จงสะท้อนเจตคติของพระคริสต์
“ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีเจตคติอย่างเดียวกันในท่ามกลางพวกท่านเหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.”—โรม 15:5, ล.ม.
1. ชีวิตของคนเราอาจได้รับผลกระทบจากเจตคติของตนเองอย่างไร?
เจตคติก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมากในชีวิต. เจตคติแบบเมินเฉยหรือขยันขันแข็ง, เจตคติในแง่บวกหรือแง่ลบ, เจตคติแบบมุ่งร้ายหรือให้ความร่วมมือ, เจตคติแบบที่ชอบบ่นหรือหยั่งรู้ค่า อาจก่อผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่คนเรารับมือสถานการณ์และวิธีที่คนอื่น ๆ แสดงปฏิกิริยาต่อเขา. ด้วยเจตคติที่ดี คนเราสามารถมีความสุขแม้แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก. สำหรับคนที่มีเจตคติไม่ดี ไม่มีอะไรที่ดูเหมือนว่าถูกต้องแม้แต่เมื่อชีวิตอยู่ในสภาพที่ดี—เมื่อมองอย่างไม่มีอคติ.
2. คนเราเรียนรู้เจตคติโดยวิธีใด?
2 เจตคติ—ไม่ว่าดีหรือไม่ดี—อาจเรียนรู้กันได้. ที่จริง เจตคติเกิดจากการเรียนรู้. ในการกล่าวถึงเด็กแรกเกิด คอลเลียส์ เอนไซโคลพีเดีย กล่าวดังนี้: “ในที่สุดเขาจะมีเจตคติอย่างไรนั้น เขาต้องเรียนรู้เพื่อจะได้มา ค่อนข้างจะคล้ายกันกับที่เขาเรียนรู้ด้านภาษาและได้มาซึ่งความชำนาญอื่นใด.” เราเรียนรู้เจตคติโดยวิธีใด? ในขณะที่หลายสิ่งมีบทบาทสำคัญ สิ่งแวดล้อมและการคบหาสมาคมมีผลกระทบอย่างมาก. สารานุกรมดังกล่าวชี้ว่า “เราเรียนรู้หรือซึมซับ ราวกับโดยการค่อย ๆ ซึมซับเจตคติของคนที่เราคบหาอย่างใกล้ชิด.” หลายพันปีมาแล้ว คัมภีร์ไบเบิลกล่าวคล้าย ๆ กันว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.”—สุภาษิต 13:20, ล.ม.; 1 โกรินโธ 15:33.
แบบอย่างสำหรับเจตคติที่ถูกต้อง
3. ใครเป็นแบบอย่างในเรื่องเจตคติ และเราจะเลียนแบบพระองค์ได้อย่างไร?
3 เช่นเดียวกับในเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมด พระเยซูคริสต์ทรงวางแบบอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องเจตคติ. พระองค์ตรัสว่า “เราได้วางแบบอย่างให้เจ้าทั้งหลายแล้ว เพื่อให้เจ้าทำเหมือนที่เราได้กระทำแก่เจ้านั้นด้วย.” (โยฮัน 13:15, ล.ม.) เพื่อจะเป็นเหมือนพระเยซู ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์.a เราศึกษาชีวิตของพระเยซูโดยมีเป้าหมายที่จะทำอย่างที่อัครสาวกเปโตรแนะนำไว้ว่า “ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) เป้าประสงค์ของเราคือการเป็นเหมือนกับพระเยซูเท่าที่จะเป็นไปได้. นั่นรวมไปถึงการปลูกฝังเจตคติแบบเดียวกับที่พระองค์ทรงมี.
4, 5. โรม 15:1-3 เน้นถึงแง่ใดแห่งเจตคติของพระเยซู และคริสเตียนจะเลียนแบบพระองค์ได้โดยวิธีใด?
