เหตุใดจึงร่วมฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
“เรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้มอบไว้กับท่านแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 11:23, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. พระเยซูทรงทำอะไรในคืนปัศคา ปี ส.ศ. 33?
พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวาอยู่ที่นั่น. ชายทั้ง 11 คนซึ่ง ‘ติดสนิทกับพระองค์ในเวลาที่พระองค์ถูกทดลอง’ ก็อยู่กับพระองค์ด้วย. (ลูกา 22:28, ล.ม.) นั่นเป็นคืนวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ปี ส.ศ. 33 และดวงจันทร์เต็มดวงคงจะเพิ่มความงดงามให้แก่ฟากฟ้ากรุงเยรูซาเลมในคืนนี้เป็นแน่. พระเยซูคริสต์และเหล่าอัครสาวกของพระองค์เพิ่งเสร็จสิ้นการฉลองปัศคา. มีการสั่งให้ยูดาอิศการิโอดผู้ทรยศออกไป แต่ไม่ใช่เวลาที่คนอื่น ๆ จะไป. เพราะเหตุใด? เพราะพระเยซูกำลังจะทำบางสิ่งที่สำคัญยิ่ง. สิ่งนั้นคืออะไร?
2 เนื่องจากมัดธายผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณอยู่ในเหตุการณ์ ให้เขาเป็นผู้บอกเราก็แล้วกัน. ท่านเขียนว่า “พระเยซูทรงหยิบขนมปังมาขอพระพร, แล้วทรงหักส่งให้แก่พวกสาวกและตรัสว่า, ‘จงรับกินเถิด นี่เป็นกายของเรา.’ แล้วทรงหยิบจอกมาโมทนาพระคุณ, ส่งให้แก่เขาและตรัสว่า, ‘จงกินจากจอกนี้ทุกคนเถิด ด้วยนี่เป็นโลหิตแห่งคำสัญญาของเรา, ซึ่งต้องเทออกเพื่อไถ่โทษคนเป็นอันมาก.’” (มัดธาย 26:26-28) นี่เป็นเหตุการณ์ที่พระองค์ตั้งใจจะให้มีขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไหม? อะไรคือความหมายของเหตุการณ์นี้? เหตุการณ์ดังกล่าวมีความหมายใด ๆ สำหรับพวกเราในทุกวันนี้ไหม?
“จงกระทำอย่างนี้”
3. เหตุใดสิ่งที่พระเยซูทำในคืนวันที่ 14 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33 จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญ?
3 สิ่งที่พระเยซูคริสต์ทำในคืนวันที่ 14 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33 นั้นไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์. อัครสาวกเปาโลได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เมื่อท่านเขียนไปถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมในโครินท์ ซึ่งจนถึงขณะนั้นก็มีการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงกำหนดไว้มากว่า 20 ปีแล้ว. ถึงแม้เปาโลไม่ได้อยู่ด้วยกันกับพระเยซูและอัครสาวก 11 คน ในปี ส.ศ. 33 แต่ท่านย่อมได้เรียนรู้จากอัครสาวกบางคนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้นแน่ ๆ. นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าเปาโลได้ทราบเรื่องราวซึ่งยืนยันสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นจากการเปิดเผยที่มีขึ้นโดยการดลใจ. เปาโลกล่าวว่า “เรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้มอบไว้กับท่านแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือในคืนที่เขาอายัดพระเยซูเจ้านั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้นขอบพระคุณแล้วจึงทรงหัก แล้วตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเรา ซึ่งให้แก่ท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา’ เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์จึงทรงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มเป็นที่ระลึกถึงเรา.’”—1 โกรินโธ 11:23-25, ฉบับแปลใหม่.
