ทำให้ชีวิตแต่งงานประสบความสำเร็จ
“ให้สามีทุกคนรักภรรยาเหมือนรักตัวเอง ส่วนภรรยาก็ควรนับถือสามีจากใจ”—อฟ. 5:33
1. ถึงแม้ชีวิตคู่มักเริ่มต้นด้วยความสุข แต่พวกเขาก็คาดหมายว่าจะต้องเจอกับอะไรด้วย? (ดูภาพแรก)
เจ้าบ่าวมองเจ้าสาวแสนสวยของเขาในวันแต่งงาน ไม่มีคำพูดไหนที่จะบรรยายถึงความสุขที่พวกเขามีในช่วงเวลานั้นได้ ตอนที่พวกเขาเป็นแฟนกัน เขารักกันมาก อยากจะแต่งงานกัน และพร้อมที่จะปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันเสมอ หลังจากวันแต่งงานพวกเขาก็เริ่มใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน พวกเขาต้องปรับตัวเพื่อจะเข้ากันได้ พระยะโฮวาพระเจ้าที่เริ่มให้มีการแต่งงานอยากให้คู่สมรสมีความสุขและประสบความสำเร็จ พระองค์จึงให้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล (สภษ. 18:22) ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลก็บอกว่าเมื่อมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบแต่งงานกันก็จะมีปัญหาหรือ “มีความยุ่งยากในชีวิต” (1 คร. 7:28) สามีและภรรยาจะทำให้ปัญหาเหล่านั้นลดน้อยลงได้อย่างไร? และพวกเขาจะทำให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
2. คู่สมรสควรแสดงความรักแบบไหนบ้าง?
2 คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าความรักเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมาก แต่ก็มีความรักหลายแบบที่สามีและภรรยาต้องแสดงออกในชีวิตคู่ เช่น พวกเขาต้องมีความรักที่อบอุ่นและอ่อนโยน (ภาษากรีกคือ ฟีเลีย) และมีความรักแบบโรแมนติก (เอรอส) นอกจากนั้น ความรักในครอบครัว (สตอร์เก) ก็สำคัญมากถ้าพวกเขามีลูก แต่ความรักแบบที่ใช้หลักการ (อะกาเป) เป็นความรักที่จะช่วยให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันอย่างประสบความสำเร็จ อัครสาวกเปาโลพูดถึงความรักแบบหลังนี้ว่า “ให้สามีทุกคนรักภรรยาเหมือนรักตัวเอง ส่วนภรรยาก็ควรนับถือสามีจากใจ”—อฟ. 5:33
หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคน
3. คู่สมรสควรรักกันมากขนาดไหน?
3 เปาโลบอกว่า “ส่วนสามี ก็ให้รักภรรยาเสมอเหมือนที่พระคริสต์รักประชาคมและสละชีวิตเพื่อพวกเขา” (อฟ. 5:25) คริสเตียนในทุกวันนี้เลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู พวกเขารักกันเหมือนที่พระเยซูรักสาวก (อ่านยอห์น 13:34, 35; 15:12, 13) สามีและภรรยาคริสเตียนน่าจะรักกันมากจนถึงขั้นที่ยอมตายแทนกันได้ แต่พอมีปัญหาร้ายแรงบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างพวกเขา พวกเขาอาจไม่ได้รู้สึกรักกันมากขนาดนั้นแล้ว อะไรจะช่วยได้? พวกเขาต้องมีความรักที่ใช้หลักการ (อะกาเป) ซึ่งจะช่วยพวกเขาให้ “ยอมทนรับทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ หวังอยู่เสมอ อดทนได้ทุกอย่าง” ความรักแบบนี้แหละที่ “จะคงอยู่ตลอดไป” (1 คร. 13:7, 8) คู่สมรสต้องไม่ลืมว่าพวกเขาได้ปฏิญาณต่อกันแล้ว พวกเขาสัญญาว่าจะรักกันและซื่อสัตย์ต่อกัน การจำเรื่องนี้ไว้เสมอจะช่วยกระตุ้นให้คู่สมรสขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาและร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
4, 5. (ก) ภรรยาควรรู้สึกอย่างไรที่พระคัมภีร์บอกว่าสามีเป็นผู้นำ? (ข) สามีควรทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวอย่างไร? (ค) คู่สมรสคู่หนึ่งต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?
4 เปาโลพูดถึงหน้าที่ของแต่ละคนว่า “ให้ภรรยาเชื่อฟังสามีเหมือนที่เธอเชื่อฟังพระคริสต์ เพราะสามีเป็นผู้นำของภรรยาเหมือนที่พระคริสต์เป็นผู้นำของประชาคม” (อฟ. 5:22, 23) นี่ไม่ได้หมายความว่าภรรยาสำคัญน้อยกว่าสามี เพราะพระยะโฮวาพูดถึงบทบาทที่สำคัญของภรรยาด้วยว่า “ถ้าจะให้มนุษย์คนนั้นอยู่คนเดียวต่อไปก็ไม่เหมาะ เราจะให้เขามีผู้ช่วยคนหนึ่งมาเป็นคู่ที่เหมาะกับเขา มาเติมเต็มชีวิตให้เขา” (ปฐก. 2:18) ภรรยาควรสนับสนุนสามีให้เป็นผู้นำครอบครัวที่ดี ส่วนสามีก็ต้องเลียนแบบตัวอย่างการแสดงความรักของพระเยซูที่เป็น “ผู้นำของประชาคม” ถ้าสามีทำแบบนั้นภรรยาก็จะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและรู้สึกว่าง่ายขึ้นที่จะนับถือและสนับสนุนสามี
5 เคที[1] ภรรยาของเฟรดยอมรับว่า “ตอนฉันเป็นโสด ฉันดูแลตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งใคร แต่พอแต่งงานแล้วฉันก็ต้องปรับตัว ฉันต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งสามี นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เพราะเราทำตามสิ่งที่พระยะโฮวาบอก เราก็เลยใกล้ชิดกันมากขึ้น” เฟรดบอกว่า “ผมไม่ได้เป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง ยิ่งแต่งงานแล้วผมต้องตัดสินใจแทนสองคน มันก็เลยยิ่งยากเข้าไปอีก แต่โดยการอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาและฟังความเห็นของภรรยา การตัดสินใจก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นทุกวัน ผมรู้สึกว่าเราเป็นทีมเดียวกันจริง ๆ”
6. ความรักจะ “ผูกพันผู้คนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง” ได้อย่างไรเมื่อมีปัญหาในชีวิตคู่?
6 ชีวิตคู่จะมั่นคงถ้าทั้งสามีและภรรยา “ทนกันและกัน และให้อภัยกันอย่างใจกว้างต่อไป” เนื่องจากไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทั้งสามีและภรรยาอาจทำผิดพลาด เมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นพวกเขาจะได้เรียนจากข้อผิดพลาดของตัวเอง เรียนรู้ที่จะให้อภัย และมีโอกาสที่จะแสดงความรักแบบที่ใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิล ความรักแบบนี้แหละที่ “ผูกพันผู้คนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง” (คส. 3:13, 14) คู่สมรสสามารถแสดงความรักแบบนี้โดยการอดทน แสดงความเมตตาต่อกัน และ “ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ” (1 คร. 13:4, 5) เมื่อมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน พวกเขาต้องพยายามแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดภายในวันนั้น (อฟ. 4:26, 27) การเป็นคนถ่อมตัวและกล้าที่จะพูดว่า “ฉันขอโทษที่ทำให้คุณเสียใจ” จะช่วยแก้ปัญหาและช่วยให้คู่สมรสใกล้ชิดกันมากขึ้น
ช่วงเวลาที่ต้องอ่อนโยนเป็นพิเศษ
7, 8. (ก) คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำอะไรเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์? (ข) ทำไมคู่สมรสต้องแสดงความอ่อนโยนต่อกัน?
