บทสิบเจ็ด
การแสดงความเลื่อมใสพระเจ้าที่บ้าน
1. การนำคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าไปใช้มีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตสมรส?
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ริเริ่มการสมรส และพระคำของพระองค์มีคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว. ผลจากการนำคำแนะนำนั้นไปใช้ ทำให้หลายคนประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส. น่าชมเชย บางคนซึ่งเพียงแต่อยู่กินด้วยกันก็ได้ถูกกระตุ้นให้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. คนอื่น ๆ ได้เลิกการมีเพศสัมพันธ์นอกสายสมรส. ผู้ชายที่ชอบใช้ความรุนแรงซึ่งทุบตีภรรยาและบุตรของตนก็ได้เรียนรู้วิธีที่จะแสดงความกรุณาและความอ่อนโยน.
2. อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับชีวิตครอบครัวของคริสเตียน?
2 ชีวิตครอบครัวคริสเตียนเกี่ยวข้องกับหลายสิ่ง อาทิเช่น เรามีทัศนะเช่นไรต่อเรื่องที่ว่าชีวิตสมรสเป็นการผูกพันที่ถาวร, เราทำอะไรบ้างเพื่อปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวให้สำเร็จลุล่วง, และเราปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวอย่างไร. (เอเฟโซ 5:33–6:4) ขณะที่เราอาจรู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว แต่ที่จะนำคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว. ไม่มีใครในพวกเราอยากเป็นเหมือนผู้ที่พระเยซูทรงตำหนิเพราะพวกเขาละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า. พวกเขาหาเหตุผลอย่างผิด ๆ ว่า เพียงแค่มีความเลื่อมใสศาสนาก็เพียงพอแล้ว. (มัดธาย 15:4-9) เราไม่ต้องการจะทำทีว่ามีความเลื่อมใสพระเจ้า แต่มิได้แสดงความเลื่อมใสเช่นนั้นในครอบครัวของเราเอง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้องการแสดงความเลื่อมใสพระเจ้าจริง ๆ ซึ่งเป็นทางที่ “ได้กำไรมาก.”—1 ติโมเธียว 5:4; 6:6, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:5.
ชีวิตสมรสจะยั่งยืนนานเท่าไร?
3. (ก) มีอะไรกำลังเกิดขึ้นกับคู่สมรสหลายคู่ แต่ความตั้งใจแน่วแน่ของเราควรเป็นอย่างไร? (ข) จงใช้คัมภีร์ไบเบิลของคุณตอบคำถามที่ให้ไว้ท้ายวรรคนี้.
3 ความผูกพันในชีวิตสมรสมีแต่จะเปราะบางมากขึ้นทุกที. คู่สมรสบางคู่ซึ่งอยู่ด้วยกันมาหลายสิบปีตัดสินใจหย่ากันและไปแต่งงานกับคนอื่น. นอกจากนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกต่อไปที่ได้ยินว่าคู่สมรสหนุ่มสาวแยกทางกันหลังจากแต่งงานได้เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ. ไม่ว่าคนอื่น ๆ ทำอย่างไรก็ตาม เราควรปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. ดังนั้น ให้เราพิจารณาคำถามและข้อคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อดูว่าพระคำของพระเจ้าพูดอย่างไรเกี่ยวกับลักษณะที่ถาวรของชีวิตสมรส.
เมื่อชายและหญิงสมรสกัน เขาทั้งสองควรคาดหมายว่าจะอยู่ด้วยกันนานแค่ไหน? (มาระโก 10:6-9; โรม 7:2, 3)
อะไรเป็นมูลเหตุเพียงอย่างเดียวที่อาจหย่าแล้วแต่งงานใหม่ได้โดยที่พระเจ้าทรงยอมรับ? (มัดธาย 5:31, 32; 19:3-9)
พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรต่อการหย่าร้างซึ่งไม่เป็นตามหลักการที่กำหนดไว้ในพระคำของพระองค์? (มาลาคี 2:13-16)
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนการแยกกันอยู่ว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาในชีวิตสมรสไหม? (1 โกรินโธ 7:10-13)
ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่การแยกกันอยู่อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้? (บทเพลงสรรเสริญ 11:5; ลูกา 4:8; 1 ติโมเธียว 5:8)
4. เหตุใดคู่สมรสบางคู่จึงอยู่กันยืนยง?
