จงมองในแง่ดีแม้เมื่อชีวิตสมรสมีปัญหา
“สำหรับคนที่แต่งงานแล้ว ข้าพเจ้ามีคำสั่งซึ่งไม่ใช่คำสั่งของข้าพเจ้า แต่เป็นคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โค. 7:10
คุณอธิบายได้ไหม?
พระเจ้าทรงผูกพันคู่สมรสไว้ด้วยกันในความหมายใด?
ผู้ปกครองจะช่วยคริสเตียนที่มีปัญหาในชีวิตสมรสได้อย่างไร?
เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการสมรส?
1. คริสเตียนมองการสมรสอย่างไร และเพราะเหตุใด?
เมื่อคริสเตียนแต่งงาน พวกเขาปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ. (ผู้ป. 5:4-6) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ก่อตั้งการสมรส พระองค์ “ทรงผูกมัด” คู่สมรสไว้ด้วยกัน. (มโก. 10:9) ในสายพระเนตรของพระเจ้าคู่สมรสถูกผูกมัดไว้ด้วยกันไม่ว่ากฎหมายของประเทศที่เขาอยู่จะเป็นอย่างไรก็ตาม. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาควรมองคำปฏิญาณการสมรสเหมือนกับที่พระองค์ทรงมอง ไม่ว่าตอนที่เขาแต่งงานนั้นเขาเป็นผู้นมัสการพระองค์หรือไม่ก็ตาม.
2. คำถามอะไรที่จะพิจารณาในบทความนี้?
2 ชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จทำให้มีความสุขอย่างมาก. แต่อาจทำอะไรได้ถ้าสายสัมพันธ์ในชีวิตสมรสมีปัญหา? ชีวิตสมรสที่มีปัญหาจะดีขึ้นได้ไหม? มีอะไรจะช่วยคู่สมรสที่ขาดความสงบสุขในครอบครัว?
ชีวิตสมรสจะทำให้ยินดีหรือปวดร้าวใจ?
3, 4. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าใครคนหนึ่งตัดสินใจอย่างไม่สุขุมเมื่อเลือกคู่สมรส?
3 เมื่อชีวิตสมรสของคริสเตียนประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีและทำให้พระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญ. แต่ถ้าล้มเหลว อย่างน้อยที่สุดก็คงทำให้เกิดความปวดร้าวใจ. คริสเตียนโสดที่คิดจะแต่งงานสามารถเริ่มต้นชีวิตสมรสที่ดีได้ถ้าเขาทำตามการชี้นำจากพระเจ้า. ตรงกันข้าม คนที่ตัดสินใจอย่างไม่สุขุมเมื่อเลือกคนที่จะมาเป็นสามีหรือภรรยาอาจต้องรับผลที่ไม่น่าพอใจและน่าเศร้า. ตัวอย่างเช่น เยาวชนบางคนเริ่มนัดพบตอนที่พวกเขายังไม่พร้อมจะรับหน้าที่รับผิดชอบของชีวิตสมรส. บางคนหาคู่ครองจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็พัฒนาสายสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็ลงเอยด้วยการมีชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุข. ส่วนบางคนทำผิดร้ายแรงในช่วงที่ติดต่อฝากรัก แล้วก็เริ่มชีวิตสมรสอย่างที่ไม่ค่อยมีความนับถือต่อกัน.
4 คริสเตียนบางคนไม่ได้สมรสกับ “ผู้ที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า” และต้องทนรับความปวดร้าวใจซึ่งมักเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน. (1 โค. 7:39) ถ้าคุณอยู่ในสภาพอย่างนี้ จงอธิษฐานขอพระเจ้าทรงให้อภัยและขอความช่วยเหลือจากพระองค์. พระองค์ไม่ทรงขจัดผลกระทบที่เกิดจากความผิดในอดีตของคริสเตียน แต่พระองค์ทรงช่วยคนที่กลับใจให้รับมือความทุกข์ลำบาก. (เพลง. 130:1-4) จงพยายามให้ดีที่สุดในการทำให้พระเจ้าพอพระทัยในขณะนี้และตลอดไป แล้ว ‘ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาจะเป็นกำลังของคุณ.’—นเฮม. 8:10
เมื่อชีวิตสมรสมีปัญหาร้ายแรง
5. ถ้าชีวิตสมรสไม่มีความสุข ควรหลีกเลี่ยงความคิดแบบใด?