4. ทำไมคริสเตียนควรร่วมฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
4 ลูกา ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณ ยืนยันว่า พระเยซูทรงบัญชาว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (ลูกา 22:19) คำตรัสนี้ได้รับการแปลด้วยว่า “จงทำอย่างนี้เป็นอนุสรณ์ถึงเรา.” (เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) ที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้ได้รับการอ้างถึงบ่อย ๆ ว่าเป็นอนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์. เปาโลยังเรียกด้วยว่า อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งก็เป็นการให้ชื่อที่เหมาะสม เพราะมีการตั้งการประชุมอนุสรณ์นี้ในเวลาหัวค่ำ. (1 โกรินโธ 11:20) คริสเตียนได้รับพระบัญชาให้ฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. แต่เหตุใดจึงมีการตั้งการประชุมอนุสรณ์?
เหตุผลที่มีการตั้งการประชุมอนุสรณ์
5, 6. (ก) อะไรคือเหตุผลอย่างหนึ่งที่พระเยซูตั้งการประชุมอนุสรณ์? (ข) จงบอกถึงเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่มีการตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า.
5 เหตุผลหนึ่งที่มีการตั้งการประชุมอนุสรณ์นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งหนึ่งที่การวายพระชนม์ของพระเยซูทำให้สำเร็จผล. พระเยซูวายพระชนม์ในฐานะผู้สนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระบิดาฝ่ายสวรรค์. โดยวิธีนี้เอง พระคริสต์จึงพิสูจน์ว่าซาตานพญามารเป็นตัวมุสา ที่กล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่ามนุษย์รับใช้พระเจ้าด้วยเจตนาอันเห็นแก่ตัวเท่านั้น. (โยบ 2:1-5) การวายพระชนม์ด้วยความซื่อสัตย์ของพระเยซูพิสูจน์ว่าคำกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริงและทำให้พระหฤทัยของพระยะโฮวามีความยินดี.—สุภาษิต 27:11.
6 อีกเหตุผลหนึ่งที่มีการตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าคือเพื่อให้เราระลึกว่าโดยการวายพระชนม์ของพระเยซูฐานะมนุษย์สมบูรณ์ที่ปราศจากบาปนั้น พระองค์ ‘ประทานชีวิตของพระองค์ให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.’ (มัดธาย 20:28) เมื่อมนุษย์คนแรกทำบาปต่อพระเจ้า เขาสูญเสียชีวิตมนุษย์สมบูรณ์พร้อมทั้งความหวังทั้งสิ้นที่มากับชีวิตนั้นไป. อย่างไรก็ตาม พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลก, จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ, แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) ที่จริงแล้ว “ค่าจ้างของความบาปนั้นคือความตาย แต่ของประทานของพระเจ้าก็คือชีวิตนิรันดร์ ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23) การร่วมฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าทำให้เราระลึกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่ทั้งพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ทรงสำแดงเกี่ยวเนื่องกับการวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชาของพระเยซู. เราควรหยั่งรู้ค่าสักเพียงไรต่อความรักเช่นนั้น!
ควรจะประชุมอนุสรณ์กันเมื่อไร?
7. คริสเตียนผู้ถูกเจิมรับประทานสิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชุมอนุสรณ์บ่อยเพียงไร?
7 เกี่ยวกับอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้น เปาโลกล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด, ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา.” (1 โกรินโธ 11:26) คริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคนจะรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชุมอนุสรณ์ไปจนกว่าพวกเขาจะสิ้นชีวิต. โดยการทำเช่นนี้ พวกเขาจึงประกาศจำเพาะพระยะโฮวาพระเจ้าและต่อมนุษยชาติครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความเชื่อของตนที่มีต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าเกี่ยวกับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู.
8. กลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมต้องฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าไปนานแค่ไหน?