4 คู่สมรสบางรายอยู่กันยืด. เพราะเหตุใด? การประวิงเวลาการสมรสไว้จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายบรรลุความเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง แต่การหาคู่ที่มีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันและสามารถพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเปิดเผยก็นับว่าสำคัญเช่นกัน. แต่ที่นับว่าสำคัญกว่านั้นคือ การหาคู่ครองที่รักพระยะโฮวาและนับถือพระคำของพระองค์ว่าเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:97, 104; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) คนเช่นนั้นจะไม่มีแง่คิดที่ว่า ถ้าไปกันไม่ได้ เขาก็จะแยกกันอยู่หรือไม่ก็หย่ากัน. เขาจะไม่ใช้ข้อบกพร่องของคู่สมรสเป็นข้ออ้างเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบของตน. แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาจะเผชิญปัญหาและหาทางแก้ไขที่ได้ผล.
5. (ก) ความภักดีต่อพระยะโฮวามีบทบาทอย่างไรในชีวิตสมรส? (ข) แม้แต่เมื่อเผชิญการต่อต้าน การยึดอยู่กับมาตรฐานของพระยะโฮวาให้ประโยชน์เช่นไร?
5 ซาตานแย้งว่า เมื่อเราประสบความทุกข์ เราจะละทิ้งแนวทางของพระยะโฮวา. (โยบ 2:4, 5; สุภาษิต 27:11) แต่พยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่ซึ่งประสบความทุกข์เพราะถูกคู่สมรสต่อต้านก็มิได้ละทิ้งคำปฏิญาณการสมรส. พวกเขายังคงภักดีต่อพระยะโฮวาและพระบัญชาของพระองค์. (มัดธาย 5:37) บางคนซึ่งได้ยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นประสบความยินดีเมื่อคู่สมรสเข้ามาร่วมสมทบกับเขาในการรับใช้พระยะโฮวา หลังจากที่ต่อต้านมาเป็นเวลาหลายปีเสียด้วยซ้ำ! (1 เปโตร 3:1, 2) ส่วนคริสเตียนหลายคนที่คู่ของตนไม่ได้แสดงให้เห็นวี่แววของการเปลี่ยนแปลงหรือผู้ซึ่งถูกคู่สมรสทอดทิ้งเนื่องจากพวกเขารับใช้พระยะโฮวา คนเหล่านี้ก็รู้เช่นกันว่าพวกเขาจะได้รับพระพรเนื่องจากพวกเขาได้แสดงหลักฐานเรื่องความเลื่อมใสพระเจ้าที่บ้าน.—บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 145:16.
แต่ละคนทำส่วนของตนเอง
6. เพื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส เราต้องเคารพการจัดเตรียมอะไร?
6 แน่ละ การมีชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จมิใช่เพียงแค่การอยู่ร่วมกันเท่านั้น. ความจำเป็นขั้นพื้นฐานคือ แต่ละฝ่ายต่างต้องเคารพการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องการเป็นประมุข. การทำเช่นนั้นทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความรู้สึกปลอดภัยในบ้าน. ที่ 1 โกรินโธ 11:3 เราอ่านว่า “พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.”
7. ควรใช้ความเป็นประมุขอย่างไรในครอบครัว?
7 คุณได้สังเกตสิ่งที่ข้อนั้นกล่าวถึงเป็นประการแรกไหม? ถูกแล้ว ชายทุกคนมีประมุข คือพระคริสต์ ซึ่งเขาควรยอมอยู่ใต้อำนาจ. ทั้งนี้หมายความว่าสามีควรทำหน้าที่ประมุขในวิธีที่สะท้อนถึงคุณลักษณะของพระเยซู. พระคริสต์ทรงยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวา, ทรงรักประชาคมอย่างลึกซึ้ง, และทรงเอาใจใส่ดูแลประชาคม. (1 ติโมเธียว 3:15) พระองค์ถึงกับ “สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.” พระเยซูไม่ใช่คนหยิ่งยโสและขาดการคำนึงถึงผู้อื่น ทว่า พระองค์ทรง “มีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.” ผู้ที่เข้ามาอยู่ภายใต้การเป็นประมุขของพระองค์ “ได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของตน.” เมื่อสามีปฏิบัติกับครอบครัวของตนด้วยวิธีนี้ นั่นย่อมแสดงว่าเขายอมอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์. เช่นนั้นแล้ว ภรรยาคริสเตียนจะพบว่าการร่วมมือกับสามีและการยอมอยู่ใต้อำนาจของสามีที่เป็นประมุขนั้นเป็นประโยชน์และก่อความสดชื่น.—เอเฟโซ 5:25-33, ล.ม.; มัดธาย 11:28, 29, ล.ม.; สุภาษิต 31:10, 28.