5 บางคนที่ไม่มีความสุขในชีวิตสมรสอาจสงสัยว่า ‘คุ้มค่าจริง ๆ หรือที่จะรักษาชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขเอาไว้? ถ้าฉันย้อนเวลากลับไปได้และเริ่มต้นใหม่กับอีกคนหนึ่งได้ฉันคงมีความสุขกว่านี้เยอะ!’ พวกเขาอาจฝันไปถึงการหลุดพ้นจากพันธะผูกมัด โดยอาจคิดว่า ‘ถ้าฉันกลับไปมีอิสระอีกครั้งหนึ่งได้ก็คงจะดี! ฉันน่าจะหย่าเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย! แต่ถ้าหย่าไม่ได้ตามหลักพระคัมภีร์ แล้วทำไมไม่แยกกันอยู่ล่ะฉันจะได้มีความสุขกับชีวิตอีกครั้งหนึ่ง.’ แทนที่จะคิดอย่างนั้นหรือสร้างจินตนาการขึ้นมาว่าถ้าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร คริสเตียนควรพยายามดำเนินชีวิตตามสภาพที่เป็นจริงในขณะนี้ให้ดีที่สุดโดยขอการชี้นำจากพระเจ้าและทำตามการชี้นำนั้น.
6. จงอธิบายคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 19:9.
6 ถ้าคริสเตียนคนใดคิดจะหย่า เขาหรือเธออาจมีอิสระที่จะสมรสใหม่ได้หรืออาจไม่มีอิสระที่จะทำอย่างนั้นตามหลักพระคัมภีร์. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดที่หย่าภรรยาแล้วแต่งงานใหม่ก็เป็นคนเล่นชู้ เว้นแต่หย่าเพราะเหตุที่นางผิดประเวณี.” (มัด. 19:9) ในที่นี้ ‘การผิดประเวณี’ หมายถึงการเล่นชู้และการกระทำผิดทางเพศที่ร้ายแรงอื่น ๆ. หากคริสเตียนเริ่มคิดที่จะหย่าแม้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดศีลธรรมทางเพศ เป็นเรื่องสำคัญที่เขาจะอธิษฐานขอความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระเจ้า.
7. ผู้คนอาจคิดอย่างไรถ้าชีวิตสมรสของคริสเตียนล้มเหลว?
7 หากการสมรสของใครคนหนึ่งล้มเหลว นั่นอาจทำให้เกิดข้อสงสัยได้ในเรื่องสภาพฝ่ายวิญญาณของเขา. อัครสาวกเปาโลตั้งคำถามที่จริงจังว่า “ถ้าชายคนใดไม่รู้จักปกครองครอบครัวตนเอง เขาจะดูแลประชาคมของพระเจ้าได้อย่างไร?” (1 ติโม. 3:5) ที่จริง เมื่อทั้งคู่บอกว่าเป็นคริสเตียนแต่ชีวิตสมรสของพวกเขาล้มเหลว ผู้คนอาจคิดว่าสองคนนี้พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง.—โรม 2:21-24
8. หากคู่สมรสคริสเตียนตัดสินใจแยกทางกัน นั่นแสดงว่ามีอะไรที่ผิดพลาดไป?
8 เมื่อคู่สมรสที่รับบัพติสมาแล้ววางแผนจะแยกกันอยู่หรือหย่ากันอย่างไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์ คงต้องมีบางสิ่งที่ผิดพลาดอย่างแน่นอนในเรื่องสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวา. ดูเหมือนว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออาจจะทั้งคู่ไม่ได้ทำตามหลักการในพระคัมภีร์. ถ้าทั้งสอง “วางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจ” พวกเขาคงจะรักษาชีวิตสมรสไว้ได้.—อ่านสุภาษิต 3:5, 6
9. คริสเตียนบางคนได้รับบำเหน็จอย่างไรสำหรับความบากบั่นพยายามในการรักษาชีวิตสมรส?
9 มีหลายคู่ที่ชีวิตสมรสดูเหมือนจะล้มเหลว แต่ในเวลาต่อมากลับประสบความสำเร็จอย่างมาก. คริสเตียนที่ไม่ยอมล้มเลิกความพยายามง่าย ๆ เมื่อชีวิตสมรสมีปัญหามักได้รับบำเหน็จมากมาย. ขอให้พิจารณาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ให้ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยายอมเชื่อฟังสามีของตน เพื่อว่าถ้าสามีคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ การประพฤติของภรรยาก็อาจชนะใจเขาโดยไม่ต้องเอ่ยปาก เนื่องจากเขาได้เห็นการประพฤติอันบริสุทธิ์พร้อมกับความนับถืออย่างสุดซึ้งของท่านทั้งหลาย.” (1 เป. 3:1, 2) เนื่องด้วยการประพฤติที่ดี คู่สมรสที่ไม่มีความเชื่ออาจตอบรับความจริง! คริสเตียนที่รักษาชีวิตสมรสไว้ทำให้พระเจ้าได้รับคำสรรเสริญและทำให้ทั้งครอบครัวได้รับพระพร.
