พระธรรมเล่มที่ 45—โรม
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โกรินโธ
เขียนเสร็จ: ประมาณ ส.ศ. 56
1. เปาโลอธิบายเรื่องอะไรในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสเตียนในโรม?
ในพระธรรมกิจการเราเห็นเปาโล อดีตผู้ข่มเหงคริสเตียนชาวยิวอย่างรุนแรง กลายมาเป็นอัครสาวกผู้มีใจแรงกล้าของพระคริสต์ไปยังชาติต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยิว. ด้วยพระธรรมโรม เราเริ่มพระธรรม 14 เล่มที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจอดีตฟาริซายผู้ซึ่งบัดนี้เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าให้เขียน. ตอนท่านเขียนพระธรรมโรม เปาโลได้เสร็จสิ้นการเดินทางประกาศระยะยาวสองรอบแล้วและกำลังอยู่ในรอบที่สาม. ท่านได้เขียนจดหมายโดยการดลใจแล้วห้าฉบับคือ เธซะโลนิเกฉบับต้นและฉบับสอง, ฆะลาเตีย, โกรินโธฉบับต้นและฉบับสอง. ถึงกระนั้น ดูเหมือนเป็นการเหมาะสมที่ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับปัจจุบันของเรา พระธรรมโรมอยู่ก่อนจดหมายฉบับอื่น ๆ เนื่องจากพระธรรมนี้กล่าวอย่างละเอียดถึงความเสมอภาคแบบใหม่ระหว่างชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ยิว ซึ่งเป็นคนสองจำพวกที่เปาโลประกาศให้เขาฟัง. พระธรรมนี้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติของพระเจ้ากับไพร่พลของพระองค์ และแสดงว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้นบอกล่วงหน้ามานานแล้วว่า ข่าวดีจะได้รับการประกาศแก่คนที่ไม่ใช่ชาวยิวด้วย.
2. (ก) เปาโลอธิบายปัญหาอะไรในพระธรรมโรม? (ข) จดหมายนี้ย้ำหนักแน่นในเรื่องอะไร?
2 เปาโล ซึ่งใช้เตระเตียวเป็นเลขานุการ เชื่อมโยงการถกเหตุผลอย่างรวดเร็วเข้ากับข้อความที่ยกจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากมายหลายตอนทีเดียวให้เป็นพระธรรมที่ทรงพลังที่สุดเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ด้วยภาษาที่สละสลวยอย่างยิ่ง เปาโลอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกประกอบด้วยทั้งชาวยิวและชาวกรีก. ชาวยิวมีฐานะเหนือกว่าไหมเนื่องจากเป็นลูกหลานของอับราฮาม? คริสเตียนที่อาวุโส ซึ่งเป็นอิสระจากพระบัญญัติของโมเซ มีสิทธิ์จะทำให้พี่น้องชาวยิวที่อ่อนแอกว่าซึ่งยังยึดอยู่กับประเพณีโบราณสะดุดไหม? ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลย้ำหนักแน่นว่าทั้งชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ยิวต่างเท่าเทียมกันเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และคนเราได้รับการประกาศว่าชอบธรรมไม่ใช่โดยทางพระบัญญัติของโมเซ แต่โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์และโดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าเรียกร้องคริสเตียนให้แสดงการอ่อนน้อมอย่างเหมาะสมต่ออำนาจในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่เหนือพวกเขา.
3. ประชาคมในกรุงโรมเริ่มต้นอย่างไร และอะไรอาจเป็นเหตุที่เปาโลรู้จักคนมากมายที่นั่น?
3 ประชาคมโรมเริ่มต้นอย่างไร? ในโรมมีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่พอดู อย่างน้อยก็ตั้งแต่คราวที่ปอมปีย์ยึดกรุงยะรูซาเลมในปี 63 ก.ส.ศ. ที่กิจการ 2:10 มีกล่าวเจาะจงว่าชาวยิวเหล่านั้นบางคนอยู่ในกรุงยะรูซาเลมเมื่อวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 อันเป็นที่ที่พวกเขาได้ยินข่าวดี. เหล่าคนที่อาศัยชั่วคราวซึ่งได้เปลี่ยนศาสนาได้พักอยู่ในยะรูซาเลมเพื่อเรียนจากพวกอัครสาวก และไม่ต้องสงสัยว่าหลังจากนั้นคนที่มาจากโรมก็กลับไปที่นั่น บางคนอาจกลับไปในช่วงที่เกิดการกดขี่ข่มเหงในยะรูซาเลม. (กิจ. 2:41-47; 8:1, 4) นอกจากนี้ ผู้คนสมัยนั้นยังเป็นนักเดินทางตัวยง และเรื่องนี้อาจให้ความกระจ่างในเรื่องความคุ้นเคยสนิทสนมของเปาโลกับสมาชิกหลายคนที่ประชาคมโรม ซึ่งบางคนอาจเคยได้ยินข่าวดีในกรีซหรือเอเชียเนื่องจากการประกาศของเปาโล.
