ทัศนะของคริสเตียนต่อผู้มีอำนาจ
“ไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า.”—โรม 13:1, ล.ม.
1. ทำไมจึงกล่าวได้ว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด?
อำนาจถูกเกี่ยวโยงกับพระผู้สร้าง. ผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดซึ่งให้สรรพสิ่งทั้งมวลดำรงอยู่ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตนั้นก็คือพระเจ้ายะโฮวา. พระองค์ทรงครองอำนาจสูงสุดอย่างไม่อาจโต้แย้งได้. คริสเตียนแท้ร่วมรู้สึกกับบรรดาสิ่งมีชีวิตในสวรรค์ซึ่งประกาศว่า “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติยศและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์ สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.”—วิวรณ์ 4:11, ล.ม.
2. บรรดาผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์สมัยบรรพกาลได้ยอมรับอย่างไรว่า พวกเขาเองไม่มีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะปกครองมนุษย์ด้วยกัน และพระเยซูได้ตรัสอย่างไรแก่ปนเตียวปีลาต?
2 ข้อเท็จจริงที่ผู้ปกครองซึ่งเป็นมนุษย์สมัยต้น ๆ หลายคนได้พยายามทำให้การครองอำนาจถูกทำนองคลองธรรมโดยอ้างตนเป็นพระเจ้าหรืออ้างว่าเป็นตัวแทนพระเจ้าก็คือการยอมรับโดยดุษณีว่าไม่มีมนุษย์คนใดมีสิทธิในตัวเองให้ปกครองเหนือมนุษย์ด้วยกัน.a (ยิระมะยา 10:23) แหล่งเดียวแห่งอำนาจที่ถูกทำนองคลองธรรมคือพระเจ้ายะโฮวา. พระคริสต์ได้ตรัสแก่ปนเตียวปีลาตผู้ว่าราชการโรมันแห่งมณฑลยูดายดังนี้: “ท่านจะไม่มีอำนาจเหนือเราเลยนอกจากจะทรงมอบให้แก่ท่านจากเบื้องบน.”—โยฮัน 19:11, ล.ม.
“ไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า”
3. อัครสาวกเปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวด้วย “อำนาจที่สูงกว่า” และถ้อยแถลงของพระเยซูและเปาโลก่อให้เกิดคำถามอะไร?
3 อัครสาวกเปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนที่อยู่ภายใต้การปกครองแห่งจักรวรรดิโรมันดังนี้: “จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า; อำนาจต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” (โรม 13:1, ล.ม.) พระเยซูหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ได้ตรัสว่า อำนาจหน้าที่ซึ่งปีลาตมีอยู่นั้นได้รับมา “จากเบื้องบน”? และในแนวใดเปาโลพิจารณาว่าอำนาจฝ่ายบ้านเมืองในสมัยของท่านตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า? พระเยซูและเปาโลหมายความว่าพระยะโฮวาทรงรับผิดชอบสำหรับการแต่งตั้งผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองของโลกนี้เป็นรายบุคคลไหม?
4. พระเยซูและเปาโลเรียกซาตานว่าอะไร และคำอ้างอะไรของซาตานซึ่งพระเยซูไม่ได้ปฏิเสธ?
4 การเช่นนี้เป็นไปได้อย่างไร เนื่องจากพระเยซูทรงเรียกซาตานว่า “ผู้ครองโลกนี้” และอัครสาวกเปาโลตราหน้าซาตานว่า “พระเจ้าของระบบนี้.”? (โยฮัน 12:31; 16:11; 2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น เมื่อซาตานล่อใจพระเยซู มันได้เสนอ “อำนาจ” ครอบครอง ‘ประเทศทั้งปวงบนแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่’ โดยอ้างสิทธิว่าอำนาจนั้นถูกมอบให้เป็นของมันแล้ว. พระเยซูทรงบอกปัดข้อเสนอของซาตาน แต่พระองค์ไม่ปฏิเสธว่าอำนาจที่เสนอแก่พระองค์นั้นเป็นของซาตาน.—ลูกา 4:5-8.