10, 11. อาจเกิดปัญหาอย่างไม่คาดคิดเช่นไรในชีวิตสมรส แต่คริสเตียนอาจแน่ใจได้ในเรื่องใด?
10 โดยปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย คริสเตียนโสดส่วนใหญ่เลือกเพื่อนร่วมความเชื่อที่อุทิศตัวแล้วเป็นคู่สมรส. แต่แม้ว่าเป็นอย่างนั้น ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น. ตัวอย่างเช่น คู่สมรสอาจเริ่มมีปัญหาทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก. หรือเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากแต่งงานแล้ว คู่สมรสอาจกลายเป็นผู้ที่เลิกประกาศ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากรณีของลินดาa ซึ่งเป็นคริสเตียนที่กระตือรือร้นและเป็นมารดาที่ทุ่มเท. เธอรู้สึกสิ้นหวังเมื่อเห็นสามีซึ่งรับบัพติสมาแล้วเริ่มดำเนินในแนวทางที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์อย่างไม่ยอมกลับใจและถูกตัดสัมพันธ์ไปในที่สุด. คริสเตียนควรทำอะไรถ้าสายสัมพันธ์ในชีวิตสมรสของเขาดูเหมือนจะสิ้นหวังแล้วด้วยสาเหตุดังกล่าว?
11 คุณอาจถามว่า ‘ฉันต้องพยายามรักษาชีวิตสมรสของฉันไว้ต่อ ๆ ไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นไหม?’ ไม่มีใครอาจตัดสินใจแทนคุณได้และไม่ควรมีใครทำอย่างนั้น. ถึงกระนั้น มีเหตุผลที่ดีที่จะไม่ล้มเลิกความพยายามเมื่อชีวิตสมรสมีปัญหา. ชายหญิงที่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งอดทนกับชีวิตสมรสที่มีปัญหาเพื่อจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีมีค่ายิ่งในสายพระเนตรพระเจ้า. (อ่าน 1 เปโตร 2:19, 20) โดยทางพระคำและพระวิญญาณ พระยะโฮวาจะช่วยคริสเตียนที่พยายามอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขชีวิตสมรสที่มีปัญหาให้ดีขึ้น.
พวกเขาพร้อมจะช่วย
12. ผู้ปกครองจะมองเราอย่างไรถ้าเราขอความช่วยเหลือจากพวกเขา?
12 ถ้าคุณมีปัญหาในชีวิตสมรส อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคริสเตียนที่มีประสบการณ์. ผู้ปกครองรับใช้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะและพวกเขายินดีจะชี้ให้คุณดูคำแนะนำที่มีขึ้นด้วยการดลใจจากพระคัมภีร์. (กิจ. 20:28; ยโก. 5:14, 15) อย่าลงความเห็นว่าผู้ปกครองจะไม่นับถือคุณและคู่ของคุณถ้าคุณขอความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณและปรึกษาปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับชีวิตสมรสกับพวกเขา. พวกเขาจะรักและนับถือคุณมากขึ้นเมื่อเห็นว่าคุณปรารถนาอย่างจริงจังที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย.
13. มีคำแนะนำอะไรที่ 1 โครินท์ 7:10-16?
13 เมื่อคริสเตียนที่อยู่ในครอบครัวที่นับถือศาสนาต่างกันขอความช่วยเหลือ ผู้ปกครองอาจชี้ให้ดูคำแนะนำบางอย่าง เช่น คำแนะนำของเปาโล ที่ว่า “สำหรับคนที่แต่งงานแล้ว ข้าพเจ้ามีคำสั่งซึ่งไม่ใช่คำสั่งของข้าพเจ้า แต่เป็นคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ภรรยาไม่ควรไปจากสามี แต่ถ้านางไปจากเขา ก็อย่าแต่งงานใหม่ หรือไม่ก็ให้นางคืนดีกับสามี และสามีไม่ควรทิ้งภรรยา. . . . ด้วยว่าท่านที่เป็นภรรยา ท่านรู้ได้อย่างไรว่าท่านจะช่วยสามีให้รอดไม่ได้? ท่านที่เป็นสามี ท่านรู้ได้อย่างไรว่าท่านจะช่วยภรรยาให้รอดไม่ได้?” (1 โค. 7:10-16) นับเป็นพระพรอย่างแท้จริงเมื่อคริสเตียนชนะใจคู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อและช่วยเขาเข้ามานมัสการพระยะโฮวา!
