บทสี่
ตัวของคุณไม่มีใดเหมือน!
ทุก ๆ เช้าก่อนจะเริ่มกิจวัตรประจำวัน คุณส่องกระจกดูว่าตัวเองเป็นอย่างไรไหม? ตอนนั้นคุณคงไม่มีเวลาคิดใคร่ครวญ. แต่ขอใช้เวลาสักหน่อยตอนนี้เพื่อคุณจะอัศจรรย์ใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเมื่อคุณมองดูตัวเองเพียงแค่ชั่วครู่.
ดวงตาของคุณทำให้คุณเห็นตัวเองเป็นภาพสี แม้ว่าการมองเห็นได้หลายสีไม่จำเป็นต่อชีวิตก็ตาม. หูของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้คุณได้ยินเสียงแบบสเตริโอ; คุณจึงสามารถรู้แหล่งที่มาของเสียงได้ อย่างเช่นเสียงของคนรัก. เราอาจคิดว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่คู่มือสำหรับวิศวกรเสียงเล่มหนึ่งให้ความเห็นว่า “อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาระบบการได้ยินของมนุษย์ในรายละเอียดแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะหนีข้อสรุปที่ว่า หน้าที่และโครงสร้างที่สลับซับซ้อนของระบบนี้บ่งชี้ว่ามีผู้ควบคุมดูแลที่ใจดีซึ่งออกแบบระบบนี้.”
จมูกของคุณก็แสดงถึงการออกแบบที่น่าพิศวงด้วย. คุณหายใจเข้าทางจมูก ซึ่งช่วยให้คุณมีชีวิตอยู่. นอกจากนั้น จมูกยังมีหน่วยรับความรู้สึกหลายล้านหน่วย ซึ่งทำให้คุณรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ได้ประมาณ 10,000 กลิ่น. เมื่อคุณรับประทานอาหาร มีประสาทสัมผัสอีกอย่างหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย. ปุ่มรับรสเป็นพัน ๆ ปุ่มทำให้คุณรับรู้รสชาติต่าง ๆ. หน่วยรับความรู้สึกอื่น ๆ บนลิ้นช่วยให้คุณรู้สึกว่าฟันสะอาด.
ใช่แล้ว คุณมีประสาทสัมผัสห้าอย่าง—รูป, รส, กลิ่น, เสียง, และสัมผัส. จริงอยู่ สัตว์บางชนิดมองเห็นตอนกลางคืนได้ดีกว่า, มีจมูกไวกว่า, หรือมีหูดีกว่า แต่การที่ประสาทสัมผัสเหล่านี้ของมนุษย์มีความสามารถที่พอเหมาะพอดีทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ในหลาย ๆ ทางอย่างแท้จริง.
แต่ขอให้เราพิจารณาว่าเพราะเหตุใด เราจึงใช้ประโยชน์จากความสามารถเหล่านั้นได้. ความสามารถทั้งหมดนี้อาศัยอวัยวะที่มีน้ำหนัก 1.4 กิโลกรัมในศีรษะของเรา นั่นคือสมองของเรา. สัตว์ก็มีสมองที่ปฏิบัติงานได้. แต่สมองมนุษย์เหนือกว่าสมองสัตว์มาก ซึ่งทำให้ไม่มีสัตว์ชนิดใดเทียบกับเราได้เลย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? และการที่เราไม่มีสิ่งใดเทียบได้นี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความสนใจของเราในเรื่องการมีชีวิตที่มีความหมายและยืนนาน?
สมองที่น่าพิศวงของคุณ
เป็นเวลาหลายปีที่มีการเปรียบสมองมนุษย์ว่าเหมือนกับคอมพิวเตอร์ กระนั้น การค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าการเปรียบเทียบเช่นนั้นห่างไกลความจริงมาก. นายแพทย์ริชาร์ด เอ็ม. เรสแทก ถามว่า “คนเราจะเริ่มเข้าใจได้อย่างไรถึงการทำงานของอวัยวะที่มีเซลล์ประสาทราว ๆ ห้าหมื่นล้านเซลล์และมีซินแนปส์ (จุดเชื่อมต่อเซลล์) ประมาณหนึ่งพันล้านล้านจุด พร้อมกับมีการยิงสัญญาณออกมาโดยรวมในอัตราถึงหนึ่งหมื่นล้านล้านครั้งต่อวินาที?” เขาตอบอย่างไร? “แม้แต่สมรรถนะของคอมพิวเตอร์โครงข่ายประสาทเทียมที่ก้าวหน้าที่สุด . . . มีความสามารถในการคิดแค่ประมาณหนึ่งในหมื่นของสมองแมลงวัน.” ดังนั้น คิดดูก็แล้วกันว่าคอมพิวเตอร์ด้อยกว่าสักเพียงไรเมื่อเทียบกับสมองมนุษย์ซึ่งเหนือกว่ามากอย่างน่าทึ่ง.
คอมพิวเตอร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเครื่องไหนที่สามารถซ่อมตัวเอง, เขียนโปรแกรมใหม่, หรือปรับปรุงตัวเองตามกาลเวลาได้? เมื่อจำเป็นต้องมีการปรับระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนโปรแกรมต้องเขียนและใส่รหัสคำสั่งชุดใหม่เข้าไป. สมองของเราทำงานนี้โดยอัตโนมัติ ทั้งในช่วงต้น ๆ ของชีวิตและในวัยชรา. คุณจะไม่ได้พูดเกินจริงหรอกถ้าบอกว่าคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าที่สุดนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์หยาบ ๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับสมอง. นักวิทยาศาสตร์เรียกสมองว่า “โครงสร้างที่สลับซับซ้อนที่สุดเท่าที่รู้จักกัน” และ “สิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในเอกภพ.” ขอพิจารณาการค้นพบบางอย่างที่ทำให้หลายคนสรุปว่าสมองมนุษย์เป็นผลงานของพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัย.
จะใช้หรือจะปล่อยให้เสียไป
สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น รถยนต์และเครื่องบินไอพ่น โดยพื้นฐานแล้วถูกจำกัดโดยกลไกและระบบไฟฟ้าที่ตายตัว ซึ่งมนุษย์ออกแบบและติดตั้งลงไป. ตรงกันข้าม อย่างน้อยที่สุดสมองของเราเป็นกลไกหรือระบบทางชีววิทยาที่มีความยืดหยุ่น สูง. สมองสามารถเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามวิธีที่มันถูกใช้งาน—หรือถูกใช้อย่างผิด ๆ. มีปัจจัยหลัก ๆ สองประการที่ดูเหมือนเป็นตัวกำหนดว่าสมองจะมีการพัฒนาไปในทางใดตลอดช่วงชีวิตของเรา—นั่นคือสิ่งที่เรายอมให้เข้าสู่สมองทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ และสิ่งซึ่งเราเลือกที่จะคิด.
แม้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีผลต่อความสามารถทางความคิด แต่การค้นคว้าในสมัยใหม่แสดงว่าสมองของเราไม่ได้ถูกกำหนดไว้โดยยีนตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่. นักเขียนผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ โรนัลด์ คอทูลัก เขียนว่า “ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าสมองจะสามารถปรับเปลี่ยนได้มากอย่างที่วิทยาศาสตร์รู้อยู่ในตอนนี้.” หลังจากสัมภาษณ์นักวิจัยกว่า 300 คน เขาสรุปว่า “สมองไม่ใช่อวัยวะที่ตายตัว แต่เป็นก้อนที่ประกอบด้วยจุดเชื่อมต่อเซลล์จำนวนมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากประสบการณ์ส่วนตัว.”—ภายในสมอง (ภาษาอังกฤษ).