5. (ก) เราจะเข้าใจคำพูดของพระเยซูและของเปาโลว่าด้วยมนุษย์ผู้มีอำนาจนั้นอย่างไร? (ข) อำนาจที่สูงกว่า “ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า” ในแง่ไหน?
5 พระยะโฮวาได้ทรงมอบการปกครองโลกนี้แก่ซาตานโดยยอมให้มันดำรงชีวิตอยู่ หลังจากการเป็นกบฏและหลังจากที่ได้ล่อใจอาดามกับฮาวา อันเป็นเหตุให้คนทั้งสองทรยศต่อพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. (เยเนซิศ 3:1-6; เทียบกับเอ็กโซโด 9:15, 16.) เหตุฉะนั้น ถ้อยคำของพระเยซูและของเปาโลจึงต้องหมายความว่า หลังจากมนุษย์คู่แรกในสวนเอเดนได้ปฏิเสธระบอบของพระเจ้า หรือการปกครองโดยพระเจ้า พระยะโฮวาทรงยอมให้มนุษย์ที่เหินห่างออกไปนั้นริเริ่มโครงสร้างอำนาจซึ่งจะทำให้เขาอยู่ในสังคมที่เป็นระเบียบ. บางครั้ง เพื่อพระประสงค์ของพระองค์จะบรรลุผล พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ผู้ปกครองบางคนหรือรัฐบาลบางระบอบล่มจม. (ดานิเอล 2:19-21) ผู้ปกครองคนอื่นหรือรัฐบาลบางรัฐบาล พระองค์ทรงยอมให้คงอยู่ในอำนาจ. สำหรับผู้ปกครองซึ่งพระยะโฮวาทรงอนุญาตให้ดำรงอยู่ อาจกล่าวได้ว่าเขา “ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.”
คริสเตียนยุคแรกและอำนาจโรมัน
6. คริสเตียนสมัยแรกมีทัศนะเช่นไรต่ออำนาจของโรม และเพราะเหตุใด?
6 คริสเตียนยุคแรกไม่สมทบกับนิกายชาวยิวที่วางแผนร้ายและต่อสู้พวกโรมันที่ยึดครองแผ่นดินยิศราเอล. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายโรม พร้อมด้วยระบบประมวลกฎหมายที่เขาบัญญัติขึ้นมา ได้รักษาความเป็นระเบียบทางบกและทางทะเล ได้สร้างท่อน้ำประปา, ถนนหนทาง, และสะพานที่เป็นประโยชน์และโดยทั่วไปปฏิบัติเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนโดยส่วนรวม คริสเตียนจึงถือว่าเจ้าหน้าที่จากโรมเป็น ‘ผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อประโยชน์ของพวกเขา.’ (โรม 13:3, 4) การมีกฎหมายและระเบียบทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่คริสเตียนที่จะประกาศข่าวดีไปทั่ว ดังพระเยซูได้ทรงบัญชา. (มัดธาย 28:19, 20) ด้วยสติรู้สึกผิดชอบอันดี คริสเตียนได้เสียภาษีตามที่โรมเรียกเก็บ ถึงแม้การใช้เงินภาษีนั้นบางส่วนไม่เป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้าก็ตาม.—โรม 13:5-7.
7, 8. (ก) การอ่านโรม 13:1-7 อย่างถี่ถ้วนเปิดเผยอะไร และท้องเรื่องแสดงให้เห็นอะไร? (ข) ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่เจ้าหน้าที่โรมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” และในกรณีเช่นนี้คริสเตียนสมัยแรกแสดงท่าทีเช่นไร?
7 เมื่ออ่านเจ็ดข้อแรกของพระธรรมโรมบท 13 อย่างถี่ถ้วนทำให้รู้ว่า “อำนาจที่สูงกว่า” ทางฝ่ายบ้านเมืองนั้นเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” เพื่อจะสรรเสริญผู้กระทำดีและลงโทษผู้กระทำชั่ว. อรรถบทนั้นแสดงว่า พระเจ้าทรงกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว หาใช่อำนาจที่สูงกว่าไม่. ดังนั้น ถ้าจักรพรรดิแห่งโรมหรือใคร ๆ ที่มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองเรียกร้องสิ่งซึ่งพระเจ้าห้าม หรือในทางกลับกัน ห้ามปรามขัดขวางสิ่งซึ่งพระเจ้าเรียกร้อง ผู้นั้นก็ไม่ได้กระทำหน้าที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าอีกต่อไป. พระเยซูตรัสดังนี้: “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา, และของของพระเจ้าจงถวายแก่พระเจ้า.” (มัดธาย 22:21) หากรัฐบาลของโรมเรียกร้องเอาสิ่งซึ่งเป็นของพระเจ้า เช่น การนมัสการหรือชีวิตของคนเรา คริสเตียนแท้เชื่อฟังคำแนะนำของอัครสาวกที่ว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:29, ล.ม.
