จงยินดีในชีวิตสมรส
“โดยสติปัญญาครัวเรือนจะได้รับการเสริมสร้าง และโดยการสังเกตเข้าใจจะปรากฏว่าตั้งมั่นคง.”—สุภา. 24:3, ล.ม.
1. พระเจ้าทรงแสดงพระปัญญาอย่างไรเกี่ยวกับมนุษย์คนแรก?
พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงทราบว่าอะไรดีสำหรับเรา. ตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงทราบดีว่าเพื่อพระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จ “ไม่ดีที่ [อาดาม] จะอยู่ลำพัง” ในสวนเอเดน. ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของพระประสงค์นั้นก็คือการที่คู่สมรสจะมีบุตรและ “บรรจุให้เต็มแผ่นดินโลก.”—เย. 1:28; 2:18, ล.ม.
2. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ?
2 พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะสร้างผู้ช่วยสำหรับเขา เป็นคู่เคียงของเขา.” แล้วพระเจ้าก็ทรงทำให้มนุษย์คนแรกหลับสนิท ทรงชักกระดูกซี่โครงซี่หนึ่งจากร่างกายอันสมบูรณ์ของเขาและสร้างผู้หญิงขึ้นจากกระดูกซี่นั้น. เมื่อพระยะโฮวาทรงนำหญิงที่สมบูรณ์ผู้นี้ คือฮาวา มามอบให้อาดาม เขากล่าวว่า “นี่เป็นกระดูกแท้และเนื้อแท้ของเรา จะต้องเรียกว่าหญิง, เพราะหญิงนี้ออกมาจากชาย.” ฮาวาเป็นคู่เคียงที่เหมาะจริง ๆ สำหรับอาดาม. แต่ละคนจะแสดงคุณลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองเป็นมนุษย์สมบูรณ์และถูกสร้างขึ้นตามแบบพระเจ้า. โดยวิธีนั้น พระยะโฮวาทรงจัดให้มีการสมรสครั้งแรก. อาดามและฮาวาเต็มใจยอมรับการจัดเตรียมดังกล่าวจากพระเจ้าซึ่งทำให้ทั้งสองช่วยเหลือและสนับสนุนกันและกัน.—เย. 1:27; 2:21-23.
3. หลายคนมองการสมรสซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้าอย่างไร และนั่นทำให้เกิดปัญหาอะไร?
3 น่าเศร้า น้ำใจขืนอำนาจแทรกซึมไปทั่วโลกในทุกวันนี้. ปัญหาที่น้ำใจนี้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ได้มาจากพระเจ้า. หลายคนเย้ยหยันการสมรสอันเป็นของประทานจากพระเจ้า โดยถือว่าเป็นเรื่องล้าสมัยและทำให้เกิดความวุ่นวายใจหรือความขัดแย้ง. ในหมู่ผู้คนมากมายที่สมรส การหย่าร้างกลายเป็นเรื่องธรรมดา. เด็ก ๆ อาจไม่ได้รับความรักตามปกติที่ควรได้จากบิดามารดา และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองของแต่ละฝ่าย. บิดามารดาหลายคนปฏิเสธที่จะเป็นฝ่ายยอมเพื่อเห็นแก่สันติสุขและความปรองดองกัน. (2 ติโม. 3:3) ถ้าอย่างนั้น จะรักษาความยินดีในชีวิตสมรสเอาไว้ในสมัยวิกฤตินี้ได้โดยวิธีใด? การพร้อมจะยินยอมมีส่วนอย่างไรในการรักษาชีวิตสมรสไว้ไม่ให้แตกหัก? เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของบางคนในสมัยปัจจุบันที่ได้รักษาความยินดีในชีวิตสมรส?
ยินยอมทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา
4. (ก) เปาโลชี้แนะไว้เช่นไรเกี่ยวกับการสมรส? (ข) คริสเตียนที่เชื่อฟังปฏิบัติตามคำชี้แนะของเปาโลอย่างไร?