4 การมีเจตคติแบบพระคริสต์เยซูเกี่ยวข้องกับอะไร? บท 15 ของจดหมายของเปาโลซึ่งเขียนถึงคริสเตียนที่อยู่ในกรุงโรมช่วยเราให้ตอบคำถามนี้. ในสองสามข้อแรกของบทนี้ เปาโลกล่าวถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นของพระเยซูเมื่อท่านกล่าวว่า “แต่เราซึ่งเป็นคนที่เข้มแข็ง ก็ควรจะทนรับความอ่อนแอต่าง ๆ ของคนที่ไม่เข้มแข็ง และไม่ควรทำตามที่ตัวเองชอบใจ. จงให้เราแต่ละคนทำให้เพื่อนบ้านของตนได้รับความชอบใจด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อการเสริมสร้างเขาขึ้น. เพราะแม้แต่พระคริสต์ก็มิได้กระทำตามชอบพระทัยของพระองค์; แต่ดังที่เขียนไว้ว่า ‘คำตำหนิของคนเหล่านั้นที่ตำหนิพระองค์ได้ตกอยู่บนข้าพเจ้า.’ ”—โรม 15:1-3, ล.ม.
5 ด้วยการเลียนแบบเจตคติของพระเยซู คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้อยู่พร้อมที่จะรับใช้เพื่อสนองความจำเป็นของผู้อื่นด้วยใจถ่อม แทนที่จะปรารถนาเฉพาะแต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองพอใจเท่านั้น. จริงทีเดียว ความเต็มใจด้วยใจถ่อมที่จะรับใช้ผู้อื่นเช่นนั้นแหละเป็นลักษณะของคนที่ “เข้มแข็ง.” พระเยซูผู้ทรงเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณยิ่งกว่ามนุษย์คนใด ๆ ที่เคยมีชีวิตอยู่ตรัสถึงพระองค์เองดังนี้: “บุตรมนุษย์เสด็จมา มิใช่เพื่อให้เขารับใช้ แต่เพื่อจะรับใช้ และเพื่อประทานจิตวิญญาณของท่านเป็นค่าไถ่เพื่อแลกกับคนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28, ล.ม.) ในฐานะคริสเตียน เราก็เช่นกันปรารถนาจะเอื้อมแขนออกไปเพื่อรับใช้ผู้อื่น รวมทั้ง “คนที่ไม่เข้มแข็ง.”
6. เราจะเลียนแบบปฏิกิริยาของพระเยซูต่อการต่อต้านและคำตำหนิได้ในทางใด?
6 ลักษณะที่ดีอีกประการหนึ่งซึ่งพระเยซูทรงแสดงคือแบบแผนความคิดและการกระทำที่เป็นในแง่เสริมสร้างเสมอ. พระองค์ไม่เคยปล่อยให้เจตคติในแง่ลบของผู้อื่นมีอิทธิพลต่อเจตคติที่ดีของพระองค์เองในการรับใช้พระเจ้า; เราก็ควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย. เมื่อถูกตำหนิและกดขี่เนื่องด้วยการนมัสการพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ พระเยซูทรงอดทนอย่างยิ่งโดยไม่บ่น. พระองค์ทรงทราบว่า คนที่พยายามจะทำให้เพื่อนบ้านชอบใจ “ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อการเสริมสร้างเขาขึ้น” สามารถคาดหมายได้เลยถึงการต่อต้านจากโลกที่ไม่เชื่อและไม่เข้าใจ.
7. พระเยซูทรงแสดงความอดทนอย่างไร และเหตุใดเราควรทำอย่างเดียวกัน?