8 การที่คริสเตียนยุคแรกไม่ยอมนมัสการจักรพรรดิและไหว้รูปเคารพ, ไม่ละเลยการประชุมต่าง ๆ ของคริสเตียน, ไม่เลิกประกาศกิตติคุณ พวกเขาจึงถูกข่มเหง. เป็นที่เชื่อกันว่า จักรพรรดิเนโรเป็นผู้ออกคำสั่งประหารชีวิตอัครสาวกเปาโล. นอกจากนั้น จักรพรรดิองค์อื่น ๆ โดยเฉพาะโดมิเชียน, มาร์คุส ออเรลิอุส, เซพทิมิอุส เซเวรุส, เดซิอุส, และดิโอเคลเชียน ต่างก็ข่มเหงคริสเตียนยุคแรก. เมื่อบรรดาจักรพรรดิและผู้มีตำแหน่งหน้าที่ใต้อำนาจของเขาได้ข่มเหงคริสเตียน แน่นอน เขาไม่ได้ทำหน้าที่ฐานะเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า.”
9. (ก) อะไรยังคงเป็นความจริงอยู่ในเรื่องอำนาจที่สูงกว่าฝ่ายบ้านเมือง, และสัตว์ร้ายทางการเมืองได้รับฤทธิ์และอำนาจจากใคร? (ข) อาจกล่าวอย่างมีเหตุผลได้อย่างไรในเรื่องการเชื่อฟังของคริสเตียนต่ออำนาจที่สูงกว่า?
9 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ผู้มีอำนาจระดับสูงฝ่ายบ้านเมืองปฏิบัติงานบางด้านเกี่ยวด้วย “การจัดเตรียมของพระเจ้า” เพื่อจรรโลงสังคมมนุษย์ไว้อย่างเป็นระเบียบ พวกเขาก็ยังเป็นส่วนของระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ ทางโลกซึ่งซาตานเป็นพระเจ้า. (1 โยฮัน 5:19) พวกเขาอยู่ในอาณัติองค์การทางการเมืองทั่วโลกซึ่ง “สัตว์ร้าย” ที่วิวรณ์ 13:1, 2 เป็นสัญลักษณ์เล็งถึง สัตว์ร้ายนั้นได้รับฤทธิ์เดชและอำนาจจาก “พญานาคใหญ่” ได้แก่ซาตานพญามาร. (วิวรณ์ 12:9, ล.ม.) ดังนั้น ตามเหตุผลแล้ว การที่คริสเตียนยอมตัวอยู่ใต้อำนาจดังกล่าวมีขอบเขตจำกัด ไม่ใช่โดยเด็ดขาด.—เทียบกับดานิเอล 3:16-18.
การนับถืออย่างสมควรต่ออำนาจ
10, 11. (ก) เปาโลได้แสดงอย่างไรว่า เราควรแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจ? (ข) โดยวิธีใดและทำไมจึงอาจเสนอคำอธิษฐาน “เพื่อกษัตริย์ทั้งหลายและเพื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูง”?
