ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
คริสเตียนควรสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตหรือไม่?
“เรื่องนี้ผิดทั้งทางศีลธรรมและจรรยา.” “การทำเช่นนี้ยุติธรรมและชอบธรรม.” ทัศนะที่ขัดกันนี้มาจากนักเทศน์นักบวชสองคนซึ่งเป็นคริสเตียนในนามทั้งคู่. พวกเขาโต้เถียงกันรุนแรงในประเด็นสำคัญยิ่งในสมัยนี้ นั่นคือการลงโทษประหารชีวิต. บทความในหนังสือพิมพ์ที่ยกคำกล่าวของเขาทั้งสองมาลงให้ข้อสังเกตว่า “เมื่อพวกผู้นำศาสนาโต้คารมกันในเรื่องการลงโทษประหารชีวิต ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างข้อความในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน.”
บางคนให้เหตุผลว่า การลงโทษประหารชีวิตเป็นการปกป้องผู้ไม่มีความผิด, ส่งเสริมความยุติธรรม, และป้องกันอาชญากรรมรุนแรง. คนอื่น ๆ ยืนยันว่าการลงโทษเช่นนั้นผิดศีลธรรม—เป็นวิธีโต้ตอบความรุนแรงด้วยความรุนแรงต่อไปอีก และด้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการปฏิบัติงานที่เยี่ยมกว่าในการแก้ไขพวกอาชญากรด้วยการช่วยพวกเขาให้กลายเป็นสมาชิกที่เป็นประโยชน์ของสังคม.
ในแวดวงการเมืองของสหรัฐ การโต้เถียงกันในเรื่องนี้รุนแรงเป็นพิเศษ และพวกผู้นำศาสนาก็ไม่ลังเลที่จะเข้ายุ่งเกี่ยวด้วย. แต่คุณอาจนึกสงสัยว่า ‘คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรบ้างไหมในเรื่องการลงโทษประหารชีวิต?’ จริง ๆ แล้ว คัมภีร์ไบเบิลมีกล่าวถึงเรื่องนี้.
การมอบ “ดาบ” ให้มนุษย์ผู้มีอำนาจ
ไม่นานหลังจากมหาอุทกภัยในสมัยโนฮา พระเจ้ายะโฮวาทรงยืนยันความล้ำค่าของชีวิตมนุษย์แล้วทรงแถลงดังนี้: “ผู้ใดฆ่ามนุษย์ให้โลหิตไหล, มนุษย์จะฆ่าผู้นั้นให้โลหิตไหลเหมือนกัน.” (เยเนซิศ 9:6) แน่นอน นี่ไม่ใช่การอนุญาตให้มีการแก้แค้นโดยไม่มีข้อจำกัด. แต่ข้อนี้หมายความว่า ตั้งแต่นั้นมา มนุษย์ผู้มีอำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งไว้อย่างเหมาะสมจะได้รับอนุญาตให้ประหารชีวิตผู้ที่ทำให้คนอื่นเสียชีวิต.
ในยิศราเอลโบราณ พระบัญญัติที่พระเจ้าทรงถ่ายทอดให้โดยทางโมเซนั้นกำหนดโทษประหารสำหรับความผิดร้ายแรงบางอย่าง. (เลวีติโก 18:29) อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติยังได้กำหนดให้มีการตัดสินที่ไม่ลำเอียง, ให้มีประจักษ์พยานยืนยัน, และห้ามทุจริตกินสินบน. (เลวีติโก 19:15; พระบัญญัติ 16:18-20; 19:15) ผู้พิพากษาต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใสพระเจ้าและมีหน้าที่ต้องให้การโดยตรงต่อพระเจ้า! (พระบัญญัติ 1:16,17; 2 โครนิกา 19:6-10) ด้วยวิธีนี้จึงมีการป้องกันการใช้โทษประหารชีวิตอย่างผิด ๆ.
ปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐบาลใดบนแผ่นดินโลกที่เป็นตัวแทนความยุติธรรมของพระเจ้าอย่างแท้จริงเหมือนยิศราเอลโบราณเคยเป็น. แต่รัฐบาลต่าง ๆ ก็ปฏิบัติการในหลายแนวทางในฐานะ ‘ผู้รับใช้’ หรือตัวแทนของพระเจ้า ในแง่ที่ว่า พวกเขารักษาความเป็นระเบียบและความมั่นคงในระดับหนึ่งและให้การบริการสาธารณะที่จำเป็น. อัครสาวกเปาโลเตือนใจคริสเตียนให้เชื่อฟัง “อำนาจที่สูงกว่า” แล้วกล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าท่านกระทำการชั่ว ก็จงกลัว: เพราะอำนาจนั้นหาได้ถือดาบโดยไม่มีจุดมุ่งหมายไม่; เพราะอำนาจนั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เป็นผู้แก้แค้นลงพระอาชญาแก่คนกระทำชั่ว.”—โรม 13:1-4, ล.ม.
“ดาบ” ที่เปาโลกล่าวถึงเป็นสัญลักษณ์ถึงอำนาจของรัฐบาลในการลงโทษอาชญากร—กระทั่งถึงตาย. คริสเตียนนับถืออำนาจนั้น แต่พวกเขาควรพยายามจะมีสิทธิ์มีเสียงไหมในการตัดสินว่าจะมีการใช้อำนาจนั้นอย่างไร?
“ดาบ” ถูกใช้ผิด ๆ
รัฐบาลของมนุษย์ได้ใช้ “ดาบ” แล้วแน่นอนเพื่อความยุติธรรมหลายครั้ง. แต่ก็ต้องยอมรับว่า พวกเขาเคยมีความผิดที่ใช้ดาบนั้นอย่างผิด ๆ ด้วย. (ท่านผู้ประกาศ 8:9) รัฐบาลของโรมสมัยโบราณมีความผิดในการใช้ “ดาบ” ตัดสินประหารผู้รับใช้ที่ไม่มีความผิดของพระเจ้า. โยฮันผู้ให้บัพติสมา, ยาโกโบ, และแม้แต่พระเยซูคริสต์ ก็อยู่ในท่ามกลางผู้ต้องโทษจากดาบนั้น.—มัดธาย 14:8-11; มาระโก 15:15; กิจการ 12:1,2.
สมัยปัจจุบันมีสิ่งคล้ายคลึงกันเกิดขึ้น. ผู้รับใช้ที่ปราศจากความผิดของพระยะโฮวาถูกประหารในหลายประเทศ—ด้วยการยิงเป้า, ด้วยกิโยตีน, ด้วยการแขวนคอ, ด้วยห้องแก๊ส—ทั้งหมดนี้ทำไปอย่าง “ถูกกฎหมาย” โดยรัฐบาลที่พยายามปราบปรามศาสนาคริสเตียน. ผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ใช้อำนาจของตนอย่างผิด ๆ จะต้องให้การต่อพระเจ้า. พวกเขามีความผิดฐานทำให้เลือดตกที่ร้ายแรงจริง ๆ!—วิวรณ์ 6:9,10.
คริสเตียนแท้กลัวการมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกเฉพาะพักตร์พระยะโฮวายิ่งนัก. ดังนั้น ขณะที่พวกเขานับถืออำนาจของรัฐบาลในการใช้ “ดาบ” พวกเขาก็ตระหนักดีในเรื่องที่มีการใช้อำนาจนี้อย่างผิด ๆ. อำนาจนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับกดขี่ข่มเหง และบางครั้งยังถูกใช้ทำร้ายบางคนอย่างรุนแรงและลดโทษแก่คนอื่น ๆ อย่างไม่เหมาะสม.a ดังนั้น คริสเตียนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการถกกันในเรื่องการลงโทษประหารชีวิต? พวกเขาเข้าไปพัวพันและผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงไหม?
ความเป็นกลางของคริสเตียน
ไม่เหมือนพวกนักเทศน์นักบวชที่กล่าวถึงในตอนต้น คริสเตียนแท้พยายามจดจำหลักการสำคัญประการหนึ่งไว้เสมอที่ว่า พระเยซูคริสต์ตรัสบอกเหล่าสาวกของพระองค์ “ไม่ [ให้] เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 15:19; 17:16, ล.ม.
