสนุนลัทธิวางเฉย คัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เห็นว่ามีเวลาที่จะป้องกันตนเอง. คริสเตียนอาจสกัดกั้นการรุกรานทางกายที่มีการกระทำต่อตนเอง, ครอบครัวของตน หรือคนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันตัวจริง ๆ.b แต่พวกเขาจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มจู่โจม หรือพวกเขาจะไม่ใช้กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพย์สินของเขา. พวกเขาจะไม่พกพาอาวุธด้วยความคาดหมายล่วงหน้าถึงการจู่โจมเช่นนั้น แต่ตรงกันข้าม พวกเขาพยายามจะ “ดำรงชีวิตอย่างสันติ.”—2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a บริบทแสดงให้เห็น ณ ที่นี่ว่าเปาโลพูดถึงการต่อสู้ตามตัวอักษร คำในภาษาเดิมที่มีการแปลว่า “ต่อสู้” (มาเฆซไธ) นั้นมีการใช้โดยทั่วไปกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ หรือการต่อสู้ด้วยมือเปล่า.
b ผู้หญิงที่ถูกคุกคามด้วยการข่มขืนควรกรีดร้องดัง ๆ และต้านการล่วงล้ำโดยทุกวิถีทาง.—พระบัญญัติ 22:23–27.
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Betrayal of Christ, by Albrecht Durer, 1508