พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในครอบครัวของคุณไหม?
“จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา, ล.ม.] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.”—มาระโก 12:29, 30.
1. การที่เรารักพระยะโฮวานั้นเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหน?
“พระบัญญัติข้อใดเป็นเอกเป็นใหญ่กว่าบัญญัติทั้งปวง?” อาลักษณ์คนหนึ่งได้ถามพระเยซู. แทนที่จะตอบตามความคิดเห็นส่วนพระองค์ พระเยซูทรงตอบเขาด้วยการอ้างพระคำของพระเจ้าจากพระบัญญัติ 6:4, 5. พระองค์ตรัสตอบดังนี้: “พระบัญญัติที่เป็นเอกเป็นใหญ่กว่าบัญญัติทั้งปวงนั้นคือว่า, ดูก่อนพวกยิศราเอล จงฟังเถิด, พระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว, จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.”—มาระโก 12:28-30.
2. (ก) พระเยซูต้องเผชิญการคัดค้านอะไร? (ข) บางครั้ง อะไรอาจเป็นเหตุให้การทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยเป็นเรื่องที่ยากลำบาก?
2 ที่จะเชื่อฟังบัญญัติซึ่งพระเยซูทรงถือว่าใหญ่กว่าบัญญัติทั้งปวง—บัญญัติสำคัญที่สุด—เรียกร้องให้เราทำในสิ่งที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเสมอ. พระเยซูทรงทำเช่นนั้น แม้ว่าคราวหนึ่งอัครสาวกเปโตรคัดค้านสิ่งที่พระองค์จะกระทำ และอีกโอกาสหนึ่ง ญาติใกล้ชิดของพระองค์ก็ทำอย่างเดียวกัน. (มัดธาย 16:21-23; มาระโก 3:21; โยฮัน 8:29) ถ้าคุณอยู่ในสภาพการณ์ที่คล้ายกันนั้นล่ะ? สมมุติว่าสมาชิกครอบครัวต้องการให้คุณเลิกศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, ให้เลิกคบหากับพยานพระยะโฮวา. คุณจะให้พระเจ้าอยู่ในอันดับแรกไหมโดยทำสิ่งซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์? พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกไหม ถึงแม้สมาชิกครอบครัวจะต่อต้านความพยายามของคุณที่จะรับใช้พระองค์?
การต่อต้านของครอบครัวเป็นบ่วงแร้ว
3. (ก) ผลสืบเนื่องจากคำสอนของพระเยซูอาจเป็นอย่างไรต่อครอบครัว? (ข) สมาชิกครอบครัวจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขารักผู้ใดมากกว่า?
3 พระเยซูไม่ได้ดูเบาความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคนอื่นในครอบครัวต่อต้านสมาชิกที่ยอมรับหลักคำสอนของพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่อยู่ร่วมเรือนเดียวกันก็จะเป็นศัตรูต่อกัน.” กระนั้น แม้ว่าผลที่ตามมาเป็นเรื่องไม่น่ายินดี พระเยซูก็ยังทรงชี้ให้เห็นว่า ใครสมควรอยู่ในอันดับแรกโดยตรัสว่า “ผู้ใดที่รักบิดามารดาหรือรักบุตรชายหญิงยิ่งกว่ารักเรา, ผู้นั้นก็ไม่สมกับเรา.” (มัดธาย 10:34-37) เรายกให้พระเจ้ายะโฮวาเป็นอันดับแรก ด้วยการที่เราเชื่อฟังคำสอนของพระบุตรของพระองค์ คือ พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “การถอดแบบอย่างแม่นยำของพระองค์ [ของพระเจ้า].”—เฮ็บราย 1:3, ล.ม.; โยฮัน 14:9.
4. (ก) พระเยซูได้ตรัสว่าการเป็นสาวกของพระองค์เกี่ยวข้องกับอะไร? (ข) ที่คริสเตียนพึงเกลียดสมาชิกครอบครัวนั้นหมายความในแง่ไหน?
4 อีกโอกาสหนึ่ง เมื่อพระเยซูทรงอธิบายถึงสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องจริง ๆ กับการเป็นสาวกแท้ของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดมาหาเรา, และไม่ชังบิดามารดาบุตรภรรยาและพี่น้องชายหญิง, ทั้งชีวิตของตนเองด้วย, ผู้นั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้.” (ลูกา 14:26) เห็นได้ชัดว่า พระเยซูหาได้หมายความว่า สาวกของพระองค์ควรเกลียดสมาชิกครอบครัวของตนตามตัวอักษร เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบัญชาให้คนเรารักกระทั่งศัตรู. (มัดธาย 5:44) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ณ ที่นี้พระเยซูหมายความว่า สาวกของพระองค์ต้องรักสมาชิกครอบครัวน้อยกว่า รักพระเจ้า. (เทียบกับมัดธาย 6:24.) ตรงกันกับความเข้าใจนี้ คัมภีร์ไบเบิลพูดว่ายาโคบ “เกลียด” นางเลอาและรักราเฮล ซึ่งหมายความว่า ยาโคบไม่ได้รักนางเลอามากเท่ากับที่ท่านรักราเฮลน้องสาวของเธอ. (เยเนซิศ 29:30-32) พระเยซูตรัสว่า แม้แต่ “ชีวิต” ของตัวเองก็ควรเกลียดหรือรักน้อยกว่ารักพระยะโฮวาด้วยซ้ำ!
5. ซาตานใช้เล่ห์เหลี่ยมฉวยประโยชน์จากการจัดเตรียมด้านครอบครัวอย่างไร?
5 ในฐานะเป็นพระผู้สร้างและผู้ประสาทชีวิต พระยะโฮวาสมควรได้รับความเลื่อมใสเต็มขนาดจากบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์. (วิวรณ์ 4:11) อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าคุกเข่าลงคำนับพระบิดา ซึ่งแต่ละครอบครัวในสวรรค์ก็ดี ที่แผ่นดินโลกนี้ก็ดี มีนามเนื่องด้วยพระองค์.” (เอเฟโซ 3:14, 15, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงจัดตั้งระบบครอบครัวด้วยวิธีที่น่าพิศวง ซึ่งสมาชิกครอบครัวมีความรักใคร่ตามธรรมชาติต่อกันและกัน. (1 กษัตริย์ 3:25, 26; 1 เธซะโลนิเก 2:7) อย่างไรก็ตาม ซาตานพญามารได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมฉวยประโยชน์จากความรักใคร่ตามธรรมชาตินี้ ซึ่งรวมไปถึงความปรารถนาจะเป็นที่พอใจผู้เป็นที่รักด้วย. ซาตานกระพือเปลวไฟแห่งการต่อต้านให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นภายในครอบครัว และหลายคนพบว่าเป็นการท้าทายที่จะยืนหยัดอยู่ฝ่ายความจริงของคัมภีร์ไบเบิลขณะเผชิญการต่อต้าน.—วิวรณ์ 12:9, 12.
รับมือกับการท้าทาย
6, 7. (ก) สมาชิกครอบครัวอาจจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรเพื่อจะเห็นความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์และการสมาคมคบหาของคริสเตียน? (ข) เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรารักสมาชิกแห่งครอบครัวของเราอย่างแท้จริง?
6 คุณจะทำอย่างไรหากคุณจำต้องเลือกเอาระหว่างการทำให้พระเจ้าพอพระทัย หรือทำให้สมาชิกครอบครัวพอใจ? คุณจะหาข้อแก้ตัวไหมว่า พระเจ้าไม่ทรงคาดหมายให้เราศึกษาพระคำของพระองค์และปฏิบัติตามหลักการของพระคัมภีร์หรอก ถ้าการทำเช่นนั้นทำให้เกิดการบาดหมางกันในครอบครัว? แต่คิดให้ดี. ถ้าคุณยอมแพ้และยุติการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหรือเลิกการคบหากับพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป คนที่คุณรักจะมีโอกาสเข้าใจได้อย่างไรว่า ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องที่หมายถึงชีวิตหรือความตายทีเดียว?—โยฮัน 17:3; 2 เธซะโลนิเก 1:6-8.
7 เราอาจใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวด้วยสภาพการณ์นั้นทำนองนี้: บางที สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งติดเหล้า. การเมินเฉยหรือไม่นำพาต่อปัญหาการดื่มจัดของเขาจะเป็นประโยชน์จริง ๆ ต่อผู้นั้นไหม? จะดีกว่าหากจะอยู่เฉย ๆ เพื่อรักษาความสงบ ไม่ลงมือทำอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาของเขาอย่างนั้นไหม? ไม่เลย คุณคงเห็นพ้องด้วยว่า คงจะดีที่สุดที่จะช่วยเขาให้เอาชนะปัญหาการดื่มจัด แม้ว่าต้องผจญความโกรธและการข่มขู่ต่าง ๆ จากเขา. (สุภาษิต 29:25) ทำนองเดียวกัน ถ้าคุณรักสมาชิกครอบครัวจริง ๆ คุณจะไม่ยอมแพ้ต่อความพยายามของเขาที่จะให้คุณเลิกศึกษาพระคัมภีร์. (กิจการ 5:29) เฉพาะแต่เมื่อคุณยืนหยัดมั่นคง คุณถึงจะช่วยเขาให้เห็นว่า การดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูหมายถึงชีวิตของเราทีเดียว.
8. เราได้ประโยชน์อย่างไรจากข้อเท็จจริงที่ว่า พระเยซูทรงกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์?
8 การให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกอาจทำได้ยากมากในบางครั้ง. แต่จำไว้ว่า ซาตานเคยทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับพระเยซูเช่นกันที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. แต่พระเยซูไม่เคยยอมแพ้ พระองค์ทรงทนรับกระทั่งความเจ็บปวดบนเสาทรมานเพื่อเราด้วยซ้ำ. คัมภีร์ไบเบิลว่า “พระเยซูคริสต์ [เป็น] ผู้ช่วยให้รอดของเรา” “ผู้ได้ทรงวายพระชนม์เพื่อเรา.” (ติโต 3:6; 1 เธซะโลนิเก 5:10) พวกเราสำนึกบุญคุณมิใช่หรือที่พระเยซูไม่ยอมแพ้การต่อต้าน? เพราะเหตุที่พระองค์ทรงอดทนกระทั่งยอมวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชา เราจึงมีความหวังเกี่ยวด้วยชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่แห่งความชอบธรรมและสงบสุข โดยการแสดงความเชื่อในพระโลหิตที่พระองค์ได้หลั่งออกเพื่อคนทั้งปวง.—โยฮัน 3:16, 36; วิวรณ์ 21:3, 4.
เป็นไปได้ที่จะมีบำเหน็จอุดม
9. (ก) โดยวิธีใดคริสเตียนอาจมีส่วนในการช่วยคนอื่นให้รอด? (ข) สภาพการณ์ในครอบครัวของติโมเธียวเป็นอย่างไร?
9 คุณสำนึกไหมว่าคุณก็มีส่วนช่วยคนอื่นให้รอดได้เช่นกัน รวมทั้งญาติพี่น้องที่คุณรัก? อัครสาวกเปาโลได้กระตุ้นเตือนติโมเธียวดังนี้: “จงจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้ [สิ่งซึ่งได้เรียนมา] เพราะการกระทำอย่างนี้ ท่านจะช่วยตัวเองและคนที่ฟังท่านให้รอด.” (1 ติโมเธียว 4:16, ล.ม.) ติโมเธียวอยู่ในครอบครัวที่แบ่งแยก บิดาชาวกรีกของท่านเป็นคนไม่เชื่อพระเจ้า. (กิจการ 16:1; 2 ติโมเธียว 1:5; 3:14) แม้เราไม่ทราบว่าบิดาของติโมเธียวได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือหรือไม่ แต่ความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้ามามีความเชื่อนั้นมีมากขึ้น เนื่องจากความประพฤติอย่างซื่อสัตย์ของนางยูนิเกผู้เป็นภรรยาและของติโมเธียว.
10. คริสเตียนอาจจะทำอะไรเพื่อเห็นแก่คู่สมรสของตนที่ไม่เชื่อถือพระเจ้า?
10 พระคัมภีร์เปิดเผยว่า ภรรยาและสามีซึ่งยึดความจริงของพระคัมภีร์อย่างเหนียวแน่นอาจมีส่วนช่วยคู่ครองของตนที่ไม่ใช่คริสเตียนให้รอด ได้โดยช่วยเขาให้มาเป็นผู้มีความเชื่อ. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้าพี่น้องคนใดมีภรรยาไม่เชื่อถือพระคริสต์, และนางพอใจอยู่กับสามี, อย่าให้สามีทิ้งนางนั้นเลย. ถ้าหญิงคนใดมีสามีที่ไม่เชื่อถือพระคริสต์, และสามีนั้นพอใจจะอยู่กับนาง, อย่าให้นางทิ้งสามีนั้นเลย. ดูก่อนท่านผู้เป็นภรรยา, ไฉนท่านจะรู้ได้ว่าท่านจะช่วยสามีให้รอดได้หรือไม่? ดูก่อนท่านผู้เป็นสามี, ไฉนท่านจะรู้ได้ว่าท่านจะช่วยภรรยาให้รอดได้หรือไม่?” (1 โกรินโธ 7:12, 13, 16) ที่แท้แล้ว อัครสาวกเปโตรได้พรรณนาวิธีที่ภรรยาอาจช่วยสามีของตนได้โดยกระตุ้นเตือนเขาดังนี้: “จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา.”—1 เปโตร 3:1, ล.ม.
11, 12. (ก) คริสเตียนหลายพันคนได้รับบำเหน็จอะไร และพวกเขาได้ทำอะไรจนได้บำเหน็จเช่นนั้น? (ข) จงเล่าประสบการณ์ของสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวซึ่งได้รับบำเหน็จเพราะความอดทนอย่างซื่อสัตย์?
11 ไม่กี่ปีมานี้ หลายพันคนได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาหลังจากหลายเดือนและกระทั่งหลายปีด้วยซ้ำที่เขาได้ต่อต้านกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนของญาติที่เป็นพยานฯ. ทั้งนี้นับว่าเป็นบำเหน็จแก่คริสเตียนซึ่งตั้งมั่นคง ทั้งยังเป็นพระพรเสียจริง ๆ แก่ผู้ซึ่งในอดีตเป็นผู้ต่อต้าน! ด้วยน้ำเสียงที่แฝงด้วยความรู้สึก คริสเตียนผู้ปกครองวัย 74 ปีเล่าว่า “บ่อยครั้งผมขอบคุณภรรยาและลูก ๆ เนื่องจากเขายึดความจริงไว้มั่นตลอดหลายปีที่ผมต่อต้านพวกเขา.” เขาบอกว่า นานถึงสามปีที่เขาบอกปัดอย่างดื้อรั้นไม่ยอมแม้แต่จะให้ภรรยาพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับเขา. เขากล่าวว่า “แต่เธอเลือกโอกาสที่เหมาะสมที่สุด และก็เริ่มต้นพูดให้คำพยานแก่ผมขณะที่นวดเท้าผม. ผมสำนึกบุญคุณเสมอที่เธอไม่ยอมแพ้การต่อต้านจากผม!”
12 สามีอีกคนหนึ่งซึ่งเคยต่อต้านครอบครัวของเขา ได้เขียนว่า ‘ผมเป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดของภรรยา เพราะหลังจากเธอได้รับความจริงแล้วผมก็ข่มขู่เธอ และเรามีปากเสียงกันทุกวัน ว่าไปแล้ว ผมเป็นฝ่ายหาเรื่องทะเลาะก่อน. แต่ไม่เกิดผล ภรรยาของผมยึดมั่นในหลักการของพระคัมภีร์. ตลอดเวลาสิบสองปี ผมได้ต่อต้านความจริง ต่อต้านขัดขวางภรรยาและบุตรของผมอย่างร้ายกาจ. สำหรับคนทั้งสอง ผมเป็นปิศาจในร่างมนุษย์.’ ผลสุดท้าย ชายคนนั้นเริ่มพิเคราะห์การประพฤติของตน. เขาชี้แจงดังนี้: ‘ผมเห็นแล้วว่าผมเลวร้ายเพียงใด. ผมเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิล และเนื่องด้วยคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลนี้เอง เวลานี้ผมจึงเป็นพยานพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้ว.’ ขอให้นึกถึงบำเหน็จใหญ่หลวงของภรรยา ใช่แล้ว ได้ “ช่วยสามีให้รอด” โดยการอดทนอย่างซื่อสัตย์ต่อการต่อต้านจากสามีนานถึง 12 ปี!
เรียนรู้จากพระเยซู
13. (ก) อะไรคือบทเรียนหลักที่สามีภรรยาทั้งหลายควรเรียนจากวิถีชีวิตของพระเยซู? (ข) ผู้คนที่รู้สึกว่าการยอมตัวต่อพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอาจได้ประโยชน์จากตัวอย่างของพระเยซูอย่างไร?
13 บทเรียนสำคัญที่สุดซึ่งสามีภรรยาทั้งหลายควรเรียนจากวิถีชีวิตของพระเยซูคือการเชื่อฟังพระเจ้า. พระเยซูตรัสว่า “เราทำสิ่งที่พระองค์พอพระทัยอยู่เสมอ” “เรามิได้มุ่งที่จะทำตามความประสงค์ของเราเอง แต่ตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 5:30; 8:29, ล.ม.) แม้แต่คราวหนึ่งเมื่อพระเยซูรู้สึกว่าพระทัยประสงค์อย่างหนึ่งของพระเจ้าไม่น่ายินดี พระองค์ก็แสดงการเชื่อฟัง. พระองค์อธิษฐานว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย, ขอให้จอกนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพเจ้า” แต่แล้วพระองค์ต่อทันทีว่า “แต่ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า, ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์เถิด.” (ลูกา 22:42) พระเยซูมิได้ทูลขอให้พระเจ้าเปลี่ยนพระทัยประสงค์ พระองค์แสดงให้เห็นว่า พระองค์รักพระเจ้าอย่างแท้จริงโดยการเชื่อฟังไม่ว่าอะไรก็ตามซึ่งพระเจ้าทรงมีพระทัยประสงค์สำหรับพระองค์. (1 โยฮัน 5:3) การจัดเอาพระทัยประสงค์ของพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกเสมออย่างที่พระเยซูทรงกระทำ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จ ไม่เฉพาะในชีวิตของคนโสด แต่ในชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัวด้วย. จงพิจารณาว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น.
14. คริสเตียนบางคนชักเหตุผลอย่างไม่สมควรเช่นไร?
14 ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อผู้มีความเชื่อจัดเอาพระเจ้ามาเป็นอันดับแรก เขามุ่งมั่นจะคงอยู่กับคู่สมรสที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า และบ่อยครั้งสามารถช่วยคู่สมรสมาสู่ทางแห่งความรอด. ถึงแม้บุคคลทั้งสองเป็นคนเชื่อถือพระเจ้า แต่ชีวิตสมรสของเขาอาจยังไม่ดีพร้อมเสียทุกอย่าง. เนื่องจากความโน้มเอียงในทางบาป สามีภรรยาจึงไม่ได้คำนึงถึงกันด้วยความรักเสมอไป. (โรม 7:19, 20; 1 โกรินโธ 7:28) บางคนถึงกับเสาะหาคู่สมรสใหม่ แม้เขาไม่มีเหตุอันควรจะหย่าตามหลักพระคัมภีร์. (มัดธาย 19:9; เฮ็บราย 13:4) พวกเขาให้เหตุผลว่าการทำเช่นนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตน และว่า การที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้สามีภรรยาอยู่ด้วยกันนั้นเป็นความยากลำบากเกินไป. (มาลาคี 2:16; มัดธาย 19:5, 6) นี่เป็นอีกกรณีหนึ่งของการคิดอย่างมนุษย์แทนที่จะคิดเยี่ยงพระเจ้า.
15. เหตุใดการให้พระเจ้าอยู่ในอันดับแรกจึงเป็นการป้องกัน?
15 การจัดเอาพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกช่างเป็นการป้องกันที่ดีเยี่ยม! คู่สมรสซึ่งทำเช่นนั้นจะพยายามติดสนิทกัน และแก้ปัญหาด้วยการใช้คำแนะนำจากพระคำของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพ้นจากความปวดร้าวใจทุกอย่างอันเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อพระทัยประสงค์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11) เรื่องนี้มีการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างโดยคู่สมรสหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งจวนจะหย่ากันอยู่แล้ว แต่ได้ตัดสินใจปฏิบัติตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล. หลายปีต่อมา เมื่อภรรยานึกทบทวนถึงความยินดีที่เธอได้รับจากชีวิตสมรส เธอกล่าวว่า “ดิฉันนั่งร้องไห้ เมื่อคิดถึงว่าดิฉันอาจแยกกันอยู่กับสามีไปแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา. แล้วดิฉันอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้ายะโฮวาสำหรับคำแนะนำและการชี้นำซึ่งทำให้เราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์อย่างมีความสุขอย่างนี้.”
สามีและภรรยาทั้งหลาย—จงเลียนแบบพระคริสต์!
16. พระเยซูทรงวางแบบอย่างอะไรไว้สำหรับทั้งสามีและภรรยาทั้งหลาย?
16 พระเยซูผู้ทรงให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกเสมอนั้นได้วางแบบอย่างที่น่าทึ่งสำหรับทั้งสามีและภรรยา และพวกเขาควรเอาใจใส่แบบอย่างนั้นให้ถี่ถ้วน. สามีได้รับการกระตุ้นเตือนให้เลียนแบบความเป็นประมุขที่อ่อนโยนของพระเยซูต่อสมาชิกประชาคมคริสเตียน. (เอเฟโซ 5:23) และภรรยาที่เป็นคริสเตียนสามารถเรียนจากตัวอย่างซึ่งไม่มีที่ติได้ของพระเยซูเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า.—1 โกรินโธ 11:3.
17, 18. พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สามีทั้งหลายในทางใด?
17 คัมภีร์ไบเบิลสั่งดังนี้: “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.” (เอเฟโซ 5:25, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่สำคัญที่พระเยซูทรงสำแดงความรักต่อประชาคมซึ่งประกอบด้วยสาวกของพระองค์ก็โดยการเป็นเพื่อนสนิทกับพวกเขา. พระเยซูตรัสว่า “เราเรียกเจ้าว่ามิตร เพราะสิ่งสารพัดที่เราได้ยินจากพระบิดาของเรานั้นเราได้แจ้งแก่เจ้าแล้ว.” (โยฮัน 15:15, ล.ม.) จงคิดถึงเวลาทั้งหมดที่พระเยซูทรงใช้สนทนากับเหล่าสาวกของพระองค์—ที่พระองค์ได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ มากมายกับเขา—และคิดถึงความไว้วางใจที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา! นั่นไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเลิศดอกหรือสำหรับสามี?
18 พระเยซูทรงให้ความสนพระทัยอย่างแท้จริงต่อสาวกทั้งหลายของพระองค์ และทรงมีความรักใคร่แท้ต่อพวกเขา. (โยฮัน 13:1) เมื่อการสอนของพระองค์ไม่เป็นที่เข้าใจกระจ่าง พระองค์ทรงให้เวลาเป็นส่วนตัวเพื่อชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ อย่างชัดแจ้ง. (มัดธาย 13:36-43) สามีทั้งหลาย สวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของภรรยาคุณมีความสำคัญอย่างเดียวกันสำหรับคุณไหม? คุณใช้เวลากับเธอไหม ทำให้เป็นที่แน่ใจว่า คุณทั้งสองมีความจริงด้านคัมภีร์ไบเบิลแจ่มชัดทั้งในความคิดและในหัวใจ? พระเยซูทรงไปกับพวกอัครสาวกในงานรับใช้ อาจฝึกอบรมแต่ละคนเป็นส่วนตัวก็ได้. คุณไปกับภรรยาในงานรับใช้ เยี่ยมตามบ้านและนำการศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกันไหม?
19. วิธีที่พระเยซูจัดการกับข้อบกพร่องของพวกอัครสาวกที่เกิดขึ้นอีกเป็นตัวอย่างสำหรับบรรดาสามีอย่างไร?
19 พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างอันดีเลิศแก่สามีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงจัดการกับข้อบกพร่องต่าง ๆ ของเหล่าอัครสาวก. ในระหว่างอาหารมื้อสุดท้ายกับพวกอัครสาวก พระองค์ทรงสังเกตเห็นน้ำใจชิงดีชิงเด่นเกิดขึ้นอีก. พระองค์ตำหนิพวกเขาอย่างไม่ปรานีกระนั้นไหม? เปล่าเลย แต่พระองค์กลับล้างเท้าพวกเขาทุกคนด้วยความถ่อมใจ. (มาระโก 9:33-37; 10:35-45; โยฮัน 13:2-17) คุณแสดงความเพียรอดทนเช่นนั้นต่อภรรยาไหม? แทนที่จะบ่นเกี่ยวกับข้อผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นอีก คุณพยายามด้วยความอดทนเพื่อช่วยภรรยาและเข้าถึงหัวใจของเธอโดยการวางตัวอย่างของคุณไหม? ภรรยามักจะตอบสนองความรักใคร่เอ็นดูเช่นนั้น ดังพวกอัครสาวกได้ทำในที่สุด.
20. ภรรยาที่เป็นคริสเตียนไม่ควรลืมอะไร และใครที่ถูกจัดไว้เป็นตัวอย่างสำหรับพวกเขา?