คริสเตียนแท้จะเชื่อฟังคำสั่งนั้นและยังคงร่วมในการโต้เถียงเรื่องการลงโทษประหารได้ไหม? เห็นชัดว่า ไม่ได้. ที่จริง เรื่องนี้เป็นประเด็นทางสังคมและการเมือง. ในสหรัฐ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อตำแหน่งทางการเมืองต่างก็ใช้จุดยืนของตนในเรื่องการลงโทษประหารชีวิต—ไม่ว่าเห็นด้วยหรือคัดค้าน—เป็นหัวเรื่องสำคัญในการแถลงนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง. พวกเขาโต้เถียงกันในเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนและใช้อารมณ์รุนแรงซึ่งเรื่องนี้มักยั่วยุให้เกิดขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือชักจูงผู้มีสิทธิ์ออกเสียงให้สนับสนุนนโยบายของตน.
บางทีคำถามที่คริสเตียนจะไตร่ตรองคืออย่างนี้: พระเยซูเองจะทรงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไหมในการโต้แย้งกันในเรื่องที่ว่า รัฐบาลของโลกนี้ใช้ “ดาบ” นั้นอย่างไร? อย่าลืมว่า เมื่อชนร่วมชาติพยายามจะดึงพระองค์เข้าไปยุ่งเกี่ยวในการเมือง พระเยซู “เสด็จไปยังภูเขาอีกแต่พระองค์เดียว.” (โยฮัน 6:15) ฉะนั้น ดูเหมือนยิ่งเป็นไปได้มากทีเดียวที่พระองค์ทรงละเรื่องนี้ไว้ในที่ซึ่งพระเจ้าทรงมอบไว้—คือในมือของรัฐบาลทั้งหลาย.
ทำนองเดียวกันในปัจจุบัน คนเราคงคาดหมายให้คริสเตียนแท้ระมัดระวังไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้. พวกเขาคงยอมรับอำนาจของรัฐบาลในการทำตามที่รัฐบาลต้องการ. แต่ในฐานะคริสเตียนผู้รับใช้ซึ่งไม่เป็นส่วนของโลก พวกเขาทั้งจะไม่ให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อการลงโทษประหารชีวิต และไม่สนับสนุนการยกเลิกการลงโทษแบบนั้น.
ตรงกันข้าม พวกเขาจดจำถ้อยคำในท่านผู้ประกาศ 8:4 (ฉบับแปลใหม่) ที่ว่า “พระดำรัสของกษัตริย์นั้นมีอำนาจ และใครผู้ใดจะกราบทูลถามพระองค์ได้ว่า ‘ฝ่าพระบาททรงกระทำอะไรเช่นนั้น.’” ถูกแล้ว ‘กษัตริย์’ แห่งแผ่นดินโลก หรือพวกผู้ปกครองโลก ได้รับมอบอำนาจเพื่อทำตามความประสงค์ของตนเอง. ไม่มีคริสเตียนคนใดมีสิทธิ์เรียกพวกเขามาว่ากล่าว. แต่พระยะโฮวาทรงมีและพระองค์จะทรงทำ. คัมภีร์ไบเบิลให้เราคอยท่าวันที่พระเจ้าจะทรงทำการตัดสินขั้นสุดท้ายต่ออาชญากรรมทุกชนิดและการใช้ “ดาบ” อย่างผิด ๆ ทุกอย่างในโลกเก่านี้.—ยิระมะยา 25:31-33; วิวรณ์ 19:11-21.
[เชิงอรรถ]
a ยกตัวอย่าง ระบบเรือนจำของสหรัฐเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่มีการประหารชีวิตอาชญากรต้องโทษประหารต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี. นักโทษเหล่านั้นตายด้วยสาเหตุตามธรรมชาติมากกว่าตายเพราะถูกประหาร.มีการกล่าวโจมตีในเรื่องความลำเอียงอีกด้วย—ดังที่สถิติเผยว่า ถ้าผู้ถูกฆาตกรรมเป็นคนผิวขาว ผู้ที่เป็นฆาตกรมีทางต้องโทษประหารมากกว่าในกรณีที่ผู้ถูกฆาตกรรมเป็นคนผิวดำ.
[ที่มาของภาพหน้า 26]
The Bettmann Archive