4. (ก) พระธรรมโรมให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับประชาคมในกรุงโรม? (ข) การที่อะกุลากับปริศกิลาอยู่ในกรุงโรมบ่งชี้ถึงอะไร?
4 ข้อมูลที่เชื่อถือได้ชิ้นแรกเกี่ยวกับประชาคมนี้พบในจดหมายของเปาโล. เห็นชัดจากข้อมูลนี้ว่าประชาคมดังกล่าวประกอบด้วยคริสเตียนที่เป็นชาวยิวและที่ไม่ใช่ยิว และใจแรงกล้าของพวกเขาควรแก่การยกย่อง. ท่านบอกกับพวกเขาว่า “ความเชื่อของท่านทั้งหลายเลื่องลือไปทั่วโลก” และ “การซึ่งท่านทั้งหลายได้เชื่อฟังก็เลื่องลือไปถึงหูคนทั้งปวงแล้ว.” (โรม 1:8; 16:19) ซูโทนิอุสซึ่งเขียนในศตวรรษที่สองรายงานว่า ระหว่างการปกครองของเคลาดิอุส [เกลาดิโอ] (ส.ศ. 41-54) ชาวยิวได้ถูกขับออกจากโรม. แต่ต่อมาพวกเขาก็กลับเข้าไปอีก ดังที่เห็นได้จากการที่อะกุลาและปริศกิลาอยู่ในโรม. เขาทั้งสองเป็นชาวยิวซึ่งเปาโลพบในโกรินโธ และได้ออกจากโรมคราวที่เคลาดิอุสออกราชกฤษฎีกา แต่ได้กลับเข้ามาอยู่ในโรมอีกตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงประชาคมที่นั่น.—กิจ. 18:2; โรม 16:3.
5. ข้อเท็จจริงอะไรที่ยืนยันความเชื่อถือได้ของพระธรรมโรม?
5 ความเชื่อถือได้ของจดหมายฉบับนี้มีการยืนยันอย่างหนักแน่น. ดังที่คำนำบอกไว้ พระธรรมโรมมาจาก “เปาโล ทาสของพระเยซูคริสต์และถูกเรียกให้เป็นอัครสาวก . . . ถึงทุกคนที่อยู่ในโรมในฐานะผู้ซึ่งพระเจ้าทรงรัก ทรงเรียกให้เป็นผู้บริสุทธิ์.” (โรม 1:1, 7, ล.ม.) จะพบพระธรรมโรมก่อนพระธรรมอื่น ๆ เมื่อมีการอ้างอิงถึงพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในหนังสือภายนอก. เปโตรใช้คำพูดที่คล้ายคลึงกันหลายตอนทีเดียวในจดหมายฉบับแรกของท่านซึ่งเขียนประมาณหกถึงแปดปีหลังจากนั้น จนผู้คงแก่เรียนหลายคนคิดว่าท่านคงต้องได้เห็นสำเนาของพระธรรมโรมแล้ว. พระธรรมโรมเป็นที่ยอมรับอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่เปาโลเขียน และมีการอ้างถึงว่าเป็นเช่นนั้นโดยเคลเมนต์แห่งโรม, โพลีคาร์ปแห่งซมือร์นา, และอิกนาทิอุสแห่งอันทิโอก ซึ่งทุกคนมีชีวิตอยู่ในช่วงท้ายศตวรรษที่หนึ่งและต้นศตวรรษที่สอง ส.ศ.
6. พาไพรัสโบราณยืนยันอย่างไรในเรื่องที่พระธรรมโรมเป็นส่วนหนึ่งของสารบบพระคัมภีร์?
6 มีการพบพระธรรมโรมพร้อม ๆ กับจดหมายของเปาโลอีกแปดฉบับในโคเดกซ์ที่เรียกว่า เชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส หมายเลข 2 (P46). เซอร์เฟรเดอริก เคนยอนเขียนเกี่ยวกับโคเดกซ์ในยุคต้นฉบับนี้ว่า “ดังนั้น ตอนนี้เรามีสำเนาต้นฉบับของจดหมายของเปาโลเกือบครบ ซึ่งดูเหมือนว่าเขียนราวตอนต้นศตวรรษที่สาม.”a ม้วนพาไพรัส เชสเตอร์ บีทตี กรีก บิบลิคัล เก่าแก่กว่าสำเนาต้นฉบับไซนายติกและสำเนาต้นฉบับวาติกันหมายเลข 1209 ที่รู้จักกันดี ซึ่งทั้งสองฉบับเขียนขึ้นในศตวรรษที่สี่ ส.ศ. สำเนาเหล่านี้ก็มีพระธรรมโรมเช่นกัน.
7. มีพยานหลักฐานอะไรเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่เขียนพระธรรมโรม?
