พระธรรมเล่มที่ 46—1 โกรินโธ
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: เอเฟโซ
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 55
1. เมืองโกรินโธในสมัยของเปาโลเป็นเมืองแบบไหน?
โกรินโธเป็น “นครที่มีชื่อเสียงและมัวเมาในตัณหา ที่ที่สิ่งชั่วร้ายจากตะวันตกและตะวันออกมาบรรจบกัน.”a โกรินโธตั้งอยู่บนคอคอดระหว่างเพโลพอนเนซุส และแผ่นดินกรีซ จึงควบคุมเส้นทางบกเข้าสู่แผ่นดินใหญ่. ในสมัยของอัครสาวกเปาโล โกรินโธมีประชากรประมาณ 400,000 คน มีแต่กรุงโรม, อะเล็กซานเดรีย, และอันทิโอก (อันติโอเกีย) ในซีเรียเท่านั้นที่มีประชากรมากกว่า. ทางทิศตะวันออกของโกรินโธจดทะเลอีเจียน และทิศตะวันตกจดอ่าวโกรินโธและทะเลไอโอเนียน. ดังนั้น โกรินโธเมืองหลวงของมณฑลอะคายะ พร้อมด้วยท่าเรือสองแห่งคือเคนเครอาย (เก็งเครอาย) กับเลแคอุม จึงมีความสำคัญด้านนโยบายทางการค้า. นอกจากนั้น โกรินโธยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาของกรีก. กล่าวกันว่า “ความมั่งคั่งของเมืองนี้ขึ้นชื่อลือชาจนเป็นที่กล่าวขวัญ; พอ ๆ กันกับความเสื่อมทรามและความเสเพลของพลเมือง.”b ในบรรดากิจปฏิบัติทางศาสนาแบบนอกรีตก็มีการนมัสการอะโฟรไดต์ (หรือวีนัสของชาวโรมัน). การลุ่มหลงในโลกียตัณหาเป็นผลิตผลจากการนมัสการของชาวโกรินโธ.
2. ประชาคมโกรินโธถูกตั้งขึ้นอย่างไร และดังนั้นจึงมีความผูกพันกับเปาโลเช่นไร?
2 อัครสาวกเปาโลเดินทางมายังมหานครที่รุ่งเรืองแต่เสื่อมทรามทางศีลธรรมแห่งนี้ของจักรวรรดิโรมประมาณปี ส.ศ. 50. ในช่วง 18 เดือนที่ท่านพำนักอยู่ มีการตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นที่นี่. (กิจ. 18:1-11) เปาโลรู้สึกรักผู้เชื่อถือเหล่านี้จริง ๆ ซึ่งท่านได้นำข่าวดีเรื่องพระคริสต์มาให้แต่แรก! ท่านเตือนพวกเขาทางจดหมายถึงเรื่องความผูกพันฝ่ายวิญญาณที่มีอยู่โดยกล่าวว่า “แม้ท่านทั้งหลายมีผู้สอนหมื่นคนในเรื่องพระคริสต์ แน่ละ ท่านก็หาได้มีบิดาหลายคนไม่; เพราะเนื่องด้วยพระคริสต์เยซู ข้าพเจ้าได้กลายเป็นบิดาของท่านโดยทางข่าวดี.”—1 โก. 4:15, ล.ม.
3. อะไรกระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนชาวโกรินโธ?
3 ความห่วงใยอันลึกซึ้งต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของพวกเขากระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายฉบับแรกไปยังคริสเตียนที่โกรินโธระหว่างการเดินทางเผยแพร่ยังต่างประเทศรอบที่สาม. หลายปีผ่านไปนับตั้งแต่ตอนที่ท่านอยู่ในโกรินโธ. บัดนี้เป็นราว ๆ ปี ส.ศ. 55 และเปาโลอยู่ในเอเฟโซ. ปรากฏว่าท่านได้รับจดหมายจากประชาคมที่ค่อนข้างใหม่ในโกรินโธ และต้องการคำตอบ. นอกจากนั้น เปาโลได้รับรายงานที่รบกวนใจอีกด้วย. (7:1; 1:11; 5:1; 11:18) รายงานเหล่านั้นก่อความไม่สบายใจถึงขนาดที่ท่านอัครสาวกไม่ได้กล่าวถึงจดหมายสอบถามของพวกเขาด้วยซ้ำ จนกระทั่งเริ่มต้นบท 7 ในจดหมายของท่าน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากรายงานที่ท่านได้รับ เปาโลจึงรู้สึกว่าต้องเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนในเมืองโกรินโธ.
4. อะไรพิสูจน์ว่าเปาโลเขียนพระธรรมโกรินโธฉบับต้นจากเอเฟโซ?