7 พระเยซูทรงแสดงออกซึ่งเจตคติที่ถูกต้องในทางอื่น ๆ ด้วย. พระองค์ไม่เคยแสดงถึงการขาดความอดทนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระยะโฮวา แต่ว่าทรงคอยอย่างอดทนให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จลุล่วง. (บทเพลงสรรเสริญ 110:1; มัดธาย 24:36; กิจการ 2:32-36; เฮ็บราย 10:12, 13) ยิ่งกว่านั้น พระเยซูไม่เคยขาดความอดทนกับเหล่าสาวก. พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า ‘จงเรียนจากเรา’; เนื่องจากพระองค์ทรง “มีจิตใจอ่อนโยน” คำสั่งสอนของพระองค์จึงเป็นที่เสริมสร้างและทำให้สดชื่น. และเนื่องจากพระองค์ทรงมี “หัวใจถ่อม” พระองค์ไม่เคยคุยเขื่องหรือแสดงความถือดี. (มัดธาย 11:29, ล.ม.) เปาโลสนับสนุนเราให้เลียนแบบแง่มุมเหล่านี้ของเจตคติของพระเยซูเมื่อท่านกล่าวว่า “จงรักษาเจตคติอย่างนี้ไว้ในตัวท่านซึ่งเจตคติอย่างนี้ก็มีอยู่ในพระคริสต์เยซูด้วย ผู้ซึ่งถึงแม้พระองค์ได้ดำรงอยู่ในลักษณะของพระเจ้าก็ตาม ไม่คิดจะแย่งชิง กล่าวคือการที่พระองค์จะได้เท่าเทียมกับพระเจ้า. เปล่าเลย แต่พระองค์ทรงสละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาสและมาเป็นอย่างมนุษย์.”—ฟิลิปปอย 2:5-7, ล.ม.
8, 9. (ก) เหตุใดเราต้องพยายามปลูกฝังเจตคติที่ไม่เห็นแก่ตัว? (ข) เหตุใดเราไม่ควรท้อใจหากเราบกพร่องในการทำตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้ และเปาโลวางตัวอย่างที่ดีอย่างไรในเรื่องนี้?
8 เป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวว่า เราปรารถนาจะรับใช้ผู้อื่นและเอาใจใส่สิ่งที่พวกเขาจำเป็นก่อนความจำเป็นของตัวเราเอง. แต่การตรวจสอบเจตคติของเราอย่างจริงใจอาจเผยว่า หัวใจเราไม่ได้มีแนวโน้มแบบนั้นอย่างเต็มที่. เพราะเหตุใด? ประการแรก เพราะเราได้รับลักษณะนิสัยที่เห็นแก่ตัวจากอาดามและฮาวา; ประการที่สอง เพราะเราอยู่ในโลกที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว. (เอเฟโซ 4:17, 18) เพื่อจะพัฒนาเจตคติที่ไม่เห็นแก่ตัว บ่อยครั้งนั่นหมายถึงการปลูกฝังแบบแผนความคิดที่ตรงกันข้ามกับลักษณะอันไม่สมบูรณ์ที่ติดตัวเรามาแต่เกิด. นั่นย่อมต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวและความพยายาม.
9 ความไม่สมบูรณ์ที่เห็นได้ชัดของเรา ซึ่งต่างกันมากกับแบบอย่างอันสมบูรณ์ที่พระเยซูทรงวางไว้ให้เรา อาจทำให้เราท้อใจได้ในบางครั้ง. เราอาจนึกสงสัยว่า การมีเจตคติแบบพระเยซูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่เสียด้วยซ้ำ. แต่ขอให้สังเกตถ้อยคำที่ให้กำลังใจของเปาโลที่ว่า “ในตัวข้าพเจ้า คือในเนื้อหนังของข้าพเจ้า ไม่มีความดีประการใดเลย เพราะว่าเจตนาดีของข้าพเจ้าก็มีอยู่, แต่ซึ่งจะกระทำการดีนั้นข้าพเจ้าหาได้กระทำไม่. ด้วยว่าการดีนั้นซึ่งข้าพเจ้าปรารถนาทำข้าพเจ้าไม่ได้กระทำ, แต่การชั่วซึ่งข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาทำข้าพเจ้ายังทำอยู่. เพราะว่าฝ่ายจิตต์ใจของข้าพเจ้าก็มีความเห็นชอบในพระบัญญัติแห่งพระเจ้า. แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎธรรมดาอีกอย่างหนึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า, ซึ่งสู้รบกันกับกฎธรรมดาซึ่งอยู่ในใจข้าพเจ้า, และชักนำข้าพเจ้าให้อยู่ใต้บังคับกฎธรรมดาความผิดซึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า.” (โรม 7:18, 19, 22, 23) จริงอยู่ ความไม่สมบูรณ์ของเปาโลขัดขวางท่านครั้งแล้วครั้งเล่าจากการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนาจะทำ แต่เจตคติของท่าน—วิธีที่ท่านคิดและรู้สึกเกี่ยวกับพระยะโฮวาและกฎหมายของพระองค์—เป็นแบบอย่างที่ดี. เราสามารถมีเจตคติแบบนั้นได้ด้วย.