10 อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ไม่หมายความว่าคริสเตียนน่าจะมีท่าทีอย่างคนหน้าด้าน เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจสูงกว่าทางการเมือง. จริงอยู่ คนเหล่านี้หลายคนไม่น่านับถือเป็นพิเศษจำเพาะ ในแง่ชีวิตส่วนตัวของเขา, หรือแม้แต่ชีวิตในที่สาธารณะ. กระนั้น เหล่าอัครสาวกได้แสดงให้เห็นทั้งโดยตัวอย่างและคำแนะนำของเขาว่า บุคคลเหล่านั้นที่มีอำนาจพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพนับถือ. ในคราวที่เปาโลอยู่ต่อหน้ากษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่สอง ซึ่งขึ้นชื่อในการกระทำผิดศีลธรรม กระนั้น เปาโลก็ยังทูลกษัตริย์ด้วยอาการแสดงความเคารพ.—กิจการ 26:2, 3, 25.
11 เปาโลถึงกับได้ระบุว่าเป็นการสมควรที่จะเอ่ยถึงผู้มีอำนาจฝ่ายโลกในคำอธิษฐานของเรา โดยเฉพาะเมื่อบุคคลเหล่านั้นต้องตัดสินความซึ่งมีผลกระทบชีวิตของเราและการงานต่าง ๆ ของคริสเตียน. ท่านเขียนดังนี้: “เหตุฉะนั้น ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจึงกระตุ้นเตือนว่า การวิงวอน, การอธิษฐาน, การขอเผื่อคนอื่น, การขอบพระคุณ, การเหล่านี้ควรทำไปเพื่อคนทุกชนิด, เพื่อกษัตริย์ทั้งหลายและเพื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูง; เพื่อว่าเราจะได้ดำเนินชีวิตที่สงบเงียบด้วยความเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยมในพระเจ้าและอย่างจริงจัง. นี้แหละเป็นสิ่งดีและเป็นที่รับได้ในคลองพระเนตรพระเจ้า ผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ซึ่งมีพระทัยประสงค์ให้คนทุกชนิดรับความรอดและบรรลุความรู้อันถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:1-4, ล.ม.) ท่าทีของเราที่เคารพยำเกรงต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวอาจยังผลที่พวกเขาอนุญาตให้เราดำเนินงานช่วย “คนทุกชนิด” รับความรอดได้ต่อไปอย่างเป็นอิสระยิ่งขึ้น.
12, 13. (ก) เปโตรได้ให้คำแนะนำอะไรที่สมดุลในเรื่องผู้มีอำนาจ? (ข) โดยวิธีใดเราอาจระงับ “คำพูดที่โง่เขลาของคนที่ไม่มีเหตุผล” ซึ่งก่อให้เกิดอคติต่อต้านพยานพระยะโฮวา?
12 อัครสาวกเปโตรเขียนอย่างนี้: “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายจงยอมตัวอยู่ใต้สิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่าง: ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในฐานะเป็นผู้ที่สูงกว่าก็ดี หรือจะเป็นผู้สำเร็จราชการในฐานะเป็นผู้ที่กษัตริย์ทรงส่งมาก็ดี เพื่อลงโทษผู้ที่กระทำชั่ว แต่ยกย่องผู้ที่กระทำดี. เพราะน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือว่า โดยการกระทำดี ท่านทั้งหลายอาจระงับคำพูดที่โง่เขลาของคนที่ไม่มีเหตุผล. จงเป็นเหมือนเสรีชน และกระนั้น จงรักษาเสรีภาพของท่านทั้งหลายไว้ ไม่ใช่ในฐานะเป็นสิ่งปกปิดความชั่ว แต่ในฐานะเป็นทาสของพระเจ้า. จงให้เกียรติคนทุกชนิด มีความรักต่อสังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:13-17, ล.ม.) ช่างเป็นคำแนะนำที่สมดุลอะไรเช่นนั้น! เราต้องยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไขเยี่ยงทาสของพระองค์ และเรายอมอยู่ใต้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งถูกใช้ให้ลงพระอาชญาแก่คนกระทำชั่วอย่างมีขอบเขตจำกัดและด้วยความเคารพ.
