พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์
อัครสาวกเปาโลเป็นห่วงสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมในเมืองโครินท์อย่างยิ่ง. ท่านได้ยินว่าเกิดความขัดแย้งกันกันในหมู่พี่น้องที่นั่น. ประชาคมนี้ยอมให้กับการทำผิดศีลธรรม. นอกจากนั้น พี่น้องที่ประชาคมนี้ได้เขียนจดหมายไปถึงเปาโลเพื่อถามเกี่ยวกับบางเรื่อง. ด้วยเหตุนั้น ราว ๆ สากลศักราช 55 เมื่อท่านอยู่ที่เมืองเอเฟโซส์ระหว่างการเดินทางรอบที่สามในฐานะมิชชันนารี เปาโลได้เขียนจดหมายฉบับแรกจากสองฉบับที่ท่านเขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์.
จดหมายฉบับที่สอง ซึ่งดูเหมือนว่าเขียนหลังจากฉบับแรกไม่กี่เดือน เป็นจดหมายที่มีเนื้อความต่อเนื่องจากฉบับแรก. เนื่องจากสภาพการณ์ทั้งในและนอกประชาคมโครินท์ในศตวรรษแรกคล้ายคลึงกับสมัยของเราในหลาย ๆ ทาง ข่าวสารในจดหมายของเปาโลถึงพี่น้องในโครินท์จึงมีคุณค่าต่อเราอย่างยิ่ง.—ฮีบรู 4:12.
‘จงตื่นอยู่ มีความเชื่อ ที่มั่นคง และเข้มแข็ง’
เปาโลกระตุ้นเตือนว่า “พวกท่านทุกคนควรพูดให้สอดคล้องกัน.” (1 โค. 1:10) ไม่มี ‘ฐานรากอื่นอีกนอกจากพระเยซูคริสต์’ สำหรับการก่อสร้างคุณลักษณะแบบคริสเตียน. (1 โค. 3:11-13) เปาโลกล่าวเกี่ยวกับผู้ทำผิดประเวณีคนหนึ่งในประชาคมนี้ว่า “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกไปจากพวกท่านเถิด.” (1 โค. 5:13) ท่านกล่าวว่า “ร่างกายไม่ได้มีไว้สำหรับการผิดประเวณี แต่มีไว้สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โค. 6:13.
เมื่อเปาโลตอบ “เรื่องที่ [พวกเขา] เขียนมานั้น” ท่านได้ให้คำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับการสมรสและการเป็นโสด. (1 โค. 7:1) หลังจากอธิบายเรื่องความเป็นประมุขของคริสเตียน, เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ณ การประชุมคริสเตียน, และเรื่องความแน่นอนของการกลับเป็นขึ้นจากตาย เปาโลกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงตื่นอยู่ จงมีความเชื่อที่มั่นคง จงปฏิบัติอย่างลูกผู้ชาย จงเข้มแข็ง.”—1 โค. 16:13.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:21—พระยะโฮวาทรงใช้ “เรื่องโง่เขลา” เพื่อช่วยคนที่เชื่อให้รอดจริง ๆ ไหม? พระองค์ไม่ได้ทำอย่างนั้น. แต่เนื่องจาก “โลกไม่ได้มารู้จักพระเจ้าด้วยปัญญาของโลก” สิ่งที่พระองค์ทรงใช้เพื่อช่วยผู้คนจึงดูเป็นเรื่องโง่เขลาในสายตาของโลก.—โย. 17:25.
5:5—การ “มอบคน [ชั่ว] นั้นแก่ซาตานเพื่อขจัดแรงชักจูงที่ผิดบาป จะได้รักษาน้ำใจอันดีของประชาคมไว้” หมายถึงอะไร? เมื่อผู้ทำบาปร้ายแรงที่ไม่กลับใจถูกประชาคมตัดสัมพันธ์ เขากลายเป็นส่วนหนึ่งในโลกชั่วของซาตานอีกครั้งหนึ่ง. (1 โย. 5:19) ด้วยเหตุนั้น จึงมีคำพรรณนาว่าเขาถูกมอบแก่ซาตาน. การขับไล่คนนั้นออกไปยังผลเป็นการทำลายหรือขจัดอิทธิพลที่เสื่อมเสียให้หมดไปจากประชาคม และรักษาน้ำใจหรือเจตคติของประชาคม.—2 ติโม. 4:22.