4 คริสเตียนอัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้ชี้แนะแก่หญิงม่ายว่าถ้าพวกเธอเลือกจะแต่งงานใหม่ก็สามารถทำได้ แต่คนที่จะแต่งงานด้วยควร “เป็นผู้ที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โค. 7:39) นี่ไม่ใช่แง่คิดใหม่สำหรับคริสเตียนที่เคยอยู่ภายใต้พระบัญญัติมาก่อน. พระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่ชาติอิสราเอลสั่งไว้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องไม่ ‘ผูกสัมพันธ์โดยการแต่งงาน’ กับชาวนอกรีตที่อยู่โดยรอบ. พระยะโฮวาทรงเสริมพระบัญชานั้นด้วยคำอธิบายที่เน้นให้เห็นอันตรายของการละเลยมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องนี้. “เพราะว่า [คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล] จะทำให้บุตรชายของพวกเจ้าหันเหไปจากเรา ไปปฏิบัติพระอื่น ๆ พระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อท่านทั้งหลาย และจะทรงทำลายท่านเสียโดยเร็ว.” (บัญ. 7:3, 4, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงคาดหมายผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยปัจจุบันให้ทำอย่างไรในเรื่องนี้? เห็นได้ชัดว่า ผู้รับใช้ของพระเจ้าควรเลือกสมรสกับคนที่ “เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า” กล่าวคือ สมรสกับเพื่อนผู้นมัสการที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้ว. การยินยอมทำตามการชี้นำของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการเลือกคู่สมรสเป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุม.
5. พระยะโฮวาและคริสเตียนที่สมรสแล้วมีทัศนะอย่างไรต่อคำปฏิญาณการสมรส?
5 คำปฏิญาณการสมรสถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในสายพระเนตรพระเจ้า. พระเยซู พระบุตรของพระเจ้าเอง ทรงอ้างถึงการสมรสแรกเมื่อตรัสว่า “ที่พระเจ้าทรงผูกมัดไว้ด้วยกันแล้วนั้นอย่าให้มนุษย์ทำให้แยกจากกันเลย.” (มัด. 19:6) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเตือนเราให้ระลึกถึงความจริงจังของคำปฏิญาณโดยกล่าวว่า “จงถวายการขอบพระคุณเป็นเครื่องบูชาของท่านแด่พระเจ้า และทำตามคำปฏิญาณของท่านแด่พระผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด.” (เพลง. 50:14) แม้ว่าคู่สมรสสามารถมีความยินดีมากมายในวันข้างหน้า แต่การที่ทั้งสองคนกล่าวคำปฏิญาณในวันแต่งงานเป็นเรื่องจริงจังและทั้งคู่ต้องรับผิดชอบ.—บัญ. 23:21.
6. เราสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของยิฟทาห์?
6 ขอพิจารณากรณีของยิฟทาห์ ซึ่งรับใช้เป็นผู้วินิจฉัยในอิสราเอลในศตวรรษที่ 12 ก่อนสากลศักราช. ท่านกล่าวคำปฏิญาณต่อพระยะโฮวาว่า “ถ้าพระองค์จะทรงมอบชาวเมืองอัมโมนไว้ในมือข้าพเจ้าจริง, เมื่อข้าพเจ้ามีชัยชนะชาวเมืองอัมโมนมาแล้ว สิ่งใด ๆ ออกมาต้อนรับข้าพเจ้าจากประตูบ้าน, สิ่งนั้นข้าพเจ้าจะเผาเป็นเครื่องบูชาถวายพระยะโฮวา.” เมื่อเห็นว่าคนที่ออกมาพบท่านเมื่อกลับถึงบ้านในเมืองมิซพาห์ได้แก่บุตรสาวคนเดียวของท่าน ยิฟทาห์หาทางเลี่ยงเพื่อจะไม่ต้องทำตามคำปฏิญาณไหม? ไม่. ท่านกล่าวว่า “เราออกปากทูลพระยะโฮวาแล้ว, จะกลับคำไม่ได้.” (วินิจ. 11:30, 31, 35) ยิฟทาห์รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับพระยะโฮวา แม้นั่นหมายความว่าท่านจะไม่มีลูกหลานสืบตระกูล. คำปฏิญาณของยิฟทาห์ไม่เหมือนกับคำปฏิญาณการสมรส แต่การที่ท่านรักษาคำปฏิญาณนับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับสามีภรรยาคริสเตียนที่จะรักษาคำปฏิญาณการสมรสของตน.
