คุณจะเลือกฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ดีได้อย่างไร?
แต่เดิมไบเบิลเขียนขึ้นด้วยภาษาฮีบรูโบราณ, ภาษาอาระเมอิก, และภาษากรีก. ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการอ่านพระคัมภีร์จึงต้องอ่านจากฉบับที่แปลแล้ว.
ทุกวันนี้ คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก—ส่วนต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลหาอ่านได้ในกว่า 2,400 ภาษา. บางภาษามีฉบับแปลต่าง ๆ มากมาย. หากในภาษาของคุณมีคัมภีร์ไบเบิลให้เลือกอ่านหลายฉบับ แน่นอนว่าคุณคงต้องการเลือกฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้.
เพื่อจะเลือกได้อย่างสุขุม คุณจำเป็นต้องทราบคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้: มีฉบับแปลแบบไหนให้เลือกบ้าง? ข้อดีและข้อด้อยของการแปลแต่ละแบบมีอะไรบ้าง? และทำไมคุณควรระวังเมื่ออ่านฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับ?
การแปลที่ต่างกันอย่างสุดโต่ง
คัมภีร์ไบเบิลแต่ละฉบับมีลักษณะต่างกันออกไปมากมาย แต่สามารถแยกได้เป็นสามประเภทหลัก ๆ. ฉบับแปลแบบสุดโต่งประเภทหนึ่งคือฉบับที่แทรกคำแปลระหว่างบรรทัด. ฉบับแปลประเภทนี้จะมีข้อความต้นฉบับพร้อมด้วยคำแปลแบบคำต่อคำ.
อีกประเภทหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงคือฉบับที่แปลแบบถอดความ. ผู้แปลพระคัมภีร์ฉบับเหล่านี้จะเรียบเรียงข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลออกมาอย่างอิสระตามความเข้าใจของพวกเขาเองและในวิธีที่พวกเขาคิดว่าผู้อ่านน่าจะชอบ.
ประเภทที่สามคือฉบับแปลที่พยายามจะรักษาความสมดุลระหว่างการแปลสองอย่างที่ต่างกันอย่างสุดโต่ง. ฉบับแปลประเภทนี้พยายามจะถ่ายทอดความหมายและอรรถรสของข้อความในภาษาต้นฉบับและขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ข้อความที่แปลแล้วอ่านง่าย.
ฉบับที่แปลแบบคำต่อคำดีที่สุดไหม?
บ่อยครั้งการแปลแบบคำต่อคำอย่างเคร่งครัดอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ในการถ่ายทอดความหมายของข้อคัมภีร์แต่ละข้อ. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? มีเหตุผลหลายประการด้วยกัน. ต่อไปนี้คือเหตุผลสองประการ:
1. ไม่มีสองภาษาใดที่เหมือนกันทุกประการในเรื่องไวยากรณ์, คำศัพท์, และโครงสร้างประโยค. ดร. เอส. อาร์. ไดรเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านภาษาฮีบรูกล่าวว่า ภาษา “ไม่ได้แตกต่างกันที่ไวยากรณ์และคำศัพท์เท่านั้น แต่ยังต่างกัน . . . ที่วิธีรวมแนวคิดเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นประโยคด้วย.” คนที่พูดภาษาต่างกันมีวิธีคิดต่างกัน. ศาสตราจารย์ไดรเวอร์กล่าวต่อว่า “ดังนั้น โครงสร้างของประโยคในภาษาต่าง ๆ จึงไม่เหมือนกัน.”
เนื่องจากไม่มีภาษาใดมีคำศัพท์และไวยากรณ์ตรงกันกับภาษาฮีบรูและกรีกที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิลในทุกด้าน คัมภีร์ไบเบิลที่แปลแบบคำต่อคำจึงไม่ชัดเจนหรืออาจถึงกับถ่ายทอดความหมายผิด. ขอพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้.
ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวเอเฟโซส์ ท่านใช้สำนวนหนึ่งซึ่งแปลตรงตัวว่า “ในลูกบาศก์ (ลูกเต๋า) ของมนุษย์.” (เอเฟโซส์ 4:14, พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์)a สำนวนนี้มาจากการโกงคนอื่นเมื่อใช้ลูกเต๋า. แต่ในภาษาส่วนใหญ่ การแปลตรงตัวไม่สื่อความหมายอะไร. การแปลสำนวนนี้ว่า “กลอุบายของมนุษย์” เป็นการแปลที่ถ่ายทอดความหมายได้ชัดเจนกว่า.
เมื่อเปาโลเขียนไปถึงชาวโรมัน ท่านใช้สำนวนภาษากรีกที่มีความหมายตามตัวอักษรว่า “วิญญาณที่เดือดพล่าน.” (โรม 12:11, คิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) คำพูดนี้ฟังเข้าใจไหมในภาษาของคุณ? สำนวนนี้แท้จริงแล้วมีความหมายว่า “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ.”
ในคำตรัสที่มีชื่อเสียงที่สุดครั้งหนึ่งของพระเยซู พระองค์ทรงใช้สำนวนซึ่งมักมีการแปลว่า “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณก็เป็นสุข.” (มัดธาย 5:3) แต่ในหลายภาษาคำแปลตามตัวอักษรสื่อความหมายไม่ชัดเจน. ในบางกรณี การแปลตามตัวอักษรทุกคำอาจถึงกับแสดงนัยว่าบุคคลที่ “บกพร่องฝ่ายวิญญาณ” คือคนที่ไม่สมดุลทางความคิดหรือขาดกำลังและความมุ่งมั่น. อย่างไรก็ตาม ในข้อนี้พระเยซูกำลังสอนประชาชนว่าความสุขของพวกเขาขึ้นอยู่กับการยอมรับว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระเจ้า ไม่ใช่การสนองความจำเป็นด้านร่างกายของตนเอง. (ลูกา 6:20) ดังนั้น การแปลว่า “ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ” หรือ “ผู้ใดรู้สึกว่าตนต้องการพระเจ้า” ถ่ายทอดความหมายของสำนวนนี้ได้ถูกต้องกว่า.—มัดธาย 5:3; ฉบับประชานิยม.
2. ความหมายของคำหรือสำนวนอาจเปลี่ยนไปได้ขึ้นอยู่กับท้องเรื่องที่มีการใช้คำนั้น. ตัวอย่างเช่น คำภาษาฮีบรูซึ่งตามปกติแล้วหมายถึงมือมนุษย์อาจมีความหมายหลายอย่าง. ตัวอย่างเช่น คำนี้อาจแปลว่า “ที่ระลึก,” “อำนาจ,” หรือ “ริม [แม่น้ำ].” (1 ซามูเอล 15:12; 2 ซามูเอล 8:3; ยิระมะยา 46:6) ที่จริง พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษใช้มากกว่า 40 วิธีในการแปลคำนี้.
เนื่องจากท้องเรื่องอาจมีผลต่อการแปลคำคำหนึ่ง ฉบับแปลโลกใหม่ จึงใช้ศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษเกือบ 16,000 คำเพื่อแปลคำภาษากรีกราว 5,500 คำ และใช้คำภาษาอังกฤษมากกว่า 27,000 คำเพื่อแปลคำภาษาฮีบรูราว 8,500 คำ.b ทำไมจึงใช้คำมากมายในการแปล? คณะกรรมการการแปลมีความเห็นว่าการแปลคำเหล่านี้ให้มีความหมายสอดคล้องกับท้องเรื่องมีความสำคัญมากกว่าการแปลตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด. ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฉบับแปลโลกใหม่ รักษาความเสมอต้นเสมอปลายเท่าที่เป็นไปได้เมื่อแปลคำภาษาฮีบรูและกรีกเป็นภาษาอังกฤษ.