4 แต่เราทราบได้อย่างไรว่าเปาโลเขียนพระธรรมโกรินโธฉบับต้นที่เอเฟโซ? ประการหนึ่งคือ ในการลงท้ายจดหมายด้วยคำทักทาย ท่านอัครสาวกได้รวมเอาคำทักทายของอะกุลาและปริศกิลาไว้ด้วย. (16:19) กิจการ 18:18, 19 แสดงว่าพวกท่านได้ย้ายจากโกรินโธมาที่เอเฟโซ. เนื่องจากอะกุลากับปริศกิลาอาศัยอยู่ที่นั่นและเปาโลได้กล่าวถึงทั้งสองด้วยในคำทักทายตอนท้ายพระธรรมโกรินโธฉบับต้น ท่านจึงต้องอยู่ในเอเฟโซตอนที่ท่านเขียนจดหมายนั้น. แต่จุดหนึ่งที่แน่นอนคือ คำกล่าวของเปาโลที่ 1 โกรินโธ 16:8 (ล.ม.) ที่ว่า “แต่ข้าพเจ้าจะยังอยู่ ในเอเฟโซจนถึงเทศกาลเพนเตคอสเต.” ดังนั้น เปาโลจึงเขียนพระธรรมโกรินโธฉบับต้นที่เอเฟโซ ดูเหมือนในช่วงท้าย ๆ ที่ท่านอยู่ที่นั่น.
5. อะไรยืนยันเรื่องความเชื่อถือได้ของจดหมายที่มีไปถึงคริสเตียนที่โกรินโธ?
5 ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมโกรินโธฉบับต้นและฉบับที่สอง. จดหมายสองฉบับนี้เป็นที่ยอมรับว่ามาจากเปาโลและได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์โดยคริสเตียนรุ่นแรกซึ่งรวมจดหมายสองฉบับนี้ไว้ในชุดพระธรรมของตนด้วย. แท้จริงแล้ว กล่าวกันว่ามีการอ้างถึงพระธรรมโกรินโธฉบับต้นและยกข้อความจากพระธรรมนี้ไปกล่าวอย่างน้อยหกครั้งในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนจากโรมถึงโกรินโธเมื่อประมาณปี ส.ศ. 95 และเรียกกันว่า เคลเมนต์ฉบับที่หนึ่ง. โดยอ้างถึงพระธรรมโกรินโธฉบับต้นอย่างชัดเจน ผู้เขียนได้กระตุ้นผู้รับจดหมายฉบับนี้ให้ “ยอมรับจดหมายของอัครสาวกเปาโลผู้ซึ่งได้รับพร.”c นอกจากนี้ จัสติน มาร์เทอร์, อะเทนาโกรัส, อิเรแนอุส, และเทอร์ทูลเลียน ก็ยกข้อความโดยตรงจากพระธรรมโกรินโธฉบับต้นไปกล่าวด้วย. มีหลักฐานหนักแน่นว่า ประมวลจดหมายของเปาโล ซึ่งรวมทั้งโกรินโธฉบับต้นและฉบับสอง “มีการจัดทำและเผยแพร่ในช่วงสิบปีสุดท้ายของศตวรรษแรก.”d
6. มีปัญหาอะไรบ้างในประชาคมที่โกรินโธ และเปาโลสนใจเป็นพิเศษในเรื่องใด?
6 จดหมายฉบับแรกที่เปาโลมีไปถึงพี่น้องในโกรินโธทำให้เรามีโอกาสมองเห็นภายในประชาคมโกรินโธ. คริสเตียนเหล่านี้มีปัญหาต้องแก้ไข. มีการแตกแยกภายในประชาคมเนื่องจากบางคนติดตามมนุษย์. เกิดเรื่องที่น่าตกตะลึงเกี่ยวกับการผิดศีลธรรมทางเพศ. บางคนอยู่ในครอบครัวที่มีการนับถือศาสนาต่างกัน. พวกเขาควรอยู่กับคู่ชีวิตที่มีความเชื่อไม่เหมือนกันหรือควรแยกทางกัน? และจะว่าอย่างไรในเรื่องการกินเนื้อที่บูชาแก่รูปเคารพ? พวกเขาควรกินไหม? คริสเตียนชาวโกรินโธจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในเรื่องการนำการประชุม รวมทั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ฐานะของผู้หญิงในประชาคมควรเป็นเช่นไร? นอกจากนั้น ในพวกเขายังมีบางคนที่ปฏิเสธการกลับเป็นขึ้นจากตาย. มีปัญหามากมาย. แต่ท่านอัครสาวกก็สนใจโดยเฉพาะที่จะทำให้มีการฟื้นฟูสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมโกรินโธ.
7. เราควรพิจารณาพระธรรมโกรินโธฉบับต้นด้วยเจตคติเช่นไร และเพราะเหตุใด?
7 เนื่องจากสภาพภายในประชาคมและสิ่งแวดล้อมภายนอกในโกรินโธโบราณ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมเหมือนกับสมัยปัจจุบัน คำแนะนำที่หนักแน่นซึ่งเปาโลเขียนโดยการดลใจจึงทำให้เราต้องเอาใจใส่. สิ่งที่เปาโลกล่าวเต็มไปด้วยความหมายสำหรับสมัยของเราถึงขนาดที่การใคร่ครวญจดหมายฉบับแรกที่ท่านมีไปยังพี่น้องที่รักในโกรินโธจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง. บัดนี้ ขอให้นึกถึงน้ำใจของยุคสมัยและสถานที่นั้น. คิดใคร่ครวญเช่นเดียวกับที่คริสเตียนชาวโกรินโธคงต้องได้ทำ ขณะที่เราทบทวนถ้อยคำที่ตรงจุดและกระตุ้นใจซึ่งเปาโลเขียนโดยการดลใจไปยังเพื่อนผู้เชื่อถือในโกรินโธโบราณ.