การสมรสที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยอะไร?
7. คู่สมรสใหม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง?
7 คู่สมรสหลายคู่นึกย้อนไปถึงตอนที่เขาติดต่อฝากรักกันด้วยความรักใคร่หวานชื่น. เป็นเรื่องน่ายินดีจริง ๆ ที่ได้ทำความรู้จักกับคนที่จะมาเป็นคู่ของตน! ยิ่งใช้เวลาด้วยกันมากเท่าไร ทั้งสองก็ยิ่งใกล้ชิดกันมากเท่านั้น. แต่ไม่ว่าเขาแต่งงานกันหลังจากได้ติดต่อฝากรักกันมาหรือแต่งงานกันโดยผู้ใหญ่จัดการให้ เมื่อในที่สุดทั้งสองเป็นสามีภรรยากันแล้วก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยน. สามีคนหนึ่งยอมรับว่า “ปัญหาใหญ่ที่เรามีตอนแต่งงานกันใหม่ ๆ ก็คือเรามักลืมว่าตอนนี้เราไม่ได้เป็นคนโสดอีกแล้ว. มีอยู่พักหนึ่งที่เราพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีความสมดุลในการรักษาสายสัมพันธ์กับเพื่อนและกับญาติ ๆ.” สามีอีกคนหนึ่ง ซึ่งแต่งงานมา 30 ปีแล้ว ตระหนักตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่แต่งงานว่าเพื่อจะรักษาความสมดุล เขาต้อง “คิดสำหรับสองคน.” ก่อนจะตอบรับคำเชิญหรือตกปากรับคำทำอะไร เขาปรึกษากับภรรยาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของเขาทั้งสอง. ในสถานการณ์อย่างนั้น การเป็นคนพร้อมจะยินยอมนับว่าเป็นประโยชน์.—สุภา. 13:10.
8, 9. (ก) เหตุใดการสื่อความที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ? (ข) การรู้จักยืดหยุ่นในเรื่องใดนับว่าเป็นประโยชน์ และเพราะเหตุใด?
8 บางครั้ง การแต่งงานหลอมรวมสองบุคคลที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน. โดยเฉพาะในกรณีอย่างนี้ จำเป็นต้องสื่อความกันอย่างเปิดเผย. แต่ละคนมีวิธีสื่อความแตกต่างกัน. การสังเกตว่าคู่สมรสพูดคุยกับญาติ ๆ อย่างไรอาจช่วยคุณได้ให้เข้าใจคู่ของคุณดีขึ้น. บางครั้งสิ่งที่เผยให้รู้ว่าลึก ๆ แล้วใครคนหนึ่งคิดอย่างไรอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาพูด แต่เป็นวิธีพูด. และอาจมีเรื่องให้เรียนรู้ได้มากมายนอกเหนือจากคำพูด. (สุภา. 16:24; โกโล. 4:6) การสังเกตเข้าใจนับว่าสำคัญอย่างยิ่งเพื่อจะช่วยให้ครอบครัวมีความสุข.—อ่านสุภาษิต 24:3.
9 ในเรื่องการเลือกงานอดิเรกและนันทนาการ หลายคนพบว่าการรู้จักยืดหยุ่นเป็นเรื่องสำคัญ. ก่อนแต่งงาน คู่ของคุณอาจชอบเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ. เหมาะไหมในตอนนี้ที่จะปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง? (1 ติโม. 4:8) อาจกล่าวได้อย่างเดียวกันในเรื่องการใช้เวลากับญาติ ๆ. เป็นเรื่องที่ควรคาดหมายอยู่แล้วว่าคู่สมรสจำเป็นต้องกันเวลาไว้เพื่อจะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณและกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยกัน.—มัด. 6:33.