7 คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ดีที่ช่วยให้คู่สมรสมองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม (อ่าน 1 โครินธ์ 7:3-5) ทั้งสามีและภรรยาต้องคิดถึงความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าสามีไม่แสดงความอ่อนโยน ภรรยาก็อาจรู้สึกไม่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ สามีควรปฏิบัติกับภรรยา “ด้วยความเข้าใจ” (1 ปต. 3:7) เพศสัมพันธ์ไม่ควรเกิดจากการบังคับหรือฝืนใจทำเพราะถูกเรียกร้อง แต่ควรเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายจะเกิดความต้องการได้เร็วกว่าผู้หญิงเมื่อถูกกระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ ถึงอย่างนั้น ทั้งคู่ควรรอให้ถึงเวลาที่ทั้งสองคนต้องการจริง ๆ
8 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเฉพาะเจาะจงว่าสามีและภรรยาควรทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายเกิดความต้องการทางเพศและมีเพศสัมพันธ์ แต่คัมภีร์ไบเบิลก็พูดถึงการแสดงความรักแบบนั้น (พซม. 1:2; 2:6) คู่สมรสควรปฏิบัติต่อกันด้วยความอ่อนโยน
9. ทำไมเราต้องไม่ยอมให้ใครหรืออะไรมาทำให้ชีวิตคู่ของเราหรือของคนอื่นมีปัญหา?
9 ถ้าเรารักพระเจ้า รักคู่ของเรา และรักคนอื่น เราจะไม่ยอมให้ใครหรืออะไรมาทำให้ชีวิตคู่ของเราหรือของคนอื่นมีปัญหา บางคนติดสื่อลามก เขาทำให้ชีวิตคู่ของเขาแย่ลงหรืออาจถึงขั้นแตกหัก เราต้องต่อสู้กับความเย้ายวนของสื่อลามกหรืออะไรก็ตามที่เน้นเรื่องเพศแบบผิด ๆ นอกจากนั้น เราต้องไม่ทำอะไรที่อาจดูเหมือนว่าเรากำลังจีบหรือให้ความสนใจคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ของเรา การทำแบบนี้ไม่ได้เป็นการแสดงความรัก เราต้องจำไว้เสมอว่าพระเจ้ารู้ทุกอย่างที่เราคิดและทำ นี่ช่วยให้เราซื่อสัตย์กับคู่ของเราและหนักแน่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์พอใจ—อ่านมัทธิว 5:27, 28; ฮีบรู 4:13
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
10, 11. (ก) ในสมัยนี้ การหย่ากันมีมากขนาดไหน? (ข) คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับการแยกกันอยู่? (ค) อะไรจะช่วยให้คู่สมรสไม่ด่วนตัดสินใจแยกกันอยู่?
10 เมื่อมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้น คู่สมรสบางคู่อาจตัดสินใจแยกกันอยู่หรือหย่า ในบางประเทศมีคู่สมรสมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ชีวิตคู่ต้องจบลงด้วยการหย่า แน่นอน เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประชาคมคริสเตียน ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีคู่สมรสที่เป็นคริสเตียนจำนวนมากขึ้นที่มีปัญหาร้ายแรงในชีวิตคู่
11 คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำว่า “ภรรยาไม่ควรไปจากสามี แต่ถ้าเธอไปจากเขา ก็อย่าแต่งงานใหม่ หรือไม่ก็ให้กลับไปคืนดีกับสามี ส่วนสามีก็ไม่ควรทิ้งภรรยา” (1 คร. 7:10, 11) เราไม่ควรมองว่าการแยกกันอยู่เป็นเรื่องเล่น ๆ ถึงแม้ว่าการแยกกันอยู่อาจดูเหมือนเป็นทางแก้ปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น แต่หลายครั้งการทำอย่างนี้กลับสร้างปัญหามากขึ้น ตอนที่พระเยซูพูดถึงสิ่งที่พระเจ้าบอกเกี่ยวกับการสมรสครั้งแรก ท่านบอกว่า “สิ่งที่พระเจ้าผูกไว้คู่กันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้แยกจากกันเลย” (มธ. 19:3-6; ปฐก. 2:24) ดังนั้น พระยะโฮวาอยากให้สามีและภรรยาอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต (1 คร. 7:39) เราทุกคนต้องจำไว้เสมอว่าเราต้องให้การกับพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ การคิดแบบนี้จะช่วยให้เรารีบแก้ปัญหาก่อนที่เรื่องจะบานปลายจนกลายเป็นปัญหาร้ายแรง
12. อะไรอาจทำให้เกิดปัญหาในชีวิตคู่จนถึงขั้นที่พวกเขาคิดจะแยกกันอยู่?