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของเราไม่ใช่สิ่งเดียวเท่านั้นที่กำหนดพัฒนาการของสมองของเรา. สมองยังได้รับผลกระทบจากความคิดของเราด้วย. นักวิทยาศาสตร์พบว่า สมองของคนที่ใช้ความคิดอยู่เสมอมีจุดเชื่อมต่อ (ซินแนปส์) ระหว่างเซลล์ประสาท (นิวรอน) มากกว่าคนที่ไม่ค่อยใช้ความคิดถึง 40 เปอร์เซ็นต์. นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาทสรุปว่า คุณต้องใช้สมองไม่เช่นนั้นคุณจะเสียความสามารถของมันไป. ส่วนผู้สูงอายุล่ะ? ดูเหมือนว่าเซลล์สมองจะสูญเสียไปบ้างตามอายุไข และอายุที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ความจำเสื่อมได้. กระนั้น การสูญเสียนี้มีน้อยกว่าที่เคยคิดกัน. วารสารแนชันแนล จีโอกราฟิก รายงานเกี่ยวกับสมองมนุษย์ว่า “ผู้สูงอายุ . . . ยังมีความสามารถในการสร้างจุดเชื่อมต่อใหม่ ๆ และในการรักษาจุดเชื่อมต่อเก่าเอาไว้โดยกิจกรรมทางความคิด.”
การค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมองของเราสอดคล้องกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล. หนังสือแห่งสติปัญญานี้กระตุ้นผู้อ่านให้ ‘เปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของเขาเสียใหม่’ หรือ ถูก “สร้างขึ้นใหม่” โดยการรับ “ความรู้ถ่องแท้” ไว้ในจิตใจ. (โรม 12:2, ล.ม.; โกโลซาย 3:10, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นขณะที่ผู้คนศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและใช้คำแนะนำในนั้น. ผู้คนหลายหมื่นหลายแสน—จากขอบเขตอันกว้างขวางด้านภูมิหลังทางสังคมและการศึกษา—ได้ทำเช่นนั้น. พวกเขาก็ยังคงเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่พวกเขามีความสุขและความสมดุลมากขึ้น แสดงออกถึงสิ่งที่นักเขียนในศตวรรษแรกเรียกว่า “สุขภาพจิตดี.” (กิจการ 26:25, ล.ม.) การปรับปรุงเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่คนเราใช้ส่วนของซีรีบรัลคอร์เทกซ์ให้เป็นประโยชน์ ส่วนนี้อยู่บริเวณด้านหน้าของศีรษะ.
สมองกลีบหน้าของคุณ
เซลล์ประสาทส่วนใหญ่ของสมองชั้นนอก หรือซีรีบรัลคอร์เทกซ์ ไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับกล้ามเนื้อและอวัยวะรับความรู้สึก. ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาเซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์ซึ่งประกอบกันเป็นสมองกลีบหน้า. (ดูภาพหน้า 56.) การสแกนดูสมองพิสูจน์ว่า สมองกลีบหน้าทำงานเมื่อคุณคิดเรื่องคำศัพท์หรือทวนความจำ. สมองส่วนหน้ามีบทบาทเป็นพิเศษที่ทำให้คุณมีบุคลิกเฉพาะตัว.
“พรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์ [ส่วนหน้าของสมองกลีบหน้า] . . . เกี่ยวข้องอย่างมากกับความคิดที่ละเอียดอ่อน, เชาวน์ปัญญา, แรงจูงใจ, และบุคลิกภาพ. สมองส่วนนี้ประมวลประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อสร้างแนวคิดแบบนามธรรม, การตัดสินใจ, การยืนหยัด, การวางแผน, การคำนึงถึงผู้อื่น, และมโนธรรม. . . . ความละเอียดอ่อนของสมองส่วนนี้เองที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ.” (อวัยวะและสรีรวิทยาของมนุษย์ โดย แมเรียบ [ภาษาอังกฤษ]) เราเห็นแน่ชัดถึงหลักฐานของความแตกต่างนี้ในสิ่งที่มนุษย์ทำได้ในแวดวงต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์, ปรัชญา, และกฎหมาย, ซึ่งเกี่ยวข้องกับพรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์เป็นส่วนใหญ่.
ทำไมมนุษย์จึงมีพรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์ที่ใหญ่และยืดหยุ่นได้ซึ่งก่อให้เกิดปฏิบัติการทางความคิดที่สูงส่งกว่า ในขณะที่ส่วนนี้ของสัตว์เป็นแบบขั้นต้นหรือไม่มีเลย? ความแตกต่างมีมากถึงขนาดที่นักชีววิทยาซึ่งอ้างว่าเราเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการก็ยังพูดถึง “ขนาดของสมองที่ใหญ่อย่างน่าประหลาด.” เมื่อพูดถึงการขยายตัวเป็นพิเศษของซีรีบรัลคอร์เทกซ์ของเรา ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ริชาร์ด เอฟ. ทอมป์สัน ยอมรับว่า “เรายังไม่เข้าใจชัดเจนนักว่าทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.” เป็นไปได้ไหมว่าเหตุผลคือมนุษย์ถูกสร้าง พร้อมกับความสามารถทางสมองที่ไม่มีอะไรเทียบได้นี้?
ความสามารถในการสื่อความที่ไม่มีอะไรเทียบได้
ส่วนอื่น ๆ ของสมองก็มีส่วนช่วยให้เราไม่มีใดเหมือนด้วย. ด้านหลังของพรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์ของเราคือสมองส่วนที่เป็นแถบซึ่งอยู่ด้านบนของสมองเรียกว่า มอเตอร์คอร์เทกซ์. สมองส่วนนี้มีเซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์ซึ่งเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อของเรา. สมองส่วนนี้ก็เช่นกันมีคุณสมบัติที่ทำให้เราแตกต่างอย่างมากกับลิงหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ. หน้าที่หลัก ๆ ของมอเตอร์คอร์เทกซ์คือ ทำให้เรามี “(1) ความสามารถอันยอดเยี่ยมที่จะใช้มือ, นิ้วมือ, และนิ้วหัวแม่มือทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว และ (2) ความสามารถที่จะใช้ปาก, ริมฝีปาก, ลิ้น, และกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าในการพูด.”—ตำราสรีรวิทยาการแพทย์ ของกายตัน (ภาษาอังกฤษ).
