พระธรรมเล่มที่ 4—อาฤธโม
ผู้เขียน: โมเซ
สถานที่เขียน: ถิ่นทุรกันดารและที่ราบโมอาบ
เขียนเสร็จ: 1473 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: 1512-1473 ก.ส.ศ.
1. เหตุใดจึงมีบันทึกเหตุการณ์ในอาฤธโม และเหตุการณ์เหล่านั้นประทับใจเราในเรื่องใด?
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงการเดินทางของชาวยิศราเอลในถิ่นทุรกันดารมีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อประโยชน์ของพวกเราในทุกวันนี้.a ดังที่อัครสาวกเปาโลบอกว่า “บัดนี้เหตุการณ์เหล่านั้นได้กลายเป็นตัวอย่างสำหรับเรา เพื่อเราไม่เป็นคนปรารถนาสิ่งที่ก่อความเสียหายเหมือนที่พวกเขาได้ปรารถนานั้น.” (1 โก. 10:6, ล.ม.) บันทึกที่ชัดเจนในอาฤธโมประทับใจเราด้วยข้อที่ว่า ความรอดขึ้นอยู่กับการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, การเชื่อฟังพระองค์ในทุกสถานการณ์, และการแสดงความนับถือต่อตัวแทนของพระองค์. ความโปรดปรานของพระองค์ไม่ได้มีมาเนื่องด้วยคุณความดีหรือข้อดีใด ๆ แห่งไพร่พลของพระองค์ แต่เนื่องมาจากพระเมตตายิ่งและพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์.
2. ชื่ออาฤธโมพาดพิงถึงอะไร แต่ชื่ออะไรที่เหมาะสมกว่าซึ่งชาวยิวตั้งให้กับพระธรรมนี้?
2 ชื่ออาฤธโมมีความเกี่ยวข้องกับการนับจำนวนประชากรครั้งแรกที่ภูเขาซีนายและครั้งต่อมา ณ ที่ราบโมอาบ ดังบันทึกในบท 1-4 และ 26. ชื่อในภาษาอังกฤษ (นัมเบอรส์) นำมาจากชื่อ นูเมรี ในฉบับลาตินวัลเกต และได้มาจากคำ อะริธโมอีʹ ในฉบับกรีกเซปตัวจินต์. อย่างไรก็ตาม ชาวยิวเรียกพระธรรมนี้อย่างเหมาะสมกว่าว่า เบมิดห์บาร์ʹ ซึ่งหมายความว่า “ในถิ่นทุรกันดาร.” คำฮีบรูมิดห์บาร์ʹ บ่งถึงที่โล่ง ไม่มีทั้งเมืองใหญ่หรือเมืองน้อย. เหตุการณ์ในอาฤธโมเกิดขึ้นในถิ่นทุรกันดารทางใต้และทางตะวันออกของคะนาอัน.
3. อะไรพิสูจน์ว่าโมเซเป็นผู้เขียนอาฤธโม?
3 เห็นได้ว่าอาฤธโมเป็นส่วนของหนังสือห้าตอนเล่มดั้งเดิมที่รวมเอาพระธรรมต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่เยเนซิศถึงพระบัญญัติ. ในฉบับแปลโลกใหม่ ข้อแรกขึ้นต้นด้วยคำเชื่อม “และ” (“ก็” ในฉบับแปลเก่า) ซึ่งเชื่อมโยงพระธรรมนี้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนนั้น. ดังนั้น อาฤธโมคงต้องเขียนโดยโมเซผู้เขียนบันทึกก่อนหน้านั้น. เรื่องนี้ยังปรากฏชัดจากข้อความในพระธรรมนี้ด้วยที่ว่า “โมเซได้จดเขียน” และโดยบันทึกลงท้ายที่ว่า เหล่านี้ “เป็นบัญญัติแลข้อพิพากษาซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสสั่งแก่พวกยิศราเอล, โดยมือของโมเซ.”—อาฤ. 33:2; 36:13.
4. อาฤธโมครอบคลุมระยะเวลาใด และพระธรรมนี้เขียนเสร็จเมื่อไร?
4 ชาวยิศราเอลออกจากอียิปต์มาแล้วปีกว่า. โดยเริ่มเรื่องในเดือนที่สองปีที่สองหลังการอพยพ อาฤธโมจึงครอบคลุมระยะเวลา 38 ปีกับอีกเก้าเดือนต่อจากนั้น คือตั้งแต่ 1512 ถึง 1473 ก.ส.ศ. (อาฤ. 1:1; บัญ. 1:3) แม้ว่าจะไม่เข้ากับช่วงเวลานี้ แต่เหตุการณ์ที่มีบอกไว้ในอาฤธโม 7:1-88 และ 9:1-15 ถูกรวมเข้าไว้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลัง. ไม่มีข้อสงสัยว่าส่วนต้น ๆ ของพระธรรมนี้ถูกเขียนในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่าโมเซไม่อาจเขียนอาฤธโมให้เสร็จจนกระทั่งใกล้สิ้นปีที่ 40 ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นช่วงต้นปี 1473 ก.ส.ศ.
5. ลักษณะอะไรบ้างยืนยันความน่าเชื่อถือของอาฤธโม?
5 ไม่อาจมีข้อสงสัยได้เลยในเรื่องความเชื่อถือได้ของเรื่องราวที่บันทึกไว้. เกี่ยวกับแผ่นดินที่แห้งแล้งโดยทั่วไปซึ่งชาวยิศราเอลเดินทางนั้น โมเซบอกว่า ดินแดนนั้นเป็น “ถิ่นทุรกันดารใหญ่อันเป็นที่น่ากลัว” และก็เป็นจริงเช่นนั้นกระทั่งในทุกวันนี้ที่ว่า ผู้คนที่อยู่กระจัดกระจายยังคงย้ายที่อยู่เสมอ ๆ เพื่อหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำ. (บัญ. 1:19, ฉบับแปลใหม่) นอกจากนั้น คำสั่งที่ละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งค่ายของชาตินี้, คำสั่งเคลื่อนขบวน, และสัญญาณแตรเพื่อควบคุมเรื่องต่าง ๆ ในค่ายต่างยืนยันว่ามีการเขียนเรื่องราว “ณ ถิ่นทุรกันดาร” จริง ๆ.—อาฤ. 1:1, ฉบับแปลใหม่.
6. สิ่งที่ค้นพบทางโบราณคดีสนับสนุนอาฤธโมอย่างไร?