8 กลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมจะระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์ไปนานแค่ไหน? เปาโลกล่าวว่า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” ซึ่งดูเหมือนหมายความว่า พวกเขาจะระลึกถึงการวายพระชนม์นี้เรื่อยไปจนกว่าพระเยซูจะเสด็จมาเพื่อรับพวกสาวกผู้ถูกเจิมไปสวรรค์โดยการกลับเป็นขึ้นจากตายระหว่าง “การประทับ” ของพระองค์. (1 เธซะโลนิเก 4:14-17, ล.ม.) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำตรัสที่พระเยซูกล่าวแก่พวกอัครสาวกที่ภักดีทั้ง 11 คนว่า “ถ้าเราไปจัดแจงที่สำหรับท่านแล้ว, เราจะมาอีกรับท่านให้ไปอยู่กับเราเพื่อเราอยู่ที่ไหนท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย.”—โยฮัน 14:3.
9. คำตรัสของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 14:25 มีความหมายเช่นไร?
9 เมื่อพระเยซูตั้งการประชุมอนุสรณ์ พระองค์กล่าวถึงถ้วยเหล้าองุ่นและตรัสกับเหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า “เราจะไม่ดื่มน้ำผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีก จนวันนั้นมาถึง คือวันที่เราจะดื่มใหม่ในแผ่นดินของพระเจ้า.” (มาระโก 14:25, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากพระเยซูจะไม่ดื่มเหล้าองุ่นจริง ๆ ในความหมายตามตัวอักษรในสวรรค์ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าพระองค์หมายถึงความยินดีที่บางครั้งมีการใช้เหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์เล็งถึง. (บทเพลงสรรเสริญ 104:15; ท่านผู้ประกาศ 10:19) การอยู่ด้วยกันในราชอาณาจักรจะเป็นประสบการณ์อันน่ายินดีที่พระองค์และเหล่าผู้ติดตามรอยพระบาทของพระองค์ต่างคอยท่าด้วยความคาดหมายอย่างแรงกล้า.—โรม 8:23; 2 โกรินโธ 5:2.
10. ควรจัดการประชุมอนุสรณ์กันบ่อยเพียงไร?
10 การระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูต้องทำกันทุกเดือน, ทุกสัปดาห์, หรือกระทั่งทุกวันไหม? ไม่. พระเยซูตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าและถูกประหารในวันปัศคา ซึ่งเป็น “วันที่ระลึก” ถึงการปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้พ้นจากการเป็นทาสของอียิปต์ในปี 1513 ก่อน ส.ศ. (เอ็กโซโด 12:14) ปัศคาถูกจัดขึ้นเพียงปีละครั้ง ในวันที่ 14 เดือนไนซานของชาวยิว. (เอ็กโซโด 12:1-6; เลวีติโก 23:5) นี่บ่งชี้ว่าการวายพระชนม์ของพระเยซูควรได้รับการระลึกถึงบ่อยครั้งเท่ากับปัศคา กล่าวคือปีละครั้ง ไม่ใช่ทุกเดือน, ทุกสัปดาห์, หรือทุกวัน.
11, 12. ประวัติศาสตร์เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับการประชุมอนุสรณ์ในยุคแรก ๆ?
11 ด้วยเหตุนี้ จึงนับว่าถูกต้องเหมาะสมที่จะจัดการประชุมอนุสรณ์ตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซานของทุกปี. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวดังนี้: “พวกคริสเตียนในเอเชียไมเนอร์ถูกเรียกว่าเป็นควอร์โทเดซิมานุส [ผู้ถือวันที่สิบสี่] เนื่องจากพวกเขาถือเป็นธรรมเนียมที่จะฉลองปัศคา [อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า] เป็นประจำในวันที่ 14 เดือนไนซาน . . . วันนั้นอาจไปตกในวันศุกร์หรือวันอื่นใดของสัปดาห์ก็ได้.”—สารานุกรมใหม่ของแชฟ-เฮิร์ทโซก ว่าด้วยความรู้ทางศาสนา (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 4 หน้า 44.