ลองพิจารณาสั้น ๆ ว่า มอเตอร์คอร์เทกซ์ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพูดของคุณอย่างไร. มากกว่าครึ่งของสมองส่วนนี้มีหน้าที่ควบคุมอวัยวะที่ใช้ในการสื่อความ. สิ่งนี้ช่วยอธิบายเรื่องทักษะในการสื่อความของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรเทียบได้. แม้ว่ามือของเรามีบทบาทในการสื่อความ (ในการเขียน, การออกท่าทางตามปกติ, หรือภาษาท่าทาง) แต่ตามปกติปากทำหน้าที่นี้เป็นส่วนใหญ่. คำพูดของมนุษย์—ตั้งแต่คำแรกที่ทารกพูดออกมาจนถึงเสียงของผู้สูงอายุ—เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างไม่อาจโต้แย้งได้. มีกล้ามเนื้อประมาณ 100 มัดในลิ้น, ริมฝีปาก, ขากรรไกร, ลำคอ, และหน้าอกทำงานประสานกันเพื่อจะเปล่งเสียงนับไม่ถ้วน. ขอสังเกตความแตกต่างนี้: เซลล์สมองหนึ่งเซลล์สามารถควบคุมใยกล้ามเนื้อน่องของนักกรีฑาได้ 2,000 เส้น แต่เซลล์สมองที่ควบคุมกล่องเสียงอาจควบคุมใยกล้ามเนื้อเพียง 2 หรือ 3 เส้นเท่านั้น. นี่ไม่ได้บ่งชี้หรือว่าสมองของเราถูกเตรียมไว้สำหรับสื่อความเป็นพิเศษ?
วลีสั้น ๆ แต่ละวลีที่คุณเอ่ยออกมาจำเป็นต้องมีรูปแบบเฉพาะของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ. ความหมายของคำพูดคำหนึ่งอาจเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับว่า กล้ามเนื้อหลายสิบมัดเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหนในช่วงเสี้ยววินาทีนั้น. นายแพทย์วิลเลียม เอช. เพอร์คินส์ ผู้เชี่ยวชาญทางการพูดอธิบายว่า “ในอัตราความเร็วปกติ เราเปล่งเสียงออกมาราว ๆ 14 เสียงต่อวินาที. นี่เร็วกว่ากันถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับการที่เราแยกบังคับลิ้น ริมฝีปาก ขากรรไกรหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ในกลไกการพูดเมื่อเราขยับอวัยวะเหล่านั้นทีละอย่าง. แต่เมื่อให้ทุกส่วนทำงานร่วมกันเพื่อจะพูด อวัยวะเหล่านี้ก็จะทำงานได้เช่นเดียวกับนิ้วของนักพิมพ์ดีดที่ชำนาญหรือนักเล่นเปียโนคอนเสิร์ต. การเคลื่อนไหวของอวัยวะเหล่านี้ประสานกลมกลืนกันในจังหวะที่แม่นยำอย่างไม่ผิดพลาด.”
ข้อมูลจริงที่จำเป็นสำหรับการถามคำถามง่าย ๆ อย่างเช่น “วันนี้คุณสบายดีไหม?” ถูกเก็บไว้ในส่วนของสมองกลีบหน้าของคุณที่เรียกว่า บริเวณโบรคา ซึ่งบางคนถือว่าส่วนนี้เป็นศูนย์ควบคุมการพูดของคุณ. เซอร์จอห์น เอคเคิลส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาทผู้ได้รับรางวัลโนเบลเขียนว่า “ไม่มีการพบส่วนใดที่เหมือนกับ . . . บริเวณโบรคาที่เกี่ยวกับการพูดในลิง.” ถึงจะมีการพบบริเวณคล้าย ๆ กันนั้นในสัตว์ ความจริงก็คือ นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถสอนลิงให้เปล่งเสียงได้มากไปกว่าคำง่าย ๆ ไม่กี่คำ. กระนั้น คุณสามารถพูดภาษาที่สลับซับซ้อนได้. คุณทำเช่นนั้นโดยเรียบเรียงคำต่าง ๆ ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาของคุณ. บริเวณโบรคาช่วยคุณให้ทำเช่นนั้นทั้งในการพูดและในการเขียน.
แน่ล่ะ คุณไม่สามารถแสดงความมหัศจรรย์ของการพูดเว้นเสียแต่ว่าคุณรู้ภาษาอย่างน้อยหนึ่งภาษาและเข้าใจความหมายของคำภาษานั้น ๆ. นี่เกี่ยวข้องกับส่วนที่พิเศษอีกส่วนหนึ่งของสมองคุณซึ่งรู้จักกันว่า บริเวณเวอร์นิเค. ที่นี่ เซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์แยกแยะความหมายของคำต่าง ๆ ที่พูดหรือเขียน. บริเวณเวอร์นิเคช่วยคุณให้เข้าใจประโยคต่าง ๆ และเข้าใจสิ่งที่คุณได้ยินหรืออ่าน โดยวิธีนี้คุณจึงสามารถเรียนข้อมูลต่าง ๆ และสามารถตอบสนองได้อย่างสมเหตุผล.
ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่เกี่ยวข้องกับการที่คุณพูดได้อย่างคล่องแคล่ว. เพื่อเป็นตัวอย่าง: คำพูดที่ว่า “สวัสดี” อาจถ่ายทอดความหมายได้หลายอย่าง. น้ำเสียงของคุณสะท้อนว่าคุณกำลังอารมณ์ดี, ตื่นเต้น, เบื่อหน่าย, เร่งรีบ, ไม่พอใจ, เสียใจ, หรือหวาดกลัว และอาจบ่งถึงระดับของอารมณ์เหล่านี้ด้วยซ้ำ. อีกบริเวณหนึ่งในสมองของคุณให้ข้อมูลด้านอารมณ์ในการพูด. ดังนั้น มีหลายส่วนในสมองของคุณที่เกี่ยวข้องเมื่อคุณสื่อความ.
มีการสอนภาษาท่าทางไม่กี่ท่าให้แก่ลิงชิมแปนซี แต่พวกมันสามารถทำได้แค่ท่าง่าย ๆ เพื่อขออาหารหรือสิ่งจำเป็นอื่น ๆ. ดร. เดวิด เพรแมก ซึ่งได้สอนลิงชิมแปนซีให้สื่อความโดยการออกท่าทางง่าย ๆ สรุปว่า “ภาษาของมนุษย์ก่อความยุ่งยากให้แก่ทฤษฎีวิวัฒนาการเพราะภาษาของมนุษย์มีพลังเกินกว่าที่ใคร ๆ จะอธิบายได้มากนัก.”
เราอาจครุ่นคิดว่า ‘ทำไมมนุษย์มีทักษะอันน่าทึ่งนี้ในการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึก ในการถามและตอบ?’ สารานุกรมภาษาและภาษาศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ภาษา [ของมนุษย์] เป็นสิ่งพิเศษ” และยอมรับว่า “การสืบหาสิ่งที่ส่อถึงภาษาของมนุษย์ในการสื่อความของสัตว์ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการเชื่อมช่องว่างมหึมาที่แยกภาษาและคำพูดของมนุษย์ออกจากพฤติกรรมของสัตว์.” ศาสตราจารย์ลุดวิก เคอเลอร์ สรุปความแตกต่างนั้นว่า “ภาษาของมนุษย์เป็นความลึกลับ เป็นของประทานจากสวรรค์ เป็นการอัศจรรย์.”