10. น้ำใจยินยอมจะช่วยส่งเสริมอย่างไรให้บิดามารดากับบุตรที่สมรสแล้วมีความสัมพันธ์ที่ดี?
10 เมื่อผู้ชายแต่งงาน เขาก็จะจากบิดามารดาไป และอาจกล่าวได้คล้าย ๆ กันในกรณีของผู้หญิง. (อ่านเยเนซิศ 2:24.) ถึงกระนั้น พระบัญชาของพระเจ้าที่ให้นับถือบิดามารดานั้นไม่มีการจำกัดเวลา. ดังนั้น แม้แต่เมื่อแต่งงานไปแล้ว ทั้งสองก็คงจะไปมาหาสู่บิดามารดาและพี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง. สามีคนหนึ่งซึ่งแต่งงานมา 25 ปีแล้วกล่าวว่า “บางครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะสนองความต้องการของคู่สมรส และขณะเดียวกันก็สนองความต้องการของพ่อแม่และพี่น้องของตัวเอง และญาติของคู่สมรส. ผมพบว่าเยเนซิศ 2:24 ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด. คนเรามีพันธะต้องภักดีและรับผิดชอบต่อสมาชิกคนอื่น ๆ ของครอบครัว แต่พระคัมภีร์ข้อนี้แสดงให้ผมเห็นว่าการภักดีต่อคู่สมรสต้องมาก่อน.” ด้วยเหตุนั้น บิดามารดาคริสเตียนที่พร้อมจะยินยอมต้องไม่ลืมว่าบุตรที่สมรสแล้วได้แยกไปอยู่ในอีกครอบครัวหนึ่งที่สามีเป็นผู้มีความรับผิดชอบหลักในการนำครอบครัว.
11, 12. เหตุใดการศึกษาในครอบครัวและการอธิษฐานด้วยกันจึงสำคัญสำหรับคู่สมรส?
11 การศึกษาในครอบครัวเป็นประจำนับว่าสำคัญมาก. ประสบการณ์ของครอบครัวคริสเตียนหลายครอบครัวยืนยันความจริงดังกล่าว. อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดให้มีการศึกษาแบบนี้หรือทำอย่างต่อเนื่อง. หัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งยอมรับว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากกลับไปเพื่อจะนำการศึกษาในครอบครัวเป็นประจำตั้งแต่แรกที่แต่งงาน.” เขายังกล่าวอีกว่า “นับเป็นของประทานอันวิเศษสุดที่ได้เห็นความยินดีของภรรยาเมื่อเธอถูกกระตุ้นใจจากความรู้ฝ่ายวิญญาณที่น่าสนใจซึ่งเราพบในการศึกษาด้วยกัน.”
12 การอธิษฐานด้วยกันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้เป็นอย่างดี. (โรม 12:12) เมื่อสามีภรรยาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการนมัสการพระยะโฮวา สายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้าสามารถเสริมความผูกพันในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. (ยโก. 4:8) สามีคริสเตียนคนหนึ่งอธิบายว่า “การรีบขอโทษเมื่อทำอะไรผิดพลาดและการกล่าวถึงความผิดพลาดนั้นเมื่ออธิษฐานด้วยกันเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแสดงความเสียใจจากใจจริง แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้คู่สมรสขุ่นเคือง.”—เอเฟ. 6:18.
จงพร้อมจะยินยอมในชีวิตสมรส
13. เปาโลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องเพศสัมพันธ์ในชีวิตสมรส?