6 แม้กระทั่งรายงานอันน่ากลัวของคนสอดแนมเมื่อกลับจากการลอบเข้าไปในคะนาอันที่ว่า “เมืองของเขามีกำแพงล้อมรอบใหญ่โตนัก” ก็ได้รับการยืนยันโดยหลักฐานทางโบราณคดี. (13:28) สิ่งที่ค้นพบในปัจจุบันแสดงว่าผู้อยู่อาศัยในคะนาอันเวลานั้นได้รวบรวมดินแดนของตนให้เป็นปึกแผ่นด้วยการสร้างป้อมหลายแห่งเรียงรายทั่วประเทศ จากที่ราบต่ำเยศเรลตอนเหนือจนถึงฆะรารตอนใต้. เมืองต่าง ๆ นั้นไม่เพียงมีการสร้างอย่างแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังมักสร้างบนยอดเนินโดยมีหอสูงเหนือกำแพง ซึ่งทำให้เมืองเหล่านั้นดูน่าเกรงขามยิ่งแก่ผู้คนอย่างชาวยิศราเอลซึ่งอยู่ในที่ราบของอียิปต์นานหลายชั่วอายุคน.
7. อะไรแสดงถึงความซื่อตรงของผู้เขียน?
7 ชาติต่าง ๆ ในโลกมักปิดบังความพ่ายแพ้และยกย่องชัยชนะของตนให้เด่น แต่ด้วยความซื่อตรงซึ่งแสดงให้เห็นความจริงในประวัติศาสตร์ บันทึกในอาฤธโมบอกว่า ชาวยิศราเอลถูกชาวอะมาเล็กกับชาวคะนาอันตีแตกพ่ายอย่างสิ้นเชิง. (14:45) อาฤธโมยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ประชาชนขาดความเชื่อและปฏิบัติพระเจ้าอย่างขาดความนับถือ. (14:11) อย่างตรงไปตรงมา โมเซผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้เปิดโปงการบาปของชาติ, ของพวกหลานชาย, และของพี่ชายกับพี่สาวของท่านเอง. และท่านไม่เว้นแม้แต่ตัวเอง เพราะท่านบอกถึงคราวที่ท่านไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาเมื่อทำให้มีน้ำที่มะรีบา ดังนั้น ท่านจึงสูญเสียสิทธิพิเศษในการเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา.—3:4; 12:1-15; 20:7-13.
8. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ยืนยันอย่างไรว่า อาฤธโมมีขึ้นโดยการดลใจ?
8 ที่ว่าบันทึกนี้เป็นส่วนที่แท้จริงของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์นั้นได้รับการยืนยันด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ได้อ้างโดยตรงถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกือบทั้งหมดในบันทึกนี้ รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ อีกหลายตอน ซึ่งมีหลายคนเน้นความหมายสำคัญของเหตุการณ์เหล่านั้น. ยกตัวอย่าง ยะโฮซูอะ (ยโฮ. 4:12; 14:2), ยิระมะยา (2 กษัต. 18:4), นะเฮมยา (นเฮม. 9:19-22), อาซาฟ (เพลง. 78:14-41), ดาวิด (เพลง. 95:7-11), ยะซายา (ยซา. 48:21), ยะเอศเคล (ยเอศ. 20:13-24), โฮเซอา (โฮ. 9:10), อาโมศ (อาโมศ 5:25), มีคา (มีคา 6:5), ลูกาในคราวบันทึกคำบรรยายของซะเตฟาโน (กิจ. 7:36), เปาโล (1 โก. 10:1-11), เปโตร (2 เป. 2:15, 16), ยูดา (ยูดา 11), และโยฮันในคราวที่บันทึกถ้อยคำที่พระเยซูตรัสแก่ประชาคมเปอร์กาโมส์ (วิ. 2:14) ทั้งหมดต่างอ้างถึงบันทึกในอาฤธโมเช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสต์ทรงทำ.—โย. 3:14.
9. อาฤธโมเน้นเรื่องอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
9 ถ้าเช่นนั้น อาฤธโมถูกเขียนไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร? จริงทีเดียว เรื่องราวในอาฤธโมมียิ่งกว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์. อาฤธโมเน้นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งความเป็นระเบียบ ทรงเรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะจากมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง. เรื่องนี้ประทับในจิตใจผู้อ่านอย่างชัดเจนขณะที่เขาสังเกตการนับจำนวน, การทดสอบ, และการฝัดร่อนชาวยิศราเอล และเห็นวิธีใช้การไม่เชื่อฟังและแนวทางขืนอำนาจของชาตินี้เพื่อเน้นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อฟังพระยะโฮวา.
10. อาฤธโมได้รับการรักษาไว้เพื่อประโยชน์ของใคร และทำไม?
10 บันทึกนี้ได้รับการรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง ดังที่อาซาฟชี้แจงว่า “เพื่อจะไว้วางใจในพระเจ้า, และไม่ลืมกิจการของพระองค์, แต่จะรักษาบัญญัติของพระองค์” และเพื่อพวกเขา “จะไม่ได้เป็นเช่นบรรพบุรุษของเขา คือดื้อด้านและกบฏ, เป็นชาติที่ไม่ปลงใจให้ซื่อตรง, จิตต์ใจของเขาหาได้ตั้งให้แน่วแน่ต่อพระเจ้าไม่.” (เพลง. 78:7, 8) เหตุการณ์ในอาฤธโมมีกล่าวถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในเพลงสรรเสริญซึ่งเป็นบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ชาวยิว และดังนั้นจึงได้รับการกล่าวซ้ำบ่อย ๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาตินี้.—เพลงสรรเสริญบท 78, 95, 105, 106, 135, 136.
เนื้อเรื่องในอาฤธโม
11. เนื้อเรื่องในอาฤธโมอาจแบ่งเป็นสามตอนอะไรบ้าง?
11 อาฤธโมแบ่งอย่างสมเหตุผลเป็นสามตอน. ตอนแรกซึ่งจบที่บท 10 ข้อ 10 ครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่ชาวยิศราเอลยังตั้งค่ายที่ภูเขาซีนาย. ตอนถัดไปซึ่งจบที่บท 21 บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 38 ปีกับอีกหนึ่งหรือสองเดือนต่อมา ขณะที่พวกเขาอยู่ในถิ่นทุรกันดารและจนกระทั่งมาถึงที่ราบโมอาบ. ตอนสุดท้าย จนจบบท 36 เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในที่ราบโมอาบขณะที่ชาวยิศราเอลเตรียมเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา.
12. ค่ายของชาวยิศราเอลที่ซีนายใหญ่เพียงไร และมีการจัดระเบียบค่ายอย่างไร?