เนื้อเรื่องในโกรินโธฉบับต้น
8. (ก) เปาโลเปิดเผยอย่างไรเรื่องความโฉดเขลาของการแบ่งพรรคแบ่งพวกในประชาคม? (ข) เปาโลเผยให้เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ของพระเจ้า?
8 เปาโลเปิดเผยเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวก กระตุ้นเตือนเรื่องเอกภาพ (1:1–4:21). เปาโลมีความปรารถนาดีต่อคริสเตียนชาวโกรินโธ. แต่จะว่าอย่างไรในเรื่องการแตกแยก การทุ่มเถียงกันท่ามกลางพวกเขา? “พระคริสต์ถูกแบ่งเสียแล้ว.” (1:13, ล.ม.) ท่านอัครสาวกรู้สึกขอบคุณที่ได้ให้บัพติสมาแก่พวกเขาบางคน เพื่อพวกเขาจะไม่อาจพูดได้ว่าได้รับบัพติสมาในนามของท่าน. เปาโลประกาศเรื่องพระคริสต์ถูกตรึง. นี่เป็นเหตุให้ชาวยิวสะดุดและเป็นความโง่เขลาแก่นานาชาติ. แต่พระเจ้าเลือกคนโง่และอ่อนแอจากโลกเพื่อทำให้ผู้มีปัญญาและเข้มแข็งละอาย. ดังนั้น เปาโลไม่ได้ใช้ถ้อยคำเกินเลย แต่ให้พวกพี่น้องเห็นพระวิญญาณและฤทธิ์เดชของพระเจ้าโดยทางคำพูดของท่าน เพื่อพวกเขาจะไม่มีความเชื่อในปัญญามนุษย์ แต่ในฤทธิ์เดชของพระเจ้า. เปาโลกล่าวว่า พวกเราพูดเรื่องต่าง ๆ ที่มีการเปิดเผยโดยพระวิญญาณของพระเจ้า “เพราะพระวิญญาณสืบค้นทุกสิ่ง แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า.” สิ่งเหล่านี้มนุษย์ฝ่ายเนื้อหนังเข้าใจไม่ได้แต่มนุษย์ฝ่ายวิญญาณเข้าใจได้.—2:10, ล.ม.
9. เปาโลแสดงว่าไม่ควรมีใครอวดอ้างมนุษย์โดยการชักเหตุผลเช่นไร?
9 พวกเขากำลังติดตามมนุษย์—บ้างก็อะโปโล บ้างก็เปาโล. แต่เขาเหล่านั้นเป็นใคร? เป็นเพียงผู้เผยแพร่ซึ่งช่วยชาวโกรินโธให้มาเป็นผู้เชื่อถือ. คนที่ปลูกและรดน้ำไม่สำคัญอะไร เพราะ “พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้เกิดผล” และพวกเขาเป็น “ผู้ร่วมทำการ” กับพระองค์. การทดสอบด้วยไฟจะพิสูจน์ว่าการงานของใครคงทน. เปาโลบอกพวกเขาว่า “ตัวท่านเป็นวิหารของพระเจ้า” ซึ่งพระวิญญาณของพระองค์สถิตภายใน. “ปัญญาของโลกนี้เป็นอปัญญาเฉพาะพระเจ้า.” ฉะนั้น อย่าให้ใครอวดอ้างมนุษย์ เพราะจริง ๆ แล้วสารพัดสิ่งเป็นของพระเจ้า.—3:6, 9, 16, 19.
10. เพราะเหตุใดการโอ้อวดของชาวโกรินโธจึงไม่เหมาะสม และเปาโลดำเนินการเช่นไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์?
10 เปาโลและอะโปโลเป็นคนต้นเรือนที่ถ่อมตนในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และคนต้นเรือนควรเป็นคนสัตย์ซื่อ. พี่น้องที่โกรินโธเป็นใครที่จะโอ้อวด และพวกเขามีอะไรที่ไม่ได้รับ? พวกเขามั่งมีขึ้น, ได้เริ่มปกครองเยี่ยงกษัตริย์, อีกทั้งมีความสุขุมและเข้มแข็งแล้วหรือ ขณะที่พวกอัครสาวกซึ่งตกเป็นเป้าสายตาของทั้งทูตสวรรค์และมนุษย์นั้นยังโง่เขลาและอ่อนแอ เป็นกากเดนแห่งสิ่งสารพัด? เปาโลส่งติโมเธียวมาช่วยพวกเขาให้ระลึกถึงวิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับพระคริสต์ และให้เป็นผู้ที่เลียนแบบท่าน. ถ้าเป็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา เปาโลเองจะมาในไม่ช้าและจะได้รู้ไม่เพียงวาจาของคนที่พองตัว แต่อำนาจของพวกเขาด้วย.
11. เกิดการผิดศีลธรรมอะไรขึ้นในหมู่พวกเขา จะต้องทำอะไรเกี่ยวด้วยเรื่องนี้ และเพราะเหตุใด?