13 เคยปรากฏว่าหลายคนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองมีความเข้าใจผิดอย่างน่าประหลาดที่สุดเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา. โดยปกติแล้ว เป็นเพราะการได้ฟังคำบอกเล่าที่ไม่เป็นความจริงจากพวกศัตรูซึ่งมุ่งร้ายต่อไพร่พลของพระเจ้า. หรืออาจเป็นเพราะเขารู้เกี่ยวกับพวกเราจากสื่อมวลชน ซึ่งใช่ว่าเขาจะรายงานข่าวอย่างยุติธรรมเสมอไป. บางครั้งเราสามารถระงับอคติเช่นนี้ได้โดยที่เราแสดงท่าทีด้วยความเคารพยำเกรง และหากทำได้ก็โดยให้คำอธิบายที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับการงานและความเชื่อศรัทธาของพยานพระยะโฮวาต่อผู้มีอำนาจ. สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งติดขัดเรื่องเวลา จุลสารพยานพระยะโฮวากระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก คงจะเป็นคำชี้แจงที่รวบรัดดี. เพื่อได้ข้อมูลครบถ้วนมากขึ้น ก็อาจมอบหนังสือพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระเจ้า ให้พวกเขา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีคู่ควรกับชั้นหนังสือของห้องสมุดประชาชนและหอสมุดแห่งชาติ.
อำนาจภายในบ้านคริสเตียน
14, 15. (ก) อะไรเป็นพื้นฐานของอำนาจภายในครอบครัวคริสเตียน? (ข) ภรรยาคริสเตียนควรมีทัศนะเช่นไรต่อสามีของตน และเพราะเหตุใด?
14 เป็นที่ชัดแจ้งว่า ถ้าพระเจ้าเรียกร้องคริสเตียนให้นับถือผู้มีอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองอย่างสมควรแล้ว พวกเขาก็ควรนับถือโครงสร้างแห่งอำนาจภายในครอบครัวคริสเตียนซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้. อัครสาวกเปาโลได้สรุปพอสังเขปเกี่ยวด้วยหลักการแห่งการเป็นประมุขอันเป็นที่ยอมรับท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา. ท่านเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า, พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) นี้แหละคือหลักการแห่งระบอบของพระเจ้า หรือการปกครองโดยพระเจ้า. ข้อนี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
15 ความนับถือต่อระบอบของพระเจ้าเริ่มที่บ้าน. ภรรยาคริสเตียนที่ไม่แสดงความนับถืออย่างสมควรต่ออำนาจของสามี—ไม่ว่าสามีเป็นผู้มีความเชื่อในพระเจ้าหรือไม่เชื่อก็ตาม—ถือว่าไม่อยู่ในระบอบของพระเจ้า. เปาโลได้แนะนำคริสเตียนว่า “จงยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกันด้วยเกรงกลัวพระคริสต์. จงให้ภรรยาทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตนเหมือนกระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าสามีเป็นประมุขของภรรยาของตนเหมือนพระคริสต์เป็นประมุขของประชาคมด้วย โดยที่พระองค์เป็นผู้ทรงช่วยคณะนั้นให้รอด. ที่จริง ประชาคมอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์ฉันใด ก็จงให้ภรรยาอยู่ใต้อำนาจสามีของตนในทุกสิ่งเหมือนกันฉันนั้น.” (เอเฟโซ 5:21-24, ล.ม.) ผู้ชายคริสเตียนต้องอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์ผู้เป็นประมุขฉันใด สตรีคริสเตียนก็ควรจะยอมรับสติปัญญาว่าด้วยการยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตนตามที่พระเจ้าประทานให้ฉันนั้น. ทั้งนี้ทำให้สตรีคริสเตียนได้ประสบความอิ่มใจอย่างล้ำลึก และสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือเขาจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา.
16, 17. (ก) บุตรทั้งหลายที่รับการเลี้ยงดูในบ้านคริสเตียนจะแสดงตัวต่างไปจากพวกเด็ก ๆ หลายคนในทุกวันนี้โดยวิธีใด และเขามีอะไรเป็นแรงกระตุ้น? (ข) พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้เยาว์สมัยนี้อย่างไร และผู้เยาว์ได้รับการสนับสนุนให้ทำอะไร?