การที่ลิงใช้ท่าทางต่าง ๆ ช่างแตกต่างกันเสียจริงกับความสามารถทางภาษาอันซับซ้อนของเด็ก! เซอร์จอห์น เอคเคิลส์ กล่าวถึงสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่ก็ได้สังเกตด้วย นั่นคือความสามารถที่ “สำแดงออกมาแม้แต่ในเด็กอายุ 3 ขวบพร้อมกับคำถามของตนที่พรั่งพรูออกมาในความปรารถนาที่จะเข้าใจโลกของตน.” เขาเพิ่มเติมว่า “ตรงกันข้าม ลิงไม่ตั้งคำถาม.” ใช่แล้ว มนุษย์เท่านั้นที่ตั้งคำถาม รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิต.
ความทรงจำและอื่น ๆ อีก!
เมื่อส่องกระจก คุณอาจนึกถึงหน้าตาของคุณตอนเป็นหนุ่มสาว หรือกระทั่งเปรียบเทียบว่ารูปร่างหน้าตาคุณจะเป็นอย่างไรเมื่อแก่ตัวลง หรือหน้าตาคุณจะเป็นอย่างไรถ้าใช้เครื่องสำอาง. ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยแทบไม่รู้ตัว กระนั้น มีบางอย่างที่พิเศษมากกำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีสัตว์ชนิดใดสามารถประสบได้.
ไม่เหมือนสัตว์ ซึ่งคำนึงถึงและทำตามความจำเป็นในปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ มนุษย์สามารถคิดใคร่ครวญอดีตและวางแผนการเพื่ออนาคต. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณทำอย่างนั้นได้ก็คือความสามารถของสมองในการจดจำที่แทบไม่มีขีดจำกัด. จริงอยู่ สัตว์ก็มีความจำในระดับหนึ่ง พวกมันจึงหาทางกลับบ้านได้หรือจำได้ว่าอาหารอยู่ที่ไหน. ความทรงจำของมนุษย์นั้นยอดเยี่ยมกว่ามาก. นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งประมาณว่า สมองของเราสามารถเก็บข้อมูลที่ “จะบรรจุในหนังสือประมาณยี่สิบล้านเล่ม มากเท่ากับที่มีในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก.” นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาทบางคนประมาณว่า ในช่วงชีวิตโดยเฉลี่ย คนเราใช้ความสามารถเก็บข้อมูลของสมองเพียงเศษ 1 ส่วน 100 ของ 1 เปอร์เซ็นต์ (.0001) ของความสามารถที่คาดว่ามีอยู่. คุณอาจถามว่า ‘ทำไมเราถึงมีสมองที่มีความสามารถเก็บข้อมูลมากขนาดนั้นทั้ง ๆ ที่เราใช้แทบไม่ถึงเศษเสี้ยวของความสามารถนั้นตลอดช่วงชีวิตปกติของเรา?’
แต่สมองของเราก็ไม่ได้เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลขนาดมหึมาเหมือนกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์เท่านั้น. ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา โรเบิร์ต ออร์นสไตน์ และ ริชาร์ด เอฟ. ทอมป์สัน เขียนว่า “ความสามารถของจิตใจมนุษย์ในการเรียนรู้—เก็บและเรียกข้อมูล—เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดในโลกของชีววิทยา. ทุกสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์—เช่น ภาษา, ความคิด, ความรู้, วัฒนธรรม—เป็นผลจากความสามารถอันพิเศษยิ่งนี้.”
ยิ่งกว่านั้น คุณมีจิตสำนึก. ข้อความนี้อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่เป็นข้อสรุปของสิ่งที่ทำให้คุณไม่มีใดเหมือนอย่างไม่ต้องสงสัย. จิตใจได้รับการพรรณนาว่าเป็น “สิ่งที่เข้าใจได้ยากซึ่งเป็นแหล่งแห่งเชาวน์ปัญญา, การตัดสินใจ, การรับรู้, ความสำนึกและการรู้ว่าคุณคือใคร.” สายน้ำ, ลำธาร, และแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลฉันใด ความทรงจำ, ความคิด, มโนภาพ, เสียง, และความรู้สึกไหลเข้าไปหรือผ่านจิตใจของเราอย่างไม่ขาดสายฉันนั้น. คำจำกัดความหนึ่งบอกว่า จิตสำนึกคือ “การรับรู้ถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในจิตใจมนุษย์.”
นักวิจัยสมัยใหม่ได้ก้าวหน้าไปมากในการเข้าใจส่วนประกอบทางกายภาพของสมองและขบวนการทางเคมีไฟฟ้าบางอย่างที่เกิดขึ้นในสมอง. พวกเขาสามารถอธิบายเกี่ยวกับวงจรและการทำงานของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ได้ด้วย. อย่างไรก็ดี มีความแตกต่างอย่างมากมายระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์. โดยสมองของคุณ คุณมีสติและรู้ถึงการดำรงอยู่ของตัวคุณ แต่คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเช่นนั้นเลย. ทำไมจึงต่างกัน?
พูดตรง ๆ จิตสำนึกเกิดขึ้นจากกระบวนการทางกายภาพในสมองของเราได้อย่างไรและทำไมจึงเกิดขึ้นนั้นยังเป็นเรื่องลึกลับ. นักชีววิทยาทางประสาทคนหนึ่งออกความเห็นว่า “ผมไม่เห็นว่ามีวิทยาศาสตร์สาขาใดสามารถอธิบายสิ่งนี้ได้.” และศาสตราจารย์เจมส์ เทรฟิลตั้งข้อสังเกตว่า “การมีจิตสำนึกมีความหมายอะไรจริง ๆ สำหรับมนุษย์นั้น . . . เป็นคำถามสำคัญข้อเดียวในวงการวิทยาศาสตร์ที่เราไม่รู้แม้แต่ว่าจะถามคำถามนี้อย่างไร.” สาเหตุหนึ่งก็คือ นักวิทยาศาสตร์ใช้สมองเพื่อพยายามจะเข้าใจสมอง. และเพียงแค่การศึกษาสรีรวิทยาของสมองเท่านั้นอาจยังไม่พอ. ดร. เดวิด ชาลเมอส์สังเกตว่า จิตสำนึกเป็น “หนึ่งในความลึกลับที่ล้ำลึกที่สุดของการดำรงอยู่ แต่เพียงแค่รู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองไม่อาจช่วยให้ [นักวิทยาศาสตร์] เข้าถึงก้นบึ้งของความลึกลับนั้นได้.”
กระนั้นก็ตาม เราแต่ละคนมีจิตสำนึก. ตัวอย่างเช่น ความทรงจำอันชัดเจนของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ เหมือนกับข้อมูลในคอมพิวเตอร์. เราสามารถคิดใคร่ครวญประสบการณ์ของเรา, เรียนบทเรียนจากประสบการณ์นั้น, และใช้เพื่อวางแผนในอนาคตของเรา. เราสามารถคิดถึงเหตุการณ์สมมุติต่าง ๆ หลายเรื่องในอนาคตและประเมินผลกระทบของแต่ละเรื่อง. เรามีความสามารถที่จะวิเคราะห์, สร้าง, หยั่งรู้ค่า, และรัก. เราสามารถชื่นชมกับการสนทนาที่น่าเพลิดเพลินเกี่ยวกับอดีต, ปัจจุบัน, และอนาคต. เรามีค่านิยมทางศีลธรรมเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติและสามารถใช้ค่านิยมนั้นในการตัดสินใจที่อาจก่อประโยชน์ในทันทีหรือไม่ก่อประโยชน์ในทันที. ความงามในศิลปะและศีลธรรมเป็นสิ่งดึงดูดใจเรา. ในใจของเรา เราสามารถหล่อหลอมและกลั่นกรองแนวคิดและคาดเดาว่าคนอื่น ๆ จะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากเราทำตามแนวคิดเหล่านั้น.
ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความสำนึกซึ่งทำให้มนุษย์ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนแผ่นดินโลก. ถ้าสุนัข, แมว, หรือนกมองดูตัวเองในกระจกมันจะมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับเมื่อมันเห็นสัตว์ชนิดเดียวกับมันอีกตัวหนึ่ง. แต่เมื่อคุณส่องกระจก คุณรู้ว่าตัวคุณเป็นบุคคลที่มีความสามารถต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้. คุณสามารถคิดถึงคำถามที่ตอบยาก อย่างเช่น ‘ทำไมเต่าบางชนิดมีอายุถึง 150 ปีและต้นไม้บางชนิดอายุยืนถึง 1,000 ปี แต่ถ้ามนุษย์ที่มีเชาว์ปัญญาคนใดมีอายุยืนถึง 100 ปีก็จะกลายเป็นข่าว?’ นายแพทย์ริชาร์ด เรสแทกกล่าวว่า “สมองมนุษย์ และสมองมนุษย์เท่านั้นที่มีความสามารถในการไตร่ตรอง, สำรวจการทำงานของตนเอง, และจึงบรรลุความสามารถเกินกว่าประสบการณ์ธรรมดา. ที่จริง ความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนการและปรับตัวเข้ากับโลกรอบข้างคือสิ่งที่แยกเราออกจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมดในโลก.”
จิตสำนึกของมนุษย์ทำให้บางคนฉงน. ถึงแม้จะชอบคำอธิบายเรื่องนี้ในแบบชีววิทยาเท่านั้นก็ตาม หนังสือไลฟ์ แอสเซนดิง ยอมรับว่า “เมื่อเราวิเคราะห์ดูว่า ขบวนการ [วิวัฒนาการ] ซึ่งเป็นเหมือนเกมเสี่ยงโชค ที่มีการลงโทษอย่างแรงสำหรับผู้แพ้ จะก่อให้เกิดคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความรักในความสวยงามและในความจริง, ความเห็นอกเห็นใจ, เสรีภาพ, และที่สำคัญ ความสามารถล้นเหลือของจิตใจมนุษย์ได้อย่างไรนั้น เรารู้สึกฉงน. ยิ่งเราคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เรามีความสามารถที่จะรับรู้ค่านิยมทางศาสนา เราก็ยิ่งฉงนขึ้นไปอีก.” นั่นจริงทีเดียว. ด้วยเหตุนี้ เราอาจทำให้มุมมองของเราเรื่องความไม่มีใดเหมือนของมนุษย์ครบถ้วนโดยข้อพิสูจน์ไม่กี่ข้อเรื่องจิตสำนึกที่ให้ความกระจ่างว่าทำไมหลายคนจึงเชื่อว่าต้องมีผู้ออกแบบที่มีเชาวน์ปัญญา พระผู้สร้าง ซึ่งใฝ่พระทัยในตัวเรา.
ศิลปะและความงาม
ศาสตราจารย์ไมเคิล เลย์ตันถามในหนังสือสมมาตร, ความสัมพันธ์ของเหตุและผล, จิตใจ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ทำไมผู้คนจึงมุ่งติดตามศิลปะอย่างกระตือรือร้น?” เขาอธิบายในหนังสือของเขาว่า บางคนอาจพูดว่ากิจกรรมด้านการคิด เช่น คณิตศาสตร์ ให้ประโยชน์แก่มนุษย์อย่างเห็นได้ชัด แต่ศิลปะล่ะ? เลย์ตันยกตัวอย่างโดยกล่าวว่า ผู้คนเดินทางแสนไกลไปยังงานแสดงศิลปะและการแสดงคอนเสิร์ต. ประสาทสัมผัสภายในอันไหนล่ะที่เกี่ยวข้อง? คล้าย ๆ กัน ผู้คนทั่วโลกแขวนรูปภาพหรือภาพเขียนที่สวยงามบนผนังในบ้านหรือในสำนักงานของตน. หรือลองคิดถึงดนตรีก็ได้. ผู้คนส่วนใหญ่ชอบฟังดนตรีบางประเภทที่บ้านและในรถ. ทำไมล่ะ? แน่นอน ไม่ใช่เพราะดนตรีเคยช่วยตัวที่แข็งแรงที่สุดให้รอดชีวิตอยู่ได้. เลย์ตันกล่าวว่า “ศิลปะอาจเป็นปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่อธิบายได้ยากที่สุด.”
กระนั้น เราทุกคนก็ยังรู้ว่าการชื่นชมกับศิลปะและความงามเป็นส่วนของสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็น “มนุษย์.” สัตว์อาจนั่งบนเนินเขาและมองดูท้องฟ้าที่มีสีสันสวยงาม แต่ความสวยงามดึงดูดใจมันอย่างนั้นไหม? เราดูสายน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาส่องประกายระยิบระยับเมื่อต้องแสงอาทิตย์, มองดูความหลากหลายที่น่าตื่นตาในป่าดงดิบ, ชมชายทะเลที่มีต้นมะพร้าวเรียงราย, หรืออัศจรรย์ใจกับดวงดาวดารดาษทั่วท้องฟ้าที่มืดมิด. หลายครั้งเรารู้สึกพิศวงมิใช่หรือ? ความงดงามเช่นนั้นทำให้เราอิ่มเอิบเบิกบานใจ. เพราะเหตุใด?
ทำไมเรามีความปรารถนาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่แทบไม่มีความสำคัญมากนักต่อความอยู่รอดของเรา? ค่านิยมทางสุนทรียภาพเกิดมาจากไหน? ถ้าเราปฏิเสธเรื่องที่ว่ามีพระผู้สร้างที่ปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ไว้ในตอนที่สร้างมนุษย์แล้วล่ะก็ คำถามเหล่านี้ก็ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ. นี่เป็นจริงกับความงามทางศีลธรรมด้วย.
ค่านิยมทางศีลธรรม
หลายคนยอมรับว่าความงดงามรูปแบบที่สูงส่งที่สุดคือการทำดี. ตัวอย่างเช่น การภักดีต่อหลักการแม้จะเผชิญการกดขี่, การบรรเทาความทุกข์ยากของคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว, และการให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บใจต่างก็เป็นการกระทำที่ดึงดูดค่านิยมทางศีลธรรมของผู้ที่รู้จักคิดทุกหนแห่ง. นี่เป็นความงดงามอย่างที่มีกล่าวถึงในสุภาษิตโบราณในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ความหยั่งเห็นของคนย่อมทำให้เขาช้าในการโกรธ และที่เขามองข้ามการล่วงละเมิดไปก็เป็นความงดงามของเขา.” หรืออย่างที่สุภาษิตอีกข้อหนึ่งกล่าวไว้ “สิ่งที่น่าปรารถนาในปุถุชนคือความรักกรุณา.”—สุภาษิต 19:11, 22, ล.ม.