เห็นชัดว่า การแปลคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นเพียงการแปลคำในภาษาต้นฉบับด้วยสำนวนเดียวกันทุกครั้งที่มีคำนี้ปรากฏ. ผู้แปลต้องใช้วิจารณญาณเพื่อจะเลือกคำที่ถ่ายทอดแนวคิดในข้อความต้นฉบับได้ถูกต้องและเข้าใจได้. นอกจากนี้ขณะที่แปลพวกเขายังต้องเอาคำมาผูกให้เป็นประโยคที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษาซึ่งใช้แปลด้วย.
จะว่าอย่างไรกับการแปลแบบอิสระ?
ผู้แปลที่แปลฉบับต่าง ๆ ซึ่งบ่อยครั้งเรียกกันว่า คัมภีร์ไบเบิลฉบับถอดความหรือฉบับอิสระ ได้แปลข้อความต่างไปจากต้นฉบับ. ต่างอย่างไร? พวกเขาอาจสอดแทรกความคิดของตัวเองเกี่ยวกับความหมายของต้นฉบับหรือตัดข้อมูลบางอย่างที่มีในต้นฉบับออกไป. ฉบับแปลแบบถอดความอาจดูน่าอ่านเพราะอ่านง่าย. แต่เนื่องจากผู้แปลพยายามทำให้อ่านง่าย บางครั้งความหมายของต้นฉบับจึงกำกวมหรือเปลี่ยนไป.
ลองพิจารณาวิธีที่ฉบับแปลแบบถอดความฉบับหนึ่งแปลคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูที่หลายคนรู้จักดี: “ข้าแต่พระบิดาในสวรรค์ ขอทรงเปิดเผยพระองค์เอง.” (มัดธาย 6:9, เดอะ แมสเซจ: เดอะ ไบเบิล อิน คอนเทมโพรารี แลงเกวจ) ฉบับแปลที่ถูกต้องกว่าแปลคำตรัสของพระเยซูตอนนี้ว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” ขอสังเกตด้วยว่ามีการแปลโยฮัน 17:26 อย่างไรในคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับ. พระคัมภีร์ฉบับหนึ่งที่แปลแบบอิสระกล่าวว่า ในคืนที่พระเยซูถูกจับ พระองค์ทรงอธิษฐานถึงพระบิดาว่า “ลูกให้เขารู้จักพระองค์.” (ฉบับประชานิยม) อย่างไรก็ตาม ฉบับแปลที่ซื่อสัตย์กว่าแปลคำอธิษฐานของพระเยซูดังนี้: “ข้าพเจ้าได้ทำให้พวกเขารู้จักพระนามของพระองค์.” คุณมองเห็นวิธีที่ผู้แปลบางคนปิดซ่อนความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงมีพระนามซึ่งเราควรใช้และยกย่องไหม?
ทำไมจำเป็นต้องระวัง?
ฉบับแปลแบบอิสระบางฉบับทำให้มาตรฐานศีลธรรมที่บอกไว้ในข้อความต้นฉบับไม่ชัดเจน. ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลเดอะ แมสเซจ: เดอะ ไบเบิล อิน คอนเทมโพรารี แลงเกวจ กล่าวที่ 1 โครินท์ 6:9, 10 ว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ควรดำเนินชีวิต? คนอธรรมซึ่งไม่สนใจเรื่องพระเจ้าจะไม่ได้มีส่วนในราชอาณาจักรของพระเจ้า? คนที่ใช้คนด้วยกันและใช้ในทางผิด, คนที่ใช้เพศและใช้ในทางผิด, คนที่ใช้โลกและทุกสิ่งในโลกและใช้ในทางผิด ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นราษฎรในราชอาณาจักรของพระเจ้า.”
เปรียบเทียบฉบับนี้กับการแปลที่ถูกต้องกว่าในฉบับแปลโลกใหม่: “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าคนอธรรมจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้า? อย่าหลงผิดเลย. คนผิดประเวณี คนไหว้รูปเคารพ คนเล่นชู้ ชายที่บำเรอชาย ชายรักร่วมเพศ ขโมย คนโลภ คนขี้เมา คนปากร้าย คนกรรโชกทรัพย์ จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” ขอสังเกตว่ารายละเอียดที่อัครสาวกเปาโลแจกแจงอย่างเจาะจงเกี่ยวกับการประพฤติที่เราควรหลีกเลี่ยงนั้นไม่มีกล่าวถึงในฉบับแปลอิสระที่ยกมาเลยด้วยซ้ำ.