16 บุตรทั้งหลายในระบอบของพระเจ้ามีความสุขเมื่อเขาแสดงความนับถืออย่างสมควรต่อบิดามารดา. เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ในสมัยสุดท้าย มีคำพยากรณ์กล่าวไว้ว่า พวกเขาจะเป็นคน “ไม่เชื่อฟังบิดามารดา.” (2 ติโมเธียว 3:1, 2) ส่วนเด็กคริสเตียนนั้น พระวจนะของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจว่าดังนี้: “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบุตร จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนในทุกสิ่ง เพราะการนี้เป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โกโลซาย 3:20, ล.ม.) การนับถืออำนาจของบิดามารดาทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและได้รับพระพรจากพระองค์.
17 กรณีของพระเยซูให้อรรถาธิบายในเรื่องนี้. บันทึกของลูกาบอกว่า “แล้วพระกุมารก็กลับไปกับเขา [บิดามารดาของพระองค์] ยังเมืองนาซาเร็ธ, อยู่ใต้ความปกครองของเขา. . . . พระเยซูก็ได้จำเริญขึ้นในฝ่ายสติปัญญา, ในฝ่ายกาย, และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.” (ลูกา 2:51, 52) ตอนนั้นพระเยซูทรงมีอายุได้สิบสองปี และการใช้คำกริยาภาษากรีกที่นี้เน้นว่าพระองค์ “อยู่ใต้ความปกครองของเขา [ต่อไป, ล.ม.]” ดังนั้น การที่พระองค์ยอมอยู่ใต้อำนาจมิได้ระงับไปเมื่อพระองค์ย่างเข้าสู่วัยรุ่น. ถ้าพวกคุณวัยรุ่นทั้งหลายต้องการเจริญก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณและเป็นที่ชอบของพระยะโฮวาและของผู้ที่เลื่อมใสในพระเจ้า พวกคุณก็จะแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจภายในบ้านและบุคคลภายนอกด้วย.
อำนาจในประชาคม
18. ใครเป็นประมุขแห่งประชาคมคริสเตียน และพระองค์ทรงมอบอำนาจให้กับใคร?
18 เมื่อพูดถึงความจำเป็นที่ต้องมีระเบียบภายในประชาคมคริสเตียน เปาโลเขียนว่า “พระเจ้ามิใช่พระเจ้าแห่งความยุ่งเหยิง แต่เป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข. . . .แต่ให้ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างที่ถูกที่ควรและโดยการจัดเตรียม [หรือ “เป็นไปตามระเบียบ,” เชิงอรรถ].” (1 โกรินโธ 14:33, 40, ล.ม.) เพื่อทุกสิ่งจะเป็นไปอย่างมีระเบียบ พระคริสต์ ประมุขของประชาคมคริสเตียน จึงทรงมอบอำนาจให้แก่ชายสัตย์ซื่อ. เราอ่านดังนี้: “พระองค์ได้ประทานบางคนให้เป็นอัครสาวก, ให้บางคนเป็นผู้พยากรณ์, ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ, ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน, โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ . . . แต่โดยพูดความจริง ด้วยความรัก จงให้เราเติบโตขึ้นในทุกสิ่งในพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะ คือพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4: 11, 12, 15, ล.ม.
19. (ก) พระคริสต์ทรงแต่งตั้งใครให้ดูแลบรรดาทรัพย์สิ่งของของพระองค์ทางแผ่นดินโลก และพระองค์ทรงให้อำนาจพิเศษแก่ใคร? (ข) มีการมอบอำนาจกันอย่างไรในประชาคมคริสเตียน และเรื่องนี้เรียกร้องอะไรในส่วนของเรา?
19 ในสมัยสุดท้ายนี้ พระคริสต์ได้ทรงแต่งตั้ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เพื่อดูแล “ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย” หรือผลประโยชน์ของราชอาณาจักรบนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ดังในศตวรรษที่หนึ่ง ทาสผู้นี้มีตัวแทนคือคณะกรรมการปกครองที่ประกอบด้วยผู้ชายคริสเตียนที่รับการแต่งตั้ง ซึ่งพระคริสต์ทรงมอบอำนาจให้ทำการตัดสินใจและแต่งตั้งผู้ดูแลคนอื่น ๆ. (กิจการ 6:2, 3; 15:2) ส่วนคณะกรรมการปกครองมอบอำนาจให้แก่กรรมการสาขา, ผู้ดูแลภาคและผู้ดูแลหมวด, และพวกผู้ปกครองในประชาคมพยานพระยะโฮวา ซึ่งทั่วโลกมีมากกว่า 73,000 ประชาคม. ผู้ชายคริสเตียนที่อุทิศตัวเหล่านี้ทุกคนสมควรได้รับการสนับสนุนและความนับถือจากพวกเรา.—1 ติโมเธียว 5:17.