เราทุกคนรู้ว่าบางคนหรือกระทั่งกลุ่มบุคคล เมินเฉยหรือเหยียบย่ำศีลธรรมที่สูงส่ง แต่ผู้คนส่วนมากไม่ได้ทำเช่นนั้น. ค่านิยมทางศีลธรรมที่พบในแทบทุกหนแห่งและตลอดทุกยุคสมัยนั้นมาจากแหล่งไหน? ถ้าไม่มีต้นกำเนิดของศีลธรรม ไม่มีพระผู้สร้าง สิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิดเพียงแต่เกิดมาจากผู้คน มาจากสังคมมนุษย์เท่านั้นไหม? ลองพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง: ปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลส่วนใหญ่ถือว่าฆาตกรรมนั้นผิด. แต่คนเราอาจถามว่า ‘ผิดเมื่อเทียบกับอะไร?’ เห็นได้ชัดว่ามีความสำนึกทางศีลธรรมบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์ทั่วไปและรวมอยู่ในกฎหมายของหลายประเทศ. อะไรคือแหล่งที่มาของมาตรฐานทางศีลธรรมนี้? ไม่ใช่พระผู้สร้างที่มีเชาวน์ปัญญาผู้มีค่านิยมทางศีลธรรมและผู้ที่ใส่ความสามารถเกี่ยวกับจิตสำนึก, หรือความสำนึกด้านจริยธรรมในตัวมนุษย์หรอกหรือ?—เทียบกับโรม 2:14, 15.
คุณสามารถคิดใคร่ครวญและวางแผนสำหรับอนาคต
แง่มุมอีกอย่างหนึ่งของจิตสำนึกในมนุษย์คือความสามารถในการคิดเกี่ยวกับอนาคต. เมื่อถูกถามว่ามนุษย์มีคุณสมบัติใดที่แยกพวกเขาออกจากสัตว์หรือไม่ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ดอว์กินส์ ยอมรับว่า มนุษย์มีคุณสมบัติที่ไม่มีอะไรเทียบได้อย่างแท้จริง. หลังจากกล่าวถึง “ความสามารถในการวางแผนล่วงหน้าโดยใช้จิตสำนึก, สร้างจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น” ดอว์กินส์เสริมว่า “ผลประโยชน์ระยะสั้นถือว่าสำคัญในทฤษฎีวิวัฒนาการเสมอ; ผลประโยชน์ระยะยาวถือว่าไม่มีค่าเลย. ไม่เคยมีการพัฒนาบางสิ่งขึ้นหากมันจะก่อผลเสียในระยะสั้นต่อสิ่งมีชีวิตนั้น. มันเป็นไปได้ที่อย่างน้อยบางคนจะบอกอย่างที่ไม่เคยบอกมาก่อนว่า ‘อย่าสนใจแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าคุณสามารถทำกำไรในระยะสั้นได้โดยการตัดไม้ในป่านี้ แล้วผลประโยชน์ระยะยาวล่ะ?’ ตอนนี้ผมคิดว่า ความสามารถในการคิดล่วงหน้านี้เป็นสิ่งใหม่และไม่มีอะไรเทียบได้โดยแท้.”
นักวิจัยคนอื่น ๆ ก็ยืนยันความสามารถของมนุษย์ในเรื่องจิตสำนึก, การวางแผนระยะยาวอย่างที่ไม่มีอะไรเทียบเท่า. นักสรีรวิทยาด้านระบบประสาท วิลเลียม เอช. แคลวินกล่าวว่า “นอกจากการผสมพันธุ์และการเตรียมการสำหรับฤดูหนาวซึ่งถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนแล้ว หลักฐานที่ว่าสัตว์มีการวางแผนไม่กี่นาทีล่วงหน้านั้นมีน้อยมากอย่างน่าประหลาดใจ.” สัตว์อาจสะสมอาหารก่อนฤดูหนาวมาถึง แต่มันไม่ได้คิดถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและวางแผน. ตรงกันข้าม มนุษย์คิดถึงอนาคต กระทั่งอนาคตไกล ๆ. นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเอกภพอีกหลายล้านปีจากนี้ไป. คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมมนุษย์สามารถคิดเกี่ยวกับอนาคตและวางแผนอย่างละเอียดล่วงหน้าซึ่งแตกต่างจากสัตว์อย่างมาก?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงมนุษย์ว่า “แม้แต่เวลาที่ไม่มีกำหนด [พระผู้สร้าง] ก็ทรงใส่ไว้ในหัวใจของพวกเขา.” (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ล.ม.) ฉบับรีไวส์ สแตนดาร์ด เวอร์ชัน แปลข้อนี้ว่า “พระองค์ได้ทรงบรรจุนิรันดรกาลไว้ในจิตใจของมนุษย์.” เราใช้ความสามารถที่โดดเด่นนี้ทุกวัน แม้แต่ในการทำสิ่งธรรมดา ๆ อย่างเช่น การส่องกระจกและนึกภาพว่าเราจะเป็นอย่างไรในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า. และเรายืนยันสิ่งที่กล่าวไว้ในพระธรรมท่านผู้ประกาศ 3:11 เมื่อความคิดในเรื่องความไม่รู้จบของเวลาและอวกาศแวบผ่านเข้ามาในความคิดของเรา. เพียงข้อเท็จจริงที่ว่าเรามีความสามารถนี้ก็สอดคล้องกับข้อคิดเห็นที่ว่าพระผู้สร้างได้ทรงใส่ “นิรันดรกาลไว้ในจิตใจของมนุษย์.”
ถูกดึงดูดให้เข้าหาพระผู้สร้าง
อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่อิ่มใจเต็มที่กับการได้ชื่นชมกับความงาม, การทำสิ่งดีต่อเพื่อนมนุษย์, และการคิดเกี่ยวกับอนาคตเท่านั้น. ศาสตราจารย์ ซี. สตีเฟน เอแวนส์ กล่าวว่า “น่าแปลก แม้แต่ในชั่วขณะที่เราได้รับความรักซึ่งทำให้มีความสุขและรู้สึกมีค่าที่สุด บ่อยครั้ง เราก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรขาดไป. เราพบว่าตัวเองต้องการมากกว่านั้นแต่ก็ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร.” ที่จริง มนุษย์ที่มีจิตสำนึก—ไม่เหมือนกับสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา—รู้สึกต้องการอีกสิ่งหนึ่ง.
“ศาสนาหยั่งรากลึกในธรรมชาติของมนุษย์และความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ในทุกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและภูมิหลังทางการศึกษา.” นี่เป็นข้อสรุปของงานวิจัยที่ศาสตราจารย์อะลิซเตอร์ ฮาร์ดี เสนอในหนังสือธรรมชาติของความคิดจิตใจมนุษย์ (ภาษาอังกฤษ). ข้อสรุปนั้นยืนยันสิ่งที่การศึกษาวิจัยอื่น ๆ มากมายยอมรับนั่นคือ มนุษย์สำนึกถึงพระเจ้าตั้งแต่เกิด. แม้ว่ามีบางคนอาจเป็นนักอเทวนิยม แต่ก็ไม่ใช่ทั้งชาติ. หนังสือพระเจ้าคือความเป็นจริงอย่างเดียวหรือ? (ภาษาอังกฤษ) ตั้งข้อสังเกตว่า “การแสวงหาทางศาสนาเพื่อจะหาความหมาย . . . เป็นประสบการณ์ที่พบเห็นทั่วไปในทุกวัฒนธรรมและในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่มีมนุษยชาติเกิดขึ้น.”