แก้ไขเจตคติที่บกพร่อง
10. เปาโลสนับสนุนชาวฟิลิปปอยให้ปลูกฝังเจตคติเช่นไร?
10 เป็นไปได้ไหมที่บางคนจำเป็นต้องแก้ไขเจตคติที่บกพร่อง? เป็นไปได้. ดูเหมือนว่าเป็นจริงเช่นนี้กับคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรก. ในจดหมายที่เขียนถึงชาวฟิลิปปอย เปาโลกล่าวถึงการมีเจตคติที่ถูกต้อง. ท่านเขียนว่า “ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าได้รับ [ชีวิตทางภาคสวรรค์โดยการกลับเป็นขึ้นจากตายรุ่นแรก] แล้วหรือถูกทำให้สมบูรณ์แล้ว แต่ข้าพเจ้ากำลังติดตามเพื่อดูว่าข้าพเจ้าจะฉวยเอาสิ่งนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งข้าพเจ้าก็ถูกพระคริสต์เยซูฉวยไว้เพื่อสิ่งนั้นด้วย. พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ายังไม่ถือว่าข้าพเจ้าเองได้ฉวยสิ่งนั้นไว้แล้ว; แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้อง: คือโดยลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้ากำลังบากบั่นมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อจะได้รางวัลซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้ขึ้นไปโดยทางพระคริสต์เยซู. เหตุฉะนั้น ให้เราทั้งหลายทุกคนที่เป็นผู้อาวุโสแล้วมีเจตคติอย่างนี้.”—ฟิลิปปอย 3:12-15, ล.ม.
11, 12. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยเกี่ยวกับเจตคติที่ถูกต้องแก่เราอย่างไร?
11 คำกล่าวของเปาโลแสดงว่าใครก็ตามที่ได้มาเป็นคริสเตียนแล้ว แต่ไม่รู้สำนึกถึงความจำเป็นที่จะทำความก้าวหน้า คนนั้นมีเจตคติที่ไม่ถูกต้อง. เขาไม่ได้รับเอาเจตคติของพระคริสต์มาใช้. (เฮ็บราย 4:11; 2 เปโตร 1:10; 3:14) สถานการณ์ของคนเช่นนั้นไม่มีทางเยียวยาไหม? เปล่าเลย. พระเจ้าทรงช่วยเราได้ให้เปลี่ยนแปลงเจตคติของเรา หากเราปรารถนาจะเปลี่ยนจริง ๆ. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “หากท่านมีแนวโน้มทางใจเป็นอย่างอื่นไม่ว่าอย่างใดก็ตาม พระเจ้าจะทรงเปิดเผยเจตคติดังกล่าวให้ท่าน.”—ฟิลิปปอย 3:15, ล.ม.
12 อย่างไรก็ตาม หากเราปรารถนาให้พระยะโฮวาเปิดเผยเจตคติที่ถูกต้องแก่เรา เราต้องทำส่วนของเรา. การศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างจริงจังโดยอาศัยสรรพหนังสือฝ่ายคริสเตียนซึ่ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดเตรียมให้จะช่วยคนที่ “มีแนวโน้มทางใจเป็นอย่างอื่น” สามารถพัฒนาเจตคติที่ถูกต้อง. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) คริสเตียนผู้ปกครองซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ “ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า” ยินดีให้การสนับสนุน. (กิจการ 20:28, ล.ม.) เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงคำนึงถึงจุดบกพร่องต่าง ๆ ของเราและประทานการช่วยเหลือด้วยความรักแก่เรา! ขอให้เราตอบรับการช่วยเหลือของพระองค์.