20. ตัวอย่างอะไรแสดงให้เห็นว่า พระยะโฮวาไม่ชอบพระทัยคนเหล่านั้นที่ขาดความนับถือต่อเพื่อนคริสเตียนผู้มีอำนาจในตำแหน่งหน้าที่?
20 เกี่ยวกับความนับถือที่เราพึงให้แก่ผู้มีอำนาจภายในประชาคมคริสเตียนนั้น อาจเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจกับการที่เราต้องยอมอยู่ใต้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. เมื่อคนเราละเมิดกฎหมายของมนุษย์ซึ่งพระเจ้าทรงเห็นชอบ โทษโดย “ผู้ที่ปกครอง” ตามจริงแล้ว เป็นการสำแดงพระพิโรธของพระเจ้าทางอ้อมต่อ “คนกระทำชั่ว.” (โรม 13:3, 4, ล.ม.) ถ้าพระยะโฮวาทรงพิโรธเมื่อคนเราละเมิดกฎหมายของมนุษย์แถมยังขาดความนับถืออันพึงมีต่อผู้มีอำนาจทางโลก ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระองค์จะต้องไม่พอพระทัยถ้าคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วแสดงการดูถูกต่อหลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลและไม่นับถือคริสเตียนด้วยกันซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในประชาคม.
21. เรายินดีจะปฏิบัติตามคำแนะนำอะไรของคัมภีร์ไบเบิล และเราจะพิจารณาเรื่องอะไรในบทความต่อจากนี้?
21 แทนที่จะประสบการขัดเคืองพระทัยของพระเจ้าโดยการใช้ท่าทีเชิงต่อต้านหรือมีทัศนะไม่ขึ้นกับผู้ใด เราก็จะปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่คริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยดังนี้: “เหตุฉะนี้พวกที่รักของข้าพเจ้า, เหมือนท่านทั้งหลายได้ยอมฟังทุกเวลา, และไม่ใช่เมื่อข้าพเจ้าอยู่ด้วยเท่านั้น, เดี๋ยวนี้เมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่ด้วยท่านทั้งหลายจงอุสส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น, เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงกระทำกิจอยู่ภายในท่านทั้งหลาย ทั้งให้ท่านมีใจปรารถนาและให้ประพฤติตามชอบพระทัยพระองค์. จงกระทำสิ่งสารพัตรให้ปราศจากการบ่นและการทุ่มเถียงกัน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้กลายเป็นคนปราศจากตำหนิติเตียน, เป็นบุตรของพระเจ้าปราศจากติเตียนในท่ามกลางคนชาติคดโกงและดื้อด้าน ท่านทั้งหลายจึงปรากฏดุจดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก.” (ฟิลิปปอย 2: 12-15) ไม่เหมือนคนในชั่วอายุนี้ที่คดโกงซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตกาลเกี่ยวกับอำนาจปกครอง ไพร่พลของพระยะโฮวายอมอยู่ใต้ผู้มีอำนาจด้วยความเต็มใจ. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับผลตอบแทนมากมาย ดังเราจะพิจารณาในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ดูบทความก่อนหน้านี้.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ ใครเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และเพราะเหตุใดอำนาจของพระองค์จึงถูกทำนองคลองธรรม?
▫ ผู้ที่มีอำนาจที่สูงกว่า “ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า” นั้นในแง่ใด?
▫ เมื่อไรที่ผู้มีอำนาจที่สูงกว่าไม่ได้อยู่ในฐานะเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” อีกต่อไป?
▫ มีโครงสร้างอำนาจอะไรในครอบครัวคริสเตียน?
▫ การมอบอำนาจแบบไหนมีอยู่ในประชาคมคริสเตียน?
[รูปภาพหน้า 18]
พระเยซูตรัสว่า “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา”