ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
เหมาะสมไหมที่จะเรียกผู้อื่นด้วยคำระบุตำแหน่งเพื่อเป็นการให้เกียรติ?
เมื่อคริสเตียนในศตวรรษแรกดำเนินชีวิตประจำวันและประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า พวกเขาได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายคน บ้างก็มีตำแหน่งเล็กบ้างก็มีตำแหน่งใหญ่โต. ในท่ามกลางพวกเขา สาวกของพระเยซูไม่ได้ใช้ตำแหน่งเพื่อแบ่งแยกฐานะหรือสถานภาพของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดามากที่ผู้คนจะเรียกผู้มีอำนาจเหนือเพื่อนมนุษย์ตามตำแหน่งของพวกเขา. มีการกล่าวถึงผู้ครอบครองจักรวรรดิโรมันว่าเป็น “องค์จักรพรรดิ.”—กิจการ 25:21.
ดังนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่บ้านเมือง สาวกของพระเยซูมองเรื่องการใช้ตำแหน่งเพื่อเป็นการให้เกียรติอย่างไร? พวกเราควรมองดูเรื่องนี้อย่างไร?
การให้เกียรติหาใช่การเห็นชอบ
อัครสาวกเปาโลแนะนำเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ . . . ให้เกียรติผู้ที่เรียกร้องให้พวกท่านให้เกียรติเขา.” (โรม 13:7) นี่รวมถึงการเรียกพวกเจ้าหน้าที่ตามตำแหน่งของเขา. ปัจจุบันก็ถือว่าเป็นธรรมเนียมเช่นกันที่จะใช้คำต่าง ๆ อย่างเช่น ท่านที่เคารพ และท่านผู้มีเกียรติ เพื่อเรียกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ดำรงตำแหน่งสูง. แต่บางคนอาจถามว่า ‘ฉันจะเรียกเขาแบบนั้นได้อย่างไร หากฉันสงสัยว่าความประพฤติของเขาไม่ได้น่านับถือหรือน่าให้เกียรติเลย?’
เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายคนทำหน้าที่ของตนอย่างที่สำนึกถึงความรับผิดชอบ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำให้เราเชื่อมั่นเช่นนั้นได้. ถึงกระนั้น คัมภีร์ไบเบิลก็ยังเตือนเราให้ยอมอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์และเจ้าหน้าที่บ้านเมือง “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 เปโตร 2:13, 14) ดังนั้น การที่รู้ว่าพระเจ้าทรงอนุญาตให้ใครคนหนึ่งดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจ ก็น่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความนับถือและให้เกียรติเขาตามที่เขาสมควรจะได้รับ.—โรม 13:1.
ความประพฤติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นประเด็นของเรื่องนี้. เหตุผลที่ควรให้เกียรติไม่ใช่เพราะเรื่องความประพฤติ. การเรียกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งด้วยตำแหน่งที่เป็นการให้เกียรติเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นชอบกับความประพฤติของเขา. เรื่องนี้เห็นได้จากเหตุการณ์ช่วงหนึ่งในชีวิตของอัครสาวกเปาโล.
วิธีที่เปาโลใช้คำระบุตำแหน่ง
อัครสาวกเปาโลถูกจับในกรุงเยรูซาเลมด้วยการตั้งข้อกล่าวหาเท็จ และท่านถูกนำตัวไปให้การต่อหน้าเฟลิกซ์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลยูเดีย. เฟลิกซ์หาได้เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เป็นแบบอย่างที่ดีไม่. ทาซิทุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันเขียนว่า เฟลิกซ์ “คิดว่าตนสามารถกระทำการชั่วอย่างไม่สะทกสะท้าน.” เขาสนใจเรื่องที่จะได้รับสินบนยิ่งกว่าเรื่องการรักษาความยุติธรรม. ถึงกระนั้น ระหว่างที่เปาโลถูกคุมขังสองปี ท่านได้แสดงความนับถือต่อผู้สำเร็จราชการคนนี้ และบุรุษสองคนนี้ก็ได้พูดคุยกันบ่อยครั้ง โดยที่เฟลิกซ์หวังว่าจะได้รับสินบน ซึ่งก็ไม่เคยได้รับเลย ส่วนเปาโลก็ใช้โอกาสนั้นเพื่อการประกาศเผยแพร่.—กิจการ 24:26.
เมื่อเฟสตุสรับตำแหน่งต่อจากเฟลิกซ์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลยูเดียคนใหม่นี้ได้ยินเกี่ยวกับคดีของเปาโลที่ซีซาเรีย. เพื่อจะเอาอกเอาใจพวกผู้นำชาวยิว เฟสตุสได้แนะให้นำตัวเปาโลไปดำเนินคดีที่กรุงเยรูซาเลม. แต่เปาโลรู้ว่าท่านจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหากถูกดำเนินคดีที่นั่น ดังนั้น ท่านจึงฉวยประโยชน์จากการที่ท่านมีสัญชาติโรมัน โดยประกาศว่า “ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ต่อซีซาร์!”—กิจการ 25:11.