14, 15. คู่สมรสคริสเตียนอาจคิดถึงการไปจากคู่สมรสจริง ๆ ได้เมื่อไร แต่เหตุใดคริสเตียนควรอธิษฐานและตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา?
14 ภรรยาที่เป็นคริสเตียนอาจ “ไปจาก” สามีจริง ๆ ได้ในสถานการณ์เช่นไร? บางคนเลือกจะแยกกันอยู่เพราะคู่สมรสจงใจไม่เลี้ยงดู. ส่วนบางคนทำอย่างนั้นเพราะถูกสามีทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือการกระทำของเขาทำให้เธอไม่สามารถรับใช้พระเจ้าได้.
15 การที่ใครคนหนึ่งเลือกจะอยู่หรือไปจากคู่ของตนเป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจเอง. อย่างไรก็ตาม คู่สมรสที่รับบัพติสมาแล้วควรอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้และตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา. ตัวอย่างเช่น คู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อเป็นเพียงผู้เดียวที่ขัดขวางคู่สมรสคริสเตียนไม่ให้รับใช้พระยะโฮวาไหม หรือว่าคริสเตียนเองก็มีส่วนด้วยที่ทำให้เป็นอย่างนั้นเพราะเขาไม่ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว เข้าร่วมการประชุม และไปประกาศเป็นประจำ?
16. อะไรน่าจะหน่วงเหนี่ยวคริสเตียนไว้ไม่ให้ด่วนตัดสินใจหย่า?
16 ข้อเท็จจริงที่ว่าเราถือว่าสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้ามีค่าอย่างยิ่งและเห็นคุณค่าการสมรสซึ่งเป็นของประทานน่าจะหน่วงเหนี่ยวเราไว้ไม่ให้ด่วนตัดสินใจหย่า. ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราเป็นห่วงในเรื่องการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ด้วยเหตุนั้น เราไม่ต้องการทรยศคู่สมรสและวางแผนจะไปจากคู่ของตนเพื่อจะแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง.—ยิระ. 17:9; มลคี. 2:13-16
17. ในสถานการณ์เช่นไรที่อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าได้เรียกคริสเตียนให้อยู่อย่างมีสันติสุข?
17 คริสเตียนที่แต่งงานกับคนที่ไม่มีความเชื่อควรพยายามอย่างจริงจังที่จะรักษาสายสมรสไว้. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดถ้าเขาได้พยายามอย่างจริงใจแล้วเพื่อรักษาชีวิตสมรสไว้แต่คู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อยืนยันที่จะแยกทางกัน. เปาโลเขียนว่า “ถ้าฝ่ายที่ไม่มีความเชื่อจะแยกไป ก็ให้เขาแยกไปเถิด ในกรณีเช่นนี้ พี่น้องชายหรือหญิงไม่จำเป็นต้องถูกผูกมัดให้อยู่กับเขา เพราะพระเจ้าทรงเรียกพวกท่านให้อยู่อย่างมีสันติสุข.”—1 โค. 7:15b
หมายพึ่งพระยะโฮวา
18. แม้แต่ถ้าไม่มีทางที่จะรักษาสายสมรสไว้ได้ อาจเกิดผลดีเช่นไรจากความพยายามที่จะทำอย่างนั้น?
18 เมื่อรับมือปัญหาในชีวิตสมรส จงขอความกล้าหาญจากพระยะโฮวาและคอยท่าหรือหมายพึ่งพระองค์เสมอ. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 27:14) ขอให้พิจารณาเรื่องของลินดา ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้. ในที่สุด ชีวิตสมรสของเธอก็ลงเอยด้วยการหย่าร้าง แม้ว่าเธอได้พยายามอยู่หลายปีที่จะรักษาไว้. เธอรู้สึกเสียเวลาเปล่าไหม? เธอบอกว่า “ไม่เลย. ความพยายามของดิฉันให้คำพยานที่ดีแก่ผู้คนรอบข้าง. ดิฉันมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. ที่นับว่าดีที่สุดก็คือ ช่วงเวลาหลายปีนั้นได้ช่วยให้ลูกสาวดิฉันเข้มแข็งในความจริง. เธอโตขึ้นเป็นพยานพระยะโฮวาที่อุทิศตัวและกระตือรือร้น.”
19. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเราพยายามรักษาชีวิตสมรสไว้?
19 สตรีคริสเตียนคนหนึ่งชื่อมาริลีนรู้สึกดีใจที่เธอไว้วางใจพระเจ้าและได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาสายสมรสไว้. เธอกล่าวว่า “ดิฉันถูกล่อใจให้แยกกันอยู่กับสามี เพราะเขาไม่เลี้ยงดูครอบครัวและเขายังทำให้สายสัมพันธ์ของดิฉันกับพระยะโฮวามีปัญหา. แต่สามีดิฉันเคยรับใช้เป็นผู้ปกครองก่อนที่เขาจะไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจบางอย่างที่ไม่ฉลาดสุขุม. เขาเริ่มขาดการประชุม แล้วเราก็เลิกพูดคุยกันไปเฉย ๆ. เกิดการก่อการร้ายขึ้นในเมืองของเรา ดิฉันกลัวมากจนไม่อยากพบหน้าใคร. หลังจากนั้นดิฉันก็รู้ตัวว่าดิฉันเองก็ผิดเหมือนกัน. เราเริ่มพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เริ่มศึกษาครอบครัวด้วยกันใหม่ และเริ่มเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ. ผู้ปกครองแสดงความกรุณาและช่วยเหลือเราอย่างมาก. มันเหมือนกับว่าชีวิตสมรสของเราเริ่มต้นกันใหม่ซึ่งทำให้เรามีความสุขมาก. ในเวลาต่อมา สามีดิฉันมีคุณสมบัติที่ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษในประชาคมอีกครั้งหนึ่ง. สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดทีเดียว แต่ก็เกิดผลที่น่ายินดีในที่สุด.”
20, 21. เราควรตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไรในเรื่องการสมรส?
20 ไม่ว่าเราจะเป็นโสดหรือแต่งงานแล้ว ขอให้เรากล้าหาญและไว้วางใจพระยะโฮวาเสมอ. ถ้าเราเผชิญปัญหาในชีวิตสมรส เราควรพยายามอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหา โดยจำไว้ว่าคนที่แต่งงานกัน “ไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อหนังเดียวกัน.” (มัด. 19:6) และขอให้เราจำไว้ว่าถ้าเราพยายามต่อ ๆ ไปที่จะอยู่กับคู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อแม้จะยุ่งยากลำบาก เราอาจชนะใจคู่สมรสและช่วยเขาให้เข้ามานมัสการแท้.
21 ไม่ว่าสถานการณ์ของเราเป็นเช่นไร ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่จะดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบเพื่อคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พี่น้องในประชาคมจะเป็นประจักษ์พยานยืนยันการประพฤติที่ดีของเราได้. ถ้าชีวิตสมรสของเรามีปัญหาอย่างร้ายแรง ขอให้เราอธิษฐานอย่างแรงกล้า ตรวจดูแรงกระตุ้นของเราอย่างตรงไปตรงมา ใคร่ครวญพระคัมภีร์ และขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง. ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าพอพระทัยทุกสิ่ง และแสดงความขอบคุณสำหรับการสมรสซึ่งเป็นของประทานอันยอดเยี่ยมจากพระองค์.
[เชิงอรรถ]
a ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
b โปรดดูหนังสือ “เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” หน้า 219-221; หอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1988 หน้า 24-27; 15 มิถุนายน 1976 หน้า 380.
[คำโปรยหน้า 10]
คริสเตียนที่ไม่ล้มเลิกความพยายามง่าย ๆ เมื่อชีวิตสมรสมีปัญหามักได้รับบำเหน็จอย่างมาก
[คำโปรยหน้า 12]
จงหมายพึ่งพระยะโฮวาและขอความกล้าหาญจากพระองค์เสมอ
[ภาพหน้า 9]
พระยะโฮวาทรงอวยพรคู่สมรสคริสเตียนที่พยายามแก้ไขสายสัมพันธ์ในชีวิตสมรสที่มีปัญหาให้ดีขึ้น
[ภาพหน้า 11]
ประชาคมคริสเตียนสามารถให้การปลอบโยนและความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