12 เหตุการณ์ต่าง ๆ ณ ภูเขาซีนาย (1:1–10:10). ชาวยิศราเอลอยู่ในแถบภูเขาซีนายประมาณหนึ่งปีแล้ว. ที่นี่ พวกเขาได้รับการจัดให้เป็นองค์การที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด. ตามพระบัญชาของพระยะโฮวา จึงได้มีการนับจำนวนผู้ชายทุกคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป. ตระกูลต่าง ๆ มีชายฉกรรจ์จำนวนตั้งแต่ 32,200 คนในตระกูลมะนาเซจนถึง 74,600 คนในตระกูลยูดา รวมทั้งสิ้นจึงมีผู้ชาย 603,550 คนที่มีคุณสมบัติเข้าประจำการในกองทัพยิศราเอล นอกจากพวกเลวีกับผู้หญิงและเด็ก ๆ—ในค่ายมีคนจำนวนราวสามล้านคนหรือกว่านั้น. พลับพลาประชุมตั้งอยู่ตรงกลางค่ายพร้อมด้วยพวกเลวี. ชาวยิศราเอลคนอื่น ๆ ตั้งค่ายในแต่ละด้านตามบริเวณที่ถูกมอบหมายโดยแบ่งเป็นกองละสามตระกูล แต่ละตระกูลได้รับคำสั่งเกี่ยวกับระเบียบในการเคลื่อนขบวนเมื่อย้ายค่าย. พระยะโฮวาทรงออกคำสั่ง และบันทึกบอกดังนี้ “พวกยิศราเอลได้กระทำตามบรรดาถ้อยคำที่พระยะโฮวาได้ตรัสแก่โมเซ.” (2:34) พวกเขาเชื่อฟังพระยะโฮวาและแสดงความนับถือโมเซ ตัวแทนที่เห็นได้ของพระเจ้า.
13. ตระกูลเลวีได้รับมอบหมายให้ทำงานรับใช้ตามการจัดเตรียมแบบใด?
13 แล้วตระกูลเลวีจึงถูกจัดไว้ต่างหากเพื่อการรับใช้พระยะโฮวาในฐานะค่าไถ่สำหรับบุตรหัวปีของชาวยิศราเอล. พวกเขาถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มตามเชื้อสายที่สืบมาจากลูกชายสามคนของเลวีคือ เฆระโซน, โคฮาธ, และมะรารี. ตำแหน่งที่ตั้งในค่ายและหน้าที่รับใช้ถูกกำหนดโดยอาศัยการแบ่งเช่นนี้. ตั้งแต่อายุ 30 ปีพวกเขาจะทำงานหนักในการขนย้ายพลับพลา. สำหรับงานที่เบากว่า มีการจัดให้คนอื่นทำ คือคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไป. (ในสมัยดาวิดลดลงมาเป็นอายุ 20 ปี.)—1 โคร. 23:24-32; เอษ. 3:8.
14. มีการออกคำสั่งอะไรบ้างเพื่อทำให้แน่ใจในเรื่องความบริสุทธิ์สะอาดของค่าย?
14 เพื่อจะรักษาค่ายให้บริสุทธิ์สะอาด จึงมีคำสั่งในเรื่องการกักบริเวณคนที่ติดโรค, เรื่องการบูชาไถ่โทษการกระทำที่ไม่สัตย์ซื่อ, เรื่องการแก้ปัญหาในกรณีมีผู้ชายที่อาจสงสัยความประพฤติของภรรยา, และเรื่องการรับรองความประพฤติที่ถูกต้องของคนที่แยกอยู่ต่างหากด้วยคำปฏิญาณจะดำเนินชีวิตในฐานะนาษารีษแด่พระยะโฮวา. เนื่องจากประชาชนถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้า พวกเขาจึงต้องประพฤติตนสอดคล้องกับพระบัญชาของพระองค์.
15. (ก) เกี่ยวข้องกับการเริ่มใช้แท่นบูชา มีการถวายอะไรบ้าง? (ข) สัมพันธภาพเช่นไรที่ชาวยิศราเอลต้องจดจำ และปัศคามีไว้เพื่อเตือนใจพวกเขาให้ระลึกถึงเรื่องอะไร?
15 เพื่อเสริมรายละเอียดจากเดือนก่อน (อาฤ. 7:1, 10; เอ็ก. 40:17) โมเซจึงบอกต่อไปถึงการถวายสิ่งของโดยหัวหน้าตระกูล 12 คนในช่วง 12 วันนับจากเวลาเริ่มใช้แท่นบูชา. ไม่มีการแข่งขันหรือแสวงหาเกียรติให้ตนเองในการถวาย; แต่ละคนถวายเหมือนที่คนอื่น ๆ ถวาย. ตอนนี้ทุกคนต้องระลึกว่า เหนือหัวหน้าตระกูลและเหนือโมเซเอง คือพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ตรัสคำบัญชาต่าง ๆ แก่โมเซ. พวกเขาต้องไม่ลืมสัมพันธภาพของพวกเขากับพระยะโฮวา. ปัศคามีไว้ก็เพื่อเตือนพวกเขาให้ระลึกถึงการที่พระยะโฮวาทรงช่วยให้รอดจากอียิปต์อย่างอัศจรรย์ และพวกเขาฉลองปัศคาในถิ่นทุรกันดารนี้ตามเวลาที่กำหนด คือหนึ่งปีภายหลังเขาออกจากอียิปต์.
16. พระยะโฮวาทรงนำชนชาตินี้อย่างไร และมีการจัดสัญญาณแตรอะไรบ้าง?
16 โดยวิธีเดียวกับที่พระองค์ทรงนำการเคลื่อนขบวนของชาวยิศราเอลจากอียิปต์ พระยะโฮวาทรงนำชาตินี้ต่อไปในการเดินทางโดยเมฆที่ปกคลุมพลับพลาตอนกลางวันและโดยเสาไฟในเวลากลางคืน. เมื่อเมฆเคลื่อนที่ ชาตินี้ก็เคลื่อนขบวน. เมื่อเมฆลอยนิ่งกับที่เหนือพลับพลา ชาตินี้ก็ตั้งค่ายอยู่กับที่ ไม่ว่าเป็นไม่กี่วันหรือเดือนหนึ่งหรือนานกว่านั้น เพราะบันทึกบอกเราว่า “ตามคำพระยะโฮวาเขาก็หยุดยั้งอยู่ในทับอาศัยแลตามคำพระยะโฮวาเขาก็ยกเดินไป, เขาทั้งหลายได้กระทำตามคำพระยะโฮวาตรัสสั่งกับเขาโดยปากของโมเซ.” (อาฤ. 9:23) ขณะที่เวลาเดินทางจากซีนายใกล้เข้ามา มีการจัดสัญญาณแตรเพื่อชุมนุมประชาชนและเพื่อสั่งกองค่ายต่าง ๆ ขณะเดินทางในถิ่นทุรกันดาร.