12 เกี่ยวกับสิ่งที่ถือปฏิบัติกันในศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช นักประวัติศาสตร์ เจ. แอล. ฟอน โมสไฮม์ ให้ความเห็นว่าพวกควอร์โทเดซิมานุสจัดการประชุมอนุสรณ์กันในวันที่ 14 เดือนไนซาน เพราะ “พวกเขาถือว่าแบบอย่าง ของพระคริสต์มีอำนาจเทียบเท่ากฎหมาย.” นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตจักรควอร์โทเดซิมานุสตามที่ต่าง ๆ ในแคว้นเอเชียเป็นแบบเดียวกับของคริสตจักรในกรุงเยรูซาเลม. ในศตวรรษที่สอง ณ ปัศคาของพวกเขาในวันที่ 14 เดือนไนซาน คริสตจักรเหล่านี้จัดการระลึกถึงการไถ่บาปที่เป็นไปได้โดยการวายพระชนม์ของพระคริสต์.”—สทูเดีย พาทริสทิคา เล่ม 5, 1962, หน้า 8.
ความหมายของขนมปัง
13. ขนมปังชนิดใดที่พระเยซูทรงใช้เมื่อตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
13 เมื่อพระเยซูตั้งการประชุมอนุสรณ์ พระองค์ “หยิบเอาขนมปังทรงขอพร, แล้วหักส่งให้แก่เหล่าสาวก.” (มาระโก 14:22) ขนมปังที่ใช้ในโอกาสนั้นเป็นชนิดเดียวกันกับที่เพิ่งใช้ไปในการฉลองปัศคา. (เอ็กโซโด 13:6-10) เนื่องจากขนมปังดังกล่าวถูกทำขึ้นโดยไม่ใส่เชื้อ จึงเป็นแผ่นบางและกรอบ และต้องหักเพื่อจะแบ่งกัน. เมื่อพระเยซูเพิ่มจำนวนขนมปังเลี้ยงหลายพันคนโดยการอัศจรรย์ ขนมปังนั้นเป็นแผ่นบางและกรอบเช่นกัน เนื่องจากพระองค์หักขนมปังนั้นเพื่อจะแจกจ่าย. (มัดธาย 14:19; 15:36) ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการหักขนมปังที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์ไม่ได้มีความหมายสำคัญทางศาสนา.
14. (ก) ทำไมจึงนับว่าเหมาะสมที่จะใช้ขนมปังไม่มีเชื้อในการประชุมอนุสรณ์? (ข) ขนมปังชนิดใดที่สามารถนำมาใช้หรือทำขึ้นเองได้เพื่อใช้ในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
14 เกี่ยวกับขนมปังที่ทรงใช้เมื่อตั้งการประชุมอนุสรณ์นั้น พระเยซูตรัสว่า “นี่เป็น [“หมายถึง,” ล.ม.] กายของเรา, ซึ่งทรงประทานให้ท่านทั้งหลาย.” (1 โกรินโธ 11:24; มาระโก 14:22) นับว่าเหมาะทีเดียวที่เป็นขนมปังไม่มีเชื้อ. เพราะเหตุใด? เนื่องจากเชื้ออาจใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงความเลวทราม, ความชั่วร้าย, หรือบาป. (1 โกรินโธ 5:6-8) ขนมปังไม่มีเชื้อจึงหมายถึงพระกายมนุษย์ที่สมบูรณ์ปราศจากบาปของพระเยซู ซึ่งเหมาะสำหรับถวายเป็นเครื่องบูชาไถ่. (เฮ็บราย 7:26; 10:5-10) พยานพระยะโฮวาคำนึงถึงเรื่องนี้และติดตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้โดยใช้ขนมปังไม่มีเชื้อในการประชุมอนุสรณ์ของพวกเขา. ในบางกรณี พวกเขาใช้ขนมปังมัตโซ (Matzos) ที่ไม่ปรุงรสซึ่งชาวยิวใช้ในช่วงฉลองปัศคา ที่ไม่เติมส่วนผสมพิเศษ เช่น หัวหอมหรือไข่. หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็อาจทำขนมปังไม่มีเชื้อขึ้นเอง โดยใช้แป้งที่ผลิตจากข้าวกล้อง (ถ้าเป็นได้ ข้าวสาลี) ในปริมาณที่พอเหมาะผสมกับน้ำเล็กน้อย แล้วกดแป้งที่นวดได้ที่แล้วนั้นให้เป็นแผ่นบาง ๆ นำไปอบโดยวางบนถาดที่ทาน้ำมันเล็กน้อย จนกระทั่งขนมปังนั้นแห้งและกรอบ.