11 เรื่องการรักษาประชาคมให้สะอาด (5:1–6:20). มีรายงานเรื่องที่น่าตกตะลึงเกี่ยวกับการผิดศีลธรรมในหมู่พี่น้องที่โกรินโธ! ชายคนหนึ่งได้เอาภรรยาบิดามาเป็นภรรยาตน. เขาจะต้องถูกมอบแก่ซาตานเพราะเชื้อนิดหน่อยย่อมทำให้ฟูทั้งก้อน. พวกเขาต้องเลิกคบหากับคนใดก็ตามที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องซึ่งเป็นคนชั่ว.
12. (ก) เปาโลหาเหตุผลเช่นไรเกี่ยวกับการฟ้องร้องกันต่อศาล? (ข) เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่า “จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี”?
12 คริสเตียนชาวโกรินโธถึงกับฟ้องร้องกันต่อศาล! จะไม่ดีกว่าหรือถ้ายอมถูกฉ้อโกง? เนื่องจากพวกเขาจะพิพากษาโลกและทูตสวรรค์ พวกเขาน่าจะหาสักคนหนึ่งในพวกเขาเองได้มิใช่หรือเพื่อให้ตัดสินความระหว่างพี่น้อง? ยิ่งกว่านั้น พวกเขาควรเป็นคนสะอาด เพราะคนผิดประเวณี, คนไหว้รูปเคารพ, และคนประเภทนั้นจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. พวกเขาบางคนเคยเป็นเช่นนั้น แต่พวกเขาได้รับการชำระให้สะอาดและบริสุทธิ์แล้ว. เปาโลกล่าวว่า “จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี. . . . ด้วยว่าท่านทั้งหลายถูกซื้อไว้แล้วด้วยราคา. เพราะฉะนั้น จงถวายเกียรติพระเจ้าด้วยร่างกายของท่านทั้งหลายเถิด.”—6:18, 20, ล.ม.
13. (ก) เหตุใดเปาโลแนะนำบางคนให้สมรส? แต่เมื่อสมรสแล้วพวกเขาควรทำอะไร? (ข) คนโสด “ทำดีกว่า” อย่างไร?
13 คำแนะนำเรื่องการเป็นโสดและการสมรส (7:1-40). เปาโลตอบคำถามเรื่องการสมรส. เนื่องจากการผิดประเวณีมีดาษดื่น คงดีกว่าถ้าชายหรือหญิงจะสมรส และคนที่สมรสแล้วไม่ควรรอนสิทธิ์กันจากสิ่งที่พึงได้รับในสายสมรส. เป็นการดีที่คนที่ไม่ได้สมรสหรือคนที่เป็นม่ายจะครองตัวเป็นโสดเช่นเดียวกับเปาโล แต่ถ้าพวกเขาบังคับตัวไม่ได้ก็ให้เขาสมรส. เมื่อสมรสกันแล้วเขาควรอยู่ด้วยกันเสมอไป. แม้ว่าคู่ของเขาจะเป็นผู้ไม่เชื่อถือ ฝ่ายที่เชื่อถือก็ไม่ควรแยกไปเพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายที่เชื่ออาจสามารถช่วยฝ่ายที่ไม่เชื่อให้รอดได้. เกี่ยวกับเรื่องสุหนัตและการเป็นทาส ให้แต่ละคนพอใจจะอยู่ตามสถานะที่ตนถูกเรียก. ส่วนผู้ที่สมรสแล้ว เขาถูกแบ่งแยกเพราะเขาต้องการเอาใจคู่ของตน ในขณะที่คนโสดจะห่วงกังวลแต่สิ่งของขององค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น. คนที่สมรสไม่ได้ทำบาป แต่คนที่ไม่สมรสก็ “ทำดีกว่า.”—7:38, ล.ม.
14. เปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับ “พระเจ้า” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ถึงกระนั้น เมื่อไรจึงเป็นการสุขุมที่จะงดรับประทานอาหารที่บูชาแก่รูปเคารพแล้ว?
14 การทำทุกสิ่งด้วยเห็นแก่ข่าวดี (8:1–9:27). จะว่าอย่างไรกับอาหารที่ถวายแก่รูปเคารพแล้ว? รูปเคารพไม่มีความหมายอะไร! มี “พระเจ้า” มากและ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” มากในโลกนี้ แต่สำหรับคริสเตียนมีเฉพาะ “พระเจ้าองค์เดียวคือ พระบิดา” และมี “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว คือพระเยซูคริสต์.” (8:5, 6, ล.ม.) ถึงกระนั้น บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจถ้าเขาสังเกตเห็นคุณกินเนื้อที่บูชาแก่รูปเคารพแล้ว. ในสภาพการณ์ดังกล่าว เปาโลแนะให้งดเว้นจากการกินเนื้อนั้นเพื่อจะไม่เป็นเหตุให้พี่น้องของคุณสะดุด.
15. เปาโลประพฤติตนอย่างไรในงานเผยแพร่?