17. จงอธิบายวิธีการเคลื่อนขบวน.
17 เหตุการณ์ในถิ่นทุรกันดาร (10:11–21:35). ในที่สุด ในวันที่ 20 เดือนที่สอง พระยะโฮวาทรงย้ายเมฆออกจากเหนือพลับพลา จึงเป็นสัญญาณให้ชาวยิศราเอลย้ายจากแถบซีนาย. โดยมีหีบสัญญาไมตรีของพระยะโฮวาอยู่ท่ามกลางพวกเขา พวกเขาจึงมุ่งไปยังคาเดศบัรเนอะซึ่งอยู่ทางเหนือห่างออกไปราว 240 กิโลเมตร. ขณะที่พวกเขาเคลื่อนขบวนตอนกลางวัน เมฆของพระยะโฮวาอยู่เหนือพวกเขา. แต่ละครั้งที่หีบเคลื่อนที่ โมเซอธิษฐานถึงพระยะโฮวาให้ลุกขึ้นและทำให้ศัตรูกระจัดกระจายไป และแต่ละครั้งที่หีบหยุดอยู่กับที่ ท่านก็อธิษฐานให้พระยะโฮวากลับมาสู่ “แสนพลโยธาพวกยิศราเอล.”—10:36.
18. คำบ่นว่าอะไรเกิดขึ้นระหว่างไปคาเดศบัรเนอะ และพระยะโฮวาทรงปรับเปลี่ยนวิธีการตามระบอบของพระองค์ในค่ายอย่างไร?
18 อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุยุ่งยากในค่าย. ในการเดินทางขึ้นเหนือสู่คาเดศบัรเนอะมีการบ่นว่าเกิดขึ้นอย่างน้อยสามครั้ง. เพื่อยุติการบ่นครั้งแรก พระยะโฮวาทรงส่งไฟมาล้างผลาญบางคนเสีย. ต่อมา “คนที่ปะปนมา” ทำให้ชนยิศราเอลบ่นคร่ำครวญที่พวกเขาไม่มีปลา, แตงกวา, แตงโม, ต้นกระเทียม, หอมใหญ่, และหัวกระเทียมเป็นอาหารอย่างในอียิปต์ มีก็แต่มานาเท่านั้น. (11:4, ฉบับแปลใหม่) โมเซเป็นทุกข์จนทูลขอพระยะโฮวาให้สังหารท่านเสียแทนที่จะให้เป็นผู้ดูแลไพร่พลทั้งปวงต่อไป. ด้วยความเห็นอกเห็นใจ พระยะโฮวาได้เอาพระวิญญาณส่วนหนึ่งจากโมเซประทานให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ 70 คนซึ่งทำการเพื่อช่วยโมเซในฐานะผู้พยากรณ์ในค่าย. ต่อมาได้มีเนื้อมากมาย. ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ลมจากพระยะโฮวาหอบนกกระทามาจากทะเล และประชาชนได้จับไว้เป็นจำนวนมากด้วยความตะกละ เก็บสะสมไว้ด้วยความเห็นแก่ตัว. พระพิโรธของพระยะโฮวาจึงพลุ่งขึ้นแก่พวกเขา ทรงสังหารหลายคนเพราะความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวของพวกเขา.—เอ็ก. 16:2, 3, 13.
19. พระยะโฮวาทรงจัดการอย่างไรกับการจับผิดของมิระยามและอาโรน?
19 ความยุ่งยากยังมีต่อไป. มิระยามและอาโรนขาดความนับถือที่เหมาะสมต่อน้องชาย คือโมเซ ผู้เป็นตัวแทนของพระยะโฮวา คอยจับผิดโมเซในเรื่องภรรยาท่านซึ่งเพิ่งเข้ามาอยู่ในค่ายไม่นาน. พวกเขาเรียกร้องอำนาจมากขึ้นให้เท่ากับที่โมเซมี แม้ว่า “โมเซนั้นเป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” (อาฤ. 12:3) พระยะโฮวาเองทรงจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยและให้เป็นที่รู้กันว่าโมเซมีตำแหน่งพิเศษ โดยทรงลงโทษมิระยามซึ่งดูเหมือนเป็นผู้ยุยงให้เกิดการบ่นว่านั้นให้เป็นโรคเรื้อน. เฉพาะแต่โดยที่โมเซทูลวิงวอน เธอจึงได้หายโรคในเวลาต่อมา.
20, 21. เกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้พระยะโฮวาทรงมีบัญชาให้ชาวยิศราเอลต้องเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี?
20 เมื่อมาถึงคาเดศ ชาวยิศราเอลตั้งค่ายที่ชายแดนแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ตอนนี้พระยะโฮวาตรัสสั่งโมเซให้ส่งคนสอดแนมไปสำรวจแผ่นดินนั้น. พวกเขาเข้าทางใต้และเดินทางขึ้นเหนือถึง “ทางที่จะไปถึงเมืองฮามัธ” เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรใน 40 วัน. (13:21) เมื่อพวกเขากลับมาพร้อมกับพืชผลอันอุดมของคะนาอัน ผู้สอดแนมสิบคนชักเหตุผลอย่างที่ขาดความเชื่อว่า คงเป็นการโง่เขลาถ้าจะยกไปต่อสู้ประชาชนที่เข้มแข็งกับเมืองใหญ่ที่มีป้อมแข็งแรงเช่นนั้น. คาเลบพยายามให้ฝูงชนเงียบเสียงลงด้วยรายงานที่ชูใจแต่ไม่ประสบผล. ผู้สอดแนมที่แข็งข้อสร้างความหวาดกลัวในหัวใจชาวยิศราเอลโดยอ้างว่าดินแดนนั้น “เป็นเมืองมักกินคน” และบอกว่า “ชาวเมืองที่เราเห็นนั้นเป็นคนรูปร่างโตใหญ่นัก.” ขณะที่การบ่นเนื่องจากการขืนอำนาจแพร่ไปทั่วค่าย ยะโฮซูอะและคาเลบได้วิงวอนว่า “พระยะโฮวาก็อยู่ฝ่ายเรา อย่ากลัวเขาเลย.” (13:32; 14:9) อย่างไรก็ตาม ฝูงชนเริ่มพูดกันในเรื่องที่จะเอาหินขว้างพวกเขา.
