งานอาสาสมัครที่ให้ประโยชน์ถาวร
พระเยซูคริสต์ทรงทำสิ่งดีอยู่เป็นประจำต่อคนที่ต้องการความช่วยเหลือ. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงเลี้ยงอาหารคนที่หิวโหยและรักษาคนป่วยให้หาย. (มัดธาย 14:14-21) แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานใดเป็นอันดับแรก? เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้น ๆ แห่งงานรับใช้ของพระเยซูให้คำตอบ. เหตุการณ์นั้นถูกบันทึกไว้ในบทแรกของพระธรรมกิตติคุณของท่านมาระโก.
ขณะที่พระเยซูอยู่ในเมืองเคเปอร์นาอุม (กัปเรนาอูม) ใกล้กับทะเลแกลิลี (ฆาลิลาย) พระองค์ถูกนำไปที่บ้านของซีโมน หรือเปโตร. ที่นั่น “แม่ยายของซีโมนนอนป่วยจับไข้อยู่” และพระเยซูทรงรักษานาง. (มาระโก 1:29-31) หลังจากนั้นฝูงชนซึ่งรวมถึงหลายคนที่เป็น “โรคต่าง ๆ” เริ่มมาชุมนุมที่ประตูบ้านของเปโตร และพระเยซูทรงรักษาพวกเขาด้วย. (มาระโก 1:32-34) จากนั้นก็ถึงยามค่ำคืนและทุกคนก็เข้านอน.
เช้าวันถัดมา พระเยซูทรงตื่นแต่ “เช้ามืด” และออกจากบ้าน “ไปยังที่สงัด, และทรงอธิษฐานที่นั่น.” ไม่นาน พวกสาวกก็ตื่นขึ้นด้วย แล้วมองไปข้างนอกบ้านเห็นคนกลุ่มใหญ่รออยู่ที่ประตู. แต่พวกเขาจะทำอย่างไรดี? พระเยซูหายไป! เปโตรกับคนที่อยู่กับท่านรีบตามหาพระเยซูและทูลว่า “คนทั้งปวงแสวงหาพระองค์.” (มาระโก 1:35-37; ลูกา 4:42) ที่จริงดูเหมือนว่าพวกเขากำลังทูลพระเยซูว่า ‘พระองค์มาทำอะไรอยู่ที่นี่? เมื่อคืนนี้พระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษาคนป่วย. วันนี้มีโอกาสที่ดีมากอีกครั้งหนึ่งสำหรับพระองค์!’
แต่ตอนนี้โปรดสังเกตท่าทีของพระเยซู พระองค์ตรัสว่า “ให้เราทั้งหลายเข้าไปในบ้านเมืองใกล้เคียง เพื่อเราจะได้เทศนา ที่นั่นด้วย.” คำตอบนี้น่าสนใจ. พระเยซูไม่ได้กลับไปยังบ้านของเปโตรเพื่อรักษาคนอื่น ๆ. พระองค์ทรงอธิบายเหตุผลดังนี้: “ที่เราได้มาก็เพราะเหตุนั้นเอง [นั่นคือ ที่จะประกาศ].” (มาระโก 1:38, 39; ลูกา 4:43) พระเยซูหมายความเช่นไร? การทำดีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระองค์ แต่การประกาศและการสอนพระคำของพระเจ้าเป็นภาระกิจหลักของพระเยซู.—มาระโก 1:14.
เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นคริสเตียนให้ “ดำเนินตามรอยพระบาทของ [พระเยซู] อย่างใกล้ชิด” คริสเตียนแท้ในสมัยนี้จึงได้รับการชี้นำที่ชัดเจนในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงานอาสาสมัคร. (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) เช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาช่วยผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ—ดังแสดงให้เห็นในบทความก่อนหน้านี้. และเช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาถือว่าการสอนข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตน.a (มัดธาย 5:14-16; 24:14; 28:19, 20) แต่เหตุใดการทำงานอาสาสมัครเพื่อสอนผู้คนเกี่ยวกับข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลจึงสำคัญกว่างานอาสาสมัครที่มีค่าในรูปแบบอื่น?