15 เปาโลปฏิเสธตัวเองหลายประการเพื่อเห็นแก่งานเผยแพร่. ในฐานะเป็นอัครสาวก ท่านมีสิทธิ์จะ “ดำรงชีพด้วยข่าวดี” แต่ท่านได้งดใช้สิทธิ์นั้น. อย่างไรก็ตาม ท่านจำต้องประกาศ; แท้จริงแล้วท่านกล่าวว่า “วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้าถ้าข้าพเจ้ามิได้ประกาศข่าวดี!” ดังนั้น ท่านจึงทำตัวเป็นทาสแก่ทุกคน โดยกลายเป็น “ทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด” เพื่อว่า “จะช่วยบางคนให้รอดให้ได้” โดยทำทุกสิ่ง “เพื่อเห็นแก่ข่าวดี.” เพื่อเอาชนะการแข่งขันและได้มงกุฎที่ไม่เปื่อยเน่า ท่านจึงทุบตีร่างกายท่านเพื่อหลังจากประกาศข่าวดีแก่คนอื่น ท่านเองจะไม่ “กลายเป็นคนที่ไม่เป็นที่พอพระทัยในทางใดทางหนึ่ง.”—9:14, 16, 19, 22, 23, 27, ล.ม.
16. (ก) คริสเตียนควรรับเอาคำเตือนอะไรจาก “บรรพบุรุษ”? (ข) เกี่ยวกับการไหว้รูปเคารพ คริสเตียนจะทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างไร?
16 คำเตือนเรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่ก่อความเสียหาย (10:1–33). จะว่าอย่างไรเรื่อง “บรรพบุรุษ”? พวกเขาได้อยู่ใต้เมฆและได้รับบัพติสมาเข้าร่วมกับโมเซ. พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าแต่ถูกทิ้งให้ตายในถิ่นทุรกันดาร. เพราะเหตุใด? พวกเขาปรารถนาสิ่งที่ก่อความเสียหาย. คริสเตียนควรรับเอาคำเตือนจากเรื่องนี้และงดเว้นจากการไหว้รูปเคารพและการผิดประเวณี, จากการทดลองพระยะโฮวา, และจากการพร่ำบ่น. ผู้ที่คิดว่าตนยืนอยู่ควรระมัดระวังเพื่อเขาจะไม่ล้มลง. การล่อใจจะมีมา แต่พระเจ้าจะไม่ปล่อยให้ผู้รับใช้ของพระองค์ถูกล่อใจเกินที่เขาจะทนได้; พระองค์จะจัดทางออกให้เพื่อพวกเขาจะทนการล่อใจนั้นได้. เปาโลเขียนดังนี้: “ฉะนั้น . . . จงหลีกหนีจากการไหว้รูปเคารพ.” (10:1, 14, ล.ม.) เราไม่อาจรับประทานที่โต๊ะของพระยะโฮวาและโต๊ะของปิศาจ. อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณจะรับประทานที่บ้านใดบ้านหนึ่ง อย่าสอบถามที่มาของเนื้อ. แต่ถ้ามีคนบอกคุณว่าเนื้อนั้นได้บูชาแก่รูปเคารพแล้ว จงงดรับประทานเพื่อเห็นแก่สติรู้สึกผิดชอบของคนนั้น. เปาโลเขียนว่า “จงทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า.”—10:31, ล.ม.
17. (ก) เปาโลวางหลักการอะไรเกี่ยวกับตำแหน่งประมุข? (ข) ท่านผูกโยงปัญหาเรื่องการแตกแยกในประชาคมเข้ากับการพิจารณาเรื่องอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?
17 ตำแหน่งประมุข; อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า (11:1-34). เปาโลประกาศว่า “จงเป็นผู้เลียนแบบข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าเป็นผู้เลียนแบบพระคริสต์” ครั้นแล้วท่านจึงดำเนินต่อไปเพื่อวางหลักการของพระเจ้าเรื่องตำแหน่งประมุขซึ่งมีว่า ประมุขของผู้หญิงคือผู้ชาย, ประมุขของผู้ชายคือพระคริสต์, ประมุขของพระคริสต์คือพระเจ้า. ดังนั้น ผู้หญิงควรมี “เครื่องหมายแห่งอำนาจ” อยู่บนศีรษะเธอเมื่ออธิษฐานหรือพยากรณ์ในประชาคม. เปาโลไม่อาจชมเชยชาวโกรินโธ เพราะมีการแตกแยกท่ามกลางพวกเขาเมื่อพวกเขาประชุมร่วมกัน. ในสภาพการณ์เช่นนี้ พวกเขาจะรับประทานอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างเหมาะสมได้อย่างไร? ท่านทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูทรงตั้งอนุสรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. แต่ละคนจะต้องตรวจสอบตัวเองก่อนรับประทาน มิฉะนั้น เขาจะนำการพิพากษามาสู่ตนเองเนื่องจากไม่ได้สังเกตเข้าใจ “พระกายนั้น.”—11:1, 10, 29, ล.ม.
18. (ก) ขณะที่ของประทานและงานรับใช้มีหลากหลาย เหตุใดจึงไม่ควรมีการแบ่งแยกในร่างกาย? (ข) เหตุใดความรักจึงสำคัญที่สุด?