อคติในด้านหลักคำสอนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีผลกระทบต่องานของผู้แปล. ตัวอย่างเช่น ฉบับประชานิยม แปลคำตรัสของพระเยซูที่ตรัสกับสาวกของพระองค์ดังนี้: “จงเข้าไปทางประตูแคบเถิด เพราะประตูกว้างและทางเดินสบายย่อมนำไปสู่นรก มีคนมากมายเดินทางสายนั้น.” (มัดธาย 7:13) ผู้แปลได้ใส่คำ “นรก” เข้าไป ถึงแม้ว่าบันทึกของมัดธายจะบอกชัดว่า “ความพินาศ.” ทำไมพวกเขาจึงทำเช่นนั้น? อาจเป็นได้ว่าพวกเขาต้องการส่งเสริมความคิดที่ว่าคนชั่วจะถูกทรมานตลอดกาล ไม่ใช่ถูกทำลาย.c
จะพบฉบับแปลที่ดีที่สุดได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นด้วยภาษาที่คนธรรมดา เช่น ชาวนาชาวไร่, คนเลี้ยงแกะ, และชาวประมงใช้กันในชีวิตประจำวัน. (นะเฮมยา 8:8, 12; กิจการ 4:13) ฉะนั้น ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ดีจะต้องทำให้ข่าวสารของพระคัมภีร์เข้าถึงผู้คนที่จริงใจ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีภูมิหลังเช่นไร. นอกจากนี้ ฉบับแปลที่ดีจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย:
◗ ถ่ายทอดข่าวสารดั้งเดิมที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าอย่างถูกต้อง.—2 ติโมเธียว 3:16.
◗ แปลความหมายของคำต่าง ๆ เป็นอีกภาษาหนึ่งตามตัวอักษร ในกรณีที่คำและโครงสร้างของข้อความต้นฉบับเอื้อต่อการทำเช่นนั้น.
◗ ถ่ายทอดความหมายที่ถูกต้องของคำหรือวลีในกรณีที่การแปลภาษาต้นฉบับตามตัวอักษรทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปหรือเข้าใจยาก.
◗ ใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ เข้าใจง่ายซึ่งทำให้น่าอ่าน.
มีฉบับแปลเช่นนั้นไหม? หลายล้านคนที่อ่านวารสารนี้ชอบใช้ฉบับแปลโลกใหม่. เพราะเหตุใด? ก็เพราะพวกเขาเห็นพ้องกับวิธีการแปลที่คณะกรรมการการแปลของฉบับนี้ได้ใช้ ดังที่ชี้แจงในคำนำของพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษที่พิมพ์เป็นงวดแรกว่า “เราไม่แปลพระคัมภีร์แบบถอดความ. เราพยายามแปลตรงตัวให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีสำนวนเดียวกันในภาษาอังกฤษสมัยปัจจุบันและเมื่อการแปลแบบตรงตัวไม่ทำให้ความหมายกำกวมหรือฟังแปลก.”
มีการพิมพ์ฉบับแปลโลกใหม่ ทั้งเล่มหรือบางส่วนเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 60 ภาษา โดยมียอดพิมพ์ทั้งสิ้นมากกว่า 145,000,000 เล่ม! ถ้าในภาษาของคุณมีฉบับแปลนี้ คุณอาจขอเล่มหนึ่งได้จากพยานพระยะโฮวา แล้วดูด้วยตัวเองว่าคุณได้ประโยชน์อย่างไรจากฉบับแปลที่ถูกต้องนี้.
นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจต้องการเข้าใจข่าวสารที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าและปฏิบัติตามนั้น. ถ้าคุณเป็นคนเช่นนั้น คุณก็จำเป็นต้องมีคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่แปลถูกต้อง. ที่จริง คุณคู่ควรกับคัมภีร์ไบเบิลอย่างนั้น.