12 ทำไมคู่สมรสบางคู่ถึงเจอกับปัญหาร้ายแรง? หลายครั้งก็เพราะพวกเขาถูกเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน และมีวิธีแสดงอารมณ์ความรู้สึกไม่เหมือนกัน ส่วนบางคนพอชีวิตคู่ของเขาไม่ได้เป็นแบบที่เขาคาดหวังไว้ เขาก็รู้สึกผิดหวังหรือโกรธ นอกจากนั้น บางคู่ยังมีปัญหากับพ่อแม่หรือครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือปัญหาเกี่ยวกับวิธีใช้เงินหรือวิธีเลี้ยงลูก ถึงแม้จะมีปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เราดีใจที่เห็นว่าคู่สมรสคริสเตียนส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เพราะพวกเขายอมให้พระเจ้าชี้นำ
13. อะไรเป็นเหตุผลที่คู่สมรสจะแยกกันอยู่ได้?
13 มีบางเหตุผลที่คู่สมรสสามารถเลือกที่จะแยกกันอยู่ได้ คือ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจงใจไม่เลี้ยงดู ทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง หรือทำบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถรับใช้พระเจ้าได้ ถ้าสภาพเหล่านี้เลวร้ายจนถึงขีดสุด คริสเตียนอาจเลือกที่จะแยกกันอยู่ ถึงอย่างนั้น เวลามีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้น คู่สมรสควรขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแล พวกผู้ดูแลมีประสบการณ์มากและสามารถช่วยคู่สมรสให้ใช้คำแนะนำของพระเจ้าในชีวิตได้ นอกจากนั้น คู่สมรสควรอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวา พลังนั้นจะช่วยพวกเขาให้ใช้หลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลและแสดงลักษณะนิสัยที่ดีแบบคริสเตียน—กท. 5:22, 23[2]
14. คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนที่แต่งงานกับคนที่ไม่ได้นมัสการพระยะโฮวา?
14 คัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลว่าทำไมเป็นเรื่องที่ดีที่คู่สมรสจะอยู่ด้วยกันถึงแม้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้นมัสการพระยะโฮวา (อ่าน 1 โครินธ์ 7:12-14) ฝ่ายที่ไม่เป็นพยานฯจะ “บริสุทธิ์” เพราะเขาแต่งงานกับผู้รับใช้ของพระเจ้า ลูก ๆ ของพวกเขาก็จะ “บริสุทธิ์” และได้รับการปกป้องจากพระเจ้า เปาโลกระตุ้นคู่สมรสคริสเตียนว่า “คุณที่เป็นภรรยา ถ้าคุณอยู่กับสามีต่อไป คุณอาจจะช่วยเขาให้รอดก็ได้ คุณที่เป็นสามี ถ้าคุณอยู่กับภรรยาต่อไป คุณอาจจะช่วยเธอให้รอดก็ได้” (1 คร. 7:16) เราเห็นตัวอย่างที่ดีของพี่น้องชายหญิงหลายคนที่ได้ช่วยคู่ของเขาให้มารับใช้พระยะโฮวา
15, 16. (ก) คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำอะไรสำหรับภรรยาคริสเตียนที่สามีไม่ได้รับใช้พระเจ้า? (ข) “ถ้าฝ่ายที่ไม่มีความเชื่ออยากจะแยกไป” ฝ่ายที่เป็นคริสเตียนควรทำอย่างไร?