18 ของประทานฝ่ายวิญญาณ; ความรักและการแสวงหาความรัก (12:1–14:40). ของประทานฝ่ายวิญญาณมีหลายประการ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นพระวิญญาณอันเดียวกัน; มีงานรับใช้และหน้าที่หลายอย่าง แต่ก็มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันและพระเจ้าองค์เดียวกัน. เช่นกัน มีอวัยวะหลายอย่างในร่างกายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระคริสต์ อวัยวะแต่ละอย่างต้องพึ่งพากันเหมือนในร่างกายมนุษย์. พระเจ้าทรงกำหนดอวัยวะทุกอย่างในร่างกายตามที่พระองค์พอพระทัย และอวัยวะแต่ละอย่างมีงานทำ เพื่อ “จะไม่มีการแตกแยกกันในร่างกาย.” (12:25, ล.ม.) ผู้ใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณไม่เป็นอะไรเลยหากปราศจากความรัก. ความรักอดทนนานและกรุณา, ไม่อิจฉาริษยา, ไม่พองตัว. ความรักยินดีกับความจริงเท่านั้น. “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (13:8, ล.ม.) ของประทานฝ่ายวิญญาณ เช่น การกล่าวพยากรณ์และการพูดภาษาต่าง ๆ จะมีวันยุติ แต่ความเชื่อ, ความหวัง, และความรักจะคงอยู่. ทั้งสามประการนี้ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด.
19. เปาโลให้คำแนะนำอะไรเพื่อเสริมสร้างประชาคมและเพื่อการจัดสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ?
19 เปาโลแนะนำว่า “จงแสวงหาความรัก.” จะต้องใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณด้วยความรักเพื่อเสริมสร้างประชาคม. เพราะเหตุนี้ การกล่าวพยากรณ์จึงเป็นที่ต้องการมากกว่าการพูดภาษาต่าง ๆ. ท่านอยากพูดเพียงห้าคำด้วยความเข้าใจเพื่อจะสอนคนอื่น ดีกว่าพูดหมื่นคำในภาษาที่ไม่มีใครรู้จัก. การพูดภาษาต่าง ๆ เป็นหมายสำคัญแก่คนที่ไม่เชื่อ แต่การกล่าวพยากรณ์นั้นสำหรับผู้ที่เชื่อถือ. พวกเขาไม่ควรเป็น “เด็ก” ในด้านการเข้าใจเรื่องเหล่านี้. ส่วนสตรี พวกเขาควรยอมอยู่ใต้อำนาจในประชาคม. “ให้ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างที่ถูกที่ควรและเป็นไปตามระเบียบ.”—14:1, 20, 40, ล.ม.
20. (ก) เปาโลให้หลักฐานอะไรเกี่ยวกับการคืนพระชนม์ของพระคริสต์? (ข) ลำดับของการเป็นขึ้นจากตายเป็นอย่างไร และศัตรูอะไรบ้างจะต้องถูกกำจัด?
20 ความแน่นอนเรื่องความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตาย (15:1–16:24). พระคริสต์ผู้คืนพระชนม์ได้ปรากฏแก่เกฟา, แก่อัครสาวก 12 คน, แก่พี่น้อง 500 กว่าคนในคราวเดียว, แก่ยาโกโบ, แก่อัครสาวกทุกคน และท้ายที่สุดแก่เปาโล. เปาโลเขียนว่า ‘ถ้าพระคริสต์ไม่ถูกปลุก การประกาศและความเชื่อของเราก็เปล่าประโยชน์.’ (15:14, ล.ม.) แต่ละคนถูกปลุกขึ้นมาตามลำดับ พระคริสต์เป็นผลแรก หลังจากนั้นคือผู้ที่เป็นของพระองค์ระหว่างการประทับของพระองค์. ในที่สุดพระองค์จะถวายราชอาณาจักรแก่พระบิดาหลังจากที่ศัตรูทั้งปวงถูกปราบอยู่ใต้พระบาทของพระองค์. แม้กระทั่งความตายศัตรูตัวสุดท้ายก็จะถูกกำจัด. จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเปาโลที่จะเผชิญภัยร้ายอันอาจถึงแก่ชีวิตอยู่เรื่อยไปถ้าไม่มีการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
21. (ก) ผู้ที่จะได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกถูกปลุกขึ้นมาอย่างไร? (ข) เปาโลเปิดเผยความลับอันศักดิ์สิทธิ์อะไร และท่านกล่าวเช่นไรในเรื่องชัยชนะเหนือความตาย?
21 แต่คนตายจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาอย่างไร? เมล็ดที่หว่านจะต้องเปื่อยเน่าเพื่อให้ต้นพืชเกิดขึ้น. การกลับเป็นขึ้นมาของคนตายก็คล้ายคลึงกัน. “มีการหว่านลงเป็นกายเนื้อหนัง มีการปลุกขึ้นมาเป็นกายวิญญาณ. . . . เนื้อและเลือดจะรับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกไม่ได้.” (15:44, 50, ล.ม.) เปาโลบอกความลับอันศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะล่วงหลับในความตาย แต่ระหว่างเสียงแตรครั้งสุดท้าย พวกเขาจะถูกเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา. เมื่อสิ่งที่ตายสวมความไม่รู้จักตาย ความตายจะถูกทำให้สิ้นสูญตลอดกาล. “ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ไหน? ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ไหน?” เปาโลร้องออกมาจากหัวใจว่า “แต่จงขอบพระคุณพระเจ้า เพราะพระองค์โปรดประทานชัยชนะแก่เราทั้งหลายโดยพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา!”—15:55, 57, ล.ม.