เรียนรู้จากผู้อื่น
13. เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเจตคติที่ถูกต้องจากบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับโยบ?
13 ในโรมบท 15 เปาโลชี้ว่าการคิดรำพึงถึงตัวอย่างที่อยู่ในประวัติบันทึกช่วยเราได้ให้ปรับเจตคติของเรา. ท่านเขียนว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่า โดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.” (โรม 15:4, ล.ม.) ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์บางคนของพระยะโฮวาในอดีตจำเป็นต้องแก้ไขเจตคติของตนในบางแง่. ยกตัวอย่าง โดยทั่วไปแล้วโยบมีเจตคติที่ดี. ท่านไม่เคยคิดว่าพระเจ้าทรงชั่วร้าย และไม่เคยปล่อยให้ความทุกข์ยากมาทำให้ความมั่นใจของท่านในพระเจ้าสั่นคลอน. (โยบ 1:8, 21, 22) กระนั้น ท่านมีแนวโน้มที่จะถือว่าตัวเองชอบธรรม. พระยะโฮวาทรงชี้นำให้เอลีฮูช่วยโยบแก้ไขแนวโน้มนี้. แทนที่จะรู้สึกว่าถูกดูถูก โยบถ่อมใจยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเจตคติและพร้อมที่จะลงมือแก้ไขตามความจำเป็นนั้น.—โยบ 42:1-6.
14. เราจะเป็นเหมือนโยบได้อย่างไร หากเราได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเจตคติของเรา?
14 เราจะตอบสนองเช่นเดียวกับโยบไหมหากเพื่อนคริสเตียนบอกเราอย่างกรุณาว่า มีอะไรบางอย่างที่บ่งชี้ว่าเรามีเจตคติที่ไม่ถูกต้อง? เช่นเดียวกับโยบ ขอเราอย่าได้ “กล่าวโทษอันใดต่อพระเจ้าเลย.” (โยบ 1:22) หากเราต้องทนทุกข์อย่างไม่ยุติธรรม ขอเราอย่าได้บ่นหรือถือว่าพระยะโฮวาทรงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราประสบกับความลำบาก. ขอให้เราหลีกเลี่ยงการพยายามทำให้ตัวเองดูชอบธรรม โดยระลึกเสมอว่าไม่ว่าเรามีสิทธิพิเศษอะไรในการรับใช้พระยะโฮวา เราก็ยังคงเป็นเพียง “บ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย.”—ลูกา 17:10.
15. (ก) สาวกบางคนของพระเยซูแสดงเจตคติที่ไม่ถูกต้องเช่นไร? (ข) เปโตรแสดงเจตคติที่ดีอย่างไร?
15 ในสมัยศตวรรษแรก บางคนที่ฟังพระเยซูแสดงเจตคติที่ไม่ถูกต้อง. มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระเยซูตรัสถึงบางสิ่งที่ยากจะเข้าใจ. ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็คือ “สาวกของพระองค์หลายคน เมื่อได้ยินอย่างนั้นแล้วจึงพูดว่า ‘การพูดเช่นนี้ทำให้ตกตะลึง ใครจะฟังได้?’ ” เห็นได้ชัดว่า คนที่พูดอย่างนี้มีเจตคติที่ไม่ถูกต้อง. และเจตคติที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้นทำให้เขาไม่ฟังพระเยซูอีกต่อไป. บันทึกกล่าวไว้ว่า “เนื่องจากเหตุนี้สาวกของพระองค์หลายคนจึงถอยออกไปสู่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและไม่ดำเนินกับพระองค์อีกต่อไป.” ทุกคนมีเจตคติที่ไม่ถูกต้องอย่างนี้ไปเสียหมดไหม? ไม่. บันทึกกล่าวต่อไปว่า “ฉะนั้นพระเยซูจึงตรัสแก่สิบสองคนว่า ‘เจ้าทั้งหลายไม่ต้องการจะไปด้วยใช่ไหม?’ ซีโมนเปโตรทูลตอบพระองค์ว่า ‘พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะจากไปหาผู้ใดเล่า?’ ” จากนั้น เปโตรก็กล่าวเหมือนกับเป็นการตอบคำถามของตัวเองว่า “พระองค์ทรงมีถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 6:60, 66-68, ล.ม.) ช่างเป็นเจตคติที่ดีจริง ๆ! เมื่อพบคำอธิบายหรือการปรับปรุงความเข้าใจในพระคัมภีร์ซึ่งทีแรกเราอาจรู้สึกว่ายากจะรับได้ ย่อมเป็นการดีมิใช่หรือที่จะแสดงเจตคติแบบเดียวกับที่เปโตรแสดง? ช่างเป็นความเขลาสักเพียงไรที่จะเลิกรับใช้พระยะโฮวา หรือพูดในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับ “แบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” เพียงเพราะมีบางสิ่งที่ยากจะเข้าใจในตอนแรก!—2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.
16. พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในสมัยพระเยซูแสดงเจตคติที่น่าตกใจเช่นไร?
16 พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในศตวรรษแรกไม่ได้แสดงเจตคติอย่างที่พระเยซูทรงมี. ความตั้งใจแน่วแน่ของพวกเขาที่จะไม่ฟังพระเยซูนั้นแสดงออกมาให้เห็นเมื่อพระองค์ทรงปลุกลาซะโรให้เป็นขึ้นจากตาย. สำหรับใครก็ตามที่มีเจตคติที่ถูกต้อง การอัศจรรย์นั้นคงต้องเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่าพระเจ้าเป็นผู้ส่งพระเยซูมา. อย่างไรก็ตาม เราอ่านดังนี้: “ฉะนั้นพวกปุโรหิตใหญ่และพวกฟาริซายจึงเรียกประชุมซันเฮดรินแล้วเริ่มกล่าวว่า ‘เราจะทำอย่างไรกัน เพราะว่าชายผู้นี้กระทำหมายสำคัญหลายประการ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้อย่างนี้ คนทั้งปวงก็จะเชื่อถือเขา แล้วพวกโรมันก็จะมายึดเอาทั้งที่และชาติของเรา.’ ” วิธีแก้ปัญหาของพวกเขาคืออะไร? “ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเขาทั้งหลายจึงคิดอ่านจะฆ่าพระองค์เสีย.” นอกจากวางแผนจะฆ่าพระเยซูแล้ว พวกเขายังพยายามจะทำลายหลักฐานที่มีชีวิตอยู่ซึ่งสนับสนุนว่าพระองค์เป็นผู้ทำการอัศจรรย์. “ฝ่ายปุโรหิตใหญ่จึงปรึกษากันจะฆ่าลาซะโรเสียด้วย.” (โยฮัน 11:47, 48, 53; 12:9-11, ล.ม.) ช่างน่ารังเกียจสักเพียงไรหากเราส่งเสริมเจตคติคล้าย ๆ กันนี้และขุ่นเคืองหรือหัวเสียในเรื่องที่จริง ๆ แล้วเราน่าจะยินดี! ถูกแล้ว และยังนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งด้วย!
เลียนแบบเจตคติที่ดีของพระคริสต์
17. (ก) ดานิเอลแสดงเจตคติที่ไม่หวั่นกลัวภายใต้สถานการณ์เช่นไร? (ข) พระเยซูทรงแสดงความกล้าหาญอย่างไร?