เหตุผลและวิธีที่การให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์
สุภาษิตชาวเอเชียข้อหนึ่งให้คำตอบ. สุภาษิตข้อนั้นบอกว่า “ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าหนึ่งปี ก็จงหว่านพืช. ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าสิบปี ก็จงปลูกต้นไม้. ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าร้อยปี ก็จงให้การศึกษากับประชาชน.” จริงทีเดียว ในเรื่องการจัดให้มีทางแก้ที่ถาวรนั้น การให้การศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งเพราะการศึกษาช่วยคนเราพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจซึ่งจะปรับปรุงชีวิตของเขาให้ดีขึ้น. นั่นคือเหตุผลที่ในปัจจุบันผู้อาสาสมัครทั้งเต็มเวลาและไม่เต็มเวลากว่าหกล้านคนกำลังใช้เวลา, กำลัง, และทรัพยากรของตนเพื่อให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยไม่คิดเงินแก่ประชาชน. โครงการอาสาสมัครซึ่งผ่านการทดสอบมาเป็นเวลานานของพยานพระยะโฮวานี้มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลก. โดยวิธีใด?
ขณะที่ผู้คนได้รับการช่วยเหลือให้เข้าใจและทำตามคำแนะนำที่ใช้การได้ของคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาก็พร้อมมากขึ้นที่จะรับมือกับปัญหาในชีวิต. พวกเขาได้รับการเสริมพลังทางศีลธรรมที่จำเป็นเพื่อเอาชนะนิสัยที่ก่อความเสียหาย. เนลสัน เด็กหนุ่มคนหนึ่งในบราซิล เน้นถึงผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลดังนี้: “ตั้งแต่ผมเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา ผมได้ประสบความยินดีเพราะตอนนี้ผมมีจุดมุ่งหมายในชีวิต.” (ท่านผู้ประกาศ 12:13) คนอื่นอีกหลายแสนคน ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ ซึ่งเริ่มศึกษาพระคำของพระเจ้าเมื่อไม่นานมานี้ก็รู้สึกอย่างเดียวกับเนลสัน. นอกจากจะช่วยนักศึกษาให้พบจุดมุ่งหมายที่น่าพอใจในชีวิตแล้ว ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ายังให้ความหวังที่เสริมกำลังใจสำหรับอนาคต—ความหวังที่ทำให้คุ้มค่าแก่การมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้จะเผชิญสภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุด. (1 ติโมเธียว 4:8)—ดูกรอบ “ราชอาณาจักรจะทำประโยชน์เช่นไร.”
โดยให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พยานพระยะโฮวาทำงานอาสาสมัครที่ให้ผลประโยชน์ถาวร. ถาวรขนาดไหน? พระคำของพระเจ้าบอกว่า “นี่แหละเป็นชีวิตนิรันดร์, คือว่าให้เขารู้จักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงใช้มาคือพระเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3) ลองนึกภาพการเข้าร่วมในโครงการที่ให้ผลประโยชน์ชั่วนิรันดร์ดูสิ—นั่นแหละ คืองานอาสาสมัครที่ให้ประโยชน์จริง ๆ! คุณคงอยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโครงการนี้มิใช่หรือ? ถ้าเช่นนั้น ก็เชิญติดต่อพยานพระยะโฮวาในชุมชนของคุณ. การตอบรับคำเชิญนี้เป็นการกระทำที่คุณจะไม่มีวันเสียใจเลย.