22. เปาโลให้คำแนะนำและกระตุ้นเตือนเรื่องอะไรในตอนท้าย?
22 ในตอนท้าย เปาโลแนะนำเรื่องความเป็นระเบียบในการรวบรวมเงินบริจาคส่งไปยังยะรูซาเลมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ขัดสน. ท่านบอกเรื่องที่ท่านจะมาเยี่ยมโดยผ่านเมืองมาซิโดเนียและแจ้งว่าติโมเธียวกับอะโปโลอาจมาเยี่ยมด้วย. เปาโลกระตุ้นเตือนว่า “จงตื่นอยู่ จงยืนมั่นในความเชื่อ ปฏิบัติอย่างผู้ชาย จงเข้มแข็งขึ้น. ให้เรื่องราวทั้งปวงของท่านทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยความรัก.” (16:13, 14, ล.ม.) เปาโลส่งคำทักทายจากประชาคมต่าง ๆ ในเอเชีย แล้วท่านเขียนคำทักทายปิดท้ายด้วยมือของท่านเอง โดยส่งความรักของท่านมาด้วย.
เหตุที่เป็นประโยชน์
23. (ก) เปาโลอธิบายอย่างไรถึงผลหายนะเนื่องจากความปรารถนาที่ผิดและการมั่นใจตัวเอง? (ข) ท่านอ้างตัวอย่างอะไรในการแนะนำเรื่องอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าและอาหารที่เหมาะสม?
23 จดหมายของอัครสาวกเปาโลฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มความเข้าใจของเราในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีการยกข้อความมากล่าวในจดหมายนี้หลายตอน. ในบทที่สิบ เปาโลชี้ให้เห็นว่าชาวยิศราเอลซึ่งอยู่ใต้การนำของโมเซได้ดื่มน้ำจากก้อนหินใหญ่ฝ่ายวิญญาณซึ่งหมายถึงพระคริสต์. (1 โก. 10:4, ล.ม.; อาฤ. 20:11) ต่อจากนั้นท่านกล่าวถึงผลหายนะเนื่องจากความปรารถนาสิ่งที่ก่อความเสียหาย ดังที่มีชาวยิศราเอลภายใต้โมเซเป็นตัวอย่าง และเสริมว่า “เหตุการณ์เหล่านี้ได้บังเกิดแก่พวกเขาเป็นตัวอย่าง และได้บันทึกไว้เพื่อเตือนพวกเราซึ่งกำลังอยู่ในกาลสิ้นสุดแห่งระบบต่าง ๆ.” อย่าให้เรากลายเป็นคนที่มั่นใจตัวเองว่าเราจะล้มพลาดไม่ได้! (1 โก. 10:11, 12, ล.ม.; อาฤ. 14:2; 21:5; 25:9) อีกครั้งหนึ่งท่านยกตัวอย่างจากพระบัญญัติ. ท่านกล่าวถึงเครื่องบูชาสมานไมตรีในชาติยิศราเอลเพื่อแสดงว่า ผู้รับประทานอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมควรจะรับประทานอย่างไรจากโต๊ะของพระยะโฮวา. จากนั้น เพื่อสนับสนุนการชักเหตุผลของท่านว่า ไม่ผิดที่จะกินของทุกอย่างที่ขายในตลาดเนื้อ ท่านจึงยกบทเพลงสรรเสริญ 24:1 มากล่าวที่ว่า “แผ่นดินโลกกับสรรพสิ่งทั่วโลกนั้นเป็นของพระยะโฮวา.”—1 โก. 10:18, 21, 26; เอ็ก. 32:6; เลวี. 7:11-15.
24. เปาโลยกข้ออ้างอิงอื่น ๆ อะไรอีกจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อสนับสนุนการชักเหตุผลของท่าน?
24 ในการแสดงถึงความยอดเยี่ยมของ “สิ่งที่พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์” และความไร้ประโยชน์ของ “การหาเหตุผลของคนมีปัญญา” ของโลกนี้ เปาโลยกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวอีกครั้ง. (1 โก. 2:9, ล.ม.; 3:20, ล.ม.; ยซา. 64:4; เพลง. 94:11) เพื่อเป็นข้อสนับสนุนคำสั่งของท่านในบทที่ 5 เกี่ยวกับการตัดสัมพันธ์ผู้ทำผิด ท่านยกพระบัญญัติของพระยะโฮวามากล่าวที่ให้ ‘กำจัดความชั่วจากท่ามกลางพวกท่าน.’ (บัญ. 17:7) ในการชี้แจงสิทธิ์ของท่านที่จะดำรงชีวิตด้วยงานรับใช้ เปาโลอ้างถึงกฎหมายของโมเซอีกครั้งซึ่งกล่าวว่า สัตว์ที่ทำงานต้องไม่ถูกเอาตะกร้อสวมปากเพื่อกันไม่ให้มันกิน และพวกเลวีที่รับใช้ในพระวิหารต้องได้รับส่วนแบ่งจากแท่นบูชา.—1 โก. 9:8-14; บัญ. 25:4; 18:1.
25. มีจุดเด่นอะไรบ้างจากคำสั่งสอนที่เป็นประโยชน์ในพระธรรมโกรินโธฉบับต้น?