[เชิงอรรถ]
a ในฉบับแปลที่แทรกคำแปลระหว่างบรรทัดผู้อ่านจะเห็นคำแปลที่ตรงตัวของแต่ละคำพร้อม ๆ กับข้อความในภาษาต้นฉบับ.
b น่าสังเกตว่าฉบับแปลภาษาอังกฤษบางฉบับใช้คำแปลหลากหลายกว่าฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับเหล่านั้นจึงมีความเสมอต้นเสมอปลายน้อยกว่า.
c คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าเมื่อเราตาย เราก็กลับเป็นดิน และไม่มีส่วนใดของตัวเราที่รอดจากความตาย และเราไม่มีความคิดหรือความรู้สึกอีกต่อไป. (เยเนซิศ 3:19; ท่านผู้ประกาศ 9:5, 6; ยะเอศเคล 18:4) ไม่มีข้อใดในคัมภีร์ไบเบิลที่สอนว่าคนชั่วจะทุกข์ทรมานตลอดกาลในไฟนรก.
[คำโปรยหน้า 21]
ฉบับแปลแบบถอดความอาจดูน่าอ่านเพราะอ่านง่าย. แต่บางครั้งวิธีแปลที่เป็นอิสระมากก็ทำให้ความหมายกำกวมหรือผิดไปจากต้นฉบับ
[คำโปรยหน้า 22]
มีการพิมพ์พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ทั้งเล่มหรือบางส่วนเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 60 ภาษา โดยมียอดพิมพ์ทั้งสิ้นมากกว่า 145,000,000 เล่ม!
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
ฉบับถอดความที่เก่าแก่
คัมภีร์ไบเบิลที่แปลแบบถอดความหรือแปลแบบอิสระมีมานานแล้ว. ในสมัยโบราณ ชาวยิวรวบรวมข้อเขียนที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ทาร์กุมภาษาอาระเมอิก ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่แปลแบบถอดความจนต่างไปจากต้นฉบับมาก. แม้จะไม่ใช่ฉบับแปลที่ถูกต้อง แต่ทาร์กุมเหล่านี้ก็ทำให้รู้ว่าชาวยิวเข้าใจข้อความบางตอนอย่างไรและช่วยให้ผู้แปลคนอื่น ๆ ตัดสินได้ว่าข้อความบางตอนที่เข้าใจยากน่าจะมีความหมายอย่างไร. ตัวอย่างเช่น ที่โยบ 38:7 มีการอธิบายว่า “เหล่าบุตรของพระเจ้า” หมายถึง “หมู่ทูตสวรรค์.” ที่เยเนซิศ 10:9 ฉบับทาร์กุมชี้ว่าคำบุพบทภาษาฮีบรูที่ใช้อธิบายความเป็นปรปักษ์ของนิมโรดนั้นมีความหมายว่า “ต่อสู้” หรือ “ต่อต้าน” แทนที่จะเป็น “ต่อ” ในความหมายกลาง ๆ เท่านั้น. มีการใช้ส่วนที่ถอดความนี้ร่วมกับข้อความของคัมภีร์ไบเบิลแต่ไม่เคยมีจุดประสงค์ที่จะใช้แทนคัมภีร์ไบเบิล.
[รูปภาพ]
ส่วนหนึ่งของฉบับแปล “บิบลิอา โพลีกลอตตา” ของวอลตัน แปลเสร็จในปี 1657 โยบ 38:1-15
ข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู (พร้อมด้วยคำแปลที่แทรกระหว่างบรรทัดในภาษาละติน)
ข้อความที่มีความหมายตรงกันในทาร์กุมภาษาอาระเมอิก
[ภาพหน้า 19]
ส่วนหนึ่งของ “พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์” เอเฟโซส์ 4:14
ข้อความด้านซ้ายคือการแปลแบบคำต่อคำ. ข้อความด้านขวาคือการแปลตามความหมาย
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Background: Shrine of the Book, Israel Museum, Jerusalem