7 พระธรรมโรมเขียนเมื่อไรและจากที่ไหน? ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องที่ว่าจดหมายนี้เขียนจากกรีซ อาจเป็นไปได้มากที่สุดว่าเขียนจากโกรินโธตอนเปาโลเยี่ยมที่นั่นเป็นเวลาหลายเดือนก่อนสิ้นสุดการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สามของท่าน. หลักฐานภายในชี้ว่าเป็นที่โกรินโธ. เปาโลเขียนจดหมายนี้จากบ้านของฆาโยซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมที่นั่น และชมเชยฟอยเบที่อยู่ในประชาคมเก็งเครอายซึ่งอยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นท่าเรือของโกรินโธ. ดูเหมือนฟอยเบเป็นผู้นำจดหมายนี้มายังโรม. (โรม 16:1, 23; 1 โก. 1:14) ที่โรม 15:23 เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเขตงานที่ยังไม่ได้ทำในภูมิภาคนี้อีก” และท่านระบุในข้อถัดไปว่าท่านตั้งใจจะขยายงานเผยแพร่ในต่างประเทศไปทางตะวันตกจนถึงสเปน. ท่านคงเขียนอย่างนี้ได้ในช่วงท้าย ๆ แห่งการเดินทางรอบที่สาม คือในตอนต้นปี ส.ศ. 56.
เนื้อเรื่องในโรม
8. (ก) เปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับงานมอบหมายของท่าน? (ข) ท่านแสดงให้เห็นอย่างไรว่าทั้งชาวยิว และกรีกสมควรกับพระพิโรธของพระเจ้า?
8 ความเสมอภาคที่พระเจ้าทรงให้แก่ชาวยิวและชนต่างชาติ (1:1–2:29). เปาโลผู้ได้รับการดลใจบอกอะไรแก่พี่น้องในโรม? ในคำนำ ท่านระบุตัวเองว่าเป็นอัครสาวกคนหนึ่งที่พระคริสต์ทรงเลือกไว้เพื่อสอน “การเชื่อฟังด้วยความเชื่อ” ท่ามกลางนานาชาติ. ท่านแสดงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเยี่ยมเหล่าผู้บริสุทธิ์ในโรม เพื่อมีการ “ให้กำลังใจกันและกัน” และเพื่อประกาศข่าวดีท่ามกลางพวกเขาที่ว่าเป็น “ฤทธิ์เดชของพระเจ้าเพื่อทุกคนที่มีความเชื่อจะได้ความรอด.” ดังที่เขียนไว้นานมาแล้ว คนชอบธรรมจะดำเนินชีวิต “โดยความเชื่อ.” (1:5, 12, 16, 17, ล.ม.) ท่านเผยให้เห็นว่า ทั้งชาวยิวและชาวกรีกสมควรกับพระพิโรธของพระเจ้า. การที่มนุษย์ปฏิเสธพระเจ้าเป็นเรื่องที่แก้ตัวไม่ได้เพราะ “คุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา.” (1:20, ล.ม.) แต่ด้วยความโง่เขลา นานาชาติได้สร้างพระต่าง ๆ จากสิ่งที่ถูกสร้าง. อย่างไรก็ตาม ชาวยิวไม่ควรตัดสินนานาชาติอย่างรุนแรงเนื่องจากพวกเขาก็มีความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับบาปเช่นกัน. ทั้งสองจำพวกจะถูกพิพากษาตามการกระทำของตน เพราะพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง. การรับสุหนัตฝ่ายเนื้อหนังไม่ใช่ปัจจัยที่กำหนด; “ผู้นั้นเป็นชาวยิวซึ่งเป็นยิวภายใน และการรับสุหนัตของเขาคือการรับที่หัวใจ.”—2:29, ล.ม.
9. (ก) ชาวยิวเหนือกว่าในด้านใด และถึงกระนั้นเปาโลยกข้อคัมภีร์อะไรขึ้นมากล่าวเพื่อแสดงว่าทุกคนอยู่ใต้ความบาป? (ข) ถ้าเช่นนั้น มนุษย์จะได้รับการประกาศว่าชอบธรรมอย่างไร และตัวอย่างอะไรที่สนับสนุนการหาเหตุผลเช่นนี้?