ความหมายของเหล้าองุ่น
15. อะไรอยู่ในถ้วยที่พระคริสต์ใช้ในการตั้งการประชุมเพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์?
15 หลังจากส่งผ่านขนมปังไม่มีเชื้อ พระเยซูทรงหยิบถ้วย “ขอบพระคุณและส่งให้ [พวกอัครสาวก], เขาก็รับดื่มทุกคน.” พระเยซูทรงอธิบายว่า “นี่แหละเป็น [“หมายถึง,” ล.ม.] โลหิตแห่งคำสัญญาของเรา, ซึ่งต้องเทออกเพื่อคนเป็นอันมาก.” (มาระโก 14:23, 24) อะไรอยู่ในถ้วยนั้น? เหล้าองุ่น ไม่ใช่น้ำองุ่นที่ไม่ผ่านการหมัก. เมื่อพระคัมภีร์กล่าวถึงเหล้าองุ่น ไม่ได้หมายถึงน้ำองุ่นที่ยังไม่ผ่านการหมัก. ยกตัวอย่าง ไม่ใช่น้ำองุ่น แต่เป็นเหล้าองุ่นต่างหากที่จะทำให้ “ถุงหนังเก่า” ขาดได้ ตามที่พระเยซูตรัส. นอกจากนี้ พวกศัตรูของพระคริสต์กล่าวหาว่าพระองค์ “ชอบดื่มเหล้าองุ่น.” นั่นย่อมจะเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีความหมายใด ๆ หากเหล้าองุ่นดังกล่าวเป็นเพียงน้ำองุ่น. (มัดธาย 9:17; 11:19, ล.ม.) มีการดื่มเหล้าองุ่นระหว่างการฉลองปัศคา และพระคริสต์ทรงใช้เหล้าองุ่นนั้นเมื่อทรงตั้งการประชุมเพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์.
16, 17. เหล้าองุ่นชนิดใดที่เหมาะสำหรับใช้ในการประชุมอนุสรณ์ และเพราะเหตุใด?
16 เฉพาะแต่เหล้าองุ่นแดงเท่านั้นที่เป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมของสิ่งที่อยู่ในถ้วยนั้นหมายถึง ซึ่งก็คือพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซู. พระองค์เองตรัสว่า “นี่แหละเป็น [“หมายถึง,” ล.ม.] โลหิตแห่งคำสัญญาของเรา, ซึ่งต้องเทออกเพื่อคนเป็นอันมาก.” และอัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลาย [คริสเตียนผู้ถูกเจิม] รู้แล้วว่า มิใช่ด้วยสิ่งที่เปื่อยเน่าได้ ด้วยเงินหรือทอง ที่ท่านได้รับการช่วยให้พ้นจากการประพฤติแบบที่ไร้ผลของท่านซึ่งได้รับมาตามประเพณีจากบรรพบุรุษของท่าน. แต่ด้วยโลหิตอันมีค่ามาก เหมือนเลือดของลูกแกะที่ปราศจากพิการและด่างพร้อย คือพระโลหิตของพระคริสต์.”—1 เปโตร 1:18, 19, ล.ม.