[เชิงอรรถ]
a พยานพระยะโฮวามีทัศนะต่องานประกาศของตนในแบบเดียวกับอัครสาวกเปาโล คือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคริสเตียนแท้. เปาโลกล่าวว่า “ที่ข้าพเจ้าประกาศกิตติคุณนั้น, ข้าพเจ้าไม่มีอะไรที่จะอวดได้ เพราะว่าเป็นการจำเป็นซึ่งข้าพเจ้าจะประกาศกิตติคุณนั้น.” (1 โกรินโธ 9:16) กระนั้น งานประกาศก็ยังเป็นงานอาสาสมัครเพราะพวกเขาเลือกโดยสมัครใจที่จะเป็นสาวกของพระคริสต์ โดยรู้ดีถึงหน้าที่รับผิดชอบที่มาพร้อมกับสิทธิพิเศษนั้น.
[คำโปรยหน้า 11]
“ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าหนึ่งปี ก็จงหว่านพืช. ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าสิบปี ก็จงปลูกต้นไม้. ถ้าเจ้าวางแผนล่วงหน้าร้อยปีก็จงให้การศึกษากับประชาชน”
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
เธอให้ความช่วยเหลือและความหวัง
นาดีน พยาบาลชาวฝรั่งเศสวัย 43 ปีซึ่งเชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อน เป็นอาสาสมัครคนหนึ่งที่ทำงานในแอฟริกากลาง. เธอกล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “หลายคนถามดิฉันว่าทำไมถึงทำงานนี้. ดิฉันเชื่อในพระเจ้า, ดิฉันรักผู้คน, และดิฉันต้องการทุ่มเทตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น. และการเป็นพยานพระยะโฮวาก็ยิ่งกระตุ้นให้ดิฉันนำเอาทั้งทางแก้และความหวังไปยังผู้ทนทุกข์.” ขณะที่ทำงานอาสาสมัครอยู่ในแอฟริกา นาดีนแบ่งเวลาระหว่างการทำงานบรรเทาทุกข์และการเข้าร่วมในงานให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งพยานฯ ในท้องถิ่นกำลังทำอยู่.
[รูปภาพ]
นาดีนในแอฟริกา
[กรอบหน้า 12]
ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำประโยชน์เช่นไร
โปรดอ่านข้อคัมภีร์เหล่านี้ในคัมภีร์ไบเบิลของคุณเอง และดูว่าคำสัญญาของพระเจ้าจะสนองความจำเป็นของมนุษย์ในแง่มุมต่อไปนี้อย่างไร:
สุขภาพ “พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย เพราะเหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.”—วิวรณ์ 21:4; ยะซายา 33:24; 35:5, 6.
การศึกษา “สัตว์เหล่านั้นจะไม่ทำอันตราย, หรือทำความพินาศทั่วไปบนภูเขาอันบริสุทธิ์ของเรา; เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.”—ยะซายา 11:9; ฮะบาฆูค 2:14.
งานอาชีพ “คนไหนปลูกสร้าง, คนนั้นก็ได้อยู่, และคนไหนทำสวนองุ่น, คนนั้นก็ได้กินผล. เขาจะไม่ต้องสร้างให้คนอื่นอยู่, และไม่ปลูกให้คนอื่นกิน, . . . เขาจะไม่ต้องทำงานเสียแรงเปล่า.”—ยะซายา 65:21-23.
อาหาร “แผ่นดินให้พืชพันธุ์งอกผลทวีขึ้นแล้ว: พระเจ้าของพวกข้าพเจ้าเองจะทรงอวยพระพรให้พวกข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 67:6; 72:16; ยะซายา 25:6.
สภาพสังคม “พระยะโฮวาได้ทรงหักไม้ตะบองของคนชั่ว . . . ทั้งโลกก็สงบสุขและสงบเงียบ.”—ยะซายา 14:5, 7.
ความยุติธรรม “นี่แน่ะ, กษัตริย์จะทรงราชย์ตั้งอยู่ในความชอบธรรม, และเจ้านายพลเมืองจะปกครองด้วยความยุติธรรม.”—ยะซายา 11:3-5; 32:1, 2.