พระยะโฮวาทรงสดับเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากเรา
“พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา.”—เพลง. 34:15.
1, 2. (ก) หลายคนในทุกวันนี้รู้สึกอย่างไร? (ข) เหตุใดเราจึงไม่แปลกใจในเรื่องนี้?
คุณรู้สึกเป็นทุกข์ไหม? หากเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้. หลายล้านคนกำลังต่อสู้เพื่อรับมือกับความกดดันในแต่ละวันขณะดำเนินชีวิตในสมัยอันชั่วช้านี้. สำหรับบางคน ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเหลือทน. พวกเขารู้สึกเหมือน ๆ กับดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งเขียนว่า “ตัวข้าพเจ้าอ่อนกำลังฟกช้ำมาก ข้าพเจ้าได้ร้องครวญครางเพราะความทุกข์ลำบากใจ. หัวใจของข้าพเจ้าเต้นแรง, กำลังของข้าพเจ้าถอยลง ความสว่างในดวงตาของข้าพเจ้ามืดไปแล้ว.”—เพลง. 38:8, 10.
2 พวกเราซึ่งเป็นคริสเตียนไม่แปลกใจกับเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต. เราเข้าใจว่า “ความทุกข์ปวดร้าวเหมือนตอนเจ็บท้องคลอด” เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณบอกการประทับของพระเยซูที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. (มโก. 13:8; มัด. 24:3) คำภาษากรีกที่แปลไว้ว่า “ความทุกข์ปวดร้าวเหมือนตอนเจ็บท้องคลอด” อาจหมายถึงภัยพิบัติหรือความทุกข์ทั่วไป. คำนี้ช่างพรรณนาได้ตรงจริง ๆ กับความรุนแรงของความทุกข์ที่ผู้คนประสบในสมัยปัจจุบันที่ ‘วิกฤติ’ และ “ยากจะรับมือได้”!—2 ติโม. 3:1.
พระยะโฮวาทรงเข้าใจความทุกข์ของเรา
3. ประชาชนของพระเจ้ารู้ดีในเรื่องใด?
3 ประชาชนของพระยะโฮวารู้ดีว่าพวกเขาก็ต้องรับผลกระทบจากความทุกข์เหล่านี้ด้วย และเป็นไปได้มากทีเดียวว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น. นอกเหนือจากสิ่งที่มนุษยชาติทั่วไปประสบแล้ว พวกเราที่เป็นผู้รับใช้พระเจ้ายังต้องเผชิญกับ “พญามาร ปรปักษ์” ซึ่งมุ่งบ่อนทำลายความเชื่อของเรา. (1 เป. 5:8) เป็นเรื่องง่ายจริง ๆ ที่เราอาจรู้สึกแบบเดียวกับดาวิดซึ่งกล่าวว่า “การเยาะเย้ยนั้นทำใจของข้าพเจ้าช้ำชอกแล้ว; และข้าพเจ้าก็เต็มไปด้วยความหนักใจ แล้วข้าพเจ้าได้มองหาคนที่จะสงสารข้าพเจ้า, แต่ไม่มีใคร. และได้มองหาผู้เล้าโลม, แต่ก็มองหาพบไม่”!—เพลง. 69:20.
4. อะไรทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อเราเป็นทุกข์?
4 ดาวิดหมายความว่าท่านหมดหวังอย่างสิ้นเชิงไหม? ไม่. ขอให้สังเกตถ้อยคำถัดมาในเพลงสรรเสริญบทนั้น: “พระเจ้าทรงฟังคนขัดสนและมิได้ทรงดูหมิ่นคนของพระองค์ที่ถูกจำจอง.” (เพลง. 69:33, ฉบับแปลใหม่) บางครั้งเราอาจรู้สึกราวกับเป็นนักโทษที่ถูกความทุกข์ทรมานจับตัวเป็นเชลยในความหมายกว้าง ๆ. อาจดูเหมือนว่าคนอื่นไม่เข้าใจสถานการณ์ของเราอย่างแท้จริง—และอาจเป็นอย่างนั้นจริง ๆ. แต่เช่นเดียวกับดาวิด เราอาจรู้สึกสบายใจขึ้นที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงเข้าใจความทุกข์ของเราอย่างเต็มที่.—เพลง. 34:15.