17 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวารักษาเจตคติที่ดีเอาไว้. เมื่อศัตรูของดานิเอลคบคิดกันให้มีการร่างกฎหมายห้ามการวิงวอนต่อพระเจ้าองค์ใด ๆ หรือมนุษย์คนใด เว้นแต่การกราบทูลต่อกษัตริย์เป็นเวลา 30 วัน ดานิเอลทราบว่าเรื่องนี้กระทบกระเทือนสัมพันธภาพของท่านกับพระยะโฮวาพระเจ้า. ท่านจะงดเว้นจากการอธิษฐานถึงพระเจ้าเป็นเวลา 30 วันไหม? ไม่ ท่านอธิษฐานถึงพระยะโฮวาวันละสามเวลาต่อไปอย่างไม่หวั่นกลัว ตามที่ท่านถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ. (ดานิเอล 6:6-17) คล้ายคลึงกัน พระเยซูไม่ยอมให้ศัตรูมาทำให้พระองค์กลัว. ในวันซะบาโตคราวหนึ่ง พระองค์ทรงพบกับชายมือลีบ. พระเยซูทรงทราบว่าชาวยิวหลายคนซึ่งอยู่ที่นั่นจะแสดงความไม่พอใจหากพระองค์รักษาใครในวันซะบาโต. พระองค์ตรัสถามพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เขาแสดงความเห็นของตนในเรื่องนี้. เมื่อพวกเขาไม่ยอมแสดงความเห็น พระเยซูก็ทรงดำเนินการต่อไปและรักษาชายคนนั้น. (มาระโก 3:1-6) พระเยซูไม่เคยถอยหนีจากการทำตามหน้าที่มอบหมายของพระองค์ซึ่งพระองค์เห็นว่าเหมาะสม.
18. เหตุใดบางคนจึงต่อต้านเรา แต่เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเจตคติที่ไม่ดีของพวกเขา?
18 ปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาตระหนักว่าพวกเขาก็เช่นกันต้องไม่ถูกข่มขู่ให้กลัวโดยปฏิกิริยาที่ไม่ดีของผู้ต่อต้านซึ่งอาจเกิดขึ้น. มิฉะนั้นแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้แสดงเจตคติแบบที่พระเยซูทรงมี. หลายคนต่อต้านพยานพระยะโฮวา บ้างก็เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบข้อเท็จจริง บ้างก็เนื่องจากพวกเขาเกลียดพยานฯ หรือข่าวสารของพยานฯ. แต่ขอเราอย่าปล่อยให้เจตคติไม่เป็นมิตรของพวกเขามีผลต่อเจตคติที่ดีของเรา. เราไม่ควรปล่อยให้ผู้อื่นมาบงการวิธีที่เรานมัสการ.
19. เราจะแสดงเจตคติอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงมีได้อย่างไร?
19 พระเยซูทรงแสดงเจตคติที่ดีเสมอต่อเหล่าสาวกและต่อการจัดเตรียมของพระเจ้า ไม่ว่าการทำเช่นนั้นจะยากลำบากอย่างไรก็ตาม. (มัดธาย 23:2, 3) เราควรเลียนแบบอย่างของพระองค์. จริงอยู่ พี่น้องของเราไม่สมบูรณ์ แต่เราเองก็ไม่สมบูรณ์. และนอกเหนือไปจากภราดรภาพทั่วโลกที่เรามีอยู่นี้ เราจะไปหาเพื่อนที่ดีกว่านี้และมิตรที่ภักดีอย่างแท้จริงได้จากที่ไหน? พระยะโฮวายังไม่ได้ประทานความเข้าใจแก่เราอย่างครบถ้วนในพระคำของพระองค์ที่มีจารึกไว้ แต่กลุ่มศาสนาใดล่ะที่เข้าใจมากกว่านี้? ขอให้เรารักษาเจตคติที่ถูกต้องไว้เสมอ ซึ่งก็คือเจตคติอย่างที่พระเยซูทรงมี. นอกจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว เรื่องนี้หมายรวมถึงการทราบวิธีที่จะคอยท่าพระยะโฮวา ดังที่เราจะได้พิจารณาในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a หนังสือบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น ซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก พิจารณาชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ชีวิตของเราได้รับผลกระทบอย่างไรจากเจตคติของเรา?
• จงพรรณนาถึงเจตคติของพระเยซูคริสต์.
• เราเรียนอะไรได้จากเจตคติของโยบ?
• เจตคติที่ถูกต้องเมื่อเผชิญกับการต่อต้านคืออะไร?
[ภาพหน้า 7]
คริสเตียนซึ่งมีเจตคติที่ถูกต้องพยายามช่วยเหลือผู้อื่น
[ภาพหน้า 9]
การศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างจริงจังช่วยเราให้รับเอาเจตคติของพระคริสต์