ความสำนึกในเรื่องพระเจ้าที่ดูเหมือนมีมาแต่กำเนิดนี้มาจากไหน? หากมนุษย์เป็นเพียงแต่การรวมตัวกันโดยบังเอิญของกรดนิวคลิอิกและโมเลกุลโปรตีน ทำไมโมเลกุลเหล่านี้จึงพัฒนาความรักในศิลปะและความงาม, ความเชื่อในศาสนา, และการคิดใคร่ครวญเรื่องนิรันดรกาล?
เซอร์จอห์น เอคเคิลส์สรุปว่า คำอธิบายทางทฤษฎีวิวัฒนาการเรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์ “ล้มเหลวในแง่มุมที่สำคัญที่สุด. วิวัฒนาการไม่สามารถอธิบายเรื่องการดำรงอยู่ของเราแต่ละคนในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกถึงสภาวะการเป็นอยู่ของตนเองที่ไม่มีใดเหมือน.” ยิ่งเราเรียนเกี่ยวกับการทำงานของสมองและจิตใจของเรามากเท่าใด ก็ยิ่งง่ายขึ้นที่จะเข้าใจว่าทำไมผู้คนหลายล้านคนได้สรุปว่าการที่มนุษย์มีจิตสำนึกเป็นข้อพิสูจน์ว่ามีพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยในตัวเรา.
ในบทถัดไป เราจะได้เข้าใจว่าทำไมผู้คนจากทุกวงการจึงพบว่าข้อสรุปที่สมเหตุผลนี้วางพื้นฐานไว้สำหรับการพบคำตอบที่จุใจสำหรับคำถามที่สำคัญที่สุดที่ว่า ทำไมเราอยู่ที่นี่, และเรากำลังจะไปที่ไหน?
[กรอบหน้า 51]
แชมป์หมากรุกปะทะคอมพิวเตอร์
เมื่อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ชื่อ ดีป บลู เอาชนะแชมป์หมากรุกโลกได้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “เราจะไม่ถูกบังคับให้ลงความเห็นหรือว่า ดีป บลูต้องมีจิตใจ?”
ศาสตราจารย์เดวิด เกเลิร์นเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเยลตอบว่า “ไม่. ดีป บลูเป็นเพียงเครื่องจักร. มันไม่มีจิตใจมากไปกว่ากระถางต้นไม้อันหนึ่ง. . . . นัยสำคัญในเรื่องนี้คือ มนุษย์เป็นผู้ชนะเลิศในการสร้างเครื่องจักร.”
ศาสตราจารย์เกเลิร์นเตอร์ชี้ถึงความแตกต่างสำคัญนี้ว่า “สมองเป็นเครื่องจักรที่สามารถสร้าง ‘ความสำนึกรู้ตัว.’ สมองสามารถสร้างโลกแห่งจินตนาการ คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้.”
เขาสรุปว่า “ช่องว่างระหว่างมนุษย์และ [คอมพิวเตอร์] นั้นมีอยู่ถาวรและจะไม่มีวันหมดไป. เครื่องจักรจะยังคงทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น, สุขภาพดีขึ้น, น่าสนใจมากขึ้นและน่าฉงนมากขึ้น. และมนุษย์จะยังคงสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสิ่งเดียวที่พวกเขาสนใจตลอดมาคือ สนใจตนเอง, สนใจกันและกัน, และสำหรับหลายคน สนใจในพระเจ้า. ในแง่มุมเหล่านี้ เครื่องจักรไม่เคยทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไป. และจะไม่มีวันทำได้.”
[กรอบหน้า 53]
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เทียบเท่ากับหอยทาก
“คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเทียบไม่ได้เลยแม้แต่กับมนุษย์อายุ 4 ขวบในความสามารถด้านการมองเห็น, การพูด, การเคลื่อนไหว, หรือการใช้สามัญสำนึก. แน่ล่ะ สาเหตุหนึ่งคือความสามารถในการคำนวณ. ประมาณกันว่า ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลแม้แต่ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น เทียบได้กับระบบประสาทของหอยทากเท่านั้น—ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวของพลังความสามารถที่มีอยู่ในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ [ของเรา].”—สตีเวน พิงเกอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิท-ยาศาสตร์ด้านระบบประสาทรับรู้ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์.
[กรอบหน้า 54]
“สมองของมนุษย์ประกอบด้วย [ซีรีบรัล] คอร์เทกซ์เกือบทั้งหมด. ตัวอย่างเช่นสมองของลิงชิมแปนซีก็มีคอร์เทกซ์ด้วย แต่ในสัดส่วนที่เล็กกว่ามาก. คอร์เทกซ์ทำให้เราสามารถคิด, จำ, สร้างจินตนาการ. โดยแท้แล้ว เราเป็นมนุษย์ก็เพราะคอร์เทกซ์ของเรา.”—เอโดอาร์โด บอนชีเนลลี ผู้อำนวยการงานวิจัยชีววิทยาระดับโมเลกุล เมืองมิลาน อิตาลี.
[กรอบหน้า 55]
จากฟิสิกส์ของอนุภาคจนถึงสมองของคุณ
ศาสตราจารย์พอล เดวีส์แสดงความคิดเห็นเรื่องความสามารถของสมองในการจัดการกับคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม. “คณิตศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะพบได้ทั่วไป. มันเกิดจากจิตใจมนุษย์. กระนั้น หากเราถามว่า จะประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ได้ดีที่สุดในทางไหน นั่นก็คือในฟิสิกส์ของอนุภาคและดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลยแม้แต่น้อย.” ข้อเท็จจริงนี้บ่งถึงอะไร? “สำหรับผม มันบ่งชี้ว่าจิตสำนึกและความสามารถของเราในการคำนวณไม่ได้มีขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ใช่ส่วนปลีกย่อยที่ไม่มีความหมาย ไม่ใช่ผลพลอยได้ที่ไม่มีความสำคัญจากวิวัฒนาการ.”—หนังสือชื่อเราอยู่เพียงลำพังไหม? (ภาษาอังกฤษ)
[กรอบ/รูปภาพหน้า 56, 57]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
มอเตอร์คอร์เทกซ์
สมองกลีบหน้า
พรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์
บริเวณโบรคา
บริเวณเวอร์นิเค
● ซีรีบรัลคอร์เทกซ์คือส่วนพื้นผิวของสมองที่เกี่ยวข้องกับเชาวน์ปัญญามากที่สุด. หากแผ่ซีรีบรัลคอร์เทกซ์ของมนุษย์ออก ก็จะมีขนาดเท่ากับกระดาษพิมพ์ดีดสี่แผ่น; สมองส่วนนี้ของลิงชิมแปนซีจะมีขนาดเท่ากับกระดาษหนึ่งแผ่นเท่านั้น; ส่วนของหนูก็จะเท่ากับแสตมป์ดวงหนึ่ง.—ไซเยนติฟิก อเมริกัน.