21 แล้วพระยะโฮวาจึงเข้าแทรกแซงโดยตรงโดยตรัสแก่โมเซว่า “คนทั้งปวงนี้จะขัดเคืองพระทัยของเราไปนานเท่าใด? แลเขาทั้งหลายจะไม่เชื่อฟังคำของเรา, เพราะบรรดาการสำคัญที่เราได้สำแดงท่ามกลางเขาทั้งหลายนานไปเท่าใด?” (14:11) โมเซอ้อนวอนพระองค์ไม่ให้ทำลายชาตินี้เนื่องจากพระนามและชื่อเสียงของพระองค์เกี่ยวพันอยู่ด้วย. ดังนั้น พระยะโฮวาจึงทรงบัญชาให้ชาวยิศราเอลเดินทางในถิ่นทุรกันดารต่อไปจนกว่าทุกคนที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปที่ขึ้นทะเบียนประชากรไว้จะตายหมด. ในพวกผู้ชายที่ขึ้นทะเบียนไว้นั้นมีแต่คาเลบกับยะโฮซูอะเท่านั้นได้รับอนุญาตให้เข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา. ฝูงชนพยายามเป็นฝ่ายยกไปต่อสู้เองอย่างไร้ผล จึงต้องประสบความพ่ายแพ้น่าสยดสยองต่อชาวอะมาเล็กและคะนาอัน. นับเป็นบทเรียนราคาแพงที่เหล่าไพร่พลต้องประสบเนื่องจากการขาดความนับถือต่อพระยะโฮวาและตัวแทนผู้ภักดีของพระองค์!
22. ความสำคัญของการเชื่อฟังได้รับการเน้นด้วยวิธีใดบ้าง?
22 จริงทีเดียว พวกเขาต้องเรียนรู้อีกมากในเรื่องการเชื่อฟัง. อย่างเหมาะเจาะ พระยะโฮวาทรงประทานกฎหมายเพิ่มเติมที่เน้นความจำเป็นในเรื่องนี้. พระองค์ทรงให้พวกเขารู้ว่า เมื่อเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา จะต้องมีการบูชาไถ่โทษเนื่องจากความผิดพลาด แต่คนที่จงใจไม่เชื่อฟังจะต้องถูกตัดขาดอย่างแน่นอน. ดังนั้น เมื่อพบชายคนหนึ่งเก็บฟืนซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายวันซะบาโต พระยะโฮวาทรงสั่งว่า “ต้องประหารชีวิตคนนั้นเสียเป็นแน่.” (15:35) เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในเรื่องพระบัญชาของพระยะโฮวาและความสำคัญของการเชื่อฟังพระบัญชาเหล่านั้น พระยะโฮวาจึงทรงบัญชาพวกเขาให้ทำครุยที่ชายเสื้อของตน.
23. ผลของการที่โครา, ดาธาน, และอะบีรามขืนอำนาจคืออย่างไร?
23 กระนั้น การกบฏได้เกิดขึ้นอีก. โครา, ดาธาน, อะบีราม กับผู้ชายคนสำคัญ ๆ ในฝูงชนอีก 250 คน ร่วมกันต่อต้านอำนาจของโมเซและอาโรน. โมเซนำเรื่องทูลต่อพระยะโฮวาและบอกพวกที่แข็งข้อให้ ‘เอากระถางไฟ ใส่ไฟและใส่เครื่องหอมเสนอเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา, และให้พระองค์เลือก.’ (16:6, 7) ตอนนั้น รัศมีของพระยะโฮวาได้ปรากฏแก่ฝูงชนทั้งปวง. พระองค์ทรงสำเร็จโทษตามคำพิพากษาโดยฉับพลัน โดยทำให้แผ่นดินแยกกลืนครัวเรือนของโครา, ดาธาน, และอะบีราม และส่งไฟมาผลาญทั้ง 250 คนที่กำลังถวายเครื่องหอม ซึ่งรวมทั้งโคราด้วย. วันต่อมานั้นทีเดียว ไพร่พลเริ่มติเตียนโมเซและอาโรนถึงสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำ และอีกครั้งหนึ่งพระองค์นำวิบัติมาสู่พวกเขา โดยกวาดล้างพวกที่บ่นว่าถึง 14,700 คน.
24. เครื่องหมายอะไรที่พระยะโฮวาทำให้เกิดขึ้นเพื่อยุติการแข็งข้อนี้?
24 เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ พระยะโฮวาทรงบัญชาให้แต่ละตระกูลนำไม้เท้าท่อนหนึ่งมาวางเฉพาะพระพักตร์พระองค์ รวมทั้งไม้เท้าที่มีชื่ออาโรนสำหรับตระกูลเลวี. วันต่อมาอาโรนได้รับการแสดงว่าเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือกสำหรับตำแหน่งปุโรหิต เพราะไม้เท้าของท่านเท่านั้นที่ออกดอกและมีผลอัลมอนด์สุก. ไม้เท้านั้นต้องเก็บไว้ในหีบสัญญาไมตรี “เป็นของสำคัญต่อคนกบฏเหล่านี้.” (อาฤ. 17:10; เฮ็บ. 9:4) หลังจากมีคำสั่งเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนคณะปุโรหิตโดยส่วนสิบชักหนึ่งและในเรื่องการใช้น้ำที่ใส่เถ้าของวัวแดงสำหรับการชำระแล้ว เรื่องราวก็นำเรากลับมายังคาเดศ. ที่นี่มิระยามตายและถูกฝังไว้.
25. โดยวิธีใดที่โมเซและอาโรนไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา และเกิดผลอย่างไร?
25 อีกครั้งหนึ่งที่ชายแดนแผ่นดินแห่งคำสัญญา ฝูงชนบ่นตำหนิโมเซเนื่องจากขาดน้ำ. พระยะโฮวาทรงถือว่าเป็นการบ่นตำหนิพระองค์ และพระองค์จึงทรงปรากฏด้วยพระรัศมี ทรงสั่งโมเซให้ยกไม้เท้าขึ้นและทำให้น้ำไหลออกจากหินแตก. ตอนนี้โมเซและอาโรนถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาไหม? ตรงกันข้าม โมเซตีหินสองครั้งด้วยความโกรธ. ไพร่พลและปศุสัตว์ได้น้ำดื่มแต่โมเซและอาโรนไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. แม้ว่าการเดินทางในถิ่นทุรกันดารที่เหนื่อยแทบขาดใจเกือบจะสิ้นสุด ท่านทั้งสองก็ทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัยและได้รับแจ้งว่า ท่านทั้งสองจะไม่ได้เข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา. ภายหลังอาโรนสิ้นชีวิตบนภูเขาฮาระ และเอละอาซารบุตรชายได้รับหน้าที่ของมหาปุโรหิต.
26. เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างขณะเดินทางอ้อมอะโดม?