9 คนทั้งปวงได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยความเชื่อ (3:1–4:25). “ถ้าอย่างนั้นชาวยิวเหนือกว่าเช่นไร?” เหนือกว่ามากทีเดียว เพราะชาวยิวได้รับฝากถ้อยแถลงอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า. ถึงกระนั้น “ทั้งชาวยิวและชาวกรีกล้วนแต่อยู่ใต้ความบาป” และไม่มีสักคนที่ “ชอบธรรม” ในสายพระเนตรของพระเจ้า. มีการยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเจ็ดตอนมากล่าวเพื่อพิสูจน์ประเด็นนี้. (โรม 3:1 (ล.ม.), 9-18; เพลง. 14:1-3; 5:9; 140:3; 10:7; สุภา. 1:16; ยซา. 59:7, 8; เพลง. 36:1) พระบัญญัติทำให้ความบาปของมนุษย์ปรากฏ ดังนั้น “ไม่มีเนื้อหนังใดจะได้รับการประกาศว่าชอบธรรม . . . เนื่องด้วยการทำตามพระบัญญัติ.” แต่โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าและด้วยการปลดเปลื้องโดยค่าไถ่ ทั้งชาวยิวและชาวกรีกได้รับการประกาศว่าชอบธรรม “เนื่องด้วยความเชื่อ โดยปราศจากการทำตามพระบัญญัติ.” (โรม 3:20, 28, ล.ม.) เปาโลสนับสนุนการให้เหตุผลนี้โดยอ้างถึงตัวอย่างของอับราฮาม ซึ่งถูกนับว่าชอบธรรมไม่ใช่เนื่องด้วยการกระทำหรือการรับสุหนัต แต่เนื่องด้วยความเชื่ออันเป็นแบบอย่างของท่าน. ดังนั้น อับราฮามจึงได้มาเป็นบิดาไม่เพียงแต่ของชาวยิวเท่านั้น แต่ของ “คนทั้งปวงที่มีความเชื่อ.”—4:11, ล.ม.
10. (ก) ความตายเข้ามาครอบครองเยี่ยงกษัตริย์โดยวิธีใด? (ข) เกิดผลอะไรเนื่องจากการเชื่อฟังของพระคริสต์ แต่มีการส่งเสียงเตือนเช่นไรเกี่ยวกับบาป?
10 ไม่เป็นทาสบาปอีกต่อไป แต่เป็นทาสความชอบธรรมโดยทางพระคริสต์ (5:1–6:23). บาปได้เข้ามาในโลกโดยทางอาดามคนเดียว และบาปก่อความตาย “และด้วยเหตุนั้น ความตายจึงลามถึงคนทั้งปวงเพราะพวกเขาล้วนได้ทำบาป.” (5:12, ล.ม.) ความตายครอบครองดุจกษัตริย์ตั้งแต่อาดามจนถึงโมเซ. เมื่อมีการประทานพระบัญญัติผ่านทางโมเซ ความบาปมีมากมายอยู่แล้ว และความตายยังครอบครองเรื่อยไป. แต่บัดนี้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้ามีมากขึ้นอีก และโดยการเชื่อฟังของพระคริสต์ หลายคนจึงได้รับการประกาศว่าชอบธรรมเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์. ถึงกระนั้น เรื่องนี้ก็ใช่ว่าเปิดช่องให้ดำเนินชีวิตในความบาป. บุคคลที่รับบัพติสมาเข้าในพระคริสต์จะต้องตายแก่บาป. บุคลิกภาพเก่าของพวกเขาถูกตรึงไว้ และพวกเขาดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้า. บาปไม่ครอบงำพวกเขาอีกต่อไป แต่พวกเขาได้กลายเป็นทาสความชอบธรรม พร้อมกับคำนึงถึงความบริสุทธิ์. “ค่าจ้างที่บาปจ่ายคือความตาย แต่ของประทานที่พระเจ้าทรงโปรดให้นั้นคือชีวิตนิรันดรโดยพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.”—6:23, ล.ม.
11. (ก) เปาโลแสดงให้เห็นอย่างไรถึงการปลดปล่อยคริสเตียนชาวยิวจากพระบัญญัติ? (ข) พระบัญญัติทำให้อะไรปรากฏชัด และดังนั้น อะไรที่ทำสงครามอยู่ภายในตัวคริสเตียน?
11 ตายแก่พระบัญญัติ มีชีวิตโดยพระวิญญาณร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ (7:1–8:39). เปาโลใช้ตัวอย่างภรรยาซึ่งผูกพันอยู่กับสามีตราบที่เขามีชีวิตอยู่แต่เป็นอิสระที่จะสมรสกับคนอื่นถ้าเขาตายเพื่อแสดงว่าเป็นไปอย่างไรที่โดยทางเครื่องบูชาของพระคริสต์ คริสเตียนชาวยิวถูกทำให้ตายแก่พระบัญญัติและเป็นอิสระเพื่อกลายเป็นของพระคริสต์และบังเกิดผลแด่พระเจ้า. พระบัญญัติบริสุทธิ์ทำให้ความบาปปรากฏชัดยิ่งขึ้น และความบาปทำให้เกิดความตาย. บาปซึ่งอาศัยในร่างกายเนื้อหนังของเรานั้นต่อสู้ความตั้งใจที่ดีของเรา. ดังที่เปาโลกล่าวว่า “ด้วยว่าสิ่งดีที่ข้าพเจ้าปรารถนาข้าพเจ้ามิได้ทำ แต่สิ่งไม่ดีที่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากลับเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าทำอยู่.” ดังนั้น “ที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นก็ไม่ใช่ข้าพเจ้าอีกแล้ว แต่เป็นบาปซึ่งอยู่ในข้าพเจ้า.”—7:19, 20, ล.ม.
12. บางคนมาเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์อย่างไร และพวกเขามีชัยครบถ้วนเหนือสิ่งใด?
12 อะไรจะช่วยมนุษย์ให้พ้นจากสภาพน่าสังเวชนี้ได้? พระเจ้าทรงสามารถทำให้คนที่เป็นของพระคริสต์มีชีวิตได้โดยทางพระวิญญาณของพระองค์! พวกเขาถูกรับเป็นบุตร ได้รับการประกาศว่าชอบธรรม กลายเป็นรัชทายาทของพระเจ้าและเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ และได้รับสง่าราศี. เปาโลพูดกับพวกเขาว่า “หากพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ใครจะต่อต้านเรา? ใครเล่าจะพรากเราจากความรักของพระคริสต์?” ไม่มีใครเลย! ท่านประกาศอย่างมีชัยว่า “เราจะพ้นออกมาอย่างมีชัยครบถ้วนโดยทางพระองค์ผู้ทรงรักเรา. ด้วยข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าความตายหรือชีวิตหรือทูตสวรรค์หรือรัฐบาลหรือสิ่งที่มีอยู่เดี๋ยวนี้หรือสิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นหรืออำนาจ หรือความสูงหรือความลึกหรือสิ่งทรงสร้างอื่นใดจะไม่สามารถพรากเราจากความรักของพระเจ้าซึ่งอยู่ในพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.”—8:31, 35, 37-39, ล.ม.
13. (ก) ตามคำพยากรณ์ ใครบ้างถูกนับรวมอยู่ในพวกยิศราเอลแท้ของพระเจ้า และเรื่องนี้สอดคล้องกับหลักการของพระเจ้าข้อใด? (ข) ยิศราเอลโดยสายเลือดพลาดในเรื่องใด แต่อะไรจำเป็นเพื่อความรอด?
13 “ยิศราเอล” ได้รับการช่วยให้รอดโดยความเชื่อและโดยพระเมตตาของพระเจ้า (9:1–10:21). เปาโลสำแดง “ความโศกเศร้ามาก” ต่อเพื่อนร่วมชาติยิศราเอล แต่ท่านยอมรับว่าไม่ใช่ยิศราเอลโดยสายเลือดทุกคนเป็น “ยิศราเอล” แท้ เนื่องจากพระเจ้ามีสิทธิ์จะเลือกใครก็ได้ที่พระองค์ทรงปรารถนาให้มาเป็นบุตร. ดังที่มีแสดงให้เห็นโดยสิ่งที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับฟาโรห์และโดยอุทาหรณ์เรื่องช่างปั้นหม้อ “เรื่องจึงไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ปรารถนาหรือผู้ที่วิ่ง แต่ขึ้นอยู่กับพระเจ้าผู้ทรงพระเมตตา.” (9:2, 6, 16, ล.ม.) พระองค์ทรงเรียกเหล่าบุตร “ไม่เพียงจากท่ามกลางชาวยิวเท่านั้นแต่จากท่ามกลางนานาชาติด้วย” ดังที่โฮเซอาบอกล่วงหน้าไว้ก่อนนั้นนานแล้ว. (โฮ. 2:23) ยิศราเอลพลาดไปเพราะการแสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้า “มิใช่โดยความเชื่อ แต่โดยการกระทำ” และเนื่องจากการสะดุดพระคริสต์ซึ่งเป็น “หินก้อนใหญ่ที่ทำให้ขุ่นเคือง.” (โรม 9:24, 32, 33, ล.ม.) พวกเขา “มีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า; แต่หาเป็นไปตามความรู้ถ่องแท้ไม่.” พระคริสต์เป็นจุดจบของพระบัญญัติสำหรับผู้สำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม และเพื่อจะได้รับความรอด คนเราจะต้องประกาศอย่างเปิดเผย “ว่า พระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” และสำแดงความเชื่อ “ว่า พระเจ้าทรงปลุกพระองค์ขึ้นจากบรรดาคนตาย.” (10:2, 9, ล.ม.) ผู้ประกาศถูกส่งออกไปเพื่อทำให้ผู้คนจากทุกชาติได้ยิน, มีความเชื่อ, และร้องออกพระนามพระยะโฮวาเพื่อจะได้รับการช่วยให้รอด.
14. เปาโลใช้ต้นมะกอกเทศแสดงให้เห็นอะไร?
14 อุทาหรณ์เรื่องต้นมะกอกเทศ (11:1-36). เนื่องด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลโดยสายเลือดจึงได้รับเลือก แต่เพราะพวกเขาส่วนใหญ่สะดุด “จึงมีความรอดมายังผู้คนแห่งนานาชาติ.” (11:11, ล.ม.) โดยการใช้อุทาหรณ์เรื่องต้นมะกอกเทศ เปาโลแสดงให้เห็นวิธีที่คนที่ไม่ใช่ชาวยิวถูกรับเข้ามาเนื่องจากชาวยิศราเอลโดยสายเลือดขาดความเชื่อ. ถึงกระนั้น คนที่ไม่ใช่ชาวยิวก็ไม่ควรยินดีที่ชาติยิศราเอลถูกปฏิเสธ เพราะถ้าพระเจ้าไม่ทรงงดเว้นโทษกิ่งโดยกำเนิดที่ไม่ซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงงดเว้นโทษกิ่งมะกอกป่าจากนานาชาติที่ถูกนำมาทาบเช่นกัน.
15. อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการถวายเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่แด่พระเจ้า?
15 การเปลี่ยนความคิดจิตใจเสียใหม่; อำนาจที่สูงกว่า (12:1–13:14). เปาโลแนะนำให้ถวายร่างกายคุณเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่แด่พระเจ้า. อย่า “ถูกนวดปั้นตามระบบนี้” อีกต่อไป แต่จงรับ “การเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของท่านเสียใหม่.” อย่าเย่อหยิ่ง. พระกายของพระคริสต์ เปรียบเสมือนกายมนุษย์ คือมีหลายอวัยวะที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน แต่อวัยวะเหล่านั้นทำงานร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. อย่าทำชั่วตอบแทนความชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใด. จงฝากการแก้แค้นไว้กับพระยะโฮวา. จงเอาชนะ “ความชั่วด้วยความดี.”—12:2, 21, ล.ม.
16. คริสเตียนต้องปฏิบัติอย่างไรต่อผู้มีอำนาจและคนอื่น ๆ?
16 จงยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า; อำนาจนั้นเป็นการจัดเตรียมของพระเจ้า. จงทำการดีต่อ ๆ ไปและอย่าเป็นหนี้ผู้หนึ่งผู้ใดสักอย่างเดียวเว้นแต่การรักซึ่งกันและกัน. ความรอดใกล้เข้ามาแล้ว ดังนั้น จง “เปลื้องการของความมืดออกเสีย” และ “สวมยุทธภัณฑ์แห่งความสว่าง.” (13:12, ล.ม.) จงดำเนินด้วยการประพฤติที่ดี ไม่ใช่ตามความปรารถนาของเนื้อหนัง.
17. มีการให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการตัดสินและการเสริมสร้างผู้ที่อ่อนแอ?
17 จงต้อนรับทุกคนอย่างเสมอภาคโดยไม่ตัดสินใคร (14:1–15:33). จงอดทนกับผู้ที่งดเว้นอาหารบางชนิดหรือผู้ที่ถือวันเทศกาลเลี้ยงเพราะความเชื่อของพวกเขายังอ่อน. อย่าตัดสินพี่น้องหรือทำให้เขาสะดุดเนื่องด้วยการกินการดื่มของคุณ เนื่องจากพระเจ้าทรงพิพากษาทุกคน. จงแสวงหาสันติสุขและสิ่งที่เสริมสร้างและอดทนต่อความอ่อนแอของคนอื่น.
18. (ก) เปาโลยกข้อคัมภีร์อะไรมากล่าวอีกเพื่อแสดงว่าพระเจ้ายอมรับคนที่ไม่ใช่ยิว? (ข) เปาโลเองได้รับประโยชน์จากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าอย่างไร?
18 ท่านอัครสาวกเขียนดังนี้: “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา” และท่านยกข้อคัมภีร์ฮีบรูอีกสี่ตอนเป็นข้อพิสูจน์สุดท้ายว่า เหล่าผู้พยากรณ์ที่ได้รับการดลใจบอกล่วงหน้าไว้นานมาแล้วว่าคำสัญญาของพระเจ้าจะแผ่ไปยังชาติต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยิว. (โรม 15:4, 9-12, ล.ม.; เพลง. 18:49; บัญ. 32:43; เพลง. 117:1; ยซา. 11:1, 10) เปาโลเตือนสติว่า “เหตุฉะนั้นจงต้อนรับซึ่งกันและกัน เหมือนพระคริสต์ได้ทรงต้อนรับเรา ด้วยคำนึงถึงการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า.” (โรม 15:7, ล.ม.) เปาโลแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระกรุณาอันไม่พึงได้รับที่พระเจ้าทรงประทานแก่ท่านโดยให้เป็นผู้รับใช้สาธารณชนสำหรับนานาชาติ “ทำงานบริสุทธิ์แห่งข่าวดีของพระเจ้า.” ท่านหาทางเริ่มเขตประกาศใหม่ ๆ เสมอแทนที่จะ “สร้างบนรากฐานของผู้อื่น.” และท่านยังทำไม่เสร็จ เพราะท่านวางแผนว่าหลังจากนำเงินบริจาคไปยังยะรูซาเลม ท่านจะเดินทางประกาศไกลกว่าเดิมจนถึงสเปน และระหว่างเดินทาง ท่านจะนำ “พระพรบริบูรณ์จากพระคริสต์” ไปยังพี่น้องฝ่ายวิญญาณของท่านในโรม.—15:16, 20, 29, ล.ม.
19. จดหมายลงท้ายด้วยคำทักทายและคำกระตุ้นเตือนอะไร?
19 คำทักทายตอนท้าย (16:1-27). เปาโลส่งคำทักทายส่วนตัวไปยังสมาชิกประชาคมโรม 26 คน โดยเอ่ยชื่อพวกเขา รวมทั้งคนอื่น ๆ ด้วย และกระตุ้นเตือนพวกเขาให้หลีกเลี่ยงบุคคลที่ก่อความแตกแยกและให้ “ฉลาดในสิ่งดี แต่ไร้เดียงสาในสิ่งชั่ว.” ทั้งหมดก็เพื่อพระเกียรติของพระเจ้า “โดยทางพระเยซูคริสต์ตลอดไป. อาเมน.”—16:19, 27, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
20. (ก) พระธรรมโรมให้เหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์อะไรสำหรับความเชื่อในพระเจ้า? (ข) มีการแสดงให้เห็นความชอบธรรมและพระเมตตาของพระเจ้าอย่างไรและเรื่องนี้ทำให้เปาโลร้องออกมาอย่างไร?
20 พระธรรมโรมเสนอเหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์สำหรับความเชื่อในพระเจ้าโดยกล่าวว่า “คุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะว่าคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น กระทั่งฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น.” แต่ยิ่งกว่านั้น พระธรรมนี้ดำเนินเรื่องต่อไปเพื่อยกย่องความชอบธรรมของพระองค์และประกาศพระเมตตาอันยิ่งใหญ่และพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. มีการเสนอเรื่องนี้แก่เราอย่างสละสลวยโดยอุทาหรณ์เรื่องต้นมะกอกเทศ ซึ่งมีการนำกิ่งมะกอกป่ามาทาบแทนกิ่งเดิมที่ถูกตัดออกไป. เมื่อใคร่ครวญเรื่องความเข้มงวดและความกรุณาของพระเจ้า เปาโลร้องออกมาว่า “โอ้ ความล้ำลึกแห่งความมั่งคั่งและพระปัญญาอีกทั้งความรู้ของพระเจ้า! คำพิพากษาของพระองค์เหลือกำลังที่จะสืบค้นได้และพระมรรคาของพระองค์ก็เหลือวิสัยจะสืบเสาะได้จริง ๆ!”—1:20, ล.ม.; 11:33, ล.ม.
21. พระธรรมโรมแสดงให้เห็นขั้นต่อไปของการเปิดเผยความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าอย่างไร?
21 เกี่ยวกับเรื่องนี้แหละที่พระธรรมโรมอธิบายขั้นต่อไปของการเปิดเผยความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า. ในประชาคมคริสเตียนไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชาวยิวกับชนต่างชาติอีกต่อไป แต่คนจากทุกชาติอาจมีส่วนร่วมในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาผ่านทางพระเยซูคริสต์. “พระเจ้าไม่มีความลำเอียง.” “ผู้นั้นเป็นชาวยิวซึ่งเป็นยิวภายใน และการรับสุหนัตของเขาคือการรับที่หัวใจโดยพระวิญญาณ และไม่ใช่โดยประมวลกฎหมายที่เขียนไว้.” “ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชาวยิวกับชาวกรีก ด้วยว่ามีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันอยู่เหนือทุกคน ผู้ทรงโปรดประทานอย่างบริบูรณ์แก่ทุกคนที่ทูลขอพระองค์.” สำหรับคนทั้งปวงนี้ ความเชื่อต่างหากที่ทำให้พวกเขาถูกนับว่า ‘ชอบธรรม’ ไม่ใช่การกระทำ.—2:11, 29, ล.ม.; 10:12, ล.ม.; 3:28, ล.ม.
22. พระธรรมโรมให้คำแนะนำที่ใช้ได้ผลจริงอะไรอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนภายนอกประชาคม?
22 คำแนะนำที่ใช้ได้ผลจริงในจดหมายซึ่งมีไปถึงคริสเตียนในกรุงโรมเป็นประโยชน์เช่นกันแก่คริสเตียนสมัยนี้ซึ่งต้องเผชิญปัญหาคล้ายกันในโลกที่เหินห่างจากพระเจ้า. คริสเตียนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “อยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง” ซึ่งรวมทั้งคนภายนอกประชาคมด้วย. ทุกจิตวิญญาณต้อง “ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า” เพราะผู้มีอำนาจเหล่านั้นเป็นการจัดเตรียมของพระเจ้าและเป็นผู้ที่จะต้องกลัวไม่ใช่สำหรับคนที่ทำตามกฎหมายแต่สำหรับคนที่ทำการชั่ว. คริสเตียนต้องเป็นพลเมืองที่เชื่อฟังกฎหมายไม่ใช่เพราะกลัวการลงโทษเท่านั้น แต่เพราะสติรู้สึกผิดชอบแบบคริสเตียน พวกเขาจึงเสียภาษี, ให้แก่ผู้ที่สมควรได้รับ, ทำตามพันธะหน้าที่, ไม่เป็นหนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใคร “เว้นแต่การรักซึ่งกันและกัน.” ความรักทำให้พระบัญญัติสำเร็จ.—12:17-21, ล.ม.; 13:1-10, ล.ม.
23. เปาโลเน้นอย่างไรถึงความสำคัญของการประกาศต่อสาธารณชน และท่านให้ตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับการเตรียมตัวสำหรับงานรับใช้?
23 เปาโลเน้นเรื่องการให้คำพยานต่อสาธารณชน. ขณะที่คนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรมด้วยหัวใจ แต่ด้วยปาก คนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด. “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.” แต่เพื่อสิ่งนี้จะเกิดขึ้น จำเป็นที่ผู้ประกาศจะออกไปและ “ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ.” ความสุขย่อมเป็นของเราถ้าเราอยู่ในหมู่ผู้ประกาศเหล่านั้นที่ขณะนี้เสียงของพวกเขาดังออกไป “ถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.” (10:13, 15, 18, ล.ม.) และเพื่อเตรียมตัวสำหรับงานประกาศนี้ ขอให้เราพยายามคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเหมือนที่เปาโลทำ สำหรับช่วงนี้ช่วงเดียว (10:11-21) ท่านยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวหลายครั้ง. (ยซา. 28:16; โยเอล 2:32; ยซา. 52:7; 53:1; เพลง. 19:4; บัญ. 32:21; ยซา. 65:1, 2) ท่านจึงพูดได้เต็มปากว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่า โดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.”—โรม 15:4, ล.ม.
24. คำแนะนำอะไรที่เปาโลให้ด้วยความมุ่งหมายจะเสริมสร้างความมีใจแรงกล้าและสัมพันธภาพที่มีความสุขภายในประชาคม?
24 เปาโลให้คำแนะนำที่ใช้ได้ผลดีเยี่ยมเรื่องความสัมพันธ์ภายในประชาคมคริสเตียน. ไม่ว่าพวกเขามีชาติตระกูลหรือภูมิหลังทางสังคมอย่างไร ทุกคนต้องปรับความคิดจิตใจเพื่อถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าตาม “พระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.” (11:17-22; 12:1, 2, ล.ม.) ความมีเหตุผลอย่างที่ใช้ได้จริงนับว่ามีอยู่ตลอดคำแนะนำของเปาโลในโรม 12:3-16 จริง ๆ! ในที่นี้เป็นคำเตือนสติที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ เพื่อเสริมสร้างความมีใจแรงกล้า, ความถ่อม, และความรักใคร่อันอ่อนละมุนท่ามกลางทุกคนในประชาคมคริสเตียน. ในบทท้าย ๆ เปาโลเตือนอย่างหนักแน่นให้ระวังและหลีกเลี่ยงคนที่ก่อความแตกแยก แต่ท่านก็พูดถึงความยินดีและความสดชื่นร่วมกันที่เกิดจากการคบหาที่สะอาดในประชาคม.—16:17-19; 15:7, 32.
25. (ก) ทัศนะที่ถูกต้องเช่นไรและความเข้าใจอะไรอีกขั้นหนึ่งที่พระธรรมโรมให้ไว้ซึ่งเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า? (ข) การศึกษาพระธรรมโรมควรให้ประโยชน์แก่เราในด้านใดบ้าง?
25 ในฐานะเป็นคริสเตียน เราต้องคอยดูแลสัมพันธภาพระหว่างกันและกัน. “ด้วยว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้หมายถึงการกินและการดื่ม แต่หมายถึงความชอบธรรมและสันติสุขอีกทั้งความยินดีด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (14:17, ล.ม.) ความชอบธรรม, สันติสุข, และความยินดีนี้แหละเป็นส่วนของ “ทายาทร่วมกับพระคริสต์” ซึ่งจะ “รับสง่าราศีร่วมกัน” กับพระองค์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. จงสังเกตด้วยว่าพระธรรมโรมชี้อย่างไรถึงขั้นตอนต่อไปของความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรที่ให้ในสวนเอเดน โดยบอกว่า “ในไม่ช้าพระเจ้าผู้ประทานสันติสุขจะปราบซาตานให้ยับเยินใต้ฝ่าเท้าของท่านทั้งหลาย.” (โรม 8:17, ล.ม.; 16:20, ล.ม.; เย. 3:15) โดยเชื่อในความจริงที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ขอให้เราเต็มไปด้วยความยินดีและสันติสุขทั้งปวงและบริบูรณ์ด้วยความหวังต่อ ๆ ไป. ให้เราตั้งใจแน่วแน่จะรอดพ้นอย่างมีชัยร่วมกับพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักร เพราะเรามั่นใจว่าไม่ว่าสิ่งใด ๆ ในสวรรค์เบื้องบนหรือบนแผ่นดินโลกเบื้องล่าง “หรือสิ่งทรงสร้างอื่นใดจะไม่สามารถพรากเราจากความรักของพระเจ้าซึ่งอยู่ในพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.”—โรม 8:39, ล.ม.; 15:13, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a คัมภีร์ไบเบิลของเราและสำเนาต้นฉบับโบราณ (ภาษาอังกฤษ) 1958 หน้า 188.