15 อัครสาวกเปโตรแนะนำคริสเตียนที่เป็นภรรยาให้ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี ‘เพื่อว่าถ้าสามีไม่เชื่อถ้อยคำของพระเจ้า ความประพฤติของเธอก็อาจชนะใจเขาได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด เพราะเขาได้เห็นความประพฤติที่ดีและความนับถือจากใจของเธอ’ การที่ภรรยามี “ใจที่สงบและอ่อนโยนซึ่งมีค่ามากในสายตาพระเจ้า” จะช่วยให้สามีตอบรับความจริงมากกว่าที่เธอเอาแต่พูดเกี่ยวกับความเชื่อของตัวเอง—1 ปต. 3:1-4
16 แล้วถ้าฝ่ายที่ไม่ได้เป็นพยานฯเลือกที่จะแยกกันอยู่ล่ะ? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ถ้าฝ่ายที่ไม่มีความเชื่ออยากจะแยกไปก็ให้เขาไปเถอะ เมื่อเป็นอย่างนั้น ฝ่ายที่มีความเชื่อก็ไม่มีข้อผูกมัดที่จะอยู่กับเขาต่อไป เพราะพระเจ้าเรียกคุณมาเพื่อให้อยู่อย่างสงบสุข” (1 คร. 7:15) ฝ่ายที่เป็นคริสเตียนไม่จำเป็นต้องพยายามยื้อให้คู่สมรสอยู่กับเขา ถึงแม้การแยกกันอยู่อาจช่วยให้ครอบครัวมีความสงบสุขอยู่บ้าง แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าฝ่ายที่เป็นคริสเตียนไม่มีอิสระที่จะแต่งงานใหม่ เมื่อเวลาผ่านไป ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นพยานฯอาจตัดสินใจกลับมาอยู่ด้วยกันอีก และในอนาคต เขาอาจถึงกับเปลี่ยนมารับใช้พระยะโฮวาก็ได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคู่
17. อะไรควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคริสเตียนที่แต่งงานแล้ว?
17 พวกเรามีชีวิตอยู่ในตอนท้าย ๆ ของ “สมัยสุดท้าย” ซึ่งเป็น “ช่วงเวลาวิกฤติที่มีแต่ความยุ่งยากลำบาก” (2 ทธ. 3:1-5) นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเพื่อจะได้รับการปกป้องจากอิทธิพลที่ไม่ดีของโลก เปาโลบอกว่า “เวลาเหลือน้อยแล้ว” และ “ต่อไปนี้ ให้คนที่มีภรรยาเป็นเหมือนคนที่ไม่มี . . . และให้คนที่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้เป็นเหมือนคนที่ไม่ใช้อย่างเต็มที่” (1 คร. 7:29-31) เปาโลไม่ได้บอกให้ทอดทิ้งหรือไม่ใส่ใจคู่สมรส แต่เนื่องจากเรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการรับใช้พระยะโฮวาก่อน—มธ. 6:33
18. ทำไมถึงเป็นไปได้ที่เราจะมีชีวิตคู่ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ?
18 ในสมัยที่ยุ่งยากนี้ เราเห็นชีวิตคู่ของหลายคนล้มเหลว ดังนั้น เป็นไปได้จริง ๆ ไหมที่เราจะมีชีวิตคู่ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ? ได้สิ ถ้าเราใกล้ชิดกับพระยะโฮวาและผู้รับใช้ของพระองค์เสมอ พยายามใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล และทำตามการชี้นำของพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา เมื่อเราทำอย่างนี้เราก็จะให้เกียรติ “สิ่งที่พระเจ้าผูกไว้คู่กันแล้ว”—มก. 10:9
^ [1] (ข้อ 5) ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ
^ [2] (ข้อ 13) ดูภาคผนวกเรื่อง “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการหย่าร้างและการแยกกันอยู่” ในหนังสือ “เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ”