คริสเตียนทั้งหลาย—จงภูมิใจ ที่คุณเป็นคริสเตียน!
“ผู้ที่อวดนั้น ให้เขาอวดในพระยะโฮวาเถิด.”—1 โกรินโธ 1:31, ล.ม.
1. แนวโน้มอะไรที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับเจตคติที่ผู้คนมีต่อศาสนา?
“แอเพอธิอิซึม.” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจารณ์เรื่องศาสนาคนหนึ่งใช้คำนี้ในการพรรณนาเจตคติที่หลายคนมีต่อความเชื่อของตน. เขาอธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในศาสนาทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวศาสนาเอง แต่เกิดขึ้นกับเจตคติ [ของศาสนิกชน] ซึ่งพรรณนาได้อย่างเหมาะเจาะว่าเป็น ‘แอเพอธิอิซึม.’ ” เมื่ออธิบายต่อไป เขาให้นิยามแอเพอธิอิซึมว่าเป็น “ความไม่อยากสนใจอะไรมากนักเกี่ยวกับศาสนาของตน.” เขากล่าวว่า หลายคน “เชื่อว่ามีพระเจ้า . . . แต่ไม่สนใจไยดีพระองค์เท่าไรนัก.”
2. (ก) เหตุใดจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ผู้คนกลายเป็นคนไม่สนใจศาสนา? (ข) ความเฉยเมยก่ออันตรายอะไรแก่คริสเตียนแท้?
2 แนวโน้มที่ผู้คนเฉยเมยเรื่องพระเจ้ามากขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. (ลูกา 18:8) และสำหรับศาสนาโดยทั่วไป ความเฉยเมยเช่นนั้นก็เป็นที่คาดหมายได้. ศาสนาเท็จชักนำผู้คนให้หลงและก่อความผิดหวังแก่สังคมมนุษย์มานมนานแล้ว. (วิวรณ์ 17:15, 16) อย่างไรก็ตาม น้ำใจเฉยเมยและขาดความกระตือรือร้นที่แพร่หลายเช่นนั้นเป็นอันตรายสำหรับคริสเตียนแท้. เราจะได้รับผลเสียหายหากเราปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคนไม่ทุกข์ไม่ร้อนเกี่ยวกับความเชื่อและขาดความกระตือรือร้นต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและในการรับใช้พระเจ้า. พระเยซูทรงเตือนเกี่ยวกับความเฉยเมยเช่นนั้นเมื่อตรัสกับคริสเตียนสมัยศตวรรษแรกในเมืองลาโอดิเคียว่า “เจ้าไม่เย็นหรือไม่ร้อน เราใคร่ให้เจ้าเย็นหรือร้อน. . . . เจ้าเป็นแต่อุ่น ๆ.”—วิวรณ์ 3:15-18.
การรู้ว่าตัวเราเองเป็นใคร
3. คริสเตียนจะภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนในด้านใดได้บ้าง?
3 เพื่อจะต่อสู้กับความเฉยเมยทางฝ่ายวิญญาณ คริสเตียนต้องเข้าใจชัดเจนว่าพวกเขาเองเป็นใคร และพวกเขาต้องภูมิใจอย่างพอเหมาะพอควรในเอกลักษณ์ที่แตกต่าง. ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาและสาวกของพระคริสต์ เราพบคำพรรณนาได้จากคัมภีร์ไบเบิลว่าเราเป็นใคร. เราเป็น “พยาน” ของพระยะโฮวา เป็น “ผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า” ขณะที่เราบอก “ข่าวดี” อย่างแข็งขันแก่คนอื่น ๆ. (ยะซายา 43:10; 1 โกรินโธ 3:9; มัดธาย 24:14, ล.ม.) เราเป็นกลุ่มชนซึ่ง “รักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:34) คริสเตียนแท้เป็นผู้ที่ “เคยฝึกหัดความคิดของเขาจนสังเกตได้ว่าไหนดีไหนชั่ว.” (เฮ็บราย 5:14) เราเป็น ‘ดวงสว่างในโลก.’ (ฟิลิปปอย 2:15) เราพยายาม “รักษาความประพฤติ [ของเรา] ให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ.”—1 เปโตร 2:12, ล.ม.; 2 เปโตร 3:11, 14.
4. ผู้นมัสการพระยะโฮวาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่เป็นส่วนของโลก?
4 เหล่าผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวายังรู้ด้วยว่าพวกเขาจะไม่เป็นแบบใด. “พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก” เช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ผู้นำของพวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก. (โยฮัน 17:16, ล.ม.) พวกเขาอยู่ต่างหากจาก “นานาชาติ” ซึ่ง “อยู่ในความมืดทางจิตใจและเหินห่างไปจากชีวิตซึ่งเป็นของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 4:17, 18, ล.ม.) ผลคือ สาวกของพระเยซู “ละทิ้งความอธรรมและความปรารถนาทางโลกและ . . . ดำเนินชีวิตโดยมีสุขภาพจิตดี มีความชอบธรรมและความเลื่อมใสในพระเจ้าในระบบปัจจุบันนี้.”—ติโต 2:12, ล.ม.
5. คำกระตุ้นเตือนที่ให้ “อวดในพระยะโฮวา” นั้นหมายความอย่างไร?
5 การที่เราเข้าใจชัดเจนในเรื่องเอกลักษณ์ของเราและในเรื่องสัมพันธภาพระหว่างเรากับองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทำให้เราอยาก “อวดในพระยะโฮวา.” (1 โกรินโธ 1:31, ล.ม.) นั่นเป็นการอวดแบบไหน? ฐานะคริสเตียนแท้ เราภูมิใจที่มีพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเรา. เราทำตามคำกระตุ้นเตือนที่ว่า “ให้ผู้ที่อวด ๆ ด้วยตัวเข้าใจแลรู้จักเราว่าเราเป็นพระยะโฮวา ผู้ที่ได้ทรงความเมตตาประกอบด้วยความรัก, แลทรงความปัญญา, แลความสัตย์ธรรมในแผ่นดินโลก.” (ยิระมะยา 9:24) เรา “อวด” ที่เราได้รับสิทธิพิเศษได้มารู้จักพระเจ้าและที่พระองค์ทรงใช้เราให้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ.
ข้อท้าทาย
6. ทำไมบางคนจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะคงไว้ซึ่งความเข้าใจที่ชัดแจ้งในเรื่องเอกลักษณ์ของพวกเขาฐานะคริสเตียน?
6 เป็นที่ยอมรับว่าไม่ง่ายเสมอไปที่จะคงไว้ซึ่งความเข้าใจที่ชัดแจ้งในเรื่องเอกลักษณ์ที่แตกต่างของเราฐานะเป็นคริสเตียน. ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้รับการเลี้ยงดูฐานะคริสเตียนเล่าถึงช่วงหนึ่งที่เขาเคยอยู่ในสภาพอ่อนแอฝ่ายวิญญาณว่า “บางครั้ง ผมรู้สึกว่าไม่รู้ว่าทำไมผมจึงเป็นพยานพระยะโฮวา. ผมได้รับการสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมาตั้งแต่ทารก. บางครั้งผมรู้สึกว่าพยานพระยะโฮวาเป็นเพียงศาสนาหลักอีกศาสนาหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน.” บางคนอาจปล่อยให้เอกลักษณ์ของตนถูกครอบงำโดยโลกบันเทิง, สื่อมวลชน, และทัศนะในเรื่องชีวิตตามกระแสนิยมที่ไม่คำนึงถึงพระเจ้า. (เอเฟโซ 2:2, 3) เป็นครั้งคราวที่คริสเตียนบางคนอาจตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่ใจในตัวเองและประเมินค่านิยมและเป้าหมายของตนเสียใหม่.
7. (ก) การตรวจสอบตัวเองแบบใดที่เหมาะสมสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้า? (ข) มีอันตรายแฝงอยู่ตรงไหน?
7 ผิดไหมหากเราจะตรวจสอบชีวิตของเราอย่างรอบคอบเป็นครั้งคราว? ไม่ผิด. คุณอาจจำได้ที่อัครสาวกเปาโลสนับสนุนคริสเตียนให้ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอเมื่อกล่าวว่า “จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวท่านเป็นเช่นไร.” (2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) ในข้อนี้ท่านอัครสาวกกำลังส่งเสริมให้คริสเตียนพยายามอย่างที่ก่อประโยชน์เพื่อตรวจดูว่าตนเองมีจุดที่อ่อนแอใด ๆ ทางฝ่ายวิญญาณไหม โดยมีวัตถุประสงค์จะดำเนินการแก้ไขตามที่จำเป็น. ในการตรวจสอบว่าตนอยู่ในความเชื่อหรือไม่ คริสเตียนต้องประเมินดูว่าคำพูดและการกระทำของเขาประสานกับสิ่งที่เขาประกาศว่าเชื่อหรือไม่. อย่างไรก็ตาม หากการตรวจสอบตัวเองนั้นทำไปผิดทางซึ่งกระตุ้นเราให้อยากค้นหา “เอกลักษณ์” ของตัวเอง หรือค้นหาคำตอบที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวาหรือกับประชาคมคริสเตียน ก็จะไม่เกิดประโยชน์แต่ประการใดและอาจก่อความเสียหายร้ายแรงฝ่ายวิญญาณได้.a เราคงไม่อยากจะ ‘เสียความเชื่อเหมือนเรืออับปาง.’—1 ติโมเธียว 1:19.
คริสเตียนก็หนีไม่พ้นข้อท้าทายต่าง ๆ
8, 9. (ก) โมเซแสดงออกถึงความรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองอย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทำประการใดเมื่อโมเซรู้สึกว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ? (ค) การรับรองจากพระยะโฮวามีผลต่อคุณอย่างไร?
8 คริสเตียนที่รู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองเป็นครั้งคราวควรรู้สึกว่าตนเองล้มเหลวไหม? ไม่เลย! ที่จริงแล้ว เราได้กำลังใจที่รู้ว่าความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่. พยานที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าในสมัยโบราณเคยรู้สึกเช่นนั้นมาแล้ว. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาโมเซ ผู้สำแดงความเชื่อ, ความภักดี, และความเลื่อมใสพระเจ้าอย่างโดดเด่น. เมื่อท่านได้รับงานมอบหมายที่ดูเหมือนใหญ่โต โมเซถามอย่างเจียมตัวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ใดเล่า?” (เอ็กโซโด 3:11) ดูเหมือนในที่นี้ท่านต้องการบอกว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ใช่คนสำคัญอะไร!’ หรือ ‘ข้าพเจ้าไม่สามารถจะทำได้!’ ภูมิหลังหลายด้านของโมเซอาจทำให้ท่านรู้สึกว่าตนเองขาดคุณสมบัติ เช่น ท่านอยู่ในชาติที่ตกเป็นทาส, ถูกชาวอิสราเอลปฏิเสธ, และพูดไม่เก่ง. (เอ็กโซโด 1:13, 14; 2:11-14; 4:10) ท่านเป็นคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวอียิปต์รังเกียจ. (เยเนซิศ 46:32) ไม่น่าประหลาดใจที่ท่านรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าซึ่งตกเป็นทาสนั้น!
9 พระยะโฮวาเสริมความมั่นใจแก่โมเซโดยให้คำสัญญาที่หนักแน่นแก่ท่านสองประการดังนี้: “แท้จริงเราจะอยู่กับเจ้า; นี่เป็นหมายสำคัญให้เจ้ารู้แน่ว่าเราได้ใช้ให้เจ้าไป: คือเมื่อเจ้านำพลไพร่ออกจากประเทศอายฆุบโตแล้ว, เจ้าทั้งหลายจะได้ปรนนิบัติพระเจ้าบนภูเขานี้.” (เอ็กโซโด 3:12) พระเจ้าบอกผู้รับใช้ของพระองค์ที่ไม่แน่ใจในตนเองผู้นี้ว่าพระองค์จะอยู่ด้วยเสมอ. นอกจากนี้ พระยะโฮวาบอกด้วยว่าพระองค์จะปลดปล่อยประชาชนของพระองค์อย่างแน่นอน. ตลอดหลายศตวรรษต่อมา พระเจ้าสัญญาคล้าย ๆ กันนั้นในเรื่องการเกื้อหนุน. ตัวอย่างเช่น พระองค์ตรัสกับชาติอิสราเอลผ่านทางโมเซขณะที่พวกเขากำลังจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาว่า “จงมีกำลังเข้มแข็ง, และมีใจกล้า . . . พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าเสด็จไปด้วยเจ้า; พระองค์ไม่ทรงหย่อน, ไม่ละทิ้งเจ้าทั้งหลายเลย.” (พระบัญญัติ 31:6) พระยะโฮวาทรงรับรองกับยะโฮซูอะด้วยว่า “จะไม่มีผู้ใดอาจยืนต่อสู้กับเจ้าจนสิ้นชีวิตของเจ้า . . . เราจะอยู่กับเจ้า . . . เราจะไม่ละเลยจากเจ้า, หรือทอดทิ้งเจ้าเลย.” (ยะโฮซูอะ 1:5) และพระองค์สัญญากับคริสเตียนว่า “เราจะไม่ละท่านไว้เลย, หรือเราจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.” (เฮ็บราย 13:5) การรับรองอย่างหนักแน่นเช่นนั้นควรทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคริสเตียน!
10, 11. อาซาฟชาวเลวีได้รับความช่วยเหลือให้มีทัศนะที่ถูกต้องต่อคุณค่าแห่งการรับใช้พระยะโฮวาอย่างไร?
10 ประมาณห้าศตวรรษหลังจากสมัยโมเซ ชาวเลวีที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งชื่ออาซาฟเขียนตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความรู้สึกของท่านเองที่สงสัยประโยชน์ของการติดตามแนวทางที่ซื่อตรง. ขณะที่บากบั่นรับใช้พระเจ้าทั้ง ๆ ที่มีความทุกข์ลำบากและการล่อใจต่าง ๆ นั้น อาซาฟเห็นว่าบางคนที่เยาะเย้ยพระเจ้าเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมากขึ้น. นั่นก่อผลกระทบเช่นไรต่ออาซาฟ? ท่านยอมรับว่า “ฝ่ายข้าพเจ้าเล่า, เท้าของข้าพเจ้าแทบหลุดแล้ว; ย่างเท้าของข้าพเจ้าแทบจะพลาดพลั้งลงไปแล้ว. เพราะว่าข้าพเจ้าได้ริษยาคนอหังการในเมื่อข้าพเจ้าเห็นความจำเริญของเขา.” ท่านเริ่มสงสัยคุณค่าของการเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. อาซาฟคิดว่า “การที่ข้าพเจ้าได้ชำระใจของข้าพเจ้า, และได้ล้างมือให้หมดจด, ก็เสียเวลาเปล่า ๆ: เพราะข้าพเจ้าต้องรับความทุกข์ลำบากวันยังค่ำ.”—บทเพลงสรรเสริญ 73:2, 3, 13, 14.
11 อาซาฟจัดการกับความรู้สึกที่รบกวนใจนี้อย่างไร? ท่านปฏิเสธความรู้สึกนั้นไหม? เปล่า. ท่านเผยความรู้สึกในคำอธิษฐานถึงพระเจ้า ดังที่เราเห็นในเพลงสรรเสริญบท 73. จุดเปลี่ยนสำหรับอาซาฟคือคราวที่ท่านไปยังพระวิหารสถานศักดิ์สิทธิ์. ขณะอยู่ที่นั่น ท่านได้มาตระหนักว่าความเลื่อมใสพระเจ้ายังคงเป็นแนวทางดีที่สุด. หลังจากกลับมาเห็นคุณค่าของการรับใช้พระยะโฮวา ท่านก็เข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงเกลียดชังความชั่ว และเมื่อถึงเวลา คนชั่วจะได้รับการลงโทษ. (บทเพลงสรรเสริญ 73:17-19) ด้วยทัศนะที่ปรับแล้วนั้น อาซาฟยิ่งมีความสำนึกมากขึ้นว่าตัวท่านเป็นใครในฐานะผู้รับใช้ที่มีเกียรติของพระยะโฮวา. ท่านทูลพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าอยู่กับพระองค์เสมอ; พระองค์ทรงจับมือขวาของข้าพเจ้าไว้. พระองค์จะทรงนำข้าพเจ้าด้วยคำแนะนำของพระองค์ และภายหลังจะทรงพาข้าพเจ้าไปสู่เกียรติศักดิ์เสียด้วยซ้ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:23, 24, ล.ม.) อาซาฟกลับมาภูมิใจพระเจ้าของท่านอีกครั้ง.—บทเพลงสรรเสริญ 34:2.
พวกเขาตระหนักว่าตนเป็นใคร
12, 13. จงยกตัวอย่างบุคคลในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งภูมิใจในสัมพันธภาพที่มีกับพระเจ้า.
12 วิธีหนึ่งที่จะเสริมความสำนึกของเราให้แรงกล้าขึ้นในเรื่องที่ว่าเราเป็นใครในฐานะคริสเตียนคือ การพิจารณาความเชื่อและเอาอย่างความเชื่อของผู้นมัสการที่ภักดี ผู้ซึ่งแม้จะเผชิญความยากลำบากต่าง ๆ แต่ก็ยังภูมิใจอย่างแท้จริงในสัมพันธภาพที่มีกับพระเจ้า. ขอพิจารณาโยเซฟ บุตรของยาโคบ. ขณะยังเด็ก ท่านถูกหักหลังด้วยการขายไปเป็นทาสและถูกพาไปยังอียิปต์ซึ่งอยู่ห่างหลายร้อยกิโลเมตรจากบิดาผู้ยำเกรงพระเจ้า และไม่มีบรรยากาศที่อบอุ่นและให้การเกื้อหนุนอย่างที่บ้านของท่าน. ขณะอยู่ในอียิปต์ ไม่มีมนุษย์คนใดเลยที่โยเซฟจะขอคำแนะนำตามแนวทางของพระเจ้าได้ และท่านต้องเผชิญสถานการณ์ยุ่งยากที่ทดสอบเรื่องศีลธรรมและการหมายพึ่งพระเจ้า. แม้กระนั้น ท่านพยายามจริงจังอย่างเห็นได้ชัดที่จะรักษาความสำนึกอันแรงกล้าที่ว่าท่านเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และท่านรักษาความซื่อสัตย์ในสิ่งที่ท่านรู้ว่าถูกต้อง. ท่านภูมิใจที่ได้เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาแม้อยู่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบาก และท่านไม่อายที่จะบอกให้รู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไร.—เยเนซิศ 39:7-11.
13 แปดศตวรรษต่อมา เด็กหญิงชาวอิสราเอลคนหนึ่งในหมู่เชลยซึ่งได้เป็นคนรับใช้ของนามานแม่ทัพซีเรียไม่ลืมเอกลักษณ์ของเธอฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา. เมื่อได้โอกาส เธอให้คำพยานเป็นอย่างดีด้วยความกล้าหาญเกี่ยวกับพระยะโฮวา เมื่อเธอบอกว่าอะลีซาเป็นผู้พยากรณ์ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. (2 กษัตริย์ 5:1-19) หลังจากนั้นอีกหลายปี กษัตริย์โยซียาผู้ทรงพระเยาว์ แม้ว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทราม ได้ดำเนินการปฏิรูปทางศาสนาซึ่งมีผลในระยะยาว, ซ่อมแซมพระวิหารของพระเจ้า, และนำพาชาติกลับมาสู่การนมัสการพระยะโฮวา. ท่านภูมิใจในความเชื่อและการนมัสการของท่าน. (2 โครนิกา บท 34, 35) ดานิเอลและเพื่อนชาวฮีบรูสามคนในบาบิโลนไม่เคยลืมเอกลักษณ์ของพวกเขาฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา และแม้อยู่ภายใต้ความกดดันและการล่อใจ พวกเขาก็ยังรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. เห็นได้ชัด พวกเขาภูมิใจที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา.—ดานิเอล 1:8-20.
จงภูมิใจในเอกลักษณ์คริสเตียนของคุณ
14, 15. การภูมิใจในเอกลักษณ์คริสเตียนของเราเกี่ยวข้องกับอะไร?
14 ผู้รับใช้ของพระเจ้าดังที่กล่าวมาประสบความสำเร็จเนื่องจากพวกเขาพัฒนาความรู้สึกภูมิใจในทางที่ถูกที่ควรเกี่ยวกับฐานะของตนจำเพาะพระเจ้า. สำหรับพวกเราในทุกวันนี้ล่ะ? การภูมิใจในเอกลักษณ์คริสเตียนของเราเกี่ยวข้องกับอะไร?
15 ส่วนใหญ่แล้ว นี่เกี่ยวข้องกับการสำนึกบุญคุณอย่างสุดซึ้งที่ได้เป็นคนหนึ่งในท่ามกลางประชาชนซึ่งมีชื่อตามพระนามพระยะโฮวา อีกทั้งได้รับพระพรและความโปรดปรานจากพระองค์. พระเจ้าไม่มีข้อสงสัยว่า ใครที่เป็นของพระองค์. อัครสาวกเปาโลซึ่งมีชีวิตในยุคที่มีความสับสนทางศาสนาอย่างมากเขียนว่า พระยะโฮวา “ทรงรู้จักคนเหล่านั้นที่เป็นของพระองค์.” (2 ติโมเธียว 2:19, ฉบับแปลใหม่; อาฤธโม 16:5) พระยะโฮวาภูมิใจคนเหล่านั้น “ที่เป็นของพระองค์.” พระองค์แถลงว่า “ผู้ใดแตะต้องเจ้าก็แตะต้องนัยน์ตาเรา.” (ซะคาระยา 2:8, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงรักเรา. ด้วยเหตุนี้ สัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้าก็ควรอาศัยความรักอย่างลึกซึ้งที่เรามีต่อพระองค์เช่นกัน. เปาโลให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าคนใดรักพระเจ้า พระเจ้าก็ทรงรู้จักคนนั้น.”—1 โกรินโธ 8:3.
16, 17. เหตุใดคริสเตียน ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ จึงภูมิใจในมรดกฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาได้รับสืบทอดมา?
16 เยาวชนที่ได้รับการเลี้ยงดูฐานะพยานพระยะโฮวาควรตรวจสอบดูว่าเอกลักษณ์คริสเตียนของตนเข้มแข็งขึ้นเนื่องจากการมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับพระเจ้าเป็นส่วนตัวหรือไม่. พวกเขาไม่อาจอาศัยแค่เพียงความเชื่อของบิดามารดา. เปาโลเขียนเกี่ยวกับผู้รับใช้พระเจ้าแต่ละคนว่า “บ่าวคนนั้นจะได้ดีหรือจะล่มจมก็สุดแล้วแต่นายของตัว.” ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงกล่าวต่อไปว่า “เราทั้งหลายทุกคนต้องให้การด้วยตัวเองแก่พระเจ้า.” (โรม 14:4, 12) เห็นได้ชัด การยอมรับเอาการนมัสการพระยะโฮวาตามบิดามารดาแบบที่ไม่ได้มาจากหัวใจไม่อาจค้ำจุนสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดและยาวนานกับพระยะโฮวาไว้ได้.
17 พยานของพระยะโฮวามีสืบต่อกันมาตลอดประวัติศาสตร์. พยานของพระองค์เริ่มจากเฮเบล บุรุษผู้ซื่อสัตย์ เมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว มาจนถึง “ชนฝูงใหญ่” แห่งพยานในปัจจุบัน และต่อไปยังผู้นมัสการพระยะโฮวาหมู่ใหญ่ในอนาคตซึ่งจะมีชีวิตไม่สิ้นสุด. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; เฮ็บราย 11:4) เราเป็นกลุ่มล่าสุดของเหล่าผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ซึ่งสืบต่อกันมายาวนาน. ช่างเป็นมรดกฝ่ายวิญญาณที่ยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ ที่เราได้รับสืบทอดมา!
18. ค่านิยมและมาตรฐานศีลธรรมของเราทำให้เราอยู่ต่างหากจากโลกอย่างไร?
18 เอกลักษณ์คริสเตียนของเรายังรวมไปถึงค่านิยม, คุณลักษณะ, มาตรฐานศีลธรรม, และลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ที่ระบุตัวเราว่าเป็นคริสเตียน. เอกลักษณ์คริสเตียนเป็น “ทางนั้น” อันเป็นวิถีชีวิตอย่างเดียวที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จและทำให้พระเจ้าพอพระทัย. (กิจการ 9:2; เอเฟโซ 4:22-24) คริสเตียน “ทำให้แน่ใจในทุกสิ่ง” และเขา ‘ยึดสิ่งที่ดีไว้มั่น.’ (1 เธซะโลนิเก 5:21, ล.ม.) เราได้รับความเข้าใจชัดเจนถึงความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างแนวทางคริสเตียนกับโลกซึ่งห่างเหินจากพระเจ้า. พระยะโฮวาทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างการนมัสการแท้กับการนมัสการเท็จ. พระองค์แถลงผ่านทางผู้พยากรณ์มาลาคีว่า “เจ้าทั้งหลายก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว, ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.”—มาลาคี 3:18.
19. คริสเตียนแท้จะไม่กลายเป็นคนเช่นไร?
19 เนื่องจากการอวดในพระยะโฮวามีความสำคัญมากในโลกที่สับสนนี้และไม่รู้ว่าจะมุ่งหน้าไปทางใด อะไรจะช่วยเราให้คงรักษาความภูมิใจอย่างเหมาะสมในพระเจ้าและรักษาความสำนึกอย่างแรงกล้าในเอกลักษณ์คริสเตียนไว้ได้? จะมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในบทความถัดไป. ขณะที่พิจารณาเรื่องเหล่านี้ คุณมั่นใจได้ว่าคริสเตียนแท้จะไม่กลายเป็นคนที่ได้รับอิทธิพลที่ไม่ดีจาก “แอเพอธิอิซึม.”
[เชิงอรรถ]
a ในที่นี้ เราพิจารณาเฉพาะเอกลักษณ์ในแง่ฝ่ายวิญญาณเท่านั้น. สำหรับกรณีของความผิดปกติบางอย่างด้านจิตใจ ก็อาจจำเป็นต้องรับการบำบัดรักษาจากแพทย์.
คุณจำได้ไหม?
• คริสเตียนจะ “อวดในพระยะโฮวา” ได้อย่างไร?
• คุณได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของโมเซและอาซาฟ?
• บุคคลใดบ้างในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งภูมิใจในการรับใช้พระเจ้า?
• การภูมิใจในเอกลักษณ์คริสเตียนของเราเกี่ยวข้องกับอะไร?
[ภาพหน้า 14]
ครั้งหนึ่ง โมเซรู้สึกไม่แน่ใจในตนเอง
[ภาพหน้า 15]
ผู้รับใช้พระยะโฮวาสมัยโบราณหลายคนภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนที่แตกต่าง