25 เราได้รับประโยชน์จริง ๆ จากคำสั่งสอนที่มีขึ้นโดยการดลใจในจดหมายฉบับแรกที่เปาโลมีไปถึงคริสเตียนชาวโกรินโธ! จงไตร่ตรองคำแนะนำที่ไม่ให้มีการแตกแยกและการติดตามมนุษย์. (บท 1-4) จงระลึกถึงกรณีการผิดศีลธรรมและวิธีที่เปาโลเน้นความจำเป็นเรื่องศีลธรรมอันดีและความสะอาดภายในประชาคม. (บท 5, 6) จงพิจารณาคำแนะนำที่ท่านเขียนโดยการดลใจในเรื่องการเป็นโสด, การสมรส, และการแยกทางกัน. (บท 7) จงคิดถึงการพิจารณาของท่านอัครสาวกในเรื่องอาหารที่บูชารูปเคารพ รวมทั้งวิธีที่มีการยกเรื่องความจำเป็นต้องระวังการทำให้คนอื่นสะดุดและการตกเข้าสู่การไหว้รูปเคารพขึ้นมาเป็นเรื่องเด่นอย่างหนักแน่น. (บท 8-10) คำเตือนสติเกี่ยวกับการยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเหมาะสม, การคำนึงถึงของประทานฝ่ายวิญญาณ, การพิจารณาที่ใช้ได้ผลที่สุดในเรื่องความยอดเยี่ยมของคุณลักษณะที่คงทนและไม่มีวันล้มเหลวของความรัก—เรื่องเหล่านี้เช่นกันที่มีการนำมาพิจารณา. และท่านอัครสาวกได้เน้นความจำเป็นต้องมีระเบียบในการประชุมของคริสเตียนไว้เป็นอย่างดีจริง ๆ! (บท 11-14) นับเป็นการแก้ต่างเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายอย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ท่านเขียนโดยการดลใจ! (บท 15) ทั้งหมดนี้และยังมีอีกมากที่ได้ปรากฏแก่ตาใจ และคำแนะนำเหล่านี้ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับคริสเตียนในสมัยของเรา!
26. (ก) งานอะไรซึ่งได้มีบอกล่วงหน้านานมาแล้วที่พระคริสต์ผู้คืนพระชนม์จะทรงทำให้สำเร็จเมื่อพระองค์ทรงปกครองเป็นกษัตริย์? (ข) โดยอาศัยความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย เปาโลให้การหนุนกำลังใจอะไรอย่างมีพลัง?
26 จดหมายฉบับนี้เสริมความเข้าใจของเราโดยเฉพาะในเรื่องอรรถบทอันรุ่งโรจน์ของพระคัมภีร์เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. จดหมายนี้ให้คำเตือนที่เฉียบขาดว่า คนอธรรมจะไม่เข้าในราชอาณาจักร และให้รายการอบายมุขหลายอย่างที่จะทำให้คนเราขาดคุณวุฒิ. (1 โก. 6:9, 10) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จดหมายนี้อธิบายความเกี่ยวข้องระหว่างการกลับเป็นขึ้นจากตายกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. จดหมายนี้ได้แสดงว่าพระคริสต์ “ผลแรก” ของการเป็นขึ้นจากตาย ต้อง “ปกครองเป็นกษัตริย์ จนกว่าพระเจ้าปราบศัตรูทั้งสิ้นให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์.” จากนั้น เมื่อพระองค์ทรงปราบศัตรูทั้งสิ้นซึ่งรวมทั้งความตายด้วยแล้ว “พระองค์ทรงมอบราชอาณาจักรให้แก่พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์, . . . เพื่อพระเจ้าจะเป็นสารพัดสิ่งแก่ทุกคน.” ในที่สุด ในการทำให้สำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรที่ทำในสวนเอเดน พระคริสต์พร้อมกับพี่น้องฝ่ายวิญญาณที่กลับเป็นขึ้นจากตายจะทำให้การบดขยี้หัวงูอย่างสิ้นเชิงบรรลุผลสำเร็จ. นับเป็นความหวังยอดเยี่ยมจริง ๆ ในเรื่องการเป็นขึ้นจากตายของผู้ซึ่งจะมีส่วนร่วมความไม่รู้เปื่อยเน่ากับพระคริสต์เยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. เปาโลเตือนสติโดยอาศัยความหวังเรื่องการเป็นขึ้นจากตายว่า “ดังนั้น พี่น้องที่รักทั้งหลายของข้าพเจ้า จงตั้งมั่นคง, ไม่สะเทือนสะท้าน, มีมากมายหลายสิ่งที่จะให้ทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่า การงานของท่านเกี่ยวด้วยองค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ไร้ประโยชน์.”—1 โก. 15:20-28, 58; เย. 3:15; โรม 16:20.
[เชิงอรรถ]
a คู่มือคัมภีร์ไบเบิลของฮัลเลย์ (ภาษาอังกฤษ) 1988 เอช. เอช. ฮัลเลย์ หน้า 593.
b พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของสมิท (ภาษาอังกฤษ) 1863 เล่ม 1 หน้า 353.
c คัมภีร์ไบเบิลของผู้แปล (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 10 ปี 1953 หน้า 13.
d คัมภีร์ไบเบิลของผู้แปล (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 9 ปี 1954 หน้า 356.