26 ชาวยิศราเอลเลี้ยวมาทางตะวันออกและหาทางเดินผ่านดินแดนอะโดมแต่ถูกบอกปัด. ขณะที่เดินทางระยะยาวอ้อมอะโดม ไพร่พลตกเข้าสู่ความยุ่งยากอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากพวกเขาบ่นว่าพระเจ้าและโมเซ. พวกเขาเบื่อมานาและกระหายน้ำ. เนื่องจากพวกเขาขืนอำนาจ พระยะโฮวาจึงส่งงูพิษมาท่ามกลางพวกเขา จึงมีหลายคนตาย. ในที่สุดเมื่อโมเซทูลขอร้อง พระยะโฮวาจึงทรงสั่งท่านให้ทำงูทองแดงสีเพลิงและติดตั้งไว้บนหลักสัญญาณ. ผู้ที่ถูกงูกัดและมองดูที่งูทองแดงได้รับการไว้ชีวิต. ขณะมุ่งหน้าขึ้นเหนือ คราวนี้ชาวยิศราเอลถูกขัดขวางจากกษัตริย์ที่เป็นศัตรู คือซีโฮนแห่งอะโมรีและโอฆแห่งบาซาน. ชาวยิศราเอลพิชิตกษัตริย์ทั้งสองในการรบและยึดครองดินแดนของพวกเขาทางตะวันออกของหุบเขาทรุด.
27. พระยะโฮวาทรงขัดขวางแผนการของบาลาคซึ่งมีบีละอามเกี่ยวข้องด้วยนั้นอย่างไร?
27 เหตุการณ์ต่าง ๆ ณ ที่ราบโมอาบ (22:1–36:13). ด้วยความคาดหมายอันแรงกล้าในเรื่องการเข้าสู่คะนาอัน ตอนนี้ชาวยิศราเอลรวมกันอยู่ ณ ที่ราบโมอาบอันแห้งแล้ง ซึ่งอยู่ทางเหนือของทะเลตายและอยู่ทางตะวันออกของยาระเดนตรงข้ามยะริโฮ. เมื่อชาวโมอาบเห็นค่ายใหญ่เรียงรายอยู่ตรงหน้า ชาวโมอาบรู้สึกหวาดกลัวอย่างยิ่ง. บาลาคกษัตริย์ของพวกเขา ด้วยการปรึกษากับพวกมิดยาน จึงได้ส่งคนไปหาบีละอามเพื่อขอให้ใช้การเสี่ยงทายและสาปแช่งพวกยิศราเอล. แม้ว่าพระเจ้าบอกบีละอามอย่างตรงไปตรงมาว่า “เจ้าอย่าไปด้วยเขาเลย” แต่เขาอยากไป. (22:12) บีละอามอยากได้รางวัล. ในที่สุดเขาก็ไป แต่ถูกทูตสวรรค์ยับยั้งและทำให้ลาตัวเมียของบีละอามพูดตำหนิเขาอย่างอัศจรรย์. เมื่อในที่สุดบีละอามหาทางแถลงความเกี่ยวกับชาวยิศราเอล พระวิญญาณของพระเจ้ากระตุ้นใจเขาเพื่อถ้อยคำเชิงภาษิตทั้งสี่ของเขาจะพยากรณ์ล้วนแต่สิ่งดี ๆ แก่ชนชาติของพระเจ้า แม้กระทั่งบอกล่วงหน้าว่าดาวดวงหนึ่งจะออกมาจากยาโคบและคทาจากพวกยิศราเอลเพื่อจะพิชิตและทำลาย.
28. กับดักอันแนบเนียนอะไรที่ถูกนำมาใช้กับชาวยิศราเอลตามคำแนะของบีละอาม แต่โรคร้ายหมดไปอย่างไร?
28 เมื่อทำให้บาลาคโกรธจัดเพราะแช่งชาวยิศราเอลไม่สำเร็จ บีละอามจึงหาทางได้ความโปรดปรานจากกษัตริย์โดยแนะให้ชาวโมอาบใช้ผู้หญิงของตนล่อชายยิศราเอลให้ร่วมในพิธีกรรมชั่วช้าลามกที่พัวพันการนมัสการบาละ. (31:15, 16) ที่นี่เอง ตรงชายแดนแผ่นดินแห่งคำสัญญา ชาวยิศราเอลเริ่มถอยห่างออกไปสู่การผิดศีลธรรมร้ายแรงและการนมัสการพระเท็จ. ขณะที่พระพิโรธของพระยะโฮวาพลุ่งออกมาด้วยการให้เกิดโรคร้าย โมเซเรียกร้องให้ลงโทษอย่างหนักแก่ผู้ทำผิด. เมื่อฟีนะฮาศลูกชายมหาปุโรหิตเห็นบุตรชายของคนชั้นหัวหน้าคนหนึ่งพาหญิงชาติมิดยานเข้ามาในกระโจมของตนภายในค่าย ท่านจึงตามไปฆ่าเขาทั้งสอง โดยแทงผู้หญิงทะลุที่ท้องน้อย. ถึงตอนนี้โรคร้ายหมดไป แต่ก็หลังจากที่ 24,000 คนตายด้วยโรคร้ายนั้น.
29. (ก) การนับประชากรตอนท้ายของปีที่ 40 เผยให้เห็นอะไร? (ข) ตอนนี้มีการตระเตรียมอะไรเพื่อเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา?
29 บัดนี้พระยะโฮวาทรงบัญชาให้โมเซและเอละอาซารตรวจนับจำนวนประชากรอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ได้ทำเมื่อเกือบ 39 ปีก่อนหน้านั้นที่ภูเขาซีนาย. การนับครั้งสุดท้ายแสดงว่าไม่มีการเพิ่มจำนวนทหาร. ตรงกันข้าม มีผู้ชายลงทะเบียนน้อยกว่าแต่ก่อน 1,820 คน. ไม่มีคนที่ได้ลงทะเบียนเป็นทหารที่ซีนายเหลืออยู่เลย ยกเว้นยะโฮซูอะและคาเลบ. ดังที่พระยะโฮวาได้ระบุไว้ว่าจะเกิดขึ้น คนเหล่านั้นทั้งหมดตายในถิ่นทุรกันดาร. ต่อมาพระยะโฮวาทรงประทานคำสั่งเรื่องการแบ่งดินแดนเป็นมรดก. พระองค์ทรงย้ำอีกว่าโมเซจะไม่ได้เข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาเพราะไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาที่แหล่งน้ำมะรีบา. (20:13; 27:14) ยะโฮซูอะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบตำแหน่งจากโมเซ.
30. เรื่องราวกับพวกมิดยานมีการจัดการอย่างไร และมีการมอบดินแดนอะไรทางฝั่งตะวันออกของยาระเดน?
30 ต่อจากนั้นโดยทางโมเซ พระยะโฮวาได้เตือนใจชาวยิศราเอลในเรื่องความสำคัญแห่งกฎหมายของพระองค์อันเกี่ยวกับเครื่องบูชาและเทศกาลต่าง ๆ รวมทั้งความสำคัญของคำปฏิญาณ. พระองค์ทรงสั่งโมเซอีกด้วยให้จัดการกับพวกมิดยานเพราะพวกเขามีส่วนล่อลวงชาวยิศราเอลให้บูชาพระบาละแห่งพะโอระ. ชายมิดยานทุกคนพร้อมกับบีละอามถูกฆ่าในการรบ และเฉพาะหญิงพรหมจารีได้รับการไว้ชีวิต หญิงเหล่านั้น 32,000 คนถูกนำไปเป็นเชลยพร้อมกับของที่ยึดมาได้ซึ่งรวมทั้งสัตว์ 808,000 ตัว. ไม่มีชาวยิศราเอลสักคนสูญหายในการรบ. ลูกหลานของรูเบนและฆาดซึ่งเป็นคนเลี้ยงสัตว์ขอตั้งถิ่นฐานในดินแดนฝั่งตะวันออกของยาระเดน และหลังจากที่พวกเขาตกลงจะช่วยพิชิตแผ่นดินแห่งคำสัญญา คำขอจึงได้รับอนุมัติ สองตระกูลนี้และครึ่งตระกูลมะนาเซจึงได้รับที่ราบสูงอันสมบูรณ์นี้เป็นทรัพย์สินของตน.
31. (ก) เมื่อเข้าสู่แผ่นดินนั้น ชาวยิศราเอลต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อแสดงความเชื่อฟัง? (ข) มีการให้คำสั่งอะไรบ้างในเรื่องมรดกของตระกูล?
31 หลังจากทบทวนเกี่ยวกับสถานที่หยุดพักต่าง ๆ ระหว่างการเดินทาง 40 ปี บันทึกได้มุ่งเอาใจใส่อีกครั้งถึงความจำเป็นต้องเชื่อฟังพระยะโฮวา. พระเจ้าจะทรงประทานแผ่นดินนั้นแก่พวกเขา แต่พวกเขาต้องเป็นเพชฌฆาตของพระองค์ โดยกวาดล้างพลเมืองที่ต่ำทราม, บูชาผีปิศาจ, และทำลายร่องรอยทุกอย่างของศาสนาที่ไหว้รูปเคารพของพวกนั้น. มีกล่าวโดยละเอียดถึงเขตแดนแห่งแผ่นดินที่พระเจ้าทรงประทานแก่พวกเขา. แผ่นดินนั้นจะต้องถูกแบ่งโดยการจับฉลาก. ตระกูลเลวีซึ่งไม่มีที่ดินเป็นมรดกของตระกูลจะได้รับ 48 เมืองพร้อมกับที่เลี้ยงสัตว์ 6 เมืองจากจำนวนนี้จะเป็นเมืองลี้ภัยสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา. เขตแดนต้องเป็นของตระกูลตลอดไป จะโอนไปให้ตระกูลอื่นโดยการแต่งงานไม่ได้. ถ้าไม่มีทายาทผู้ชาย บุตรสาวที่รับมรดก—ตัวอย่างเช่น บุตรสาวทั้งหลายของซัพฮาด—จะต้องแต่งงานภายในตระกูลของตน. (27:1-11; 36:1-11) อาฤธโมจบลงด้วยพระบัญชาเหล่านี้ที่พระยะโฮวาทรงให้โดยทางโมเซ และการที่ลูกหลานยิศราเอลพร้อมจะเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาในที่สุด.
เหตุที่เป็นประโยชน์
32. โดยวิธีใดบ้างที่มีภาพเล็งถึงพระเยซูและเครื่องบูชาของพระองค์ในอาฤธโม?
32 พระเยซูทรงอ้างถึงอาฤธโมในหลายโอกาส และพวกอัครสาวกของพระองค์รวมทั้งผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ต่างแสดงชัดเจนว่าบันทึกนั้นมีความหมายและเป็นประโยชน์มากจริง ๆ. อัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบการรับใช้อันซื่อสัตย์ของพระเยซูกับงานของโมเซโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มีบันทึกไว้ในอาฤธโม. (เฮ็บ. 3:1-6) ในการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาและการพรมเถ้าของลูกวัวตัวเมียสีแดงในอาฤธโม 19:2-9 เราได้เห็นอีกครั้งถึงการจัดเตรียมที่ยิ่งใหญ่กว่ามากสำหรับการชำระโดยทางเครื่องบูชาของพระคริสต์.—เฮ็บ. 9:13, 14.
33. ทำไมการทำให้มีน้ำไหลออกในถิ่นทุรกันดารนั้นเป็นสิ่งที่พวกเราในปัจจุบันสนใจ?
33 ทำนองคล้ายกัน เปาโลแสดงว่าการทำให้น้ำไหลออกจากหินในถิ่นทุรกันดารนั้นเต็มไปด้วยความหมายสำหรับพวกเราโดยกล่าวว่า “พวกเขาเคยดื่มน้ำซึ่งออกมาจากศิลาฝ่ายวิญญาณที่ตามเขาไป และศิลานั้นหมายถึงพระคริสต์.” (1 โก. 10:4, ล.ม.; อาฤ. 20:7-11) เหมาะสมจริง ๆ ที่พระคริสต์เองตรัสว่า “ผู้ใดที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้แก่เขานั้นจะไม่กระหายอีกเลย แต่น้ำซึ่งเราจะให้เขานั้นจะกลายเป็นบ่อน้ำพุพลุ่งขึ้นในตัวเขาเพื่อให้ชีวิตนิรันดร์.”—โย. 4:14, ล.ม.
34. พระเยซูทรงเผยให้เห็นอย่างไรว่างูทองแดงมีความหมายเชิงพยากรณ์?
34 นอกจากนี้ พระเยซูเคยอ้างอิงโดยตรงถึงเหตุการณ์หนึ่งที่บันทึกในอาฤธโมซึ่งเป็นภาพแสดงถึงการจัดเตรียมอันมหัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงทำผ่านทางพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “โมเซได้ยกงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารนั้นฉันใด บุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะได้ชีวิตนิรันดร์.”—โย. 3:14, 15, ล.ม.; อาฤ. 21:8, 9.