5. กษัตริย์โซโลมอนมั่นใจในเรื่องใด?
5 โซโลมอน (ซะโลโม) ราชบุตรของดาวิดเน้นข้อเท็จจริงนี้ในคราวการอุทิศพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. (อ่าน 2 โครนิกา 6:29-31.) ท่านวิงวอนขอให้พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของผู้มีหัวใจสุจริตแต่ละคนที่เข้าเฝ้าพระองค์ด้วยเรื่อง “ความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ร้อนใจของตน.” พระเจ้าจะทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำอธิษฐานของแต่ละคนที่เป็นทุกข์? โซโลมอนแสดงความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะไม่เพียงสดับคำอธิษฐานของพวกเขา แต่จะทรงกระทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขาด้วย. เพราะเหตุใด? เพราะพระองค์ทรงทราบอย่างแท้จริงว่าอะไรอยู่ใน “ใจมนุษยชาติ.”
6. เราจะสามารถรับมือกับความกังวลได้โดยวิธีใด และเพราะเหตุใด?
6 เช่นเดียวกัน เราก็สามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในคำทูลอธิษฐานเกี่ยวกับ ‘ความเจ็บป่วยหรือความทุกข์ร้อนใจของเรา’ แต่ละคน. เราคงสบายใจขึ้นที่ทราบว่าพระองค์ทรงเข้าใจความทุกข์ของเราและพระองค์ทรงห่วงใยเรา. อัครสาวกเปโตรยืนยันเรื่องนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “[จง] ฝากความวิตกกังวลทั้งสิ้นไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงใฝ่พระทัยท่านทั้งหลาย.” (1 เป. 5:7) พระยะโฮวาทรงเป็นห่วงจริง ๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา. พระเยซูทรงเน้นเกี่ยวกับความใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระยะโฮวาโดยตรัสว่า “นกกระจอกสองตัวขายได้เงินนิดเดียวมิใช่หรือ? ถึงอย่างนั้น ไม่มีสักตัวจะตกถึงดินโดยที่พระบิดาของเจ้าทั้งหลายไม่ทรงทราบ. แม้ผมของพวกเจ้าก็ทรงนับไว้แล้วทุกเส้น. ฉะนั้น อย่ากลัวเลย พวกเจ้ามีค่ายิ่งกว่านกกระจอกหลายตัว.”—มัด. 10:29-31.
ไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วย
7. เราแน่ใจได้ว่าจะได้รับการค้ำจุนอย่างไร?
7 เรามั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยและทรงสามารถช่วยเราเมื่อเราเป็นทุกข์. “พระเจ้าเป็นที่พึ่งและเป็นกำลังของเรา เป็นผู้ช่วยเหลือที่จะเข้าหาได้เสมอในยามยากลำบาก.” (เพลง. 34:15-18; 46:1, ล.ม.) พระเจ้าทรงให้ความช่วยเหลืออย่างไร? ขอให้พิจารณาข้อความที่ 1 โครินท์ 10:13 ซึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงให้พวกท่านถูกล่อใจเกินกว่าจะทนได้ แต่เมื่อพวกท่านถูกล่อใจ พระองค์จะทรงให้มีทางออกด้วยเพื่อพวกท่านจะทนได้.” พระยะโฮวาอาจจัดการเรื่องต่าง ๆ เพื่อขจัดความทุกข์ยากของเราให้หมดไป หรือพระองค์อาจประทานกำลังที่จำเป็นแก่เราเพื่อจะอดทนได้. ไม่ว่าจะโดยวิธีใด เราได้รับความช่วยเหลือ.