13 คริสเตียนที่สมรสแล้วต้องหลีกเลี่ยงกิจปฏิบัติที่ทำให้สายสัมพันธ์ในชีวิตสมรสเสื่อมลง แบบที่ทำกันทั่วไปในโลกทุกวันนี้ที่คลั่งไคล้ในเรื่องเพศ. เปาโลให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า “สามีพึงให้แก่ภรรยาตามที่นางควรได้รับ และภรรยาก็พึงให้แก่สามีตามที่เขาควรได้รับ. ภรรยาไม่มีสิทธิ์ในกายของตน แต่สามีมีสิทธิ์ในกายภรรยา เช่นเดียวกัน สามีไม่มีสิทธิ์ในกายของตน แต่ภรรยามีสิทธิ์ในกายสามี.” แล้วเปาโลก็ให้คำชี้แนะที่ชัดเจนดังนี้: “อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับตามสิทธิ์ของตน นอกเสียจากว่าทั้งสองฝ่ายตกลงให้เป็นเช่นนั้นระยะหนึ่ง.” เพราะเหตุใด? “เพื่อพวกท่านจะอุทิศเวลาให้แก่การอธิษฐานแล้วจึงมาอยู่ด้วยกันอีก จะได้ไม่ถูกซาตานล่อใจเนื่องจากพวกท่านขาดการควบคุมตนเอง.” (1 โค. 7:3-5) การที่เปาโลกล่าวถึงการอธิษฐานแสดงให้เห็นว่าสิ่งฝ่ายวิญญาณมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตของคริสเตียน. แต่ท่านยังแสดงชัดเจนด้วยว่าคริสเตียนที่สมรสแล้วแต่ละคนควรไวต่อความต้องการด้านร่างกายและอารมณ์ของคู่สมรส.
14. อาจใช้หลักการพระคัมภีร์อย่างไรในเรื่องเพศสัมพันธ์ในชีวิตสมรส?
14 สามีและภรรยาต้องพูดกันอย่างเปิดเผยและตระหนักว่าการขาดความอ่อนโยนในเรื่องเพศสัมพันธ์อาจก่อให้เกิดปัญหาได้. (อ่านฟิลิปปอย 2:3, 4; เทียบกับมัดธาย 7:12.) ปรากฏว่าเป็นอย่างนี้จริงในบางครอบครัวที่สามีหรือภรรยาไม่อยู่ในความจริง. แม้ว่าไม่เห็นพ้องต้องกันในบางเรื่อง แต่คริสเตียนสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ด้วยความประพฤติที่ดี, ความกรุณา, และการให้ความร่วมมือ. (อ่าน 1 เปโตร 3:1, 2.) ความรักต่อพระยะโฮวาและต่อคู่สมรส รวมทั้งน้ำใจพร้อมจะยินยอม จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในแง่นี้ของชีวิตสมรสดีขึ้น.
15. ความนับถือและการให้เกียรติมีบทบาทอย่างไรในชีวิตสมรสที่มีความสุข?
15 ในแง่อื่น ๆ ก็เช่นกัน สามีที่กรุณาจะปฏิบัติต่อภรรยาอย่างให้เกียรติ. ตัวอย่างเช่น เขาจะคำนึงถึงความรู้สึกของเธอแม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ. สามีคนหนึ่งซึ่งแต่งงานมา 47 ปีแล้วยอมรับว่า “ผมยังต้องเรียนรู้อยู่ในเรื่องนี้.” ภรรยาคริสเตียนได้รับคำแนะเตือนให้นับถือสามีอย่างสุดซึ้ง. (เอเฟ. 5:33) การพูดถึงสามีในแง่ลบ เน้นข้อผิดพลาดของสามีต่อหน้าคนอื่น ๆ ย่อมไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความนับถือ. สุภาษิต 14:1 เตือนใจเราว่า “สตรีที่มีปัญญาทุกคนย่อมก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น; แต่ผู้ที่โฉดเขลาย่อมรื้อบ้านลงด้วยมือตนเอง.”
อย่างยอมพญามาร
16. สามีภรรยาจะใช้คำแนะนำที่เอเฟโซส์ 4:26, 27 ในชีวิตสมรสได้อย่างไร?