7:33, 34—“สิ่งที่เป็นของโลก” ซึ่งชายหญิงที่สมรสแล้วสาละวนอยู่หมายถึงอะไร? เปาโลกำลังกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งคริสเตียนที่สมรสแล้วจำเป็นต้องเป็นห่วง. สิ่งเหล่านี้รวมถึงอาหาร, เสื้อผ้า, และที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายของโลกซึ่งคริสเตียนหลีกเลี่ยง.—1 โย. 2:15-17.
11:26—ควรระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบ่อยขนาดไหน และ “จนกว่า” เมื่อไร? สิ่งที่เปาโลตั้งใจจะบอกก็คือว่าทุกครั้งที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในวันอนุสรณ์ ปีละครั้งในวันที่ 14 เดือนไนซาน พวกเขาก็กำลัง “ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” พวกเขาทำอย่างนี้ “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” ซึ่งก็คือจนกว่าพระองค์จะรับพวกเขาเข้าสู่สวรรค์โดยการกลับเป็นขึ้นจากตาย.—1 เทส. 4:14-17.
13:13—ความรักใหญ่กว่าความเชื่อและความหวังอย่างไร? เมื่อ “สิ่งที่หวังไว้” กลายเป็นจริงและ “ความมั่นใจโดยมีเหตุผลหนักแน่น” เกี่ยวกับความหวังนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว แง่มุมต่าง ๆ ของความเชื่อและความหวังก็สิ้นสุดลงแค่นั้น. (ฮีบรู 11:1) ความรักใหญ่กว่าความเชื่อและความหวังในแง่ที่ว่าความรักคงอยู่ตลอดไป.
15:29—การ “รับบัพติสมาเพื่อจะเป็นคนตาย” หมายความอย่างไร? เปาโลไม่ได้บอกเป็นนัยว่า คนที่มีชีวิตอยู่จะรับบัพติสมาเพื่อคนที่ตายไปโดยที่ยังไม่ได้รับบัพติสมา ดังที่อาจเข้าใจอย่างนั้นจากวิธีที่ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลข้อนี้. ในที่นี้ เปาโลกำลังกล่าวถึงการจุ่มตัวของคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณเข้าสู่แนวทางแห่งชีวิตซึ่งพวกเขาต้องรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนกระทั่งสิ้นชีวิตและหลังจากนั้นจึงจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตที่เป็นกายวิญญาณ.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:26-31; 3:3-9; 4:7. การอวดพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจ ไม่ใช่อวดตัวเราเอง ส่งเสริมเอกภาพในประชาคม.
2:3-5. ขณะให้คำพยานในเมืองโครินท์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปรัชญากรีก เปาโลอาจกังวลก็ได้ว่าท่านจะโน้มน้าวผู้ฟังให้เชื่อได้หรือไม่. อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ปล่อยให้ความอ่อนแอหรือความกลัวใด ๆ ก็ตามที่ท่านอาจมีขัดขวางการทำงานรับใช้ที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน. เช่นเดียวกัน เราไม่ควรปล่อยให้สภาพการณ์ที่ไม่เป็นไปตามปกติมายับยั้งเราไว้จากการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. เราสามารถหมายพึ่งพระยะโฮวาให้ช่วยด้วยความมั่นใจเช่นเดียวกับเปาโล.
2:16. การมี “จิตใจอย่างพระคริสต์” หมายถึงการที่เรารู้ว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไร, คิดอย่างที่พระองค์คิด, เข้าใจบุคลิกภาพของพระองค์เป็นอย่างดี, และเลียนแบบอย่างของพระองค์. (1 เป. 2:21; 4:1) นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะศึกษาชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูอย่างละเอียด!