8. เราจะได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
8 เราจะได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือนั้นได้อย่างไร? ขอให้สังเกตว่าเราได้รับคำแนะนำให้ “ฝากความวิตกกังวลทั้งสิ้นไว้กับพระองค์.” นี่หมายความว่าเหมือนกับเรามอบความรับผิดชอบสำหรับทุกเรื่องที่เรากังวลให้พระยะโฮวาทรงดูแล. เราพยายามจะเลิกกังวลและไว้วางใจด้วยความอดทนว่าพระองค์จะทรงดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็น. (มัด. 6:25-32) เพื่อจะมีความไว้วางใจเช่นนั้นต้องถ่อมใจ ไม่หมายพึ่งกำลังหรือสติปัญญาของเราเอง. โดยถ่อมตัว “อยู่ใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า” เรายอมรับฐานะอันต่ำต้อยของตัวเอง. (อ่าน 1 เปโตร 5:6.) เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว นั่นจะช่วยเราให้รับมือได้กับสิ่งใดก็ตามที่พระเจ้ายังทรงยอมให้มีอยู่. เราอาจปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับการบรรเทาทุกข์ในทันที แต่เราไว้วางใจว่าพระยะโฮวาทรงทราบดีว่าควรดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเราเมื่อไรและโดยวิธีใด.—เพลง. 54:7; ยซา. 41:10.
9. ดาวิดจำเป็นต้องฝากภาระแบบไหนไว้กับพระยะโฮวา?
9 ขอให้นึกถึงคำกล่าวของดาวิดดังบันทึกที่บทเพลงสรรเสริญ 55:22 (ล.ม.) ว่า “จงปล่อยภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมซวดเซเลย.” เมื่อดาวิดเขียนข้อความนี้ ท่านเป็นทุกข์อย่างหนัก. (เพลง. 55:4) เข้าใจกันว่าเพลงสรรเสริญบทนี้เขียนเมื่ออับซาโลมราชบุตรวางแผนแย่งชิงราชบัลลังก์จากดาวิด. อะฮีโธเฟล ที่ปรึกษาซึ่งดาวิดไว้ใจที่สุด ร่วมคบคิดในแผนดังกล่าว. ดาวิดต้องหนีออกจากกรุงเยรูซาเลมเพื่อเอาชีวิตรอด. (2 ซามู. 15:12-14) แม้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอย่างนั้น ดาวิดไว้วางใจพระเจ้าต่อไปและท่านไม่ผิดหวังเลย.
10. เราต้องทำอะไรเมื่อประสบความทุกข์ยาก?
10 เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะเลียนแบบดาวิดด้วยการเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน ไม่ว่าเราอาจประสบกับความทุกข์ยากแบบใดก็ตาม. ขอให้เราพิจารณาสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเราให้ทำในเรื่องนี้. (อ่านฟิลิปปอย 4:6, 7.) การอธิษฐานอย่างแรงกล้าเช่นนั้นจะทำให้เกิดผลเช่นไร? “สันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจและจิตใจ [เรา] ไว้โดยทางพระคริสต์เยซู.”
11. “สันติสุขของพระเจ้า” ช่วยปกป้องหัวใจและจิตใจเราอย่างไร?
11 การอธิษฐานจะทำให้สถานการณ์ของคุณเปลี่ยนไปไหม? อาจเป็นอย่างนั้น. แต่เราควรตระหนักว่าพระยะโฮวาไม่ตอบคำอธิษฐานของเราในแบบที่เราต้องการเสมอไป. อย่างไรก็ตาม การอธิษฐานช่วยเราให้รักษาความสมดุลด้านจิตใจ เพื่อเราจะไม่ปล่อยให้ความทุกข์ยากครอบงำเรา. “สันติสุขของพระเจ้า” สามารถทำให้ใจเราสงบเมื่อเราถูกทับถมด้วยความทุกข์ใจ. เช่นเดียวกับกองทหารที่ได้รับมอบหมายให้ป้องกันเมืองไว้จากศัตรูที่รุกราน “สันติสุขของพระเจ้า” จะคุ้มครองหัวใจและจิตใจของเรา. นอกจากนั้น สันติสุขของพระเจ้ายังช่วยให้เราสามารถเอาชนะความสงสัย, ความกลัว, และความคิดในแง่ลบและป้องกันเราไว้ไม่ให้ตอบโต้อย่างใจร้อนและไม่ฉลาด.—เพลง. 145:18.
12. จงยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนเราจะมีความสงบใจได้อย่างไร.
12 เราจะมีใจสงบได้อย่างไรขณะประสบความทุกข์ยาก? ขอให้พิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบหนึ่งซึ่งตรงกับสถานการณ์ที่เราพิจารณากันอยู่ในบางแง่. ลูกจ้างคนหนึ่งทำงานอยู่ใต้การดูแลของผู้จัดการที่พูดจาหยาบคาย. แต่ลูกจ้างคนนี้มีโอกาสได้บอกความรู้สึกของเขากับเจ้าของบริษัทซึ่งเป็นคนกรุณาและมีเหตุผล. เจ้าของบริษัทให้ความมั่นใจกับลูกจ้างว่าเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่และบอกว่าจะถอดผู้จัดการคนนี้ออกจากตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้. นั่นจะทำให้ลูกจ้างรู้สึกอย่างไร? การที่เขาเชื่อคำรับรองนั้นและรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นย่อมจะให้กำลังใจขณะที่เขาทำงานต่อไป แม้ว่าเขาต้องเผชิญความยุ่งยากเพิ่มขึ้นบ้างในระหว่างที่รออยู่นั้น. คล้ายกัน เรารู้ว่าพระยะโฮวาทรงเข้าใจสถานการณ์ของเรา และพระองค์รับรองกับเราว่าในอีกไม่ช้า “ผู้ปกครองโลกจะถูกขับไล่.” (โย. 12:31) นั่นช่างให้กำลังใจสักเพียงไร!
13. นอกจากอธิษฐานแล้ว เราต้องทำอะไรอีก?
13 ถ้าอย่างนั้น เราเพียงแต่พูดถึงปัญหาของเราในคำอธิษฐานถึงพระยะโฮวาก็พอแล้วไหม? ไม่. เราจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น. เราต้องลงมือปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเรา. เมื่อกษัตริย์ซาอูลส่งคนไปฆ่าดาวิดที่บ้านท่าน ดาวิดอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าพ้นจากพวกศัตรูของข้าพเจ้า, และขอทรงตั้งข้าพเจ้าไว้เสียในที่สูงให้พ้นเขาทั้งปวงที่ลุกขึ้นต่อสู้ข้าพเจ้า. ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าพ้นจากคนทั้งหลายที่กระทำชั่วร้าย, และขอทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากคนที่กระทำให้เลือดตกยางออก.” (เพลง. 59:1, 2) นอกจากอธิษฐานแล้ว ดาวิดฟังภรรยาและทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะหลบหนีได้. (1 ซามู. 19:11, 12) คล้ายกัน เราสามารถอธิษฐานขอสติปัญญาที่ใช้ได้จริงเพื่อช่วยให้เราสามารถรับมือหรือแม้แต่ทำให้สถานการณ์ที่ก่อความทุกข์แก่เราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น.—ยโก. 1:5.
เราจะเข้มแข็งพอที่จะอดทนได้อย่างไร?
14. อะไรจะช่วยเราได้ให้อดทนเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก?