16 “ถ้าจะโกรธก็โกรธเถิด แต่อย่าทำบาป อย่าโกรธจนถึงดวงอาทิตย์ตก ทั้งอย่าเปิดช่องให้พญามาร.” (เอเฟ. 4:26, 27) การนำคำแนะนำนี้ไปใช้อาจช่วยเราได้ให้แก้ไขหรือหลีกเลี่ยงความบาดหมางในชีวิตสมรส. พี่น้องหญิงคนหนึ่งเล่าว่า “ดิฉันนึกไม่ออกว่ามีครั้งไหนที่ดิฉันกับสามีขัดเคืองใจกันแล้วไม่ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกัน แม้ว่าต้องเสียเวลากันเป็นชั่วโมง ๆ ก็ตาม.” ตั้งแต่แรกที่แต่งงานกัน เธอกับสามีตกลงกันว่าจะไม่ปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยไม่ได้แก้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น. “เราตัดสินใจกันว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร เราจะให้อภัยกันและลืมเรื่องนั้นเสีย เพื่อจะเริ่มต้นแต่ละวันอย่างสดชื่น.” โดยทำอย่างนั้น สามีภรรยาคู่นี้ไม่ “เปิดช่องให้พญามาร.”
17. แม้แต่เมื่อดูเหมือนว่าเข้ากันไม่ค่อยได้กับคู่สมรส อะไรอาจช่วยได้?
17 แต่จะว่าอย่างไรถ้าคุณแต่งงานกับคนที่เข้ากันไม่ค่อยได้? คุณอาจพบว่าสายสัมพันธ์ของตัวเองดูเหมือนไม่หวานชื่นเหมือนกับคู่อื่น. ถึงกระนั้น การจำเอาไว้ถึงทัศนะของพระผู้สร้างในเรื่องพันธะของการสมรสจะช่วยคุณ. เปาโลให้คำแนะนำที่มาจากการดลใจแก่คริสเตียนว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง และจงให้เตียงสมรสปราศจากมลทิน เพราะพระเจ้าจะทรงพิพากษาคนผิดประเวณีและคนเล่นชู้.” (ฮีบรู 13:4) และอย่ามองข้ามถ้อยคำนี้ที่ว่า “เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้.” (ผู้ป. 4:12) เมื่อทั้งสามีและภรรยาเป็นห่วงอย่างแท้จริงในเรื่องการทำให้พระนามยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ทั้งสองก็จะผูกพันกันและผูกพันกับพระเจ้า. สามีภรรยาควรช่วยกันทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จ โดยรู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นการยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา ผู้ทรงริเริ่มการสมรส.—1 เป. 3:11.
18. คุณสามารถแน่ใจได้ในเรื่องใดเกี่ยวกับการสมรส?
18 เป็นไปได้แน่นอนที่คริสเตียนจะมีความยินดีในชีวิตสมรส. การมีความยินดีอย่างนั้นต้องอาศัยความพยายามและต้องแสดงคุณลักษณะแบบคริสเตียน ซึ่งประการหนึ่งคือการเป็นคนพร้อมจะยินยอม. ปัจจุบัน ในประชาคมของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก มีคู่สมรสนับไม่ถ้วนที่พิสูจน์ว่าเป็นไปได้ที่จะยินดีในชีวิตสมรส.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดการมีความยินดีในชีวิตสมรสเป็นเรื่องที่เป็นไปได้?
• อะไรสามารถช่วยชีวิตสมรสให้ประสบความสำเร็จ?
• คู่สมรสจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะอะไร?
[ภาพหน้า 9]
คู่สมรสควรพูดคุยกันก่อนตอบรับคำเชิญหรือนัดหมายกับผู้อื่น
[ภาพหน้า 10]
พยายามจัดการกับข้อขัดแย้งโดยไม่ปล่อยไว้ข้ามวัน เพื่อจะไม่ “เปิดช่องให้พญามาร”