เฟสตุสไม่แน่ใจว่าจะอธิบายต่อซีซาร์อย่างไรเกี่ยวกับข้อต่าง ๆ ที่มีการกล่าวหาเปาโล แต่โอกาสก็มาถึงเมื่อกษัตริย์อะกริปปาที่สองได้มาเยี่ยมเฟสตุส และแสดงความสนใจในคดีนี้. วันรุ่งขึ้น กษัตริย์ที่เสด็จมาอย่างโอ่อ่าหรูหราพร้อมกับพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญ ๆ ทั้งหลายในเมืองนั้นก็เข้าไปในท้องพระโรง.—กิจการ 25:13-23.
เมื่อได้รับอนุญาตให้แก้คดีให้ตัวเอง เปาโลใช้คำว่า “ข้าแต่กษัตริย์” เมื่อเรียกอะกริปปาในคำพูดเกริ่นนำของท่าน และได้ยอมรับว่าอะกริปปามีความเชี่ยวชาญในเรื่องธรรมเนียมต่าง ๆ และข้อขัดแย้งทั้งหลายท่ามกลางชาวยิว. (กิจการ 26:2, 3) ในตอนนั้น เป็นที่เลื่องลือว่าอะกริปปามีความสัมพันธ์ที่อื้อฉาวกับพระขนิษฐาของตน. แน่นอนว่าเปาโลรู้เรื่องชื่อเสียงที่ฉาวโฉ่ของอะกริปปาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างผิดศีลธรรม. ทว่า เปาโลก็ให้เกียรติอะกริปปาอย่างที่กษัตริย์พึงได้รับ.
ระหว่างที่เปาโลกำลังพูดแก้คดีอยู่ เฟสตุสก็ร้องขึ้นมาว่า “เปาโล เจ้าเสียสติไปแล้ว!” แทนที่จะรู้สึกโกรธ เปาโลกลับตอบด้วยท่าทีที่สงบ และเรียกผู้สำเร็จราชการคนนั้นว่า “ท่านเฟสตุสที่เคารพ.” (กิจการ 26:24, 25) เปาโลแสดงว่าท่านให้เกียรติเขาอย่างที่เหมาะสมกับตำแหน่งของเขา. อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การให้เกียรติเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรมีขอบเขตไหม?
การให้เกียรติอย่างมีขอบเขต
อำนาจด้านการปกครองเป็นอำนาจที่มีขอบเขต ดังที่มีการบ่งชี้ในโรม 13:1 ซึ่งกล่าวว่า “ผู้มีอำนาจปกครองนั้นอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” ด้วยเหตุนี้ การให้เกียรติแก่ตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจึงมีขอบเขตด้วย. พระเยซูทรงวางข้อจำกัดเรื่องการให้เกียรติแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับ เมื่อพระองค์ตรัสกับเหล่าอัครสาวกว่า “อย่าให้ผู้อื่นเรียกเจ้าว่า ‘อาจารย์’ เพราะเจ้าทั้งหลายมีอาจารย์เพียงผู้เดียว และพวกเจ้าทุกคนเป็นพี่น้องกัน. อย่าเรียกผู้ใดบนแผ่นดินโลกว่า ‘บิดา’ เพราะเจ้าทั้งหลายมีพระบิดาแต่องค์เดียวผู้สถิตในสวรรค์. ทั้งอย่าให้ผู้อื่นเรียกเจ้าว่า ‘ผู้นำ’ เพราะเจ้าทั้งหลายมีผู้นำแต่ผู้เดียวคือพระคริสต์.”—มัดธาย 23:8-10.
ดังนั้น สิ่งที่กำหนดว่าจะให้เกียรติอย่างเหมาะสมได้ถึงขอบเขตไหนจึงขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างตำแหน่งทางศาสนากับตำแหน่งทางโลก. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับตำแหน่งทางศาสนา คำแนะนำที่เปาโลบอกว่าควรให้เกียรติแก่พวกเขานั้นก็คงจะไม่ได้รวมไปถึงการเรียกพวกเขาด้วยตำแหน่งทางศาสนา. คนที่ทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์จะปฏิบัติต่อพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างที่ให้เกียรติ. อย่างไรก็ตาม สติรู้สึกผิดชอบของเขาที่ได้รับการอบรมตามหลักพระคัมภีร์คงจะกระตุ้นเตือนเขาไม่ให้เรียกคนเหล่านั้นด้วยตำแหน่งทางศาสนาใด ๆ เนื่องจากเขามีพันธะที่จะต้อง ‘คืนของของพระเจ้าให้พระเจ้า.’—มัดธาย 22:21.
คุณเคยสงสัยไหม?
◼ สาวกของพระเยซูมีทัศนะเช่นไรต่อผู้มีอำนาจฝ่ายโลก?—โรม 13:7.
◼ อัครสาวกเปาโลเรียกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วยคำระบุตำแหน่งเพื่อให้เกียรติพวกเขาอย่างไร?—กิจการ 25:11; 26:2, 25.
◼ พระเยซูไม่เห็นชอบกับการใช้คำระบุตำแหน่งอะไรบ้าง?—มัดธาย 23:8-10.
[ภาพหน้า 20, 21]
เปาโลเรียกอะกริปปาอย่างไร?