35. (ก) คริสเตียนควรเฝ้าระวังอะไร ดังที่มีแสดงให้เห็นโดยชาติยิศราเอลในถิ่นทุรกันดาร และเพราะเหตุใด? (ข) ในจดหมายของพวกท่าน ยูดาและเปโตรกล่าวถึงตัวอย่างอะไรบ้างในเรื่องความละโมบและการขืนอำนาจ?
35 ทำไมพวกยิศราเอลถูกลงโทษให้ร่อนเร่ในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปี? เพราะขาดความเชื่อ. อัครสาวกเปาโลให้คำเตือนที่หนักแน่นในเรื่องนี้ว่า “จงระวังให้ดี, หากว่าในพวกท่านจะมีผู้หนึ่งผู้ใดเกิดใจชั่วที่ไม่เชื่อ, แล้วก็หลงไปจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่. แต่ว่าจงเตือนสติซึ่งกันและกันทุกวัน.” ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่เชื่อฟังและเนื่องจากการขาดความเชื่อ พวกยิศราเอลเหล่านั้นจึงตายในถิ่นทุรกันดาร. “เหตุฉะนั้นให้เราทั้งหลายอุสส่าห์เข้าในที่สงบสุขนั้น [ของพระเจ้า] เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดตกหลงไปในการไม่เชื่อฟังเช่นเขาเหล่านั้นซึ่งเป็นตัวอย่าง.” (เฮ็บ. 3:7–4:11; อาฤ. 13:25–14:38) ในคำเตือนที่มีแก่คนไม่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งพูดหมิ่นประมาทต่อสิ่งบริสุทธิ์ ยูดาอ้างถึงความละโมบของบีละอามที่อยากได้รางวัลและอ้างถึงการที่โคราพูดต่อต้านอำนาจโมเซผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. (ยูดา 11; อาฤ. 22:7, 8, 22; 26:9, 10) เปโตรก็กล่าวถึงบีละอามด้วยว่าเป็นคนที่ “ชอบบำเหน็จแห่งการอธรรม” และพระเยซูผู้ทรงสง่าราศีก็ตรัสถึงบีละอามในวิวรณ์ของพระองค์ผ่านทางโยฮันว่าเป็นผู้ที่ ‘วางหินสะดุดแห่งการไหว้รูปเคารพและการผิดประเวณีแก่พวกยิศราเอล.’ แน่นอน ประชาคมคริสเตียนทุกวันนี้ควรได้รับการเตือนให้ระวังคนไม่บริสุทธิ์เช่นนั้น.—2 เป. 2:12-16; วิ. 2:14.
36. เปาโลเตือนให้ระวังกิจปฏิบัติอะไรบ้างที่ก่อความเสียหาย และพวกเราทุกวันนี้อาจได้รับประโยชน์อย่างไรจากคำแนะนำของท่าน?
36 เมื่อเกิดการทำผิดศีลธรรมในประชาคมโกรินโธ เปาโลเขียนถึงพวกเขาในเรื่องความ “ปรารถนาสิ่งที่ก่อความเสียหาย” โดยอ้างเจาะจงถึงอาฤธโม. ท่านเตือนว่า “อย่าให้เราประพฤติผิดประเวณี ดังที่บางคนในพวกเขาได้ประพฤติผิดประเวณี แล้วก็ล้มตายในวันเดียวสองหมื่นสามพันคน.” (1 โก. 10:6, 8, ล.ม.; อาฤ. 25:1-9; 31:16)b จะว่าอย่างไรกับคราวที่ประชาชนบ่นว่า การเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าก่อความลำบากแก่เขา และว่าพวกเขาไม่พอใจกับการที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้มีมานา? เปาโลกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ทั้งอย่าให้เราลองดีพระยะโฮวา ดังที่บางคนในพวกเขาได้ลองดีพระองค์ แล้วก็พินาศด้วยงูพิษ.” (1 โก. 10:9, ล.ม.; อาฤ. 21:5, 6) แล้วเปาโลจึงพูดต่ออีกว่า “อย่าบ่นเหมือนบางคนในพวกเขาได้บ่น, แล้วก็พินาศด้วยเพชฌฆาต.” ช่างเป็นประสบการณ์ที่ขมขื่นของชาติยิศราเอลอันเนื่องมาจากการบ่นต่อต้านพระยะโฮวา ตัวแทนของพระองค์, และการจัดเตรียมของพระองค์! สิ่งเหล่านี้ที่ “ได้ บังเกิดแก่เขาเป็นตัวอย่าง” ควรเป็นคำเตือนอันชัดเจนแก่เราทุกคนในทุกวันนี้ เพื่อเราจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยความเชื่ออันเต็มเปี่ยมต่อไป.—1 โก. 10:10, 11; อาฤ. 14:2, 36, 37; 16:1-3, 41; 17:5, 10.
37. จงยกตัวอย่างวิธีที่อาฤธโมช่วยเราให้เข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิลตอนอื่น ๆ.
37 อาฤธโมยังบอกถึงภูมิหลังซึ่งจะทำให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลตอนอื่น ๆ อีกหลายตอนดีขึ้นด้วย.—อาฤ. 28:9, 10—มัด. 12:5; อาฤ. 15:38—มัด. 23:5; อาฤ. 6:2-4—ลูกา 1:15; อาฤ. 4:3—ลูกา 3:23; อาฤ. 18:31—1 โก. 9:13, 14; อาฤ. 18:26—เฮ็บ. 7:5-9; อาฤ. 17:8-10—เฮ็บ. 9:4.
38. พระธรรมอาฤธโมเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางใดบ้าง และพระธรรมนี้ชี้นำความสนใจของเราสู่อะไร?
38 สิ่งที่มีบันทึกไว้ในอาฤธโมมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าอย่างแท้จริง และเป็นประโยชน์ในการสอนเราถึงความสำคัญของการเชื่อฟังพระยะโฮวาและการนับถือผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลท่ามกลางไพร่พลของพระองค์. โดยตัวอย่าง อาฤธโมว่ากล่าวการทำผิด และโดยบันทึกเหตุการณ์ที่แฝงความหมายเชิงพยากรณ์ อาฤธโมชี้นำให้เราสนใจพระองค์ผู้นั้นที่พระยะโฮวาทรงประทานให้เป็นผู้ช่วยให้รอดและผู้นำไพร่พลของพระองค์ในทุกวันนี้. อาฤธโมให้การเชื่อมโยงที่สำคัญและให้ความเข้าใจซึ่งนำไปสู่การสถาปนาราชอาณาจักรอันชอบธรรมของพระยะโฮวาในพระหัตถ์แห่งพระเยซูคริสต์ ผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้กลางและมหาปุโรหิต.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 540-542.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 233.