[กรอบหน้า 58]
ทุกคนต่างก็มี
ตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อใดก็ตามที่คนกลุ่มหนึ่งพบกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่มต่างก็พบว่าอีกกลุ่มหนึ่งมีภาษาพูด. หนังสือสัญชาตญาณทางภาษา (ภาษาอังกฤษ) ให้ความเห็นว่า “ไม่เคยมีการพบเผ่าใบ้เลย และไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีภูมิภาคใดเป็น ‘แหล่งกำเนิด’ ของภาษาพูด ซึ่งจากที่นั่นภาษาได้แพร่ไปถึงกลุ่มที่ไม่มีภาษามาก่อน. . . . การที่มีภาษาอันซับซ้อนอยู่ทุกหนแห่งเป็นการค้นพบที่ทำให้นักภาษาศาสตร์ตะลึง และเป็นเหตุผลประการแรกที่จะเชื่อว่า ภาษาเป็น . . . ผลจากสัญชาตญาณพิเศษของมนุษย์.”
[กรอบหน้า 59]
ภาษาและเชาวน์ปัญญา
ทำไมเชาวน์ปัญญาของมนุษย์จึงเหนือกว่าสัตว์อย่างเช่นลิงมากนัก? สาเหตุสำคัญก็คือเราใช้โครงสร้างประโยคซึ่งก็คือ การนำเสียงต่าง ๆ มารวมกันเพื่อสร้างคำและนำคำต่าง ๆ มาสร้างเป็นประโยค. ดร. วิลเลียม เอช. แคลวิน นักสรีรวิทยาทางประสาททฤษฎีอธิบายว่า
“ลิงชิมแปนซีป่าใช้ประมาณสามสิบกว่าเสียงเพื่อถ่ายทอดประมาณสามสิบกว่าความหมาย. มันอาจจะออกเสียงซ้ำ ๆ เพื่อเน้นความหมาย แต่มันไม่เคยเอาสามเสียงมาประกอบกันเพื่อสร้างคำใหม่ในคำศัพท์ของมัน.
“คนเราใช้ประมาณสามสิบกว่าเสียงเช่นกัน ที่เรียกว่าปัจจัยเสียง. กระนั้น เฉพาะเมื่อผสมเสียงเหล่านี้เข้าด้วยกันเท่านั้นจึงจะมีความหมาย กล่าวคือ เราผูกเสียงต่าง ๆ ที่ไม่มีความหมายรวมกันเป็นคำที่มีความหมาย.” ดร. แคลวินสังเกตว่า “ยังไม่มีใครอธิบาย” เรื่องการกระโดดข้ามจาก “หนึ่งเสียง/หนึ่งความหมาย” ของสัตว์ ไปเป็นความสามารถอันไม่มีใดเหมือนของมนุษย์เราในการใช้โครงสร้างประโยค.
[กรอบหน้า 60]
คุณสามารถเขียนได้มากกว่าเส้นขยุกขยิก
“มนุษย์ หรือโฮโม ซาเปียน เท่านั้นไหมที่มีความสามารถในการสื่อสารโดยภาษา? เห็นได้ชัดว่าคำตอบขึ้นอยู่กับว่า ‘ภาษา’ หมายถึงอะไร—เพราะสัตว์ชั้นสูงทั้งมวลย่อมสื่อสารกันด้วยสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ เช่น ท่าทาง, กลิ่น, เสียงกู่ร้อง, และเสียงร้องเป็นเพลง, และกระทั่งการเต้นของผึ้ง. กระนั้น สัตว์อื่น ๆ นอกจากมนุษย์ไม่ปรากฏว่ามีภาษาที่มีโครงสร้างทางไวยากรณ์. และที่อาจถือว่าสำคัญยิ่งก็คือสัตว์ไม่วาดรูปเชิงศิลปะ. อย่างดีมันก็เขียนได้แค่เส้นขยุกขยิก.”—ศาสตราจารย์ อาร์. เอส. และ ดี. เอช. เฟาตส์.
[กรอบหน้า 61]
ศาสตราจารย์ เอ. โนอัม ชอมสกี กล่าวว่า “เมื่อเราหันไปดูจิตใจมนุษย์ เราก็พบโครงสร้างที่ละเอียดของความซับซ้อนอันมหัศจรรย์เช่นกัน. ภาษาเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่สิ่งเดียว. ลองคิดถึงความสามารถในการใช้แนวคิดที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับระบบตัวเลข [ซึ่งดูเหมือนว่า] มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้.”
[กรอบหน้า 62]
“ความสามารถตามธรรมชาติ” ที่จะถาม
นักฟิสิกส์ ลอว์เรนซ์ เคราส์ เขียนเกี่ยวกับอนาคตของเอกภพของเราว่า “เรากล้าที่จะถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราอาจไม่เคยเห็นโดยตรงเพราะเรามีความสามารถ ที่จะถาม. สักวันหนึ่งลูกของเรา หรือลูกของลูกเรา ก็จะตอบคำถามเหล่านั้น. เราเกิดมาพร้อมด้วยความสามารถตามธรรมชาติที่จะสร้างจินตนาการ.”
[กรอบหน้า 69]
ถ้าเอกภพและการที่เรามีชีวิตอยู่ในเอกภพนี้เป็นความบังเอิญ ชีวิตของเราก็ไม่อาจมีความหมายที่ยืนนาน ได้. แต่ถ้าชีวิตของเราในเอกภพเกิดจากการออกแบบ ก็จะต้องมีความหมายที่น่าพอใจ.
[กรอบหน้า 72]
เกิดจากการวิ่งหนีเสือเขี้ยวดาบหรือ?
จอห์น พอลกิงฮอร์น แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า
“นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อ พอล ดิแรก ค้นพบบางสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎีสนามควอนตัมซึ่งเป็นพื้นฐานของความเข้าใจในโลกฟิสิกส์. ผมไม่เชื่อว่าความสามารถของดิแรกในการค้นพบทฤษฎีนั้น หรือความสามารถของไอน์สไตน์ในการค้นพบทฤษฎีทั่วไปแห่งสัมพัทธภาพ เป็นผลมาจากการที่บรรพบุรุษของเราต้องวิ่งหนีเสือเขี้ยวดาบ. มีบางสิ่งที่ลึกซึ้งกว่า ลึกลับกว่า กำลังดำเนินอยู่. . . .
“เมื่อเรามองดูระเบียบอันมีเหตุมีผลและความงามที่เห็นได้ชัดของโลกทางกายภาพ ซึ่งเผยออกมาโดยวิทยาศาสตร์กายภาพ เราเห็นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่บ่งบอกถึงเชาวน์ปัญญา. สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในศาสนา นั่นคือเชาวน์ปัญญาของพระผู้สร้างที่อาจเห็นได้ในวิธีนั้น.”—คอมมอนวีล.
[รูปภาพหน้า 63]
มนุษย์เท่านั้นที่ตั้งคำถาม. บางคำถามเกี่ยวข้องกับความหมายของชีวิต
[รูปภาพหน้า 64]
ไม่เหมือนสัตว์ มนุษย์มีความสำนึกรู้จักตัวเองและคิดถึงอนาคต
[รูปภาพหน้า 70]
มนุษย์เท่านั้นที่หยั่งรู้ค่าความงาม, คิดเกี่ยวกับอนาคต, และถูกดึงดูดให้เข้าหาพระผู้สร้าง