3:10-15; 4:17. เราควรวิเคราะห์และปรับปรุงความสามารถของเราในการสอนและการทำให้คนเป็นสาวก. (มัด. 28:19, 20) ถ้าเราสอนไม่ดี นักศึกษาของเราอาจไม่ผ่านการทดสอบความเชื่อ และเราอาจประสบกับความสูญเสียที่เจ็บปวดมาก ถึงขนาดที่แม้ว่าเราจะรอดแต่ก็ “เหมือนรอดจากไฟ.”
6:18. การ “หลีกหนีจากการผิดประเวณี” หมายถึงการที่เราหลีกเลี่ยงไม่เพียงแค่การกระทำต่าง ๆ ที่เข้าข่ายพอร์เนีย แต่หลีกเลี่ยงสื่อลามก, ความไม่สะอาดด้านศีลธรรม, การคิดเพ้อฝันในเรื่องเพศ, การเกี้ยวพาราสีเล่น ๆ—สิ่งใดก็ตามที่อาจนำไปสู่การทำผิดประเวณี.—มัด. 5:28; ยโก. 3:17.
7:29. คู่สมรสควรระวังอย่าหมกมุ่นสนใจกันและกันมากเกินไปจนทำให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรกลายเป็นเรื่องอันดับรองในชีวิตของตน.
10:8-11. พระยะโฮวาทรงกริ้วอย่างยิ่งเมื่อชาติอิสราเอลบ่นต่อว่าโมเซและอาโรน. นับว่าฉลาดสุขุมที่เราจะระวังอย่าสร้างนิสัยชอบบ่น.
16:2. การบริจาคเงินเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของงานประกาศทั่วโลกจะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอถ้าเราวางแผนล่วงหน้าและทำอย่างเป็นระบบ.
‘ได้รับการปรับให้มีสภาพดีดังเดิมเรื่อยไป’
เปาโลบอกพี่น้องในเมืองโครินท์ว่าพวกเขาควร “เต็มใจให้อภัยและปลอบโยน” ผู้ทำผิดคนหนึ่งที่ถูกตำหนิแล้วเขาแสดงการกลับใจ. แม้ว่าจดหมายฉบับแรกที่ท่านเขียนมาทำให้พวกเขาเสียใจ แต่เปาโลก็ยินดีเพราะพวกเขา “เสียใจถึงขนาดที่กระตุ้นให้กลับใจ.”—2 โค. 2:6, 7; 7:8, 9.
‘เมื่อพวกเขามีทุกสิ่งบริบูรณ์’ เปาโลจึงสนับสนุนพี่น้องในโครินท์ให้ “มีน้ำใจบริจาคอย่างบริบูรณ์.” หลังจากตอบโต้ผู้ต่อต้านแล้ว ท่านให้คำแนะนำสุดท้ายแก่ทุกคนว่า “ขอให้พวกท่านปีติยินดีเรื่อยไป ได้รับการปรับให้มีสภาพดีดังเดิม ได้รับการชูใจจากพี่น้อง ขอให้คิดสอดคล้องกัน และดำเนินชีวิตอย่างมีสันติสุขต่อ ๆ ไป.”—2 โค. 8:7; 13:11.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:15, 16—เราเป็น “กลิ่นอันหอมหวานของข่าวดีเรื่องพระคริสต์” อย่างไร? ที่เป็นอย่างนี้เพราะเรายึดมั่นกับคัมภีร์ไบเบิลและร่วมประกาศข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล. แม้ว่า “กลิ่นอันหอมหวาน” เช่นนั้นอาจเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับคนไม่ชอบธรรม แต่เป็นกลิ่นอันหอมหวานสำหรับพระยะโฮวาและผู้มีหัวใจสุจริต.
5:16—คริสเตียนผู้ถูกเจิม “ไม่มองใครอย่างที่คนทั่วไปมอง” อย่างไร? พวกเขาไม่มองผู้คนแบบเดียวกับที่ผู้คนทั่วไปมอง กล่าวคือ เลือกที่รักมักที่ชังเพราะฐานะทางการเงิน, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, หรือสัญชาติ. สิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาคือความสัมพันธ์ฝ่ายวิญญาณกับเพื่อนร่วมความเชื่อ.
11:1, 16; 12:11—เปาโลแสดงความไร้เหตุผลกับพี่น้องในโครินท์ไหม? ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น. แต่ท่านอาจดูเหมือนเป็นคนโอ้อวดและไร้เหตุผลในสายตาของบางคน เนื่องด้วยสิ่งที่ท่านจำต้องพูดเพื่อปกป้องฐานะของท่านที่เป็นอัครสาวก.
12:1-4—ใคร “ถูกรับเข้าสู่อุทยาน”? เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงใครอื่นอีกที่ได้รับนิมิตเช่นนั้นและข้อความนี้กล่าวหลังจากเปาโลกล่าวปกป้องฐานะของท่านที่เป็นอัครสาวก อาจเป็นไปได้มากว่าท่านกำลังเล่าประสบการณ์ของตัวท่านเอง. สิ่งที่ท่านอัครสาวกเห็นในนิมิตคงจะเป็นอุทยานฝ่ายวิญญาณอันเป็นสภาพที่มีอยู่ท่ามกลางประชาคมคริสเตียนใน “เวลาอวสาน.”—ดานิ. 12:4, ล.ม.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:5. โดยหลักการแล้ว ข้อนี้บอกเราว่าพระยะโฮวาทรงทำให้คริสเตียนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับงานรับใช้ด้วยพระคำของพระองค์, พระวิญญาณบริสุทธิ์, และองค์การของพระองค์ส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. (โย. 16:7; 2 ติโม. 3:16, 17) เราควรศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักอย่างขยันขันแข็ง, พากเพียรในการอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์, รวมถึงเข้าร่วมและมีส่วนเป็นประจำในการประชุมคริสเตียน.—เพลง. 1:1-3; ลูกา 11:10-13; ฮีบรู 10:24, 25.
4:16. เนื่องจาก “สภาพภายในของเราก็ได้รับการเสริมกำลังขึ้นใหม่ทุกวัน” โดยพระยะโฮวา เราควรพร้อมเสมอที่จะรับเอาการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยไม่ได้พิจารณาสิ่งฝ่ายวิญญาณ.
4:17, 18. การจำไว้ว่า “ความทุกข์ลำบากนั้นมีชั่วประเดี๋ยวเดียวและไม่หนัก” อาจช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาอยู่เสมอในช่วงที่ประสบความทุกข์ลำบาก.
5:1-5. เปาโลพรรณนาความรู้สึกของคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่มีต่อความหวังจะได้รับชีวิตในสวรรค์ไว้อย่างงดงามจริง ๆ!
10:13. ตามกฎโดยทั่วไปแล้ว เราควรทำงานเฉพาะเขตมอบหมายของประชาคม เว้นแต่ว่าเราจะได้รับมอบหมายให้ช่วยในเขตที่มีความจำเป็นมากกว่า.
13:5. เพื่อจะ ‘ทดสอบว่าเรายึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่’ เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการกระทำของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. เพื่อจะ ‘พิสูจน์ยืนยันตัวเราเอง’ เราต้องประเมินดูว่าสภาพฝ่ายวิญญาณของเราอยู่ในระดับใด รวมไปถึงความสามารถของเราในการใช้ “วิจารณญาณ” และขอบเขตของงานรับใช้ที่เราทำ. (ฮีบรู 5:14; ยโก. 1:22-25) โดยใช้คำแนะนำที่ดีของเปาโล เราสามารถดำเนินต่อ ๆ ไปในแนวทางแห่งความจริง.
[ภาพหน้า 26, 27]
ถ้อยคำที่ว่า “เมื่อใดก็ตามที่ท่านทั้งหลายกินขนมปังและดื่มจากถ้วยตามอย่างนี้” หมายถึงอะไร?—1 โค. 11:26