8. (ก) เหตุใดวิธีการของคริสเตียนอาจดูเหมือนไม่ได้ผลตามที่ต้องการในบางครอบครัว? (ข) เราอาจทำอะไรได้บ้างหากต้องเผชิญสภาพการณ์เช่นนั้น?
8 อย่างไรก็ดี ปัญหาจะเกิดขึ้น. ความขัดเคืองใจที่มีอยู่บ้างต่อคำแนะนำที่ได้รับจากคนอื่น ๆ อาจฝังลึกก่อนที่ใครในครอบครัวจะเริ่มนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. การขอร้องอย่างนุ่มนวลและท่าทีซึ่งแสดงความรักอาจดูเหมือนว่าไม่ได้ผล. เรารู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกให้ขจัด “ความโกรธ และความขุ่นแค้น และการตวาดและคำพูดหยาบหยาม.” (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) แต่ถ้าบางคนดูเหมือนไม่ยอมเข้าใจอะไรเสียเลย เราควรทำอย่างไร? พระเยซูมิได้เลียนแบบผู้ซึ่งขู่เข็ญและด่าว่า แต่พระองค์ทรงวางใจในพระบิดาของพระองค์. (1 เปโตร 2:22, 23) ดังนั้น เมื่อมีสถานการณ์ที่ตึงเครียดเกิดขึ้นในบ้าน จงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับความเลื่อมใสพระเจ้าโดยการอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา แทนที่จะใช้วิธีการแบบโลก.—สุภาษิต 3:5-7.
9. แทนที่จะคอยจับผิด สามีที่เป็นคริสเตียนหลายคนได้เรียนรู้ที่จะทำอย่างไร?
9 การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วเสมอไป แต่คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลได้ผลจริง ๆ เมื่อนำไปใช้ด้วยความอดทนและพากเพียร. สามีหลายคนได้พบว่าชีวิตสมรสเริ่มจะดีขึ้นเมื่อเขาเข้าใจวิธีที่พระคริสต์ทรงปฏิบัติกับประชาคม. ประชาคมนั้นมิได้ประกอบด้วยมนุษย์สมบูรณ์. กระนั้น พระเยซูทรงรักประชาคม, วางแบบอย่างที่ถูกต้องสำหรับประชาคมนั้น, และใช้พระคัมภีร์เพื่อช่วยปรับปรุงประชาคม. พระองค์สละชีวิตของพระองค์เพื่อประชาคม. (1 เปโตร 2:21) แบบอย่างของพระองค์ได้หนุนกำลังใจสามีคริสเตียนหลายคนให้เป็นประมุขที่ดีและเสนอความช่วยเหลือด้วยความรักเพื่อปรับปรุงชีวิตสมรสให้ดีขึ้น. วิธีการดังกล่าวนี้ก่อผลดีมากกว่าการจับผิดหรือไม่ยอมพูดจากัน.
10. (ก) มีทางใดบ้างที่สามีหรือภรรยา ทั้ง ๆ ที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน อาจทำให้คนอื่น ๆ ในบ้านเดือดร้อน? (ข) อาจทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น?
10 จะว่าอย่างไรหากสามีไม่ตระหนักถึงความต้องการทางอารมณ์ของครอบครัวหรือมิได้ริเริ่มจัดให้มีการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลกับครอบครัวและกิจกรรมอื่น ๆ? หรือจะว่าอย่างไรถ้าภรรยาไม่ร่วมมือและไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อมตามหลักการของพระเจ้า? บางคนเห็นว่าได้ผลดีเมื่อมีการพิจารณากันในครอบครัวเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยความนับถือ. (เยเนซิศ 21:10-12; สุภาษิต 15:22) ถึงแม้ว่าผลจะมิได้เป็นดังที่หวังไว้เสียทั้งหมด ทว่า เราแต่ละคนมีส่วนในการเสริมสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้ดีขึ้นโดยแสดงผลพระวิญญาณของพระเจ้าในทุกแง่มุมแห่งชีวิตของเรา แสดงการคำนึงถึงด้วยความรักต่อสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ผลคืบหน้าจะปรากฏขึ้น มิใช่โดยการรอให้คนอื่นทำอะไรบางอย่าง แต่โดยการทำส่วนของเรา โดยวิธีนี้ เราก็กำลังแสดงความเลื่อมใสพระเจ้า.—โกโลซาย 3:18-21.