20 ฝ่ายภรรยาทั้งหลายก็จำต้องพิจารณาพระเยซูเช่นกัน ซึ่งไม่เคยลืมว่า “พระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” พระองค์ทรงยอมเชื่อฟังพระบิดาฝ่ายสวรรค์เสมอ. ในทำนองเดียวกัน ภรรยาก็ไม่ควรลืมว่า “ชายเป็นศีรษะของหญิง” ใช่แล้ว สามีเป็นศีรษะ [ประมุข] ของเธอ. (1 โกรินโธ 11:3; เอเฟโซ 5:23) อัครสาวกเปโตรได้กระตุ้นเตือนภรรยาที่เป็นคริสเตียนให้พิจารณาตัวอย่างของ “พวกผู้หญิงบริสุทธิ์” สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างของนางซารา ผู้ซึ่ง “เคยเชื่อฟังอับราฮาม เรียกท่านว่า ‘นาย.’”—1 เปโตร 3:5, 6, ล.ม.
21. เหตุใดชีวิตสมรสของอับราฮามกับซาราจึงประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตสมรสของโลตและภรรยากลับล้มเหลว?
21 ปรากฏชัดว่านางซารายอมสละบ้านช่องที่สะดวกสบายในเมืองซึ่งอุดมมั่งคั่ง แล้วไปอยู่ต่างแดน พักอาศัยในกระโจม. เพราะเหตุใด? เพราะนางชอบวิถีชีวิตแบบนั้นหรือ? คงไม่ใช่. นางได้ทำเช่นนั้นเนื่องจากสามีขอร้องไหม? ไม่ต้องสงสัย นี่เป็นมูลเหตุหนึ่ง เพราะซารารักและนับถืออับราฮามสืบเนื่องจากคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ดีงามของท่าน. (เยเนซิศ 18:12) แต่เหตุผลหลักคือ นางร่วมเดินทางไปกับสามีก็เพราะความรักที่นางมีต่อพระยะโฮวาและความปรารถนาจากหัวใจใคร่จะติดตามการชี้นำของพระยะโฮวา. (เยเนซิศ 12:1) นางประสบความยินดีเนื่องด้วยการเชื่อฟังพระเจ้า. ในทางตรงกันข้าม ภรรยาของโลตลังเลที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า และด้วยเหตุนี้นางจึงเหลียวดูข้าวของต่าง ๆ ที่ละไว้เบื้องหลังในเมืองซะโดมบ้านเกิดด้วยความเสียดาย. (เยเนซิศ 19:15, 25, 26; ลูกา 17:32) ช่างเป็นการจบชีวิตสมรสอย่างน่าอนาถเสียจริง ๆ—ทั้งหมดก็เพราะการไม่เชื่อฟังพระเจ้า!
22. (ก) สมาชิกครอบครัวควรสำรวจตัวเองเช่นไรด้วยความสุขุม? (ข) ในการศึกษาของเราครั้งต่อไป เราจะพิจารณาเรื่องอะไร?
22 ฉะนั้น ในฐานะเป็นสามีหรือภรรยา เป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะถามตัวเองว่า ‘พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในครอบครัวของเราไหม? ฉันเพียรพยายามจริง ๆ ไหมเพื่อทำหน้าที่ให้สำเร็จตามบทบาทซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้ฉัน? ฉันบากบั่นจริง ๆ ไหมที่จะรักคู่สมรสและช่วยเขาให้บรรลุสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวา หรือเพื่อจะคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีนั้น?’ ครอบครัวส่วนใหญ่มีบุตรด้วย. ต่อจากนี้ เราจะพิจารณาบทบาทของบิดามารดาและความจำเป็นที่ทั้งบิดามารดาและบุตรจะให้พระเจ้าอยู่ในอันดับแรก.
คุณจำได้ไหม?
▫ คำสอนของพระเยซูอาจก่อผลเช่นไรต่อหลายครอบครัว?
▫ คริสเตียนหลายพันคนที่ยืนหยัดมั่นคงได้รับบำเหน็จอะไร?
▫ อะไรจะช่วยคู่สมรสหลีกเว้นการประพฤติผิดศีลธรรมและการหย่าร้าง?
▫ สามีทั้งหลายอาจเรียนอะไรจากตัวอย่างของพระเยซู?
▫ ภรรยาจะมีส่วนส่งเสริมความสุขในครอบครัวได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 10]
ซารามีส่วนส่งเสริมชีวิตสมรสของนางให้ประสบความสำเร็จอย่างไร?