ผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้ง ขอให้เรียนรู้จากทิโมธี
ปีที่แล้วมีพี่น้องชายหลายพันคนตลอดทั่วโลกได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น คุณก็คงดีใจที่ได้รับสิทธิพิเศษใหม่แน่ ๆ
แต่คุณอาจรู้สึกกังวลอยู่บ้างซึ่งก็ไม่แปลกถ้าคุณจะรู้สึกอย่างนั้น เจสันผู้ดูแลหนุ่มคนหนึ่งเล่าว่า “ตอนที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่าผมมีงานท่วมหัวจนไม่รู้ว่าจะทำยังไง” ตอนที่โมเสสและเยเรมีย์ได้รับงานมอบหมายใหม่จากพระยะโฮวา พวกเขาก็รู้สึกว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำงานนั้น (อพยพ 4:10; เยเรมีย์ 1:6) ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน คุณจะเอาชนะมันและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร? ขอให้ดูตัวอย่างของทิโมธี—กิจการ 16:1-3
เลียนแบบตัวอย่างของทิโมธี
ทิโมธีอาจอายุเกือบ 20 หรือ 20 ต้น ๆ ตอนที่อัครสาวกเปาโลชวนเขาร่วมเดินทางในงานมิชชันนารี ตอนนั้นทิโมธีอาจขาดความมั่นใจและไม่กล้าที่จะทำหน้าที่ใหม่นี้ เขาอาจคิดว่าเขาอายุยังน้อย (1 ทิโมธี 4:11, 12; 2 ทิโมธี 1:1, 2, 7) แต่ 10 ปีต่อมา เปาโลสามารถบอกคริสเตียนในเมืองฟีลิปปีว่า “ถ้าพระเยซูผู้เป็นนายต้องการ ผมหวังว่าจะได้ส่งทิโมธีไปหาพวกคุณเร็ว ๆ นี้ . . . ตอนนี้ ผมไม่มีใครที่มีน้ำใจเหมือนเขา”—ฟีลิปปี 2:19, 20
อะไรทำให้ทิโมธีเป็นผู้ดูแลที่โดดเด่น? มี 6 จุดที่คุณเรียนได้จากทิโมธี
1. เขาสนใจพี่น้องจริง ๆ เปาโลบอกพี่น้องในฟีลิปปีว่า “[ทิโมธี] สนใจทุกข์สุขของพวกคุณจริง ๆ” (ฟีลิปปี 2:20) ทิโมธีเป็นห่วงพี่น้อง เขาอยากให้พี่น้องใกล้ชิดกับพระยะโฮวา และเขาเต็มใจทำงานหนักขึ้นเพื่อช่วยพี่น้อง
คุณไม่ควรทำตัวเหมือนคนขับรถเมล์ที่สนใจแต่จะทำเวลาแทนที่จะสนใจรับผู้โดยสาร วิลเลียมเป็นผู้ดูแลที่น่านับถือและเป็นผู้ดูแลมามากกว่า 20 ปีแล้ว เขาแนะนำพี่น้องชายที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งว่า “พวกคุณต้องรักพี่น้อง ให้สนใจว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร ไม่ใช่สนใจแต่จะบริหารประชาคม”
2. เขาให้งานรับใช้สำคัญที่สุด เปาโลพูดถึงคนอื่นที่ทำตรงข้ามกับทิโมธีว่า “คนอื่นคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ของพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 2:21) เปาโลเขียนข้อคัมภีร์นี้ที่กรุงโรม เขาสังเกตว่าพี่น้องที่นั่นสนใจแต่เรื่องของตัวเองและไม่ค่อยทุ่มเททำงานรับใช้ แต่ทิโมธีไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อทิโมธีเห็นโอกาสที่จะประกาศข่าวดีมากขึ้น เขาคิดเหมือนอิสยาห์ที่พูดว่า “ผมเองครับ ส่งผมไปเถอะ”—อิสยาห์ 6:8
คุณจะให้เรื่องส่วนตัวกับงานรับใช้สมดุลกันได้อย่างไร? อย่างแรกคือ ต้องจัดลำดับความสำคัญ เปาโลบอกว่า “มองให้ออกว่าอะไรสำคัญกว่า” (ฟีลิปปี 1:10) ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับพระยะโฮวาต้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณด้วย และอย่างที่สอง ให้ใช้ชีวิตเรียบง่าย อย่าเสียเวลาและกำลังในสิ่งที่ไม่จำเป็น เปาโลเตือนทิโมธีว่า “หนีไปให้ไกลจากความต้องการที่มีในวัยหนุ่มสาว แต่ให้พยายามปลูกฝังคุณความดี ความเชื่อ ความรัก สันติสุข”—2 ทิโมธี 2:22
3. เขาทุ่มเทกับงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เปาโลบอกพี่น้องที่ฟีลิปปีว่า “พวกคุณรู้อยู่แล้วว่าทิโมธีเป็นคนอย่างไร เขาเป็นเหมือนลูกผม เขารับใช้ร่วมกับผมในการประกาศข่าวดี” (ฟีลิปปี 2:22) ทิโมธีไม่ใช่คนขี้เกียจ เขาทำงานกับเปาโลอย่างทุ่มเท และนี่ทำให้เขาสองคนสนิทกันและรักกันมาก
ทุกวันนี้ มีงานอีกเยอะในองค์การของพระเจ้า งานนี้ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ และทำให้สนิทกับพี่น้องมากขึ้น ขอให้คุณตั้งเป้าที่จะ “ทุ่มเทกับงานของผู้เป็นนายที่มีให้ทำมากมาย”—1 โครินธ์ 15:58
4. เขาเอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ เปาโลเขียนถึงทิโมธีว่า “คุณได้ทำตามคำสอนของผมเป็นอย่างดี และได้เลียนแบบผมในเรื่องการใช้ชีวิต จุดมุ่งหมาย ความเชื่อ ความอดกลั้น ความรัก ความอดทน” (2 ทิโมธี 3:10) เพราะทิโมธีเอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ เขาเลยมีคุณสมบัติที่จะได้รับหน้าที่มอบหมายมากขึ้น—1 โครินธ์ 4:17
มีใครที่คุณอยากเลียนแบบและขอคำปรึกษาเขาไหม? ถ้ายังไม่มี ก็ลองมองหาสักคนสิ ทอมซึ่งเป็นผู้ดูแลมานานหลายปีเล่าว่า “ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์คนหนึ่งเอาใจใส่ผมดีมากและสอนผมหลายอย่าง ผมชอบขอคำแนะนำจากเขาแล้วก็เอาไปใช้ มันทำให้ผมมั่นใจขึ้น”
5. เขาฝึกฝนตัวเองตลอด เปาโลแนะนำทิโมธีว่า “ให้ฝึกฝนตัวเองเพื่อจะมีความเลื่อมใสพระเจ้า” (1 ทิโมธี 4:7) นักกรีฑาต้องมีโค้ชช่วย แต่เขาก็ต้องฝึกซ้อมเองด้วย เปาโลกระตุ้นทิโมธีว่า “ให้คุณใส่ใจกับการอ่านให้คนอื่นฟัง การให้คำแนะนำ และการสอน . . . ให้คุณคิดใคร่ครวญและทุ่มเทกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อคนอื่นจะเห็นความก้าวหน้าของคุณได้ชัดเจน”—1 ทิโมธี 4:13-15
คุณต้องพัฒนาตัวเองต่อไป อย่าหยุดอยู่กับที่ ต้องขยันศึกษาค้นคว้าและพยายามก้าวให้ทันกับคำแนะนำใหม่ ๆ ขององค์การ อย่ามั่นใจในตัวเองมากเกินไป เช่น คิดว่าคุณมีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการกับทุกสถานการณ์โดยไม่จำเป็นต้องค้นคว้าอย่างละเอียด ให้เลียนแบบทิโมธีโดย “เอาใจใส่ตัวคุณและการสอนของคุณให้ดี”—1 ทิโมธี 4:16
6. เขาพึ่งพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา ตอนที่เปาโลพูดถึงงานรับใช้ของทิโมธี เขาเตือนทิโมธีว่า “สิ่งมีค่านี้ที่ฝากไว้กับคุณ ให้เก็บรักษาไว้ด้วยความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าซึ่งอยู่ในตัวเรา” (2 ทิโมธี 1:14) เพื่อที่ทิโมธีจะเห็นค่างานรับใช้ของเขาและรับใช้ต่อ ๆ ไปได้ เขาต้องพึ่งพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า
โดนัลด์ซึ่งเป็นผู้ดูแลมาหลายสิบปีตั้งข้อสังเกตว่า “พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งต้องถือว่าการสนิทกับพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาถึงจะรับใช้ต่อไปได้ ‘เรื่อย ๆ และไม่หมดแรง’ ถ้าเขาอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าและพยายามแสดงผลที่เกิดจากพลังนั้น เขาจะเป็นพรสำหรับพี่น้องจริง ๆ”—สดุดี 84:7; 1 เปโตร 4:11
รักสิทธิพิเศษของคุณ
เรารู้สึกได้กำลังใจมากที่เห็นพี่น้องชายมากมายที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เหมือนกับคุณกำลังก้าวหน้าในงานรับใช้อย่างดี เจสันซึ่งพูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ตลอดเวลาที่ผมเป็นผู้ดูแล ผมได้เรียนรู้หลายอย่างและก็ค่อย ๆ มั่นใจขึ้น ตอนนี้ผมชอบงานนี้มากและถือว่าเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ”
คุณพยายามก้าวหน้าในงานรับใช้พระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ ไหม? ขอให้คุณตั้งเป้าหมายที่จะเลียนแบบทิโมธี แล้วคุณก็จะเป็นพรสำหรับพี่น้องแน่นอน