17 เหล้าองุ่นที่พระเยซูใช้ในคราวตั้งการประชุมอนุสรณ์นั้นเป็นเหล้าองุ่นแดงอย่างไม่ต้องสงสัย. อย่างไรก็ตาม เหล้าองุ่นแดงบางชนิดในปัจจุบันนั้นนำมาใช้ไม่ได้เพราะมีการเติมสุรากลั่นดีกรีสูง, หรือบรั่นดี, หรือสมุนไพรและเครื่องเทศลงไป. พระโลหิตของพระเยซูมีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงพอโดยไม่ต้องเติมสิ่งใดเข้าไปอีก. ดังนั้น เหล้าองุ่นที่มีส่วนผสมดังกล่าว (เช่น port, sherry, และ vermouth) จึงไม่สมควรที่จะนำมาใช้. แก้วที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์ต้องไม่บรรจุเหล้าองุ่นที่มีการเติมรสหวานหรือสารปรุงแต่ง. เหล้าองุ่นแดงซึ่งทำเองและไม่เติมรสหวานก็สามารถใช้ได้ และเหล้าองุ่นแดงบางชนิด (เช่น red burgundy และ claret) ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน.a
18. เหตุใดพระเยซูจึงไม่ได้ทำการอัศจรรย์เกี่ยวกับขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์?
18 เมื่อตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นนี้ พระเยซูไม่ได้ทำการอัศจรรย์โดยการเปลี่ยนขนมปังและเหล้าองุ่นให้เป็นพระมังสะและพระโลหิตของพระองค์จริง ๆ ตามตัวอักษร. การกินเนื้อมนุษย์และดื่มเลือดจะเป็นการกระทำของพวกมนุษย์กินคน เป็นการละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. (เยเนซิศ 9:3, 4; เลวีติโก 17:10) พระเยซูยังคงมีพระกายเนื้อหนังและพระโลหิตอยู่อย่างครบถ้วนในคืนวันนั้น. พระกายของพระองค์ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์พร้อม และพระโลหิตของพระองค์ทรงหลั่งออกในบ่ายวันถัดมา ซึ่งยังคงเป็นวันที่ 14 เดือนไนซานตามการนับวันของชาวยิว. ดังนั้น ขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์โดยแท้แล้วเป็นสัญลักษณ์แทนพระมังสะและพระโลหิตของพระคริสต์.b
การประชุมอนุสรณ์—มื้ออาหารสมานไมตรี
19. เหตุใดจึงอาจใช้แก้วและจานมากกว่าหนึ่งใบในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
19 เมื่อพระเยซูตั้งการประชุมอนุสรณ์ พระองค์เชิญอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ให้ดื่มจากถ้วยเดียวกัน. กิตติคุณของมัดธายกล่าวดังนี้: “[พระเยซู] ทรงหยิบจอก [“ถ้วยใบหนึ่ง,” ล.ม.] มาโมทนาพระคุณ, ส่งให้แก่เขาและตรัสว่า, ‘จงกินจากจอกนี้ทุกคนเถิด.’” (มัดธาย 26:27) การใช้แค่ “ถ้วยใบหนึ่ง” ไม่ใช่หลายใบ ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะในโอกาสนั้นมีเพียง 11 คน ที่ดูเหมือนว่านั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน และสะดวกที่จะส่งถ้วยนั้นต่อ ๆ กันไป. ปีนี้ จะมีหลายล้านคนชุมนุมกันเพื่อฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในกว่า 94,000 ประชาคมของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก. เนื่องจากผู้คนมากมายชุมนุมกันเพื่อร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ในคืนเดียวกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้แก้วเพียงใบเดียวสำหรับทุกคนที่เข้าร่วม. แต่ในประชาคมใหญ่ ๆ การใช้แก้วหลายใบเพื่อว่าจะสามารถส่งเหล้าองุ่นผ่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนในเวลาพอเหมาะพอควรนั้น ก็ยังคงไว้ซึ่งหลักการเกี่ยวกับความหมายของแก้วที่มีเหล้าองุ่นซึ่งเล็งถึงพระโลหิตของพระเยซูที่เป็นเครื่องบูชา. ในทำนองเดียวกัน อาจใช้จานมากกว่าหนึ่งใบเพื่อส่งผ่านขนมปัง. ไม่มีที่ใดในพระคัมภีร์ที่ระบุว่าแก้วหรือภาชนะที่ใช้จะต้องมีรูปลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ. อย่างไรก็ตาม แก้วและจานควรสะท้อนถึงความมีเกียรติของเหตุการณ์นั้น. นับว่าสุขุมที่จะไม่ใส่เหล้าองุ่นไว้ในแก้วมากจนถึงระดับที่จะหกได้ง่ายเมื่อส่งผ่านต่อ ๆ กัน.