14 ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับเราอาจไม่ถูกขจัดออกไปในทันที. ความทุกข์ยากเหล่านั้นอาจมีอยู่ต่อไประยะหนึ่งเสียด้วยซ้ำ. หากเป็นอย่างนั้น อะไรจะช่วยเราให้อดทน? ประการแรก จำไว้ว่าเมื่อเรารับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปแม้ต้องทนความลำบาก นั่นพิสูจน์ว่าเรารักพระองค์. (กิจ. 14:22) ขอให้นึกถึงคำพูดที่ซาตานกล่าวหาโยบ: “โยบจะนับถือพระองค์หรือถ้าเขาไม่ได้อะไร พระองค์ทรงพิทักษ์โยบกับครอบครัวของเขาและทุกสิ่งที่เขามี พระองค์ทรงอวยพรทุกสิ่งที่เขาทำ และประทานฝูงวัวให้เขามากมายจนเต็มเมือง แต่ถ้าพระองค์ทรงเอาทุกสิ่งที่เขามีอยู่ไปเสียเขาจะแช่งด่าพระองค์!” (โยบ 1:9-11, ฉบับประชานิยม) โยบพิสูจน์ด้วยการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงว่าคำกล่าวหาดังกล่าวเป็นคำโกหกอันต่ำช้า. ด้วยการอดทนกับสภาพการณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์ เราเองก็มีโอกาสด้วยที่จะพิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสา. เมื่อเป็นอย่างนั้น ความอดทนจะเสริมเราให้มีความหวังและความเชื่อมั่นที่เข้มแข็ง.—ยโก. 1:4.
15. ตัวอย่างอะไรบ้างที่สามารถช่วยเราให้เข้มแข็งขึ้น?
15 ประการที่สอง ขอให้จำไว้ว่า “ทุกคนในสังคมพี่น้องคริสเตียนซึ่งอยู่ในโลกต่างก็ประสบความทุกข์ลำบากเหมือนกัน.” (1 เป. 5:9) และ “ไม่มีการล่อใจใด ๆ เกิดขึ้นกับท่านทั้งหลายเว้นแต่การล่อใจที่มนุษย์เคยประสบมา.” (1 โค. 10:13) ด้วยเหตุนั้น คุณสามารถเข้มแข็งและกล้าหาญยิ่งขึ้นโดยใคร่ครวญตัวอย่างของคนอื่น ๆ แทนที่จะครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความลำบากของตัวเอง. (1 เทส. 1:5-7; ฮีบรู 12:1) ขอให้จัดเวลาไว้เพื่อคิดพิจารณาตัวอย่างของคนที่คุณรู้จักซึ่งได้อดทนอย่างซื่อสัตย์แม้ต้องทนทุกข์เจ็บปวด. คุณได้ค้นดูประสบการณ์ชีวิตในหนังสือต่าง ๆ ของสมาคมไหมเพื่อจะดูว่ามีเรื่องราวของใครบ้างที่ผ่านความลำบากคล้าย ๆ กับที่คุณกำลังเผชิญ? คุณอาจพบว่าประสบการณ์เหล่านั้นช่วยได้มากทีเดียวในการทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น.
16. พระเจ้าทรงช่วยเราให้เข้มแข็งอย่างไรเมื่อเราเผชิญความทุกข์ยากต่าง ๆ?
16 ประการที่สาม จำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระบิดาแห่งความเมตตากรุณาและเป็นพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง ผู้ทรงชูใจเราทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก เพื่อเราจะชูใจคนที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบากต่าง ๆ ได้เนื่องจากเราเองได้รับการชูใจจากพระเจ้า.” (2 โค. 1:3, 4) เปรียบประหนึ่งว่าพระเจ้ากำลังยืนอยู่ข้าง ๆ เราเพื่อหนุนใจและช่วยเราให้เข้มแข็ง ไม่เพียงแค่เพื่อให้รับมือได้กับความทุกข์ลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ แต่ “ทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก.” เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถปลอบโยนคนอื่น ๆ “ที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบากต่าง ๆ.” เปาโลเห็นจริงตามถ้อยคำดังกล่าวด้วยประสบการณ์ของตัวท่านเอง.—2 โค. 4:8, 9; 11:23-27.
17. คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราได้อย่างไรให้รับมือกับความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต?