ที่ซึ่งจะหาคำตอบได้
11, 12. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรเพื่อช่วยเราให้ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว?
11 ผู้คนหันไปหาคำแนะนำเรื่องครอบครัวจากหลายแหล่งด้วยกัน. แต่เรารู้ว่าพระคำของพระเจ้ามีคำแนะนำที่ดีที่สุด และเรารู้สึกขอบคุณที่โดยทางองค์การที่เห็นได้ของพระองค์ พระเจ้าทรงช่วยเราให้นำคำแนะนำนั้นไปใช้. คุณได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความช่วยเหลือนั้นไหม?—บทเพลงสรรเสริญ 119:129, 130; มีคา 4:2.
12 นอกจากการเข้าร่วมการประชุมในประชาคม คุณได้จัดเวลาไว้เป็นประจำเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับครอบครัวไหม? ครอบครัวที่ทำเช่นนั้นจะมุ่งไปสู่ความเป็นเอกภาพในการนมัสการ. ชีวิตครอบครัวของพวกเขาจะดีขึ้นขณะที่พวกเขานำพระคำของพระเจ้าไปใช้กับสภาพการณ์ของเขาเอง.—พระบัญญัติ 11:18-21.
13. (ก) ถ้าเรามีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว เรามักจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นจากที่ไหน? (ข) การตัดสินใจทุกอย่างที่เราทำนั้นควรสะท้อนถึงอะไร?
13 คุณอาจมีข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว. ตัวอย่างเช่น จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการคุมกำเนิด? การทำแท้งเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสมควรไหม? ถ้าเด็กไม่ค่อยสนใจเรื่องฝ่ายวิญญาณ ควรเรียกร้องให้เขามีส่วนร่วมในการนมัสการกับครอบครัวถึงขีดไหน? คำถามทำนองนี้หลายคำถามได้มีการพิจารณาในสรรพหนังสือที่จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. จงเรียนรู้ที่จะใช้คู่มือต่าง ๆ สำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรวมทั้งดัชนี เพื่อค้นหาคำตอบ. ถ้าคุณไม่มีสรรพหนังสือที่อ้างถึงในดัชนี ก็ลองหาดูในห้องสมุดของหอประชุม. หรือคุณอาจเข้าไปค้นดูสรรพหนังสือเหล่านั้นในคอมพิวเตอร์. นอกจากนี้ คุณอาจพูดคุยกับคริสเตียนชายและหญิงที่อาวุโสเกี่ยวกับเรื่องที่คุณสงสัย. แต่อย่าคาดหมายคำตอบที่ว่า ใช่หรือไม่ใช่ สำหรับทุกคำถาม. บ่อยครั้งคุณ ต้องตัดสินด้วยตัวเองหรือในฐานะคู่สมรส. เมื่อนั้นจงทำการตัดสินใจอย่างที่แสดงว่าคุณมีความเลื่อมใสพระเจ้าไม่เพียงต่อหน้าสาธารณชนเท่านั้น แต่ในบ้านด้วย.—โรม 14:19; เอเฟโซ 5:10.
การอภิปรายทบทวน
• ความภักดีต่อพระยะโฮวาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส?
• เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันเนื่องจากปัญหาครอบครัว อะไรจะช่วยเราให้ทำสิ่งที่พระเจ้าทรงพอพระทัย?
• ถึงแม้ว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวบกพร่อง เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น?
[ภาพหน้า 155]
ความเป็นประมุขของสามีควรสะท้อนถึงคุณลักษณะของพระเยซู
[ภาพหน้า 157]
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำกับครอบครัวช่วยทำให้ครอบครัวเป็นเอกภาพ