20, 21. เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่าการประชุมอนุสรณ์เป็นมื้ออาหารสมานไมตรี?
20 แม้ว่าอาจใช้จานขนมปังและแก้วเหล้าองุ่นมากกว่าหนึ่งใบ แต่การประชุมอนุสรณ์ก็ยังเป็นมื้ออาหารสมานไมตรี. ในอิสราเอลโบราณ ผู้ที่ถวายมื้ออาหารสมานไมตรีอาจนำสัตว์ตัวหนึ่งมายังสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งสัตว์ตัวนั้นจะถูกฆ่าที่นั่น. บางส่วนของสัตว์นั้นจะถูกเผาบนแท่นบูชา ส่วนหนึ่งจะเป็นของปุโรหิตที่ปฏิบัติหน้าที่ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับบุตรชายของอาโรนที่ทำหน้าที่ปุโรหิต พร้อมกับผู้ถวายและครอบครัวของเขาจะกินบางส่วน. (เลวีติโก 3:1-16; 7:28-36) การประชุมอนุสรณ์เป็นมื้ออาหารสมานไมตรีเช่นกันเพราะเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมกันในมื้ออาหารนั้น.
21 พระยะโฮวามีส่วนร่วมด้วยในมื้ออาหารสมานไมตรีนี้ฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มการจัดเตรียมดังกล่าว. พระเยซูเป็นเครื่องบูชา และคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นผู้มีส่วนร่วมในมื้ออาหารนั้น. การรับประทานที่โต๊ะของพระยะโฮวาแสดงว่าผู้ร่วมรับประทานมีสันติสุขกับพระองค์. ดังนั้น เปาโลจึงเขียนว่า “ถ้วยแห่งพระพร ซึ่งเราได้ขอพระพรนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสต์มิใช่หรือ ขนมปังซึ่งเราหักนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสต์มิใช่หรือ แม้เราซึ่งเป็นบุคคลหลายคน แต่เนื่องจากมีขนมก้อนเดียว เราจึงเป็นร่างกายเดียว เพราะว่าเราทุกคนรับประทานขนมก้อนเดียวกัน.”—1 โกรินโธ 10:16, 17, ฉบับแปลใหม่.
22. ยังมีคำถามอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการประชุมอนุสรณ์ที่เราจะพิจารณา?
22 อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาเพียงอย่างเดียวที่พยานพระยะโฮวาถือรักษาเป็นประจำทุกปี. นี่นับว่าเหมาะสมเนื่องจากพระเยซูบัญชาเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” ณ การประชุมอนุสรณ์ เราระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู อันเป็นการวายพระชนม์ที่สนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว ในมื้ออาหารสมานไมตรีนี้ ขนมปังหมายถึงพระกายมนุษย์ของพระคริสต์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชา และเหล้าองุ่นหมายถึงพระโลหิตที่หลั่งออกเป็นเครื่องบูชา. กระนั้น มีน้อยคนทีเดียวที่รับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้เป็นสัญลักษณ์นั้น. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? การประชุมอนุสรณ์มีความหมายจริง ๆ ต่อหลายล้านคนที่ไม่ได้รับประทานไหม? ที่จริงแล้ว อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าควรจะมีความหมายอะไรสำหรับคุณ?
[เชิงอรรถ]
a ในประเทศไทย การทำเหล้าองุ่นสำหรับใช้ในบ้านเรือนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย.
b โปรดดูหนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 271 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ทำไมพระเยซูจึงตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
• ควรจัดการประชุมอนุสรณ์กันบ่อยเพียงไร?
• อะไรคือความหมายของขนมปังไม่มีเชื้อที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์?
• เหล้าองุ่นที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์เป็นสัญลักษณ์ถึงสิ่งใด?
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า