17 ประการที่สี่ เรามีคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้า ซึ่ง “มีประโยชน์เพื่อการสอน การว่ากล่าว การจัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง การตีสอนด้วยความชอบธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโม. 3:16, 17) พระคำของพระเจ้าไม่เพียงทำให้เรา “มีคุณสมบัติ” และ “ถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง” เท่านั้น. พระคำของพระเจ้ายังช่วยเราให้สามารถรับมือกับความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วย. พระคำของพระเจ้าทำให้เรา “มีคุณสมบัติครบถ้วน” และ “ถูกเตรียมไว้พร้อม.” คำในภาษาเดิมซึ่งแปลในที่นี้ว่า “ถูกเตรียมไว้พร้อม” มีความหมายตรงตัวว่า “ได้รับการจัดเตรียมให้มีอุปกรณ์ครบ.” คำนี้อาจใช้กันในสมัยโบราณกับการจัดเตรียมสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการเดินทางไกลทางเรือ หรือใช้กับเครื่องจักรที่สามารถทำงานใดก็ตามที่เราประสงค์. คล้ายกัน ด้วยพระคำของพระองค์พระยะโฮวาทรงจัดให้เรามีทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อจัดการกับทุกสิ่งที่เราอาจเผชิญ. ด้วยเหตุนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า “ถ้าพระเจ้ายังทรงยอมให้ความทุกข์ยากมีอยู่ ฉันก็จะอดทนได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระองค์.”
ช่วยให้พ้นความทุกข์ยากทั้งสิ้นที่เราประสบ
18. นอกจากที่กล่าวไปแล้ว การคำนึงถึงอะไรจะช่วยเราให้อดทนอย่างซื่อสัตย์?
18 ประการที่ห้า คำนึงเสมอถึงข้อเท็จจริงอันยอดเยี่ยมที่ว่าในไม่ช้าพระยะโฮวาจะปลดปล่อยมนุษยชาติจากความทุกข์ยากทั้งสิ้น. (เพลง. 34:19; 37:9-11; 2 เป. 2:9) เมื่อถึงที่สุดแล้ว การช่วยให้รอดจากพระเจ้าจะไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การช่วยให้พ้นความทุกข์ยากในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสที่จะมีชีวิตนิรันดร์ ในสวรรค์กับพระเยซูหรือบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.
19. เราจะอดทนอย่างซื่อสัตย์ได้อย่างไร?
19 จนกว่าจะถึงเวลานั้น เราต้องรับมือต่อไปกับสภาพการณ์ที่ยุ่งยากลำบากของโลกชั่วนี้. เราปรารถนาสักเพียงไรให้ถึงเวลาที่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป! (เพลง. 55:6-8) ให้เราจำไว้ว่าการที่เราอดทนอย่างซื่อสัตย์พิสูจน์ว่าพญามารโกหก. ขอให้เราได้ความเข้มแข็งจากการอธิษฐานและจากสังคมพี่น้องคริสเตียน โดยจำไว้ว่าพี่น้องของเราก็ประสบความทุกข์ยากคล้ายกับเรา. จงมีคุณสมบัติครบถ้วนและถูกเตรียมไว้พร้อมอยู่เสมอด้วยการใช้พระคำของพระเจ้าให้เกิดผล. อย่ายอมให้ความไว้วางใจที่คุณมีต่อการใฝ่พระทัยด้วยความรักที่มาจาก “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง” สั่นคลอน. จำไว้ว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา.”—เพลง. 34:15.
คุณตอบได้ไหม?
• ดาวิดรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความทุกข์ยากที่ท่านประสบ?
• กษัตริย์โซโลมอนแสดงความมั่นใจในเรื่องใด?
• อะไรสามารถช่วยเราให้รับมือกับความทุกข์ที่พระยะโฮวายังยอมให้มีอยู่?
[ภาพหน้า 13]
โซโลมอนเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะทรงจัดการเพื่อประโยชน์ของประชาชนของพระองค์ที่เป็นทุกข์
[ภาพหน้า 15]
ดาวิดฝากภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวาด้วย การอธิษฐานแล้วก็กระทำสอดคล้องกับที่ท่านอธิษฐานขอ